Group Blog
 
 
สิงหาคม 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
23 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 

ความรู้ : ลิขสิทธิ์กับวรรณกรรมออนไลน์ สิทธิ์ที่ต้องรู้

สวัสดีครับ พี่น้องเล้าเป็ดทุกๆ ท่าน หลังจากที่ลองเอาข้อมูลดิบๆ มาโพสต์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ดูมันกว้างและคลุมเครือไป อ่านแล้วเข้าใจยาก ไม่เจาะจงเนื้อหาให้เข้ากันกับ “วรรณกรรมออนไลน์” ที่จั่วหัวเอาไว้ วันนี้ฤกษ์งามยามดี เลยขอเอามาปัดฝุ่นเรียบเรียงใหม่อีกครั้ง จะได้อ่านแล้วทำความเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น และตรงประเด็นมากขึ้นกว่าเดิม เผื่อจะใช้เป็นประโยชน์ในการอ้างอิง หรือเป็นแนวทางอื่นๆได้

เรื่องของวรรณกรรม จัดว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ให้ทั้งความบันเทิง บันทึกสภาพแวดล้อมในขณะนั้นๆ หรือแม้กระทั่งเป็นแนวทางในการพัฒนาในอนาคต วรรณกรรมจัดว่าเป็นสิ่งที่เติบโตไปตามสังคมและกาลเวลาเสมอ และในปัจจุบันการเชื่อมต่อโลกไร้พรมแดนเข้าด้วยกันทำให้ช่องทางในการนำเสนอวรรณกรรมมีมากขึ้นและง่ายต่อการเข้าถึง จึงก่อให้เกิดวรรณกรรมรูปแบบใหม่ขึ้นมานั่นคือ “วรรณกรรมออนไลน์”

มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แค่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอจากเดิม มนุษย์ใช้วิธีการบอกเล่าต่อๆ กันมาในรูปแบบนิทาน ก็เปลี่ยนมาใช้ใบลาน กระดาษ วรรณกรรมออนไลน์จึงเป็นเพียงแค่เปลี่ยนสื่อของวรรณกรรมจากยุคกระดาษมาเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้นเอง นี่แล่ะครับ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา เป็นที่มาของกระทู้นี้นั่นก็คือ “การละเมิดลิขสิทธิ์”

หลายต่อหลายคน “ไม่รู้” และ “ไม่เข้าใจ” ในกฎหมายลิขสิทธิ์ เมื่อเกิดปัญหาก็มักจะใช้สองคำนี้เป็นข้ออ้าง ซึ่งในทางกฎหมายไม่รับฟังข้ออ้างนี้ครับ (ประชาชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย = ต้องรู้และเข้าใจถึงจะทำได้ถูกต้อง เป็นการบังคับกลายๆ ว่าคุณต้องศึกษากฎหมายนะ แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ จึงมีอาชีพ “เนติบริกร” เอาไว้ให้พวกเราได้ใช้กันไงครับ)

ทีนี้เลยต้องสรุปให้ฟังง่ายๆ เอาไว้ในที่นี้ โดยจะแบ่งออกเป็น
1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. วรรณกรรมออนไลน์ การคุ้มครอง

เอาแบบเน้นๆ สั้นๆ ง่ายๆ ให้เข้าใจกันพอดูแลตัวเองได้ว่า ไม่ไปพลาดเหยียบเท้าใคร หรือให้ใครมาเหยียบเท้าครับ


1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์

ตามพรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ ได้ให้ความหมายของคำต่างๆ ดังนี้

“ลิขสิทธิ์” หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใดๆ ตาม พระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น

“วรรณกรรม” หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

“ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้


ลิขสิทธิ์ จัดว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงออกซึ่งความคิดให้ปรากฏออกมาเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่ง 9 ประเภท ได้แก่งานวรรณกรรม (หนังสือ) งานนาฏกรรม (ท่ารำ, ท่าเต้น) งานศิลปกรรม (ภาพวาด, งานพิมพ์) งานดนตรีกรรม (เนื้อร้อง, ทำนอง) งานโสตวัสดุ (เทป, ซีดี) งานแพร่เสียง แพร่ภาพ งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์

