♥♥♥¸.•*´¨`*•.¸¸.•¸.•*´¨`*•
คุกกี้ - ปัญหา - เทคนิค

คุกกี้

______คุกกี้เป็นเบเกอรี่ที่มีส่วนผสมคล้ายคลึงกับเค้กคือ ประกอบด้วย แป้ง, เนย, นม, ไข่ และสิ่งที่ช่วยให้ขึ้นฟูอื่น ๆ แต่จะมีส่วนผสมของ ของเหลวน้อยกว่าและแตกต่างกับเค้กตรงที่ใช้แป้งที่มีปริมาณโปรตีนสูงกว่าเค้ก แต่น้อยกว่าขนมปัง แป้งที่ว่าก็คือ แป้งสาลีเอนกประสงค์ คุกกี้ที่เราเห็นกันอยู่นั้นสามารถแบ่งตามลักษณะของรูปร่างที่ทำได้คือ

1. คุกกี้หยอด เป็นคุกกี้ที่ใช้ช้อนตักหยอดเป็นรูปร่างต่าง ๆ หรือใส่กรวยที่มีหัวบีบ ตกแต่งหน้าด้วยเชอรี่หรือลูกเกด เช่น คุกกี้นมสด คุกกี้เนย คุกกี้กุ้งแห้ง คุกกี้เม็ดมะม่วง ฯลฯ
2. คุกกี้ม้วน เป็นคุกกี้ที่มีส่วนผสมค่อนข้างอยู่ตัว สามารถนำมารีดเป็นแผ่นวางลวดลายต่าง ๆ หรือม้วนเป็นวงกลม คุกกี้ชนิดนี้ต้องนำเข้าแช่ในตู้เย็นจนแข็ง จึงนำออกมาตัดเป็นแว่น ๆ วางบนถาดที่ทาไขมัน แล้วนำเข้าอบ เช่น คุกกี้แฟนซี คุกกี้ผลไม้ ฯลฯ
3. คุกกี้กด เป็นคุกกี้ที่มีความเข้มข้นมาก หรือลักษณะของแป้งค่อนข้างอยู่ตัว นำมารีดเป็นแผ่น กดด้วยพิมพ์ วางบนถาดที่ทาไขมัน นำเข้าอบ เช่น คุกกี้สิงคโปร์ คุกกี้หน้าทอฟฟี่ ฯลฯ
4. คุกกี้ที่มีคุณภาพทางอาหารสูง เป็นคุกกี้ที่มีการเติมส่วนผสมที่มีคุณค่าต่อร่างกาย เช่น ธัญพืชชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวโอ๊ต คอร์นเฟลค ผลไม้แห้ง หรือผลไม้อื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

______กรรมวิธีในการทำคุกกี้ โดยส่วนใหญ่เริ่มจากการตีเนยกับน้ำตาลให้ขึ้นฟู ระยะเวลาในการตี มีผลต่อการขึ้นฟูของคุกกี้เหมือนกัน โดยปกติแล้วคุกกี้ที่ใช้เนยตีกับน้ำตาล เราอาจไม่จำเป็นต้องใส่ผงฟูก็ได้ ถ้าตีเนยกับน้ำตาลจนขึ้นฟูเพียงพอ แต่ถ้าใช้ระยะเวลาในการตีนานเกินไป คุกกี้ที่อบออกมาจะแผ่ตัวมากในระหว่างการอบ ซึ่งจะทำให้คุกกี้เปราะแตกง่าย ในขณะเดียวกันถ้าตีเนยกับน้ำตาลน้อยเกินไป คุกกี้ที่ได้จะบีบยาก เมื่ออบออกมาก็จะมีลักษณะกรอบแข็ง ฉะนั้นในการทำคุกกี้อาจจะคิดว่าทำง่าย แต่จริง ๆ แล้วก็ต้องอาศัยความชำนาญเหมือนกัน จึงจะทำให้ขนมออกมาดีทุกครั้ง อุณหภูมิในขณะที่ทำก็มีส่วนเช่นกัน ถ้าร้อนเกินไปก็จะทำให้เนยเหลว เวลาตีจะไม่จับอากาศเท่าที่ควร ความเร็วของเครื่องในการตี และน้ำตาลที่ใช้ทำ ระหว่างน้ำตาลทรายกับน้ำตาลไอซิ่ง ก็ทำให้ลักษณะของขนมที่ได้ แตกต่างกัน คุกกี้ที่ทำจากน้ำตาลทรายเนื้อจะหยาบ กรอบร่วนกว่า คุกกี้ที่ใช้น้ำตาลไอซิ่ง ซึ่งจะได้ขนมที่กรอบแข็งกว่าน้ำตาลทราย ในขณะเดียวกันก็จะหวานน้อยกว่า ฉะนั้นการเลือกน้ำตาล ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ทำเองว่า ต้องการคุกกี้ลักษณะแบบไหน

