คุณพีทคุง พิธันดร
Group Blog
 
 
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
19 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
แรกก้าว » ก่อนลงมือพิมพ์ต้นฉบับ





“เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง”

เขาว่ากันว่าอย่างนั้น คุณพีทก็ไม่รู้หรอกครับ ว่ามันจะ “กว่าครึ่ง” จริงรึเปล่า แต่พอเขียนมาหลายๆ เรื่อง เปิดไฟล์ใหม่มาหลายๆ ครั้ง ก็เริ่มเรียนรู้ว่า การเริ่มต้นให้ดีก่อนจะจรดนิ้วจิ้มคำแรกลงในหน้ากระดาษ (ของไฟล์) จะช่วยประหยัดเวลามานั่งจัดนั่งแก้ทีหลังได้เยอะมากๆๆๆๆ เดี๋ยวนี้ก่อนจะเริ่มต้น “เขียน” อะไรก็ตาม ผมจะใช้เวลาตระเตรียม “แผ่นกระดาษ” ของผมสักนิดก่อนทุกครั้ง

และในระหว่างที่ลงมือ “เขียน” ไปก็เหมือนกัน ถ้าผมพิมพ์ข้อความลงไปให้ถูกต้องสวยงามแต่แรก ก็จะลดเวลานั่งจัดนั่งแก้ทีหลังได้มากทีเดียว

ถ้าหากตั้งใจว่าจะไม่เขียนเก็บไว้อ่านคนเดียว แต่จะเผยแพร่ในทางใดทางหนึ่ง (ไม่ว่าจะเป็นในบล็อก ในบอร์ดนิยาย หรือส่งสำนักพิมพ์เพื่อพิจารณา) ผมเสนอว่ายังไงก่อนเผยแพร่ก็ต้องมานั่งจัดให้ดูดีมีชาติตระกูลอยู่แล้ว (ถ้าไม่จัด ความสำเร็จในการเผยแพร่จะลดน้อยลงจนน่าใจหาย เช่น คนอ่านตาลายเลยเลิกอ่าน คนพิจารณางานของสำนักพิมพ์ก็อาจจะอารมณ์เดียวกัน) การชิงจัดเสียตั้งแต่ก่อนลงมือพิมพ์ จะช่วยลดอาการปวดหัวในภายหลังได้มากครับ

(1) การเตรียมไฟล์งานก่อนลงมือเขียน

(2) การพิมพ์งานอย่างมืออาชีพ

(3) การจัดต้นฉบับก่อนส่งสำนักพิมพ์เพื่อพิจารณา

(4) การจัดหน้าเพื่อเผยแพร่ทางเว็บ




การเตรียมไฟล์งานก่อนลงมือเขียน

ก่อนอื่น ผมขอสมมุติในเบื้องต้นว่า เราจะเขียนงานด้วยโปรแกรมประเภท Word Processor ซึ่งสามารถจัดหน้าตาข้อความได้พอสมควรนะครับ เข้าใจว่าพวกเราส่วนใหญ่คงจะใช้โปรแกรมลักษณะนี้อยู่แล้ว

โปรแกรมที่นิยมกันมากตอนนี้น่าจะได้แก่ Microsoft Word ซึ่งมีความสามารถมหัศจรรย์หลายอย่าง แต่ที่เราจะใช้กับการเตรียมต้นฉบับนิยายจริงๆ ก็ไม่พิเศษพิสดารอะไร เพราะฉะนั้นจะใช้เวอร์ชั่นเก่าใหม่แค่ไหนก็ได้เหมือนกันครับ

ถ้าหาโปรแกรมหรูหราแบบนั้นไม่ได้ คนที่ใช้ระบบปฏิบัติการตระกูล Windows ก็จะได้รับโปรแกรมพิมพ์เอกสารติดมาด้วยหนึ่งตัวคือ WordPad (อยู่ในกรุ๊ป Accessories) ซึ่งทำอะไรได้มากกว่าโน้ตแพ็ดเยอะ ถึงจะไม่อลังการเท่าไมโครซอฟต์เวิร์ดตัวเต็ม แต่ก็จัดรูปแบบหน้าตาได้พอสมควร ใช้ฟ้อนต์ต่างๆ ได้ด้วย เพียงแต่เวลาใช้งานต้องเลือกชนิดไฟล์ให้เป็น .rtf คือ Rich Text Document ซึ่งเก็บข้อมูลรูปร่างหน้าตาไว้ได้

หลักการที่ผมได้เรียนรู้มานี้ ใช้ได้กับโปรแกรมพิมพ์งานทั่วไป เพียงแค่ต้องหาเมนูมันให้เจอเท่านั้นเองว่าอยู่ตรงไหน และบางโปรแกรมอาจจะไม่มีความสามารถบางอย่าง (เช่น WordPad จะใส่หัวกระดาษท้ายกระดาษและเลขหน้าอย่าง Microsoft Word ไม่ได้) เนื่องจากผมต้องการสรุปบทเรียนเกี่ยวกับการเขียนนิยาย ยังไม่ได้คิดอ่านจะสอนคอมพิวเตอร์ รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการหรือปุ่มเมนูทั้งหลาย ผมจะเว้นไว้ไม่พูดถึงนะครับ

และทุกข้อที่จะพูดต่อไปนี้ หมายถึงว่าถ้าโปรแกรมนั้นทำได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ข้ามไปครับ


(1) การตั้งหน้ากระดาษ

ตั้งขนาดให้เป็น A4 จะปลอดภัยที่สุดครับ สะดวกต่อการอ่านบนจอ พิมพ์ออกมาตรวจทาน และส่งให้คนอื่นอ่านหรือพิจารณา เพราะเป็นขนาดกระดาษมาตรฐานที่ใช้ในประเทศไทย (บางประเทศอย่างอเมริกาใช้ขนาด letter 8.5” x 11” ถ้าโปรแกรมที่ใช้มันเป็นค่านี้ค้างอยู่ ควรจะเปลี่ยนเป็น A4 ครับ และถ้ารู้วิธีให้เซฟเก็บไว้ในเทมเพลต normal.dot เลยยิ่งดี จะได้ไม่ต้องมาคอยแก้ทุกครั้งที่เปิดไฟล์ใหม่)

ตั้งทิศทางกระดาษให้เป็นแนวตั้ง (portrait)

ตั้งขอบซ้ายขวาบนล่างตามค่าปกติของโปรแกรม ไม่ควรเปลี่ยนถ้าไม่จำเป็นจริงๆ หรือมีเหตุผลอันควร เพราะถ้าจะส่งสำนักพิมพ์ เขามักจะกำหนดให้ตั้งตามค่าเดิมครับ เดี๋ยวต้องมาเปลี่ยนกลับอีก ค่าเดิมของโปรแกรมเวิร์ดคือ บนล่างข้างละ 1” ส่วนซ้ายขวาข้างละ 1.25”

ส่วนอย่างอื่น ถ้าไม่มีเหตุผลที่จำเป็น และรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ อย่าไปเปลี่ยนมันเลยจะดีที่สุดครับ


(2) การตั้งฟ้อนต์ตัวอักษร

โปรแกรมเวิร์ดสมัยเก่าและเวิร์ดแพ็ด ตั้งฟ้อนต์ทีเดียวมันจะใช้กับภาษาไทยและอังกฤษเหมือนกันเลย แต่โปรแกรมเวิร์ดใหม่จะฉลาดมาก คือสามารถตั้งฟ้อนต์ไทยกับอังกฤษแยกกันได้ และยังฉลาดกว่านั้นอีก คือถ้าเราไม่ตั้งไว้ แต่พิมพ์ภาษาไทยในฟ้อนต์ที่ไม่มีตัวอักษรไทย มันก็จะพยายามไปหาฟ้อนต์มาแทนให้ ซึ่งจะว่าไปก็ดี แต่ว่าไปอีกที ก็ทำให้เกิดปัญหาหน้าตาไม่ตรงกับที่ตั้งใจไว้ได้เหมือนกัน

