ธันวาคม 2559

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
25 ธันวาคม 2559
ฌาณ16ขั้น


  นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส


อานาปานสติ ๑๖ ขั้น

จากหนังสือวิปัสสนากรรมฐาน โดย ฐิตวณฺโณ ภิกฺขุ (พระสาสนโสภณ) วัดโสมนัส ราชวรวิหาร สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ในบทนี้จะได้กล่าวถึงบทกรรมฐานที่สำคัญบทหนึ่ง คือ อานาปานสติ ๑๖ ขั้น เพื่อที่จะให้ท่านที่สนใจใน
การบำเพ็ญภาวนา ได้เข้าใจวิธีปฏิบัติและทราบหลักที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อานาปานสติ ๑๖ ขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติกรรมฐานโดยทั่วไปไม่ค่อยจะได้ยินได้ฟังกันมากนัก แต่ก็เป็นพระสูตร
สำคัญสูตรหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อานาปนสติสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย

อานาปานสติภาวนา หรือ อานาปานสติสมาธิ ที่เราได้ฟังกันโดยทั่วไป เป็นอานาปานสติเพียง ๔ ขั้นแรก
ซึ่งอานาปนสติทั้ง ๔ ขั้นนี้ เราจะพบในพระสูตรต่างๆ หลายแห่งเช่น 
- อานาปานสติ ในอนุสสติ ๑๐
- อานาปานสติ ในมหาสติปัฏฐานสูตร

พระสูตรดังกล่าวมาล้วนแต่กล่าวถึงอานาปานสติเพียง ๔ ขั้นเท่านั้น แต่อานาปานสติภาวนาใน
อานาปานสตินั้นสมบูรณ์ที่สุด เพราะแสดงหลักฐานทั้งในด้านปริยัติ และด้านปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ที่สุด
เกี่ยวกับอานาปานสติเริ่มตั้งแต่ขั้นต้นๆ จนถึงขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา

อานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นนั้นคือ
๑. เมื่อหายใจเข้า-ออกยาว ก็รู้ว่า เราหายใจเข้า-ออกยาว
๒. เมื่อหายใจเข้า-ออกสั้น ก็รู้ว่า เราหายใจเข้า-ออกสั้น
๓. กำหนดรู้กายทั้งปวงหายใจเข้า-ออก
๔. ทำกายสังขารให้ระงับ หายใจเข้า-ออก
๕. กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า-ออก
๖. กำหนดรู้สุข หายใจเข้า-ออก
๗. กำหนดรู้สังขาร หายใจเข้า-ออก
๘. ทำจิตสังขารให้ระงับ หายใจเข้า-ออก
๙. กำหนดรู้จิต หายใจเข้า-ออก
๑๐. ทำจิตให้ปราโมทย์ หายใจเข้า-ออก
๑๑. ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า-ออก
๑๒. ทำจิตให้คลาย หายใจเข้า-ออก
๑๓. ตามเห็นอนิจจัง - ความไม่เที่ยง หายใจเข้า-ออก
๑๔. ตามเห็นวิราคะ - ความจางคลาย (คลายติด) หายใจเข้า-ออก
๑๕. ตามเห็นนิโรธ - ความดับโดยไม่มีเหลือ (ดับสนิท) หายใจเข้า-ออก
๑๖. ตามเป็นปฏินิสสัคคะ - ความสละคืน (ปล่อยวาง) หายใจเข้า-ออก

นี่คืออานาปานสติ ๑๖ ขั้น ตามอานาปานสติสูตร ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย
ต่อไปนี้จะได้อธิบายแต่ละขั้นตามลำดับ เพื่อให้ท่านผู้สนใจได้เข้าใจหลักการปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น

ในอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ แบ่งออกเป็น ๔ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ ตั้งแต่ขั้นที่ ๑ ถึงขั้นที่ ๔ ว่าด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็น
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๒ ตั้งแต่ขั้นที่ ๕ ถึงขั้นที่ ๘ ว่าด้วยการกำหนดเวทนา เป็น
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