______หลังจากการตีเนยกับน้ำตาลจนขึ้นฟูแล้วจึงใส่ไข่ไก่ ตีจนเข้ากันจึงใส่แป้ง ค่อย ๆ ตะล่อมให้เข้ากัน อย่าผสมนานเกินไปจะทำให้คุกกี้เหนียว จากนั้นจึงใส่ผลไม่อื่นตามใจชอบ แล้วจึงนำไปหยอดบนถาด นำเข้าเตาอบ การใช้ไฟในการอบส่วนมากจะอยู่ระหว่าง 300-350 องศาฟาเรนไฮต์ ถ้าต่ำมากกว่านี้จะทำให้คุกกี้ขยายตัวมากเกินไป อละอบจนกระทั่งคุกกี้สุกเหลือง

______การเก็บคุกกี้ ควรเก็บในขณะที่เพิ่งเย็นใหม่ ๆ เพราะถ้าเก็บในขณะที่ร้อนจะทำให้คุกกี้นิ่ม เนื่องจากไอน้ำยังระเหยออกไปไม่หมด หรือถ้าเก็บหลังจากที่ทิ้งไว้ให้เย็นเป็นเวลานาน คุกกี้จะดูดความชื้นจากอากาศเข้าไปในตัวเอง ก็จะทำให้คุกกี้นิ่มได้ แต่ไม่ต้องกังวลมากนะครับ เพราะถ้าคุกกี้นิ่มเกินไป เราสามารถนำมาอบอีกครั้งก่อนที่จะทานได้ เพื่อให้คืนความกรอบดังเดิม




เทคนิคในการทำคุกกี้

1.วัตถุดิบหลักในการทำคุกกี้ก็คือเนยสดหรือมาร์การีนำ การเลือกใช้เนยสดนั้น ควรใช้เนยสดชนิดเค็ม เนื่องจากคนไทยชอบทานขนมรสชาติเข็มข้น ถ้าใช้เนยสดชนิดจืดตอ้งเพิ่มปริมาณของเกลือป่นมากกว่าในสูตรที่ให้ไป

2.การเลือกใช้ไขมันในการทำคุกกี้นั้นสามารเลือกใช้ได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเนยสด มาร์การีนหรือเนยขาว เนยสดให้กลิ่นและรสชาติดีที่สุดแต่ต้นทุนในการผลิตแพง มาร์การีนให้รสชาติของขนมลองลงมาท้ายที่สุดก็คือเนยขาว ถ้าใช้เนยขาวล้วนในการทำจะทำให้คุกกี้มีลักษณะโปร่งเบามากเกินไป เวลาอบสุกผิวของขนมจะเป็นขุยเปราะหักง่าย กลิ่นและรสชาติด้อยไม่อร่อย ดังนั้นจึงไม่นิยมนำเนยขาวขาวล้วนมาทำคุกกี้ ถ้าต้องการลดต้นทุนในการผลิตอาจใช้เนยสดผสมมาร์การีนหรือใช้มาร์การีนล้วน แล้วแต่งกลิ่นนมเนยช่วย ก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง

