โลกมีทางให้เดินเป็นพันพันทาง เราต่างใช้ปรัชญาแห่งชนชั้นของตน นำทางในการเดิน เราต่างเดินตาม ปรัชญาแห่งชนชั้นตน
 
กรกฏาคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
19 กรกฏาคม 2551
 
 

จิตนิยมงอกต้านสสารนิยม

แม้จะได้เกิดสสารนิยมและวิทยาศาสตร์แรกคลอดขึ้นแล้วก็ตาม จิตนิยมก็งอกงามขึ้นอีกในหมู่อภิชนชาวกรีกของกรุงเอเธนสฺ นักจิตนิยมเหล่านี้มีลักษณะดังนี้คือ เชื่อในความคิดทางตรรกวิทยายิ่งกว่าความประจักษ์ทางอวัยวะรับสัมผัส เชื่อว่าวิญญาณหรือจิตเป็นใหญ่เหนือวัตถุ และต่อต้านประชาธิปไตย, กับเข้าข้างอภิชนาธิปไตยหรือราชาธิปไตย จะเห็นได้ชัดว่า พวกจิตนิยมเหล่านี้ดูถูกอวัยวะรับสัมผัสและสสารนิยม เพราะความคิดเหล่านี้เป็นความคิดของฝ่ายผู้ทำงาน,ฝ่ายทาส

อนักซาโกรัส (Anaxagoras ปี 500-428 ก่อน ค.ศ.) ได้นำวิญญาณนิยมของโบราณกาลคืนมาอีก โดยสอนว่าวิญญาณ, อันปรากฏในสิ่งมีชีวิต, เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาธรรมชาติ เขาสังเกตเห็นว่า สรรพสิ่งตามปรกติจะหยุดนิ่งอยู่ ต้องมีอะไรมาเคลื่อนมัน มันจึงจะเกิดการเคลื่อนไหวขึ้น เขาจึงสอนว่าวิญญาณทำให้ปรมาณูเคลื่อนไหว และวิญญาณทำให้สรรพสิ่งหมุนเวียนไป ในการนี้มันจะแยกตัวออกจากกันหรือเข้าชนกัน แล้วให้กำเนิดอีเท่อร์, อากาศ, น้ำ, ดิน, หิน, ดวงอาทิตย์, ดวงดาวและโลกถูกเหวี่ยงไปในอวกาศและลุกเป็นไฟขึ้น เขายังกล่าวอีกว่า วิญญาณทำให้สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไป มันให้กำเนิดชีวิตและควบคุมธรรมชาติ

เราจะเห็นว่าจิตนิยมของอนักซาโกรัสนี้ มีความก้าวหน้า ตรงที่เอากฎธรรมชาติมากล่าวสอนไว้อย่างถูกต้อง เดโมกริตัสเพียงเอาเรื่องวิญญาณของอนักซาโกรัสทิ้งไป เขาก็ได้ทฤษฎีปรมาณูทางวิทยาศาสตร์มาเป็นของเขา

จิตนิยมของกรีซ เกิดจากการดำเนินประชาธิปไตยในนครรัฐเอเธนสฺและการดำเนินคดีในศาล ในการนี้ชาวกรีกได้ผ่านความจัดเจนในการพูดอย่างมีคารม, ในการพูดโต้แย้ง, ในการต่อสู้หรือตัดสินคดี จึงเกิดการคิด
ค้นหาความจริงขึ้น เมื่อเริ่มรู้จักใช้ความคิดกัน ก็เกิดความสงสัยขึ้นในสิ่งที่รับเชื่อมาแต่โบราณกาล ชาวกรีกพวกหนึ่งจึงกลายเป็นนักสงสัยหรือ นักวิมัตินิยม (ซเคพ-ทิค Sceptic) ไป พวกเขาคือพวกนักวาทะ (Sophist ซอฟ-อิซทฺ) ที่เป็นครูผู้เที่ยวจาริกไปและเที่ยวสอนความรู้แก่ประชาชนชาวเอเธนสฺ พวกนักวาทะสอนว่า ความรู้อันแท้จริงในสัจธรรม (ทรุธ Truth) นั้นไม่มี จะมีก็แต่ความคิดเห็นเท่านั้น แต่ก็มีเครื่องวัดความคิด เห็นว่าถูกหรือผิด นี่คือความนิยมของมหาชน