หมวดที่ ๓ ตั้งแต่ขั้นที่ ๙ ถึงขั้นที่ ๑๒ ว่าด้วยการกำหนดจิต เป็น
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๔ ตั้งแต่ขั้นที่ ๑๓ ถึงขั้นที่ ๑๖ ว่าด้วยการกำหนดธรรมที่ปรากฏในจิต เป็น
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน ๔ ก็ปรากฏอยู่ในอานาปานสติสูตรนี้เอง ในกายาสติปัฏฐาน ตั้งแต่ขั้นที่ ๑ ถึง ๔ นั้น
เรามักปฏิบัติอานาปานสติกันโดยทั่วไป แต่บางท่านอาจยังไม่ทราบชัดว่าตนกำลังปฏิบัติอยู่
ในขั้นใดของขั้นทั้ง ๔ นี้

                ขั้นที่ ๑ เมื่อหายใจเข้า-ออกยาว ก็รู้ ข้อนี้หมายความว่าในการกำหนดลมหายใจของมนุษย์
โดยทั่วไปนั้น ถ้าหายใจปกติแล้ว มนุษย์เราจะหายใจเข้า-ออกยาวเพราะฉะนั้น การกำหนด
ขั้นแรก จึงเป็นการกำหนดตามปกติของมนุษย์เรา เมื่อเรานั่งสมาธิ ลมหายใจเข้า-ออกยาว
เป็นปกติของจิต เพราะฉะนั้น การกำหนดนี้จึงเป็นการกำหนดขั้นแรก เมื่อหายใจเข้า-ออกยาว
เราก็กำหนดรู้ ถ้าผู้ใดกำหนดได้ในขั้นที่หายใจเข้า-ออกยาว ซึ่งเป็นการหายใจตามปกติของมนุษย์เรา
นี้กำหนดได้โดยมิพลั้งเผลอ ทั้งหายใจเข้า-ออก แสดงว่าผู้นั้นได้สำเร็จในขั้นที่ ๑ คือ
การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก

           ขั้นที่ ๒ เมื่อลมหายใจเข้า-ออกสั้น ก็รู้ว่า เรากำลังหายใจเข้า-ออกสั้น ลมหายใจเข้า-ออกสั้น
เป็นลมหายใจที่ผิดปกติ เช่น เมื่อโกรธจัด เศร้าใจ เสียใจ ตกใจ ลมหายใจจะเข้า-ออกสั้น
ถ้าเมื่อใดลมหายใจเข้า-ออกสั้น เราก็รู้ว่าลมหายใจเข้า-ออกสั้น คือ สามารถติดตามลม
แม้ในขณะที่ตกใจ เสียใจ กลัว เป็นต้น ก็สามารถที่จะกำหนดได้ แม้จะสั้นก็กำหนดได้ การกำหนด
ได้อย่างนี้เรียกว่า สำเร็จในขั้นที่ ๒ คือ เมื่อหายใจเข้า-ออกสั้น ก็กำหนดรู้ว่า เราหายใจเข้า-ออกสั้น

          ขั้นที่ ๓ ตั้งใจกำหนดว่า เราจะรู้กายทั้งปวง หายใจเข้า-ออก บาลีใช้คำว่า สพฺพกายปฏิสํเวที
แปลว่า รู้เฉพาะซึ่งกายทั้งปวง คำว่า กายทั้งปวงในที่นี้ คือ ลมหายใจนั่นเอง 
พระพุทธเจ้าตรัสเรียกลมหายใจว่า " กาย " ทั้งนี้ก็เพราะว่า ตราบใดที่มนุษย์เรายังมีลมหายใจเข้า-ออกอยู่
หรือสัตว์ทั้งหลายยังมีลมหายใจเข้า-ออกอยู่ ก็แสดงว่า ยังมีกายปกติอยู่ ถ้าเมื่อใดลมหายใจขาดแล้ว
เมื่อนั้นชีวิตสังขารก็ขาดไปด้วย เพราะฉะนั้น กายก็คือลมหายใจ