3.การเริ่มต้นในการทำคุกกี้ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากการตีเนยสดกับน้ำตาล เนื่องจากบ้านเรามีอากาศร้อน ถ้าใช้เนยสดทำขนมควรนำเนยสดออกมาตีในขณะที่ยังเย็นอยู่ ถ้าเนยสดอ่อนตัวมากเกินไปเนยจะไม่เก็บอากาศคุกกี้จะมีลักษณะแข็ง

4.การตีเนยกับน้ำตาลทราย ถ้าตีน้อยเกินไปจะทำให้คุกกี้มีลักษณะดังนี้
- ส่วนผสมข้นเกินไป เหนียว บีบยาก
- ขนมที่อบสุกมีขนาดเท่าเดิม ไม่ขยายตัว
- ขนมที่สุกมีลักษณะแข็ง ไม่กรอบร่วน

5.ตีเนยสดกับน้ำตาลทรายมากเกินไป
- ส่วนผสมเหลวบีบง่าย
- ขนมที่อบสุกมีการแผ่ขยายมากเกินไป ลักษณะของขนมแบน
- เนื้อของขนมที่อบสุกหยาบ กรอบ ร่วนมากเกินไป

______ดังนั้นในขั้นตอนของการตีเนยสดกับน้ำตาลทรายนั้น ต้องอาศัยความชำนาญหรือประสบการณ์ในการทำพอสมควร เนื่องเพราะว่า การทำคุกกี้ให้มีลักษณะที่ดีนั้นจะขึ้นอยู่กับเวลาในการตีเนยกับน้ำตาลทราย การจับเวลาในการที่เนยสดนั้นจะขึ้นอยู่กับความเย็นของก้อนเนย เนยที่เย็นจะขึ้นฟูเร็ว เนยเหลวขึ้นฟูช้า ยิ่งตีนานก็ยิ่งเหลว ฉะนั้นทุกครั้ง ที่จะนำเนยออกมาตีนั้นควรให้เนยมีลักษณะเย็นอยู่เสมอ

6.ความเร็วของเครื่องในการตีเนย ถ้าใช้สปีดช้าไปเกิดอากาศ ยิ่งตีนานยิ่งเหลว ดังนั้นควรตีเนยด้วยความเร็วของเครื่องระดับปานกลางขึ้นไป หรือถ้าใช้ความเร็วสูงก็ใช้ระยะเวลาในการตีให้สั้นลง

7.การใช้อุปกรณ์ในการตีเนย ถ้าใช้หัวตะกร้อระยะเวลาในการตีเนยสั้นขึ้นฟูเร็วกว่าการใช้หัวใบไม้ แต่ถ้าเนยสดมีลักษณะแข็งเกินไป อาจทำให้เส้นตะกร้อขาดได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ความเร็วต่ำก่อนตีเพื่อให้เนยอ่อนตัว แล้วจึงค่อยใช้ความเร็วสูงเพื่อให้เนยขึ้นฟู

8.การใส่ไข่ควรใช้ไข่ที่เย็น ควรใส่ไข่เมื่อตีเนยสดกับน้ำตาลทราย จนกระทั่งขึ้นฟูขาวเล็กน้อยแล้วจึงใส่ไข่แล้วตีต่อให้ขึ้นฟูจะช่วยทำให้ระยะเวลาในการตีเนยสดให้ฟูเร็วขึ้น

9.ระยะเวลาในการตีเนยสดกับน้ำตาลทราย ถ้าใช้น้ำตาลทรายไม่จำเป็นจะต้องตีเนยสดกับน้ำตาลทราย จนกระทั่งน้ำตาลทรายละลายหมด การใส่ไข่เร็วจะช่วยให้น้ำตาลละลายให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันควรเลือกซื้อน้ำตาลทรายเม็ดเล็กๆ ก็จะช่วยในการทำให้น้ำตาลละลายได้เร็วขึ้น ระยะเวลาในตีเนยกับน้ำตาลถ้าตีนานเกินไปจะทำให้เนื้อคุกกี้โปร่งพองมากเกินไปและถ้าใช้น้ำตาลเม็ดใหญ่ เมื่อขนมอบสุกก็จะมีเม็ดน้ำตาลหลงเหลืออยู่บนหน้าของขนม

