-'@'-Journey Of Love-'@'- เมื่อหัวใจเดินทาง
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
28 มิถุนายน 2553
 
 
Chill Out...New Zealand สไตล์ยาจกทัวร์ (ตอน 1)

วันนี้มาเปิดบ้านเรื่องเที่ยวนิวซีแลนด์ โดยต้องไปยกข้อมูลเก่าจากที่เคยทำไว้ใน pantip.com ห้อง blueplanet เนื่องจากลืม Copy ข้อมูลเก็บไว้ใน Word แถม หน้า Web Page ยังเอ๋อเร๋อ...หายไปหลายรอบ หวังว่าเอามาไว้ในนี้แล้วคงจะไม่หายไปอีกนะ

Reviews : New Zealand, ราคาประหยัด กับการเดินทาง 13 วัน


ในที่สุดแผนการเดินทางท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ 13 วันก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เกินงบประมาณจากที่ตั้งไว้มานิดหน่อย

ระยะเวลาเดินทาง 24 ธันวาคม 2552 - 5 มกราคม 2553
เส้นทาง : อ๊อคแลนด์ - ไครส์เชิร์ช - ดูนิดิน - เตอานาว - มิลฟอร์ดซาวด์ - ควีนส์ทาวน์ - แอโรว์ทาวน์ - ไครส์เชิร์ช - อ๊อคแลนด์

ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น ประมาณ 50,000 บาท


สายการบิน : การบินไทย (กรุงเทพฯ - อ๊อคแลนด์ - กรุงเทพฯ) + แอร์นิวซีแลนด์ (อ๊อคแลนด์ - ไครส์เชิร์ช - อ๊อคแลนด์)

ขั้นตอนแรกที่เริ่มดำเนินการคือ แลกตั๋วเครื่องบินค่ะ เนื่องจากมีไมล์สะสมที่จะโดนตัดทิ้งเกือบๆ สามหมื่นไมล์ ดังนั้นจำเป็นต้องหาทางออกด้วยการแลกตั๋วไปเที่ยวซะเลย จับฉลากเลือกประเทศก็แล้ว คำนวนเงินตราก็แล้ว คำนวนเส้นทางที่เดินทางก็แล้ว ระหว่างตะลุยหิมะโปรยปราย (อิตาลี - สวิสเซอร์แลนด์ - ฝรั่งเศส) กับ อาบแดดหน้าร้อน (โอเชียเนีย) จนในที่สุดก็ฟันธงเป็น ประเทศนิวซีแลนด์ ด้วยเหตุผลดังนี้
1. ค่าเงินตราสกุลยูโร ที่มันแพงเวอร์ในช่วงเดือน เมษายน ในขณะที่นิวซีแลนด์ เงินตกเหลือเพียง 20 บาทเท่านั้น
2. น้ำหนักที่จะต้องแบกตลอดการเดินทาง 13 วัน หากไปยุโรปต้องรับภาระเรื่องเสื้อกันหนาว และสารพัดอุปกรณ์ที่จะต้องติดตัว
3. สถานที่เที่ยวชมในยุโรปหลายแห่งปิดช่วงคริสต์มาส - ปีใหม่ และอีกหลายแห่งที่ปิดปรับปรุงในฤดูหนาว
4. ที่พักแบบ Backpacker หลังจากที่ไล่เช็คดูแล้ว ว่ามีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับผู้หญิงเดินทาง 2 คน
5. เส้นทางการขับรถ ค่าทางด่วน และ Parking Fee ตามจุดต่างๆ ที่จะต้องเสีย

จากนั้นก็จัดการส่งเรื่องเข้าไปทำที่การบินไทย โดยแจ้งชื่อ-สกุล และหมายเลขสมาชิกสะสมไมล์ ให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ และทำจองที่นั่ง
สำหรับเส้นทาง ไป Athens Auckland Frankfurt London Madrid Milan Munich Oslo Paris Rome Zurich
จะต้องใช้ไมล์ดังนี้
Economy Class 70,000 Mileages
Premium Economy 90,000 Mileages
Royal Silk Class 130,000 Mileages / Copenhagen & Stockholm = 110,000 Mileage
Royal First Class 185,000 Mileage

