Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
18 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
"พุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ" : เหตุผลจากฝ่ายคัดค้าน (1)

[อ่าน "ตัดแปะ" เรื่องอื่น]


บอกกล่าวกันก่อน

ก่อนอื่น ต้องขอหมายเหตุไว้เสียตรงนี้ว่า โดยส่วนตัวแล้ว ไม่เห็นด้วยกับการบัญญัติศาสนาประจำชาติเลยไม่ว่าจะด้วยประการใด ๆ ทั้งสิ้น หากใครจะว่าประเทศอื่นยังมีได้เลยนี่ ข้าพเจ้าก็จะบอกว่าประเทศนั้น ๆ ก็ควรจะถอนออกด้วย ประเทศอื่นจะได้ไม่เอาไว้เป็นข้ออ้างเพื่อเอาอย่าง แต่ว่า... เราควรฟังความเห็นหลาย ๆ ด้าน ในคราวก่อน ข้าพเจ้าได้นำเอาเหตุผลของฝ่ายสนับสนุนว่า จะต้องบัญญัติคำว่า "พุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ" มาให้อ่านกันแล้ว (Click อ่านได้ที่นี่) ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าจะขอนำเอาเหตุผลของฝ่ายที่คัดค้าน (หรือ ต่อต้าน) มาเสนอให้สหายได้อ่านกัน และจะนำบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเสนออีกครั้งหนึ่ง

โปรดอ่านและวิจารณ์อย่างมีสติ




ในวันนี้ขอยกบทความเรื่อง "เหตุผล ที่รัฐธรรมนูญไม่ควรระบุ ศาสนาประจำชาติ" โดย เมตฺตานนฺโท ภิกฺขุ ซึ่งได้ตีพิมพ์ไปแล้วใน หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2550

โดยในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้คัดลอกมาจาก Website ของมติชน จาก link ต้นฉบับนี้ โดยไม่ได้ตัดทอนและไม่ได้เพิ่มเติม แต่จะเน้นบางข้อความที่ข้าพเจ้าเห็นว่าสำคัญ

(ส่วนความเห็นและข้อเสนอของข้าพเจ้านั้นอยู่ที่นี่)



(ภาพจาก บทความเรื่อง กระแสฝรั่งเรียนรู้พระพุทธศาสนา ใน นสพ คมชัดลึก)


เหตุผล ที่รัฐธรรมนูญไม่ควรระบุ ศาสนาประจำชาติ

โดย เมตฺตานนฺโท ภิกฺขุ

!!!


ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัยอยู่แล้ว สิ่งที่เป็นที่ประจักษ์แก่ทั้งคนไทยและอาคันตุกะทุกคนที่มาเยือนประเทศ และเห็นได้ชัดเจนจากการที่ประเทศไทยมีการใช้ปี พ.ศ.อย่างเป็นทางการในการนับศักราช

การมีวันหยุดประจำชาติเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญในพระพุทธศาสนา โดยที่รัฐบาลไทยไม่เคยกำหนดให้มีวันหยุดราชการของศาสนาอื่นใดมาเลย

ยิ่งไปกว่านั้นพระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรไทย ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะมาตลอด ไม่เคยปรากฏพระมหากษัตริย์องค์ใดของชาติที่นับถือศาสนาอื่นเลย และมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงประพฤติธรรมตามทศพิธราชธรรมมาตลอด แม้จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอื่นด้วย แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย

การระบุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แก่ชาวพุทธแต่จะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี และความน้อยเนื้อต่ำใจในหมู่ราษฎรที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา

การที่ระบุว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ย่อมทำให้เกิดการตีความไปได้หลายนัย เช่น ประเทศนี้หรือแผ่นดินนี้เป็นของชาวพุทธ ไม่ใช่ของผู้นับถือศาสนาอื่น หรือประชาชนที่ไม่ได้นับถือพุทธย่อมไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับที่นับถือพุทธ หรือแผ่นดินนี้มีชาวพุทธเป็นใหญ่ ไม่ใช่ศาสนาอื่น หรือผู้ที่นับถือพุทธพึงได้รับความเกรงใจจากศาสนิกชนของศาสนาอื่นๆ

หรือแม้กระทั่งความเป็นธรรมของประชาชนจะเอาของชาวพุทธสำคัญกว่าศาสนาอื่น และผลประโยชน์ของชาวพุทธย่อมมาก่อนศาสนาอื่น เป็นต้น

เมื่อเกิดความคิดที่น้อยเนื้อต่ำใจเช่นนี้ คนไทยที่นับถือศาสนาอื่นจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่าตนเองคือประชาชนชั้นสองของประเทศ ส่วนประชาชนชั้นหนึ่งนั้นคือชาวพุทธ

!!!


แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสันติและเมตตาธรรม แต่ประวัติศาสตร์ของโลกได้มีปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอ คือ ครั้งใดก็ตามที่ความศรัทธาของชาวพุทธผนวกกับลัทธิชาตินิยม ผลที่ออกมาคือความรุนแรงทางสังคมเสมอไป

ตัวอย่างประการแรกเกิดในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุคสมัยที่สยามมีความรุ่งเรืองด้วยศิลปะวิทยาสาขาต่างๆ มีกวีเอกแห่งชาติเกิดขึ้น การค้าและการติดต่อกับต่างประเทศได้รับความสำเร็จ มีชาวต่างชาติมารับราชการในแผ่นดินมากมาย

ราชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์จบลงด้วยการยึดอำนาจของพระเพทราชา และขุนหลวงสรศักดิ์ลูกชาย ซึ่งรัฐประหารครั้งนั้นเกิดขึ้นจากความหวาดระแวงศาสนาโรมันคาทอลิกที่เข้ามาเผยแพร่ในกรุงศรีอยุธยา นำโดยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ซึ่งเป็นขุนนางไทย เชื้อสายกรีก

รัฐประหารครั้งนั้นนำมาสู่การตัดความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส การค้าระหว่างประเทศที่ยุติลงและความไม่ไว้วางใจชาวตะวันตกในหมู่คนไทยได้แพร่หลาย ประเทศสยามในขณะนั้นเป็นประเทศในเอเชียประเทศแรกที่กำลังเปิดรับความรู้และอารยธรรมจากยุโรป และมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำแห่งความก้าวหน้าในเอเชีย ก็ยุติลงไปโดยปริยายไปครั้งหนึ่ง

!!!


เหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นอีกในศตวรรษที่ 19 ในประเทศทิเบตภายใต้การปกครองของดาไล ลามะองค์ที่ 13 ผู้ที่มีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าโดยการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม แบบประเทศในยุโรป และการจัดสร้างโรงเรียนสอนภาษาตะวันตก

โครงการพัฒนาชาตินี้ยุติลงเมื่อเจ้าอาวาสวัดใหญ่ 5 แห่งของทิเบต ออกโรงคัดค้าน เพราะกลัวว่าการสอนภาษาตะวันตกและการบริหารแบบฝรั่งจะทำให้ศาสนาอื่นจากยุโรปเข้ามาเผยแพร่ในทิเบต ชาวทิเบตจะเปลี่ยนไปเข้ารีตกันหมด

การคัดค้านครั้งนี้เป็นผลทำให้ประเทศทิเบตล้าหลังทั้งทางวิชาการ การปกครอง จนเป็นเหตุให้จีนเข้ามายึดครองได้โดยง่ายในที่สุด

(เหตุอย่างหนึ่งที่น่าจะทำให้ดาไล ลามะองค์ที่ 13 ประสงค์ที่จะพัฒนาประเทศในลักษณะเช่นนี้น่าจะมาจากตัวอย่างสำคัญคือประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงโปรดฯให้มีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรมแบบตะวันตก และทรงสนับสนุนให้คณะมิชชันนารีเข้ามาเปิดโรงเรียนในประเทศไทย)

!!!


ประวัติศาสตร์แบบเดียวกันนี้เองเกิดขึ้นในสหภาพพม่า เมื่อสี่สิบปีมาแล้วเมื่ออูนุได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี พระภิกษุเลือดรักชาติออกโรงเดินขบวนต่อต้านนโยบาย เปิดกว้างให้สิทธิหมอสอนศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศ ให้รัฐให้สิทธิในการนับถือศาสนาแก่ประชาชนเท่าเทียมกัน การประท้วงรุนแรงขึ้นทุกขณะจนรัฐบาลเข้าขั้นวิกฤต และนำมาสู่รัฐประหารที่นำโดยนายพลเนวิน

เมื่อสี่สิบปีที่แล้วมานั้น พม่าเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศที่มีประชากรมีรายได้เฉลี่ยสูงสุดในแถบนี้ โดยมีการส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก นักการทูตของพม่าได้รับการยอมรับเป็นเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ แต่ปัจจุบันพม่าแม้ว่าจะอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ แต่ได้แปรสภาพเป็นประเทศที่มีประชากรยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาชนอดอยากและถูกขึ้นบัญชีว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงสุดประเทศหนึ่งของโลก

!!!


สถานการณ์แบบเดียวกันอุบัติขึ้นอีกในศรีลังกา เมื่อชาวพุทธซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหลที่นับถือพุทธต้องการที่จะให้เชื้อสายและศาสนาของตนเองเป็นใหญ่ จึงให้มีการระบุในรัฐธรรมนูญว่ามีภาษาสิงหลเป็นภาษาประจำชาติ

ทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประการใช้ กระบวนการพยัคฆ์ทมิฬเกิดขึ้นทันที ชาวทมิฬส่วนใหญ่นั้นไม่นับถือพุทธแต่เป็นฮินดู พูดภาษาทมิฬ เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่าเผ่าพันธุ์ของตนเป็นประชากรชั้นสอง ประชากรชั้นหนึ่งเป็นสิงหลนับถือพุทธ การก่อการร้ายโดยกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬนั้นรุนแรง ฆ่าไม่เลือกไม่ว่าหญิงหรือเด็ก แม้ในปัจจุบันศรีลังกาอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองที่ประชาชนเสียชีวิตไปกว่าสามแสนคน และผู้บาดเจ็บอีกนับล้านคน

!!!


ประวัติศาสตร์แบบนี้กำลังจะซ้ำร้อยในประเทศไทยในปี พ.ศ.2550 นี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลทหารของไทยประกาศที่จะให้มีการลงประชามติในเดือนสิงหาคม เพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับของราชอาณาจักรไทยมิเคยระบุเรื่องศาสนาประจำชาติเลย ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมาได้เกิดความหวาดวิตกที่ได้แพร่หลายไปในวงกว้างของชาวพุทธในประเทศไทยว่าศาสนาต่างชาติกำลังมีแผนการที่จะเข้ามากลืนพระพุทธศาสนาในประเทศไทย โดยการเผยแผ่ของพระเถระผู้มีคนศรัทธารูปหนึ่งจนทำให้เกิดกระบวนการพิทักษ์พุทธฯ และแนวร่วมเพื่อต่อสู้ป้องกันพระพุทธศาสนาในลักษณะแบบเดียวกับที่ได้เกิดในพม่าและศรีลังกา

ในปีนี้ได้เกิดเอกสารแพร่ระบาดไปในหมู่ชาวพุทธให้กลัวภัยในศาสนาอิสลาม เพื่อประสานให้เกิดการขับเคลื่อนทางการเมืองให้บรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สถานภาพพิเศษแก่พระพุทธศาสนา โดยอ้างว่าจะเป็นวิธีการที่จะป้องกันการคุกคามของศาสนาอื่น

!!!