โพรทะกอรัส (Protagoras) นักวาทะผู้หนึ่งสอนว่า มนุษย์เป็นเครื่อง วัดทุกๆสิ่งฉะนั้นเราจึงควรรู้วิธีพูดโน้มน้าวใจคนที่เรียกว่าการใช้วาทศิลป์ (Rhetoric) และรู้วิธีเสนอเหตุผลเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแยบคาย กระทั่ง ทำให้คนๆนั้นเห็นสิ่งนั้นเป็นดีก็ได้, ชั่วก็ได้ นี่คือวาทศาสตร์ (Rhetorics เรทโทะริ่คสฺ) พวกนักวาทะ (Sophist), ซึ่งคุ้นกับการโต้คารมในการดำเนินประชาธิปไตย, ได้สอนว่ามนุษย์ เราเกิดมาทัดเทียมกันทั้งสิ้น จะดีชั่วย่อมอยู่ที่การศึกษาพวกนักวาทะ จึงเที่ยวรับจ้างสอนวิชาวาทศาสตร์ (Rhetorics) และตรรกวิทยา (Logic)

กอร์เกียส (Gorgias) นักวาทะ (Sophist ซอฟ-อิซท) ผู้หนึ่ง ได้เป็นอาจารย์ของเปริกลิส (Percles) ผู้นำของเอเธนสฺ นักวาทะเหล่านี้ได้วางหลักตรรกวิทยาไว้ และนำไวยากรณ์มาสู่ภาษากรีก

ตรรกวิทยา (ลอจ-อิค Logic) คือวิธีคิดด้วยเหตุผลนั่นเองแต่เป็นเหตุผลเกี่ยวกับการบัญญัติและอัตถะพยัญชนะของนามธรรมต่างๆ หาใช่เหตุผลตามความเป็นจริงในโลกภายนอกไม่ มันเป็นเหตุผลที่ดำเนินไปตามหลักที่วางไว้เหมือนไวยากรณ์ของภาษา ดังนั้นจึงเรียกกันว่า เหตุผลแบบฉบับหรือตรรกวิทยาแบบฉบับ (Formal Logic ฟอ-แม็ล ลอจ-อิค) ไวยากรณ์กับคณิตศาสตร์, โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรขาคณิตดำเนินไปตามตรรกวิทยาแบบฉบับ จึงเกิดควบคู่กันมา การที่พวกกรีกนิยมใช้เรขาคณิตฝึกความคิด ก็เป็นเพราะเรขาคณิต คือ ตรรกวิทยาฝ่ายปฏิบัตินั่นเอง บทพิสูจน์ในเรขาคณิตหาผิดอะไรกับการพิจารณาคดีไม่

มนุษย์ระหว่าง 1,000 ปี ก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. 1600 ได้งมงายอยู่ใน หลักทางตรรกวิทยาที่ว่า จากเหตุเราอาจคิดให้รู้ผลได้ หรือจากผลเราอาจคิดให้รู้เหตุได้ นี่เลยนำไปยังหลักอันคลาดเคลื่อนที่ว่า เราอาจค้นหาความแท้จริงได้ด้วยการคิด, ด้วยการเก็บความจริงโดยใช้ตรรกวิทยา ดังนั้นระยะเวลาระหว่าง 2,600 ปีนี้ โลกจึงได้งมงายอยู่ในหลักญาณวิทยาเช่น กล่าวนี้ โลกจึงไม่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์, หากก้าวหน้าแต่ทางปรัชญาเท่านั้น เราจึงจัดระยะเวลา 2,600 ปีนี้ เป็นสมัยแห่งปัญญาทางปรัชญา