ถ้าเราไม่ไปแก้อะไร โปรแกรมเวิร์ดจะตั้งค่าฟ้อนต์มาตรฐาน (ในสไตล์ที่ชื่อ Normal) ให้เป็น Times New Roman ขนาด 12 point ซึ่งสวยดีและขนาดกำลังเหมาะ แต่พอเราพิมพ์ภาษาไทย ฟ้อนต์นี้ไม่มีภาษาไทย มันก็จะเปลี่ยนให้เป็น Angsana New โดยอัตโนมัติ ซึ่งก็สะดวกดี แต่เสียอย่างเดียวคือ มันมักจะมาในขนาด 12 point เหมือนภาษาอังกฤษ ซึ่งตัวจิ๋วมาก ขนาดอักษรไทยที่เหมาะแก่การอ่านตามปกติ คือ 14 หรือ 16 point

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ไปแตะต้องอะไรเลย ส่วนใหญ่เราจะได้ภาษาไทยตัวจิ๋วกับอังกฤษตัวปกติ ยิ่งถ้าบรรทัดของเรามีทั้งไทยอังกฤษผสมกัน ความสูงของบรรทัดจะสูงๆ ต่ำๆ ตามไปด้วย เพราะภาษาไทยเรามีสระบนล่าง ใช้ความสูงมากกว่าฟ้อนต์ภาษาอังกฤษขนาดเดียวกัน

โดยปกติแล้ว เวลาเขียนนิยายเราจะใช้ภาษาไทยเป็นส่วนใหญ่ ปัญหานี้ไม่ค่อยร้ายแรงนัก บางทีอาจจะไม่สังเกตเห็นเลยก็ได้ คนใช้โปรแกรมหลายคนใช้วิธีลากตัวอักษรทั้งหมดให้ดำ แล้วไปเปลี่ยนชื่อหรือขนาดฟ้อนต์ตรงช่องใต้เมนู แต่การใช้วิธีนี้มีข้อจำกัดคือ บางทีเขียนๆ ไป ลบตรงนั้น แปะตรงนี้ แล้วไอ้ฟ้อนต์มันจะกระโดดกลับไปเป็นแบบเก่าอีก ต้องมานั่งเปลี่ยนใหม่ทีหลัง

วิธีที่ผมใช้คือ ไปแก้ “สไตล์” Normal ให้เป็นฟ้อนต์และขนาดที่เราต้องการ เหมือนกันทั้งภาษาไทยและอังกฤษ หลังจากนั้นไม่ว่าจะพิมพ์อะไรลงไป มีวงเล็บภาษาอังกฤษ ทำหัวข้อ หรืออะไรก็ตาม โปรแกรมมันจะไปดึงฟ้อนต์จากสไตล์ Normal มาใช้เป็นหลักก่อน เราไม่ต้องมาแก้ตามหลังมาก สบายขึ้นเยอะ

หน้าตาฟ้อนต์ตระกูล UPC ของวินโดว์เหมาะกับการเขียนนิยายที่สุด เพราะออกแบบมาให้อ่านง่ายบนหน้าจอ ถ้าเป็นฟ้อนต์ตระกูลเก๋ไก๋ เวลาดูบนหน้าจอจะกลายเป็นเงาๆ สีเทา เขียนไปนานๆ แล้วตาจะบอดเอา

ในตระกูลนี้ ฟ้อนต์ที่เหมาะกับการเขียนเยอะๆ นานๆ ได้แก่ Angsana, Browallia, Cordia สุดแท้แต่ความชอบ ลองดูทั้งบนจอและพิมพ์ออกกระดาษมาเทียบกัน จะมีข้อเด่นข้อด้อยต่างกันนิดหน่อยครับ ฟ้อนต์ตระกูลนี้ ถ้ามีทั้ง UPC และ New ให้ใช้ New เพราะใหม่กว่า เอ๊ยไม่ใช่ เพราะมีการแก้ไขอะไรเพิ่มเติมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเหมาะกับการทำงานภายใต้วินโดว์ใหม่มากกว่า

หมายเหตุเพิ่มเติมเกี่ยวกับทั้งสามฟ้อนต์ อ่านข้ามได้ครับ

Angsana เป็นแบบมีเส้นหนักเบา เวลาพิมพ์ออกมาจะสวย เวลาอ่านบนจอจะสวยถ้าใช้ขนาดเล็ก (หรือถ้าไม่ซูมให้ตัวอักษรมันโตมาก) เพราะถ้าตัวอักษรใหญ่เกินประมาณ 20 ขึ้นไปแล้ว โปรแกรมมันจะแสดงเส้นหนักเบาบนจอ ดูแล้วดำพรืดไปหมด อ่านยาก

Browallia เป็นแบบเส้นเท่ากันหมด รูปร่างโปร่งตาอ่านง่าย ขนาดเส้นหนาปานกลาง ขยายใหญ่บนจอแล้วอ่านง่าย

Cordia เป็นแบบเส้นเท่ากันหมด แต่เส้นบางเฉียบ (บางกว่า Browallia เล็กน้อย) รูปร่างโปร่งตา ในกระดาษอ่านง่าย (หนังสือราชการหลายแห่งนิยมใช้ฟ้อนต์นี้) แต่ในจอจะอ่านง่ายเป็นบางขนาด ถ้าซูมขยายบางทีจะดูบิดเบี้ยวได้เล็กน้อย


ขนาดฟ้อนต์ที่เหมาะสมกับการเขียนต้นฉบับคือ 14 หรือ 16 แล้วแต่ถนัดครับ ถ้ารู้สึกว่ามันเล็กเกินไป ต้องเพ่งสายตา โปรแกรมเวิร์ดจะมีปุ่มซูมขยายหน้ากระดาษได้ครับ



(3) การตั้งย่อหน้า

ตั้งกั้นหน้ากั้นหลังของย่อหน้า (บรรทัดนั้น) ตามปกติคือสุดขอบซ้ายขวาที่ตั้งหน้ากระดาษไว้ (1.25”) ไม่ต้องไปเปลี่ยนครับ

สำหรับการเยื้องบรรทัดแรกของย่อหน้านั้น บางคนใช้เปลี่ยนกั้นหน้าเอา แต่เท่าที่เขียนมา ผมพบว่าไม่เปลี่ยนกั้นหน้า แต่กดปุ่ม Tab แทนให้เว้นวรรคเยื้องเข้ามา จะทำให้จัดหน้ากระดาษในภายหลังได้ง่ายกว่าครับ

จัดขอบแบบชิดซ้ายอย่างเดียวก็ได้ หรือให้ขอบขวาชิดด้วยก็ได้ (ขอบขวาชิดมีสองแบบคือ justify หรือ distribute) ตามชอบใจครับ (อันนี้ควรจะไปตั้งที่สไตล์ Normal มันจะได้ใช้ให้เหมือนกันหมดทั้งไฟล์ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาครับ)

justify กับ distribute เหมือนกันคือจะจัดขอบให้ตรงกันทั้งซ้ายและขวา แต่ต่างกันคือ justify จะปล่อยให้ข้อความเหมือนเดิม แต่จัดขวาโดยการยืดเว้นวรรคให้กว้าง ส่วน distribute จะยืดตรงข้อความด้วย เพื่อไม่ให้บางช่องวรรคยาวเหยียดจนน่าเกลียด เพราะคำไทยเราวรรคไม่เยอะเหมือนคำอังกฤษครับ

ตั้งระยะห่างระหว่างบรรทัดเป็น single space (เวลาส่งสำนักพิมพ์ ฝรั่งนิยมให้ตั้งเป็น double space ของไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกำหนด หรือถ้ากำหนด มาเปลี่ยนภายหลังก็ไม่ยากครับ)