ลัทธิชาตินิยมผนวกศรัทธาในศาสนาได้แพร่ระบาดไปแล้วทั่วประเทศอย่างทั่วถึง และเป็นช่วงเวลาขาขึ้นที่กำลังได้เปรียบ เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่บรรจุประโยคที่ระบุสถานภาพพิเศษของพระพุทธศาสนาแล้วไซร้ ก็เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าจะเกิดความวุ่นวายทางการเมือง จนเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่ผ่านการยอมรับของประชาชน

แต่หากกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญใจอ่อนยอมตามและบรรจุข้อความดังกล่าวลงไป ก็เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า ประวัติศาสตร์แบบที่เคยเกิดขึ้นในศรีลังกาก็จะซ้ำรอยในประเทศไทย และอาจรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากเงื่อนไขมิใช่อยู่ที่ภาษาประจำชาติแต่อยู่ที่ศาสนา อันเป็นเงื่อนไขทางสังคมที่รุนแรงกว่ามาก

หากเป็นเช่นนั้นโจรแบ่งแยกดินแดนก็จะมีเหตุผลที่ฟังขึ้นในหมู่นานาชาติและประเทศอิสลามว่า พวกตนได้รับการคุกคามทางศาสนา และมีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งแยกดินแดนเป็นรัฐอิสระ ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ยุคแห่งสงครามก่อการร้ายอย่างไม่รู้จบ แม้จะกลับมาแก้รัฐธรรมนูญกันใหม่ก็ไม่อาจแก้ไขอะไรได้

!!!


ชาวพุทธที่รักชาติทั้งหลายจงหยุดคิดสักครั้งเถิดว่า สิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่นี้จะส่งผลอะไรบ้าง ขณะนี้ยังไม่สายเกินไปที่จะกลับใจพระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาผู้ประกาศสันติธรรม และย่อมจะไม่ทรงเห็นชอบกับการที่จะให้สาวกของท่านเดือดร้อน เพราะทิฐิอันมาจากความยึดมั่นถือมั่นในศาสนากับลัทธิชาตินิยมเลย โลกนี้ร้อนเพราะไฟกิเลสมากเพียงพอแล้ว

การระบุในรัฐธรรมนูญให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น นอกจากจะไม่ยังประโยชน์ใดๆ ให้เกิดขึ้นแก่ชาวพุทธหรือพระพุทธศาสนาแล้ว ยังจะสร้างความบาดหมางให้เกิดขึ้นกับผู้อื่นและอาคันตุกะที่มาเยือนประเทศไทยอีกจำนวนมาก

อย่าให้เหตุการณ์อัปยศที่เกิดขึ้นในอดีตกลับมาสร้างความปั่นป่วนในสังคมไทยอีกเลย ประเทศชาตินั้นบอบช้ำมามากพอแล้ว

!!!


ส่งท้าย

โดยส่วนตัว "เห็นด้วย" กับแถลงการอันนี้ และจะขอยังไม่อภิปรายเพิ่ม เพราะนี่เป็นสิ่งทีข้าพเจ้าคิดอยู่แล้ว และไม่คิดว่าจะเขียนบทความได้ดีกว่านี้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นไปได้ที่ผู้ก่อการร้ายในการแบ่งแยกดินแดนจะใช้ประโยชน์จากข้อความ "ศาสนาประจำชาติ" นี้ สหายหลายท่านอาจจะคล้อยตาม หรือสหายบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยเราก็ไม่ควรจะยึดถือเอาแต่ความคิดของเราแต่ฝ่ายเดียว ถ้าเรา "สนับสนุน" เราก็ควรจะเข้าใจ "เหตุผล" ของฝ่าย "คัดค้าน" ด้วย เพื่อเราจะได้มองปัญหาประเด็น "ศาสนาประจำชาติ" นี้ได้กว้างขวางมากขึ้น เผื่อจะหาทางออกที่ดีร่วมกันได้

ขอให้ชาวพุทธทุกท่าน ก่อนจะตัดสินใจเชื่อ และอภิปรายในเรื่องใด
โปรดได้คิดถึงหลักกาลามสูตรไว้ด้วย









[อ่าน "ตัดแปะ" เรื่องอื่น]


Create Date : 18 เมษายน 2550
Last Update : 21 กรกฎาคม 2550 0:57:06 น. 25 comments
Counter : 2219 Pageviews.

 
เราเห็นด้วยกับบทความนี้คะ แล้วเราไม่เห็นเป็นกิจของสงฆ์แต่อย่างใดที่จะไปก่อการชุมนุมต่อต้านรัฐธรรมนูญ บ้านนี้เมืองนี้ มีเสรีภาพมากพอแล้ว อย่าให้กฎเกณฑ์ใดๆมาทำลายให้เสรีภาพที่มีอยู่ต้องล่มสลาย

แค่นี้ความแตกแยกในสังคมระดับชนชั้น ก็เยอะจะตายแล้ว ยังจะมีความแตกในศาสนาอีกเหรอ เราเป็นพุทธนะ แต่ถ้าพระสงฆ์ฟุ้งซ่านขนาดนี้ เราว่าเราก็อยากจะลาออกจากการเป็นชาวพุทธเหมือนกัน

ดูแลศาสนาของตัวเองให้คนที่อยู่ในศาสนาเป็นคนดี และตัวเองก็พิทักษ์รักษาศาสนาด้วยการมุ่งมั่นทำดี ดีกว่าจะมายึดถือลายลักษณ์อักษรอยู่เลย


โดย: Alex on the rock IP: 203.146.80.148 วันที่: 18 เมษายน 2550 เวลา:14:03:21 น.  

 
เป็นความคิดเห็นที่โดยใจผมมาก ๆ

ผมว่ามันมิใช่กิจอันใดเลยที่พระหรือพวกคลั่งศาสนาจะมาร้องเย้ว ๆ ให้เอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

นี้เท่ากับว่าไม่ยอมรับความหลากหลายและใจแคบมากครับ

ผมว่ามนุษย์เรามีศาสนามีความเชื่ออย่างไรก็ได้ แต่ก็พึ่งศึกษาและเคารพความเชื่อและศรัทธาอื่นด้วย อาจารย์ผมเปรียบเทียบได้อย่างสวยงามว่า ศาสนาก็เหมือนสวนดอกไม้สีงาม แต่ละดอกก็คือศาสนาที่หลากหลายแตกต่างความเชื่ออย่างไร มนุษย์พึงเก็บดอกไม้เหล่านั้นมาใส่แจกันให้หลากสี พึงแต่ความปรารถนาและศรัทธา อย่าปล่อยให้แจกันมีดอกไม้เพียงดอกเดียวเลย

การได้เห็นความงามของความเชื่อและศรัทธาในศาสนาอื่น ๆ ล้ำค่ายิ่งครับ

ดังนั้นผมจึงไม่เห็นด้วยเลยแม้แต่น้อยกับการเรียกร้องครั้งนี้


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 18 เมษายน 2550 เวลา:14:17:40 น.  

 
ข้าพเจ้ายืนยัน ไม่เห็นด้วยกับการระบุศาสนาประจำชาติ


โดย: kai (Sweet evil ) วันที่: 18 เมษายน 2550 เวลา:14:19:59 น.  

 
สวัสดีครับ ว่างมาอั๊พบล๊อกนิดนึง
เลยแวะเยี่ยมทักทายกันนะครับ...

อืมห์ อ่านแล้วก็น่าคิดนะครับ
ขอบพระคุณที่นำมาลงให้อ่านกันครับ


โดย: <๙ยันต์เกราะเพชร๙> วันที่: 18 เมษายน 2550 เวลา:15:08:24 น.  

 
มาเห็นด้วยเหมือนกันว่าไม่ควรระบุ..เพราะคิดว่าไม่เกิดประโยชน์ใดๆเลย ศาสนากับการเมืองควรต้องแยกออกจากกัน


โดย: pun@ru วันที่: 18 เมษายน 2550 เวลา:15:15:42 น.  

 
ข้าพเจ้าเข้าใจมาเองตลอดว่า ศาสนาเป็นเรื่องของเสรี ความศรัทธาและความสมัครใจ ไม่ใช่เรื่องของการกีดกัน ความเห็นแก่ตัวและการแบ่งเขาแบ่งเรา


ถ้าเหยียด "เขา" และแบ่ง "เรา"
มันไม่ต่างอะไรกับการทำสงครามแล้วอ้างศาสนามาสนับสนุนการเข่นฆ่าเลย


โดย: แพนด้ามหาภัย วันที่: 18 เมษายน 2550 เวลา:19:42:34 น.  

 
กิจของสงฆ์มีมากมายค่ะที่จะต้องทำ ... เลยไม่เห็นด้วยเหมือนกันว่าทำไมจะต้องระบุ ...

เพราะว่ายังไงเราก็รู้กันอยุ่แล้ว แล้วเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องเปิดเผย ... ไม่ว่าศาสนาใด
ก็ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญคือจะต้องนั่นและนี่ ต้องนั่นของเรา และนี่ของเขา
เราว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ควรเอามาอ้างอย่างยิ่งอ่ะค่ะ ...


โดย: JewNid วันที่: 18 เมษายน 2550 เวลา:21:37:19 น.  

 
ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องศาสนาประจำชาติ

ข้าพเจ้าเคยได้ยินหลักสูตรภาษาไทยของพี่น้องมุสลิมในจังหวัดภายได้ เขาเริ่มสอนว่า " กอ ไก่ พระเจ้าสร้างมา"
แทนที่จะสอนว่า กอ เอ่ย กอ ไก่ นั่นแสดงว่าเป็นเรื่องดีที่เขาสนใจปลูกฝังหลักศาสนาตั้งแต่เยาวัย โดยที่พ่อ-แม่ครูบาอาจารย์เป็นผู้สอนเอง แต่พอหันมาดูพี่น้องชาวพุทธด้วยกัน จะมีสักกี่คนที่เคยสอนศาสนาให้กับลูกหลาน เพราะแม้แต่พ่อ-แม่เองก็ทำตัวเหินห่างจากศาสนามาโดยตลอด

ขอถามหน่อยนะครับ
1. ท่านคิดว่า พุทธศาสนิกชนทั่วโลก ในปัจจุบันนี้มีมากขึ้นหรือน้อยลงครับ

2. เป็นคำถามเชิงเปรียบเทียบนะครับ
เด็กเล็กๆที่ป่วย แต่ไม่ยอมกินยาขม แต่เพราะกลัวคำสั่งของพ่อ-แม่จึงยอมทานยา สุดท้ายท่านคิดว่าเขาจะหายป่วยมั๊ยครับ..

3. กระผมไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่กับการให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่เนื่องด้วยเยาชนคนรู้ใหม่ทำตัวห่างเหินจากศาสนาที่พ่อแม่นับถือมากขึ้นทุกวัน
พ่อ-แม่ก็ไม่สามารถชักจูงลูกหลานให้เข้าหาศาสนาได้ เพราะตนเองก็เคยถูกคนรุ่นปู่-ย่า ละเลยในเรื่องนี้เช่นกัน
เมื่อความเป็นจริง เป็นเช่นนี้ อีก ๕๐ ปีข้างหน้าพระพุทธศาสนาจะเป็นเช่นไรละครับ มันน่าจะถึงเวลาแล้วนะครับ
ก่อนที่จะปล่อยให้ศาสนิกของศาสนาอื่นมีมากขึ้นกว่านี้ จนแก้ไขอะไรไม่ทัน

ศาสนาอิสลามไม่เหมือนศาสนาอื่นนะครับ อย่าได้หวังว่าเมื่อเขาขึ้นเป็นใหญ่แล้วเราจะขอร้องอะไรเขาได้ ประเทศอินโดเนเซีย มาเลเซีย เคยเป็นประเทศพุทธศาสนา 100 % มาก่อน แต่เดี่ยวนี้ เราจะขอเช่าสถานีวิทยุออกรายการธรรมไม่ได้เลยนะครับ ...โปรดพิจารณาให้ถี่ถ้วน





โดย: พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี IP: 202.28.111.17 วันที่: 21 เมษายน 2550 เวลา:19:02:42 น.  