แม้อาริสโตเติ้ลกับเฮอราคลิตัส จะได้ยืน ยันว่า ความรู้ได้มาทางอวัยวะรับสัมผัสแล้วก็ตาม นักจิตนิยมพวกนี้ก็ยังกล่าวดูหมิ่นความรู้ที่ได้มาทางอวัยวะรับสัมผัส และยกย่องเชิดชูความรู้ที่ได้มาทางความคิด ผู้ที่มีปัญญา,ซึ่งถูกยกย่องในสมัยนี้,ได้แก่ผู้ที่คิดให้รู้, ไม่ใช่ผู้ที่รู้ด้วยการค้นพบ

พาร์มินีดิส (Parminedes ปี 540-475 ก่อน ค.ศ.) ชาวเมืองอีเลีย (Elea) ในกรีซได้ทำการสอนว่า ความคิดเป็นที่มาแห่งความรู้อันแท้ จริง แต่อวัยวะรับสัมผัสเป็นสิ่งลวง พาร์มินีดิส กล่าวต่อไปว่า สากลโลกนี้หามีผู้ใดสร้างขึ้นไม่และไม่มีใครทำลายให้สูญไปได้ เขาติเตียนเทววิทยา(Mythology มิธอล-โอะจิ่) ว่าเป็นความเท็จ แต่ก็ถือว่าความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงเป็นความลวงหรือมายา (Illusion อิลยู-ฌั่น)

ซอกราเตส (Socrates ปี 469-399 ก่อน ค.ศ.) เป็นนักวาทะ (Sophist) ที่ย้ำในคุณประโยชน์ของการโต้เเย้ง (Dialectic ไดอะเลค-ทิค) เพราะเขาว่าสัจธรรมจะปรากฏขึ้นให้เห็นระหว่างการโต้แย้งนี้ ซอกราเตสไม่เห็นด้วยกับลัทธิวิมัตินิยมของนักวาทะ (Sophist) ส่วนมาก และได้แสดงความสงสัยในลัทธินี้ เขาเป็นนักสงสัยในลัทธิชอบสงสัย จึงกู้คืนสัจธรรมมาสู่มนุษย์อีกวาระหนึ่ง

ซอกราเตสไม่เชื่อถือเทววิทยาของชาวแอทธินสฺ แต่เขาเชื่อในพระเป็นเจ้าที่สูงกว่าเทวดาของกรีก ข้อนี้เพียงพอแล้วที่จะทำให้เขาถูกตัดสินให้ดื่มยาพิษตาย เราไม่พบว่าซอกราเตสวางหลักปรัชญาอะไรไว้
บ้าง เขาเป็นนักจริยธรรมมากกว่านักปรัชญา และก็มีความคิดไม่ผิดกับ นักวาทะอื่นเท่าไรนักในเรื่องสงสัยในความรู้ของมนุษย์ เพราะเขากล่าวไว้ว่า เรารู้อย่างเดียวเท่านั้นคือรู้ว่าเราไม่รู้อะไร

ซอกราเตสได้เสนอทฤษฎีวิญญาณใหม่ให้แก่ชาวเอเธนสฺ เขาสอนว่าวิญญาณเป็นสิ่งที่ให้ชีวิต เป็นปราณที่ไม่มีผู้ใดสร้างขึ้นและเป็นอมตภาพ โดยทั่วไป วิญญาณเป็นสิ่งที่ร่วมอยู่ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเกี่ยวกับส่วนของตัวคนที่เป็นอมตะ เขาไม่ได้ถือว่าวิญญาณเป็นสิ่งต่างหากจากตัวตน หากเป็นตัวตนนั้นเอง เขาว่าวิญญาณคือบุคลิกภาพในเวลาตื่นตามปรกติของเรา มันเป็นที่ตั้งแห่งอุปนิสัยและความเฉลียวฉลาด ซอกราตีสจึงสอนให้ชาวเอเธนสฺระมัดระวังและรักษาวิญญาณของตนไว้

