โลกมีทางให้เดินเป็นพันพันทาง เราต่างใช้ปรัชญาแห่งชนชั้นของตน นำทางในการเดิน เราต่างเดินตาม ปรัชญาแห่งชนชั้นตน
 
สิงหาคม 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
24 สิงหาคม 2551
 
 

ปรัชญาสัมบูรณนิยมของเฮเกล 1

บทที่ 24 สัมบูรณนิยม (Absolutism)
ของเก-ออร์ก วิลเฮล์ม ฟรีดริค( (George Wilhelm Friedrich Hegel)
ปรัชญาของฟิคเต้ (Fichte) กับเช็ลลิง (Schelling) ได้บุกเบิกทางให้แก่ความคิดเรื่องสัมบูรณนิยม (Absolutism แอบ-โซลยูทิส'ม) ของ เฮเก็ล (Hegel) ปรัชญานี้เป็นจุดสุดยอดของปรัชญาจิตนิยม เพราะปรากฏว่าไม่มีนักจิตนิยมผู้ใดวางความคิดเป็นเหตุผลไว้เรียบร้อยปราศจากการขัดแย้งภายในระบบได้ดีเท่าเฮเก็ล สัมบูรณนิยมของเขาถูกถือเป็นตำรับปรัชญาของศาสนาคริสเตียน หรือปรัชญาว่าด้วยพระเป็นเจ้า คำว่าสัมบูรณนิยมมาจากการสอนว่า ความแท้จริงอันติมะ คือ สิ่งสัมบูรณ์ (The Absolute) อันมีธรรมชาติเป็นจิต ในการสาธยายปรัชญานี้เฮเก็ลได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์อันก้าวหน้ามาประกอบ เช่นเรื่องการประนอมของสิ่งที่แย้งกัน เหตุของพัฒนาการและปรัชญาแห่งประวัติศาสตร์ เป็นครั้งแรกในโลกที่เฮเก็ลได้ให้หลักแห่งประวัติศาสตร์ไว้ อันเป็นการนำแสงสว่างมาสู่วิชาประวัติศาสตร์เป็นอันมาก การนำประวัติศาสตร์มากล่าวไว้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของแร่ธาตุมาสู่สังคมเยอรมัน ณ ขณะนั้น เป็นการค้นพบวิวัฒนาการแห่งเอกภพอันกว้างขวางกว่าวิวัฒนาการของชีวิตดังที่ดาร์วินนำมาเผยแพร่ต่อโลก หลังเฮเก็ล,นักคิดชั้นหลังๆได้รับเอาคำสอนเรื่องวิวัฒนาการและปรัชญาแห่งประวัติศาสตร์ของเฮเก็ลไปทำเป็นวิทยาศาสตร์สังคม ทำให้เยอรมนีสร้างลัทธิสังคมนิยมทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Socialism ไซเอ็นทีฟ-อิค โซ-แฌะลิส'ม) ขึ้นมาได้ ในเวลาเดียวกันนักจิตนิยมก็เอาคำสอนเรื่องสิ่งสัมบูรณ์ของเขาไปเชิดชูศาสนาคริสเตียนและระบบสังคมในขณะนั้น เฮเก็ลเองในตอนหลังๆก็เข้าเทิดทูนและนำปรัชญาของเขาไปสนับสนุนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของเยอรมนีที่กำลังเกิดขึ้นจากการรวมรัฐต่างๆในเยอรมนีเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พูดสั้นๆก็คือได้เกิดทั้งศิษย์ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายของเฮเก็ล (Right and Left wing Hegelian ไรท แอ็นด เล็ฟท วิง เฮเก-เลียน) ขึ้น ซึ่งขัดแย้งและโจมตีกันเอง อิทธิพลปรัชญาของเฮเก็ลจึงมีอย่างไพศาล จึงสมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