ถ้าพูดกันง่ายๆ คือความเป็นผู้รับผิดชอบในงานนั้นๆ ครับ แต่ก็แล้วแต่ว่า ผู้สร้างสรรค์จะให้สิทธิ์ใดๆ ไปบ้าง เช่น สำนักพิมพ์ ได้สิทธิ์ในการจัดพิมพ์ จัดทำรูปเล่ม และนำออกโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือจัดจำหน่าย แต่ไม่มีสิทธิ์ดัดแปลงแก้ไขเนื้อหา นั่นคือเป็นสิทธิ์ทางผู้เขียนสงวนไว้ให้กับตัวเองเท่านั้น

ส่วนสิ่งที่ยกเว้นไม่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ก็เห็นจะเป็น ข่าวสาร ข้อเท็จจริง กฎหมาย หนังสือโต้ตอบระหว่างหน่วยงานราชการ คำสั่ง คำพิพากษาของศาล


ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เว้นแต่
• 1.1 วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
• 1.2 ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท (ตรงนี้ต้องเป็นการได้รับมาอย่างถูกต้อง เช่น การซื้อ หรือมีผู้ซื้อมาให้ หรือ เจ้าของให้มา ไม่เกี่ยวกับการโหลดบิท เอาแผ่นผีมาก็อปปี้)
• 1.3 ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
• 1.4 เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
• 1.5 ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
• 1.6 ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ โดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
• 1.7 ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอน หรือทำบทสรุปโดยผู้สอน หรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
• 1.8 นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ


พอจะเข้าใจกันขึ้นมาบ้างแล้วหรือยังครับ ว่าลิขสิทธิ์นั้นเป็นยังไงบ้างเอ่ย ทีนี้มาในส่วนของ “วรรณกรรมออนไลน์” กันบ้าง

2. วรรณกรรมออนไลน์ การคุ้มครอง


งานวรรณกรรมเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ 2537 ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองทันทีที่ได้สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน และเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการบริหารจัดการสิทธิของตน ซึ่งได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ กับอีกห้าสิบปีภายหลังผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์ในงานนั้นจะมี อายุการคุ้มครอง 50 ปี นับจากสร้างสรรค์หรือโฆษณา ดังนั้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนมิฉะนั้นอาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเราสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะ เขียนบนกระดาษก่อนแล้วเอามาพิมพ์ใส่คอมทีหลัง หรือพิมพ์กันสดๆ บนคอมนี้ก็ตาม งานเขียนของเราก็ได้รับการคุ้มครองทันทีทันใดแล้วครับ คุ้มครองตลอดทั้งชีวิตเรา แถมยังให้ผลประโยชน์กับลูกหลานเราไปอีกตั้ง 50 ปี เกิดนิยายขายดีๆ แบบ Harry Potter ขึ้นมาก็ เยส... ลูกๆ ป้า JK. นี่น่าอิจฉาขึ้นมาเลยครับ

สมมติว่าเขียนไว้แล้ว ไม่ได้เอาออกมาให้ใครอ่านในเน็ต แต่มีคนเอาไปโพสต์แอบอ้าง อันนี้ก็ต้องพิสูจน์กันต่อไปครับว่าจริงหรือเท็จ

ในกรณีนี้ไม่คุ้มครองในเรื่องของ “พล็อต” หรือ “โครงเรื่อง” ที่ได้วางเอาไว้ แต่ยังไม่ได้เขียนออกมา บังเอิญว่าเล่าให้คนอื่นฟังแล้วเขาเอาไปเขียนมาได้ก่อน ไม่คุ้มครองนะครับ ต้องเริ่มเขียนมาแล้วเท่านั้น แต่... ก็จะคุ้มครองเฉพาะเท่าที่เขียน พล็อตหลังจากนั้นจะไปอ้างว่า คนที่เขียนไปก่อนลอกความคิดมาไม่ได้ครับ

ในกรณีที่ให้สำนักพิมพ์ไปพิมพ์จำนวน 3000 เล่ม แต่ปรากฏว่า สนพ. พิมพ์เกินมา 1000 เล่ม เราสามารถเอาผิดเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ได้เฉพาะเล่มที่เกินเท่านั้นนะครับ


