To sooth my soul
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
22 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 

ของขวัญจากผู้เฒ่า

ของขวัญปีใหม่จากผู้เฒ่า


             ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมเยือนบ้านผู้เฒ่าหู ชายชรามักจะชวนผมดื่มน้ำชาและกินขนม ภาพของผู้เฒ่ารินน้ำร้อนลวกกาน้ำและถ้วยชาอย่างใจเย็นช่างคุ้นตานัก จากนั้นผู้เฒ่าจะชงชาจีนด้วยน้ำร้อนจี๋ น้ำชารสขมเข้มทั้งร้อนและหอมถูกรินใส่ถ้วยชาเล็กๆสี่ใบ

             “มา มาดื่มกัน” ผู้เฒ่าหูเชื้อเชิญด้วยคำที่คุ้นเคย เขามักจะหยิบขนมหวานส่งมาให้ผมพร้อมกับชวนให้ดื่มน้ำชา

             ผู้เฒ่ามักจะถามผมว่า เป็นอย่างไรบ้าง ครอบครัวสุขสบายดีมั้ย พ่อแม่คุณเป็นอย่างไร พี่น้องของคุณล่ะทำอะไรกันอยู่ เป็นประโยคถามสารทุกข์สุขดิบที่คุ้นเคย

             ชายชราไม่ใช้เฟสบุ๊กไม่แน่ว่าเขาจะรู้จักมันด้วยหรือเปล่า ผมยกน้ำชาร้อนๆขึ้นจิบแล้วตอบคำถามต่างๆของชายชราด้วยเสียงอันดัง เพราะหูของผู้เฒ่าวัยเก้าสิบปีไม่ค่อยดีนักระหว่างนั้นชายชราจะยกน้ำชาขึ้นดื่มพร้อมกับฟังเรื่องราวที่ผมเล่า หลายเรื่องไม่ได้อยู่บนสถานะของเฟสบุ๊ก และไม่ได้เป็นข่าวดังในโทรทัศน์ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของครอบครัวเรา

             “ดี” ผู้อาวุโสหูจะกล่าวขึ้นทุกครั้งเมื่อได้ทราบว่าทุกคนสบายดี และเชื้อเชิญให้ดื่มน้ำชากับกินขนมต่อไปเรื่อยๆ

จากนั้นหัวข้อการสนทนาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เรื่องการศึกษา เรื่องสัพเพเหระ ผู้เฒ่าหูจะเชื่อมโยงและยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในอดีต การสนทนาของพวกเราเป็นภาษาจีนบ้างไทยบ้างฝรั่งบ้าง คำไหนที่ไม่รู้ก็ต้องนั่งอธิบายกันยกใหญ่

มุมมองของผู้เฒ่ามักอยู่ในกรอบวัฒนธรรมและจารีตอันงดงาม ไม่รุนแรงก้าวร้าว แต่เข้มงวด เหมือนรสชาที่เขาชงให้ผมดื่ม ขมแต่หอมหวล ช่วยดับกระหาย แม้น้ำชาจะร้อนแต่ทำให้ใจชุ่มเย็น

สำหรับผู้น้อยอย่างผมแม้มีข้อโต้แย้งบ้างในบางเรื่องแต่ก็มิได้เอ่ยขัดขึ้น เพราะเข้าใจในความแตกต่างของเรา ผู้เฒ่าเคยใช้ชีวิตลำบากเขาเคยประสบความสำเร็จในชีวิต เคยถูกทรยศหักหลัง ประสบการณ์ชีวิตของชายชรานั้นมากมายกว่าผมนักผมจึงรับฟังเสมอเพื่อเก็บไปคิดและนำไปปรับใช้

ผู้เฒ่าไม่เคยบังคับว่าผมต้องทำสิ่งใด แต่มักเตือนให้หลีกเลี่ยงอบายมุขทั้งหลายทั้งปวง "สมัยก่อนมีโรงฝิ่นคนติดฝิ่นเอาชีวิตไปทิ้งที่นั่นมากมาย สมัยก่อนมีพวกนักเลงหัวไม้ จงอย่าไปเลียนแบบ" ชายชรากำชับ