24.1 ชีวประวัติ
ชีวิตทางส่วนตัวของเก-ออร์ก วิลเฮล์ม ฟรีดริค เฮเก็ล (George Wihelm Friedrich Hegel 1770-1831) นั้นไม่มีอะไรน่ารู้เลย เขาขาดความโน้มน้อมไปในทางจริยธรรมเช่นฟิคเต้ ขาดนิสัยคมคายและรักสนุกของเช็ลลิง ขาดความเห็นแก่ตัวกับนิสัยขี้บ่นของโชเป็นเฮาเอ้อร์ ขณะที่ค้านต์ผ่านชีวิตอยู่อย่างเงียบๆในเมืองเล็กๆชื่อโคนิกสเบิร์กนั้น เฮเก็ลได้ลิ้มรสชีวิตในมหาวิทยาลัย ณ ทูบิงเก็น, เยนา, ไฮเดลเบิร์กและเบอร์ลิน และในระยะหลังๆเขาก็ได้ร่วมวงสังคมในนครหลวงแห่งรัฐปรัซเซีย เฮเก็ลก็เหมือนค้านต์ คือมีชื่อดังที่สุดในวิชาอาชีพของเขาแต่มิได้มีชื่อในชีวิตส่วนตัว คำสอนและหนังสือของเขามีคนรู้จักมากกว่าตัวเขาเอง
เฮเก็ล (Hegel) เกิดที่เมืองสตัตการ์ด (Stuttgart) ในปีค.ศ.1770 เราไม่ใคร่ทราบถึงชีวิตเมื่อเด็กของเขา นักชีวประวัติเขียนว่าเขาสูดยานัตถุ์และชอบเล่นหมากรุกกับเล่นไพ่ตั้งแต่ยังเด็ก ในปีค.ศ.1788 เขาไปเข้ามหาวิทยาลัยทูบิงเก็นและเรียนศาสนวิทยา อย่างไรก็ดีเขาก็มัวพะวงเสียแต่ในวิชาปรัชญาและวิชาคลาสสิค (Classic คแลซ-ซิค) เป็นส่วนมาก ทั้งนี้ก็โดยที่เห็นงานทางวิทยาลัยไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไปมั่วสุมกับเพื่อนๆซึ่งในหมู่นี้ก็มีโฮลเดอร์ลิน (Holderlin) ผู้เป็นนักคลาสิคตัวลือและก็มีเช็ลลิงด้วย
เฮเก็ล (Hegel) ไปมีอาชีพเป็นครูพิเศษในสวิตเซ่อร์แลนด์ 3 ปี ระหว่าง 3 ปีนี้เขาได้หมกมุ่นอยู่กับวิชาศาสนวิทยาและประวัติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ แต่ในจดหมายถึงเช็ลลิงในปีค.ศ.1795 เขาอ้างว่าเขากลับมาศึกษางานทางปรัชญาของค้านต์อีก และได้ให้คำทำนายอันมีความสำคัญยิ่งไว้ว่าจะเกิดสมัยทางปรัชญาซึ่งความคิดในพระเป็นเจ้าจะถูกรับกันว่าเป็นความคิดเดียวกับสิ่งสัมบูรณ์ จากปี ค.ศ.1797 ถึงปี ค.ศ.1800 ทั้งๆที่ยังเป็นครูพิเศษประจำบ้านอยู่ เฮเก็ลได้ไปอยู่ในเมืองแฟร็งก์ฟอร์ตริมฝั่งแม่น้ำเมน (Maine) ปีที่ผ่านๆมานี้เป็นปีที่เขาได้วางระบบปรัชญาของเขาไว้ด้วย ต้นร่างเกี่ยวกับระบบความคิดซึ่งเขาทำไว้แต่เริ่มแรกยังคงปรากฏอยู่เป็นตัวเขียนและในนั้นมีลักษณะสำคัญๆของคำสอนที่เกิดขึ้นในภายหลังไว้ด้วย
ในปีค.ศ. 1801 เมื่อเขาเพิ่งมีอายุพ้นวัย 30 เฮเก็ลได้ไปอยู่ที่เยนา(Jena) เป็นอาจารย์พิเศษประจำมหาวิทยาลัยในวิชาปรัชญา เขาเชื่อว่าตัวเองมีความคิดทางปรัชญาตรงกับเช็ลลิงทุกประการ ซึ่งตัวเช็ลลิงเองเป็นศาสตราจารย์ทางปรัชญาที่เยนาหลายปี ระหว่างปีค.ศ. 1802-1803 สองคนร่วมกันทำหนังสือ Kritisches Journal der Philosophie (คริติคเจอร์นัล เดอร ฟิลอซ-โอะฟิ) ซึ่งเฮเก็ลมีส่วนช่วยทำมากกว่า ต่อมาพวกลูกศิษย์ได้เปิดการโต้เถียงกันอย่างขมขื่นในปัญหาที่ว่าเฮเก็ลหรือเช็ลลิงมีส่วนในการสร้างงานชิ้นนี้มากกว่ากัน ระบบปรัชญาของสองคนเลยแยกออกจากกัน และนับจากปีค.ศ.1803 ไป เมื่อเช็ลลิงออกจากเยนาไปแล้ว ความแตกร้าวระหว่างคนทั้งสองก็ยิ่งมีมากขึ้น ความจริงเมื่อมองทางด้านญาณพิเศษอันมีขึ้นในตัวแต่กำเนิดแล้ว เฮเก็ลกับเช็ลลิงก็มีความคล้ายคลึงกัน ผลที่ได้จากความคิดของคนทั้งสองก็คล้ายคลึงกัน แต่ในภายหลังเช็ลลิงหันไปทางรหัสนิยม (Mysticism มีซ-ทิซิส'ม) ชอบอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์และปัญญาอันเกิดขึ้นโดยการดลใจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ควบคู่ไปกับการเชื่อญาณพิเศษในตัว (Intuition อินทิวอีฌ-อัน) รวมทั้งการเข้าถึงความรู้โดยการเพ่งภายใน ขณะเดียวกันนี้วิธีของเฮเก็ล(Hegel) เป็นชนิดคิดจากเหตุและผล และใช้วิธีแสดงความคิดให้เห็นจริงจังเป็นขั้นๆไปด้วยความบากบั่น เฮเก็ลกับเช็ลลิงจึงแตกกันเพราะทรรศนะทางนี้โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้แล้วยังมีสาเหตุอื่นช่วยผสมด้วย เช่นความแตกต่างทางอุปนิสัยและผลสะท้อนจากความสนิทชิดเชื้อ อันเกิดจากการเคยอยู่ร่วมที่กัน กับการเคยมีความสนใจในปรัชญาร่วมกันมา