พลาโต้ (Plato ปี 437-360 ก่อน ค.ศ.) ได้คิดคืบไปจากปรัชญาของพวกอีเลียทิคสฺ (Eleatics) กับซอกราตีส เขาเชื่อว่าความเปลี่ยน แปลงเป็นสิ่งลวงเหมือนพวกอีเลียติคสฺ และเชื่อในเรื่องวิญญาณตรงกับซอกราตีส เขาคิดคืบไปจากมติของซอกราตีสที่ว่า คุณธรรมคือความรู้ ความชั่วคืออวิชชา ขณะที่พวกอีเลียติคสฺเชื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งลวง และพวกนักวาทะ (Sophist) ว่า, ความรู้มีไม่ได้นั้น, พลาโต้สอนไว้ว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งลวงจริง แต่มันก็เป็นการแปรเปลี่ยนเข้าหาแบบรูป (ฟอม Form) และเป็นการแปรเปลี่ยนเสื่อมจากแบบรูปนี้ไป ฉะนั้นความรู้จึงมีได้ เพราะเป็นความรู้เกี่ยวกับแบบรูปอันเป็นนิรันดรนี้ มันเป็นความรู้ในรูปสมบูรณ์ (Knowledge of the form นอลิจ อ็อฝ ฑิ ฟอม)

พลาโต้สอนว่าโลกของเรานี้เป็นสิ่งลวงหรือมายา (Illusion อิลยู-ฌั่น) และที่เราเห็นเป็นเพียงเงาของความเป็นจริงเท่านั้น ความเป็นจริงได้แก่แบบรูปสมบูรณ์, ซึ่งสรรพสิ่งเติบโตเข้าหาและเสื่อมถอยออกไป ในโลก, ดังที่เราเห็น พลาโต้จึงสอนว่า มีโลกทิพย์อยู่ซ้อนกับโลกเราอันเป็นโลกแห่งสรรพสิ่งสิ่งมีอยู่อย่างเป็นแบบรูปสมบูรณ์ของมันและไม่เปลี่ยนแปลง ในโลกนี้เขาว่าวิญญาณ, อันเป็นอมตภาพ ไม่รู้เปลี่ยนแปลง, ก็จะอยู่ในนั้นด้วย, ตลอดจนคุณธรรมต่างๆที่โลกมนุษย์ใฝ่หากัน

จิตนิยมของพลาโต้อยู่ที่ตรงนี้คือ เขาถือโลกเท่าที่ประจักษ์เป็นความลวง และถือโลกที่อนุมานเอาว่ามีอยู่ เป็นความจริง พลาโต้ถือสิ่งๆหนึ่งเป็นความลวง แต่ถือแบบรูปของมันอันเป็นการอนุมานทางตรรกวิทยาเป็นความจริง คนเราในปัจจุบันมักตกหลุมจิตนิยมเช่นนี้กันมาก และพากันมองนามธรรมฐาน มีอยู่จริง, ทั้งๆที่มันมีอยู่แต่ในนามเท่านั้น ส่วนรูปธรรมที่สัมผัสได้กลับกล่าวกันว่าเป็นมายาหรือสิ่งลวง ปรัชญาพราหมณ์ก็เป็นไปในทำนองนี้ มันเป็นผลของปัญญาทางปรัชญาจากความยึดมั่นในตรรกวิทยาแบบฉบับเท่านั้น

อาริสโตเติ้ล (Aristotle ปี 384-322 ก่อน ค.ศ.) เป็นศิษย์ของพลาโต้แต่ไม่ลงรอยกับอาจารย์ของเขาในเรื่องถือนามธรรมเป็นความจริงนี้ เขาถือว่าความรู้ย่อมได้มาทางอวัยวะรับสัมผัส ฉะนั้นสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงเป็นความจริง ส่วนนามธรรมอันได้แก่แบบรูปของมันเป็นความคิดเท่านั้น ศิษย์กับอาจารย์ได้ทุ่มเถียงกันในเรื่องนี้เสมอๆ อาริสโตเติ้ลเป็นอาจารย์ของ อเล็กซานเด้อร์มหาราชแห่งมาซิโดเนีย (Macedonia) ระหว่างนั้นพลาโต้ตั้งอาศรม,สำนักวิทยาการ (Academy อะแคด-เอะมิ่) ขึ้น อาริสโตเติ้ลถูกชิงชัง เขาจึงไปขอทุนจากอเล็กซานเด้อร์มาตั้งอาศรมบ้างเขาตั้งสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาขึ้นชื่อว่า Lyceum (ไลซี-อัม) และได้ค้นคว้าทางธรรมชาติวิทยาต่อไป เขาส่งคนไปเที่ยวเก็บซากพืชและสัตว์ตามประเทศต่างๆมาไว้ที่ Lyceum นี่เป็นครั้งแรกที่โลกมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

