Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
27 กุมภาพันธ์ 2550
 
All Blogs
 
"เศรษฐกิจพอเพียง" -- สัมภาษณ์ 'สมเกียรติ อ่อนวิมล' โดย 'สรวิศ ชุมศรี'

[อ่าน "ตัดแปะ" เรื่องอื่น]


"ตัดแปะ" จาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 (ฉบับที่ 10579) ในหัวข้อเรื่อง วิกฤต"เศรษฐกิจพอเพียง" สมเกียรติ อ่อนวิมล "ปรัชญา" ไม่ใช่ "ทฤษฎี" สัมภาษณ์พิเศษ โดย สรวิศ ชุมศรี

ถ้าสหายไม่มีเวลาอ่าน แนะนำให้ผ่านตาเฉพาะที่ข้าพเจ้าเน้นข้อความไว้ก็ได้


"...เมื่อคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้น คนไทยเรา เวลามีพระราชดำรัส ก็ไม่วิเคราะห์ ไม่ตั้งคำถาม อันนั้นยังพอว่า เพราะว่าเป็นประเพณีเรา แต่เชื่อและนำมาใช้อย่างไม่ศึกษา จึงเกิดวิกฤต..."



หากเอ่ยชื่อ "สมเกียรติ อ่อนวิมล"

หลายต่อหลายคนย่อมนึกถึงภาพของสื่อมวลชนและอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์

รวมถึง บทบาทของ ส.ว.สุพรรณบุรี ระหว่างปี 2543-2549 และปัจจุบันคือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สมาชิก สนช.)

แต่ในอีกด้านหนึ่งของ "สมเกียรติ" แล้ว ยังมีความสนใจในเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" จนกลายเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ดีในระดับหนึ่ง

"มติชน" ได้นั่งพูดคุยกับ "สมเกียรติ" เกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" พร้อมทั้งขอให้เขาประเมินถึงการที่รัฐบาลนำพระราชดำรัสนี้มาใช้ในทางปฏิบัติ

- ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงในความเข้าใจของอาจารย์เป็นอย่างไร

เอาปัญหาแรกก่อนคือ ประเทศไทยในขณะนี้มี "วิกฤตเศรษฐกิจพอเพียง" หมายความว่า มีวิกฤตความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่า จะเอาไปทำอะไร เพราะกลายเป็นว่าทุกคนที่เป็นผู้นำชุมชน สังคม ก็ใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นข้ออ้างในการทำอะไรก็ได้ที่ดูดี รัฐบาลก็ถือเป็นนโยบาย นักการเมืองก็ใช้พูด เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีว่า ได้ตอบสนองพระราชดำรัส

พูดง่ายๆ ก็คือถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อตัวเอง

แต่วิกฤตคือ เราไม่รู้ว่าคืออะไรอย่างแท้จริง การใช้จึงใช้พูด แต่ไม่ได้ทำ เพราะไม่รู้ว่าทำอย่างไร ที่คนไม่รู้ เพราะไม่ศึกษา ก็เลยนึกว่า ในหลวงมีพระราชดำรัสก็เอามาใช้เถอะ แล้วพูดให้ดีก็แล้วกัน

เวลาชาวบ้านนำมาใช้ จะพอเข้าใจ ทำได้ง่าย เพราะเป็นวิถีชีวิต แต่พอเป็นนักการเมืองจะยึดเป็นนโยบายก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

ยิ่งรัฐบาลปัจจุบัน เมื่อเข้ามาก็นำคำนี้มาพูดก่อน เป็นเรื่องเป็นราวว่า จะทำจริงๆ แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำ

ดังนั้น ต้องศึกษาว่าที่จริงแล้วเป็นอย่างไร..ก็ไม่ยาก เริ่มจากศึกษาประวัติความเป็นมาของพระราชดำรัส เราจะพบว่า ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงครั้งแรกคือเมื่อปี 2517 ก็คือมีพระราชดำรัสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517