โรเซนกรานซ์ (Rosenkranz) นักชีวประวัติประจำตัวเฮเก็ล(Hegel) บอกเราว่าเฮเก็ลสามารถตรึงจิตใจของนักศึกษาในห้องปาฐกถาที่เยนากระทั่งไม่มีใครลุกไปไหนเลย ในปีค.ศ.1805 ความสามารถของเขาเกิดผลขึ้น เขาถูกแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ต่อมาอีกหนึ่งปี ชีวิตของเขาในเยนาก็จบลงอย่างกักขฬะโดยการแทรกแซงของพวกฝรั่งเศสภายใต้การนำของนโปเลียน เฮเก็ลเรียกนโปเลียนว่าดวงวิญญาณของโลก ขณะนั้นมหาวิทยาลัยจำต้องปิดชั่วคราว และคราวแรกเฮเก็ลไปอยู่เสียที่เมืองแบมบูร์ก เขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อยู่ที่นั่นสองปี ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่เบินบูร์กและรับตำแหน่งผู้ดูแลโรงกายบริหารอยู่ 8 ปี ในปีค.ศ.1811 เขาแต่งงานกับแมรี ฟอน ทักเกอร์ (Mary Von Tucker) บุตรีของตระกูลเก่าในเมืองนั้น เขาเขียนโคลงและจดหมายรักถึงนางอย่างคนตกหลุมรักทั้งหลายที่ไม่มีแววทางปรัชญาเลย ในปีค.ศ. 1812-1813 เขาพิมพ์ตำราตรรกวิทยาของเขาออกมาเผยแพร่ ซึ่งตำราตรรกวิทยาเล่มนี้แสดงถึงความคิดใหม่ทางตรรกวิทยา,ทั้งนี้โดยตรรกวิทยาเก่าพิจารณาเฉพาะสรรพสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง,แต่ตรรกวิทยาใหม่นี้พิจารณาสรรพสิ่งที่เปลี่ยนแปลงด้วย นี่เป็นผลของสมัยปัญญาทางวิทยาศาสตร์ซึ่งบังคับจิตใจให้นักปรัชญาเห็นว่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นสิ่งกำหนด ตรรกวิทยา และเราจะค้นตรรกวิทยาในจิตใจของเราหาได้ไม่ หากต้องมองและเสาะตรรกวิทยามาจากโลกภายนอก คราวนี้จึงเป็นคราวแรกในประวัติศาสตร์ที่ปรัชญาเกิดการเปลี่ยนแปลงในตรรกวิทยาของการคิดปรัชญาขึ้น
ต่อมาในปีค.ศ. 1816 เฮเก็ลถูกเรียกตัวไปเป็นศาสตราจารย์ในวิชาปรัชญา ณ มหาวิทยาลัยไฮเด็ลเบิร์ก อีกสองปีต่อมาเขาก็ได้ตำแหน่งแทนฟิคเต้ในมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ชีวิตของเฮเก็ลในเบอร์ลินซึ่งสิ้นสุดลงด้วยมรณกรรมของเขาในปีค.ศ. 1831 นั้น เป็นชีวิตแห่งการก้าวหน้าทั้งในอาชีพ, ทางสังคมและทางการเมือง ระหว่างเวลาเหล่านี้เขาได้รับความไว้วางใจและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะว่าปรัชญาสังคมของเขานั้นจะผิดหรือถูกก็เอาไว้ทีหลัง แต่ได้ถูกแปลไปในแง่ส่งเสริมยกย่องสถาบันของพวกปรัซเซียนอันจะนำมาซึ่งระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเยอรมนีตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในมหาวิทยาลัย,เขามีอิทธิพลเหนือความคิดของบรรดานักศึกษา และได้รับความนับถือจากพวกนี้ด้วย ครอบครัวของเขาประสบชีวิตอันสงบและสุขสบาย แล้วในสมาคมชั้นสูงสุดของพวกปรัซเซียนเขาก็มีตำแหน่งที่เรืองด้วยอำนาจ เป็นการยากที่จะพิจารณาให้เกิดความเข้าใจได้ว่าเฮเก็ล นักปรัชญาผู้มีนิสัยเงียบๆเกิดความสำเร็จเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นในวงสังคมได้อย่างไร แต่เกอเธ่ก็ได้เขียนคำโคลงไว้บนแก้วน้ำ สดุดีเขาไว้ว่า
เฮเก็ล ผู้เป็นปฐมาจารย์แห่งลัทธิสัมบูรณนิยม ทีเดียว

