คณะปฏิรูปฯประกาศกฎอัยการศึก สั่งหยุดราชการ-ธนาคาร-ตลาดหุ้น 20 ก.ย.
คณะปฏิรูปการปกครอง ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ,ห้ามทหารเคลื่อนย้ายกำลัง พร้อมสั่งให้วันที่ 20 ก.ย. เป็นวันหยุดราชการ และให้ข้าราชการไปรายงานตัว

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ พร้อมยกเลิกการใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการ นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ยังได้ออกคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายกำลังทหาร ให้ทหารทุกนายไปรายงานตัว ณ ต้นสังกัด และห้ามเคลื่อนย้ายกำลังออกจากที่ตั้งปกติโดยเด็ดขาด หากไม่ได้รับคำสั่งจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

จากนั้นเวลา 01.30 น.คณะปฏิรูปการปกครองได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 1 ความว่า
คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 1

เรื่องให้ข้าราชการมารายงานตัว

ตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบนโยบายการบริหาราชการแผ่นดิน จึงให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง อธิบดีทุกกรม หัวหน้าหน่วยงานระดับกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมตลอดทั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงไปรายงานตัวต่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่กองบัญการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 เวลา 09.00 น.
สั่ง ณ วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549

พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน

หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เวลาเดียวกันคณะปฏิรูปฯ ยังประกาศคำสั่งฉบับที่ 2 ความว่า

คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 2

เรื่องให้วันพุธที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 เป็นวันหยุดราชการ

เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด หน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงสั่งให้วันพุธที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 เป็นวันหยุดราชการ และวันหยุดธนาคาร โดยให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หยุดทำการในวันดังกล่าวด้วย

สั่ง ณ วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549

พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน

หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


นอกจากนี้ รายงานแจ้งว่า เมื่อเวลา 24.00 น.ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานสถานการณ์บ้านเมืองและการเข้ามาปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เมื่อเสร็จสิ้นคณะได้เข้าสู่กองบัญชาการทหารบก อีกครั้ง เพื่อรวมตัวกัน โดยมีประชาชนเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
*************************************














Create Date : 20 กันยายน 2549
Last Update : 20 กันยายน 2549 4:46:01 น.
Counter : 1432 Pageviews.

2 comments
  

พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฏิวัติ


โดย: srisawat วันที่: 20 กันยายน 2549 เวลา:4:50:24 น.
  
กบฏ 12 ครั้ง - ปฏิวัติ 1 ครั้ง - รัฐประหาร 8 ครั้ง

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการเปลียนรัฐบาลหรือคณะผู้ปกครองหรือการเปลี่ยนกติการการปกครองหรือรัฐธรรมนูญ

ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศปกติรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศย่อมกำหนดวิธีการเปลี่ยนแปลงไว้ เช่น ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปทุก 4 ปี หรือ 5 ปี หรือเลือกประธานาธิบดีทุก 4 ปี หรือ 6 ปี

เพื่อให้โอกาสประชาชนติดสินใจว่าจะให้บุคคลใดหรือกลุ่มพรรคการเมืองใดได้เป็นผู้ปกครอง และกำหนดวิธีการเปลี่ยนแปลงหลักการหรือสาระของรัฐธรรมนูญหรือแม้กระทั่งสร้างรัฐธรรมนูญใหม่แทนฉบับเดิม

การเปลี่ยนแปลงตามกระบวณการดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธี และเป็นวิถีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตามทีการเปลี่ยนแปลงอีกวิธีหนึ่งที่ถือว่าเป็นวิธีการรุนแรงและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นั่นก็คือการใช้กำลังเข้าข่มขู่ เช่น ใช้กองกำลังติดอาวุธเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลเดิมไล่คณะรัฐมนตรีออกไปและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยกลุ่มของคนที่ยึดอำนาจเข้ามาแทนที่หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

วางกฎและกติกาตามที่กลุ่มผู้มีอำนาจปรารถนา โดยปกติคณะหรือกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีนี้จะต้องมีกองกำลังติดอาวุธเข้าปฏิบัติการ มิฉะนั้นแล้วก็ยากที่จะสำเร็จ และถึงมีกำลังก็ไม่อาจไม่สำเร็จเสมอไป เพราะมีองค์ประกอบการสนับสนุนหรือต่อต้านจากประชาชนเข้ามาเป็นปัจจัยประกอบด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองก็คือว่า การเปลี่ยนรัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศมักไม่เป็นไปตามกติกาหรือระเบียบแบบแผนโดยสันติวิธี ตรงกันข้ามมักเกิดการแย่งชิงอำนาจด้วยการใช้กำลังอยู่เนือง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปของการจลาจลกบฏ ปฏิวัติหรือรัฐประหารความหมายของคำเหล่านี้เหมือนกันในแง่ที่ว่าเป็นการใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจทางการเมืองแต่มีความหมายต่าง กันในด้านผลของการใช้กำลังความรุนแรงนั้น