(4) การตั้งหัวกระดาษ ท้ายกระดาษ

จะตั้งตอนนี้เลยก็ได้ หรือจะมาเติมทีหลังก็ได้ ถ้าเป็นนิยายและผมคิดว่าอาจจะพิมพ์ออกมาตรวจ ผมจะตั้งเอาไว้เลย จะได้ใส่เลขหน้าด้วย ไม่งั้นตอนพิมพ์ออกมาแล้วอาจสลับหน้าสับสนได้ครับ

ข้อมูลที่ควรจะมีอยู่ในหัวกระดาษ/ท้ายกระดาษ ได้แก่ ชื่อนิยาย กับ นามปากกาที่ใช้เขียน และควรจะใส่ข้อมูลอัตโนมัติของเวิร์ดด้วย คือ ชื่อไฟล์และตำแหน่งที่เก็บไฟล์ วันที่เซฟล่าสุด หมายเลขหน้าและจำนวนหน้าทั้งหมด

ข้อมูลพวกนี้จะมีประโยชน์มาก เวลาหน้ากระดาษมันปลิวหลุดออกจากกองแล้วไม่รู้ว่ามาจากเรื่องไหน หน้าไหน หรือถ้าเราหาไฟล์ในเครื่องไม่เจอ หรือไม่รู้ว่าหน้านี้เป็นของเก่าที่เรายังไม่ได้แก้ หรือของใหม่ที่เราแก้แล้วครับ




การพิมพ์งานอย่างมืออาชีพ

ผมต้องจัดหน้างานเขียนอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่จะจัดงานเขียนของตัวเองเพื่อเผยแพร่ทางเว็บ บางทีก็มีโอกาสได้จัดงานเขียนของคนอื่นบ้าง พบว่าถ้าพิมพ์ให้เรียบร้อยตั้งแต่แรกแล้ว จะลดเวลาในการจัดได้มากทีเดียวครับ



(1) ตัวสะกด พิมพ์ให้ถูกไปเลยตั้งแต่ทีแรก จะง่ายกว่ามาตรวจแก้ทีหลังมาก



(2) การเว้นวรรคภายในข้อความ

การตรวจแก้เว้นวรรคบางครั้งใช้เวลามากอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว ถ้าคนเขียนเคาะแป้นเว้นวรรคอย่างระมัดระวังแต่แรก จะลดเวลาตรงนั้นได้ไม่น้อย บทเรียนที่ผมได้เกี่ยวกับการเว้นวรรคมีหลายอย่างครับ

อย่าพิมพ์ไปเว้นวรรคไป บางคนติดนิสัยเคาะวรรคทุกๆ สี่ห้าคำ ละลานตามาก

อย่าเว้นวรรคในที่ที่ไม่ควรเว้นวรรค เช่นตำแหน่งกลางประโยคหรือกลางคำ

อย่าพิมพ์ประโยคยาวเหยียดโดยไม่มีเว้นวรรคเลย อันนี้ก็มีจริงๆ

อย่าพิมพ์สองประโยคติดกันโดยไม่ยอมเว้นวรรค ก็มีอีก

อย่าเคาะทีละหลายวรรค มาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไปมีสองแบบ แบบแรกคือเคาะเดียวเท่ากันหมดทุกตำแหน่ง (บางสำนักพิมพ์กำหนดให้ต้นฉบับใช้มาตรฐานนี้) อีกแบบคือมีวรรคเล็กกับวรรคใหญ่ วรรคเล็กคือเคาะเดียวใช้คั่นคำ หรือภายในประโยค ส่วนวรรคใหญ่คือสองเคาะ ใช้เว้นระหว่างประโยค ถ้าจะใช้มาตรฐานนี้ บางทีก็งงๆ เหมือนกันว่าจะใช้วรรคเล็กหรือวรรคใหญ่ เพราะประโยคภาษาไทยเราไม่ได้ลงท้ายด้วยจุด (หรือเครื่องหมายคำถาม ฯลฯ) อย่างภาษาอังกฤษ เอาเป็นว่าอย่างน้อยที่สุด อย่าเคาะให้เกินสองก็ช่วยได้มาก (เรื่องวรรคเล็กวรรคใหญ่นี้ ดูหลักเกณฑ์ในรายละเอียดได้จากเว็บของราชบัณฑิตยสถานครับ)



(3) การเว้นวรรคกับเครื่องหมายต่างๆ

เครื่องหมายคำพูด ไม่ต้องเว้นวรรคระหว่างเครื่องหมายกับข้อความในเครื่องหมาย ให้พิมพ์ติดกันไปเลย เช่น

“ข้อความในเครื่องหมายคำพูด” อย่าเว้นวรรคเป็น “ ข้อความในเครื่องหมายคำพูด ”

ให้เว้นวรรคระหว่างบทสนทนา (รวมเครื่องหมายคำพูด) กับข้อความรอบๆ เช่น

นี่คือข้อความก่อนหน้า “นี่คือข้อความในเครื่องหมายคำพูด” ที่คือข้อความที่ตามมา

เครื่องหมายวรรคตอน ให้เขียนชิดคำทางซ้าย (ไม่ต้องเว้นวรรค) แต่เว้นวรรคทางขวา (ตามหลัง) เครื่องหมายเหล่านี้ได้แก่ จุลภาค (,) อัฒภาค (; อันนี้คงไม่ใช้ในนิยายมั้งครับ) อัศเจรีย์ (เครื่องหมายตกใจ !) ปรัศนีย์ (เครื่องหมายคำถาม ?) เครื่องหมายอื่นที่ใช้แบบนี้เหมือนกันได้แก่ ไปยาลน้อย (ฯ)

ตัวอย่างเช่น ข้อความ, เสียงอุทาน! ครับ? กรุงเทพฯ

เครื่องหมายวงเล็บ เว้นวรรคข้างนอก ข้างในไม่ต้องเว้นวรรค ให้เขียนติดกันไปเลย (ตัวอย่างเช่น ข้อความนี้อยู่ในวงเล็บ)

ไปยาลใหญ่ ต้องเว้นวรรคทั้งหน้าและหลัง ยกเว้นถ้าอยู่ในเครื่องหมายคำพูดหรือวงเล็บอีกที ให้ละวรรคหลังไปได้ เช่น (ตัวอย่างอื่น ฯลฯ) หรือ “ข้อความทั้งหลาย ฯลฯ”

ไม้ยมก เครื่องหมายนี้มีนิยมใช้กันสองแบบครับ แบบแรกคือเว้นวรรคทั้งหน้าและหลัง ตัวอย่างเช่น “คนดี ๆ ยังมีอีกมาก” (หลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานเป็นแบบนี้) อีกแบบที่มีผู้นิยมใช้มากพอๆ กัน คือเขียนชิดคำหน้า แต่เว้นวรรคตามหลัง ตัวอย่างเช่น “แบบที่มีผู้นิยมใช้มากพอๆ กัน” (ส่วนตัวผมเองใช้แบบนี้ แว้ก)



(4) การใช้เครื่องหมายพิเศษ



เครื่องหมายคำพูด ‘เขาเดี่ยว’ กับ “เขาคู่” บางประเทศเวลาเขียนบทสนทนานิยมใช้เขาเดี่ยว บางประเทศนิยมใช้เขาคู่ ของไทยเรานิยมใช้เขาคู่ เราก็ควรจะใช้ให้เหมือนคนอื่นเขาครับ

ทีนี้ก็มีคำถาม บทสนทนาต้องใส่เครื่องหมายคำพูดแน่ๆ แต่ถ้าคิดในใจหรือพูดกับตัวเองล่ะ ต้องใส่หรือเปล่า