ลมหายใจจัดเป็นกาย แต่เป็นกายภายใน ดังที่กล่าวไว้ในสติปัฏฐานสูตรว่า
" กาเยน กายานุปสฺสี วิหรติ มีปกติตามรู้กายในกายอยู่ "
การกำหนด กายในกาย แม้กำหนดลมหายใจก็ถือว่าเป็นการกำหนดกาย

คำว่า " รู้กายทั้งปวง " ในที่นี้ หมายความว่า " รู้ลมหายใจที่ผ่านจุดทั้ง ๓ ในร้างกายเรานี้ " คือ 
ผ่านมาถึงจมูกเราก็รู้ มาถึงท่ามกลางอกเราก็รู้ มาถึงที่ท้องเราก็รู้ รู้ลมทุกกระบวนการที่ผ่านมา
ในร่างกายของเรา การรู้ลมทุกส่วนอย่างละเอียดอย่างนี้ทุกระยะ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้
ตลอดเวลาอยู่อย่างนี้ เรียกว่า สำเร็จในขั้นที่ ๓ คือ ขั้นกำหนดรู้กายทั้งปวง ได้แก่ การกำหนด
ลมหายใจได้ทุกส่วนนั่นเอง

          ขั้นที่ ๔ การทำกายสังขารให้สงบระงับ ขั้นนี้พระพุทธเจ้าไม่ตรัสเรียก ลมหายใจว่า 
" กายทั้งปวง " แต่ตรัสเรียกลมหายใจว่า " กายสังขาร " 
คำว่า " สังขาร " คือสภาพที่ปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น คำว่า กายสังขาร จึงหมายถึง
สภาพที่ปรุงแต่งกาย

ปกติว่า ถ้ายังมีลมหายใจ ร่างกายนี้ ก็เป็นไปได้ กายสังขารก็คือ ลมหายใจนี้เอง เป็นสิ่งที่ปรุง
แต่งให้เรามีชีวิตอยู่ แต่ลมหายใจนี้ ถ้ายังหยาบ ยังไม่ละเอียด กายนี้ก็หยาบด้วย พระพุทธองค์
จึงตรัสให้ผู้บำเพ็ญถึงขั้นนี้ทำกายให้สงบระงับ คือ ทำลมหายใจทั้งและออกให้ละเอียด 
ให้สงบระงับเกิดเป็นสมาธิขึ้น สมาธิในขั้นสงบระงับนี้ จะเป็นขั้นอุปจารสมาธิก็ได้ เป็นขั้น
อัปปนาสมาธิก็ได้ ในขั้นที่ ๔ นี้ เป็นขั้นบังคับกายแล้ว คือบังคับลมหายใจให้สงบแล้ว
ใครก็ตามเจริญสมาธิถึงขั้นนี้ ก็แสดงว่า ผู้นั้นสำเร็จในขั้นกายานุปัสสนา หรือถึงขั้นฌานก็ได้
อันฌานตั้งแต่ขั้นที่ ๑ ถึงขั้นที่ ๔ หรือแม้แต่ฌาน ๘ ก็อยู่ในขั้นทำกายสังขารให้สงบระงับทั้งสิ้น
ผู้เจริญอานาปานสติขั้นสูงสุดของกาย ก็คือทำกายสังขารให้สงบระงับนั่นเอง

ผู้ใดสามารถสำเร็จถึงขั้นนี้ ปีติ ความสุขและความละเอียดของจิตจะเกิดขึ้นอย่างยิ่ง
       จงพิจารณาดูเถิดว่า อานาปานสติ ๑๖ ขั้นนี้ ขนาดถึงขั้นฌานแล้ว ยังเป็นเพียงขั้นที่ ๔ ของ
การเจริญเท่านั้น และขั้นสูงกว่านี้ ก็ยังมีอีก คำสอนในพระพุทธศาสนาไม่ใช่มีอยู่เพียงขั้นฌาน
เท่านั้น พระพุทธศาสนานั้นมีคำสอนที่สูงกว่าคำสอนของศาสนาอื่นใดในโลก เพราะสอนถึง
ขั้นวิปัสสนา

