Home | ตั้งเวปเป็นหน้าแรก
คณะทันตแพทย์ มอ. พบคลอรีน ในสระว่ายน้ำทำให้ฟันกร่อน จัดให้ความรู้ผู้ประกอบการปรับปรุงสระว่ายน้ำ

Custom Search


คณะทันตแพทย์ มอ. พบคลอรีน ในสระว่ายน้ำทำให้ฟันกร่อน จัดให้ความรู้ผู้ประกอบการปรับปรุงสระว่ายน้ำเพื่อลดปัญหา

คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบคลอรีน ในสระว่ายน้ำทำให้ฟันกร่อน จัดให้ความรู้ผู้ประกอบการปรับปรุงสระว่ายน้ำเพื่อลดปัญหา
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ทพญ.พจนรรถ เบญจกุล ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า เคยมีรายงานในต่างประเทศเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว พบว่านักกีฬาว่ายน้ำกลุ่มหนึ่งมีอาการเสียวฟัน ส่วนในประเทศไทยเพิ่งมีรายงานอาการเสียวฟันในกลุ่มนักกีฬาว่ายน้ำเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา โดยโรงเรียนกีฬาแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เคยศึกษาพบว่านักกีฬาว่ายน้ำจำนวน 18 คน มีภาวะฟันกร่อนหมดทุกคน ซึ่งนักกีฬากลุ่มดังกล่าวจะต้องลงสระซ้อมว่ายน้ำวันละมากกว่า 2 ชั่วโมง เมื่อตรวจสอบค่า pH ในสระว่ายน้ำพบว่ามีค่าต่ำมาก จึงเป็นที่มาของการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสึกกร่อนของฟัน อันเนื่องมาจากการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ โดยความร่วมมือของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับเทศบาลนครหาดใหญ่

การศึกษาในระยะแรก เริ่มจากการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำในสระว่ายน้ำในอำเภอหาดใหญ่ โดยไม่แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้า พบว่าร้อยละ 80 ของสระว่ายน้ำมีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 หรือมีค่าความเป็นกรดสูง ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าน้ำที่มีค่า pH ในระดับดังกล่าว สามารถทำให้ฟันกร่อนได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการวิจัยเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำในสระว่ายน้ำอีกครั้ง โดยส่งหนังสือแจ้งแก่ผู้ประกอบการให้ทราบล่วงหน้า ผลการทดสอบพบว่าน้ำในสระว่ายน้ำส่วนใหญ่มีค่าความเป็นกรดสูงขึ้นจากเดิม สาเหตุเพราะผู้ประกอบการอาจเข้าใจว่าเป็นการตรวจคุณภาพน้ำในแง่ของความสะอาด จึงเติมสารเคมีในสระว่ายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

สำหรับค่าความเป็นกรดและด่างของน้ำในสระว่ายน้ำที่ได้มาตรฐาน จะต้องมีค่า pH เท่ากับ 7-8 คือมีค่าความเป็นกลาง หรือค่อนไปทางความเป็นด่างเล็กน้อย วิธีสังเกตความเป็นกรดและด่างของน้ำในสระว่ายน้ำด้วยตนเองคือหากลงว่ายน้ำได้สักระยะหนึ่ง พบว่ามีอาการแสบตา ตาแดงหรือเกิดอาการระคายเคืองตา สันนิษฐานได้ว่าน้ำมีค่าของความเป็นกรดสูงเกินไป แต่หากพบว่าขณะว่ายน้ำผิวมีความลื่น คล้ายเมื่อสัมผัสน้ำสบู่ สันนิษฐานได้ว่าน้ำมีค่าของความเป็นด่างสูงเกินไป

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ทพญ.พจนรรถ เบญจกุล กล่าวว่า สาเหตุของภาวะฟันกร่อน เกิดจากการที่ฟันสัมผัสโดยตรงกับสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรด การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว หรือการดื่มน้ำอัดลม ซึ่งภาวะฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่มีค่าความเป็นกรดสูง จะมีลักษณะเฉพาะคือมักเกิดการกร่อนบริเวณฟันหน้า เนื่องจากเป็นบริเวณที่สัมผัสกับน้ำมากที่สุด ผู้มีภาวะฟันกร่อนจะมีอาการเสียวฟันและฟันมีสีเหลืองเข้มขึ้นเนื่องจากชั้นเคลือบฟันถูกกัดกร่อนให้บางลงจนเห็นเนื้อฟัน ส่วนวิธีการป้องกันภาวะฟันกร่อนนั้นทำได้โดยการอมน้ำยาฟลูออไรด์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านกรดได้ดี ซึ่งทันตแพทย์จะสั่งจ่ายให้ในอัตราที่เหมาะสม แต่หากชั้นเคลือบฟันถูกกัดกร่อนจนหมด ทันตแพทย์จะต้องใช้วิธีบูรณะฟัน เช่น การเคลือบฟัน หรือการครอบฟัน เป็นต้น

หลังจากสำรวจพบว่าน้ำในสระว่ายน้ำส่วนใหญ่มีค่า pH ต่ำกว่ามาตรฐาน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้จัดการอบรมเพื่อให้ข้อมูล ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ในการดูแลปรับปรุงสระว่ายน้ำให้ได้มาตรฐาน เพื่อลดสาเหตุการเกิดฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำ ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในเขตอำเภอเมืองหาดใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ดังนั้นประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป และเชื่อว่าหลังจากนี้กลุ่มผู้ประกอบการ ประชาชนรวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จะมีความตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้แนวโน้มในการพัฒนาปรับปรุงสระว่ายน้ำให้ได้มาตรฐานเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น


ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : สงขลา (สวท.)/สุธิดา พฤกษ์อุดม Rewriter : อาทิตยา เจียรวัฒนวงศ์
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์


Create Date : 17 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2554 18:49:49 น. 0 comments
Counter : 1647 Pageviews.

Polball
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 37 คน [?]








Online Since 16/09/2009
Custom Search
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
17 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Polball's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.