Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2561
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 กรกฏาคม 2561
 
All Blogs
 

หมื่นมนัสประชากับบ้านนาจอก :บันทึกสุดท้ายก่อนลับเลือนหายตอนที่ 3 ครอบครัวของหมื่นมนัสประชา

หมื่นมนัสประชากับบ้านนาจอก :บันทึกสุดท้ายก่อนลับเลือนหาย
ตอนที่ 3 ครอบครัวของหมื่นมนัสประชา (ตอนจบ)
 

( พ.ศ.2387 - 2476)
หมื่นมนัสประชาในชุดสูทสากล เบื้องซ้ายกลัดตราพระราชสีห์ (ตราผู้ใหญ่บ้าน) เครื่องหมายสิงห์บำบัดทุกข์ บำรุงสุข 
และประดับเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ พระราชพิธีสมโภชพระนคร 150 ปี 
ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2475

Theo dấu chân tiên tổ hướng về tổ quốc.
Góp công dựng Bản Mạy gìn giữ giống nòi.

 
สาแหรกสกุลหมื่นมนัสประชา
 
 
ด้านชีวิตครอบครัว
หมื่นมนัสประชา มีภรรยา 2 คน คนแรกคือคุณเทียดทองเป็นชาว จ.ฮาติ่งห์ (Hà Tĩnh - สมัยนั้น จ.ฮาติ่งห์ยังเป็นส่วนหนึ่งของ จ.เหงะอาน) ได้เดินทางเข้าสู่จังหวัดนครพนมรุ่นราวคราวเดียวกัน
คุณเทียดทองมีบุตรกับหมื่นมนัสประชาหลายคนแต่ด้วยภาวะเร้นแค้นและปัญหาสุขภาวะในยุคก่อนจึงทำเหลือบุตรชายที่รอดชีวิตจนเติบโตขึ้นเพียง 2 คน ซึ่งทั้ง 2 ต่างได้มีส่วนสืบสานปณิธานการกู้ชาติและเสียสละเพื่อส่วนรวมตามอย่างของผู้บิดาจนเป็นที่ประจักษ์ทั้งสองในเวลาต่อมา จนเป็นที่นับหน้าถือตาของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในเขตจังหวัดนครพนมในยุคก่อนอย่างมาก โดยจะขอเล่าถึงบุตรชายทั้งสองของท่านโดยสังเขป ดังนี้
 
1. คุณทวดเกตุ ประชากุล  - ประชากุล สายที่ 1
 
คุณทวดเกตุ ประชากุล ขณะเก็บใบชาเชียวบ้านนาจอกในสวนของท่าน ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2505
(พ.ศ. 2437 - 2510)
 
คุณทวดเกตุ ( เล วัน พี - Lê Văn Phi ) เป็นบุตรชายคนโตของหมื่นมนัสประชา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2437 ท่านแต่งงานกับ คุณทวดทุม ประชากุล (ตระกูลเดิม - เลวรรณ) มีบุตรด้วยกันหลายคนแต่ที่เหลือรอดจนโตเติบโตขึ้น มีเพียง 1 คน คือคุณตาเรือง ประชากุล ทว่าคุณตาเรืองก็ได้เสียชีวิตก่อนพ่อแม่ ในวัยวัยฉกรรจ์ (Tuổi Xuân Quang)

 
คุณทวดทุม ประชากุล ภรรยาคนเดียวของคุณทวดเกตุ ประชากุล
(พ.ศ.2444 - 2532)
 
 
คุณทวดเกตุได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้โดยตรงจากหมื่นมนัสประชาท่านจึงเป็นผู้ที่แตกฉานในภาษาไทย ภาษาเวียดนามทั้งแบบที่เขียนด้วยอักษรจีนโบราณ  (chữ  nho) และอักษรแบบที่เขียนกันในปัจจุบัน (chữ Quốc ngữ)  นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่สืบทอดวิชาเท่ยกุ๋งตามตำราดั้งเดิมของหมื่นมนัสประชา ดังนั้นท่านจึงสามารถแต่งบทกลอนและบทไหว้ในพิธีกรรมต่างๆ (วันกุ๋ง วันเต๋ -Văn cúng-Văn tế) จนท่านมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทุกหมู่บ้านของชาวเวียดนามในยุคสมัยนั้น
 