ถ้าพูดออกมาเป็นเสียง (ถึงจะพูดคนเดียวหรือพูดกับตุ๊กตา หรือกับกระจกก็เถอะ) ต้องใส่เครื่องหมายคำพูดสองเขาแน่ครับ แต่ถ้าคิดในใจก็มีต่างกันไปหลายแบบ บางคนใส่เขาคู่ด้วย แต่บางคนเห็นว่าไม่ควรใส่ เพราะจะทำให้คนอ่านสับสนว่าพูดออกมาหรือเปล่า ยิ่งถ้าตอนนั้นอยู่กันหลายคนแล้ว ยิ่งไม่ควรใส่เด็ดขาด ให้เขียนคำพูดเข้าไปในข้อความบรรยายเลย (ไม่ต้องใส่เครื่องหมายใดทั้งสิ้น) บางคนไม่ชอบแบบนี้อีก หันไปใช้เครื่องหมายอื่นแทน เช่น เครื่องหมายคำพูดเขาเดี่ยว เป็นต้น

มีบางกรณีที่ต้องการ “เน้นย้ำ” ข้อความใดข้อความหนึ่ง หรือพูดถึง “ชื่อเฉพาะ” ซึ่งถ้าในข้อเขียนปกติเราจะใช้เครื่องหมายคำพูดเขาคู่ แต่ในนิยายซึ่งใช้เครื่องหมายคำพูดเขาคู่กำกับบทสนทนาไปแล้ว จะทำอย่างไร

บางคนใช้เครื่องหมายคำพูดเขาคู่เหมือนกันทั้งสองกรณี บางคนใช้เขาเดี่ยวในกรณีแบบนี้แทน ซึ่งก็ลดความสับสนได้ดี แต่มันทำให้คนเขียนต้องตั้งสติในการพิมพ์มากขึ้นเหมือนกัน (และแป้นพิมพ์ไทยก็ไม่มีเครื่องหมายนี้ซะด้วย) ตัวผมเองใช้เขาเดี่ยวครับ รู้สึกว่ามันชัดเจนดี และยิ่งถ้าคำที่เน้นนั้นไปอยู่ในบทสนทนายิ่งเหมาะเข้าไปใหญ่ เช่น “คุณจะบอกว่าเขา ‘รักคุณ’ อย่างนั้นสิ” ได้อารมณ์กว่า “คุณจะบอกว่าเขา “รักคุณ” อย่างนั้นสิ” เป็นไหนๆ



เครื่องหมายคำถาม ภาษาไทยเราไม่ต้องใช้เครื่องหมายคำถามปิดท้ายประโยคคำถามเหมือนภาษาอังกฤษครับ ในนิยายก็ไม่ควรเขียนแบบนี้เหมือนกัน ดูแปลกตา ดูไม่เป็นภาษาไทย

เครื่องหมายคำถามควรใช้ในสองกรณีคือ กรณีแรก เมื่อข้อความนั้นไม่บอกให้รู้ว่าเป็นคำถาม แต่คนพูดตวัดเสียงสูงขึ้นในเชิงถาม มักจะอยู่ในบทสนทนา เช่น “ครับ?” (ย่อมาจาก “อะไรครับ” หรือ “อะไรนะครับ”) หรือ “ไปทะเล?” (ย่อมาจาก “ไปทะเลเหรอ”)

กรณีที่สองเมื่อต้องใช้ตามหลังคำอุทานเพื่อแสดงความงุนงงสงสัย กรณีนี้มักจะใช้สามตัวติดกัน หรือใช้คู่กับเครื่องหมายตกใจ เช่น

ไทม์แมชชีน???

หรือ

ไทม์แมชชีน!!!???



เครื่องหมายตกใจ บางคนใส่ทุกครั้งที่เห็นคำอุทานหรือคำเลียนเสียงทุกชนิด เช่น อืม! เชอะ! แต่ผมเคยอ่านเจอว่า ยิ่งเราใส่มาก ผลของมันก็จะยิ่งน้อยลงทุกที เพราะคนอ่านชินตา เห็นก็เหมือนไม่เห็น ไม่น่า “ตกใจ” เสียแล้ว สุดท้ายถ้าตรงไหนตกใจจริงๆ เลยต้องสุมเข้าไปเยอะๆ ยิ่งละลานตาเข้าไปใหญ่

หลังจากเห็นมาหลายแบบ ผมตัดสินใจว่าเครื่องหมายนี้ ผมจะใช้เมื่อต้องการแสดงถึงอารมณ์ตื่นตระหนกหรือตื่นเต้นจริงๆ มีคำอุทานจำนวนมากที่สามารถเขียนลอยๆ ได้โดยไม่ต้องมีเครื่องหมายนี้ตามหลัง หรือใช้เครื่องหมายอื่นอาจจะเหมาะสมกว่า เช่น อืม...

นั่นคือแทนที่จะใส่เครื่องหมายตกใจโดยอัตโนมัติ ผมจะใส่ก็ต่อเมื่อคิดแล้วว่าตรงนั้นต้องการจริงๆ

ถ้าตกใจมากอยากใส่หลายตัว ผมคิดว่าน่าจะใส่แค่สาม เพราะถ้ายาวกว่านั้นมันดูรกตา และทำให้เหมือนการ์ตูนไป



เครื่องหมายละ (...) เครื่องหมายนี้ประกอบด้วยจุดเรียงกัน สามจุด อย่าขาดอย่าเกิน ความหมายทั่วไปคือ ละไว้ในฐานที่เข้าใจ (คำอ่านตามหลักการอ่านของราชบัณฑิตฯ คือ “ละ ละ ละ”)

แต่ในนิยายเราใช้จุดหลายๆ ตัวแบบนี้ช่วยในการแสดงอารมณ์ เป็นสิ่งที่เรารับมาจากรูปแบบการเขียนของฝรั่งอีกที (เหมือนกับเครื่องหมายคำพูด) ซึ่งฝรั่งก็ใช้สามจุดเหมือนกัน ใช้ลงท้ายประโยคแทนจุดเดียว แสดงถึงการพูดค้างคาหรือลอยๆ หรือเป็นประโยคที่ยังไม่จบ (แต่ไม่ได้ต่อให้จบ)

ในภาษาอังกฤษจะมีอีกเครื่องหมายหนึ่งคือขีดยาว (—) ใช้ปิดท้ายคำพูดที่ถูกขัดจังหวะ (คือคนพูดน่ะตั้งใจจะพูดต่อ แต่ดันมีคนอื่นขัดขึ้นมาซะก่อน) เครื่องหมายนี้ในภาษาไทยไม่นิยมใช้ บางทีผมก็เห็นคนใช้เครื่องหมายละสามจุดแทน (ผมก็ใช้แบบนี้ ถึงจะยังไม่ถูกใจนักก็ตาม)

ผมเห็นหนังสือหลายเล่มใช้เครื่องหมายนี้โดยไม่เว้นวรรค คือติดทั้งคำหน้าและคำหลัง แบบนี้...ต่อกันไปเลย แต่ตัวผมเองไม่เห็นด้วยกับการใช้แบบนี้เท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่ามันเสียอารมณ์ความค้างคาไป ทำให้รู้สึกว่าคำหน้ากับคำหลังต่อเนื่องกัน แทนที่จะให้อารมณ์ว่าคำแรกมันลอยหายไปในอากาศ ผมเลยใช้แบบมีเว้นวรรค คือก่อนหรือหลังเครื่องหมายนี้ แบบใดแบบหนึ่ง (ไม่เว้นทั้งหน้าหลังพร้อมกัน เว้นแต่มีความหมายพิเศษที่จงใจใช้แบบนั้นจริงๆ) ตัวอย่างเช่น “ผมจะเขียนข้อความค้างไว้... ก่อนที่จะเขียนต่อไปแบบนี้”

เครื่องหมายนี้ใช้มากกว่าสามจุดได้ แต่ต้องใช้ให้หารสามลงตัว คือใช้เป็นชุด ชุดละสาม จะซ้ำกันกี่ชุดก็ตามใจ ที่เป็นแบบนั้นเพราะเครื่องหมายนี้ไม่นับเป็นจุดสามจุด แต่นับเป็นตัวอักษรตัวเดียว (ถึงจะมองเห็นเป็นสามจุดเรียงกันและต้องจิ้มสามทีก็เถอะ)