 
ประเด็นหลัก
ประเด็นที่แท้จริงในเรื่องนี้ ก็คือ สถานการณ์ที่เป็นไปในปัจจุบันนี้ จะต้องมีกฎเกณฑ์ หรือมาตรการข้อบังคับอย่างใดอย่างหนึ่งมาแก้ไขโดยด่วน ได้แก่
1. จะต้องมีกฎหมายที่แน่นอน ที่จะมาบีบบังคับให้ผู้ประพฤติเสื่อมเสียออกไปเสียจากศาสนาที่เร็วที่สุด และมากที่สุด เท่าที่จะทำได้
2. จะต้องมีกฎข้อบังคับให้ชาวพุทธทุกคนต้องปฏิบัติวิปัสนาอย่างน้อย ๑๐ วัน ในชาตินี้ หลังจากนั้นทุก ๆ อย่างก็จะเข้าสู่ระบบของมันเอง
เมื่อถึงตรงนี้ ขอถามว่า จะมีสิ่งใดที่จะช่วยผลักดันให้สองข้อข้างต้นเป็นไปได้จริง ยิ่งไปกว่ากันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือท่านมีข้อคิดเห็นที่เป็นไปได้ และน่าสนใจยิ่งไปกว่านี้..?

ศาสนาพุทธ มีจุดอ่อนตรงที่ให้อิสรเสรีแก่ทุกๆคนที่จะปฏิบัติตาม แต่ในเมื่อพวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่รู้แจ้งแก่ใจว่า หากใครปฏิบัติตามจะต้องได้ดีทุกคน แล้วพวกเราจะมัวมาลังเลอะไรกับการช่วยกันออกกฎข้อบังคับ เพือบีบบังคับให้ลูกหลานได้ปฏิบัติตาม

ขอถามย้ำอีกครั้งว่า ในสถานการณ์ที่สื่อโหมโฆษณาชวนชื่อดึงจิตคนรู้ใหม่ให้ห่างใกลศาสนาออกไปทุกนาที ทุกชั่วโมง และยั่วยุให้พระหนุ่ม เณรน้อยมีพฤติกรรมที่เสื่อมเสีย มากขึ้น ๆๆอย่างที่เป็นอยู่นี้ จะมีวิธีการใดที่เป็นไปได้จริงมิใช่แค่บ่น ที่จะทำให้พระไม่ดีออกไปจากศาสนา และส่งเสริมให้ชาวพุทธทุกคนได้ลิ้มรสชาติแห่งพระสัทธรรมอย่างน้อย ๑๐ วันในชาตินี้ ได้ดีและเป็นไปได้จริงยิ่งไปกว่าการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายลูกมาบีบบังคับ

ถ้าหากมีวิธีการอื่นที่ทำได้ และเป็นไปได้จริงด้วยนะ ก็โปรดนำมาเสนอด้วย

.. ที่ว่าประเทศภูฐาน ไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น ก็เพราะเขายังไม่มีสิ่งยั่วยุมากมายเหมือนบ้านเรา คนในชาติและพระสงฆ์ยังยึดมั่นในศาสนากันดีอยู่
...ที่ว่า ถึงบัญญัติไว้ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่ที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร ปัจจุบันนี้มิได้บัญญัติไว้มิใช่หรือ จึงไม่สามารถออกกฎหมายลูกมาบีบบังคับพระสงฆ์และข้าราชารได้ สิ่งเลวร้ายต่างๆจึงเกิดขึ้นทั้งแก่พระศาสนาและสังคม จนแทบจะหาทางแก้ไม่ได้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะเป็นรถด่วนขบวนสุดท้าย ที่จะมาช่วยให้พุทธศาสนาอยู่รอดในสังคมไทยก็ได้นะ..โปรดพิจารณาดู
..สิ่งที่ต้องการจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การออกกฎหมายลูกมาบีบบังคับพระอลัชชีและข้าราชการในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาโดยเฉพาะ ..ท่านก็รู้ดีนี่หน่า ว่า..แค่พระธรรมวินัยเอาแทบไม่อยู่แล้ว จะเอาอย่างไรก็ตามใจโยมก็แล้วกัน??? ..หวังดีจึงมาบอก

ปฏิบัติวิปัสสนาปีละ ๑๐ วัน
ที่อาตมากล้าพูดเรื่องวิปัสสนา ๑๐ วันนั้น เนื่องจาก เมื่อ ๗ เดือนที่ผ่านมา อาตมาได้ไปปฏิบัติวิปัสสนา ๗ เดือนเต็ม เป็นการปฏิบัติแบบวิปัสสนาล้วน ๆ ซึ่งถูกต้องตามหลักคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและฎีกาทุกประการจึงกล้าที่จะยืนยันว่า หากใครปฏิบัติด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ผ่าน ๑๐ วันแรกของชีวิตไปได้ หลังจากนั้นเขาจะปฏิบัติต่อเองโดยไม่ต้องบังคับ แต่มีเงือนไขว่า ต้องเป็นการปฏิบัติแบบวิปัสสนาล้วน ๆ นะครับ จึงจะได้ผลเช่นนี้ แต่ถ้าปฏิบ้ติแบบปุพพังคมนัย ก็จะได้ผลเช่นกัน แต่ต้องใช้เวลานากว่านี้มาก แค่ ๑๐ วันยังไม่ได้อะไรเลย การปฏิบัติทั้ง ๒ แบบนี้มีข้อแต่ต่างดังนี้
.. วิปัสสนาล้วน(สุทธวิปัสนา) ทำให้กิเลสลดและเข้าใจชีวิตมากขึ้นเท่านั้น แต่สมาธิไม่ดิ่งลึกมาก
..ปุพพังคมนัย(สมถนำหน้า) ช่วงแรกจะฟุ้งซ่านมาก แต่พอผ่านไปสมาธิจะดิ่งลึกมาก สุขสงบมากเกินไป ช่วงแรกๆ ยิ่งปฏิบัติยิ่งยึดติด จนบางคนหลงไปเลยก็มี

...ที่อาตมาสามารถปฏิบัติวิปัสสนาติดต่อกัน ๗ เดือนเต็มได้ ก็เนื่องมาจาก ตอนเรียนปริญญาตรี ถูกมหาวิทยาลัยบังคับให้ปฏิบัติ ปีละ ๑๐ วันนี้แหละ


โดย: พระมหาประเสริฐ มนฺตเ IP: 202.28.111.17 วันที่: 23 เมษายน 2550 เวลา:2:06:25 น.  

 
นมัสการพระคุณเจ้าขอรับ
เผอิญตอนนี้กระผมมาประชุมที่ต่างจังหวัด ไม่สะดวกพิมพ์ตอบเยอะ ๆ ยาว ๆขอรับ

แต่ว่ากระผมสนใจสนทนาด้วยต่อ ถ้ายังไงพระคุณเจ้า email มาหากระผมได้ไหมขอรับ

rethinker@hotmail.com

ปล เรื่องกฎหมายนี่ก็เห็นด้วยนะขอรับ ที่ว่าอาจจะต้องออกมาบ้าง แต่การเอาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญนี่ ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะมีสิ่งเหล่านั้นออกมา กระผมว่า ก็ออกกฎหมายลูกที่ดูเป็นไปได้ออกมาอาจจะดีกว่านะขอรับ

อ้อ พอดีบทความอันนี้ที่ยกมา เป็นของคนอื่น ส่วนที่เป็นของกระผมเอง กระผมเสนอว่า ถ้าอยากจะทำอะไรแล้วไม่สามารถ จัดการ ควบคุม ความาเสี่ยงหรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นได้แล้วล่ะก็ ไม่ควรทำ.. น่าจะม่แผนก่อน เพราะว่าถ้าหากมีผลร้ายมาแล้วจะแก้ไม่ทัน

ผลดีนั้น กระผมคิดว่า มีวิธีอื่นทำได้อีกมาก แต่ผลร้ายนั้นถ้าควบคุมไม่ได้จะไปกันใหญ่ขอรับ


โดย: Plin, :-p วันที่: 23 เมษายน 2550 เวลา:9:59:05 น.  

 
พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์

“The religion of the future will be a cosmic religion. It should transcend a personal God and avoid dogmas and theology. Covering both the natural and the spiritual, it should be based on a religious sense arising , from the experience of all things, natural and spiritual as a meaningful unity.
Buddhism answers this description.. If there is any religion that could cope with modern scientific needs it would be Buddhism.”

“ศาสนาในอนาคตจะต้องเป็นศาสนาสากล ศาสนานั้นควรอยู่เหนือ พระเจ้าที่มีตัวตนและควรจะเว้นคำสอนแบบสิทธันต์ ศาสนานั้นเมื่อครอบคลุม ทั้งธรรมชาติและจิตใจ จึงควรมีรากฐานอยู่บนสำนึกทางศาสนาที่เกิดขึ้นจาก ประสบการณ์ตรงต่อสิ่งทั้งปวง คือ ทั้งธรรมชาติและจิตใจอย่างเป็นหน่วยรวม ที่มีความหมาย พระพุทธศาสนาตอบข้อกำหนดนี้ได้ ..
ถ้าจะมีศาสนาใดที่รับมือได้กับความต้องการทางวิทยาศาสตร์สมัย ปัจจุบัน ศาสนานั้นก็ควรเป็นพระพุทธศาสนา ”

Albert Einstein ( อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ )
นักฟิสิกส์ ชาวเยอรมัน ผู้เสนอทฤษฎีสัมพันธภาพ


อ้างอิง. Eistien , 1879- 1955,
Great personalities on Buddhism, By K. Dhammananda,Thera , Kuala Lumpur, Malaysia : Buddhist Missionary Society, 1965, p.87.




ศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธ เกิดจากความกลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตาย ต้องการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง และต้องการเข้าถึงสุขแท้สุขถาวรที่ไม่ต้องกลับมาทุกข์อีก (1)

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ ๒๙ พรรษาพระองค์เสด็จออกประพาสอุทยาน ขณะที่กำลังเพลิดเพลินอยู่นั้น พระองค์ได้พบกับสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตนั่นคือ คนแก่ คนเจ็บและคนตาย ทำให้พระองค์ทรงหวั่นวิตกว่า “อีกไม่นานเราเองก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอย่างนี้เหมือนกัน ทำอย่างไรหนอ เราจะรอดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ได้? เมื่อมีร้อนก็มีหนาวแก้ เมื่อมีมืดก็มีสว่างแก้ เมื่อมีความแก่ความเจ็บและความตาย ก็ต้องมีวิธีแก้อย่างแน่นอน เราจะหาวิธีการนั้นให้พบให้จงได้” จากนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยทิ้งราชสมบัติ ทิ้งกองเงินกองทองออกจากพระราชวังไปนั่งให้ยุงกัดอยู่กลางป่า(2)

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?
พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งกฎธรรมชาติว่า สัตว์ทุกชีวิตเคยเวียนว่ายตายเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน(3) ผู้ที่ไม่เคยเกิดเป็นพ่อแม่กันมาก่อนหาได้ยาก(4) บางชาติเกิดเป็นเทวดา บางชาติเป็นมนุษย์ บางชาติเป็นสัตว์เดรัจฉาน บางชาติเกิดเป็นเปรต/อสุรกาย บางชาติต้องตกนรก ต้องเวียนว่ายตาย-เกิดอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ตามอำนาจบุญและบาปที่ตนเองได้ทำไว้ เหตุการณ์ทุกอย่างที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้ไม่มีคำว่าโชคหรือบังเอิญ ทุกอย่างเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำของเราในอดีตทั้งสิ้น(5)

เมื่อเรายังต้องเกิดอีก สิ่งที่จะตามมาด้วย คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และความทุกข์กายทุกข์ใจ ดั่งพระจาลาภิกษุณีกล่าวว่า “ ความตายย่อมมีแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ผู้ที่เกิดมาแล้วย่อมประสบทุกข์ เพราะเหตุนี้แลเราจึงไม่ชอบความ เกิด”(6)
ฉะนั้น วิธีที่จะรอดพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย และความทุกข์ทั้ง ปวงได้ ก็มีอยู่เพียงวิธีเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ“การไม่เกิดอีก” เพราะเมื่อไม่เกิดอีก เราก็ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย และไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป(7)


จุดมุ่งหมายพระพุทธศาสนา
เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ เจริญวิปัสสนาภาวนาจนบรรลุเข้าสู่ มรรค ผล นิพพาน ตัดกระแสธรรมชาติให้ขาดสะบั้นลงได้อย่างเด็ดขาดสิ้นเชิง กำจัดสาเหตุที่ก่อให้เกิดการถือกำเนิดในภพใหม่(8) สิ่งที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องเกิดอีกไม่มีที่สิ้นสุดก็คือความต้องการของสรรพสัตว์เองหรือที่เรียกว่า “กิเลสตัณหา”(9)

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “ อานนท์ กรรมชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่ายางเหนียวในเมล็ดพืช วิญญานดำรงอยู่ได้ เพราะธาตุหยาบของสัตว์ มีความหลงไม่รู้ความจริงเป็นเครื่องปิดกั้น มีตัณหา เป็นเชื้อเครื่องผูกเหนี่ยวใจไว้ การเกิดใหม่จึงมีต่อไปอีก(10) ตัณหาทำให้สัตว์ต้องเกิดอีก จิตของสัตว์ย่อมแล่นไป สัตว์ที่ยังต้องเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์ย่อมไม่อาจ หลุดพ้นจากทุกไปได้”(11)

เมื่อมนุษย์เจริญวิปัสสนาจนเกิดมรรคจิตครบ ๔ ครั้ง ก็จะกำจัดกิเลสตัณหา ในจิตของตนเองให้หมดสิ้นไปได้อย่างสิ้นเชิง(12) เขาจะไม่ต้องเกิดใหม่อีกต่อไป เปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์มะม่วงที่มียางเหนียวอยู่ภายใน ถ้านำไปปลูกจะงอกเป็น ต้นมะม่วงได้อีก แต่ถ้านำไปต้มกำจัดยางเหนียวให้หมดไป จากนั้นนำไปปลูกโดย วิธีใดก็ตามจะไม่งอกอีกแล้ว กิเลสตัณหาในดวงจิตของเราก็เช่นกัน
แต่ถ้าหากไม่สามารถทำมรรคจิตให้เกิดครบ ๔ ครั้งได้ แม้เกิดเพียงครั้งเดียวก็จัดว่าเข้าสู่กระแสแล้ว(โสดาบัน) ก็ไม่ต้องตกนรก/ทุกข์ในอบายอีกต่อไป และจะบรรลุอรหันต์ได้เองโดยอัตโนมัติภายในระยะเวลาไม่เกิน ๗ ชาติ(13)

กรรมฐาน
กรรมฐาน เป็นศาสตร์หนึ่งที่มีอยู่ในจักรวาลเหมือนกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ต่างกันแต่ศาสตร์นี้ต้องศึกษาวิจัยในห้องแลปร์คือจิตล้วน ๆ และ มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ความหลุดพ้นจากทุกทั้งปวง ศาสตร์นี้เป็นกลไกที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ยากที่มนุษย์จะเข้าถึงได้ สิ่งที่สามารถเข้าถึงและแทงตลอดกฏเกณฑนี้ได้มีเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือจิตที่ทรงพลานุภาพ ตามธรรมดาแล้วมนุษย์ล้วนมีจิตกันทุกคน แต่จิตธรรมดาจะกลายเป็นจิตที่ทรง พลานุภาพได้นั้นต้องอาศัยการบ่มเพาะเป็นเวลานาน คัมภีร์อรรถกถาบอกว่า ต้องใช้เวลานานถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัปเลยทีเดียว(14) ด้วยเหตุนี้ นาน ๆ จึงจะมีดวงจิตที่ทรงพลานุภาพมาปฏิสนธิสักครั้งหนึ่ง โลกใบนี้อุบัติขึ้นประมาณ ๔,๕๐๐ ล้านปีมาแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานมาก แต่ดวงจิตที่ทรงพลานุภาพมาปฏิสนธิแค่เพียง ๔ ครั้งเท่านั้น(15) ครั้งสุดท้ายมาปฏิสนธิ เมื่อ ๒๖๒๗ ปีก่อนนี้เอง ผู้นั้นเราเรียกกันว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

เรื่องกรรมฐานนี้ มนุษย์ทั่วโลกได้พยายามค้นคว้าและเข้าถึงมานานแล้ว แต่เนื่องด้วยบารมีไม่เพียงพอจึงเข้าถึงได้เพียงครึ่งเดียว คนกลุ่มนั้นก็คือพวก ฤษีและศาสดาต่าง ๆ พวกท่านสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ มีฤทธิ์เดชมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดกิเลสในจิตตนเองให้หมดไปได้(16) ยังมีความรัก โลภ โกรธ หลงอยู่ ท่านเหล่านี้เข้าถึงได้เพียงแค่ระดับฌานสมาบัติเท่านั้น ยังไม่สามารถเข้าถึงวิปัสสนาปัญญา บรรลุมรรค ผล นิพพานได้(17)

สมถกรรมฐาน(18) คือ การกำหนดจิตอยู่กับสิ่งใด สิ่งหนึ่งที่เหมาะสม เช่น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นต้น(19) ใส่ใจแต่เฉพาะอาการเข้า อาการออกของลมหายใจเท่านั้น โดยไม่สนใจสิ่งอื่น แม้แต่ความคิดก็ไม่สนใจหายใจเข้า หายใจออกตามปกติธรรมด่า มีสติระลึกรู้อยู่ในขณะปัจจุบัน มีสติระลึกรู้อยู่อย่างนี้นับร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้งจนจิตตั้งมั่น แนบแน่นอยู่ กับลมหายใจนิ่งเป็นสมาธิ แล้วกำหนดรู้อาการนิ่งสงบของจิต จนนิ่งเป็นอุเบกขา เมื่อถึงขั้นนี้จะน้อมจิตไปทำสิ่งใดก็จะสำเร็จได้ดั่งใจหมาย เช่น สามารถ กำหนด รู้ความคิดของคนอื่นได้เป็นต้น(20)

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช พระองค์ได้ไปศึกษาศาสตร์นี้จากสำนักฤษีต่างๆ ที่มีอยู่ในสมัยนั้นจนหมดความรู้อาจารย์ แต่เมื่อออกจากสมาธิ กิเลสตัณหาก็ยังมีอยู่เท่าเดิม ยังมีความกลัวความกังวลอยู่ พระองค์จึงตัดสินพระทัยศึกษาค้นคว้าหาวิธีดับทุกข์ด้วยพระ องค์เอง ด้วยการเจริญวิปัสสนา(21)

เมื่อเกิดวิปัสสนาปัญญญารู้แจ้งอยู่ไปตามลำดับครบ ๑๖ขั้นจะบรรลุ โสดาบัน เที่ยวที่ ๒ บรรลุสกทาคามี เที่ยวที่ ๓ บรรลุอนาคามี เที่ยวที่ ๔บรรลุพระอรหันต์เข้าถึงพระนิพพาน(22) ดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงไม่ต้องเกิดใหม่อีกต่อไป เมื่อไม่ต้องเกิดอีกก็ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย และไม่ต้องทุกข์ กายทุกข์ใจอีกต่อไป การตายอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย จึงเรียกว่าดับขันธปรินิพพาน ดับทั้งกายดับทั้งจิต ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

อ้างอิง..พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(เล่มที่ / หน้าที่)
1ไตรปิฎก.๒๕/๔๗๖,๓๑/๔๐๐
2 ดูรายละเอียดใน ไตรปิฎก.๑๐/๑-๑๐
3 ไตรปิฎก.๑๖/๒๒๓
4 ไตรปิฎก๑๖/๒๒๗
5 ไตรปิฎก๑๔/๓๕๐-๓๖๕
6 ไตรปิฎก๑๕/๒๒๓
7 ไตรปิฎก๑๙/๕๓๔
8ไตรปิฎก.๑๑/๒๒๒ ,อรรถกถาอังคุตตรนิกาย(บาลี)๑/๑๖๔
9 ไตรปิฎก๑๕/๖๘
10 ไตรปิฎก.๒๐/๓๐๑
11 ไตรปิฎก๑๕/๗๐
12 ไตรปิฎก.๓๑/๙๗
13 ไตรปิฎก.๑๙/๕๔๔, ๑๔/๑๘๖, ๒๐/๓๑๕, ๒๕/๑๒
14 วิสุทฺธชนวิลาสินี(บาลี)๑/๑๒๐
15 ไตรปิฎก.๓๓/๗๒๓
16 ไตรปิฎก.๒๐/๓๘๐
17 ไตรปิฎก.๑๓/๓๙๖,อรรถกถามัชฌิมนิกาย(บาลี) ๑/๑๙๙
18 วิสุทฺธิมรรค(บาลี)๑/๑๓๒-๑๔๙
19 ไตรปิฎก.๑๒/๑๐๑
20 ไตรปิฎก.๑๐/๑๔๒, ๒๒/๓๖
21 ไตรปิฎก.๑๙/๔๖๑,อรรถกถาอังคุตตรนิกาย(บาลี)๑/๘๑๓๓
22 ไตรปิฎก.๓๑/๑-๑๖,๒๕/๗๒๐
//dungtrin.com/



โดย: พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี IP: 202.28.111.17 วันที่: 23 เมษายน 2550 เวลา:14:53:05 น.  

 
ขอแสดงความคิดเห็นให้ชัดเจนอีกครั้ง...

