โลกมีทางให้เดินเป็นพันพันทาง เราต่างใช้ปรัชญาแห่งชนชั้นของตน นำทางในการเดิน เราต่างเดินตาม ปรัชญาแห่งชนชั้นตน
 
กรกฏาคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
11 กรกฏาคม 2551
 
 

ว่าด้วยการเกิดขึ้นของปรัชญาสสารนิยม

คำว่าสสารนิยม (Materialism มะเทีย-เรียะลิส’ม) นั้นเป็นคำกว้างๆ ของลัทธิปรัชญาเช่นเดียวกัน คำนี้บางทีก็เรียกกันว่า วัตถุนิยม แต่คำว่าวัตถุนิยมนี้มีข้อเสียคือ มันชวนให้ผู้ไม่รู้แปลความหมายของลัทธิตามอัตถะและพยัญชนะกล่าวคือแปลว่า ลัทธินิยมวัตถุ นี่หมายถึงความโลภที่จะกอบโกยเอาวัตถุมาเป็นของตน ผู้ที่แปลผิดอย่างนี้เลยคิดไปต่างๆ นานาเป็นการต่อต้านลัทธินี้ แต่ความผิดของเขาอยู่ที่การแปลอย่างผิดๆ ซึ่งตัวเขาเองทำขึ้น (ด้วยความสำนึกนี้เองทำให้ผู้เขียนอยากจะใช้นิยามแทนนิยม) เพราะไม่เคยมีสสารนิยมหรือวัตถุนิยมใดที่เป็นลัทธินิยมวัตถุด้วยความโลภเลย

นักสสารนิยมคือนักวิทยาศาสตร์ผู้มักน้อย ยากจน และชิงชังสมบัติทางโลกทั้งนั้น หาใช่นักนิยมวัตถุดังกล่าวไม่ ฝ่ายค้านของสสารนิยมกล่าวว่า สสารนิยมปฏิเสธความมีอยู่ของจิต และปฏิเสธศีลธรรมกับประเพณีอันดีงาม แต่ไม่มีสสารนิยมใดปฏิเสธความมีอยู่ของจิตเลย สสารนิยมทุกระบบต้องพิจารณาเรื่องจิตทั้งสิ้น ไม่มีสสารนิยมใดปฏิเสธศีลธรรมกับประเพณีอันดีงาม แต่กลับศึกษาภาวะทางวัตถุที่จะก่อให้เกิดศีลธรรมกับประเพณีอันดีงามดังกล่าวนั้นได้จริงๆ

สสารนิยมไม่เคยปฏิเสธคำสอนทางศีลธรรม แต่อ้างว่าคำสอนทางศีลธรรมจะเป็นประโยชน์อย่างจริงจัง ก็ต่อเมื่อภาวะทางวัตถุได้ถูกจัดสรรไว้เป็นอย่างดีแล้ว เพื่อกันมิให้คนเราเกิดความโลภดังที่ศาสนาห้ามไว้ ฝ่ายค้านสสารนิยมมักอ้างว่าความเจริญทางวัตถุก่อความชั่วร้ายขึ้น แต่สสารนิยมตอบว่า ความเจริญทางวัตถุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวิวัฒนาการของสังคมและเป็นเรื่องเป็นไปเอง เราจะปฏิเสธมันอย่างไรมันก็ต้องเกิดขึ้นวันยังค่ำ การนั่งบ่นและสวดมนต์อ้อนวอนหรือสอนศีลธรรมอย่างเดียวจะไม่ทำให้ความเจริญทางวัตถุหยุดชะงักหรือหยุดทำความเสียหายแก่มนุษยชาติได้เลย