แต่เพื่อความสวยงาม ผมจะพยายามเลี่ยงไม่ใช้ยาวกว่าสามจุด เพราะดูแล้วมัน... ไม่ค่อยเป็นหลักเป็นฐานเท่าไหร่ ...เหมือนการ์ตูน



(5) การย่อหน้าและการเว้นบรรทัด

การย่อหน้าในต้นฉบับกับตอนจัดหน้าขึ้นเว็บจะต่างกัน หัวข้อนี้จะพูดถึงการย่อหน้าในต้นฉบับนะครับ



กดแป้น Enter เมื่อจบย่อหน้าเท่านั้น ไม่ต้องกดทุกครั้งเมื่อถึงปลายบรรทัด เพราะเราไม่ได้ใช้เครื่องพิมพ์ดีดแบบโบราณ ไม่ต้องปัดแคร่ ให้พิมพ์ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบย่อหน้าของเรา เมื่อสุดบรรทัดแล้วโปรแกรมจะจัดขึ้นบรรทัดใหม่ให้เองครับ

ข้อเสียของการแย่งปัดแคร่แทนโปรแกรมคือ เวลาเรามาแก้ไขเพิ่มเติมข้อความ มันก็จะเลื่อนเข้าเลื่อนออก ทำให้ต้องคอยมาจัดใหม่ทุกครั้ง และถ้าต้องการเผยแพร่เช่นขึ้นบล็อก ตั้งกระทู้ เราก็ต้องมาจัดหน้าใหม่อยู่ดี และจัดยากด้วย ในต้นฉบับนี้ปล่อยไว้ตามอัตโนมัติจะดีที่สุดครับ



เมื่อเริ่มต้นย่อหน้าใหม่ให้กด Tab เพื่อเยื้องบรรทัดของย่อหน้าเข้าไป ผมพบว่าการกดแท็บนี้จะช่วยให้ต้นฉบับดูเป็นระเบียบ อ่านง่าย และเอาไปจัดหน้าต่อได้ง่ายขึ้นมากครับ



ไม่ต้องเว้นบรรทัดว่างระหว่างย่อหน้า พอจบย่อหน้าแล้ว ให้กด Enter ขึ้นบรรทัดใหม่ แล้วกด Tab เยื้องเข้ามา พิมพ์ย่อหน้าต่อไปได้เลยครับ ไม่ต้องเว้นบรรทัดเปล่าเพิ่มแบบที่เห็นตอนลงนิยายบนเว็บ เพราะการอ่านในกระดาษ (กับในโปรแกรมเวิร์ด) ไม่เหมือนกับการอ่านบนจอ การพิมพ์ติดกันไปเลยแบบนี้จะอ่านง่ายกว่ามาก แล้วยังคำนวณความยาวของเรื่องได้ง่ายด้วย เวลาส่งงานเขียนให้สำนักพิมพ์พิจารณา ส่วนใหญ่ก็กำหนดให้ย่อหน้าติดกันแบบนี้ครับ



ให้เว้นบรรทัดว่างระหว่างซีน คือเมื่อมีการเปลี่ยนฉาก เปลี่ยนเวลา เปลี่ยนมุมมองคนเล่า หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นการตัดภาพ ไม่ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินมา การขึ้นย่อหน้าใหม่ยังไม่พอ คนเขียนต้องบอกให้คนอ่านรู้ด้วยว่า ข้อความที่กำลังจะตามมานี้ขึ้นเรื่องใหม่แล้วนะ เปลี่ยนสถานที่หรือเวลาใหม่แล้วนะ ไม่งั้นคนอ่านจะงงครับ

ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ก็จะใช้บรรทัดว่างมาคั่น แค่นี้คนอ่านก็จะรู้ได้ ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงมากๆ ก็อาจจะขึ้นบทใหม่ไปเลย

ระหว่างซีนแบบนี้ จะคั่นด้วยเครื่องหมายจำพวกดอกจันสามดอกกลางหน้าก็ได้ครับ แต่ในต้นฉบับไม่จำเป็นและไม่นิยม เพราะถ้าไม่เหมือนกับแบบที่สำนักพิมพ์ใช้ เขาก็ต้องมาแก้มาเปลี่ยนใหม่อยู่ดี เว้นบรรทัดเปล่าอย่างเดียวก็พอแล้ว

เว้นแต่ถ้าต้องการเน้นการเปลี่ยนแปลงมากๆ เช่น ถ้าเป็นเรื่องในต่างโลกที่คู่ขนานกัน หรือต่างเวลาที่คู่ขนานกัน หรือเป็นหนังสือที่ตัวละครของเรากำลังอ่าน แบบนี้เครื่องหมายพิเศษก็จะช่วยบอกความแตกต่างจากการเปลี่ยนซีนธรรมดาได้ดีครับ



ย่อหน้าแรกของซีน คือบรรทัดแรกหลังจากที่เว้นว่างขึ้นซีนใหม่มา พิมพ์ได้สองแบบครับ คือจะเยื้องเข้ามาข้างในด้วยปุ่มแท็บเหมือนย่อหน้าปกติก็ได้ หรืออาจจะงดใช้แท็บ ปล่อยให้ชิดขอบซ้ายไปเลยก็ได้ ตามแต่ชอบใจ แต่ขอให้ใช้เหมือนกันทั้งเล่มครับ



การขึ้นบทใหม่ ควรจะขึ้นหน้าใหม่ และควรจะใช้คำสั่ง Insert > Page Break แทนการกดเอ็นเทอร์ลงมาเรื่อยๆ

การขึ้นบทใหม่ในหน้าใหม่ จะทำให้ต้นฉบับเป็นระเบียบ ค้นหาได้ง่าย แก้ไขได้ง่าย ส่วนการกดเพจเบรคทำให้หน้าไม่เลื่อนเวลาเราไปแก้ไขข้อความในบทก่อนหน้า ไม่งั้นก็ต้องมาคอยลบบรรทัดเกินหรือเติมบรรทัดขาดทุกครั้ง

การขึ้นบทใหม่ในต้นฉบับไม่จำเป็นต้องเว้นบรรทัดเพิ่มตรงหัวบทครับ นั่นเป็นเรื่องของการจัดรูปแบบ เอาไว้จะเผยแพร่หรือส่งสำนักพิมพ์เมื่อไหร่ (หรือจัดพิมพ์เอง) แล้วค่อยมาจัดกัน อันที่จริงสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการให้ต้นฉบับจัดหน้าตาอะไรเป็นพิเศษมาอยู่แล้ว เพราะพอถึงขั้นส่งพิมพ์ก็ต้องมาจัดใหม่อยู่ดี ต้องมาเสียเวลาแก้เอาของเก่าออกก่อนอีก ปล่อยไว้ตามปกติเป็นดีที่สุดครับ แต่ชื่อบทอาจจะทำตัวเข้ม ตัวโต หรือกลางหน้ากระดาษให้หาง่ายนิดนึงก็ได้ (แต่อย่ามาก)




การจัดต้นฉบับส่งสำนักพิมพ์เพื่อพิจารณา

ถ้าเราเตรียมการทุกอย่างมาแต่ต้น ถึงขั้นนี้ก็ง่ายมากเลยครับ แทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมเท่าไหร่

สิ่งที่ต้องทำในขั้นนี้ คือศึกษาจากแนวทางหรือไกด์ไลน์ของสำนักพิมพ์ ว่าเขาต้องการให้ต้นฉบับอยู่ในรูปแบบอย่างไร ให้จัดส่งทางไหน (ส่งเป็นกระดาษไป หรือส่งเป็นไฟล์ ฯลฯ) และปรับแต่งเล็กน้อยให้ต้นฉบับของเราอยู่ในหน้าตาที่เขากำหนดไว้