            ขั้นที่ ๕ กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า-ออก คือผู้ที่ได้ฌานนั้น จะต้องได้ปีติ และได้ความสุข
คนได้ฌาน ย่อมได้ปีติและความสุขอย่างยิ่ง ขั้นที่ ๕ นี้ พระพุทธเจ้าสอนให้กำหนดรู้ปีติที่เกิดขึ้น 
ให้มีสติรับรู้ทุกขณะหายใจเข้าและหายใจออก ตั้งแต่ปีติเป็นต้นไปนี้ เป็นลักษณะของเวทนา
เมื่อผ่านขึ้นที่ ๕ ไปแล้ว ก็ยกจิตขึ้นสู่ขั้นที่ ๖ ต่อไป

            ขั้นที่ ๖ กำหนดรู่ความสุข หายใจเข้า-ออก ความสุขที่เกิดจากฌานนี้ ท่านกล่าวว่า
ความสุขชนิดนี้ ไม่ใช่ความสุขทางกาย แต่เป็นนิรามิสสุข เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ
ท่านใช้คำว่า " อติมธุรํ " คือ ความสุขที่เลิศยิ่ง ไม่มีความสุขใดในโลกที่จะเทียบความสุขนี้ได้
เมื่อความสุขจิตอย่างยิ่งเกิดขึ้น ก็รู้ว่าเป็นตัวความสุข หายใจเข้า-หายใจออก มีสติไม่พลั้งเผลอ
แล้วผู้ปฏิบัตินั้นก็ขยับจิตสูงขึ้นไปตามลำดับถึงขั้นที่ ๗

            ขั้นที่ ๗ กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า-หายใจออก คำว่า " สังขาร " คือ
การปรุงแต่ง ในที่นี้ สังขารหมายถึงปีติ และ ความสุขนั่นเอง อันเป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้มีความ
เบิกบาน ให้มีความสุข ผู้เจริญอานาปานสติในขั้นที่ ๗ นี้ จะกำหนดรู้ทั้งปีติ ทั้งสุข อันเป็นตัวจิต
สังขารซึ่งปรุงแต่งจิตหายใจเข้าและหายใจออก รู้อยู่ทุกขณะ แล้วขยับจิตของตนให้สูงขึ้นไปอีก
ถึงขั้นที่ ๘
            ขั้นที่ ๘ ทำจิตสังขารให้สงบระงับ หายใจเข้า-หายใจออก จิตสังขารคืออะไร?
จิตสังขาร ก็คือปีติและสุขนั่นเอง ทำไม ของดีแท้ๆ จึงต้องทำให้ืสงบระงับเสีย ให้ดับเสีย? ก็เพราะเหตุ
ที่ว่า ทั้งปีติทั้งสุขนั้นยังใกล้ต่อราคะ ยังใกล้ต่อสิ่งที่จะให้เกิดตัณหา ฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นไป จะสงบ
ระงับปีติและสุขเสีย เมื่อสามารถจะระงับปีติและสุขได้ หายใจเข้า-หายใจออก ก็รู้ตัวอยู่ทุกขณะ เมื่อ
รู้สึกว่าจิตคล่องแคล่วแล้ว ก็ขยับจิตของตนขึ้นไปสู่ขันที่ ๙

           ขั้นที่ ๙ กำหนดรู้จิตของตน หายใจเข้า-หายใจออก คือ เมื่อจิตโกรธ ก็รู้ว่าโกรธ จิตโลภ
ก็รู้ว่าโลภ จิตหลงก็รู้ว่าหลง จิตมั่นคงก็รู้ว่ามั่นคง จิตได้ฌานก็รู้ว่าได้ฌาน จิตเสื่อมจากฌานก็รู้ว่า
เสื่อมจากฌาน ในที่นี้กำหนดรู้จิตทุกขณะที่หายใจเข้า-ออก