อาริสโตเติ้ลเองก็ออกตรวจความเป็นอยู่ของสัตว์ใต้ทะเล และทำบันทึกเกี่ยวกับชีวิตไว้มาก เขาพยายามเรียนรู้รอบด้านและมีความรู้ประหนึ่งเอ็นไซโคลปีเดียทีเดียว จิตนิยมของอาริสโตเติ้ลก้าวหน้ากว่า พลาโต้ คือเขาถือความเปลี่ยนแปลงเป็นความจริง เขาถือว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นพัฒนาการอันมีต้นเหตุ แนวความคิดของเขาได้จากการเฝ้าดูช่าง สลักหินเป็นรูปคนในเอเธนสฺ การนำกระบวนการสลักหินไปอธิบายกระบวนการในธรรมชาตินี่เอง ทำให้จิตนิยมเคลื่อนมาสู่ปรัชญาของเขา

อาริสโตเติ้ลสอนไว้อย่างถูกต้องว่า สิ่งใดก็ตามที่จะเกิดมาได้นั้นต้องมีเนื้อซึ่งเป็นสสาร และต้องมีเหตุที่ให้กำนิดแก่เนื้อนี้ เช่นต้นกำเนิดหรือบิดามารดา ต้องมีกระบวนการพัฒนาสำหรับก่อรูปร่างให้แก่เนื้อ และตรงนี้เองที่เขาตกหลุมจิตนิยมโดยไม่รู้ตัว เขาสอนว่าเหตุที่สี่ ของการบังเกิดสิ่งหนึ่ง ๆ คือ แบบรูปสมบูรณ์ของมัน ตรงนี้เองเขาก็ลงรอยทางความคิดกับพลาโต้ได้ คือ เขาสอนว่ารูปสมบูรณ์อันเป็นจุดหมายปลายทางเป็นสิ่งที่ดึงพัฒนาการให้มุ่งไปหา มันเหมือนกับมโนภาพวีนัสในใจของช่างสลักระหว่างที่ทำการสลักหินอยู่ฉะนั้น

อาริสโตเติ้ล เท่ากับสอนว่า เหตุ, คือรูปสมบูรณ์, ดึงผลคือเนื้อและรูปให้ไปหา ความ คิดอย่างนี้เรียกว่า ถือปลายเป็นเหตุของต้น (Teleology เทเลออล-โอะจิ่) คือ อาริสโตเติ้ลสอนต่อไปว่าเนื้อของสิ่งๆหนึ่งอาจเป็นรูปสมบูรณ์ของอีกสิ่งหนึ่งได้ เช่นหินอ่อนเป็นเนื้อของรูปสลัก วีนัส แต่มันก็เป็นรูปอย่างหนึ่งของหินโดยทั่วไป สิ่งต่างๆจึงต่างก็เกี่ยวข้องเป็นเนื้อและแบบรูปซึ่งกันและกัน และเรียงลำดับกันอยู่จากเนื้อขั้นต่ำที่สุดไปถึงแบบรูปที่สูงสุด เขาตอบว่านี่คือพระเป็นเจ้านั่นเอง พระองค์เป็นเหตุดึงพัฒนาการทั้งหลายให้มุ่งไปสู่ เป็นตัวเคลื่อนที่ไม่เคลื่อนไหว (Unmoved Mover อันมูฟดฺ มูฟ
เว่อร์) อาริสโตเติ้ลได้รวบรวมวิชาตรรกวิทยาไว้ และตรรกวิทยาของเขาได้ตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้