ถ้าตรงไหนที่เขาไม่ได้กำหนด ก็ให้จัดแบบกลางๆ (ที่อธิบายไปแล้วข้างต้น) ปลอดภัยไว้ก่อน ให้นึกอยู่ในใจว่า อ่านง่ายเข้าไว้เป็นดี

ห้ามเด็ดขาด ห้ามพิมพ์ใส่กระดาษสี ห้ามใส่ตัวการ์ตูนกุ๊กกิ๊กลงไปในต้นฉบับ ห้ามใช้ฟ้อนต์แปลกประหลาด (ที่เครื่องของสำนักพิมพ์อาจจะไม่มี) ห้ามใส่รูปประกอบหลายสิบเม็ก (ซึ่งไปทำให้อีเมลของสำนักพิมพ์ระเบิดหรืออุดตัน) ห้ามทำอะไรพิเศษพิสดารทั้งหมด

ถ้ามีอะไรที่จำเป็นจริงๆ เป็นส่วนสำคัญของงานเขียนที่เราต้องการให้สำนักพิมพ์พิจารณา ควรจะติดต่อสอบถามก่อนครับ บอกเขาว่ามีอะไรพิเศษบ้าง ถามว่าจะให้ส่งไปทางไหน สำนักพิมพ์โดยทั่วไปไม่อยากเห็นรูปประกอบในขั้นนี้ จนกว่าจะแน่ใจว่าเรื่องของเราดีพอที่ควรจะให้เวลาพิจารณาต่อครับ

ที่สำคัญมาก ห้ามลืม คือทุกหน้า ให้ใส่ชื่อเรื่อง ชื่อเรา และเลขหน้า ถ้ามีอีเมลไว้ทุกหน้าด้วยยิ่งดีใหญ่ครับ




การจัดหน้าเพื่อเผยแพร่ทางเว็บ

นั่งพิมพ์นั่งเขียนอยู่คนเดียวมันเปล่าเปลี่ยวมั่กๆ ถ้าจะให้ดีต้องมีคนอ่าน จะได้มาช่วยกันชื่นชมพระเอกนางเอก ร่วมผจญภัยไปด้วย แล้วยังช่วยคนเขียนจับไก่ได้อีกต่างหาก

ระหว่างที่ยังไม่ได้พิมพ์เป็นหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างที่กำลังเขียน ช่องทางหนึ่งที่ใช้เผยแพร่งานเขียนของเราได้คือทางเว็บ ซึ่งก็มีสองแบบ คือบล็อก (หรือพื้นที่ส่วนตัว เช่น บล็อกแก๊ง เด็กดี) กับบอร์ด (คือพื้นที่สาธารณะ ใช้รูปแบบของกระทู้ เช่น ถนนนักเขียนพันทิป เว็บของสำนักพิมพ์ต่างๆ หรือเว็บชุมชนนักเขียนต่างๆ)

หัวใจของการจัดหน้าเพื่อเผยแพร่ทางเว็บคือ จัดให้อ่านบนหน้าจอได้ง่าย

เพราะการเพ่งจอนานๆ ก็ปวดตาอยู่แล้ว ถ้าเราอยากให้เขาอ่านเรื่องของเราจบ โดยไม่ตาบอด เอ๊ย โดยไม่ย่อท้อไปเสียก่อน ก็ต้องพยายามช่วยกันทุกวิธีทางครับ นอกจากการตรวจทานตัวสะกดให้เรียบร้อยที่เคยคุยถึงไปแล้ว การจัดหน้าให้สบายตาชวนอ่านก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ

ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียด มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ แต่ละเว็บมีรูปแบบหน้าตาไม่เหมือนกัน และเปิดโอกาสให้เราจัดความสวยงามได้ไม่เท่ากัน

ถ้าเป็นบอร์ดที่ใช้ระบบข้อความ (text) แบบพันทิป เราจะจัดหน้าตาได้น้อยมาก ทำตัวเข้มตัวเอียงได้ ขีดเส้นใต้ได้ แต่เปลี่ยนหน้าตาหรือขนาดตัวอักษรไม่ได้ ในขณะที่ถ้าเป็นบอร์ดแบบใหม่หลายแห่ง จะใส่สีได้ เปลี่ยนขนาดตัวอักษรได้ ทำตัววิ่งหรือใส่รูปก็ยังได้ เป็นต้น

ถ้าเป็นพื้นที่ส่วนตัวเช่นบล็อกหรือเด็กดี ก็อาจจะยิ่งตกแต่งได้มาขึ้นไปอีก ที่บล็อกนี่เรียกได้ว่าแทบไม่มีข้อจำกัดในเรื่องหน้าตาเลย ขอให้ใช้โค้ดเป็นเท่านั้นเอง

นอกจากนี้แต่ละเว็บยังมีข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์การใช้พื้นที่ต่างกัน ถ้าเราจะเผยแพร่งานที่ไหน ก็ควรศึกษากติกาของที่นั่นให้เข้าใจก่อนใช้พื้นที่เขาครับ

การจัดหน้างานเขียนสำหรับลงเว็บนี่ อย่าจัดลงไปในไฟล์ต้นฉบับนะครับ ให้ก๊อปข้อความไปใส่ไฟล์ใหม่ (เวิร์ดก็ได้ หรือโน้ตแพ็ดก็ได้ แล้วแต่ถนัด) แล้วไปจัดในไฟล์ใหม่นั้นครับ

ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะที่ผมได้เรียนรู้มาครับ


(1) อย่าให้ข้อความติดกันเป็นพรืด ควรจะเว้นบรรทัดเปล่าเข้าช่วย เพราะการอ่านบนจอมันไม่เหมือนอ่านในกระดาษ ถ้าข้อความติดกันยาวเหยียด พออ่านไปแล้วจะหลงบรรทัด ต้องเพ่งหา ทำให้ปวดตา ยิ่งพอหมดหน้าต้องเลื่อนจอขึ้น ยิ่งต้องมานั่งหาใหม่ ใช้พลังงานการเพ่งสูงมากครับ

การเว้นบรรทัดเปล่าเข้าช่วย จะทำให้ข้อความถูกแยกออกเป็นก้อนเล็กๆ เวลากวาดสายตาอ่านก็จะหาบรรทัดที่ต้องการง่ายขึ้น ต้องเพ่งน้อยลง อ่านสบายขึ้นมากครับ (นักอ่านบางคน ถ้าเจอแบบเป็นพรืด จะขอตัวไม่อ่านต่อทันที เพราะหมดปัญญาจริงๆ)

ทีนี้จะเว้นตรงไหนบ้าง เว้นทุกกี่ย่อหน้า อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของคนจัดได้เลยครับ ขอเพียงให้อ่านง่ายสบายตาเป็นใช้ได้ ตัวผมเองเว้นบรรทัดเพิ่มทุกย่อหน้าเลย สะดวกดี ไม่ต้องคิด แหะๆ แล้วก็ดูเป็นมาตรฐานเดียวกันดีด้วย



(2) การขึ้นซีนใหม่ ในต้นฉบับเราใช้เว้นบรรทัดว่างเพิ่มหนึ่งบรรทัด แต่พอเอามาขึ้นเว็บ จะใช้วิธีนี้คงไม่ได้แล้ว เพราะเราใช้บรรทัดว่างหนึ่งบรรทัดสำหรับถนอมสายตาไปแล้วในข้อ (1) ต้องหาวิธีใหม่

วิธีแรก คือการเว้นบรรทัดเพิ่มหลายๆ บรรทัดครับ อย่างเวลาผมจัดบทบันทึกนี้ ผมก็ใช้วิธีเว้นบรรทัดเพิ่มหลายๆ บรรทัดสำหรับการขึ้นเรื่องใหม่ ทำให้คนอ่านรู้ว่าตรงนี้ไม่ใช่แค่ย่อหน้าธรรมดานะ แต่เป็นเนื้อเรื่องอีกส่วนหนึ่ง

