เล่าสู่กันฟังฉันนักบัญชี
Group Blog
 
<<
เมษายน 2562
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
15 เมษายน 2562
 
All Blogs
 

รายงานของผู้สอบบัญชี (Auditors’ Report) คืออะไร? ตอนจบ



กลับมาพบกันอีกครั้งกับภาคที่ 3 ที่เป็นภาคจบของหัวข้อเรื่องรายงานของผู้สอบบัญชีคืออะไร? ผมเล่าให้ฟังจบไปแล้วใน 2 รูปแบบความเห็นที่เป็น 1.แบบปกติ (clean opinion) และ 2.ความเห็นแบบที่แตกต่างไปจากความเห็นปกติแบบที่หนึ่งที่เรียกว่า “ความเห็นอย่างมีเงื่อนไข” (Qualified Opinion) ไปแล้ว มาคราวนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการไม่แสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี ต้องขออภัยด้วยนะครับทีไม่สามารถหาความเห็นแบบที่4 ที่เรียกว่า “ความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง” ถ้าผู้อ่านท่านใดหาเจอ(ขอเป็นรายงานปีตั้งแต่ปี 59 – 61 นะครับ) ก็ช่วยชี้เป้าให้ด้วยครับ แล้วจะนำมาเล่าให้ฟังครับ...
มาคุยกันต่อเรื่อง “การไม่แสดงความเห็น” รายงานของผู้สอบที่ให้ความเห็นในลักษณะนี้แสดงว่าผู้สอบไม่สามารถตรวจสอบได้ในประเด็นที่ผู้สอบกล่าวอธิบายไว้ในวรรคเกณฑ์ในการไม่แสดงความเห็นและในประเด็นเหล่านั้นเป็นประเด็นที่มีสาระสำคัญและมีผลกระทบเกี่ยวข้องไปทั่วทั้งงบการเงิน

รายงานผู้สอบแบบไม่แสดงความเห็นจะมีลักษณะพิเศษไปจากความเห็นแบบอื่นๆเนื่องจากการที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบงบการเงินนั้นๆไม่ได้ ดังนั้น ตรงวรรคความเห็น...ปกติแล้วผู้สอบจะกล่าวเริ่มต้นว่า “ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบงบการเงินของ.......” แต่ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่แสดงความเห็นนี้...ผู้สอบจะเริ่มต้นด้วยคำพูดที่ว่า “ข้าพเจ้าได้รับการว่าจ้างให้ตรวจสอบงบการเงิน….” นอกจากนี้รายงานแบบนี้จะสั้นกว่าแบบอื่นเนื่องจากตรวจสอบไม่ได้  ดังนั้นผู้สอบก็คงมีเรื่องพูดไม่เยอะ ดังนั้นวรรคที่เป็นเรื่องสำคัญในการตรวจสอบ ผู้สอบก็จะไม่แสดงวรรคนี้ วรรคความรับผิดชอบของผู้สอบก็จะหดสั้นลงมาไม่เหมือนความเห็นแบบอื่นเนื่องจากผู้สอบไม่สามารถหาหลักฐานที่เหมาะสมเพียงพอที่จะให้ความเห็นต่องบการเงินได้หรือก็คือไม่สามารถตรวจสอบได้นั่นเอง.. ผมขอนำตัวอย่างมาให้ดูในข้างล่างไฮไลท์สีเหลืองในเรื่องที่ผมเล่าให้ฟัง...






