Group Blog
 
<<
มกราคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
31 มกราคม 2550
 
All Blogs
 
เสาอินทขีล : เสาแห่งปฏิญญาฟ้าเวียงพิงค์ : ความนัยของความร่มเย็น


ภาพข้างบนนี้ ข้าพเจ้าถ่ายจากบริเวณวิหารอินทขีล (มณฑปจตุรมุขวิหาร) โดยแผ่นโลหะนี้ได้เล่าเรื่องอินทขีลไว้ว่า

อินทขีล หมายถึง เสาของพระอินทร์ ตำนานระบุว่าเป็นเสาที่พระอินทร์ประทานแก่ชาวลัวะ โดยให้กุมภัณฑ์ 2 ตน หามเสาอินทขีลลงมาจากฟ้าแล้วทำหน้าที่รักษาอินทขีล เชื่อกันว่าฝังอยู่ใต้ดิน

ชาวเชียงใหม่ถืออินทขีลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง มีฐานะเป็นเสื้อเมืองมีอิทธิฤทธิ์ให้บ้านเมืองพ้นจากภัย และบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ถึงมีประเพณีบูชาเรียกว่า “เข้าอินทขีล” ในเดือน 8 เหนือ เป็นประจำทุกปี


ซึ่งบันทึกที่จารึกไว้นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าช่าง “สั้นไป” ขาดเรื่องราวบางอย่าง ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่ามีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม อย่างมาก ดังข้าพเจ้าจะได้กล่าวสรุปในตอนท้าย



จากรูป วิหารทางขวามือคือมณฑปจตุรมุขวิหาร (วิหารอินทขีล) ซึ่งอยู่ภายในวัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นที่ประดิษฐาน “เสาอินทขีล”

ทางด้านหลังของภาพ (หรือด้านทิศใต้ของวิหารอินทขีล) จะมีต้นไม้อยู่ นั่นคือต้นยางใหญ่ อายุกว่า200 ปี ขนาดความยาววัดโดยรอบต้นประมาณ 10 เมตร สูงไม่ต่ำกว่า 40 เมตร (click ดูภาพต้นยางนี้ชัด ๆ ที่นี่) เชื่อกันว่าปลูกในสมัยพระเจ้ากาวิละ

ในความเป็นจริงแล้ว มิได้มี 'เสาอินทขีล' แต่เพียงเล่มเดียวที่นี่.. หากแต่ยังมีที่ประตูเมืองทั้งห้าของเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งแจ่งเมืองทั้งสี่อีกด้วย (แจ่งคือมุม) แต่เสาอินทขีลที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือเสาอินทขีลที่วัดเจดีย์หลวงนี้ และยังถือว่าเป็นเสาหลักเมืองอีกด้วย

เดิมนั้น เสาอินทขีลเล่มนี้ หาได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงไม่ หากแต่อยู่ที่วัดสะดือเมืองหรือวัดอินทขีลซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ทั้งนี้พระเจ้ากาวิละได้โปรดให้ย้ายเสาหลักเมืองจากวัดสะดือเมืองไปไว้ในบริเวณปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2343

จากตำนานสุวรรณฅำแดง (ฉบับพระมหาหมื่น วัดเจดีย์หลวง) ที่เล่าขานสืบต่อกันมา ได้กล่าวไว้ว่า ก่อนที่พญามังรายจะเข้ามาปกครองเชียงใหม่นั้น เดิมแผ่นดินนี้เป็นอณาจักรของชาวลัวะ 9 ตระกูล เรียกว่าเมืองนพบุรี (นพ = นว = 9) คราวหนึ่งชาวลัวะมีภัย ข้าศึกบุกรุก พระอินทร์บนสวรรค์จึงให้กุมภัณฑ์ 2 ตน ไปขุดเอาเสาอินทขีลเล่มกลางขึ้นมาใส่สาแหรกเหล็ก หาบไปฝังไว้ที่เมืองนพบุรี และสั่งให้ชาวลัวะถือศีล รักษาคำสัตย์ เสาอินทขีลก็บันดาลให้บ้านเมืองพ้นภัย มีความอุดมสมบูรณ์