อีกวิธีคือการพิมพ์สัญลักษณ์เรียงกันเป็นเส้นคั่น เช่น

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

+ + + + + + + + + + + + + + +

หรือผสมเอาตามแต่จินตนาการของแต่ละคน

การพิมพ์สัญลักษณ์เรียงกันแบบนี้ มีข้อควรระวังอยู่อย่างนึงครับ คืออย่าพิมพ์ติดกัน (โดยไม่เว้นวรรค) ให้ยาวมาก บางทีผมเห็นพิมพ์เพลิน ตอนอยู่ในเวิร์ดมันขึ้นบรรทัดใหม่ให้ แต่พอขึ้นกระทู้แล้ว ยาวล้นจอไปสามวาแปดวา ไอ้ข้อความเนื้อหานิยายก็เลยถูกยืดบรรทัดให้ยาวตามไปด้วย (กรณีที่ไม่ได้จัดความกว้างตามข้อ (3) ข้างล่าง) คนอ่านก็ต้องเลื่อนจอซ้ายขวาไปมาเพื่ออ่าน คราวนี้แทนที่จะอ่านง่าย เลยยิ่งอ่านยาก หมดแรงท้อใจกันไปก่อนอ่านจบพอดี

ถ้าหากเว็บนั้นเปิดโอกาสให้แต่งรูปแบบได้มากขึ้น ก็อาจจะใช้เทคนิคอื่นช่วย เช่นในบทบันทึกนี้ผมใช้เส้นกั้นช่วยระหว่างหัวข้อใหญ่ครับ



(3) การจัดความกว้างของบรรทัด อันนี้แล้วแต่ความชอบนะครับ อย่างผมเองเวลาลงงานเขียนที่ถนนนักเขียน พันทิป ผมจะไม่จัดความกว้าง แต่ปล่อยข้อความไปตามปกติเลย เวลาขึ้นจอมันจะเหยียดยาวสุดความกว้างของจอ ถ้าใครถนัดอ่านแบบเต็มๆ แบบนี้ก็พอดีเลย ถ้าใครชอบอ่านแคบๆ กว่านั้น ก็สามารถย่อหน้าต่างกระทู้ แล้วข้อความมันจะแคบลงมาตามขนาดหน้าต่างใหม่โดยอัตโนมัติครับ

แต่บางคนชอบจัดให้เป็นหน้าแคบๆ สวยๆ อ่านง่ายๆ อันนี้ก็ทำไม่ยาก ต้องกะขนาดก่อน ว่าบรรทัดเรายาวแค่ไหนถึงสวยงามตามชอบใจ แล้วกดปุ่ม Enter ตามตำแหน่งนั้นลงมาเรื่อยๆ วิธีนี้ถ้าจัดความกว้างพอเหมาะจะสวยมากครับ แต่ถ้ากดพลาดคือกว้างไปหรือแคบไป บางทีบรรทัดจะแหว่งๆ วิ่นๆ หรือมีบรรทัดเปล่างอกเข้ามาระหว่างย่อหน้า (อย่าถามว่าทำยังไงนะครับ ผมไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าเคยเห็นมาแล้ว)



(4) ตรวจสอบขั้นสุดท้าย พอกดส่งข้อความไปแล้ว อย่าลืมกวาดตาดูสักรอบนะครับ บางครั้งเครื่องหมายคำพูดแบบสวยงามที่เวิร์ดใส่ให้เรา “แบบนี้” พอขึ้นกระทู้บางเว็บ แล้วกลายเป็นรหัสตัวเลข เช่น #8220;แบบนี้#8221; (จริงๆ มีเครื่องหมาย & นำหน้ารหัสด้วย) พอบทสนทนาเรียงกันเป็นตับแล้วจะถึงกับมึน อ่านแทบไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว ปัญหานี้เกิดจากการก๊อปข้อความข้ามโปรแกรมครับ แต่ข้ามจากไหนไปไหนและแก้ยังไงนี่ ผมก็จนใจไม่รู้เหมือนกัน พอดีว่าไม่เคยเจอกับตัวเองเลยไม่รู้ เคยแต่เห็นที่ถนนนักเขียนเป็นบางครั้งครับ

หรือการจัดความกว้างของหน้า การจัดย่อหน้า การเว้นบรรทัดเปล่าเพิ่ม การตีเส้นที่เราทำไว้ แสดงผลถูกต้องดีหรือเปล่า มีปัญหาอะไรหรือเปล่า หรือถ้าเป็นที่บล็อกนี่ โค้ดทั้งหลายที่เราใส่ไว้ เขียนคำสั่งถูกหรือเปล่า ลืมปิดโค้ด ทำให้กลายเป็นตัวเข้มทั้งย่อหน้าหรือเปล่า พวกนี้ครับ




ดูเหมือนมีเรื่องต้องเตรียมตัวมากมาย มันจำเป็นจริงๆ ล่ะหรือ จุกจิกไปหรือเปล่า

อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนนะครับ บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันยุ่งยาก มัวมายุ่งอยู่กับการเปิดเตรียมไฟล์ ทำให้จินตนาการเหือดหายซะหมด ต้องลงมือเขียนออกมาก่อน แล้วที่เหลือค่อยไปจัดการตกแต่งกันทีหลัง แบบนี้ก็ไม่ผิดครับ แล้วแต่ความสะดวกความถนัดของแต่ละคน ไม่มีผิดไม่มีถูก

แต่ถ้าเป็นในส่วนของผมเอง บทเรียนที่เห็นมาและเจอมากับตัวเองทำให้ผมตัดสินใจว่า ขอพยายามเตรียมตัวให้ดีตั้งแต่ต้นดีกว่า จะช่วยลดปัญหาจุกจิกที่จะตามมาได้เยอะเลยครับ




เว็บที่เกี่ยวข้อง

ราชบัณฑิตยสถาน
» หน้ารวม
» พจนานุกรม
» หลักเกณฑ์การเว้นวรรค
» หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ อยู่ในหน้ารวม มุมซ้ายล่าง รวมกับหลักเกณฑ์อื่นๆ ครับ

พันทิป
» ถนนนักเขียน » พันทิป pantip.com
» ตัวอย่าง กติกามารยาท ของ พันทิป
» ตัวอย่าง วิธีตกแต่งข้อความ ใน พันทิป
» เด็กดี








Create Date : 19 มกราคม 2552
Last Update : 19 มกราคม 2552 14:04:04 น. 21 comments
Counter : 7589 Pageviews.

 
สุดยอด

เดี่ยวกลับมาอ่านแบบละเอียดอีกทีนะคะ


โดย: หนูตูน IP: 118.173.250.56 วันที่: 20 มกราคม 2552 เวลา:9:18:23 น.  

 
ประโยชน์มากมาย

ขอบคุณคุณพีทค่ะ


โดย: ปณาลี วันที่: 20 มกราคม 2552 เวลา:12:52:05 น.  

 
(1, 2) คุณตูน

ขอบคุณคร้าบ นี่ยังไม่ได้เริ่มลงมือเขียนเลยนะเนี่ย คุณพีทยังพายเรือวนอยู่ในทุ่ง พร่ำเพ้อไม่เสร็จซักที ฮ่าๆๆ หวังว่าบทหน้าคงได้เกี่ยวกับเรื่องนิยายจริงๆ ซะที จะไปหยิบหนังสือมาอ่านล่ะครับ


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 20 มกราคม 2552 เวลา:14:28:18 น.  

 
มานั่งอ่าน นั่งคิดตามเงียบๆค่ะ..


โดย: teansri วันที่: 20 มกราคม 2552 เวลา:18:00:28 น.  

 
(4) คุณเทียน

ขอบคุณคร้าบ ถ้าเบื่อคิดเงียบๆ เมื่อไหร่ หันมาคิดดังๆ ก็ได้นะครับ จะได้แอบฟังด้วย อิๆ


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 21 มกราคม 2552 เวลา:7:06:20 น.  