24.2 ท่าทีปรัชญาของเฮเก็ล
ปรัชญาของเฮเก็ลนั้นคล้ายคลึงกับของฟิคเต้และเช็ลลิงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีคิดแบบวิภาษวิธี (Dialectic ไดอะเลค-ทิค) ของเขานั้นไม่ผิดกับฟิคเต้ และเขามีความคิดคล้ายคลึงกับเช็ลลิงตรงที่ได้ใช้แนวเอกนิยมเหมือนของสปิโนซ่า อย่างไรก็ตามขณะที่ฟิคเต้, เช็ลลิง และโชเป็นเฮาเอ้อร์ ล้วนปฏิเสธความมีอยู่ของความแท้จริงใดๆนอกจากตัวตนนั้น แต่ละคนก็ยังขาดความคิดในเรื่องตัวตนสัมบูรณ์ (Absolute self แอบ-โซลยูท เซ็ลฟ) อันจะทำให้ปรัชญาของเขาเป็นเอกนิยมอย่างแท้จริง ฟิคเต้และเช็ลลิงยืนยันว่าสิ่งซึ่งรู้สึกตัวเองได้นั้นจำเป็นต้องมีความจำกัด และสิ่งสัมบูรณ์ซึ่งไม่จำกัดนั้น อาจจะไม่ใช่ตัวตนหรือเจตภูต (Spirit ซพี-ริท) โชเป็นเฮาเอ้อร์ยอมรับว่ามีพิชานในตัวเองของความแท้จริงอันติมะ แต่ก็ไม่ได้พิจารณาพิชานเช่นนี้ให้ได้เรื่องเพียงพอ เฮเก็ลมีความคิดผิดกับนักจิตนิยมอื่นๆตรงที่เขามีคำสอนว่ามีตัวตนสัมบูรณ์ และความแท้จริงอันจำกัดทุกชิ้นเป็นการแสดงตัวของตัวตนอันครอบงำสรรพสิ่งไว้ทั้งหมด ปรัชญาของเฮเก็ลเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมีอยู่ของตัวตนอันครอบงำนี้ ข้อพิสูจน์ของเขาในเรื่องนี้ปรากฏในหนังสือตรรกวิทยาระหว่างปีค.ศ.1812-1816 และมีในหนังสือ Encyclopedie (เอ็นไซคโละพี-ดิ) เฮเก็ลมีนิสัยชอบใช้คำยากๆ บางทีก็เอาคำง่ายๆทางปรัชญาไปใช้ให้มีความหมายเข้าใจยากยิ่งขึ้นอีก เขาวางความคิดไว้เป็นขั้นๆราวกับสูตรทางคณิตศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้ปรัชญาของเขาดูจะเป็นที่เข้าใจได้ยากกว่าคริติคของค้านต์ มีคนกล่าวว่าเฮเก็ลเป็นนักคิดทางนัยยะนามธรรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดทุกยุคทุกสมัย (Greatest abstract thinker of all time กเรท-เอสท แอบ-สทแร็คท ธิงค-เออะ อ็อฝ ออน ไทม)
ข้อพิสูจน์ดังกล่าวของเฮเก็ล (Hegel) มีสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเชิงปฏิเสธ (Negative เนก-อะทิฝ) อีกส่วนหนึ่งเป็นเชิงยืนยันแน่นอน (Positive พอส-อิทิฝ) ในชั้นแรก,เขาโจมตีทฤษฎีของค้านต์กับเช็ลลิงที่ว่า, เรารู้ความแท้จริงอันติมะไม่ได้ ในขั้นต่อมา,เขายืนยันความคิดที่ว่า ความแท้จริงทั้งหมด คือ เจตภูต หรือตัวตนอันสัมบูรณ์
หลักญาณวิทยา (Epistemology อิพีซเทมอล-โอะจิ) ของเฮเก็ล(Hegel) มีว่า สิ่งที่จริงย่อมชอบด้วยเหตุผล สิ่งที่ชอบด้วยเหตุผลย่อมเป็นความจริง (The Real is Rational,the Rational is real ฑิ ริ-แอ็ล อิส แรฌ-อะแน็ล ฑิแรฌ-อะแน็ล อิส ริ-แอ็ล) ฉะนั้นเราจึงอาจรู้ความจริงได้ด้วยการคิดทางเหตุผลหรือตรรกวิทยา ข้อนี้เลยเป็นที่ประจักษ์ว่าญาณวิทยาของเฮเก็ลเป็นญาณวิทยาสมัยเดียวกับสมัย ของปัญญาทางปรัชญา ซึ่งสิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 ความคิดของเขาจึงสร้างจากหลักอันไม่ตรงกับหลักของสมัยปัญญาทางวิทยาศาสตร์ ดังจะเห็นได้ต่อไปนี้