10.การใส่แป้งลงในส่วนผสม ไม่ควรจะใส่ทีละน้อย เพราะจะทำให้ระยะเวลาในการผสมนาน อาจทำให้คุกกี้เหนียวได้ ควรแบ่งแป้งออกเป็น2-3ส่วน ใส่ทีละส่วน ผสมให้เข้ากันด้วยความเร็วตํ่าของเครื่อง

11.คุกกี้ที่ตีเสร็จแล้ว ถ้ามีลักษณะเหลวเกินไป อาจเติมแป้งได้เล็กน้อย แต่ต้องระวังเพราะถ้าเติมมากเกินไปก็จะทำให้คุกกี้จืดและมีลักาณะแข็ง
-ถ้าตีคุกกี้ข้นเกินไป อาจแก้ไขโดยการตีคุกกี้ขึ้นมาใหม่อีกสูตร ตีเนยกับนํ้าตาลให้นานขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้คุกกี้มีลักษณะเหลวกว่าปกติ แล้วนำคุกกี้ที่แข็งมาผสมรวมกัน

12.เมล็ดถั่วต่างๆที่จะนำลงมาใส่คุกกี้ควรจะนำมาอบให้สุกและกรอบเสียก่อน ระยะเวลาในการอบคุกกี้นั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เมล้ดถั่วสุกและกรอบได้

13.การหยอดคุกกี้ลงบนถาดควรเว้นระยะประมาณ1/2-1ซม. เพื่อให้คุกกี้ขยายตัวในระหว่างการอบ

14.คุกกี้ที่อบสุกแล้วควรแซะออกจากถาดทันที ถ้ารอให้คุกกี้เย็นในถาดจะทำให้แตกหักในระหว่างการแซะออกจากถาดได้

15.ลักษณะของคุกกี้เมื่อสุกแล้วจะมีสีสันสวยงาม เนื้อขนมมีลักษณะนุ่มเล็กน้อย ถ้าจับในลักษณะที่ยังร้อน แต่ถ้าปล่อยให้เย็นคุกกี้ก็จะมีลักษณะกรอบ

16.อุณหภูมิที่ใช้ในการอบคุกกี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 300 ํF หรือ 150 ํC มีแต่ไฟล่างระยะเวลาในการอบประมาณ 15-20 นาทีแล้วแต่ขนาดของขนม

17.ขนาดของขนมควรมีขนาดเท่าๆกันจะช่วยให้ขนมที่อบสุกมีสีสันสวยงามทั้งถาดถ้ามีชิ้นเล็กบ้างใหญ่บ้าง ชิ้นเล็กก็จะสุกก่อนชิ้นใหญ่เสมอ ทำให้เสียเวลาให้การแซะออกก่อน

18.คุกกี้ที่มีส่วนผสมของเนยมากจะนิ่มเร็วถ้าโดนอากาศ ดังนั้นเมื่อวางขนมจนเย็นแล้วควรเก็บใส่ถุงปิดสนิททันที ในขณะเดียวกันที่คุกกี้มีปริมาณของเนยน้อยก็จะนิ่มช้ากว่าแม้ว่าจะวางเอาไว้ด้านนอกกล่อง ปริมาณของเนยที่อยู่ในตัวขนมจะเป็นตัวดูดความชื้นจากอากาศ ยิ่งเนยมากก็ดูดความชื้นเร็ว

19.การหั่นคุกกี้แช่แข็ง ถ้าเอาออกมานอกตู้เย็นสักพัก จะทำให้หั่นได้ง่ายขึ้น ถ้าขนมเย็นจัดจะทำให้ขนม หั่นยากต้องออดกแรงมาก อีกทั้งบางชนิดของขนมแตกหักง่ายไม่สวยงาม

