Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
5 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
ลมพิษ (urticaria)

ลมพิษ (urticaria) เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย และไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถรักษาด้วยยาแก้แพ้ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ถ้าเป็นเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ บางคนอาจเป็นร่วมกับโรคบางอย่างก็ได้ ลมพิษเป็นโรคที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย และไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่บ่งชี้ว่าเป็นคนที่จะแพ้อะไรง่าย และต้องระมัดระวังในการใช้ยา เพราะอาจเกิดอาการแพ้ยาซึ่งอาจมีอันตรายได้ คนที่เป็นลมพิษอยู่บ่อยๆ ทุกครั้งที่หาแพทย์ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ระวังการใช้ยา

 

ลมพิษเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจำนวนมากอาจไม่ได้มาพบแพทย์ เนื่องจากบ่อยครั้งที่อาการจะหายไปได้เอง หรือเมื่อได้รับยาแก้แพ้ ประชากรมากกว่าร้อยละ 20 เคยเป็นลมพิษมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง จากการสำรวจครั้งหนึ่งในหมู่นักศึกษาแพทย์ พบว่าร้อยละ 58 ให้ประวัติว่าเคยเป็นลมพิษมาก่อน และอีกการสำรวจหนึ่งในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 6-12 ปี ในกรุงเทพมหานคร พบว่าร้อยละ 28.9 เคยเป็นลมพิษ โดยที่ร้อยละ 21.6 ทราบสาเหตุ และสาเหตุเกิดจากอาหารร้อยละ 8.2

ลมพิษถือเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการสร้างสารแพ้ดังที่เรียกว่า “ฮิสตามีน” (histamine) ออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว เกิดเป็นผื่นนูนแดงและคันขึ้นตามผิวกาย โดยทั่วไปมักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันก็มักจะหายได้ แต่บางคนอาจเป็นอยู่ทุกวัน ถ้าหากเป็นลมพิษทุกวันติดต่อกันนานเกิน 2 เดือน ก็เรียกว่า “ลมพิษเรื้อรัง” ซึ่ง ส่วนมากจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ส่วนน้อยอาจพบว่า มีสาเหตุจากการแพ้สิ่งหนึ่งสิ่งใดดังกล่าวข้างต้น บางคนอาจพบร่วมกับโรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น โรคพยาธิลำไส้ ฟันผุ ไซนัสอักเสบ หูน้ำหนวก เป็นต้น บางคนอาจเกิดร่วมกับโรคร้าย เช่น มะเร็ง หรือโรคภูมิต้านทานตัวเอง เช่น โรคเอสแอลอี ขอย้ำว่าเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ปฏิบัติ คนที่เป็นลมพิษเรื้อรังนานเกิน 2 เดือน ก็อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

เนื่องจากลมพิษเป็นโรคในกลุ่มโรค ภูมิแพ้ คนไข้จึงอาจเป็นๆ หายๆ ได้บ่อยเมื่อสัมผัสถูกสารแพ้ นอกจากนี้ยังอาจพบว่า มีญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน คันตา หวัด แพ้อากาศ โรคหืด ชนิดใดชนิดหนึ่งร่วมด้วยก็ได้ เพราะโรคภูมิแพ้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้

กลไกการเกิดลมพิษ

  1. ลมพิษเป็นอาการที่แสดงออกทางผิว หนัง เกิดจากเซลล์ชนิด mast cells ที่อยู่รอบๆ เส้นเลือดใต้ผิวหนัง ถูกกระตุ้นจากสาเหตุต่างๆ กัน ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมี และโปรตีนที่มีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังขยายตัว และทำให้นํ้าเหลืองและโปรตีนซึมออกนอกหลอดเลือด ปรากฏเป็นเป็นผื่นนูนแดง และมีผื่นแดงราบรอบๆ
  2. สารเคมีที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเกิดลมพิษคือ ฮีสตามีน (histamine)
  3. ในรายที่เป็นมากจะมีการบวมของเนื้อใต้ผิวหนังอย่างมากได้ เรียกว่า "ลมพิษชนิดบวม" หรือ ลมพิษชนิดลึก (angioedema)
  4. การกระตุ้น mast cells อาจเป็นได้ทั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้ซึ่งเป็นขบวนการที่อาศัยแอนติบอดีชนิด IgE และอาจเป็นผลโดยตรงจากสารหลายชนิด อาทิเช่น มอร์ฟีน โคดิอีน สารทึบรังสี รวมทั้งอาหารบางชนิด ซึ่งสามารถกระตุ้น mast cells ได้โดยตรง