24.3 ความแท้จริงอันติมะนั้นใช่จะเป็นที่รู้ไม่ได้
ความแท้จริงอันติมะนั้นใช่จะเป็นที่รู้ไม่ได้หรือค้นหาไม่ได้(Undetermiable อันดีเทอมินาเบิล) มีคำสอนอยู่ 2 ประการที่ยืนยันว่าอภิปรัชญามีไม่ได้,เพราะเรารู้ความแท้จริงอันติมะไม่ได้ ตามมติแรก ความแท้จริงในลักษณะที่จริงที่สุดและอันติมะที่สุดนั้น คนเราไม่อาจค้นหาได้ กล่าวคือเราบอกไม่ได้ว่ามันเป็นอะไร เราจะเห็นว่า,ความแท้จริงย่อยๆนั้นย่อมมีลักษณะแสดงตัวให้เห็น เช่นเป็นทรงกลมหรือลูกบาศก์ เป็นสีน้ำเงินหรือสีแดง เป็นที่คุ้นเคยหรือไม่เป็นที่คุ้นเคย เป็นทางจิตหรือเป็นทางกาย แต่ความแท้จริงอันติมะนั้น,บรรดานักปรัชญาจากค้านต์เป็นต้นมา บอกว่าไม่มีลักษณะอะไรให้เรากล่าวยืนยันอะไรได้เช่นนั้น หรือไม่อาจยืนยันว่ามันเป็นอื่นหรือไม่ ทั้งนี้ว่ากันว่า, มันเป็นทั้งหมดซึ่งมีอยู่ (All that there is ออล แฑ็ท แฑ อิส) หรือเป็นความแท้จริงอันไม่จำกัด (Unlimited reality อันลีม-อิทิด ริแอล-อิทิ) คือถ้าเราว่า,ความแท้จจริงเป็นอย่างไร ก็เท่ากับเอาความจำกัดไปสวมให้กับมัน เช่นถ้าสิ่งหนึ่งมองเห็นได้ มันก็จะไม่ มองไม่เห็น ถ้าเป็นสี่เหลี่ยมมันก็จะกลมไม่ได้ อีกนัยยะหนึ่งหากสิ่งไรเป็นอย่างไร แล้วมันจะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับมันย่อมไม่ได้ ดังนี้,เนื่องจากความแท้จริงอันติมะไม่มีความจำกัดอะไร มันก็จะเป็นอะไรสักอย่างก็ไม่ได้เลย หรือจะค้นหาให้รู้ก็ไม่ได้เลย ดังนี้,เราจึงรู้มันไม่ได้ เพราะถ้ารู้ได้ มันก็จะขาดความจำกัดไป ด้วยเราอาจค้นให้รู้ได้เสียแล้ว
เฮเก็ลจึงกล่าวแย้งไว้ว่า ความแท้จริงอันติมะนั้นไม่ใช่ว่าเราไม่อาจคิดค้นให้รู้ได้ เขาว่าสิ่งซึ่งบริสุทธิ์ และรู้ไม่ได้โดยสิ้นเชิงนั้น ย่อมมีแต่ความสูญหรือความไม่มี และนี่จะเป็นความแท้จริงไปไม่ได้เลย ไม่มีอะไรที่จะมองเห็นได้ในตัวมัน ไม่มีอะไรที่จะคิดถึงได้ในตัวมัน เมื่อค้นหาไม่ได้มันก็ต้องเป็นความสูญ และไม่เป็นอะไรมากหรือน้อยกว่าความสูญ เรื่องของสิ่งที่มีแท้ๆแต่ไพล่ไปเท่ากับความสูญนี้ เฮเก็ลว่า,ฟังดูแล้วไม่ได้ความเสียเลย เขาจึงกล่าวว่า,หากคิดอย่างข้างต้นก็ต้องได้ความอย่างนี้ คือ, ท่านคงจะอุทานว่า อะไรกัน! มีหรือไม่มีก็เหมือนกัน! ถ้าเช่นนั้นตัวฉันจะมีหรือไม่มีก็เหมือนกัน.. บ้านหลังหนึ่ง, เงินบาทหนึ่ง,มนุษย์คนหนึ่ง..แต่ละหนึ่ง ๆ นี้เป็นสิ่งซึ่งถูกกำหนดไว้ และผิดแผกจากความสูญโดยที่มีลักษณะแน่นอนอยู่หลายอย่าง แต่สิ่งที่มีอยู่อย่างบริสุทธิ์ (Pure Being พยูร บี-อิง) ย่อมไม่มีลักษณะอะไรตามสมมติฐานนั้น กล่าวคือมันไม่ได้อยู่ณที่ใดในเวลาใด เพราะที่และเวลา (Space & Time) ย่อมกำหนดความจำกัดให้แก่มัน มันไม่ใช่สารอนินทรีย์หรือสารอินทรีย์ ไม่ได้เป็นพิชานหรือเป็นสิ่งไร้พิชาน