20.การอบคุกกี้แช่แข็งสามารถอบได้ทันทีไม่ต้องรอให้คุกกี้หายเย็น

21.การม้วนคุกกี้แช่แข็งเป็นแท่งกลมให้แน่น มิฉะนั้นคุกกี้จะมีรูกลวงตรงกลาง อาจใช้ไม้บรรทัดช่วยม้วนให้แน่นขึ้นได้

22.คุกกี้แช่แข็งนั้นสามารถทำล่วงหน้าเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน โดยเก็บในช่องแช่แข็ง แล้วค่อยๆ ทยอยนำออกมาอบขาย

23.คุกกี้ที่อบไว้เป็นเวลานานๆ กลิ่นของเนยอาจจะหายไปได้ดังนั้นการใส่กลิ่นนมเนยเพิ่มเข้าไปในกรณีที่ใช้มาร์การีนก็จะช่วยให้ขนมเก็บได้นานขึ้น

24.คุกกี้เป็นขนมที่สามารถเก็บได้นานเป็นเดือนจึงไม่มีความจำเป็นต้องใส่ยากันรา ควรปิดปากดถุงให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นเนยระเหยออกไป และทำให้ขนมกรอบได้นานขึ้น



ปัญหาในการทำคุกกี้

______ คุกกี้เหนียว ไม่สามารถหยอดเป็นรูปร่างได้
- ถ้าเป็นคุกกี้ที่ตีเนยกับน้ำตาล ให้ตีเนยกับน้ำตาลให้นานขึ้น
- ในระหว่างการผสมแป้ง ไม่ควรผสมนานจนเกินไปจะทำให้กลูเต็นในแป้งจับตัวกัน ทำให้คุกกี้เหนียว

______ คุกกี้เหลว และแฉะติดมือมาก
- ตีเนยกับน้ำตาลให้น้อยลง หรือในช่วงของการใส่ไข่ลงในส่วนผสมอาจตีมากเกินไป ให้ลดระยะเวลาในการตีลง
- อาจเพิ่มแป้งลงในส่วนผสมเล็กน้อย เพื่อให้อยู่ตัวมากขึ้น

______ คุกกี้มีลักษณะบาง เปราะ โปร่งมาก
-ตีเนยกับน้ำตาลให้น้อยลง
- ใช้ไฟในการอบต่ำเกินไป จึงทำให้คุกกี้แผ่ขยายตัวมากในระหว่างการอบ

______ มีจุดขาว ๆ เกิดขึ้นบนหน้าคุกกี้
- ใช้น้ำตาลทรายเม็ดใหญ่เกินไป ให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาลทรายที่เม็ดเล็กลง

______ คุกกี้ไม่แผ่ขยายตัวเท่าที่ควร
- ใช้ไฟในการอบสูงเกินไป ให้ลดอุณหภูมิลง
- คุกกี้ตีน้อยเกินไป

______ คุกกี้แซะไม่ออก หัก เสียรูปร่าง
- ทาเนยที่ถาดอบน้อยเกินไป
-ไม่แซะคุกกี้ในขณะที่ร้อน ควรแซะคุกกี้หลังจากเอาออกจากเตาอบทันที

______ คุกกี้มีรสเฝื่อน เนื้อหยาบ
- ตวงผงฟูในสูตรมากเกินไป ควรลดผงฟูลง หรือชั่งตวงให้ถูกต้อง

______ คุกกี้ติดถาดและผ่ขยายตัวได้น้อย
- ทาเนยขาวที่ถาดอบ น้อยเกินไป

______ คุกกี้แผ่ขยายตัวมาก
- ทาเนยที่ถาดมากเกินไป
- ตีเนยกับน้ำตาลมากเกินไป


เครดิต : คุณโกโก้คุง

Link
V
V
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=zodago&month=08-2008&date=07&group=29&gblog=13



Create Date : 29 มิถุนายน 2555
Last Update : 29 มิถุนายน 2555 20:38:02 น. 0 comments
Counter : 47278 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

piggy-wiggy
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




I was smiling yesterday,I am smiling today and I will smile tomorrow.Simply because life is too short to cry for anything.
cr.Santosh Kalwar

Have a nice day ^^
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
29 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add piggy-wiggy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.