และที่ดังมากๆ คือในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ปี 2540 พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ที่คนเริ่มนำมาใช้กัน

เรื่องนี้ก็ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ สังคมไทย พอมาถึงยุคที่มีปัญหา ก็จะอ้างพระราชดำรัส ยุคคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ก็ได้แต่อ้าง แต่ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ต้องการกล่าวหา แต่เขาคงไม่แน่ใจว่า คืออะไรในระดับประเทศชาติ

ยุคนี้ (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) วิกฤตมาก เพราะใช้เป็นนโยบายชูโรง เสร็จแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร มีเมื่อสักประมาณ 2 เดือนกว่า ที่อาจารย์โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ (รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม) บรรยายว่า เศรษฐกิจพอเพียง ที่จริงก็คือ วิถีการดำเนินชีวิต

เอ่อ..อย่างนี้เข้าท่า


เพราะว่าอะไร เพราะว่าเราต้องวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไรในโครงสร้างความคิด เศรษฐกิจพอเพียงคือปรัชญาในการดำรงชีวิตเท่านั้นใช่ไหม หรือว่ามันคือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ที่ใช้เปลี่ยนแปลงสังคมอย่างฉับพลันได้ในยุคนี้ เหมือนเรื่องสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ ที่พัฒนาต่อมา

หรือจะเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ที่ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐเปลี่ยนแปลงสังคมแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ แต่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยที่พัฒนามาทีหลัง ซึ่งไม่ใช้อำนาจรัฐมาครอบงำ

แล้วแต่จะคิด ว่าคุณจะเอาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาหรือทฤษฎี ก่อนจะนำมาใช้เป็นนโยบายของรัฐบาล

หากคุณบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทฤษฎีใหม่ คุณก็จะได้เอาข้อพิสูจน์มาเป็นนโยบาย จะเป็นทฤษฎีแบบไหน ก็ต้องมีทฤษฎีออกมาให้ละเอียด เป็นรูปเล่ม มีเอกสารอธิบายชัดเจนว่าสมมติฐานคืออะไร และพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ จึงจะนำมาใช้เป็นนโยบายของสังคมหรือของรัฐ หากเป็นทฤษฎีต้องมีตำรา แต่ไม่มีตำรา มีแต่พระราชดำรัส



- ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นปรัชญาการดำรงชีวิต

ถูกต้อง เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเขียนไว้ว่าเป็นปรัชญา

เมื่อมีคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้น คนไทยเรา เวลามีพระราชดำรัส ก็ไม่วิเคราะห์ ไม่ตั้งคำถาม อันนั้นยังพอว่า เพราะว่าเป็นประเพณีเรา แต่เมื่อเชื่อและนำมาใช้อย่างไม่ศึกษา จึงทำให้เกิดวิกฤต จึงลำบากอย่างทุกวันนี้ เพราะคนรวยก็รวยกันไป แต่ก็ไม่มีความสุข เพราะต้องขอต่อ ไม่มีที่หยุดยั้ง ยกตัวอย่างคุณทักษิณ มีความสุขมั้ย ผมว่าไม่มีหรอก เพราะเขาไม่พอ ซื้อบ้านตั้ง 200 ล้าน แล้วอยู่กับใคร

- แสดงว่าการที่รัฐบาลพยายามนำปรัชญามาแปลงเป็นนโยบายเศรษฐกิจ ไม่น่าจะเป็นการเดินที่ตรงเป้าหมาย

อย่างที่บอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาแท้ๆ คือเราไปยกย่องความคิดนี้แบบไม่ค้นคว้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสในเรื่องนี้เป็นปรัชญา เป็นข้อเสนอแนะในการดำเนินชีวิต

ดังนั้น รัฐบาลไม่สามารถนำปรัชญาในการดำเนินชีวิตมาเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจได้