ไม่ใช่สารหรือไม่ใช่ภูต มันคือความสูญ แต่ถ้าเราคิดว่าความแท้จริงอันติมะเป็นความสูญแล้วก็ป่วยการเปล่า! มันจะเป็นอะไรก็ตาม แต่ต้องไม่เป็นความสูญแน่ๆ จะต้องเป็นอะไรสักอย่าง เพราะว่าอย่างน้อยที่สุด ความแท้จริงอันติมะ ก็รวมเอา-หรือเป็นสิ่งเดียวกับ-การคิดถึงมันอยู่ในขณะนี้ และข้อเท็จจริงทางพิชานนั้น แม้จะเป็นอย่างที่กล่าวกับตัวเองว่า ความแท้จริงอันติมะคือความมีอยู่อย่างบริสุทธิ์ ก็เป็นความแท้จริงที่กำหนดหมายได้ เพราะว่าอย่างน้อยที่สุด มันก็มีส่วนอันเป็นทางพิชาน อีกนัยยะหนึ่งความแท้จริงอันติมะมีลักษณะดังนี้คือ มันอาจถูกคิดถึงหรือเดาขึ้นมาได้ และการมีลักษณะแม้แต่ประการเดียว ก็ทำให้ความแท้จริงอันติมะเป็นสิ่งที่เราอาจค้นคิดได้ ขอกล่าวย้ำ,ความมีอยู่อย่างบริสุทธิ์หรือที่ค้นคิดไม่ได้จะต้องเป็นความสูญ แต่ความแท้จริงอันติมะนั้นอย่างน้อยก็มีลักษณะที่คิดถึงได้ ฉะนั้นความแท้จริงอันติมะย่อมถูกค้นคิดได้ และดังนั้นอภิปรัชญาจึงมีได้ตามวัตถุประสงค์ที่จะค้นหาธรรมชาติของความแท้จริงอันติมะนั้น ยังมีความคิดที่คัดง้างความคิดตอนท้ายนี้อีกคือ เมื่อยอมรับว่าความแท้จริงอันติมะมีลักษณะอันยืนยันได้เช่นนี้ มันมิต้องเป็นอิสระจากวัตถุอันเป็นความรู้ของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง แต่ตัดขาดจากข้อเท็จจริงแห่งความจัดเจนของเราหรือ วัตถุแห่งความรู้ของเราย่อมผูกพันอยู่กับรูปและขอบเขตแห่งพิชานของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ภายใต้กรอบโครงอันเป็นการกำหนดของความคิด มีกาลและอวกาศ,การเป็นเหตุเป็นผลและความเกี่ยวข้องอื่นๆ ฉะนั้นเรามิต้องสมมติว่าความแท้จริงอันติมะมีลักษณะของมันเอง เช่นสมมติว่าอย่างน้อยนั้นก็เป็นอิสระจากการค้นคิดด้วยพิชานของเรากระนั้นหรือ
เช่นนี้แหละคือความคิดของค้านต์และบรรดาปราชญ์อื่นๆซึ่งเชื่อในสิ่งโดยตัวเอง (Things in Themselves ธิงส อิน เฑ็มเซลฝส) อันเป็นความแท้จริงที่เป็นอิสระจากพิชานและวัตถุแห่งพิชานทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนเช่นนี้ถูกแถลงโดยนักวิทยาศาสตร์ ผู้มีหัวทางปรัชญาและโดยนักปรัชญาผู้ทำทางเข้าหาอภิปรัชญามาทางวิทยาศาสตร์ ท่านเหล่านี้กล่าวว่าความแท้จริงซึ่งเรารู้ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์หรือความปรากฏภายนอก แต่ทว่า,เบื้องหลังแห่งความปรากฏนี้ย่อมมีพลังอันติมะ กล่าวคือ,มีความแท้จริงภายในเป็นแก่นของปรากฏการณ์ภายนอก และสิ่งที่เป็นแก่น,เป็นพลังหรือความแท้จริงภายในนี้เรารู้ไม่ได้เพราะสิ่งที่เรารู้ได้,ย่อมเป็นสิ่งซึ่งกินที่ในอวกาศ,กินเวลาและมีความจำกัด ทั้งนี้โดยเป็นผลของเหตุและเป็นเหตุของผลเสมอ