ข้าพเจ้าเคยได้ยินหลักสูตรภาษาไทยของพี่น้องมุสลิมในจังหวัดภายได้ เขาเริ่มสอนว่า " กอ ไก่ พระเจ้าสร้างมา" แทนที่จะสอนว่า กอ เอ่ย กอ ไก่ นั่นแสดงว่าเป็นเรื่องดีที่เขาสนใจปลูกฝังหลักศาสนาให้แก่ลูกหลานตั้งแต่เยาว์วัย โดยที่พ่อ-แม่ ครูบาอาจารย์เป็นผู้สอนเอง ไม่ต้องรอให้นักการศาสนามาสอน แต่พอหันมาดูพี่น้องชาวพุทธด้วยกัน จะมีสักกี่คนที่เคยสอนศาสนาให้กับลูกหลานด้วยตนเอง เพราะแม้แต่พ่อ-แม่เองก็ทำตัวเหินห่างจากศาสนามาโดยตลอด

ขอถามหน่อยนะครับ
1. ท่านคิดว่า พุทธศาสนิกชนทั่วโลก ในปัจจุบันนี้มีมากขึ้นหรือน้อยลงครับ? ลองเข้าไป
ที่นี่ดู //www.newmana.com/yabb/index.php?board=1.0 และ //www.muslimthai.com/forum/index.php?board=9.0 ก็จะทราบว่าเยาวชนของเราเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน ที่กล่าวกันว่า ประเทศไทยมีประชากรนับถือศาสนาพุทธ กว่า 90 % คงไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว

2. เป็นคำถามเชิงเปรียบเทียบนะครับ
เด็กเล็กๆที่ป่วย ไม่ยอมรับประทานยาขม แต่เพราะกลัวคำสั่งของพ่อ-แม่จึงยอมทานยา สุดท้ายท่านคิดว่าเขาจะหายป่วยมั๊ยครับ.. การบัญญัติพุทธศาสนาก็เช่นกัน เมื่อบัญญัติแล้ว ก็จะสามารถออกกฏหมายมาบังคับไม่ให้มีการฆ่าสัตว์และดื่มสุราในวันพระ นักเรียนนักศึกษาต้องปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนาภาวนา ปีละ 10 วัน เป็นต้นได้...
(...ศาสนาอิสลามห้ามดื่มสุรา และเล่นการพันโดยเด็ดขาด..)

3. เมื่อก่อนนี้ ข้าพเจ้าไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่กับการให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่เนื่องด้วยเยาวชนคนรู้ใหม่ทำตัวห่างเหินจากศาสนาที่พ่อแม่นับถือมากขึ้นทุกวัน พ่อ-แม่ก็ไม่สามารถชักจูงลูกหลานให้เข้าหาศาสนาได้ เพราะตนเองก็เคยถูกคนรุ่นปู่-ย่า ละเลยในเรื่องนี้เช่นกัน เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ อีก ๕๐ ปีข้างหน้าพระพุทธศาสนาจะเป็นเช่นไรละครับ มันน่าจะถึงเวลาแล้วนะครับ ก่อนที่จะปล่อยให้ศาสนิกของศาสนาอื่นมีมากขึ้นกว่านี้ จนแก้ไขอะไรไม่ทัน

ศาสนาอิสลามไม่เหมือนศาสนาอื่นนะครับ อย่าได้หวังว่า เมื่อเขาขึ้นเป็นใหญ่แล้วเราจะขอร้องอะไรเขาได้ ประเทศอินโดเนเซีย มาเลเซีย เคยเป็นประเทศพุทธศาสนา 100 % มาก่อน แต่เดี่ยวนี้ ชาวพุทธจะขอเช่าสถานีวิทยุออกอากาศรายการธรรมสอนชาวพุทธด้วยกันก็ยังไม่ได้เลยครับ.. ประเทศมุสลิมแถบอาหรับจะเอาเทปธรรมเข้าประเทศเขาก็ยังไม่ได้เลยนะครับ...
...จะทำกันประการใด ก็โปรดพิจารณากันให้ถี่ถ้วน ส่วนตัวข้าพเจ้าเองอีกไม่เกิน 50 ปี ก็คงไม่อยู่แล้ว ลูกหลานก็ไม่มี จึงไม่เดือนร้อนในประเด็นนี้เท่าไหร่นัก แต่พวกท่านทั้งหลายยังมีลูกหลานสืบสกุลกันอยู่มิใช่หรือ

... ขอให้เป็นชะตากรรมของสัตว์ก็แล้วกัน ถ้าจะให้อาตมาไปร่วมประท้วงด้วย..คงจะไม่ไป?


ประเด็นหลัก
ประเด็นที่แท้จริงในเรื่องนี้ ก็คือ สถานการณ์ที่เป็นไปในปัจจุบันนี้ จะต้องมีกฎเกณฑ์ หรือมาตรการข้อบังคับอย่างใดอย่างหนึ่งมาแก้ไขโดยด่วน ได้แก่
1. จะต้องมีกฎหมายที่แน่นอน ที่จะมาบีบบังคับให้ผู้ที่ประพฤติเสื่อมเสียออกไปเสียจากศาสนาให้เร็วที่สุด และมากที่สุด เท่าที่จะทำได้
2. จะต้องมีกฎข้อบังคับให้ชาวพุทธทุกคนต้องปฏิบัติวิปัสสนาอย่างน้อย ๑๐ วัน ในชาตินี้ หลังจากนั้นทุก ๆ อย่างก็จะเข้าสู่ระบบของมันเอง
เมื่อถึงตรงนี้ ขอถามว่า จะมีสิ่งใดที่จะช่วยผลักดันให้สองข้อข้างต้นเป็นไปได้จริง ยิ่งไปกว่ากันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือท่านมีข้อคิดเห็นที่เป็นไปได้ และน่าสนใจยิ่งไปกว่านี้..?

ศาสนาพุทธ มีจุดอ่อนตรงที่ให้อิสรเสรีแก่ทุกๆคนที่จะปฏิบัติตาม แต่ในเมื่อพวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่รู้แจ้งแก่ใจว่า หากใครปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนาจะต้องได้ดีทุกคน แล้วพวกเราจะมัวมาลังเลอะไรกัน กับการช่วยกันออกกฎข้อบังคับ เพื่อบีบบังคับให้ลูกหลานได้ปฏิบัติตาม

ขอถามย้ำอีกครั้งว่า ในสถานการณ์ที่สื่อโหมโฆษณาชวนชื่อดึงจิตคนรุ่นใหม่ให้ห่างไกลศาสนาออกไปทุกนาที ทุกชั่วโมง และยั่วยุ-เย้ายวนจิตใจให้พระหนุ่ม เณรน้อยมีพฤติกรรมที่เสื่อมเสีย มากขึ้น ๆๆ อย่างที่เป็นอยู่นี้ จะมีวิธีการใดที่เป็นไปได้จริงมิใช่แค่บ่น ที่จะทำให้พระไม่ดีออกไปจากศาสนา และส่งเสริมให้ชาวพุทธทุกคนได้ลิ้มรสชาติแห่งพระสัทธรรมอย่างน้อย ๑๐ วันในชาตินี้ ได้ดีและเป็นไปได้จริงยิ่งไปกว่าการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายลูกมาบีบบังคับ

ถ้าหากมีวิธีการอื่นที่ทำได้ และเป็นไปได้จริงด้วยนะ ก็โปรดนำมาเสนอด้วย

.. ที่ว่าประเทศภูฐาน ไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น ก็เพราะเขายังไม่มีสิ่งยั่วยุมากมายเหมือนบ้านเรา คนในชาติและพระสงฆ์ยังยึดมั่นในศาสนากันดีอยู่
...ที่ว่า ถึงบัญญัติไว้ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่ที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร ปัจจุบันนี้มิได้บัญญัติไว้มิใช่หรือ จึงไม่สามารถออกกฎหมายลูกมาบีบบังคับพระสงฆ์และข้าราชารได้ สิ่งเลวร้ายต่างๆจึงเกิดขึ้นทั้งแก่พระศาสนาและสังคม จนแทบจะหาทางแก้ไม่ได้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจจะเป็นรถด่วนขบวนสุดท้าย ที่จะมาช่วยให้พุทธศาสนาอยู่รอดในสังคมไทยก็ได้นะ..โปรดพิจารณาดู
..สิ่งที่ต้องการจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การออกกฎหมายลูกมาบีบบังคับพระอลัชชีและข้าราชการในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาโดยเฉพาะ ..ท่านก็รู้ดีนี่หน่า ว่า..แค่พระธรรมวินัยเอาแทบไม่อยู่แล้ว

ปฏิบัติวิปัสสนาปีละ ๑๐ วัน
ที่อาตมากล้าพูดเรื่องวิปัสสนา ๑๐ วันนั้น เนื่องจาก เมื่อ ๗ เดือนที่ผ่านมา อาตมาได้ไปปฏิบัติวิปัสสนา ๗ เดือนเต็ม เป็นการปฏิบัติแบบวิปัสสนาล้วน ๆ ซึ่งถูกต้องตามหลักคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและฎีกาทุกประการจึงกล้าที่จะยืนยันว่า หากใครปฏิบัติด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ผ่าน ๑๐ วันแรกของชีวิตไปได้ หลังจากนั้นเขาจะปฏิบัติต่อเองโดยไม่ต้องบังคับ แต่มีเงือนไขว่า ต้องเป็นการปฏิบัติแบบวิปัสสนาล้วน ๆ นะครับ จึงจะได้ผลเช่นนี้ แต่ถ้าปฏิบ้ติแบบปุพพังคมนัย ก็จะได้ผลเช่นกัน แต่ต้องใช้เวลานากว่านี้มาก แค่ ๑๐ วันยังไม่ได้อะไรเลย การปฏิบัติทั้ง ๒ แบบนี้มีข้อแต่ต่างดังนี้
.. วิปัสสนาล้วน(สุทธวิปัสนา) ทำให้กิเลสลดและเข้าใจชีวิตมากขึ้นเท่านั้น แต่สมาธิไม่ดิ่งลึกมาก
..ปุพพังคมนัย(สมถนำหน้า) ช่วงแรกจะฟุ้งซ่านมาก แต่พอผ่านไปสมาธิจะดิ่งลึกมาก สุขสงบมากเกินไป ช่วงแรกๆ ยิ่งปฏิบัติยิ่งยึดติด จนบางคนหลงไปเลยก็มี

...ที่อาตมาสามารถปฏิบัติวิปัสสนาติดต่อกัน ๗ เดือนเต็มได้ ก็เนื่องมาจาก ตอนเรียนปริญญาตรี ถูกมหาวิทยาลัยบังคับให้ปฏิบัติ ปีละ ๑๐ วันนี้แหละ


montasavi_@hotmail.com


โดย: พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี IP: 202.28.111.17 วันที่: 23 เมษายน 2550 เวลา:14:56:10 น.  

 
ถ้า "กลัว" ว่าบัญญัติแล้วแตกแยก
มีอีกทางออกสำหรับกรณีนี้
คือ ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญ จะได้ไม่ต้องมีการเรียกร้อง
ดีไหมลูกหลานเอ๊ย


โดย: เทพ IP: 202.28.52.3 วันที่: 26 เมษายน 2550 เวลา:11:46:02 น.  