เราต้องวิเคราะห์ให้เป็นวิชาการ เพราะปรัชญาในการดำเนินชีวิตเป็นนโยบายวัฒนธรรมและสังคม หากรัฐบาลจะเอามาใช้ต้องประกาศเป็นนโยบายวัฒนธรรมและสังคม แม้จะเรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจ เพราะนโยบายเศรษฐกิจ คุณต้องมีรูปแบบการดำเนินกิจกรรมหลายๆ อย่าง เช่น เพิ่มหรือลดทุน การพัฒนาการผลิตจะทำอย่างไร

ในทรรศนะของผม รัฐบาลยึดเรื่องนี้ว่า เป็นพระราชดำรัสพระเจ้าอยู่หัว แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิต เหมือนที่อาจารย์โฆสิตพูด ท่านเข้าใจมากๆ เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนายทุน ไพร่ กระฎุมพี เป็นใครก็แล้วแต่ คือให้ยึดปรัชญาการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

- ความหมายของคำว่า "เศรษฐกิจ" คือวิถีการดำเนินชีวิตไม่ใช่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

ใช่..รัฐบาลคิดเรื่อยเปื่อย นึกว่าเป็นนโยบายเศรษฐกิจ ฝรั่งก็งงว่า เฮ้ย! อย่างนี้ก็เหมือนเป็นทางเลือกใหม่


ดังนั้น ขั้นแรกก็ไม่ยากเลย คือต้องเอาพระราชดำรัสทั้งหมดมาดู และยืนยันว่าเป็นวิถีชีวิต แค่นี้ก็จบ ไม่ต้องตั้งใครไปชี้แจงเลย

เรื่องจะจบแค่นี้ว่าให้ยึดทางสายกลาง ความพอดี พอเหมาะในชีวิตของตน เมื่ออธิบายอย่างนี้ ผมว่าฝรั่งก็ไม่มีปัญหา

และหากจะวิเคราะห์พระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง ให้ผูกโยงกับปรัชญาของโลก พูดกันตรงๆ เป็นวิวัฒนาการปรัชญาความคิดจากของเก่า

หากลำดับความคิดเรื่องความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ทางสายกลาง ต้องเริ่มที่พระพุทธเจ้า เป็นปรัชญาศาสนา ที่เรียกว่า เลี้ยงชีวิตชอบอยู่ในมรรค 8 คือ เป็นการเลี้ยงชีวิตแบบชอบธรรม

ปรัชญาพระพุทธเจ้าก็อยู่ในโลกเรื่อยมา เริ่มมีเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ในเมืองไทยก็มีนักวิชาการที่พูดถึงกัน คือ อภิชัย พันธเสน

เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ปรากฏในแนวคิดที่ฝรั่งเริ่มชอบ นักวิชาการชื่นชมความคิดเรื่องเทคโนโลยีขนาดกลาง ซึ่งอิงกับเศรษฐศาสตร์แนวพุทธของ อาจารย์ อี.เอฟ ชูมาเกอร์ (E.F.Schumacher) ในหนังสือเรื่อง สมอล อิส บิวติฟูล (Small is Beautiful)

คือเมื่อปี 2516 หรือ ค.ศ.1973 มีหนังสือเรื่องสมอล อิส บิวติฟูล หรือเล็กแต่สวยงาม มีแปลเป็นไทย 2 ครั้ง (มีการแปลเป็นชื่อไทยหลายชื่อ เช่น เล็กนั้นงาม, จิ๋วแต่แจ๋ว) ล่าสุดแปลเมื่อปีที่แล้ว (2549)

มีอิทธิพลอย่างสูงต่อนักคิดใหม่ ที่มองว่า คอมมิวนิสต์ก็ไม่ไหว สังคมนิยมประชาธิปไตยก็ไม่มีคนเอา

อี.เอฟ ชูมาเกอร์ เป็นอาจารย์ชาวเยอรมัน ไปทำงานที่พม่าให้รัฐบาลอังกฤษ เพื่อไปแนะนำระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ แต่แทนที่จะไปสอนชาวพม่า พระพม่าก็ได้สอนแกเรื่องทางสายกลาง แกก็เลยเลื่อมใส และเริ่มปรับวิธีคิด จนมาเขียนหนังสือ