โดยจะส่ง Booking Code หรือที่เรียกกันว่า PNR มาให้ทางอีเมล์

หลังจากรอที่นั่ง Confirm เจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งกลับเพื่อทำการออกตั๋ว ซึ่งจะต้องออกตั๋วภายใน 7 วัน โดยชำระเฉพาะในส่วนค่าภาษีสนามบิน และน้ำมัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะส่ง E-Ticket มาให้ทางอีเมล์ (ของเราใช้เวลารอยืนยันที่นั่งเกือบ 1 เดือนเลย เพราะติดขากลับบ้าน วันที่ 3 มกราคม ไฟลท์ overbooking)

ขั้นตอนถัดมา ก็คือวางเส้นทางที่ต้องการจะเดินทางว่าจะไปเมืองไหนได้บ้างในจำนวนทั้งหมด แต่เมื่อสามปีก่อน เคยเที่ยวในส่วนของเกาะเหนือมาเกือบหมดแล้ว อีกอย่างเพื่อนคนที่ไปด้วยก็เคยเรียนอยู่ที่อ๊อคแลนด์ ดังนั้นแผนการท่องเที่ยวเลยต้องมุ่งลงใต้

วางเส้นทางลงใต้ก็เลือกเฉพาะเมืองที่ต่างคนต่างยังไม่เคยไปก่อน (ซึ่งก็เกือบทั้งหมดนั่นแหละ)

เขียน Planning การเดินทางวันที่ check-in , check-out ให้เรียบร้อยก่อน ว่าจะอยู่เมืองไหนกี่วัน เที่ยวส่วนไหนของเมืองบ้าง

เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่เมืองไหนกี่วัน เส้นทางหลักเป็นอย่างไร ก็จัดการจองตั๋วเครื่องบินภายใน อ๊อคแลนด์ - ไครส์เชิร์ช - อ๊อคแลนด์ เพราะหากทำจองล่วงหน้าแล้ว ก็จะได้ราคาค่อนข้างถูกพอสมควร ยิ่งมาเจอกับค่าเงินที่มันตกลงมา ยิ่งได้ตั๋วถูกสุดๆ

สายการบินภายในประเทศของนิวซีแลนด์ นอกจากสายการบินแห่งชาติ Air New Zealand (NZ) แล้ว ยังมีสายการบินจำพวก Low Cost อีก เช่น Pacific Blue Airline, Jet Star ลองเข้าไปที่เว็ปไซต์ของสายการบินโดยตรง และอีกอันที่อยากจะแนะนำ //www.flightcenter.co.nz ค่อนข้างเป็นที่นิยมและมีสาขาเยอะมาก

ของเราทำจองตรงกับเว็ปไซต์ของสายการบินเลย ได้ตั๋วไปกลับราคาประมาณ 3 พันกว่าบาท แต่ Non Refund, Non Endorse, Non Change Date สรุปว่าถ้าไม่ใช้ต้องโยนทิ้งเลย

เมื่อทำจองจ่ายตังค์ครบ ก็ได้รับยืนยันทางอีเมล์ จากนั้นเราก็เอา Code หรือ PNR เข้าไปทำจองที่นั่งบนเครื่องได้ สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศจะมีเฉพาะชั้นประหยัด ที่นั่งเป็นแบบ A B C - D E F เพียงแต่เราต้องเลือกและดูดีๆ เพราะหากบินจากเกาะเหนือลงเกาะใต้ และอยากเห็นวิวเทือกเขา ต้องนั่งฝั่งขวามือ ดูด้วยว่าปีกเครื่องบินอยู่ตรงไหน ไม่งั้นโดนบังวิวทิวทัศน์หมด ส่วนขากลับ ไครส์เชิร์ช - อ๊อคแลนด์ ก็เปลี่ยนมาเป็นฝั่งซ้ายมือสำหรับฝั่งภูเขา และ ฝั่งขวามือสำหรับมหาสมุทร