 
วิปัสสนาล้วน ๆ จากข้อคำถามทั้งหมด ๑๗ ข้อ โดย พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี

๘.วิปัสสนาคืออะไร? ทำไมต้องปฏิบัติ?
........ตอบ. วิปัสสนา แปลว่า เห็น(รู้อย่างเข้าใจ)แจ่มแจ้งในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อาการที่เคลื่อนไหว ใจที่คิด เป็นต้น เป็นวิธีการปฏิบัติที่จะนำกายและใจของผู้ปฏิบัติให้เข้าถึงสภาวดับ สงบ เย็น(นิพพาน)ได้ ถ้าต้องการสุขแท้ สุขถาวรที่ไม่กลับมาทุกข์อีกก็ต้องดำเนินไปตามหนทางนี้เท่านั้น ไม่มีทางอื่น (เอกายโน เอกมคฺโค)
ความรู้สึกของผู้ปฏิบัติหลายท่าน คิดว่า “การปฏิบัติสมถกรรมฐาน ดีกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เพราะสมถฝึกแล้วทำให้เหาะได้ รู้ใจคนอื่นได้ เสกคาถาอาคมได้ ส่วนวิปัสสนาทำไม่ได้” แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานก็ยังเป็นเพียงปุถุชน ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดใน ๓๑ ภูมิ หาที่สุดของภพชาติไม่ได้ ยังต้องตกอบายทรมานในนรกอีก ส่วนผู้ปฏิบัติวิปัสสนานั้น ถึงแม้จะเหาะไม่ได้ เสกคาถาไม่ขลัง แต่ก็เหลือภพชาติเพียงแค่ ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง และตั้งแต่ชาตินี้เป็นต้นไปก็จะไม่ตกอบายอีกแล้ว ไม่ว่าอตีดจะเคยทำบาปอกุศลไว้มากมายปานใดก็ตาม

๙.ปฏิบัติวิปัสสนาแล้วจะได้รับผลดีอย่างไรบ้าง?
.......ตอบ. ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมีมากมายยากที่จะอธิบายให้เห็นจริงได้ จนกว่าผู้นั้นได้ลงมือปฏิบัติจนได้เห็นผลจริงด้วยตนเอง แต่พอกล่าวเป็นตัวอย่างได้ดังนี้
..๑. ทำให้บรรลุโสดาบันได้ภายใน ๓-๔เดือน ทั้งที่มีเวลาพักถึงวันละ ๗ ชั่วโมง
..๒. เมื่อบรรลุโสดาบันแล้ว ถ้าหากต้องการมีฤทธิ์ มีเดช ก็สามารถฝึกสมถกรรมฐานต่อได้เลย จะสำเร็จได้ในระยะเวลาไม่นาน ในขณะที่การปฏิบัติสมถล้วนๆ ต้องใช้เวลาปฏิบัติกันถึง ๒-๓ปี หรือนานกว่านั้น จึงจะได้ผล
..๓. เมื่อปฏิบัติวิปัสสนาถึงสังขารุเปกขาญาณ (ญาณที่ ๑๑) จนแก่กล้าแล้ว ทำให้โรคบางอย่างหายได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ต่อมไทรอย โรคเกี่ยวกับลม เส้นเอ็นและกระดูก (..นี้เป็นตัวอย่างจริงที่พบเห็นจากผู้ร่วมปฏิบัติ ) เป็นต้น
..๔. ถ้ามีเหตุให้ปฏิบัติไม่สำเร็จ ไปติดอยู่เพียงแค่ญาณ ๑๑ ก็ไม่เสียเวลาเปล่า เพราะจะเกิดปัญญาญาณ ที่จะใช้ในการแก้ปัญหาทุกอย่างในโลกได้ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นปัญหาทางโลกหรือทางธรรม โดยเฉพาะปัญหาครอบครัวระหว่างสามี ภรรยา ลูก หลาน ญาติพี่น้อง (คิดค้นวิธีเอายานไวกิ้งลงบนดาวอังคารได้ ก็ด้วยการนั่งสมาธินี่แหละ)
..๕. ล้างอาถรรพ์ มนต์ดำได้ ไม่ว่าจะถูกของ หรือโดนยาพิษ ยาสั่งมา เมื่อปฏิบัติจนถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว อาถรรพ์จะหายไปจนเกลี้ยง ( เรื่องนี้ขอท้าให้พิสูจน์)

๑๐. ปฏิบัติวิปัสสนาทำไมต้องกำหนดท้อง “พองหนอ-ยุบหนอ” พระพุทธเจ้าสอนให้กำหนดลมหายใจเข้าออกมิใช่หรือ?
......ตอบ. การปฏิบัติวิปัสสนาแบบกำหนดพอง-ยุบ เผยแผ่โดยท่านมหาสีสยาดอ (โสภณะมหาเถระ) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งปริยัติและปฏิบัติ ในประวัติของท่านเล่าว่า ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกามาก ต่อมาท่านต้องการปฏิบัติวิปัสสนาซึ่งเป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง จึงเที่ยวสืบค้นหาสำนักปฏิบัติวิปัสสนาที่มีหลักการสอดคล้องกับคัมภ์ที่ได้ศึกษามา ในที่สุดท่านได้เลือกปฏิบัติวิปัสสนาแบบกำหนด “พองหนอ ยุบหนอ”กับพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบท่านหนึ่ง จนเห็นผลจริงว่า วิปัสสนามิใช่มีอยู่แต่ในตำรา การกำหนดดูอาการท้องพอง ท้องยุบอย่างจดจ่อ ต่อเนื่อง นี่แหละ เป็นการเจริญวิปัสสนาให้บรรลุถึงมรรคผลได้จริงอีกวิธีหนึ่ง ( ที่สำคัญคือ ปฏิบัติง่าย ได้ผลเร็วในระยะเวลาเพียง ๓-๔เดือนเท่านั้นเอง)

ความสอดคล้องกันระหว่างการปฏิบัติสติปัฏฐานที่กำหนดดูอาการพอง-ยุบของท้องกับหลักการในพระคัมภีร์ผู้สนใจหาอ่านได้จากหนังสือเรื่อง “วิปัสสนานัย”ซึ่งเขียนโดยตัวท่านเอง อ้างหลักฐานที่มาของแต่ละข้อความไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเล่มที่แปลเป็นภาษาไทยโดยพระคันธสาราภิวังส์ (วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง)นั้นได้ระบุเชิงอรรถไว้ด้วยว่าข้อความนั้นๆ นำมาจากคัมภีร์ชื่ออะไร เล่มที่เท่าไหร อยู่หน้าไหน? ท่านผู้ใคร่ในการศึกษาและปฏิบัติโปรดพิสูจน์ สอบสวนเอาด้วยตนเองเถิด..

๑๑.ทำไมไม่ปฏิบัติวิปัสสนาแบบกำหนดลมหายใจเข้า-ออก(อานาปานสติ)ซึ่งมีผู้ปฏิบัติกันแพร่หลายอยู่แล้ว?
....ตอบ. ยังไม่มีพระอาจารย์ท่านใดกล้ากล่าวว่าตนสามารถสอนวิปัสสนาแบบกำหนดลมหายใจเข้า-ออกให้เห็นมรรค เห็นผลได้ภายในระยะเวลาเพียง ๓-๔ เดือน และสามารถอธิบายสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริงด้วยทฤษฎีญาณ ๑๖ ได้
(ลมหายใจเข้า-ออก กับอาการท้องพอง-ท้องยุบที่หน้าท้อง เป็นลมอัสสาสะปัสสาสะอันเดียวกัน อาการพองเกิดจากลมหายใจเข้า อาการยุบเกิดจากลมหายใจออก เพียงแค่ย้ายฐานลมจากที่จมูกมาจับกำหนดรู้อาการพอง อาการยุบที่หน้าท้องแทน พร้อมเพิ่มคำบริกรรมเพื่อกำหนดรู้อาการพอง-อาการยุบให้ทันปัจจุบันและตรงตามสภาวะ )

๑๒.ปฏิบัติวิปัสสนาแบบกำหนดพอง-ยุบ กับแบบกำหนดลมหายใจเข้าออกแบบไหนดีกว่ากัน?
....ตอบ. ปฏิบัติแบบกำหนดลมหายใจเข้า-ออกดีกว่า เพราะมีปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกชัดเจนกว่า และเมื่อปฏิบัติสำเร็จแล้วทำให้เกิดคุณวิเศษต่างๆได้เช่น รู้ใจผู้อื่นได้ แสดงปาฏิหาริย์ได้ เป็นต้น แต่ต้องปฏิบัติกันหลายปีจึงจะสำเร็จได้ และสำหรับบางคนปฏิบัติไม่ได้ผลเลย เพราะเป็นวิสัยของผู้มีปัญญาเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติแบบกำหนดพอง-ยุบถึงจะให้เกิดคุณวิเศษต่างๆไม่ได้ แต่สามารถ ปฏิบัติได้ทุกคน เห็นผลได้ภายใน ๑ เดือน สำเร็จได้ภายใน ๓-๔ เดือน

๑๓. การปฏิบัติวิปัสสน มีวิธีการอย่างไรบ้าง?
.....ตอบ มีขั้นตอนปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้
.................๑) เดินจงกรม เดินกลับไปกลับมา ก้มหน้าเล็กน้อย ส่งจิตกำหนดดูอาการของเท้าแต่ละจังหวะที่เคลื่อนไป อย่างจดจ่อ ต่อเนื่อง รับรู้ถึงความรู้สึกของเท้าที่ค่อยๆยกขึ้น ค่อยๆย่างลง และความรู้สึกสัมผัสที่ฝ่าเท้า(อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ฯลฯ) ส่งจิตดูอาการแต่ละอาการอย่างจรด แนบสนิทอยู่กับอาการนั้น ไม่วอกแวก จนรู้สึกได้ถึงอาการที่เปลี่ยนไป ดับไปของสภาวนั้นๆ เช่น ขณะย่างเท้า ก็รู้สึกถึงอาการลอยไปเบาๆ ของเท้า พอเหยียบลงอาการลอยๆ เบาๆ เมื่อ๒-๓ วินาทีก่อนก็ดับไป มีอาการตึงๆแข็งเข้าแทนที่ พอยกเท้าขึ้นอาการตึงๆแข็งๆด็ดับไป กลับมีอาการลอยเบาๆ โล่งๆเข้าแทนที่ เป็นต้น ยิ่งเคลื่อนไหวช้าๆ ยิ่งเห็นอาการชัด และในขณะที่กำลังเดินอยู่นั้น หากมีความคิดเกิดขึ้นให้หยุดเดินก่อน แล้วส่งจิตไปดูอาการคิด พร้อมกับบริกรรมในใจว่า “คิดหนอๆๆๆ” จนกว่าความคิดจะเลือนหายไป จึงกลับไปกำหนดเดินต่อ อย่ามองซ้ายมองขวา พยายามให้ใจอยู่กับเท้าที่ค่อยๆเคลื่อนไปเท่านั้น ถ้าเผลอหรือหลุดกำหนดให้เอาใหม่ เผลอเริ่มใหม่ ๆๆๆ ไม่ต้องหงุดหงิด การปฏิบัติเช่นนี้ เรียกว่า “เดินจงกรม” ต้องเดิน ๑ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