สาเหตุ

  1. มักมีสาเหตุจากการแพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ อาหารใส่สี อาหารกระป๋อง แพ้แอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ แพ้ยา เช่น แอสไพริน เพนิซิลลิน ซัลฟา แพ้ฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ นุ่น แพ้พิษแมลง เช่น ผึ้ง มด ยุง แพ้สารเคมี เครื่องสำอาง สเปรย์ สารฆ่าแมลง บางคนอาจแพ้เหงื่อ แพ้แดด ความร้อน หรือความเย็น
  2. โรคลมพิษเกี่ยวข้องกับความแปร ปรวนของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดมีภูมิไวต่อสิ่งแวดล้อม และสารต่างๆ รวมทั้งภาวะเครียดทางจิตใจก็มีผลต่อการเกิดลมพิษได้เพราะทำให้ระบบภูมิต้าน ทานแปรปรวนได้
  3. อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู ปลาหมึก หอย ปลาทะเล อาหารจำพวกโปรตีน เช่น ไข่ ถั่ว นม เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ไวน์ชนิดต่างๆ อาหารหมักดอง เช่น หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง น้ำส้มสายชู น้ำพริก กะปิ ปลาร้า ผัก และผลไม้บางชนิด เช่น แอปเปิ้ล แตงกวา มันฝรั่ง มะเขือเทศ ส้มโอ องุ่น และส้ม จะมีสารประเภทซาลิซัยเลต ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดลมพิษได้เช่นกัน
  4. ขนมปัง และอาหารที่มีเชื้อยีสต์ผงฟูเป็นส่วนผสม สีผสมอาหารบางชนิด รวมทั้งยากันบูด อาหารกระป๋องที่ใช้สารกันบูด
  5. ยาปฏิชีวนะ เพนนิซิลิน ซัลฟา ยาต้านอักเสบของกระดูกและข้อ ยาระบาย ยาแก้ปวด ยานอนหลับ หรือวิตามิน โดยอาการมักจะเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากได้รับยา หรือบางคนอาจกินเวลานาน 7-10 วัน
  6. ลมพิษอาจเกิดจากการติดเชื้อเรื้อรังของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง เช่น ฟันผุ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและในช่องคลอด
  7. สารระเหย และละอองเกสรที่ได้รับโดยการหายใจ เมื่อสูดฝุ่น เชื้อราในอากาศ เกสรดอกไม้ หรือขนสัตว์ เข้าไปมากๆ ก็อาจก่อให้เกิดลมพิษได้เช่นกัน
  8. แมลงอาจก่อให้เกิดลมพิษได้จาก การสัมผัสหรือถูกกัด เช่น ตัวไร ริ้น บุ้ง หรือจากการต่อย เช่น ผึ้ง แตน ต่อ หมาร่า มดแดงไฟ มดตะนอย บางครั้งอาการรุนแรงมาก มีลมพิษ บวมทั้งตัว บางคนอาจถึงขั้นช็อกหรือเสียชีวิตได้
  9. เกิดจากการกดรัดที่ผิวหนัง บางคนแพ้ความเย็น อากาศเย็น น้ำเย็น หรือเวลากินน้ำแข็งแล้วเกิดบวมในบริเวณคอ หายใจลำบาก ซึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือ เป็นผลจากโรคในร่างกาย เช่น ซิฟิลิส หรือมะเร็งบางชนิด บางคนแพ้แสงแดด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะช่วงอายุ 30-40 ปี เมื่อถูกแสงแดดแล้วจะเกิดผื่นคันขึ้นมา สามารถป้องกันได้ด้วยการทาครีมกันแดด