ครั้นศีลธรรมเสื่อมโทรมลง กอร์ปกับชาวลัวะไม่ให้ความเคารพเสาอินทขีล กุมภัณฑ์สองตนนั้นจึงขุดเอาเสาอินทขีลขึ้นมา แล้วหามกลับไปเมืองสวรรค์

ต่อมามีอาเพศอีก บ้านเมืองมีภัย ชาวลัวะขอความช่วยเหลือจากพระอินทร์อีกครั้ง แต่คราวนี้พระอินทร์ให้ชาวลัวะสร้างเสาอินทขีลขึ้นเอง !!! ซึ่งข้าพเจ้ามองว่า ความสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ล่ะ

ในการสร้างนั้น พระอินทร์บอกให้ชาวเมืองหล่ออ่างขาง ซึ่ง แปลว่ากระทะใหญ่ ทำด้วยเหล็กหล่อ แล้วให้ปั้นรูปสัตว์ทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้อย่างละ 1 คู่ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็ด ไก่ หมู หมา แพะ แกะ กวาง ลิง รวมทั้งปลา ปู หอย กุ้ง จระเข้ มังกร ตลอดจนตะขาบ แมลงป่อง ปั้นรูปคนทั้งหลายให้ครบ “ร้อยเอ็ดเจ็ดภาษา” แล้วเอารูปปั้นเหล่านี้ใส่ลงในกระทะ เอาฝังลงหลุมแล้วก่ออิฐปิดไว้ แล้วจึงสร้างอินทขีลไว้เบื้องบน สั่งให้ทำพิธีสักการะ และตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม



นอกจากชาวเมืองจะร่วมกันสร้างเสาอินทขีลขึ้นใหม่แล้ว ก็ยังได้ปั้นกุมภัณฑ์สองตนไว้คอยรักษาอินทขีลด้วย ซึ่งรูปนี้ข้าพเจ้าถ่ายมาให้เห็นแต่ตนหนึ่ง ซึ่ง ถ้าดูจากรูปที่เห็นมณฑปจตุรมุขวิหารทางขวาแล้ว จะเห็นศาลาเล็ก ๆทางซ้าย ซึ่งเป็นที่ตั้งของรูปปั้นกุมภัณฑ์ทั้งสองนั้น

โดยปกติจะมิให้สตรีเข้าไปสักการะถึงที่แท่น แต่วันนี้..ข้าพเจ้าจะนำบรรดาสหาย (จินตนาการว่ากำลัง) เดินผ่านประตู เข้าไปชมข้างในวิหารอินทขีลด้วยกัน



เมื่อเดินผ่านเข้าประตูไป ก็จะเห็นว่ามีพระพุทธรูปอยู่บนแท่น ตั้งอยู่กลางวิหาร



เดิมนั้นเสาอินทขีลเป็นเสาปูนปั้นล้วน ๆ ต่อมามีการประดับกระจกตกแต่งให้ดูสวยงามโดยมีครูบาขาวปี่เป็นประธาน



พร้อมนั้นพลตรีเจ้าราชบุตรได้นำพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนเสานั้นอย่างที่เห็นในรูป




ใน blog ที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ให้คำใบ้ตอนหนึ่งโดย post ใน comment ที่ 7 ว่า "ขอใบ้เพิ่มว่าบริเวณที่ถ่ายนี้มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์การเมือง สังคม วัฒนธรรม และ โหราศาสตร์อย่างมาก"

ที่ข้าพเจ้าจั่วว่าโหราศาสตร์นั้น ก็เพราะว่าไม่อยากจั่วว่าเป็นไสยาศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม บริเวณนี้จากแผนที่เวียงเชียงใหม่แล้วก็ถือว่าอยู่แทบจะกึ่งกลาง หรือเป็นสะดือเมืองเลยทีเดียว

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อทำพิธีคราใด ก็จะมีฝนตกเมื่อนั้น อันเดือน 8 เหนือนี้ จะตรงกับประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน

ความเจริญรุ่งเรือง และ ความอุดมสมบูรณ์ของอณาจักร ไม่ว่าจะเป็นด้วยฤทธิ์ของพระอินทร์ที่ส่งผ่านเสาอินทขีล หรือ เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ที่คุ้มครองแผ่นดินก็ตาม แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดก็คือ การที่ประชาชนรักษาศีล ตั้งมั่นอยู่ในธรรมนั่นเอง (ซึ่งประเด็นนี้ก็มีอยู่ในตำนานด้วย)