แล้วถ้าเราถูกนำเอาผลงานไปแอบอ้างแล้วล่ะ จะทำยังไงดีเอ่ย... อันนี้หลายคนอาจจะสงสัย ตามก้นต๊อบมา เดี๋ยวพาไปดู

ขั้นแรกนำหลักฐานการละเมิดลิขสิทธิ์พร้อมทั้งหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เข้าแจ้งความกับทางตำรวจ ถ้าเจอบนเว็บ ติดต่อเว็บมาสเตอร์ก่อนก็ดีครับ ให้เขาเก็บหลักฐานไว้ให้ ถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็ฟ้องฐานร่วมกันละเมิดเลยครับ

แต่ปัญหาคือ นักเขียนบางคนไม่ได้แจ้งหลักฐานจดลิขสิทธิ์เอาไว้ ไม่เป็นไรครับ ถ้าเรามี 1. กระดาษที่เราได้เขียนนิยายของเราเอาไว้ มันจะยับยู่ยี่ขนาดไหน เก่าโทรม หรือยู่ท้ายรายงาน หรือช่องว่างระหว่างหน้าของหนังสือเรียนก็แบกไปเถอะครับ หรือถ้ามีอยู่บนคอมแล้ว ก่อนจะถูกละเมิด แสดงว่าเราต้องเคยโพสต์ลงที่ไหนสักแห่งก่อน ขอหลักฐานการโพสต์จาก เว็บมาสเตอร์ที่เราลงไว้ด้วยครับ วันเวลาที่เราลง จะช่วยให้พิสูจน์ได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าเราลงก่อน แสดงว่าเราอาจจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ (ยกเว้นคุณจะขโมยเขามาลงก่อนนะ)

จากนั้นที่เหลือก็ตามกระบวนการกฎหมาย


ที่สำคัญเลยก็คือ จะต้องแจ้งความภายใน 3 เดือนนับจากวันที่รู้ว่ามีการละเมิด (รู้นะครับ ไม่ใช่ วันที่ทำ) อาจจะทำมานานแล้วก็ได้ แต่เราพึ่งรู้ ถ้าเกินนั้นถือว่าขาดอายุความครับ


ไม่ต้องห่วงครับ คดีนี้ไม่หนักหน่วง ยอมความได้ โทษไม่หนัก แต่ก็เป็นโทษอาญา โดนเข้าไปก็รับราชการไม่ได้ เป็นสส. ไม่ได้ (ไม่ใช่ความผิดลหุโทษ แต่มีโทษเบาะๆ) เท่านั้นเองครับ โทษอาจจะแค่ปรับไม่กี่สิบบาท




ส่วนนักเขียนคนไหนที่มีผลงานแล้วอยากจะแจ้งจดลิขสิทธิ์ก็ ต้องเตรียมหลักฐานดังนี้ครับ

๑. แบบ ลข. ๐๑ จำนวน ๒ ชุด
๒. สำเนาผลงานลิขสิทธิ์ จำนวน ๑ ชุด
๓. กรณีผู้ยื่นคำขอเป็นบุคคลธรรมดาใช้สำเนาบัตรประชาชน (รับรองสำเนาถูกต้อง)
๔. กรณีเป็นนิติบุคคล ใช้สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล ที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน ๖ เดือน นับแต่วันออกหนังสือรับรอง
๕. กรณีตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นมายื่นขอ ใช้สำเนาหนังสือแต่งตั้งตัวแทนหรือหนังสือมอบอำนาจติดอาการแสตมป์ ๓๐ บาท พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ
๖. หน่วยงานหรือองค์กร ของรัฐบาล ใช้สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กร พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
๗. มูลนิธิ ใช้สำเนาหนังสือการจดทะเบียนตั้งมูลนิธิ (สำเนาทุกฉบับต้องรับรองสำเนาถูกต้อง)

ดาวโหลดเอกสารได้จากที่นี่ครับ
//www.ipthailand.org/dip/index.php

ปล. สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บของกรมทรัพย์สินทางปัญญาครับ