ในอินเดียระหว่างปี 323 ก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 117 ได้เกิดทรรศนะหรือศาสตร์ขึ้น 6 อย่างคือ นยายะ ไวเศษิกะ สางขยะ, โยคะ, มีมางสากับเวทานตะ นยายะได้บรรยายตรรกวิทยาของอินเดียไว้ และอธิบายวิธีปฏิบัติธรรมอันเป็นไปเพื่อสุคติ มีมางสากับเวทานตะ เป็นปรัชญาจิตนิยมซึ่งสอนว่า โลกอยู่ใต้การบัญชาของพระเป็นเจ้าผู้เป็นใหญ่ คือ ปรมาตมัน อันเป็นอนันตะ (Imfinite อินฟินิท) ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีทำลายแตกดับ แผ่ซ่านอยู่ทั่วไป ปราศจากรูปร่าง และเป็นผู้รังสรรค์โลกขึ้น มติเรื่องอาตมันของ
มนุษย์เป็นอย่างเดียวกับอาตมันของพรหมได้ถูกทิ้งไป เกิดคำสอนใหม่ขึ้นมาว่าชีวาตมันอันเป็นวิญญาณมนุษย์นั้นเป็นเพียงส่วนย่อยๆของปรมาตมัน ปรัชญาเวทานตะถูกอธิบายอย่างแจ้งชัดในคัมภีร์ภควัทคีตาอันถูกเขียนขึ้นให้เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์มหาภารตะ, ที่มีมาแต่เดิม ภควัทคีตาบรรยายถึงลักษณะครอบงำของปรมาตมันต่อสรรพสิ่งของชีวิตทั้งปวง และได้นำความคิดเรื่องพระเจ้าเป็นบุคคลกลับมาอีก เวทานตะจึงเป็นการถอยหลังเข้าคลองลัทธิอาตมันแต่เดิม

ราวๆ ปี ค.ศ. 100 พุทธปรัชญาก็แสดงการถอยคืนไปสู่จิตนิยมแบบพราหมณ์เหมือนกัน ปรัชญาเถรวาทะได้กลายรูปเป็นปรัชญามหายานไป แต่ก็ได้เกิดความคิดก้าวหน้าขึ้นในปรัชญาใหม่นี้ กล่าว คือได้มีการย้ำถึงอำนาจของสิ่งแวดล้อมต่อบุคคล นี่ส่งเสริมลัทธิที่เชื่อในการมีพระโพธิสัตว์มาช่วยดึงบุคคลที่งมงายให้ไปสู่ปัญญาและสุคติ ปรัชญามหายานโจมตีหลักในปรัชญาเถรวาทะเกือบทุกข้อ และสอนว่าสสารหรือรูปธรรมเป็นเพียงมโนภาพลอยอยู่ในที่ว่างเปล่า แล้วยังเป็นมโนภาพที่เกิดจากอวิชาหรือ ตาที่ป่วย เสียด้วย

ปรัชญามหายานสอนว่า จิตตามปรกติเป็นสิ่งบริสุทธิ์และรู้แจ้งเป็นธาตุพุทธะและอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั่วไป ดังนั้นสิ่งมีชีวิตทั้งปวงจะได้ตรัสรู้กันหมด โดยมีวิวัฒนาการไปในทางก้าวหน้าไปสู่ภาวะพุทธะ ปรัชญามหายานยืนยันว่าจิตสากลหรือธาตุพุทธะเป็นอย่างเดียวกับจิตในภาวะนิพพาน และถือว่าไม่ใช่ของสูญ หากอาจอวตารมาช่วยโลกในรูปพระโพธิสัตว์ได้อีก ปรัชญามหายานเป็นผลของการใช้ตรรกวิทยาอธิบายธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ ผลคือจิตนิยมได้กลับสู่พุทธศาสนา แต่ในเวลาอันใกล้เคียงกันนี้เอง ก็เกิดความคิดทางปรัชญาเถรวาทะที่แท้ ดังปรากฏในมิลินทปัญหาที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2551
1 comments
Last Update : 19 กรกฎาคม 2551 23:24:26 น.
Counter : 1646 Pageviews.