คนจีนสมัยก่อนยากจน ผู้เฒ่าในวัยหนุ่มข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแผ่นดินใหญ่ รอนแรมในทะเลร่วมสามเดือน มาช่วยงานญาติที่เป็นช่างทำทองอยู่ในเมืองไทยหาบน้ำ จ่ายตลาด ทำกับข้าว เทกระโถน และฝึกทำทองเก็บเงินส่งไปให้ญาติที่อยู่เมืองจีน

แม้จะมีการศึกษาเทียบเท่าแค่ชั้นประถมสี่อ่านหนังสือไทยไม่ได้ เขียนภาษาไทยไม่ได้ พูดและฟังออกเพียงเล็กน้อย  แต่ด้วยประเทศไทยให้โอกาส ผู้เฒ่าหูจึงประสบความสำเร็จในฐานะพ่อค้าใหญ่คนหนึ่งในสมัยนั้น

แน่นอนว่ามีรุ่งเรืองก็มีเสื่อม ด้วยภาระทางครอบครัวและโดนมิตรเทียมเกาะกิน จนทุกสิ่งอย่างที่เขาเผชิญทำให้เขาคิดได้ว่า เรามาตัวเปล่าสุดท้ายก็ไปตัวเปล่า สิ่งใดอภัยได้ก็ให้อภัยและ ดำรงชีวิตอย่างปล่อยวาง พอเพียงและพอดี

เมื่อคู่ชีวิตของเขาป่วยด้วยโรคเบาหวานและอัลไซเมอร์ ผู้เฒ่าก็พยายามทำตัวไม่ให้เป็นภาระต่อลูกหลาน รักษาสุขภาพและดูแลตัวเองอย่างดี จนกระทั่งคู่ชีวิตเขาจากไป

น้ำชายังคงขมเข้มและร้อนจี๋ แต่กระนั้นก็หอมหวล เหมือนรสชาติชีวิตของผู้ชง สามสิบกว่าปีแล้วที่คุณแม่จูงผมข้ามมาที่บ้านของชายชรา ผมและพี่ชายนั่งกินนั่งเล่นอยู่แถวๆโต๊ะทำทอง ถัดไปมีห้องกินข้าวที่มีโต๊ะกลมตัวใหญ่อยู่กลางห้อง ใหญ่จนสามารถนั่งกินข้าวร่วมกันได้แปดคน

ชายชราและคู่ชีวิต ที่เรียกตนเองว่าอากง อาม่า หนึ่งทำงาน อีกหนึ่งทำครัว เมื่อว่างจากงานก็มานั่งเล่นกับเด็กน้อย ให้เด็กน้อยยืนบนหลังเท้า จับมือทั้งสองของเขาไว้แล้วยกตัวเขาให้ลอยขึ้น พร้อมกับกล่าวคำว่า โสง โสง ขณะนั้นผู้เฒ่าอายุหกสิบ เด็กน้อยก็อายุเพียงห้าขวบ

บัดนี้เด็กน้อยอายุสามสิบกว่าปีแล้ว รสชาติน้ำชาของชายชราก็ยังคงเหมือนเดิม

เมื่อปีใหม่จีนที่ผ่านมาผู้เฒ่ามอบหนังสือให้ผมเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่ทำขึ้นจากบันทึกที่ชายชราเขียนไว้ตั้งแต่สามสิบปีก่อน ผมเคยเห็นเคยอ่านมันครั้งหนึ่งแล้ว เป็นบันทึกภาษาจีน และมีผู้แปลเป็นไทยเขียนคำแปลแนบไว้ เขาเคยให้ผมอ่านออกเสียงให้ฟังเมื่อผมเป็นเด็กเริ่มอ่านออกเขียนได้นัยว่าสั่งสอนผมผ่านบันทึกนั้น สมัยนั้นผมอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง พออ่านจบบทหนึ่งก็ได้ค่าขนม เขามักจะถามผมว่าเข้าใจไหม ถ้าเข้าใจก็ได้ค่าขนมเพิ่มอีกนิดหนึ่ง คงเป็นเพราะผู้เฒ่าตั้งใจจะเขียนขึ้นและให้คนแปลเป็นภาษาไทยเอาไว้สั่งสอนหลานๆที่ฟังภาษาจีนไม่รู้เรื่อง