 
โอ้... อะไรจะเอาเรื่องลงงานเขียนในหน้าจอมาเขียนได้ยาวปานนี้คะ นี่ยาวกว่าเรื้องสั้นเบสต์ฯ หนึ่งเรื่องอีกนะนี่ (เปล่าน้า ไม่ได้ประชด )

เรื่องจัดหน้าในจอนี่พอถูไถไปได้ค่ะ ดูเอาจากเพื่อนๆ ที่ลงไว้ในกระทู้พันทิปหรือในบล็อกเป็นตัวอย่างเอาก่อน แล้วทำมั่ง

แต่ปัญหามันไปอยู่ตรงที่ไม่มีอะไรจะมาลงต่างหาก เอิ๊กๆๆ

ทำไงดีน้อ???


โดย: BestChild วันที่: 21 มกราคม 2552 เวลา:12:57:20 น.  

 
อยากได้คนตรวจทานค่ะ เพราะภาษาที่ใช้ยังไม่สละสลวย
อ่านแล้วสะดุดกึกตลอดเลย


โดย: รีเบกก้า IP: 58.10.99.11 วันที่: 21 มกราคม 2552 เวลา:16:35:24 น.  

 
(6) คุณเบสต์

อ๊าาาาาา แซวง่ะ ผมเขินนะเนี่ย แหมๆๆๆ (แน่ใจว่าไม่ได้ประชด?)

ที่เขียนได้ยาว เพราะสะสมมาเยอะไงครับ (เปล่าหรอก จริงๆ น้ำท่วมโดยนิสัย อิๆ) แล้วก็กะว่าลงบล็อกทั้งที เอาแบบเป็นหน้าอ้างอิงได้เลย โฮะๆๆ (ก็เปล่าอีก ตอนแรกคิดว่าห้าหน้าก็จบ ปรากฏว่าสิบกว่าหน้า โห เขียนเข้าไปได้ไงเนี่ย)

ไม่มีอะไรจะเอามาลง ขอแนะนำให้ปรึกษาเจ๊สานะครับ บอกว่าพิมุขมีแฟนๆ รอคอย ฮุๆๆ




(7) คุณรีเบกก้า

ถ้ามีเพื่อนช่วยตรวจทานให้นี่ก็จะดีนะครับ แต่มันใช้เวลามากจริงๆ ช่วงนี้ผมช่วยดูงานให้เพื่อนสนิทคนหนึ่งอยู่ แต่ละรอบก็โอ้... นั่งอ่านกันเป็นวันๆ ถ้าคิดค่าแรงจริงๆ สงสัยจะรวย กร๊าก

แต่ถ้ายังหาเพื่อนช่วยตรวจทานไม่ได้ ตัวเราเองก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดครับ การลงนิยายแต่ละครั้งของผมนี่ จะผ่านการตรวจทานไม่ต่ำว่าห้ารอบ ประมาณว่าย้ำคิดย้ำทำนิดนึง ฮ่าๆๆ ถึงขนาดนั้นก็ยังเปลี่ยนแปลงถ้อยคำอยู่แทบทุกรอบ เพราะตัวเราเองนี่แหละครับ ที่จะดูได้ดีที่สุด ว่าภาษาที่ใช้สละสลวยตรงตามต้องการหรือยัง เพื่อนเราช่วยตรวจได้แค่ตัวสะกดกับความถูกต้องจุกจิกเองครับ เขามาช่วยแก้ภาษาให้เราไม่ได้หรอกครับ สไตล์การเขียนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เรื่องอ่านแล้วสะดุดนี่ ถ้าเราเจอเองว่าสะดุด แต่ยังนึกไม่ออกว่าควรจะแก้ยังไงดี ทำไฮไลท์ไว้ก่อนเลยครับ แล้วค่อยหาเวลากลับมาทบทวนทีหลัง เมื่อก่อนผมใช้วิธีนี้บ่อย เดี๋ยวนี้ใช้น้อยลง แต่ถ้าเจอจุดยากๆ ที่คิดไม่ออกก็ยังใช้บ้างเหมือนกัน ลองดูนะครับ สู้ๆ ครับ


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 22 มกราคม 2552 เวลา:19:15:25 น.  

 
กลับมาอ่านบทนี้อีกรอบ
เตรียมเอาพระจันทร์ลงจอ
เพิ่งรู้สึกว่าการเอาอะไรยาวๆ ลงจอยากจัง


โดย: ปณาลี วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:18:01:32 น.  

 
(9) คุณตูน

ใจเย็นๆ ครับ จริงๆ แล้วไม่ยากหรอกครับ แต่มันดูวุ่นวาย ถ้าเราไม่เคยทำมาก่อน และถ้าเคยทำแล้ว ก็จะรู้ว่า มันไม่ได้วุ่นวาย แต่มันยุบยิบ น่าเบื่อนิดนึง ฮ่าๆๆ

ขอให้สนุกกับการลงนิยายนะครับ


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:9:04:35 น.  

 
เข้ามาเก็บความรู้ได้มากมาย

เป็นกำลังใจให้นะจ๊ะ จะติดตามตลอดชีวิตค่ะ
(น่ากลัวไปมั้ย)


โดย: พรายน้ำฟ้า วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:16:48:13 น.  

 
(11) น้ำฟ้า

จริงนะ ถ้าไม่จริงจะไปหลอก

แฮ่


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:19:15:58 น.  

 
ขอบคุณคุณพีทมากๆเลยค่ะ
เป็นประโยชน์จริงๆ หลังจากใช้ word แบบงูๆ ปลาๆ ลุ่มๆ ดอนๆ มาเป็นเวลานาน


โดย: river (ริเวอร์ ) วันที่: 1 พฤษภาคม 2552 เวลา:17:04:50 น.  

 
(13) คุณริเวอร์

โอ๊ว มาเจอกันอีก ยินดีครับ ดีใจที่ได้ประโยชน์ครับ ผมเองเขียนๆ ไปแล้วก็ เอ่อ... พร่ำเพ้ออะไรไปเนี่ย กร๊าก


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 2 พฤษภาคม 2552 เวลา:14:21:23 น.  

 
ทำไมเราถึงเพิ่งได้อ่านบลอกนี้

น่าจะได้อ่านนานแล้ว


โดย: rainfull วันที่: 2 สิงหาคม 2552 เวลา:20:55:41 น.  

 
(15) คุณเรนฟูล

ขอบคุณมากครับ หวังว่าจะได้ประโยชน์ไปบ้างนะครับ ^^


โดย: คุณพีทคุง (ลายปากกา ) วันที่: 4 สิงหาคม 2552 เวลา:10:09:39 น.  

 
ขอบคุณมากครับ เป็นเกร็ดความรู้ที่มีประโยชน์มากครับ


โดย: เพื่อนโนบิตะ (เขาพนมรุ้ง ) วันที่: 21 ตุลาคม 2552 เวลา:16:20:35 น.  

 
(17) คุณเพื่อนโนบิตะ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนนะครับ


โดย: คุณพีทคุง (ลายปากกา ) วันที่: 1 พฤศจิกายน 2552 เวลา:21:55:20 น.  

 
สุดยอดครับ ข้อมูลครบถ้วนมากๆครับคุณพีท


โดย: เครื่องจักรอาวุโส IP: 192.55.18.36 วันที่: 16 มิถุนายน 2553 เวลา:11:28:38 น.  

 
(19) คุณเครื่องจักรอาวุโส

ขอบคุณมากครับ ^^


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 23 มิถุนายน 2553 เวลา:14:17:13 น.  

 
ขอบคุณนะคะ ข้อมูลที่ให้มาละเอียดมากจริงๆ


โดย: เมย์ IP: 192.99.14.36 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:15:34:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พิธันดร
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




คุณพีทคุง พิธันดร
Friends' blogs
[Add พิธันดร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.