ตรงกันข้ามสสารนิยมที่ถ่องแท้จะสอนให้เรารู้ถึงวิทยาศาสตร์สังคม คือ ให้รู้ว่าภาวะทางวัตถุอย่างไรจะก่อให้เกิดศีลธรรมขึ้นจริงๆได้ และให้รู้ว่าจะต้องจัดสรรหรือควบคุมพัฒนาการทางวัตถุของสังคมอย่างไร ศีลธรรมจึงจะเกิดขึ้นในจิตของมนุษย์ได้ ความบกพร่องของโลกในเวลานี้ไม่ใช่อยู่ที่สสารนิยม หากอยู่ที่จิตนิยมซึ่งได้แต่พูดแล้วไม่ทำหรือทำในสิ่งที่ไม่เกิดผล หากทางฝ่ายสสารนิยมจะบกพร่องแล้ว ก็จะบกพร่องตรงที่ไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ ในวิทยาศาสตร์สังคม กล่าวคือบกพร่องตรงที่ไม่ศึกษาสังคมด้วยทรรศนะทางสัจนิยมนั่นเอง

คำว่าสสารนิยม (Materialism มะเทีย-เรียะลิส’ม) ทางปรัชญาไม่ได้หมาย ถึงความปรารถนาหมกมุ่นนิยมในวัตถุด้วยประการใดๆเลย ตรงกันข้ามทีเดียวกับนักสสารนิยมซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ มีศีลธรรมและรู้เรื่องศาสนาดีไม่ยิ่งหย่อนกว่านักจิตนิยมเลย เขายึดมั่นในความสำคัญของวัตถุไม่ใช่เพราะจะหย่ากับกับความคิดหรือศีลธรรม หากแต่ได้พยายามมองหาเหตุของศีลธรรมอันแท้จริง ที่ได้แก่ภาวะทางวัตถุของสังคม เช่นที่พุทธศาสนาสอนว่ากิเลสนำมาซึ่งความทุกข์นั้น ไม่ใช่ว่านักสสารนิยมที่ดีจะไม่เชื่อ เขากลับจะช่วยชี้เหตุ,ที่ก่อให้เกิดกิเลส,ให้อีกด้วยว่าเกิดจากความปรารถนา ในอันที่จะได้มาซึ่งปัจจัยทางวัตถุของชีวิต เรื่องนี้นักจิตนิยมอาจกล่าวว่า กิเลสเกิดจากอวิชชา ฉะนั้นการแก้จะต้องเป็นการให้ปัญญาไป แต่นักสสารนิยมจะกล่าวว่า เมื่อมีรถยนต์งามๆมาล่อตา ก็จะเกิดกิเลสอยากได้รถยนต์ จะสอนด้วยปัญญาสักเท่าไรว่ารถยนต์, อันเป็นวัตถุก่อให้เกิดกิเลส และไม่ควรอยากได้มันก็คงไม่สำเร็จ, ตราบใดที่ยังมีรถยนต์งามๆมาล่อตาอยู่ เขาจะแนะว่าเพื่อระงับกิเลสให้เอารถยนต์ไปเสีย หรือมิฉะนั้นก็เร่งการผลิตให้ทุกคนมีรถยนต์กันได้สมความปรารถนา หรืออีกทางหนึ่งก็ระงับการใช้รถยนต์ส่วนตัวเสีย และให้มีแต่รถประจำทางคอยรับผู้คนอย่างเดียว การระงับกิเลสโดยเอารถยนต์ไปเสียนั้น, แม้จะเป็นการกระทำทางวัตถุ, ก็เป็นการกระทำทางศีลธรรมเหมือนกัน แม้การเร่งผลิตให้ทุกคนมีรถยนต์ใช้ทั่วหน้ากันก็เป็นการกระทำทางศีลธรรม การขบปัญหาทางวัตถุ จึงเป็นการกระทำทางศีลธรรมเพื่อผลแน่นอน ส่วนการให้ปัญญานั้นเป็นการกระทำเพียงผิวเผิน และจะไม่เกิดผลดังปรารถนา