เพราะฉะนั้น ผู้ที่บำเพ็ญขั้นสูงขึ้นมา ถ้าความโกรธเกิดขึ้นจะปะทะความโกรธได้ด้วยกำลังของสติ 
ในขั้นนี้เอง เวลาความอยากได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ก็กำหนดรู้ว่าตัวเองกำลังอยากได้ หายใจเข้า-ออก
แล้วเทาความอยากได้นั้นเสีย เพราะสติมีกำลังมากขึ้น หรือเมื่อความโกรธเกิดขึ้นเพราะความไม่พอใจ
ต่อผู้ใดผู้หนึ่ง ก็รู้และยับยั้งความโกรธนั้นเสียได้ หรือแม้จะยับยั้งไม่ได้ ก็รู้ว่านี้คือจิตโกรธ นี้คือจิตโลภ
นี้คือจิตหลง หรือจิตได้สมาธิก็รู้ว่า นี้คือจิตได้ฌาน นี่คือจิตตั้งมั่น เป็นการกำหนดรู่จิต ๑๖ อย่าง ๘ คู่
ถ้าหากผู้ใด กำหนดรู้ขบวนจิตในขณะหายใจเข้า-ออก ผู้นั้นถือว่าสำเร็จในขั้นที่ ๙

          ขั้นที่ ๑๐ ทำจิตให้ปราโมทย์ หายใจเข้า-หายใจออก ขั้นนี้เป็นการนำพลังจิตมาใช้
คือจิตที่เข้าถึงขั้นได้ฌาน ได้อำนาจฌานแล้ว ผู้ที่ถึงขั้นที่ ๑๐-๑๑-๑๒ เป็นการนำพลังจิตในระดับ
ต่างๆ มาใช้ กล่าวคือในขั้นที่ ๑๐ ทำจิตให้เกิดความปราโมทย์ หายใจเข้า-หายใจออก คือ ผู้ที่เจริญ
อานาปานสติถึงขั้นสามารถทำจิตของตนให้เบิกบาน ปราโมทย์ หรือจะทำอย่างไรก็ได้ เพราะมี
อำนาจจิตเสียแล้ว ก็บังคับจิตของตนให้ปราโมทย์ให้เบิกบานได้ หายใจเข้า-หายใจออก 
เกิดความสุขอันเกิดจากความปราโมทย์ เมื่อชำนาญแล้ว ก็ผ่านจากขั้นนี้ เข้าสู่ขั้นที่ ๑๑

           ขั้นที่ ๑๑ ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า-หายใจออก เป็นการสร้างความสามารถของ
จิตที่ได้ฌานขึ้นมาอีก อันเป็นการบังคับจิตให้ตั้งมั่นได้ทันทีทันใด จิตตั้งมั่นแล้ว 
หายใจเข้า-หายใจออกก็รู้

           ขั้นที่ ๑๒ ทำจิตให้คลาย หายใจเข้า-หายใจออก ทำไมเมื่อจิตมีพลังดีแล้ว จึงต้อง
ให้มันคลายเสีย? ก็เพราะว่าถ้ายังยึคมั่นถือมั่นแม้ในขั้นฌาน ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นานาประการ
เพราะฉะนั้น จะต้องทำให้คลายจากความยึคมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงลง โดยเฉพาะในขั้นฌานอันเป็น
สิ่งที่ตนติดอยู่เสีย เมื่อนั้นจิตคลาย หายใจเข้า-หายใจออก ก็รู้ เป็นความสำเร็จในขั้นที่ ๑๒      
        ขั้นที่ ๑๓ ตามเห็นอนิจจัง - ความไม่เที่ยง หายใจเข้า-หายใจออก จากขั้นที่ ๑๓
เป็นต้นไป ขึ้นสู่วิปัสสนาล้วนๆ เป็นตัวปัญญาแท้ๆ เป็นการทำลายกิเลสโดยตรง ในขั้นที่ ๑๓ นี้
พระพุทธองค์ทรงสอนให้กำหนดโดยใชัคำว่า "อนุปสฺสี-ตามกำหนด" คือ ตามกำหนดอนิจจัง
ความไม่เที่ยงหายใจเข้า-หายใจออก คือให้เห็นว่า จิตนี้ก็ไม่เที่ยง สุขนี้ก็ไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง
ฌานที่เราได้นี้ก็ไม่เที่ยง เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวตน
การตามกำหนดความไม่เที่ยงในที่นี้ ก็คือการเห็นพระไตรลักษณ์นั่นเอง เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์ใน
ขณะหายใจเข้า-หายใจออก อยู่อย่างนั้น ก็ชื่อว่าเจริญวิปัสสนาโดยตรง ผู้ใดแม้จะนั่งเฉยๆ แต่กำหนดความไม่เที่ยง หายใจเข้า-หายใจ
        ในขณะที่จิตไม่ตั้งมั่น คือแม้จิตปกติ เมื่อได้พิจารณาถึงความไม่เที่ยง หายใจเข้า-หายใจออก 
ก็สามารถจะสำเร็จในขั้นนี้ได้ บางคนอาจจะค้านว่า 
" เพียงเจริญอนิจจตาเท่านั้น ก็เป็นเหตุเจริญไตรลักษณ์ด้วย "ข้อนี้ขอตอบว่า " อันอนิจจตา ความไม่เที่ยงนั้น มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตาได้อย่างชัดเจน เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า....ยทนิจจํ สิ่งใดไม่เที่ยง ตํ ทุกฺขํ สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ยํ ทุกฺขํ สิ่งใดเป็นทุกข์ ตํ อนตฺตา สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน..."
เพราะฉะนั้น ผู้ใดเห็นความไม่เที่ยง คือ อนิจจัง หายใจเข้า-หายใจออก ผู้นั้นชื่อว่าเห็นพระไตรลักษณ์ด้วย
ผู้ใดก็ตามแม้จะไม่ได้ฌานถ้าเจริญอยู่ในขั้นนี้ ก็ชื่อว่า เจริญวิปัสสนาหรือเจริญอานาปานสติในขั้นที่ ๑๓