ในกรณีที่มีความแท้จริงโดยอิสระได้นอกตัวเรานั้น เฮเก็ลให้ความเห็นหักล้างไว้สองประการ ประการแรกเขาอ้างว่าทั้งตัวค้านต์และ นักปรัชญาอื่นๆผู้ซึ่งอ้างว่า,มีความแท้จริงอันเรารู้ไม่ได้นั้น ในที่สุดก็สอนว่าความแท้จริงเหล่านี้มีข้อเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงแห่งความจัดเจนของมนุษย์ เช่นตัวอย่างที่ค้านต์อ้างว่าสิ่งโดยตัวเองเป็นต้นเหตุแห่งความรู้สึกของมนุษย์ และเนื่องจากเป็นพหูพจน์ด้วย โดยค้านต์เรียกว่า Things in Themselves (ธิงส อิน เฑ็มเซลฝส) มันก็จะต้องเป็นความคิดภายใต้ลักษณาการอย่างเป็นเหตุเป็นผล (Causality คอแสล-อิทิ) และ ความมากหลาย (Causality คอแสล-อิทิ) ผู้ที่ถือกันว่ามีพลังอันรู้ไม่ได้ เป็นความแท้จริงเบื้องหลังปรากฏการณ์ทางแม่เหล็กหรือการเติบโตนั้น ก็ย่อมต้องสมมติว่ามีพลังเพื่อใช้เป็นคำอธิบายปรากฏการณ์ที่สังเกตได้นั้น เฮเก็ลกล่าวว่า เราเห็นปรากฏการณ์ทางไฟฟ้า แล้วก็ถามว่าปรากฏการณ์นี้เกิดจากอะไร นี่จะเป็นอะไรถ้าไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่เราเห็นประจักษ์เฉพาะหน้า หากแปลงรูปเป็นความคิดภายในเสียเท่านั้น ข้อนี้เฮเก็ลหมายความว่า การอ้างมีพลังเบื้องหลังปรากฏการณ์ก็เพื่อประโยชน์ในการอธิบายปรากฏการณ์เท่านั้นเอง และความพยายามไม่ว่าจะด้วยวิธีเก่าหรือวิธีใหม่ก็ตาม ในการกำหนดความหมายของพลังนั้น ก็คงได้ความเพียงเท่านี้คือ ไม่มีใครรู้ว่าไฟฟ้า แรงเมคานิคส์, หรือเคมีสัพพรรค (Chemical Affinity เคม-อิแค็ล แอ็ฟฟีน-อิทิ) คืออะไร แต่ละอย่างถูกถือเป็นสมมติฐาน (Hypothesis ไฮพอธ-อิซิซ) แต่ไม่ถือเป็นสิ่งที่สังเกตได้ เป็นเหตุแห่งปรากฏการณ์ชุดหนึ่ง หรือเป็นวัตถุแห่งพิชานของเรา คงจะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า แรงเช่นนั้นไม่อธิบายปรากฏการณ์อะไรได้แน่นอนเลย มันคงเป็นเพียงแค่ที่เฮเก็ลเรียกว่า Tautology (ทอทอล-โอะจิ) หรือการเรียกสิ่งเดียวกันด้วยคำอื่นเท่านั้น และการที่จะทึกทักเอาว่าพลังตามที่สมมติขึ้นมานั้นเป็นอิสระต่อปรากฏการณ์และจริงกว่าปรากฏการณ์ก็เป็นสิ่งที่เหลวไหล เพราะว่าเราอาจแสดงให้เห็นว่า จะมีพลังนี้อยู่ได้ก็ด้วยมีปรากฏการณ์นั้นๆเกิดขึ้นให้เห็นเสียก่อนเท่านั้น ทั้งนี้ก็โดยที่ข้อพิสูจน์ความมีอยู่ของมันก็เป็นไปเพียงแค่นี้ คือที่ว่าปรากฏการณ์อันเกิดขึ้นนี้ย่อมมีเหตุ ทั้งนี้ไม่ว่าจะมองในแง่เป็นตัวของมันเองหรือเป็นพลังเบื้องหลังปรากฏการณ์ ความแท้จริงอันเราถือกันว่าเป็นอิสระนั้น ที่จริงก็เป็นเรื่องซึ่งต้องอาศัยข้อเท็จจริงทางความจัดเจน และต้องเกี่ยวกับความจัดเจนอย่างใกล้ชิด เมื่อเป็นดังนี้ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะยึดถือว่าความแท้จริงอันติมะอยู่ภายนอกกรอบข่ายแห่งวัตถุอันเป็นความรู้ของเรา