ที่แท้แล้วสสารนิยมเป็นเพียงลัทธิที่สอนว่าจักรวาล (Universe ยู-นิเฝิซ) ประกอบด้วยความแท้จริงอันติมะเพียงอย่างเดียว คือ สสาร (Matter แมท-เทอะ) สสาร คือสิ่งที่เราคลำ, ฟัง, เห็น, ชิม, และดมดูได้ มันกินที่และมีมวล อากาศ, ดวงดาว, ดิน, หิน, แร่, พืช, สัตว์, มนุษย์, ประกอบขึ้นด้วยสสาร สมอง คือสสาร สสารนิยมไม่ได้ว่าจิตไม่มี แต่กล่าวตามความเป็นจริง, ดังที่ปรากฏว่า จิต คือปรากฏการณ์ในสมองซึ่งเป็นสสาร และจิตรับรู้โลกสสารภายนอกได้โดยผ่านอวัยวะรับสัมผัสที่เป็นสสาร มโนภาพที่นึกขึ้นมาในภายหลัง ก็เป็นมโนภาพที่ได้จากการรับรู้เช่นนี้ สสารนิยมสอนว่าสสารตกอยู่ในอาการเคลื่อนไหว เกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์ และเปลี่ยนแปลงเป็นพัฒนาการและวิวัฒนาการ, ซึ่งเรียกว่าปรากฏการณ์ของมัน ลัทธินี้ไม่ได้ปฏิเสธชีวิตทางจิต (Mental Life เมน-แท็ล ไลฝฺ) แต่สอนว่าเหตุเบื้องสุดของมันอยู่ที่ชีวิตทางวัตถุ (Material Life มะเทีย-เรียล ไลฝฺ)

สสารนิยมสอนว่า ความคิดเกิดทีหลังและถูกกำหนดด้วยภาวะทางวัตถุและจะเปลี่ยนแปลงตามหลังภาวะทางวัตถุ (Material Condition มะเทีย-เรียล ค็อนดีฌ-อัน) ไป แต่ก็ยอมรับว่าความคิดที่เกิดขึ้นนี้อาจกลับ ไปเป็นเหตุเปลี่ยนแปลงภาวะทางวัตถุได้ เช่น อากาศหนาวทำให้คนเรานึกถึงความอบอุ่นที่สบาย ตรงนี้ภาวะทางวัตถุคือความหนาวก่อให้เกิดความคิดอยากอบอุ่นขึ้น จึงเกิดความคิดอยากผิงไฟตามติดมา ทีนี้เขาก็จัดทำไฟขึ้นผิงและอากาศตรงนั้นก็อบอุ่นสบายดี นี่แสดงถึงตอนที่ความ คิดเป็นเหตุแห่งภาวะทางวัตถุ นักจิตนิยมมองเฉพาะตอนนี้ จึงเห็นเป็นเหตุอย่างเดียว ถ้าเขามองจิตตอนที่เป็นผลด้วยแล้วจิตนิยมจะไม่เกิดขึ้น การพิจารณาอย่างทั่วถ้วน ดังกล่าวมานี้เป็นลักษณะของสสารนิยมอันถูกต้องที่สุดของปัจจุบัน และดูๆก็จะเป็นปรัชญาของสามัญชนทั่วไปนั่นเอง แต่สสารนิยมก็เหมือนกับจิตนิยม คือมีการแปรเปลี่ยนไปจากไม่ใคร่ถูกต้องเป็นถูกต้องยิ่งขึ้น นี่เกิดจากการค้นพบข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์สังคมมากขึ้น อันทำให้ปรัชญาสสารนิยมแบบกลไก (Mechanistic Materialism เมค-อะนิซทิค มะเทีย-เรียะลิส’ม) ซึ่งเกิดจากการศึกษาวิทยา ศาสตร์ธรรมชาติด้านเดียวเปลี่ยน แปลงคำสอนทางสังคมไป กระทั่งสามารถสร้างปรัชญาสังคมด้วยทรรศนะทางสสารนิยมได้ใกล้ความจริงยิ่งขึ้น