มีหนึ่งบทเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ นอกนั้นจะเป็นเรื่องทางสายกลางแบบฝรั่ง เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

หนังสือเล่มนี้จึงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อพวกทางสายกลางแบบฝรั่ง

การที่พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมวิเคราะห์เองว่า ก็เป็นอิทธิพลจากพระพุทธเจ้า

- แสดงว่าคนในรัฐบาลไม่เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้ง จึงนำพระราชดำรัสมาใช้ผิดความหมาย

เวลานี้ รัฐบาลยังไม่ได้ใช้อะไรเลยเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ใช้แต่พูด เหมือนคุณทักษิณ แต่คุณทักษิณพูดควบคู่กับการเอาทุนนิยม 100 เปอร์เซ็นต์ลงไป ซึ่งรัฐบาลนี้ต้องปรับทิศทางใหม่

- แต่หลายอย่างรัฐบาลเริ่มทำ หรือต่อยอดจากรัฐบาลที่แล้ว อย่างการปรับโครงการเอสเอ็มแอลให้เป็นโครงการหมู่บ้านพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การให้นโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข

นโยบายนี้เป็นรูปธรรม แต่ผมไม่มีเครดิตในการพูดเรื่องนี้สักเท่าไหร่ หากรัฐบาลไปปรับเศรษฐกิจของหมู่บ้าน คือไปทำให้เขา แต่ไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะรัฐบาลไม่ได้เอาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาและเป็นนโยบายทางวัฒนธรรมและสังคม คุณเล่นเป็นนโยบายเศรษฐกิจ ไม่เวิร์กหรอกครับ

รัฐบาลต้องให้ประชาชนซึมซับความรู้สึก ไม่ต้องไปผลิตอะไรทั้งสิ้น แต่ให้ซึมซับความรู้สึกว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร ในหลวงสอนไว้อย่างไร สอนให้ประชาชนใช้ชีวิตโดยชอบ ด้วยความพอเพียง มีปัญหาก็ถามพระ

- รัฐบาลไม่ได้ปูพื้นฐานให้ชาวบ้านเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร

ถูกต้อง เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำ เพราะรัฐบาลเองก็เข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบายเศรษฐกิจ

- ทำไม พล.อ.สุรยุทธ์ ที่เคยเป็นองคมนตรีมาก่อน จึงเข้าใจผิดในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ไม่ต้องการวิจารณ์เป็นส่วนตัว เพราะเราก็ไม่ได้เข้าใจปัญหาส่วนตัวของเขา แต่เหมือนคนไทยทุกคนที่รับพระราชดำรัสมาแล้วหลับตาพูดตามนั้น ไม่ได้คิดอะไรทั้งสิ้น แล้วก็พูดไปเรื่อย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร

- แต่ก็มีคนพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ เช่น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล หรืออาจารย์ประเวศ วะสี พูดได้ถูกหรือไม่

อาจารย์สุเมธก็พูดอยู่เรื่อยๆ พูดถูก เพราะพูดในเชิงปรัชญา ไม่ได้พูดว่านโยบายรัฐบาลจะต้องทำอย่างไร

- แล้วทำไมคนไทยเรายังไม่เข้าใจ

เพราะคนไปซีเรียสกับเศรษฐกิจพอเพียงจนเป็นทฤษฎีมากไปครับ

- มีบางคนสับสนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่

ใช่ อาจเพราะไปเขียนในหนังสือเล่มเดียวกัน เศรษฐกิจพอเพียงอยู่ครึ่งแรก (หัวเราะ) ทฤษฎีใหม่เป็นทฤษฎีการใช้ที่ดินของเกษตรกร ชัดเจนว่าเป็นทฤษฎีของในหลวง โดยมีปรัชญาพอเพียงเป็นพื้นฐานเป็นหลักคิด ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้แปลว่า หยุดอยู่ที่เดิม มีเหลือก็ลงทุน มีคนมากก็รวมกลุ่มกันแล้วขยายผล ขายส่งออกนอกหมู่บ้าน ไม่ได้ปิดกั้น