................๒) นั่งสมาธิ นั่งตัวตรง แต่ไม่ต้องตรงมาก ให้พอเหมาะสมกับสรีระของตนเอง นั่งสงบนิ่ง ไม่ขยับเขยื้อนอวัยวะส่วนใดทั้งสิ้น จนสังเกตได้ว่าอวัยวะที่ยังไหวอยู่มีแต่ท้องเท่านั้น ให้ส่งจิตไปดูอาการไหวๆนั้นอย่างต่อเนื่อง แค่ดูเฉยๆ อย่าไปบังคับท้อง ปล่อยให้ท้องไหวไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ นั่งกำหนดดูอย่างติดต่อ ต่อเนื่อง ไม่หลุด ไม่เผลอ ถ้ามีเผลอสติบ้างก็ไม่ต้องหงุดหงิด เผลอ..เอาใหม่ ๆจนเห็นอาการพอง อาการยุบค่อยๆชัดขึ้น ขณะเห็นท้องพองกำหนดในใจว่า “พองหนอ” ขณะเห็นท้องยุบกำหนดในใจว่า “ยุบหนอ” บางครั้งท้องนิ่งพอง-ยุบไม่ปรากฏก็ให้กำหนดรู้อาการท้องนิ่งนั่น “รู้หนอๆๆ” หรือ “นิ่งหนอๆๆ” บางครั้งพอง-ยุบเร็วแรงจนกำหนดไม่ทัน ก็ให้กำหนดรู้อาการนั้น “รู้หนอๆๆ” ถ้าขณะนั่งกำหนดอยู่มีความคิดเข้ามาให้หยุดกำหนดพองยุบไว้ก่อน ส่งจิตไปดูอาการคิด พร้อมกับบริกรรมในใจว่า “คิดหนอๆๆ” แรงๆ เร็วๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าคิดเรื่องอะไร พออาการคิดจางไปแล้ว หรือหายไปโดยฉับพลัน ให้กำหนดดูอาการที่หายไป “รู้หนอๆๆ” แล้วรีบกลับไปกำหนดพอง-ยุบต่อทันที อย่าปล่อยให้จิตว่างจากการกำหนดเด็ดขาด ขณะที่กำหนดอยู่นั้น ถ้าเกิดอาการปวดขา หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้นมา ให้ทิ้งพอง-ยุบไปเลย แล้วส่งจิตไปดูอาการปวดนั้น บริกรรมในใจว่า “ปวดหนอๆๆ” พยายามกำหนดดูอย่างติดต่อ ต่อเนื่อง แต่อย่าเอาจิตเข้าไปเป็นทุกข์กับอาการปวดนั้น ภายใน ๕ หรือ ๑๐ วันแรกให้กำหนดดูอาการปวดอย่างเดียว ไม่ต้องสนใจอารมณ์อื่นมากนัก จนกว่าอาการปวดจะหาย หรือลดลง วันแรกๆ อาการปวดจะไม่รุนแรงมากนัก นั่งได้ ๑ ชั่วโมงแบบสบายๆ พอเรามีสมาธิมากขึ้น มีญาณปัญญามากขึ้น อาการปวดจะค่อยๆรุนแรงขึ้น จนทนแทบไม่ไหว จากที่เคยนั่งได้ ๑ ชั่วโมง พอวันที่ ๕-๖ เป็นต้นไป นั่ง ๑๐ หรือ ๒๐ นาทีก็ทนแทบไม่ไหวแล้ว ให้พยายามนั่งกำหนดต่อไปจนกว่าจะครบชั่วโมง (เพื่อจะได้เป็นกำลังใจในการกำหนดบัลลังก์ต่อๆไป) ยิ่งปวดมากก็ยิ่งกำหนดถี่ๆเร็วๆ แรงๆ นั่นแสดงว่าสมาธิของเราก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ภายใน๑๐-๒๐ วันเวทนาก็จะหายขาดไปเอง หรืออาจจะมีอยู่บ้างเล็กน้อยช่วงท้ายบัลลังก์ ถึงต้อนนี้วิปัสสนาญาณของคุณก้าวเข้าสู่ขั้นที่ ๔ แล้ว ขั้นต่อไป ไม่ควร/ห้ามปฏิบัติด้วยตนเอง(อย่างเด็ดขาด) ต้องมีพระอาจารย์คอยควบคุมอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นแล้วจะเกิดผลเสียมากว่าผลดี ..ขอเตือน.. ที่อธิบายมานี้เป็นเพียงหลักปฏิบัติเบื้องต้น มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่จะต้องเรียนรู้ ผู้ต้องการปฏิบัติให้เห็นมรรคเห็นผลแสวงหาสำนักปฏิบัติที่เห็นว่าเหมาะสมกับตนเอาเองเถิด..

๑๓. ปฏิบัติวิปัสสนาแบบพอง-ยุบ ทำไมต้องมีคำบริกรรม ผมชอบปฏิบัติแบบไม่มีคำบริกรรม?
........ตอบ. ปฏิบัติแบบไม่มีคำบริกรรมแล้วทำให้บรรลุมรรค ผล ภายใน ๓-๔เดือนได้ไหมละ? คำบริกรรมมีไว้เพื่อช่วยให้สติเจาะจงต่ออารมณ์ที่กำหนดมากขึ้น ทำให้เห็นอาการดับของอารมณ์ต่างๆที่กำหนดได้อย่างชัดเจน ทำให้ปัญญาญาณเกิดขึ้นและก้าวต่อไปอย่างรวดเร็ว จนสามารถบรรลุธรรมได้ภายในระยะเวลาเพียง ๓-๔ เดือนเท่านั้น


โดย: พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี IP: 202.28.111.17 วันที่: 30 เมษายน 2550 เวลา:19:46:57 น.  

 
ชอบในบทความของท่าน เมตฺตานนฺโท ภิกฺขุ มาก นี้คือ ผู้ที่เป็นพระผู้มีใจกว้างอย่างแท้จริง


โดย: คนมุสลิม IP: 125.27.130.75 วันที่: 4 พฤษภาคม 2550 เวลา:16:11:32 น.  

 
การที่จะดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่ประเทศไทยนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ การตราในรัฐธรรมนูญว่า "ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ" แต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่นับถือพุทธศาสนา ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสว่า จะนำเอาคำสอนศาสนามาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมหรือไม่ เพราะหากเพียงแต่ บอกด้วยปลายลิ้นว่ารักศาสนาพุทธ แต่ไม่นำเอาคำสอนศาสนาพุทธมาแก้ปัญหาชีวิตตนเองและสังคม ก็เท่ากับ เป็นการทำลายศาสนาพุทธโดยทางอ้อม แล้วมันจะเกิดประโยชน์อันใด ที่มีเพียงแค่คำว่า " "ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ"


โดย: คนมุสลิม IP: 125.27.130.75 วันที่: 4 พฤษภาคม 2550 เวลา:16:19:02 น.  

 
การที่จะดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่ประเทศไทยนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ การตราในรัฐธรรมนูญว่า "ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ" แต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่นับถือพุทธศาสนา ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสว่า จะนำเอาคำสอนศาสนามาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมหรือไม่ เพราะหากเพียงแต่ บอกด้วยปลายลิ้นว่ารักศาสนาพุทธ แต่ไม่นำเอาคำสอนศาสนาพุทธมาแก้ปัญหาชีวิตตนเองและสังคม ก็เท่ากับ เป็นการทำลายศาสนาพุทธโดยทางอ้อม แล้วมันจะเกิดประโยชน์อันใด ที่มีเพียงแค่คำว่า " "ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ"


โดย: คนมุสลิม IP: 125.27.130.75 วันที่: 4 พฤษภาคม 2550 เวลา:16:20:43 น.  

 
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย... ในมุมมองมุสลิม(คนหนึ่ง)
//www.oknation.net/blog/unussorn/2007...7/04/18/entry-1

ทีแรกผมเฉยๆ กับประเด็นนี้ ไม่ได้ติดตามเพราะไม่เห็นว่ามันสำคัญ แต่เมื่อไม่นานมานี้ผมได้อ่านคอลัมน์หนึ่งในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ดร.ธีรวิทย์ ภิญโญณัฐกานต์ อดีตที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ผู้เขียนคอลัม์นี้ ท่านเห็นด้วยกับการบัญญัติให้ระบุคำว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” ลงในรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุผลที่ว่า ในประเทศมุสลิมหลายประเทศ ยังระบุเลยว่า “อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ” แล้วทำไมพุทธศาสนิกชนถึงไม่กล้าระบุเช่นนั้นบ้าง ท่านยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญของประเทศมุสลิมประเทศหนึ่ง “Islam is the Religion of the Federation but other religion may be practiced in peace and harmony in any part of the Federation” (อิสลามเป็นศาสนาแห่งสมาพันธรัฐ แต่ศาสนาอื่นได้รับการปฏิบัติโดยสันติและกลมกลืน ในส่วนใดของสมาพันธรัฐก็ได้) และประเทศมุสลิมอื่นๆ อีกหลายประเทศที่ระบุเนื้อหาทำนองนี้ลงในรัฐธรรมนูญของตน

อ่านจบแล้วผมก็ “เออ... จริงด้วย” ประเทศที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนมากเขายังทำกันเลย แล้วทำไมประเทศไทยที่มีพุทธศาสนิกชนมากถึง 90% จะทำแบบนั้นไม่ได้

ผมเห็นด้วยกับเขาครับ ซึ่งตรงนี้ขอออกตัวก่อนว่าอาจจะเป็นความเห็นที่ต่างจากมุสลิมท่านอื่น แต่ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ เพราะผมเห็นข้อดีของการยืดอกประกาศตัวแบบนี้ ความภูมิใจในความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองท่ามกลางความเน่าเฟะของลัทธิบริโภคนิยมถือว่าเป็นเจตนารมณ์ที่น่ายกย่อง

หากประเทศไทยของผมหาญกล้าที่จะประกาศให้รู้ว่า บ้านนี้เมืองนี้มีพุทธศาสนิกชนเป็นสมาชิกส่วนมาก เพราะฉะนั้นอบายมุขต่างๆ อย่าได้หวังเข้าครอบงำประเทศนี้ ในศีล 5 ข้อที่เป็นชุดศีลเบื้องต้น ศาสนาพุทธห้ามดื่มสุรา สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี สิกฺขาปะทัง สมาทิยามิ ประเทศที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติจะไม่มีสุราจำหน่ายโดยถูกกฎหมาย ไม่มีผับไม่มีบาร์ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ต่อต้านการพนัน ประเทศนี้จะไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับการพนันในทุกประการ, จะออกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีอย่างถึงที่สุด

ถ้าประเทศไทยของผมมีรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” เป็นรูปธรรมชัดเจน แล้วนำคุณธรรมทางพุทธศาสนามาแปรรูปเป็นกฎหมายจรรโลงสังคม เหมือนหลายประเทศในตะวันออกกลาง ผมว่าประเทศไทย(ในความเห็นของผม) คงจะน่าอยู่กว่าปัจจุบัน ที่กฎหมายถูกผลิตขึ้นจาก “กิเลส” ของสังคม ไม่ได้เกิดขึ้นจาก “ศีลธรรม” อย่างที่ควรจะเป็น

แต่ถ้าแนวคิดการระบุศาสนาประจำชาติ เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นในสถาบันของตน หรือเกิดขึ้นเพื่อสนองความสะใจตน, เอาชนะคะคานกันและกันโดยที่ไม่มีผลทางการปรับปรุงสังคม ผมถือว่ามันไร้สาระ ไม่ควรค่ากับการเสียเวลาทุ่มเถียง มันเป็นการเชิดชูศาสนาด้วยตัวอักษร หาใช่การเชิดชูศาสนาด้วยแก่นของศาสนาแต่อย่างใด


โดย: montasavi IP: 124.157.172.113 วันที่: 5 พฤษภาคม 2550 เวลา:10:32:24 น.  

 
กรุณาอ่าน "ดูหนังสือพระมโนแล้วเห็นภาพผอมโซของการศึกษาไทย"


โดย: pp IP: 58.9.185.104 วันที่: 5 พฤษภาคม 2550 เวลา:18:01:31 น.  