จากนั้นก็ทำเรื่องจองที่พัก จากประสบการณ์ที่เคยใช้บริการ YHA ที่ต่างๆ มา อีกทั้งยังเป็นสมาชิกด้วย คงไม่เสียเวลาไปนั่งค้นดู จัดการเข้า website YHA New Zealand เลย เช็คดูว่าแต่ละเมืองที่ต้องการพักนั้น มี YHA กี่แห่ง และแต่ละแห่งอยู่ตรงส่วนไหนของเมืองบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ที่พักเกือบทั้งหมดจะอยู่ค่อนข้างใจกลางเมือง เดินทางสะดวกมากๆ

หลังจากที่จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายชุดใหญ่เสร็จเรียบร้อย ก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมการยื่นวีซ่า

เนื่องจากเราเดินทางค่อนข้างบ่อย เอกสารเลยมีพร้อมตลอด ทำให้มั่นใจที่จะทำจองโรงแรม และออกตั๋วก่อนยื่นวีซ่าค่ะ

สำหรับคนที่ไม่ค่อยจะได้เดินทางไปต่างประเทศ อาจจะค่อนข้างกังวลกับเอกสาร ว่ายื่นไปแล้วจะผ่านหรือไม่ เงินในบัญชีจะพอหรือเปล่า ถ้าโดน Reject Visa กลับมา แล้วต้องมาเสียเงินค่าห้องพักทิ้งหรือไม่ มีคำตอบในการเตรียมตัวขั้นแรกให้ค่ะ

ต้องออกตัวไว้ก่อนนะค่ะ ว่าเอกสารอาจจะมีการปรับเปลี่ยนตามสถานฑูตกำหนดในแต่ละช่วงเวลาด้วยนะค่ะ เอกสารบางอย่างอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้

1. เอกสารพื้นฐานต้องมีครบถ้วน (ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน รูปถ่าย การทำงาน)

2. บัญชีเงินฝาก สำหรับสมุดบัญชีเงินฝากนั้น บางคนมีเงินไม่กี่หมื่นก็ยื่นผ่านเช่นกันค่ะ เพราะเจ้าหน้าที่เค้าจะดูจากการเดินทางที่ผ่านมา และหลักฐานการทำงาน จากนั้นก็จะพิจารณาในส่วนของเงิน แต่แนะนำว่า ตัวเลขเงินในบัญชีที่จะยื่น ต้อง...เน้นนะค่ะว่า "ต้อง" มีจำนวนเงินที่ Convert เป็นสกุล NZD แล้ว ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในส่วนของการเดินทางให้เพียงพอ เผื่อเกิดตกระกำลำบากขึ้นมา อย่างน้อยก็ต้องมีค่ากิน ค่าที่พัก ซึ่งอัตราเฉลี่ยของเงินที่อยู่ในบัญชี ก็ควรที่จะเกิน ค่าตั๋ว ค่าที่พัก ค่ากิน ค่าเดินทางต่างๆ ตลอดเวลาที่เราอยู่ในประเทศของเขา

3. แบบฟอร์มการยื่นวีซ่า อันนี้หาไม่อยากค่ะ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้จากเว็ปไซต์ของสถานฑูต จะเป็นไฟล์ Acrobat จากนั้นเราก็สามารถเอามาพิมพ์ให้เรียบร้อย //www.immigration.govt.nz/migrant/general/formsandfees/formsandguides/

เลือก Visit Form จากนั้นก็เซฟเก็บลงเครื่องไว้ก่อน ถ้ามีโปรแกรม Acrobat Pro ก็สามารถพิมพ์ลงไปได้เลย แต่ถ้าไม่มีก็ Print ออกมาแล้วพิมพ์ดีดเอาก็ได้ เพื่อความสะอาด สวยงาม ดูเป็นระเบียบ (อันนี้ก็เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งนะค่ะ)