 

ขอบคุณงานเขียน ที่รวบรวม ต้นตอ ของนักคิด จากดินแดนต่างๆของโลก ผู้ที่ทิ้งร่องรอย กลุ่มความคิด เพื่อสืบสานไปสู่ความรู้อย่างแท้จริง แม้ว่าในขณะนี้อาจจะพบ และยอมรับ กับความรู้ ดังกล่าวบ้างแล้ว แต่ก็เป็นความรู้ ในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะยังไม่พอเพียง สำหรับคำตอบต่างๆ
หรือยังไม่อาจให้ความกระจ่างชัด อย่างแท้จริง
ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่า เราจะค้นคว้าต่อไป โดยใช้ฐานความรู้ที่มีอยู่เดิม เพื่อสานต่อ ดัดแปลง ปรับปรุง หรือ สร้างขึ้นใหม่ หรือไม่ สำหรับผมกำลังค้นคว้า เรื่องจิต วิญญาณ ก็คงดำเนินการต่อไป จนกว่า จะสิ้นวาระของอายุขัยในพิภพมนุษยโลก ของจักรวาลนี้ สิ่งค้นพบใดๆ จะฝากไว้ สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษา ในแง่มุมต่างๆ ทุกมิติ เป็นไปโดยอิสระ ทั้งด้านบวกและด้านลบ

 

โดย: ยรรยง IP: 117.47.170.20 2 ธันวาคม 2551 11:11:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

ลุงกฤช
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




อดีต : พ่อค้า ผู้รับเหมาก่อสร้าง

ปัจจุบัน : อาจารย์พิเศษสอนปรัชญาเป็นประจำแก่สถาบันของรัฐแห่งหนึ่ง สอนพิเศษนักศึกษาปริญญาตรีและโทมหาลัยมหิดล

คืนกำไรให้ชีวิตหลังจากการทำงานหนักมาเกือบตลอดชีวิต ขับรถไปฮันนี่มูนต่างจังหวัดบ้าง ไปสอนต่างจังหวัดบ้าง มีความสุขกับศรีภรรยาที่อยู่กันมาเกือบ 50 ปี
เธอดูแลเราเหมือนลูก เพราะลูกๆต่างก็มีครอบครัวแยกย้ายไปทำมาหากินกันดีๆทุกคนแล้ว เราเลยอยู่กันสามพ่อแม่ลูก(คนสุดท้อง)ซึงไม่ยอมมีผัว เพื่อดูแลพ่อแม่ กับหมาอีก 8 ตัว บางวันก็ไปสอนบ้าง บางวันก็เข้ามาในบล๊อกบ้างเพื่อเอางานที่เรียนรู้มา มาคืนให้แก่สังคม ดังที่เห็นๆกันแล้ว งานส่วนใหญ่ที่คัดลอกมาให้อ่านกันเป็นงานเขียนของท่านอาจารย์สมัคร บุราวาศ และทรรศนะส่วนตัว
อยากให้คนสนใจเรื่องปรัชญา เพราะตัวเองนั้นมีความสุขอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีปรัชญาชี้นำการดำเนินชีวิต มีความรู้ในการปฏิบัติทำมาหากิน ภายหลังหยุดชีวิตการทำมาหากินแล้วก็ยังมีสมบัติทีมากกว่าเบี้ยบำนาญของราชการ

แม้ไม่รวย แต่ก็ไม่จน จึงอยากให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนเข้ามหาลัยได้ดูเป็นแบบอย่างบ้าง เพราะชีวิตผมเริ่มต้นจากสูญ ไม่มีมรดกจากพ่อแม่

บทความซึ่งจะนำลงตอนละประมาณหนึ่งอาทิตย์ ถ้าใครไม่สนใจอ่านจะลบทิ้ง

บทความตอนใดที่ไม่มีผู้สนใจอ่าน(ไม่ให้ความเห็น)
จะลบออกเร็วกว่านั้น
อยากบอกอยากถามก็ขอให้เขียน เรามาแลกเปลี่ยนวิถีทรรศน์ของกันและกัน เพื่อเดินทางร่วมกันฉันท์สหาย
[Add ลุงกฤช's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com