             ขั้นที่ ๑๔ ตามเห็นวิราคะ หายใจเข้า-หายใจออก คือ การเห็นวิราคะความจางคลาย
หายใจเข้า-หายใจออก ถามว่า จางคลายในเรื่องอะไร วิราคะในเรื่องอะไร ตอบว่า จางคลายโดย
ความไม่ติดไม่ยึคมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เพราะสิ่งทั้งปวงนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็คลาย
ความยึคติด คลายจิตออกจากความถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นว่า เป็นเรา เป็นของๆ เรา เป็นตัวเป็นตน
คือให้เห็นสิ่งทั้งหลายว่า.... เนตํ มม สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา เนโสหมสฺมิ นั่นไม่ใช่เรา น เมโส อตฺตา 
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้วก็คลายความยึคมั่นถือมั่น เพราะเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาใน
สิ่งทั้งปวง ผู้ใดคลายความยึคมั่น คลายกำหนัดเป็นวิราคะ หายใจเข้า-หายใจออก ชื่อว่า สำเร็จใน
ขั้นที่ ๑๔

            ขั้นที่ ๑๕ ตามเห็นนิโรธ ความดับโดยไม่เหลือ หายใจเข้า-หายใจออก ถามว่า ดับอะไร
ตอบว่า ดับความยึคมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ในสังขาร ในกาย ในเวทนา ในจิต ในทุกสิ่งทุกอย่าง
เพราะสิ่งทั้งปวงที่เข้าไปยึคมั่นถือมั่นนั้น ล้วนเป็นทุกข์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 
" สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย สิ่งทั้งปวง ไม่ควรเข้าไปยึคมั่นถือมั่น " เพราะมันไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ และไม่ใช่ของๆ เรา เมื่อผู้ใดตามพิจารณาเห็นความดับ หายใจเข้า-หายใจออก
อยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ ผู้นั้นชื่อว่า สำเร็จในขั้นที่ ๑๕
              ขั้นที่ ๑๖ ตามเห็นปฏินิสสัคคะ ความสละคืน หายใจเข้า-หายใจออก
ถามว่า สละคืนอะไร ตอบว่า สละคืนความยึคมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง สละคืนมันเสียอย่าง
ร่างกายและจิตใจเรานี้ เป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน ร่างกายนี้ก็มาจาก ดิน น้ำ ไฟ ลม
เมื่อเป็นของดิน น้ำ ไฟ ลม ก็สละคืนให้เข้าสู่ธรรมชาติเดิม คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อันไม่ใช่ของๆ เรา
ซึ่งเรายึคถือว่าเป็นของๆ เรา สละคืนความยึคมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ในเรา ในของๆ เรา ผู้ใด
กำหนดพิจารณาความสละคืน หายใจเข้า-หายใจออกอยู่เป็นนิตย์ จนเกิดความชำนาญแล้ว 
สละคืน คือละกิเลสทุกชนิดได้หมด ผู้นั้นชื่อว่า สำเร็จอานาปานสติขั้นที่ ๑๖