ทฤษฎีใหม่ทำให้มีที่ดินผลิตที่ยั่งยืน แล้วเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ทำให้เรามั่งคั่งมากขึ้น



- การสับสนในเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้มีคนเข้าใจผิดว่า หากจะใช้เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึงการต้องกลับไปอยู่กับเกษตรกรรม ไม่เอาอุตสาหกรรม

นี่..มันสับสน ทั้งหมดจะแก้ปัญหาได้ด้วยการศึกษา ไม่ยาก พูดอย่างที่ผมพูด แล้วก็เขียนหนังสือมาสักเล่ม ไม่กี่สิบหน้า เขียนแบบวิชาการ แล้วก็มีการสัมมนากันตามสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ ควรรับเรื่องนี้ไปทำ ควรเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง

แต่ก่อนอื่นต้องให้การศึกษาแก่คณะรัฐมนตรีชุดนี้ก่อน ไม่ต้องเกรงใจในหลวง พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสมาอย่างถูกต้องแล้วตั้งแต่ 2517 ให้รัฐบาลเข้าเฝ้าฯสักวัน

ในหลวงทรงคิดคำศัพท์ของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นภาษาอังกฤษด้วยว่า ซัฟฟิเซนซี อีคอโนมี (Sufficiency Economy) เพื่อให้ฝรั่งเข้าใจว่าคืออะไร ไม่ใช่เซลฟ์-ซัฟฟิเซนซี อีคอโนมี (Self-Sufficiency Economy)

เพราะถ้าเป็นเซลฟ์-ซัฟฟิเซนซี อีคอโนมี ฝรั่งจะไม่พอใจ จะพะวง และจะมีปัญหา

เพราะเซลฟ์-ซัฟฟิเซนซี อีคอโนมี จะหมายถึง มหาตมะ คานธี จะหมายถึงเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง สมถะ ไม่พึ่งคนอื่น อยู่กันอย่างจนๆ ทอผ้าใช้เอง ทำให้ฝรั่งขายของไม่ได้ เป็นวิธีต่อสู้กับอาณานิคม ในหลวงทรงคิดคำให้ฝรั่งรู้ว่าอันนี้ไม่ใช่ ฝรั่งจะได้ไม่กลัว

หน้า 11
(ภาพประกอบจากบทความในมติชน)



[อ่าน "ตัดแปะ" เรื่องอื่น]


Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2550 11:20:11 น. 4 comments
Counter : 9152 Pageviews.

 
มีแต่คนพูดคำนี้ "เศรษฐกิจพอเพียง"แต่คนที่นำไปใช้จริงๆ ผมว่าหายากเนอะ..






โดย: pooktoon วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:18:13:23 น.  

 
นอกจากประโยชน์ในการได้ชื่อว่า "ทำตาม.." แล้ว บทบาทที่มากที่สุดของ ศก พอเพียง ก็คือใช้ปิดปากฝ่ายตรงกันข้าม และใช้อบรมสั่งสอนให้คนไทยอีกเยอะแยะเป็นพวกภูมิปัญญาพอเพียงที่ยินดีอยู่ในระบอบ "ปชต พอเพียง" มั้ง


โดย: ภูมิปัญญาพอเพียง IP: 124.120.130.38 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:20:31:59 น.  

 
วิกฤตเศรษฐกิจพอเพียง ...ชอบคำนี้จัง


โดย: merveillesxx วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:1:31:11 น.  

 
การที่มีโครงการเศรษกิจพอเพียง
ทําให้เศรษกิจของดีขึ้น


โดย: sa IP: 202.41.167.246 วันที่: 27 เมษายน 2552 เวลา:11:15:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Plin, :-p
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]









Instagram






บันทึก ท่องเที่ยว เวียดนาม


e-mail : rethinker@hotmail.com


Friends' blogs
[Add Plin, :-p's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.