จุดที่สำคัญสำหรับคนโพสต์อีกจุดหนึ่ง

นั่นคือเห็นหลายๆ กรณีที่มีนิยายพิมพ์ผิด ตกหล่น เลยเกิดความหวังดีแก้ไขให้ ในส่วนนั้น ถ้า คนเขียนเห็นดีเห็นงาม ก็ไม่เป็นไร แต่จริงๆ แล้ว การกระทำนั้น เข้าข่าย "การดัดแปลง, แก้ไข" เว้นแต่ว่าได้ขออนุญาตคนเขียนแล้วว่า จะขอแก้คำผิด กับที่พิมพ์ตกให้นะ

การนำไปเผยแพร่
ในบางที และบางกรณี หลายคนมักจะสับสนว่า "ไม่ได้ทำไปเพื่อการค้า ถือว่าไม่ผิืด" เป็นการเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ สามารถทำให้ท่านขึ้นโรงขึ้นศาลได้เลยนะครับถ้าตะแบงแบบนี้

ลองคิดดูว่า หากเราเป็นผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดจำหน่ายในรสชาติและส่วนผสมเฉพาะของเรา แต่มีคู่แข่ง ทำมาแบบเดียวกัน แต่แจกฟรีเลย มันมีผลกระทบกับเราไหมครับ แม้ไม่ได้ทำเพื่อการค้า แต่ก็ส่งผลลบต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ผิดเต็มๆ ครับ

ซึ่งผมได้บอกข้อยกเว้นเอาไว้แล้วว่าอย่างไหนทำได้ อย่างไหนทำไม่ได้


แล้วก็เรื่องการนำเอานิยายไปโพสต์ตามที่ต่างๆ โดยไม่ได้บอกเจ้าของผลงาน นอกจากจะผิดกฏหมายแล้วยังเสียมารยาทต่อคนเขียนอีกด้วยครับ มันก็เหมือนกับขโมยเอาต้นไม้หน้าบ้านเขาไปปลูกหน้าบ้านเรานั่นแล่ะครับ

คนเขียนก็อยากให้คนอ่านได้อ่าน ได้พูดถึง การแอบนำไปโพสต์ลับหลังโดยคนเขียนไม่รู้ ยังมีหน้ามาบอกว่า "พี่น่าจะภูมิใจนะ มีคนชอบ" ไอ้ภูมิใจก็ส่วนหนึ่ง แต่แค่บอกว่า จะเอาไปโพสต์ที่นั่นที่นี่นะ คนเขียนจะได้ตามไปดูว่าคนอ่านคิดยังไง ชอบไหม มันก็จะดีกว่าไม่ใช่เหรอ

โดยเฉพาะนิยายบางเรื่องที่มีเฉพาะในเล้าเท่านั้น

หัวกระทู้นี้ก็โด่เด่บอกอยู่แล้วว่าให้อ่าน ยังทำเมิน ไม่รู้ร้อนหนาว ขโมยเอาไปโพสต์ในเว็บบอร์ดบางเว็บ ซึ่งผมก็ได้ไปทวงถามแทนคนเขียนแล้วว่าได้ขอมาก่อนหรือเปล่าก็เงียบหาย อย่าให้บอกนะว่าที่ไหน


ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็โปรดช่วยทำความเข้าใจด้วยนะครับว่า มันผิด... ทั้งกฏหมาย และต่อคนเขียนด้วย

อาจจะมีอะไรเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ ครับ ขอบคุณที่อ่านจนจบ




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2551
2 comments
Last Update : 23 สิงหาคม 2551 11:42:03 น.
Counter : 2304 Pageviews.

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ
เป็นประโยชน์มากพอดีกำลังทำายงานเรื่องนี้อยู่ค่ะ

 

โดย: พี IP: 124.121.7.50 12 ตุลาคม 2552 12:54:24 น.  

 

Hello,

Music updated on daily scene music releases https://0daymusic.org , no waiting time, no speed limit, no ads.

 

โดย: DanielFug IP: 196.196.53.119 28 กันยายน 2566 1:42:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


กระต๊อบน้อย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add กระต๊อบน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.