ข้าพเจ้าขอยกคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับประวัติของอินทขีลไว้ว่า

“สิ่งที่โบราณท่านสะท้อนความคิดออกไว้เป็นที่ชัดเจนว่า บุคคลไม่ว่าชาติใด ภพใด สัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกสัตว์น้ำหรือแมลงที่อาศัยอยู่ใน อ่างขาง คือแผ่นดินที่มีทิวเขาล้อมรอบแห่งนี้ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เสาอินทขีลที่สร้างขึ้นนั้นมิได้หมายถึงเสาอย่างที่กำแพงเมือง แต่เป็นเสาแห่งปฏิญญาคือ "ความมั่นคง" ทุกชีวิตไม่ว่าจะมาจากไหนจะต้องสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวในเมืองนี้ ซึ่งทุกปีทุกคนทุกหมู่เหล่าจะมาทำพิธีแสดงถึงสามัคคีธรรมที่ข่วงอินทขีล ที่มีเสาอินทขีลเสาแห่งปฏิญญาฟ้าเวียงพิงค์”


แม้เรื่องอินทขีลที่ข้าพเจ้าเล่ามานี้เป็นเรื่องของเมืองเชียงใหม่ แต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ตั้งแต่ไหนแต่ไรมานั้นย่อมต้องการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วยกันทั้งสิ้น และ มนุษย์เราก็ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว สมาชิกในกลุ่มสังคมนั้น ไม่ว่าจะมาจากไหนก็ตาม ต้องไม่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน จำต้องรู้รักสามัคคี ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว และยังต้องตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมอีกด้วย

ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าหากเรามีจิตสำนึกทางสังคมแล้ว พวกเราจึงจะสามารถอยู่อย่างบริบูรณ์ พูนสุขได้ และบ้านเมืองก็จะไม่วุ่นวายอย่างที่เห็นอยู่อย่างทุกวันนี้




เสาอินทขีล : เสาแห่งปฏิญญาฟ้าเวียงพิงค์ : ความนัยของความร่มเย็น
เรื่อง Plin, :-p
ภาพ Plin, :-p



ข้อมูลประกอบการเขียน (และแนะนำให้สหายอ่านเพิ่มเติมด้วย)
  • บทความเรื่อง เสาอินทขีล จาก LANNA CORNER

  • บทความเรื่อง ประเพณีเข้า อินทขีล จาก LANNA WORLD

  • บทความเรื่อง วัดเจดีย์หลวง(เชียงใหม่) จาก LANNA WORLD

  • ข่าวเรื่อง ฟื้นคุณค่าเสาอินทขีลหวังหนุ่มสาวรู้ค่าวัฒนธรรมล้านนา จาก ผู้จัดการออนไลน์



  • Create Date : 31 มกราคม 2550
    Last Update : 7 มีนาคม 2555 21:01:44 น. 21 comments
    Counter : 2434 Pageviews.

     
    เคยเรียนอยู่เชียงใหม่ตั้ง 1 ปีค่ะ แต่ไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์อะไรเลย แล้วก็เสียดายมากที่อยู่น้อยไปหน่อย เพราะกลับไปอีกที ก็เริ่มๆ ลืมไปแล้วว่า ถนนเส้นทางไหนไปยังไง ทั้งๆ ที่เป็นเมืองที่น่าเที่ยวมากๆ

    นี่กำลังคิดอยู่เลยค่ะว่า วัดนี้อยู่ส่วนไหนของเชียงใหม่


    โดย: Second impact วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:11:42:42 น.  

     
    อืม เข้ามาอ่านค่ะ ว่ามีตำนานแบบนี้นี่เอง เข้าใจผูกพันเรื่องราวเรื่องให้คนรักษาศีลธรรมนะคะ


    โดย: ดาว..กลางวัน (ดาว..กลางวัน ) วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:12:07:51 น.  

     
    อึมม์..ใกล้จะมีประเพณีอินทขิล..แถมละก๋าเนี้ย

    วันเวลาผ่านไปไวแต๊ๆเนาะ



    โดย: gripenator วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:12:32:35 น.  