4. ค่าธรรมเนียมวีซ่าท่องเที่ยว สำหรับยื่นคนเดียว ก็เสีย 3,000 บาท (แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมวีซ่า 2,600 บาท + ค่า VFS 400 บาท) แล้วก็ค่าธรรมเนียมแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายในนาม "สถานฑูตนิวซีแลนด์ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง)" อีก 20 บาท หรือสามารถสั่งจ่ายผ่านบัตรเครดิตได้ แต่จะต้องไปที่สถานฑูตด้วยตัวเอง แต่ถ้าไปเป็นครอบครัว ก็เสียค่าวีซ่าแบบ พ่อ + แม่ + ลูก (อายุไม่เกิน 20 ปี) หรือที่เรียกว่า วีซ่ากลุ่ม ซึ่งจะมีหน้าวีซ่าติดเล่มให้เฉพาะคนแรก ส่วนคนอื่นๆ ก็จะได้เป็นวีซ่ากระดาษที่มีชื่อผู้เดินทาง เวลาไปถึง ตม.ที่นั่น ก็ต้องไปยื่นพาสปอร์ตพร้อมกันทั้งชุด

5. สำเนาใบจองตั๋วเครื่องบิน หรือ ตั๋วเครื่องบิน (E-Ticket)

6. ใบจองโรงแรม ทั้งหมดทุกโรงแรมที่จะเข้าพัก ถ้าจองผ่านอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ก็จะต้องตัดเงินผ่านบัตรเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าจองผ่านเอเยนต์ ก็ต้องให้เอเยนต์ออกใบจองแบบที่มีหัวกระดาษยืนยัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้

7. ประกันสุขภาพการเดินทาง ซึ่งก็มีหลายแห่งที่มีบริการ แต่สำหรับเราที่เดินทางบ่อย เลยซื้อประกันแบบรายปี เบี้ยประกัน 5,995 บาท ของบริษัท Mondial Assistance วงเงินคุ้มครอง 6 ล้านบาท ถ้ากระเป๋าหาย ไฟลท์ดีเลย์ ก็ยังสามารถทำเคลมได้ด้วย

หลังจากรวบรวมเอกสารได้ครบถ้วน พร้อมกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มเรียบร้อยแล้ว ไปยื่นวีซ่าที่สถานฑูตนิวซีแลนด์ได้เลย และเช่นกัน ด้วยความขี้เกียจ เราจึงต้องพึ่งพาบริษัททัวร์ให้ไปยื่นให้ ก็เสียค่าบริการ 300 บาท ไปตามระเบียบ แต่ถ้าเทียบแล้วก็ค่อนข้างคุ้มค่า เพราะเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลในแบบฟอร์มว่าเรายังต้องเติมอะไร ขาดเอกสารอะไรอีกบ้าง และควรที่จะต้องเพิ่มเติมสิ่งใด เพื่อให้ได้มาซึ่งวีซ่า ใช้ระยะเวลายื่นรวมจนกระทั่งรับเล่ม ประมาณ 1 สัปดาห์

สถานฑูตนิวซีแลนด์ ตั้งอยู่ที่ อาคาร เอ็มไทย ทาวเวอร์ ชั้น 14 ออลซีซั่นเพลส เลขที่ 87 ถนนวิทยุ ลุมพินี กรุงเทพฯ 10330
Tel: +66 2 254 2530
Fax: +66 2 253 9045 or 253 0249
Office hours: 8:00am-12 noon and 1pm-4:30pm (Monday-Friday)

เดินทางในวันที่ 24 ธ.ค. ดังนั้นเรายื่นวีซ่าในวันที่ 20 พ.ย. ล่วงหน้าก่อนการเดินทาง 1 เดือน เผื่อขาดเหลืออะไรอย่างน้อยก็ยังเตรียมหาเอกสารเพิ่มทัน

ทางสถานฑูตจะให้ใบรับพาสปอร์ตมา พร้อมวันที่คาดว่าจะได้รับเล่มคืน ก็คือ 1 สัปดาห์จากวันยื่น ยื่นวันที่ 20 พ.ย. ไปรับเล่มคืนวันที่ 27 พ.ย. ในช่วงตั้งแต่ 13.00 น. - 15.00 น. ทางเอเยนต์เป็นคนไปรับและเอามาส่งให้ถึงมือเลย