หน้ารายงานของผู้สอบบัญชีที่เป็นความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขและแบบมีเงื่อนไขที่ผมเล่าให้ฟังไปใน EP.2 นั้น หน้ารายงานผู้สอบรวมวรรคที่เป็นเรื่องสำคัญในการตรวจสอบ (Key Audit Matters, KAM) แล้วก็จะยาวประมาณสัก 6-7 หน้ากระดาษ A4 แต่รายงานข้างบนแบบไม่แสดงความเห็นจะยาวประมาณแค่ 4-5 หน้ากระดาษ A4 ครับเพราะตัดเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวออกไป
ผมเกริ่นถึงเรื่องเกี่ยวกับวรรคที่เป็น “เรื่องสำคัญในการตรวจสอบ” แต่ยังไม่ได้อธิบายให้ฟังว่ามันคืออะไร ผมไม่อยากไปตัดตัวอย่างใน EP.2 สำหรับวรรคนั้นมาปะไว้ตรงนี้อีกให้เปลืองเนื้อที่ รบกวนท่านผู้อ่านกลับไปดูท่อน “เรื่องสำคัญในการตรวจสอบ” เองนะครับ วรรคนี้ก็จะเป็นการแสดงเกี่ยวกับประเด็นการตรวจสอบที่ผู้สอบคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญในการตรวจสอบกิจการแห่งนั้น เพราะมันมีความซับซ้อนและอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ในการแสดงข้อมูลทางการเงิน ผู้สอบจึงแจ้งผู้อ่านไว้ว่าประเด็นสำคัญเหล่านั้น ผู้สอบใช้วิธีการหรือมีวิธีการในการตรวจสอบประเด็นเหล่านั้นอย่างไร ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับผู้ใช้งบหรอกครับ เพราะประเด็นเหล่านั้น...ถ้าถูกเขียนไว้ในวรรคเรื่องสำคัญในการตรวจสอบก็หมายถึงมันถูกตรวจมาแล้วและผู้สอบก็ไม่มีเงื่อนไขต่อประเด็นเหล่านั้นครับ...ผู้ใช้งบก็ไม่ต้องกังวลกับวรรคนี้มากนัก

ยังคงเหลือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับรายงานผู้สอบบัญชีที่ผมคิดว่ามีความสำคัญต่อผู้ใช้งบที่ควรต้องพิจารณาอ่านวรรคเหล่านั้นด้วย ก็คือ “วรรคความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่อง”  วรรคนี้จะแสดงต่อจากวรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็น เมื่อผู้สอบพิจารณาว่างบการเงินของกิจการแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกิจการ ภาษานักบัญชีก็จะเรียกว่ามีปัญหาเรื่อง Going concern หรือภาษาชาวบ้านก็เรียกว่ามีโอกาสที่กิจการจะเจ๊ง ไม่สามารถไปต่อได้นั่นเองครับ หน้าตาของวรรคดังกล่าวนี้ก็ตามตัวอย่างข้างล่างครับ ผู้สอบก็จะอธิบายโดยอ้างอิงหมายเหตุที่เกี่ยวข้องว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างกับกิจการที่ผู้สอบมองว่ามีโอกาสที่จะเกิดปัญหาการดำเนินงานต่อเนื่อง



วรรคอีกวรรคหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะต้องอ่านก็ได้แก่ “วรรคเน้นข้อมูลและเหตุการณ์” ซึ่งถ้าจำเป็นต้องมีวรรคนี้ ผู้สอบก็จะเขียนต่อจากวรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็นเช่นกัน ถ้ามีวรรคความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่องอยู่ในรายงานด้วยแล้ว วรรคเน้นก็จะเขียนต่อจากวรรคการดำเนินงานต่อเนื่องอีกทีครับ ผู้สอบต้องการจะสื่อให้ผู้ใช้งบพิจารณาเรื่องที่ผู้สอบเน้นซึ่งแม้ว่าวรรคดังกล่าว ผู้สอบจะไม่มีเงื่อนไขต่อเรื่องดังกล่าวก็ตาม แต่มุมมองผู้สอบบัญชีมองว่ามันมีความสำคัญ จึงเน้นให้ผู้ใช้งบพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย ผู้สอบก็จะอ้างอิงถึงหมายเหตุประกอบงบการเงินที่เกี่ยวข้องและอธิบายว่ามีอะไรที่น่าสนใจจึงต้องเน้นให้ไปอ่านกัน หน้าตาของวรรคดังกล่าวก็ดังตัวอย่างข้างล่างครับ






ก็น่าจะครบถ้วนนะครับสำหรับเรื่อง “รายงานของผู้สอบบัญชีคืออะไร?” ก็หวังว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากเรื่องราวที่ผมเล่าให้ฟังนี้และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อตัวท่านเองหรือคนรอบข้างได้ ก็ขอจบเรื่องรายงานของผู้สอบคืออะไรไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ ไว้พบกันคราวหน้า  คราวนี้สวัสดีครับ...


 




 

Create Date : 15 เมษายน 2562
0 comments
Last Update : 4 กรกฎาคม 2562 6:09:45 น.
Counter : 13306 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Phunmet
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เล่าสู่กันฟังฉันนักบัญชี
Friends' blogs
[Add Phunmet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.