ท่านทั้งหลาย คงจะเห็นได้ชัดแล้วว่า อานาปานสติ ๑๖ ขั้นที่พระบรมศาสนาตรัสไว้ใน
อานาปานสติสูตรนี้ มีความสำคัญเพียงไร ผู้ที่เจริญาอานาปานสติ จึงมิใช่ว่าเป็นเพียงสมถกรรมฐาน
เท่านั้น แต่มีความกินตลอดไปถึงวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการเจริญตลอดสายกันทีเดียว ผู้ใดต้องการ
จะพ้นทุกข์ ผู้นั้นจงเจริญอานาปานสติ ๑๖ ขั้นนี้เถิด

พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอานาปานสติสูตรว่า "อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร
สติปฏฺฐาเน ปริปูเรนฺติ ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน
ทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์"

พระองค์ตรัสต่อไปอีกว่า "สติปัฏฐาน ๔ ที่บุคคลทำให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์"
และตรัสต่อไปว่า "โพชฌงค์ ๗ ที่บุคคลทำให้มาก ทำให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำวิชชาและ
วิมุตติให้บริบูรณ์"

หมายความว่า ใครก็ตาม ถ้าเจริญอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นนี้แล้ว ผู้นั้นชื่อว่า เจริญสติปัฏฐาน ๔
ชื่อว่าเจริญโพชฌงค์ ๗ และชื่อว่าทำวิชชาและวิมุตติให้เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ผู้ใดต้องการที่จะปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า โดยหวังผลดังกล่าวมาแล้ว ก็จงเจริญ
อานาปานสติ ๑๖ ขั้นนี้ แม้ขั้นใดขั้นหนึ่ง ที่เราสามารถจะทำได้ ก็ย่อมได้รับแห่งการปฏิบัติของ
ตนในขั้นนั้นๆ อย่างแน่นอน

หรือผู้ใดหวังผลของอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญไว้ว่า
"อานาปานสติสมาธินี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว (ย่อมได้อานิสงค์ ๕ อย่าง คือ)
๑. เป็นผู้สงบระงับยิ่งนัก
๒. เป็นผู้ประณีตละเอียดอย่างยิ่ง
๓. ไม่รดน้ำก็เย็น
๔. มีความสุขเป็นเครื่องอยู่
๕. สามารถทำบาปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้อันตรธานสงบระงับไปได้ "

ผู้นั้นพึงเจริญอานาปานสติเถิด

ดังนั้น จึงขอให้ทุกท่านได้เจริญอานาปานสติเป็นประจำเถิด แล้วจะได้รับอานิสงค์ทั้ง ๕ ประการ
ตามสมควรแก่การปฏิบัติของตนอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นนี้ ท่านสาธุชนทั้งหลายคงพอจะเห็นได้ว่าอานานปานสติทั้ง ๑๖ ขั้นนี้
เป็นหลักปฏิบัติภาวนาในพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่าสูงมาก เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
อย่างสมบูรณ์ที่สุดทุกขั้นตอน ผู้ใดต้องการความสงบสุขในขั้นนั้นๆ จนถึงขั้นพ้นทุกข์ ก็อย่าได้
ละทิ้งการเจริญอานาปานสตินี้ ขอให้ทำอยู่เป็นนิตย์ ก็จะประสพความสุขและความสำเร็จตาม
ความปรารถนาของตนๆ และขอให้ทำเป็นประจำด้วยความไม่ประมาทเถิด



Create Date : 25 ธันวาคม 2559
Last Update : 25 ธันวาคม 2559 8:41:06 น.
Counter : 9666 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments
MY VIP Friends