จระเข้เฝ้าโบสถ์


ฉันอ่านประวัติจังหวัดอุบลราชธานีแล้วอยากไปดู “สิม” วัดแจ้ง ซึ่งเล่าว่าเป็นโบสถ์ลักษณะเก่าของอีสานที่หาดูได้ยากแล้ว เท่าที่เห็นในภาพซึ่งถ่ายไว้เมื่อเกือบสิบปีก่อนจัดว่ามีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์เมื่อเทียบกับสิมวัดอื่นในตัวจังหวัด



พ่อบอกว่า “สิม” คือ คำที่ใช้เรียกโบสถ์ในภาคอีสาน แต่เดิมจะเป็นอาคารเล็กๆ ขนาดพอที่พระจะเข้าไปทำสังฆกรรมภายใน มีประตูทางเข้าเพียงทางเดียวและแทบจะไม่มีหน้าต่าง ภายหลังเมื่อช่างและพระภิกษุได้ไปเห็นวัดวาอารามในภาคกลางจึงกลับมาสร้างโบสถ์ในลักษณะของภาคกลางมากขึ้น คือมีหลังคาซับซ้อน มีประตูหน้า ประตูหลัง และหน้าต่างมากมาย เป็นความนิยมตามยุคสมัย แต่พ่อชอบสิมแบบเดิมมากกว่า เพราะดูสมถะเรียบง่ายเข้ากับศาสนาพุทธและชีวิตไทยพื้นบ้านอีสานทั่วไป โบสถ์สมัยใหม่ดูหรูหราอลังการ เหมือนแข่งกันสร้าง แข่งกันทำบุญ หาเงินไปทำสิ่งก่อสร้างอวดกัน มากกว่าจะมาพิจารณาว่าโบสถ์แท้จริงนั้นมีไว้ทำไม



สิมวัดแจ้งไม่ทำให้ฉันผิดหวัง เรือนไม้เก่าๆ ได้รับการอนุรักษ์และดูแลพอสมควร แม้จะดูเหงาๆ ไปบ้าง แต่สิ่งที่ฉันประทับใจกลับเป็นจระเข้สองตัวที่ทอดตัวเป็นราวบันไดสิม




จระเข้เป็นสัตว์ดุร้าย ใครจะนึกว่าช่างไทยจะจับจระเข้ให้มานอนเซื่องๆ เฝ้าประตูโบสถ์กะเขาได้ หนังไทยแต่ละเรื่องจระเข้รับแต่บทร้ายตลอด โผล่จากน้ำขึ้นมากินวัวควาย หรือแม้แต่คนบ้างล่ะ รู้จักอาฆาตแค้นคนอีกต่างหาก แม้แต่ในวรรณคดีไทยชาละวันซึ่งเป็นตำนานเรื่องเอกของชาวพิจิตรก็ยังเป็นจระเข้ที่โหดร้าย กินคนไม่พอยังจับสาวๆ ไปทำเมียอีกต่างหาก



ถ้าจะว่าไปแล้วนาคที่คนไทยคุ้นเคยว่ามักจะอยู่คู่กับวัดก็เป็นสัตว์ดุร้ายเหมือนกัน ช่างผู้สร้างคงเลือกสรรมาให้ช่วยดูแลวัด แต่ดูยังไงฉันก็ว่านาคที่วัดดูสวยงามมากกว่าดุร้าย ถึงแม้สุนทรภู่จะแต่งกลอนนิราศบรรยายความดุร้ายดุดันของนาคที่ช่างปั้นเอาไว้หลายตอน ฉันก็ไม่เคยเห็นคล้อยตามสักที



จระเข้ที่ราวบันไดสิมวัดแจ้งก็เหมือนกัน ดูน่ารักมากกว่าน่ากลัว แถมหางยังสั้นกุดจนน่าขัน ไม่รู้ว่าจระเข้อีสานจะหางสั้นอย่างนี้จริงหรือเปล่า จากที่เคยอ่านและฟังมาหางจระเข้นั้นเป็นอาวุธสำคัญของมันรองไปจากคมเขี้ยว หางใหญ่หนาหนักฟาดเหยื่อให้ล้มคว่ำเสียหลักไม่ทันรู้ตัว จนกลายมาเป็นท่าตวัดเท้าฟาดคอของมวยไทยที่ใครๆ ก็รู้จักกันดีคือท่า “จระเข้ฟาดหาง” เนื้อเพลงกราวตะลุงของภาคใต้ก็มีกล่าวถึง “บ้องตัน” ซึ่งมาจากคำเรียกหางจระเข้ที่ว่ากันว่าเนื้อแน่นน่ากิน



ดวงตาเศร้าๆ ของจระเข้ที่ราวบันได ทำให้ฉันสงสัยว่าภาคอีสานมีตำนานอะไรเกี่ยวกับจระเข้เฝ้าสิมหรือเปล่า ตำนานจระเข้ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ฉันนึกออกก็มีเพียงเรื่องดาวจระเข้เท่านั้น ไม่รู้ว่าเหตุที่สร้างจระเข้ไว้ตรงบันไดจะมาจากตำนานดาวจระเข้ด้วยไหม