ได้วีซ่าแบบ Single Entry เข้าประเทศภายในวันที่ 26 ก.พ. 2010 (ระยะเวลา 3 เดือน นับจากวันที่ได้วีซ่า) แต่สามารถท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 1 เดือน ต้องกลับบ้าน

ถึงอยากจะอยู่ต่อ แต่เงินหมดก็ไม่ไหว แถมเดี๋ยวโดนไล่ออกซะก่อน อีกอย่างที่ไม่คิดจะทำก็คือ โรบิ้นฮูด แต่ถ้าใครคิดจะเป็นโรบินฮู้ดที่นี่ แนะนำเลยว่า ไม่ค่อยจะเวิร์คเท่าไร งานน้อย คนน้อย อยู่แล้วเหงาเกินไป

และต้องเปลี่ยนแผนการเดินทางอีกครั้ง เมื่อคุณเพื่อน ดันติดงานที่ไม่สามารถลาพักได้ (นอกจากลาออก) เลยต้องทำเรื่องแก้ไขห้องพัก และปรับรูปแบบการเดินทาง จากเดิมที่เคยตั้งไว้ว่าจะ self drive หรือที่เรียกกันว่า ขับรถเที่ยวเอง มาเป็น ใช้บริการรถบัสระหว่างเมืองแทน

เพื่อนๆ หลายคนก็ถามเหมือนกันว่า ทำไมไม่ขับรถเอง สะดวกกว่า แน่นอนว่า เราก็ต้องมีเหตุผลเหมือนกัน ถึงแม้เราจะขับรถได้ก็เถอะ

1. ไม่มีใบขับขี่สากล (จบข่าว)
2. ถึงมีใบขับขี่ แต่ถ้าต้องขับรถเองคนเดียวก็ไม่ไหวเหมือนกัน เพราะวิ่งเส้นระหว่างเมือง ระยะทางกว่า 300 กม. บางเส้นทาง เกือบ 600 กม. ตามแผนเดิม ก็คือจะสลับขับกับเพื่อน
3. ไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์ หากเกิดปัญหาระหว่างทางขึ้นมา ซ่อมไม่เป็นอ่ะ ต่อให้สามารถโทรเรียกช่างได้ แต่กว่าจะรอช่าง หรือ หารถต่อได้ก็ลำบากพอควร (ถ้าไปสองคนก็ยังเกี่ยงกันดูได้ไง)

มาต่อด้วยขั้นตอนการจัดกระเป๋า หลังจากที่เร่งเคลียร์งานที่กองสุมหัว และที่กำลังทยอยมาทับถมให้มากที่สุด ก่อนจะบินหนีไปลัลล้าคนเดียว เกือบสองสัปดาห์

ก่อนจะจัดเสื้อผ้าลงกระเป๋า ซึ่งสำหรับเราใช้เวลาจัดเกือบ 1 สัปดาห์ สาเหตุที่ใช้เวลานานขนาดนั้นเพราะ ต้องรอเสื้อผ้าซักให้หมดก่อน แล้วก็รอดูสภาพอากาศด้วย เช็คทาง weather.yahoo ได้คำตอบว่า
Auckland อุณหภูมิประมาณ 25 องศา (อืมๆ อุ่นๆ กำลังดี)
Christchurch อุณหภูมิประมาณ 15 องศา (เย็นๆ แบบมีใครสักคนเคียงข้างก็ยอดเลย)
Queenstown อุณหภูมิประมาณ 12 องศา (เริ่มหนาว หาคนมากอดแล้ว)

พิจารณาสภาพอากาศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มจับเสื้อผ้าโยนลงกระเป๋าได้ สำหรับการเดินทาง 13 วัน หักลบวันเดินทางออกจากประเทศไทย เหลือ 12 วัน ดังนั้นใช้เสื้อ 12 ตัว + กางเกง 5 ตัว + กระโปรงสวยๆ 3 ตัว และของใช้ผู้หญิงอีกนิดหน่อย เอาแบบไม่ต้องใส่ครบทุกวันนะค่ะ เพราะสามารถซักตากแห้งได้ เพราะบางแห่งพัก 2 คืน มีเวลาให้จัดการ เสื้อแจ๊กเก็ตอย่างหนา 1 ตัว ผ้าพันคอหรือผ้าคลุมไหล่ 1 ผืน หมวกแบบที่สามารถดึงลงมาจนปิดหูได้ 1 ใบ แว่นกันแดด 2 อัน ถุงเท้าแบบที่คล้ายถุงน่องใส่แล้วทิ้ง 12 คู่ รองเท้าแตะ 1 คู่ รองเท้าสาน 1 คู่ และรองเท้าผ้าใบ 1 คู่ (เอาไปทำไมเยอะแยะไม่รู้ 5 5 5)
Q : ทำไมต้องเอาไปหลายคู่
A : รองเท้าแตะไว้ใส่ในที่พัก เวลาเข้าเดินเข้าห้องน้ำ หรือไปอาบน้ำ คงไม่คิดจะใส่รองเท้าผ้าใบเดินตลอดหรอกนะ
Q : แล้วจะเอารองเท้าสานไปอีกทำไม
A : เผื่อไว้เกิดรองเท้าเปียก หรือพัง จะได้มีคู่สำรอง เนื่องจากเคยเกิดเหตุการณ์ที่ว่า ฝนตกกระทันหันแล้วดันใส่รองเท้าผ้าใบ นึกสภาพดูแล้วกันว่าถ้าต้องทนใส่ติดต่อกันเกิน 3 วันจะเป็นอย่างไร

ส่วนอุปกรณ์ทำความสะอาด บำรุงผิวพรรณ และสารพัดเสริมความงาม โยนลงกระเป๋าในวันสุดท้ายเลย ซึ่งขนาดบรรจุภัณฑ์ควรจะมีแบบ Travel Set หรือขนาดเล็กเพื่อความสะดวก อย่างแชมพูเราก็ใช้แบบเป็นซอง ใช้ครั้งละ 2 ซอง คำนวนแล้วว่าถ้าสระผมแบบวันเว้นวันก็ใช้ 12 ซอง ซึ่งจะพกพาสะดวกกว่าเป็นขวด ส่วนสบู่ปกติใช้แบบเป็นครีม ก็เปลี่ยนมาเป็นแบบก้อนเล็ก ยาสีฟันหลอดเล็กๆ ขนาด 20 ml. ครีมบำรุงแต่ละอย่าง เอา size ไม่เกิน 50 ml. ก็เพียงพอสำหรับการเดินทาง 15 วันแล้ว และที่ขาดไม่ได้คือ SPF 50++ สำคัญนะค่ะ ทั้งแบบทาหน้า ทาตัวเลย

ต่อมาเรื่องบรรดาสายไฟที่เราจะต้องใช้ New Zealand ใช้ปลั๊ก 3 ขาเฉียง และควรที่จะพกรางปลั๊กไฟขนาด 3 ช่อง ติดไปด้วย เผื่อบางครั้งปลั๊กไฟมีแค่ 1 - 2 ช่องไม่พอเสียบ


อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่เตรียมไป กล้องถ่ายรูป แบบ DSLR, โทรศัพท์มือถือ, Laptop, ไฟฉาย พร้อม ไฟ Led แบบ USB Port เฉพาะในส่วนนี้น้ำหนักก็เกิน 3 กก. เข้าไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดต้องแบกติดตัวตลอดทางเลย แถมด้วยไดร์เป่าผม เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือ YHA ที่เป่าผมส่วนใหญ่จะอยู่ในห้องน้ำ หรืออาจจำเป็นต้องไปยืม (เราเป็นพวกชอบนั่งเป่าผมบนเตียง) ซึ่งแรงลมกับความร้อนของไดร์ที่มีให้ มันเบาไม่สะใจ กว่าผมจะแห้งบางทียืนจนเมื่อยขาไปเลย