     
    ตอนเรียนอยู่ มช. มีโอกาสได้เรียนวิชา math ครับ

    เป็น math ที่แปลกมากเพราะอิงกับองค์ความรู้โบราณ ผมเลยได้ทราบเรื่องกำแพงเมืองเชียงใหม่ เสาอินทขิล ลักษณะการวางประตูต่าง ๆ

    คนโบราณนี้ช่างอัศจรรย์ยิ่งนัก


    โดย: I will see U in the next life. วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:13:06:43 น.  

     
    ตามไปเที่ยวด้วยคนค่ะ


    โดย: viji (viji ) วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:13:50:37 น.  

     
    มีงานอินทขีลทีไรลมฟ้ามืดครึ้มทุกที

    เฮ้อ....ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่กว่าจะได้ไปเที่ยวอีกครั้ง


    โดย: PADAPA--DOO วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:15:18:09 น.  

     
    ได้ความรู้มากๆ เลย
    แต่หน้อ จะมีโอกาสได้ไปเยือนม่ะเนี่ยเรา


    โดย: Papayahanaga วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:15:47:18 น.  

     
    อ่านเพลิน ได้ความรู้ดีด้วยครับ


    เห็นรูปแรก พยายามอ่านตั้งนาน พออ่านเสร็จ.. อ้าวข้างล่างพิมพืไว้แล้วนี่หว่า.. ทรมานสายตาซะตั้งนาน อิอิ


    โดย: smartman หล่อสุดๆ วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:17:24:02 น.  

     
    สวัสดีค่ะ จขบ.
    โอยๆๆนั่นไง ต้นยางต้นนั้น อายุกว่า 200 ปีเชียว
    แบบว่ายังติดใจ เรื่องอายุต้นยางใหญ่ไม่หาย
    ก็สักเมื่อ พ.ศ.2350 อ่ะสิคะ
    พ.ศ.2310 กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2
    เอ...ต้นรัตนโกสินธ์หรือเปล่านะ




    โดย: เเสงตะวัน วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:17:28:03 น.  

     
    ความรู้เยอะเลยค่ะ...............

    ขอบคุณที่นำมาให้อ่านค่ะ..............


    โดย: ปลายปัญญา วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:19:45:02 น.  

     


    ไม่เคยทราบมาก่อนเลยค่ะ


    โดย: rebel วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:20:22:14 น.  

     
    ตอบคุณแสงตะวัน

    สมัยนั้น เชียงใหม่กับสยาม เป็นคนละประเทศกัน

    เชียงใหม่เพิ่งเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง

    ส่วนเรื่องว่า พระเจ้ากาวิละแห่งเชียงใหม่ กับ รัชกาลที่ 1 มีความร่วมมือกันอย่างไรในสม้ยนั้นนี่ มีเอกสารให้อ่านเยอะเหมือนกัน


    โดย: Plin, :-p วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:20:45:38 น.  

     
    อินทขีล มองได้ว่าเป็นหลักชัย เป็นศูนย์รวมแห่งศัทธาในการสร้างความดีได้ใช่ไหมเนี่ย แท้ที่สุดแล้วการสร้างความดีย่อมเป็นเกราะคุ้มกันภัยได้ประมาณนั้น...


    โดย: เขาพนม วันที่: 31 มกราคม 2550 เวลา:22:58:30 น.  

     
    อยากไปดูของจริงบ้างง ..


    โดย: แมงป่องไร้พิษ วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:0:07:13 น.  

     
    บางทีข้าพเจ้าก็เซ็งเหมือนกันที่ดันพลาดมาเกิดเป็นแม่หญิงแถมข้อจำกัดเยอะแยะ แต่ก็ไม่โกรธสังคมนะ เพราะสักการะบูชานั้นเป็นเรื่องของพิธีกรรม ผลดีแก่สังคมคือรักษาประเพณีสืบทอด ผลดีกว่าคือปฏิบัติบูชา สังคมจึงจะรอดตามที่ท่านจอมยุทธกล่าว

    สนใจ e-book ขอบคุณและอนุโมทนากับท่านในการเผยแพร่



    โดย: woodchippath วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:10:10:14 น.  

     
    ภาพถ่ายแนวศิลปะวัฒนธรรมก็ขอบครับ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเก็บภาพมากนัก คณะชอบเน้นภาพวิวซะมากกว่า


    โดย: ลุงแมว วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:10:58:16 น.  