สสารนิยมเกิดภายหลังจิตนิยมมาก คือเกิดภายหลังถึง 49,000 ปี มันเกิดขึ้นได้ เมื่อมนุษย์พ้นจากภาวะเก็บอาหารและของใช้จากธรรม ชาติและมีการผลิตของกินของใช้สูงขึ้นแล้ว การรู้จักใช้ไฟทำให้มนุษย์ยกไฟเป็นพระเจ้า ต่อมาเมื่อเขาทำกสิกรรม เขาก็ถือดิน, น้ำ และลมเป็นพระเจ้าจีนสนใจไม้กับทองคำมากกว่าลม จึงนับถือไฟ,ดิน,น้ำ,ไม้และทองคำ อินเดียเติมความว่างเปล่าคือ อากาศ เข้าไปในสิ่งที่มีทั้งสี่ จึงเชื่อในสิ่งมีรูปห้าประการคือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, อากาศ คนโบราณนับถือวัตถุธาตุ เหล่านี้เป็นเทพเจ้าในเมื่อเขามีการผลิตอาหารพืช และใช้ไฟ ต่อมาเมื่อเขามีการผลิต สูงขึ้น และคุ้นกับกระบวนการของสสารมากขึ้น ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ ก็กลายเป็นธาตุทั้ง 4 ที่ประกอบขึ้นเป็นโลกไป นี่เกิดจากการที่เทพเจ้าของวัตถุธาตุเหล่านี้เสื่อมความนิยมลงไป เพราะเกิดศาสนาใหม่และเทพเจ้าใหม่ด้วย เมื่ออินเดียมีพรหมเป็นพระเจ้าสูงสุดแล้ว อัคนี, วรุณ, พระพาย, พระธรณีก็ไม่มีผู้นับถือ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นประกฤติในปรัชญาสางขยะของอินเดียหรือกลายเป็นรูปธรรมในพุทธปรัชญาไป คือกลายเป็นดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, เฉยๆ นั่นเอง

ในวิวัฒนาการของความคิดทางปรัชญาจากวิญญาณนิยมของมานุษย์ถ้ำเนอานเดอร์ธาล ถึงสัจนิยมอันถ่องแท้ของปัจจุบัน แบบรูปจิตนิยมยังคงมีอยู่ตลอดมา แต่เนื้อในของมันกลายเป็นกลายเป็นสสารนิยมยิ่งขึ้น ๆ เป็นลำดับ ๆ กล่าวคือ สสารนิยมได้งอกขึ้นในจิตนิยม และทำให้มันเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ในสมัยปัญญาทางศาสนา, จิตนิยมมีแบบรูปค่อนข้างบริสุทธิ์ แต่เมื่อถึงสมัยปัญญาทางปรัชญา, การผลิตที่ทวีมากขึ้น ได้ทำให้สสารนิยมงอกขึ้นในจิตนิยม พวกกรีก,แม้จะเชื่อว่ามีวิญญาณในทุก ๆ สิ่ง, ก็ยืนยันถึงความสำคัญของ ดิน, น้ำ, ลม ไฟ, ในการประกอบเป็นสรรพสิ่งต่างๆ ชาวอินเดียมีปรัชญาสางขยะ, ซึ่งแม้จะเชื่อว่าทุกสิ่งมีบุรุษหรือจิตครอบงำอยู่, ก็เชื่อว่าโลกประกอบ ด้วยประกฤติอันเป็นรูปธรรม พุทธศาสนาก็เชื่อว่าสรรพสิ่งเป็นนามรูป คือประกอบด้วยทั้งรูปและทั้งนาม การงอกของสสารนิยมขึ้นในจิตนิยมนี้ทำให้เกิดทวินิยม (Dualism ดยู-แอะ ลิส’ม) ในปรัชญาขึ้น
เมื่อถึงสมัยปัญญาทางวิทยาศาสตร์ ได้เกิดสสารนิยมแท้ๆแบบกลไกขึ้น แต่นี่ก็หาใช่สัจนิยมอย่างถั่วถ้วนไม่ เพราะนักสสารนิยมพวกนี้เอาความคิดเรื่องกลไกหรือเรื่องฟิสิกส์-เคมีไปอธิบายปรากฏการณ์ทางจิต และบกพร่องไม่พิจารณาสังคมให้ถูกต้อง กล่าวคือในเรื่องจิตและเรื่องสังคม, นักสสารนิยมฝ่ายกลไกยังเป็นฝ่ายจิตนิยมอยู่ กระเปาะจิตนิยมนี้ เปรียบประดุจม่านอวิชชาอันครอบงำไว้ให้มืดมนอยู่เสมอกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตอนปลายแล้ว สัจนิยมแบบทั่วถ้วนจึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้น และวิวัฒน์มาถึงปัจจุบันนี้




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2551
4 comments
Last Update : 11 กรกฎาคม 2551 11:05:20 น.
Counter : 4921 Pageviews.