จนวันตรุษที่ผ่านมา บันทึกนั้นก็ถูกรวบรวมเข้าเป็นรูปเล่ม แม้จะขาดหายไปบ้างระหว่างการโยกย้ายเปลี่ยนผ่านงานของผู้แปล หลานสาวของผู้เฒ่าก็ได้จัดทำบันทึกให้เป็นหนังสือขึ้นจนสำเร็จด้วยความรู้ทางอักษรศาสตร์และการทำหนังสือ เธอจัดทำหนังสือขึ้นเป็นสองภาษาอาศัยความช่วยเหลือจากเพื่อนผู้รู้ภาษาจีนทั้งแปลและตรวจทานให้ถูกต้อง

จากบันทึกเก่าๆก็กลายเป็นหนังสือขึ้นและส่งมอบมายังหลานๆรุ่นที่สามที่ใช้นามสกุลเป็นภาษาไทย คำในหนังสือก็จะถูกถ่ายทอดต่อกันไปจากรุ่นสู่รุ่นไว้เป็นที่ระลึกถึง ด้วยความรักและความเคารพ

บล็อกนี้มิได้โฆษณาหนังสือเพราะหนังสือพิมพ์ออกมาจำนวนจำกัด และไม่วางขายตามร้าน

คุณค่าของหนังสือนี้มากมายนักสำหรับผมเป็นความทรงจำ เป็นคำสั่งสอน เป็นตัวแทนของผู้เฒ่า คนที่ผมเรียกว่า “อากง” (คุณปู่)

ผมรู้สึกได้เสมอ ในความปล่อยวางที่ยิ่งใหญ่ของอากงนั้น มีสิ่งหนึ่งซึ่งเขาปล่อยวางไว้แต่หวนกลับมาดูเสมอ นั่นคือ ลูกหลาน










 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2556
4 comments
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2556 17:41:23 น.
Counter : 1735 Pageviews.

 

LIKE

 

โดย: deco_mom 22 กุมภาพันธ์ 2556 11:14:56 น.  

 

แวะมาอีกรอบรอบนี้แปะหัวใจให้ด้วยจ้า


 

โดย: deco_mom 22 กุมภาพันธ์ 2556 16:17:42 น.  

 

หวัดดีครับคุณบี

สำหรับผม...เป็นหนังสือที่น่าสนใจมากครับ
ประสบการณ์และแง่คิดของคนผมว่าไม่ล้าสมัย
เอามาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลาครับ
ยิ่งถ้าหากเป็นเจตจำนงที่ท่านอยากเขียนไว้สอนลูกสอนหลาน
คงจะเป็นสิ่งที่ท่านคัดสรรแล้ว

ยังเสียดายที่บรรพชนของผมเองไม่มีบันทึกอะไรไว้เลย
มีแต่เรื่องเล่าเล็กๆน้อยๆ...ที่ผมถามและจดเอาไว้บ้าง
เคยเล่าให้เด็กรุ่นลูกหลานฟัง แต่ดูพวกเขาไม่สนใจอะครับ

เรื่องการชงชาแบบกังฮูเต๊ในคลิปน่าสนใจมาก
นี่ก็เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนจีนแต้จิ๋วนะครับ

 

โดย: Dingtech 22 กุมภาพันธ์ 2556 16:36:22 น.  

 

สวยตั้งแต่ปก
และคงจะงดงามด้วยเนื้อหานะครับ

ภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน
เหมือนลายแทงให้คนรุ่นเราได้เดินตามรอยนะครับ


 

โดย: กะว่าก๋า 22 กุมภาพันธ์ 2556 21:53:58 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Polarbee
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]




ไม่เขียน ไม่เลอะ
ไม่เปรอะ ไม่ผิด
ไม่เขียน ไม่คิด
ไม่ผิด ไม่จำ
New Comments
Friends' blogs
[Add Polarbee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.