ความโค้งยาวทอดอ่อนของลำตัวจระเข้ทำให้มันดูเหมาะต่อการเป็นราวบันไดยึดจับของผู้คน บางทีจระเข้คงจะเป็นสัตว์ในท้องถิ่นที่ชาวบ้านรู้จักดีมาแต่เดิม ก่อนที่สัตว์ในจินตนาการอย่างนาคจะเข้ามาถึงชุมชน หรือเพื่อความน่ายำเกรงแทนที่จะเป็นสัตว์สวยงามอย่างปลาหรือสัตว์อื่นที่มีลำตัวยาว ช่างพื้นบ้านอีสานจึงเลือกใช้สัตว์ร้ายอย่างจระเข้เฝ้ารักษาพุทธสถาน




ภายหลังฉันไปวัดทุ่งศรีเมืองก็เห็นหอพระบาทเล็กๆ ข้างหอไตร ที่มีร่องรอยการบูรณะสร้างนาคคร่อมจระเข้ที่เป็นราวบันไดเดิม แอบเสียดายอยู่ในใจ ก็เจ้านาคเขียวมันดูแปลกแยกไม่กลมกลืนกับงานฝีมือน่ารักๆ อย่างจระเข้ด้านล่าง และลายปูนฝีมือช่างเก่าที่ยังทิ้งไว้ให้เห็น


อ่านทบทวนประวัติสิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนาในจังหวัดอุบลราชธานี พบว่าหอพระบาทในวัดทุ่งศรีเมืองสร้างก่อนสิมวัดแจ้งเพื่อเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง โดยมีลักษณะสถาปัตยกรรมผสมระหว่างเวียงจันทร์และรัตนโกสินทร์ คือฐานด้านล่างเป็นศิลปะเวียงจันทร์ ส่วนด้านบนคือ เสา หน้าบรรณ และหลังคาเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ นาคที่ขึ้นไปทับอยู่บนตัวจระเข้ก็คงเป็นรูปแบบรัตนโกสินทร์กับเขาด้วย แต่ฉันก็ยังดูแล้วรู้สึกว่าไม่น่าจะเป็นการผสมผสานระหว่างสองวัฒนธรรมดังว่า มันดูเหมือนซ่อมให้สวยขึ้นแต่ไม่เข้ากับแบบเก่าเสียมากกว่า


ริ้วลายที่เลือนรางบนตัวจระเข้เฝ้าสิมวัดแจ้งบอกเล่าถึงระยะเวลานับแต่แรกสร้างว่าคงมิใช่น้อย อายุเมืองอุบลแม้จะไม่ผ่านเจ็ดร้อยปีอย่างเมืองเชียงใหม่ แต่ก็ผ่านสองร้อยปีไล่หลังรัตนโกสินทร์มาติดๆ จระเข้คู่นี้อย่างน้อยๆ ต้องมีอายุไม่ไกลร้อยปีสักเท่าไร คงได้เคยเห็นตั้งแต่ชาวบ้านนุ่งซิ่นไหมเข้าวัดจนปรับแปรเป็นกระโปรงกางเกงตามยุคสมัย ตั้งแต่ป่าตะเคียนยังหนาทึบวัดให้ผู้คนหวาดหวั่นผีนางตะเคียนเล่น กระทั่งป่าโปร่งโล่งมองทะลุได้ไกล แล้วก็ถูกบดบังด้วยตึกรามบ้านช่องแทน


มันจะเคยสงสัยบ้างไหมว่าชาวบ้านที่เคยหนาตาวันงานบุญไปไหนกันหมด ทำไมภายนอกมีผู้คนผ่านไปมามากมาย แต่เหมือนจะถูกกั้นจนไกลจากกัน


๑๑ มกราคม ๒๕๕๑
เพรางาย มณีโชติ



Create Date : 29 มกราคม 2551
Last Update : 29 มกราคม 2551 13:29:04 น.
Counter : 4616 Pageviews.

4 comments
  
อ่านเพลินดีจังเลยคับ ชอบงานเขียนอ่านสบายๆ แบบนี้จัง ได้ความรู้ดีด้วย
โดย: canx วันที่: 29 มกราคม 2551 เวลา:15:34:04 น.
  
คนอุบลฯ (แอบ) เข้ามาอ่าน
โดย: นายแจม วันที่: 29 มกราคม 2551 เวลา:16:37:28 น.
  
น่าสนใจทีเดียวค่ะ หาดูยากนะภาพแบบนี้ อืมๆ
โดย: NanaDoll วันที่: 29 มกราคม 2551 เวลา:20:51:51 น.
  
emoemo


แวะมาทักทายวันสุดสัปดาห์ครับ....
โดย: big-lor วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:13:43:13 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เพรางาย
Location :
ชุมพร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]



คนที่กำลังไล่ตามความฝัน ท่ามกลางความผกผันของวันเวลา
มกราคม 2551

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
30
31
 
 
All Blog