 

ตอนนี้เรียนที่รามค่ะ ก็ได้วิชา ปรัชญา เหมือนกัน ก็เลยหาข้อมูลในเรื่องขอปรัชญาให้มากขึ้นค่ะ

 

โดย: มะปราง IP: 125.24.229.206 11 มีนาคม 2552 16:09:56 น.  

 

ปรัชญาของคุณเป็นประโยชน์มากค่ะขอบคุณค่ะ

 

โดย: มะปราง IP: 125.24.229.206 11 มีนาคม 2552 16:11:38 น.  

 

อยากให้ช่วย อธิบายถึง ข้อดี และ ข้อเสีย
ของ ลัทธิสสารนิยม นะ ค่ะ


คือ ในความคิด แล้ว มองแง่ ดิฉันแล้ว
มันมองได้แคบ มาก อยากทราบว่า
ในทัศนคติของคุณแล้วมีความ เห็นว่าอย่างไร


ขอบคุณ ล่วงหน้า ค่ะ

 

โดย: KOK IP: 118.174.42.219 13 กุมภาพันธ์ 2553 17:42:28 น.  

 

ทำไมไม่มีใครเขียนลัทธิวิญญานนิยมเลย......อยากรู้

 

โดย: วิญญาณ IP: 58.9.57.55 31 กรกฎาคม 2554 10:11:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

ลุงกฤช
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




อดีต : พ่อค้า ผู้รับเหมาก่อสร้าง

ปัจจุบัน : อาจารย์พิเศษสอนปรัชญาเป็นประจำแก่สถาบันของรัฐแห่งหนึ่ง สอนพิเศษนักศึกษาปริญญาตรีและโทมหาลัยมหิดล

คืนกำไรให้ชีวิตหลังจากการทำงานหนักมาเกือบตลอดชีวิต ขับรถไปฮันนี่มูนต่างจังหวัดบ้าง ไปสอนต่างจังหวัดบ้าง มีความสุขกับศรีภรรยาที่อยู่กันมาเกือบ 50 ปี
เธอดูแลเราเหมือนลูก เพราะลูกๆต่างก็มีครอบครัวแยกย้ายไปทำมาหากินกันดีๆทุกคนแล้ว เราเลยอยู่กันสามพ่อแม่ลูก(คนสุดท้อง)ซึงไม่ยอมมีผัว เพื่อดูแลพ่อแม่ กับหมาอีก 8 ตัว บางวันก็ไปสอนบ้าง บางวันก็เข้ามาในบล๊อกบ้างเพื่อเอางานที่เรียนรู้มา มาคืนให้แก่สังคม ดังที่เห็นๆกันแล้ว งานส่วนใหญ่ที่คัดลอกมาให้อ่านกันเป็นงานเขียนของท่านอาจารย์สมัคร บุราวาศ และทรรศนะส่วนตัว
อยากให้คนสนใจเรื่องปรัชญา เพราะตัวเองนั้นมีความสุขอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีปรัชญาชี้นำการดำเนินชีวิต มีความรู้ในการปฏิบัติทำมาหากิน ภายหลังหยุดชีวิตการทำมาหากินแล้วก็ยังมีสมบัติทีมากกว่าเบี้ยบำนาญของราชการ

แม้ไม่รวย แต่ก็ไม่จน จึงอยากให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนเข้ามหาลัยได้ดูเป็นแบบอย่างบ้าง เพราะชีวิตผมเริ่มต้นจากสูญ ไม่มีมรดกจากพ่อแม่

บทความซึ่งจะนำลงตอนละประมาณหนึ่งอาทิตย์ ถ้าใครไม่สนใจอ่านจะลบทิ้ง

บทความตอนใดที่ไม่มีผู้สนใจอ่าน(ไม่ให้ความเห็น)
จะลบออกเร็วกว่านั้น
อยากบอกอยากถามก็ขอให้เขียน เรามาแลกเปลี่ยนวิถีทรรศน์ของกันและกัน เพื่อเดินทางร่วมกันฉันท์สหาย
[Add ลุงกฤช's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com