หลายคนบอกว่า นิวซีแลนด์ ห้ามนำโน่น นำนี่เข้าประเทศ (เค้าบอกกันว่า) อันที่จริงแล้วการห้ามนำอาหาร หรือเนื้อสัตว์เข้าประเทศนั้น นิวซีแลนด์ก็แค่บอกว่า ถ้ามีสิ่งของจำพวกนี้ ต้อง Declare ก่อน แล้วให้เจ้าหน้าที่ Custom เป็นผู้พิจารณา

ในส่วนของกิน เราก็ขนไปเช่นกัน โดยมีหม้อหุงข้าวขนาด 0.26 L. ติดไปด้วย ให้รู้กันไปว่าทะเลเรียกพี่ มหาสมุทรเรียกแม่ เพื่อนๆ เรียกเราว่า "งก" แต่เราเรียกว่า "ประหยัด และฉลาดเลือก"
1. ข้าวสาร ตักแบ่งเป็นถุงๆ ละ 1 ถ้วยตวง ทั้งหมด 10 ถุง
2. ผงรสดี 3 ซอง แบบไม่มีผงชูรส
3. คนอร์ซุปก้อนรสไก่ และรสต้มยำ 6 ก้อน
4. วุ้นเส้นห่อเล็ก 5 ห่อ
5. ไวไว 10 ห่อ
6. โอวัลติน 3 in 1 5 ห่อ
7. แม็กกี้ ขวดเล็ก 1 ขวด
8. น้ำตาลแบบซอง 10 ซอง
9. พริกป่นแบบซอง 5 ซอง

เสบียงพื้นฐานเท่านั้น ส่วนกับข้าวไปหาซื้อเอาที่โน่น ณ ขณะนี้น้ำหนักกระเป๋าชั่งได้แล้ว 26 Kg. (หุ หุ) ยังสามารถรับได้อีก 4 Kg.

นอกจากนี้ยังต้องเตรียมถุงผ้า ถุงเก็บความเย็น (แบบที่มีบุฟอยล์) ขนาดกลางติดไปด้วย เพราะที่โน่นรณรงค์เรื่องการใช้ถุงพลาสติก ถุงแยกเสื้อผ้าที่ใส่แล้ว น้ำยาซักผ้าแบ่งลงขวดขนาด 50 ml. กล่องข้าวพลาสติก 2 ใบ (เอาแบบที่ซ้อนกันได้) ถุงพลาสติดขนาด 1 Kg. เผื่อไว้ใส่กับข้าว กับยางหนังสติ๊ก และถุงซิป เอาให้เพียงพอ และขนาดให้ได้มาตรฐาน ไว้ใส่แยกขวดครีมต่างๆ ป้องกันมันหกเลอะเทอะ

ทั้งหมดที่ขนไป เดี๋ยวจะได้โยนทิ้งบางส่วนตอนขากลับหลังจากจบเกมส์ Survivor

***** จบตอนที่ 1 เพียงเท่านี้ก่อน เดี๋ยวมาต่อใหม่วันพรุ่งนี้ *****







Create Date : 28 มิถุนายน 2553
Last Update : 6 กรกฎาคม 2553 17:39:32 น. 3 comments
Counter : 2399 Pageviews.

 
ดีจังอยากไปมั่ง


โดย: rprommapan@hohmail.com IP: 173.26.192.252 วันที่: 28 มิถุนายน 2553 เวลา:20:55:47 น.  

 
ยอดเยี่ยมมากครับ จะเก็บลิงค์เวลาได้ไปนิวซีแลนด์ด้วยตัวเอง มีประโยชน์มากๆครับ รอติดตามตอนต่อไปอยู่นะครับ...


โดย: เหมียวหนุ่ย วันที่: 29 มิถุนายน 2553 เวลา:2:00:36 น.  

 
รายละเอียดดีมากครับ แต่ ไม่มีรูปประกอบเลยเหรอครับ


โดย: helloboy IP: 203.113.0.208 วันที่: 6 กรกฎาคม 2553 เวลา:15:54:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

Poonchayapich-N
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Welcome to My Home...L'Amour De Ma Vie
[Add Poonchayapich-N's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com