อาการ

  1. คนที่เป็นลมพิษ จะมีอาการขึ้นเป็นปื้นนูนแดง มีขนาดและรูปร่างต่างๆ กัน เช่น วงกลม วงรี วงหยัก เนื้อภายในวงจะนูน และสีซีดกว่าขอบเล็กน้อย ทำให้เห็นเป็นขอบแดงๆ คล้ายเอาลิปสติกผู้หญิงมาขีดเป็นวงไว้
  2. คนไข้จะรู้สึกคันมาก พอเกาตรงไหนก็จะมีผื่นแดงขึ้นตรงนั้น อาจรู้สึกร้อนผ่าวตามผิวกาย ลมพิษอาจเกิดขึ้นที่หน้า แขน ขา ลำตัว หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็ได้ มักขึ้นกระจายทั่วไป
  3. อาการมักจะเกิดขึ้นหลังสัมผัส สารแพ้ (เช่น อาหาร ยา สารเคมี ฝุ่น ละอองเกสร ฯลฯ) ภายใน 15-30 นาที และจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก็จะยุบหายไปเอง แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ได้อีกภายในวันเดียวกันหรือ ในวันต่อมาก็ได้
  4. บางคนอาจขึ้นติดต่อกันเป็นวันๆก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะยุบหายได้เองภายใน 1-7 วัน

การวินิจฉัย

ลมพิษจะมีลักษณะอาการจำเพาะ เป็นที่รู้จักของชาวบ้านทั่วไป จึงมักไม่ค่อยมีปัญหาในการวินิจฉัยโรคนี้ ควรไปหาแพทย์ทันทีถ้ามีอาการหายใจหอบร่วมด้วย ซึ่งอาจพบในคนที่เป็นลมพิษชนิดรุนแรง มีอาการบวมของกล่องเสียง ทำให้หายใจเข้าออกลำบาก โดยทั่วไปการวินิจฉัยผื่นลมพิษมักทำได้ไม่ยาก ผื่นลมพิษเป็นผื่นชนิดเดียวที่ขึ้น และยุบสนิทภายในเวลาอันสั้นมาก ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยได้ โรคสำคัญที่สุดที่ต้องวินิจฉัยแยกออกจากผื่นลมพิษธรรมดา คือ ลมพิษชนิดที่มีหลอดเลือดอักเสบร่วมด้วย (urticarial vasculitis) ซึ่งมักจะตรวจพบลักษณะอื่นๆ ร่วมด้วย และควรพิจารณาตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ เพื่อวินิจฉัยด้วยลักษณะทางกล้องจุลทรรศน์ยืนยัน

การวินิจฉัยแยกโรค

  1. ผื่นแพ้จากการสัมผัส (contact dermatitis) จะขึ้นเป็นผื่นแดง หรือตุ่มน้ำใสเล็กๆ คัน ซึ่งจะขึ้นเฉพาะบริเวณที่สัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ เช่น สายนาฬิกา สร้อยคอ ขอบกางเกง สายรองเท้า เป็นต้น
  2. ผื่นแพ้จากกรรมพันธุ์ (eczema) จะขึ้นเป็นผื่นแดงเล็กๆ คันตามบริเวณแก้มหรือข้อพับ เช่น แขนพับ ข้อมือ ขาพับ ข้อเท้า รอบคอ ซึ่งจะขึ้นพร้อมกันทั้ง ๒ ข้าง คนไข้มักจะเกาหรือถูจนหนังหนา และอาจมีน้ำเหลืองเยิ้ม ชาวบ้านมักจะเรียกว่า “น้ำเหลืองไม่ดี”
  3. กลากหรือโรคเชื้อรา (ringworm) จะขึ้นเป็นวงๆ มีลักษณะเป็นขุยๆ ขอบแดง คัน ขึ้นเฉพาะแห่ง เช่น หนังศีรษะ ขาหนีบ ง่ามเท้า วงจะลามใหญ่ออกไปเรื่อยๆ