 
ช่วง พ.ศ. 2471 - 2472 เป็นช่วงที่ประธานาธิบดีโฮจิมินท์เข้ามาพำนักอยู่ที่บ้านนาจอกเพื่อเคลื่อนไหวกอบกู้เอกราชให้กับเวียดนาม ชาวบ้านนาจอกทุกคนต่างก็มุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการกอบกู้เอกราชให้กับเวียดนาม
ในช่วงนี้หมื่นมนัสประชาได้เข้าสู่เขตชราภาพแล้ว คุณทวดเกตุ ทายาทคนโตของท่านจึงได้รับการสนับสนุนให้ได้ร่วมงานกับประธานาธิบดีโฮจิมินท์โดยท่านได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปเรียนและปฏิบัติภารกิจลับร่วมกับสหายท่านอื่น
ที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร เป็นเวลาหลายเดือน 

หลังจากที่คุณทวดเกตุปฏิบัติภารกิจสำเร็จลุล่วง ท่านจึงเดินทางกลับบ้านนาจอกพร้อมกับ ต้นพันธุ์มะเฟืองหวาน ซึ่งท่านได้นำมาปลูกไว้บนที่ดินของหมื่นมนัสประชา ซึ่งยังคงเติบโตมีผลดกอยู่จนปัจจุบัน
 
 
ต้นมะเฟืองหวานนี้เป็นต้นไม้เก่าแก่ที่สำคัญของประเทศเวียดนามมาช้านาน
ดังมีนิทานปรัมปราของชาวเวียดนามเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับต้นมะเฟืองหวาน คือนิทานเรื่องมะเฟืองหวานกับพญาหงส์ (Ăn khế trả vàng)
 

Image result for câu chuyện ăn khế trả vàng
นิทานปรัมปราที่เกี่ยวข้องกับต้นมะเฟืองของประเทศเวียดนาม
 
 
แต่ข้อสำคัญยิ่งประการหนึ่งของการปลูกต้นมะเฟืองหวานคือการแฝงความหมายเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชของชาวเวียดนามโพนทะเลในยุคนั้น
กล่าวคือ ผลมะเฟืองสุกจะมีรสหวานหมายถึงความหอมหวานของอิสรภาพ และผลมะเฟืองสุกเมื่อหั่นออกแล้วจะมีลักษณะเป็น ดาวสีเหลือง 5 แฉก  (sao vàng) ซึ่งสื่อถึงดวงดาวสีเหลืองบนผืนธงชาติของประเทศเวียดนามนั่นเอง ดังนั้นจึงนิยมปลูกต้นมะเฟืองตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กู้ชาตินั่นเอง
 
 
มะเฟือง 5 แฉก มีลักษณะคล้ายดาวเหลืองบนพื้นแดงของธงชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
 
 
ด้วยเหตุดังกล่าวที่บ้านนาจอกจึงมีต้นมะเฟืองหวานที่ปลูกขึ้นในรุ่นราวคราวเดียวกัน 2 ต้น โดยต้นหนึ่งเชื่อกันว่าท่านประธานาธิบดีโฮจิมินท์เป็นผู้นำต้นพันธุ์จากจังหวัดพิจิตรมาปลูกขึ้นก่อนที่บ้านลุงโฮจิมินท์ (แหล่งท่องเที่ยวดั้งเดิม-บ้านลุงเตียว)
และอีกต้นหนึ่งที่มักไม่มีใครทราบคือต้นมะเฟืองหวานที่คุณทวดเกตุผู้ได้รับการคัดเลือกจากท่านประธานาธิบดีโฮจิมินท์ให้ไปปฏิบัติภารกิจลับที่จังหวัดพิจิตร ได้นำต้นพันธุ์ต้นที่ 2 กลับมาปลูกลงบนผืนดินของบ้านนาจอกโดยปลูกในบริเวณบ้านของหมื่นมนัสประชา บิดาผู้ซึ่งสนับสนุนอยู่เบื้องหลังการต่อสู้กอบกู้ชาติมาแต่ครั้งอดีต
 
ต้นมะเฟืองหวานประวัติศาสตร์ต้นที่ 2 ของบ้านนาจอกบนที่ดินของหมื่นมนัสประชา 
ปัจจุบันยังคงยืนต้นและให้ผลสุกเหลืองมากมายแม้เวลาล่วงไปกว่า 90 ปี
 