     


    โดย: แ ม ง ป อ วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:21:37:10 น.  

     


    มาเยี่ยมค่ะ..แล้วก็มาเก็บความรู้กลับบ้านด้วย


    โดย: ratana_sri วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:17:38:45 น.  

     
    ขอบคุณสำหรับความรู้

    สำหรับคำช่วงท้ายๆ ยังมองไม่เห็นทาง


    โดย: cottonbook วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:20:43:12 น.  

     
    ศรีสวัสดี
    เจ้าของบล็อกและแดวน ๆ คุณ "ศรีสมเพชร" (...ฮา ฮา...ความลับของ Plin, :-p ) ทุก ๆ ท่าน

    ม.ช.
    (ย่อมาจาก) มาช้า
    แต่ก็มาแล้ว...เน้อ

    การท่องเที่ยวแบบมีจุดมุ่งหมาย
    หรือ เที่ยวแบบ "สารคดี"
    เป็นสิ่งที่ดี และควรที่จะปลูกฝังให้เยาวชนไทยเอาเป็นแบบอย่าง (นี่พูดจริง ๆ นะ, เพราะคนไทยจะได้เป็นนักคิด นักแสวงหาความรู้จากสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ไปสัมผัส และ ตีค่าความหมายจากข้อมูลข่าวสารที่ตนได้รับ)

    และงานเขียนท่องเที่ยวแบบสารคดีนชิ้นนี้ (สำหรับผมแล้ว)ก็ถือว่า "ชกกับมืออาชีพได้ครบยก" ได้ทีเดียวเชียวแหละ

    ส่วนใครที่สนใจเรื่อง "เมืองเหนือ/เมืองล้านนา" แบบว่า--หนัก ๆ ลึก ๆ คม ๆ ชัด ๆ ก็ขออนุญาตเจ้าของบล็อก ประชาสัมพันธ์เสียเลย..อิอิ

    ไปที่บล็อก a_somjai อ่านหมวดบล็อกย่อย ตำนานเมืองหนือ ได้...ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ

    เกี่ยวกับเรื่อง เสาอินทขีล ตอนนี้กำลังลงโรงอยู่ก็คือ เสาอินทขีลเป็น ๑ ใน เทวดาอารักษ์ เชนเมืองเจ้าทั้งหลายแห่งนครเมืองพิงค์เชียงใหม่
    นั้นเอง

    ส่วนตำนาน เสาอินทขีล ในนิทานสำนวน "มหาเถรฟ้าบด" จะได้นำไปเล่า(ต่อ)ไว้ที่บล็อกเร็ว ๆ นี้ครับ



    ป.ล.ศรีสมเพชร เป็นชื่อ "คนบันเทิง" ที่โด่งดังในเชียงใหม่รุ่นเก่าแก่ มากนะเอ้า, เดี๋ยวนี้เป็นชื่อกิจการรับจ้างทำป้ายโฆษณาในท้องถิ่น และสอนขับรถยนต์ ไปเสียแย้ว...





    โดย: a_somjai วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:0:09:05 น.  

     
    ในยุคที่เพิ่งสร้างเมืองเชียงใหม่ เมืองต้องเป็นรูปเกือบจะสี่เหลี่ยมจัดุรัส เสาหลักเมืองก็ควรที่จะอยู่ใจกลางเมือง แต่วัดเจดีย์หลวงไม่ได้อยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เป็นไปได้ไหมว่าแนวกำแพงเมืองที่เห็นอยู่นี้จะมีการเปลี่ยนตำแหน่ง หรือ ไม่ก็มีการย้ายตำแหน่งของเสาหลักเมืองมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวง


    โดย: jejehouse IP: 222.123.24.25 วันที่: 19 ธันวาคม 2550 เวลา:22:33:38 น.  

    ชื่อ :
    Comment :
      *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
     

    Plin, :-p
    Location :
    กรุงเทพ Thailand

    [ดู Profile ทั้งหมด]

    ฝากข้อความหลังไมค์
    Rss Feed
    Smember
    ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]









    Instagram






    บันทึก ท่องเที่ยว เวียดนาม


    e-mail : rethinker@hotmail.com


    Friends' blogs
    [Add Plin, :-p's blog to your web]
    Links
     

     Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.