โรคภูมิแพ้ที่มีอาการที่ผิวหนัง

  1. ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ พบได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงผู้ใหญ่ ในวัยเด็กทารกมักเป็นที่หน้าโดยเฉพาะที่แก้ม ศีรษะ ที่เรียกว่า "กลากน้ำนม" และอาจกระจายไปทั่วร่างกาย เด็กโตและผู้ใหญ่มีอาการคล้ายกัน คือมักมีผื่นบริเวณข้อพับแขน ขา ผิวหนังมักหนา คันมีรอยเกาให้เห็น การเปลี่ยนแปลงอื่นที่อาจพบได้ เช่น ผิวหนังแห้ง ตุ่มนูนตามขุมขนมีขุย อาจมีวงสีขาวมีขุยเล็กน้อย ในบางรายมีการอุดตันของรูเปิดต่อมเหงื่อเกิดเป็นเม็ดใสมีอาการคัน เป็นต้น
  2. ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส สารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการมีมากมาย ตัวอย่างเช่น ยาย้อมผม ปูนซีเมนต์ หนังสัตว์ เครื่องสำอาง นิเคิลในเครื่องประดับ วัสดุที่เป็นยาง เป็นต้น ผิวหนังบริเวณที่มีการสัมผัสจะมีลักษณะอักเสบ
  3. ลมพิษ อาจเกิดจากการแพ้ ยา อาหาร สิ่งผสมในอาหาร แมลง หรือละอองเกสรต่างๆ เป็นต้น
  4. ผื่นผิวหนังจากการแพ้ยา อาจเกิดได้หลายลักษณะ ตั้งแต่ผื่นที่เป็นเม็ดพองทั้งตัวมีอาการรุนแรง หรืออาจเป็นผื่นแดงมีอาการคัน ลมพิษ ปื้นแดงเฉพาะที่ เป็นต้น

การรักษา

  1. ถ้าแน่ใจว่าเป็นลมพิษ แพทย์จะซักถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ
  2. พร้อมกับให้การรักษาด้วยยาแก้ แพ้ หรือยาแอนติฮิสตามีน (antihistamine) ถ้าหากใช้ยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีนไม่ได้ผล จะให้ยาแก้แพ้ตัวอื่นแทน ที่ใช้บ่อยได้แก่ hydroxyzine ครั้งละ 1/2-1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้ากับก่อนนอน ยานี้อาจทำให้ง่วงนอน ในรายที่เป็นเรื้อรัง ยาต้านฮิสตามีนชนิดที่ทำให้ง่วงน้อย ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์กดอาการลมพิษได้ดี ทำให้ง่วงนอน แต่ราคาแพง ได้แก่ astemizole, loratadine เป็นต้น ส่วนยาต้านฮิสตามีนชนิดที่ทำให้ง่วงซึม มีฤทธิ์กดอาการผื่นคันดีมาก ข้อจำกัดของยากลุ่มนี้คือ อาการง่วงนอน ซึ่งพบบ่อยกว่ายากลุ่ม แรก ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด เช่น chlorpheniramine, brompheniramine เป็นต้น
  3. นอกจากจะให้ยาแก้แพ้กินทุกวัน เพื่อควบคุมอาการแล้ว อาจต้องตรวจหาสาเหตุด้วยการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตรวจอุจจาระเพื่อดูไข่พยาธิ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ตามแต่สาเหตุที่สงสัย
  4. ถ้าพบสาเหตุก็ให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากฟันผุ ก็ต้องรักษาฟันที่ผุ ถ้าเกิดจากโรคพยาธิก็ให้ยาถ่ายพยาธิ เป็นต้น
  5. ถ้าไม่พบสาเหตุ อาจต้องกินยาแก้แพ้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายขาด บางคนอาจใช้เวลาเป็นแรมเดือน บางคนอาจเป็นแรมปี

การดูแลรักษาตนเอง

  1. ประคบด้วยน้ำเย็น น้ำแข็ง หรือทายาแก้ผดผื่นคัน ถ้าไม่แพ้แอลกอฮอล์ จะใช้เหล้าทา หรือใช้ใบพลูตำกับเหล้าทาก็ได้
  2. กินยาแก้แพ้ ยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีน ครั้งละ 1/2-1 เม็ด ถ้ายังไม่หาย ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง
  3. หาสาเหตุที่แพ้แล้วหลีกเลี่ยงเสีย

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ




Create Date : 05 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2553 10:37:24 น. 0 comments
Counter : 846 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

phugamon
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add phugamon's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.