 
คุณทวดเกตุ ประชากุลถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2510 ในวัย 73 ปี ซึ่งนับว่าค่อนข้างไวสำหรับคนในยุคก่อน ด้วยเหตุนี้เรื่องราวของท่านจึงมักไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึง แต่เหนือสิ่งอื่นใดความจริงก็คือท่านก็ได้มีส่วนทำหน้าที่สืบสานปณิธานการกู้ชาติของหมื่นมนัสประชาผู้บิดาจนสำเร็จลุุล่วง
 
พิธีฝังศพของคุณทวดเกตุ ประชากุล ที่สุสานบ้านนาจอก เมื่อ พ.ศ. 2510
 
 
กระทั่งวันที่ 15 กันยายน 2560 รัฐบาลเวียดนามโดยท่านประธานาธิบดีเจิ่น ด่าย กวาง ได้อนุสรณ์ถึงคุณงามความดีของชาวเวียดนามโพ้นทะเลในยุคก่อน (Việt Kiều)
ที่ได้มีส่วนร่วมต่อสู้กู้ชาติให้พ้นจากการปกครองของฝรั่งเศส จึงได้มีการสำรวจรายชื่อผ่านทางสมาคมไทย-เวียดนาม จังหวัดนครพนมเพื่อจัดพิธีมอบเหรียญอิสริยาภรณ์กู้ชาติ (Huy chương kháng chiến hạng nhất)
ให้กับผู้เสียสละในอดีต
โดยผู้แทนรัฐบาลเวียดนามได้มอบ เหรียญอิสริยาภรณ์กู้ชาติ ชั้นที่ 1 เพื่อเป็นเกียรติผ่านทายาทสายตรงของคุณทวดเกตุ (หลานชายคนโตสืบสกุล - cháu đích tôn)
 

เหรียญอิสริยาภรณ์ต่อสู้กู้ชาติต่อต้านฝรั่งเศส ชั้นที่ 1 ของคุณทวดเกตุ ประชากุล 
(ได้รับหลังท่านวายชนม์ 50 ปี)
 
 
 ประกาศเกียรติคุณที่มอบมาพร้อมกับเหรียญอิสริยาภรณ์กู้ชาติ ชั้นที่ 1
 
 
คำแปล : ประกาศเกียรติคุณเหรียญอิสริยาภรณ์ต่อสู้กู้ชาติ ชั้นที่ 1
 
 
ตระกูลประชากุลสายที่ 1 นี้มีทายาทไม่มากนักเพราะเมื่อคุณตาเรือง ประชากุล แต่งงานกับคุณยายสุพิน ประชากุล (สกุลเดิม - ราชเจริญ) คุณตาเรืองก็ได้เสียชีวิตเมื่อวัยเพียง 45 ปี ทิ้งให้ภรรยาม่ายต้องดูแลบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 2 คน เรื่อยมา พร้อมกันนั้นยังต้องปรนนิบัติดูแล ปู่ และบิดา-มารดา ของสามีตั้งแต่ท่านเข้าสู่เขตชราภาพจนกระทั่งท่านทั้ง 3 ถึงแก่กรรมไปตามลำดับ
 
คุณยายสุพิน ประชากุล ภรรยาคนเดียวของคุณตาเรือง ประชากุล
(พ.ศ. 2463 - 2545)
 
 
นอกจากนี้คุณยายสุพิน ประชากุล ผู้เป็นหลานสะใภ้คนโตของหมื่นมนัสประชายังได้รับหน้าที่ดูแลการเซ่นไหว้ครบรอบวันเสียชีวิต (Giỗ) ของหมื่นมนัสประชามานานปี กระทั่ง พ.ศ. 2535 คุณยายสุพินได้ล้มป่วยลง คุณทวดลาย ประชากุล (บุตรชายคนรองของหมื่นมนัสประชา) จึงได้ย้ายไปเซ่นไหว้ที่บ้านของท่านจวบจนปัจจุบันจึงนับได้ว่าคุณยายสุพิน ประชากุลได้ทำหน้าที่ของสตรีผู้เป็นแม่ของลูก ผู้เป็นลูกสะใภ้ และผู้เป็นหลานสะใภ้ของตระกูลใหญ่อย่างตระกูลประชากุลได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ สมดังคำยกย่องสตรีโบราณที่ปฏิบัติตนได้ครบถ้วนบริบูรณ์ว่า Trinh Thuận
 