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2551
2 comments
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 11:30:01 น.
Counter : 7262 Pageviews.

 

เย่ๆๆๆ คนแรก

 

โดย: ปุ๊กกู่ IP: 58.8.191.78 12 กุมภาพันธ์ 2552 20:37:44 น.  

 

ถ้าแบบนี้งั้นการนั่งสมาธิแล้วที่พระบอกเห็นเป็นดวงแก้วใสๆ สิ่งนั้นคือ ความจริงสูงสุดรึเปล่าครับ ?

 

โดย: อชิ IP: 58.136.86.40 17 พฤษภาคม 2553 14:49:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

ลุงกฤช
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




อดีต : พ่อค้า ผู้รับเหมาก่อสร้าง

ปัจจุบัน : อาจารย์พิเศษสอนปรัชญาเป็นประจำแก่สถาบันของรัฐแห่งหนึ่ง สอนพิเศษนักศึกษาปริญญาตรีและโทมหาลัยมหิดล

คืนกำไรให้ชีวิตหลังจากการทำงานหนักมาเกือบตลอดชีวิต ขับรถไปฮันนี่มูนต่างจังหวัดบ้าง ไปสอนต่างจังหวัดบ้าง มีความสุขกับศรีภรรยาที่อยู่กันมาเกือบ 50 ปี
เธอดูแลเราเหมือนลูก เพราะลูกๆต่างก็มีครอบครัวแยกย้ายไปทำมาหากินกันดีๆทุกคนแล้ว เราเลยอยู่กันสามพ่อแม่ลูก(คนสุดท้อง)ซึงไม่ยอมมีผัว เพื่อดูแลพ่อแม่ กับหมาอีก 8 ตัว บางวันก็ไปสอนบ้าง บางวันก็เข้ามาในบล๊อกบ้างเพื่อเอางานที่เรียนรู้มา มาคืนให้แก่สังคม ดังที่เห็นๆกันแล้ว งานส่วนใหญ่ที่คัดลอกมาให้อ่านกันเป็นงานเขียนของท่านอาจารย์สมัคร บุราวาศ และทรรศนะส่วนตัว
อยากให้คนสนใจเรื่องปรัชญา เพราะตัวเองนั้นมีความสุขอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีปรัชญาชี้นำการดำเนินชีวิต มีความรู้ในการปฏิบัติทำมาหากิน ภายหลังหยุดชีวิตการทำมาหากินแล้วก็ยังมีสมบัติทีมากกว่าเบี้ยบำนาญของราชการ

แม้ไม่รวย แต่ก็ไม่จน จึงอยากให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนเข้ามหาลัยได้ดูเป็นแบบอย่างบ้าง เพราะชีวิตผมเริ่มต้นจากสูญ ไม่มีมรดกจากพ่อแม่

บทความซึ่งจะนำลงตอนละประมาณหนึ่งอาทิตย์ ถ้าใครไม่สนใจอ่านจะลบทิ้ง

บทความตอนใดที่ไม่มีผู้สนใจอ่าน(ไม่ให้ความเห็น)
จะลบออกเร็วกว่านั้น
อยากบอกอยากถามก็ขอให้เขียน เรามาแลกเปลี่ยนวิถีทรรศน์ของกันและกัน เพื่อเดินทางร่วมกันฉันท์สหาย
[Add ลุงกฤช's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com