หากทำการไม่สำเร็จจะถูกเรียกว่า กบฏ จลาจล (rebellion)

ถ้าการยึดอำนาจนั้นสัมฤทธิผล และเปลี่ยนเพียงรัฐบาลเรียกว่า รัฐประหาร (coupd etat) แต่ถ้ารัฐบาลใหม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงมูลฐานระบอบการปกครอง ก็นับว่าเป็น การปฏิวัติ

การปฏิวัติครั้งสำคัญ ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ได้แก่ การปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 การปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ. 1917 การปฏิวัติของจีนในปี ค.ศ. 1949 การปฎิวัติในคิวบา ค.ศ. 1952 เป็นต้น สำหรับในการเมืองไทยคำว่า ปฏิวัติ กับ รัฐประหาร มักใช้ปะปนกันแล้วแต่ผู้ยึดอำนาจได้นั้นจะเรียกตัวเองว่าอะไร เท่าที่ผ่านมามักนิยมใช้คำว่า ปฏิวัติ

เพราะเป็นคำที่ดูขึงขังน่าเกรงขามเพื่อความสะดวกในการธำรงไว้ซึ่งอำนาจที่ได้มานั้น ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติที่แท้จริงครั้งเดียวที่เกิดขึ้น ในประเทศไทย การยึดอำนาจโดยวิธีการใช้กำลัง ครั้งต่อ ๆ มาในทางรัฐศาสตร์ถือว่าเป็นเพียงการรัฐประหารเท่านั้น เพราะผู้ยึดอำนาจได้นั้นไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงหลักการมูลฐานของระบอบการปกครองเลย

ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมทางการเมืองและมิให้สับสนกับการใช้ชื่อเรียกตัวเองของคณะที่ทำการยึดอำนาจทั้งหลาย อาจสรุปได้ว่าความหมายได้ว่าความหมายแคบ ๆ โดยเฉพาะเจาะจงสำหรับคำว่าปฏิวัติ และรัฐประหารในบรรยากาศการเมืองไทยเป็นดังนี้คือ

“ปฏิวัติ” หมายถึงการยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ อาจมีหรือไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐบาลใหม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงมูลฐานระบอบการปกครอง เช่นเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย หรือ คอมมิวนิสต์ ฯลฯ

ส่วน “รัฐประหาร” หมายถึงการยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าต่อไป หรือประกาศใช้รัฐธรรมฉบับใหม่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นานนัก ในประเทศไทย ถือได้ว่ามี การปฎิวัติ เกิดขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียวคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2547 โยคณะราษฎร จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และมีการ กบฏ เกิดขึ้น 12 ครั้ง และรัฐประหาร 8 ครั้ง ดังนี้

-ปฎิวัติ 1 ครั้ง (4 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร)

-กบฏ 12 ครั้ง

1.กบฎ ร.ศ.130

2.กบฎบวรเดช (11 ตุลาคม 2476)

3.กบฎนายสิบ (3 สิงหาคม 2478)

4.กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือกบฏ 18 ศพ (29 มกราคม 2482)

5. กบฎเสนาธิการ (1 ตุลาคม 2491)

6.กบฏแบ่งแยกดินแดน (พย. 2491)

7.กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์2492)

8.กบฏแมนฮัตตัน (29 มิถุนายน 2494)

9.กบฏสันติภาพ (8 พฤศจิกายน 2497)

10.กบฎ 26 มีนาคม 2520

11.กบฎยังเตอร์ก (1-3 เมษายน 2524)

12.กบฏทหารนอกราชการ (9 กันยายน 2528)

-รัฐประหาร 8 ครั้ง

1.พ.อ. พระยาพหลฯ ทำการรัฐประหาร (20 มิ.ย. 2476)

2.พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และคณะนายทหารบก ทำการรัฐประหาร (8 พ.ย. 2490)

3.จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำการรัฐประหาร (29 พ.ย. 2494)

4.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร (16 กันยายน 2500)

5.จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหาร (20 ตุลาคม 2501)

6. จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหาร (17 พฤศจิกายน 2514)

7.พล.ร.อ สงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหาร (20 ตุลาคม 2520)

8.พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ทำการรัฐประหาร (23 กุมภาพันธ์ 2534)

9.ใคร...............? เพื่อใคร.............?



โดย: pingpo วันที่: 20 กันยายน 2549 เวลา:9:39:10 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

srisawat
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



กันยายน 2549

 
 
 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
19
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
All Blog