 
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องอยู่คู่กันครับ
ทันทีที่ประกาศ สามจังหวัดก็ประกาศมั่ง คงได้แยกประเทศกันแน่ๆ ฉลาดไหมล๊ะแบบนี้
ถ้าเรารักษาศาสนาแต่ทำลายความเป็นหนึ่งเดียวของชาติก็เป็นการมองไม่ครบจริงไหม?
นับถือแบบมีปัญญาต้องใช้ศาสนาเพื่อรักษาทั้งสามสิ่งจริงไหม?
ไม่ใช่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย!!!


โดย: Leo IP: 202.142.204.1 วันที่: 15 มิถุนายน 2550 เวลา:13:08:47 น.  

 
ไปอ่านรายละเอียดใน //www.bodhinanda.com
เพิ่มเติม


โดย: เจียบ IP: 58.9.95.108 วันที่: 18 กรกฎาคม 2550 เวลา:21:13:33 น.  

 
วิเคราะห์วาทะ...ไม่มีวิวาทะ

จะบรรจุหรือไม่นั้น พี่ไม่มีความเห็นตรงนี้ แต่มีความเห็นต่อข้อเขียนนี้ว่า มีการตีความให้โยงไปเรื่องชาตินิยมอย่างไร


ที่พระมโน เมตตานันโท มีประเด็นการเขียน คือ เสนอว่าขณะนี้ท่านเห็นว่ากำลังเกิด "ลัทธิชาตินิยมผนวกศรัทธาในศาสนา" วัตถุประสงค์การเขียน คือ "จูงใจ" ว่าการคิดแบบชาตินิยมนั้นผิด คือ ถ้าข้อเขียนหรือวาทะนี้สัมฤทธิ์ผล คือ move คนอ่านได้ คนอ่านต้องเชื่อว่า 1. เหตุการณ์นี้เป็นการนำไปสู่ลัทธิชาตินิยม เมื่อข้อ 1 ได้ผลแล้วก็ไม่ยากที่จะ 2. ให้คนอ่านเชื่อว่า การบรรจุพระพุทธศาสนาฯ เป็นการสนับสนุนลัทธิชาตินิยม

มาดูข้อแรก

ถ้าพี่ไม่เชื่อว่า นี่จะนำไปสู่ลัทธิชาตินิยม เพราะอะไร

ตอบ-เพราะข้อเขียนไม่จูงใจพอจะเชื่อได้อย่างนั้น ไม่วิจารณ์คนเขียน เอาแต่เนื้อความเท่านั้นนะคะ


สิ่งที่พระมโน ยกมาสนับสนุนประเด็น คือ

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระมโนเขียนแบบไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน เป็นการสรุปมาเล่า ผู้เขียนไม่อุดช่องนี้ ทำให้ผู้อ่านแย้งได้

การยกประเด็นนี้มาสนับสนุนเรื่องชาตินิยมปนศรัทธาของศาสนาว่าอาจเป็นการยกตนข่มท่านนั้น ไม่มีเหตุผลพอจะโยงไปเรื่องชาตินิยม จนทำให้ดูว่าเป็นการรังแกให้ช้ำใจ (ซึ่งความจริง ฝรั่งเขาเก่งจะแย่ เรามีแต่ตั้งรับสถานการณ์ช่วงล่าอาณานิคมดินแดนและอาณานิคมทางความคิด ไม่เคยว่าจะไปหาเรื่องใครก่อนเลย)


ในหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีปรากฏว่าคนไทยให้การต้อนรับชาวต่างชาติอย่างดี มีบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่ทำคุณงามความดีให้เมืองไทย คือ Louis Lano

แม้คุณพ่อลาโนจะทำหน้าที่เผยแผ่มิซซังคาธอลิกตามหน้าที่นักบวช แต่มาอยู่บนแผ่นดินไทยก็ได้ทำคุณประโยชน์มากมายแก่ประเทศสยามตอนนั้น คนไทยเองมีความศรัทธามั่นในพุทธ คนที่พบว่าคาธอลิกเป็นคำตอบของชีวิตก็ไปเข้ารีตบ้าง แต่คุณพ่อลาโนเองก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนคนพุทธมานับถือมิซซัง แล้วท่านลาโน ก็ไม่เคยหยุดที่จะช่วยคนจน พัฒนาความเป็นอยู่ในชนบท ..สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดมากและให้การยกย่องอย่างสมเกียรติ

ในสมัยถูกเบียดเบียน ท่านลาโน ถูกจำคุกในสมัยพระเพทราชา 21 เดือน และได้ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา ในวาระสุดท้าย ท่านลาโนมีหนังสือกราบทูลพระเพทราชาว่า

"ขอบพระทัยพระองค์ เนื่องในพระคุณที่พระองค์และสมเด็จพระนารายณ์ฯมีต่อมิซซัง ขอพระองค์โปรดให้ความคุ้มครองแก่พวกมิชชันนารี และชาวฝรั่งเศสที่อยู่ภายในพระราชอาณาจักรเวลานี้ และที่จะมาอีกในภายหน้า"

พระเพทราชาทรงตรัสแก่ข้าราชบริพารว่า

"คนฉลาดย่อมแสดงตนว่าตนเป็นคนอย่างไร จนกระทั่งเวลาจะตาย"

พระองค์ทรงส่งเงินจำนวนหนึ่งกับแพทย์ส่วนพระองค์มารักษาคุณพ่อลาโน ท่านถึงแก่มรณภาพในวัย 59 ปี วันที่ 16 มี.ค. ค.ศ. 1696 การปลงศพกระทำอย่างสง่างาม ศพท่านฝังไว้ที่วัดนักบุญยอแซฟที่กรุงศรีอยุธยา

หลักฐานนี้แสดงว่า "ความสัมพันธ์ที่ยุติโดยปริยายครั้งหนึ่ง" --ครั้งเดียว แต่การเขียนทำให้รู้สึกว่ารุนแรงเกินเหตุ

ในอดีต ยุคล่าอาณานิคมนั้น มีใครในเอเชียที่ไม่กลัวยุโรปในเรื่องการเอาเป็นเมืองขึ้น? เรามีบทเรียนให้กลัวเขาอยู่ไม่ใช่หรือ ถ้าแลกแผ่นดินกับการพัฒนาเชิงวัตถุ เราจะเลือกอะไรดี

เนื่องจากไม่เชื่อว่า ชาวพุทธจะเอาศรัทธามาทำตนเหนือกว่าศาสนาอื่นได้ เพราะไม่เคยปรากฏในความรู้และความรู้สึก การตรึก คาดการณ์ไปเองต่อไปก็ไม่มีในใจ


ป.ล. สองด้านของเหรียญที่ใช้ทุกวันนี้ เอาคำว่า พระเจ้า มาพิมพ์ด้านหนึ่งนั้น "In God we trust" มีกลาดเกลื่อนยิ่งกว่า รธน. ที่คนไม่ได้อ่านกันทุกวัน จะซื้ออะไรก็เห็นแต่คำนี้อยู่บนเงิน (วัตถุ) ก็ไม่ได้น้อยใจ เพราะถ้าประโยคๆเดียวจะทำให้คนน้อยใจว่าเราเป็นคนกลุ่มน้อยได้นั้น น่าจะมาจากความศรัทธาส่วนบุคคลแล้วล่ะ ว่าทำไมจึงสั่นไหวกับประโยคที่เป็นเพียงวัตถุ

***เอกสารประกอบ***
คือพี่อ่านและยกข้อความมาจาก หนังสือ ยอดคนวรรณกรรม, ส. ทรงศักดิ์ศรี ซึ่งท่านเรียบเรียงประวัติศาสตร์ศาสนาช่วงสมัยพระนารายณ์มาจาก

1. ประวัติพระศาสนจักรสากล และพระศาสนจักรในประเทสไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 1967/2510 สำนักงานสารสาสน์ 2. ข้อมูลจากอดีต (ขจร สุขพานิช๗ สนพ. เคล็ดไทย 2518) 3. ความสัมพันธ์ไทยฝรั่งเศส สมัยอยุธยา (ผศ. พลับพลึง มูลศิลป์ สนพ. บรรณกิจ 2523) 4. จดหมายเหตุการแพร่ศาสนาและการเดินทางของพระสังฆราช ประมุขมิซซัง และของพระสงฆ์ในปกครอง ในปี ค.ศ. 1975 (กรมศิลปากร 2523)


เขียนยาวมาก เหนื่อยอ่ะ


โดย: woodchippath วันที่: 22 กรกฎาคม 2550 เวลา:14:01:42 น.  

 
ผมเชื่อว่าพระพุทธศษศาสนาจะคงอยู่คู่แผ่นดินไทยได้นั้น ต้องมีหลักในการเผยแพร่ที่มีประสิทธิภาพ ดึงดูดความสนใจจากคนทั่วโลก โดยการปลูกผังจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่และเยาวชนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา และที่สำคัญคือการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับพระพุทธศาสนา โดยใช้สื่อเป็นตัวนำที่สำคัญ เพราะสังคมไทยในปัจจุบันมีสื่อ ทีสามารถกำหนดชะตาของประเทศชาติ และทุกสิ่งทุกอย่างได้..........


โดย: ขุนแผน IP: 118.172.65.203 วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:43:14 น.  

 
ศาสนาพุทธมีพระคุณต่อ ผืนแผ่นดินไทยมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ ศูนย์รวมทางวัฒนธรรม เป็นโรงเรียนของชายไทยในอดีต ก่อนมีระบบการศึกษาในปัจจุบัน (สส สว บางคนก็เป็นเด็กวัดมาก่อน)
การบัญญัติ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จึงเป็นการยกย่องเชิดชู และตอบแทนคุณความดีของศาสนาพุทธที่มีต่อแผ่นดินไทย เป็นสีขาวบนธงชาติไทยอย่างแท้จริง พระเจ้าตากสิน ท่านได้ตั้งปณิธานไว้ว่า การกอบกู้แผ่นดินไทยครั้งนั้นถ้าสำเร็จ จะขอถวายแผ่นดินไทยผืนนี้ถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อให้ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองในดินแดนที่ชื่อว่าไทยในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านกู้ชาติบ้านเมืองได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว เพราะฉะนั้นพื้นแผ่นดินผืนนี้เป็นดินแดนแห่งศาสนาพุทธไปตั้งแต่กาลนั้นแล้ว แต่ลูกหลานไทยไม่กล้าแม้จะเชิดชู ยกย่อง ให้ศาสนาของบรรพบุรุษเราที่ยอมแลกแม้แต่ชีวิตของท่าน เพื่อดำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผลกรรมนั้นส่งผลให้ แก่เรามานานแล้ว ตราบจนเมื่อเรา บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ บ้านเมืองเราถึงจะเริ่มดีขึ้น เชื่อไม่เชื่อก็แล้วแต่ท่านทั้งหลาย


โดย: ปรีชา IP: 124.122.50.192 วันที่: 18 ตุลาคม 2552 เวลา:17:12:56 น.  

 
I'm really impressed with your writing skills and also with the layout on your blog. Is this a paid theme or did you modify it yourself? Anyway keep up the excellent quality writing, it's rare to see a great blog like this one these days..
Louis Vuitton Sale //www.ristech.net/


โดย: Louis Vuitton Sale IP: 94.23.252.21 วันที่: 2 สิงหาคม 2557 เวลา:14:04:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Plin, :-p
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]









Instagram






บันทึก ท่องเที่ยว เวียดนาม


e-mail : rethinker@hotmail.com


Friends' blogs
[Add Plin, :-p's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.