 
พิธีไหว้วันครบรอบเสียชีวิตของหมืนมนัสประชาที่บ้านหลังเก่าของท่านครั้งสุดท้าย ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2534
 
 

2. คุณทวดลาย ประชากุล  - ประชากุล สายที่ 2
 
คุณทวดลาย บุตรชายคนรองของหมื่นมนัสประชา  ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2530
(พ.ศ.2452 - 2541)
 
 
คุณทวดลายมีภรรยา 2 คน คนแรกคือคุณทวดเติม (บ่าลาย) ท่านเป็นคนบ้านโพนบก และเป็นทายาทสายตรง (หลานปู่) ของหลวงจำนงค์ บริรักษ์ ชาวญวนเก่าที่ได้รับพระบรมราชานุญาตแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณ มาแต่ครั้ง พ.ศ. 2431 โดยครั้งนั้นท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองญวน และนายหวา เป็นขุนพิทักษ์โยธี ปลัดกองญวน ตั้งอยู่ที่บ้านโพนบก และบ้านนาคู แขวงเมืองนครพนม บั้นปลายชีวิตของหลวงจำนงค์บริรักษ์
ท่านได้เดินทางไปทำราชการที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่แล้วก็หายสาบสูญไปไม่ได้เดินกลับมาที่จังหวัดนครพนมอีกเลย
 
ภาพถ่ายหลวงจำนงค์ บริรักษ์หรือองบิ่งญวน  และภรรยา ผู้เป็นปู่และย่าของคุณทวดเติม (เอกภรรยาของคุณทวดลาย)
(ภาพถ่ายอ้างอิงจาก FB Kosin Nittayakom)
 
 
ส่วนภรรยาคนที่ 2 ของคุณทวดลายคือคุณทวดแอม (บ่าแอมลาย) คุณทวดแอมมีทายาทกับคุณทวดลาย จำนวน 4 คน เป็นบุตรชาย 2 คน และบุตรสาว 2 คน
คุณทวดลายนั้นท่านเป็นผู้กว้างขวาง ในทางราชการท่านเป็นกำนันของตำบลหนองญาติ และยังเป็นผู้มีบทบาทสูงในการช่วยเหลือชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่อพยพเข้ามาในยุคหลังที่ต่างหนีภัยการฆ่าหมู่ของฝรั่งเศสข้ามน้ำโขงมาในไทย
กอรปทั้งท่านยังเป็นเท่ยกุ๋งระดับปรมาจารย์ของบ้านนาจอก (เท่ยหล่าง) มาอย่างยาวนานหลายสิบปี
 
 
คุณทวดลายท่านเป็นกำนันในช่วงที่ค่อนข้างยากลำบาก กล่าวคือเป็นยุคที่หมู่บ้านนาจอกถูกเรียกว่าหมู่บ้านคอมมิวนิสต์
และทางการเชื่อว่าเป็นพื้นที่สีแดงที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ จึงถูกทางการไทยเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษถึงขั้นส่งทหารมาประจำการเฝ้าระวังเป็นกองร้อย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นตรงกับยุคสมัยที่ทหารเข้าปกปกครองประเทศ (ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ซึ่งอเมริกาให้การสนับสนุนและรัฐบาลไทยเองยังสนับสนุนอเมริกาให้ปราบปรามขบวนการต่อต้านตะวันตกในอินโดจีน กระทั่งในช่วง พ.ศ. 2508 ทางกองทัพบกได้ส่งทหารเข้ามาควบคุมประชาชนในหมู่บ้านนาจอก เพื่อดูแลความเรียบร้อยของคนในชุมชนเพราะมองว่าเป็นแนวร่วมของขบวนการต่อสู้อเมริกาและต่อต้านตะวันตก เป็นเวลาถึง 2 ปี (อ้างอิงจาก : จตุพร ดอนโสม. 2555)
 
 
ซึ่งท่ามกลางความหวาดระแวงของทางการไทยในครั้งนั้นทำให้คุณทวดลายต้องถูกจับกุมไปจองจำในค่ายทหารแห่งหนึ่งที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นเวลาหลายปี
เนื่องจากท่านเป็นกันชนที่อยู่ตรงกลางระหว่างชาวบ้านและทางการย่อมจะหลีกหนีภัยครั้งใหญ่หลวงนี้ไม่พ้น ในครั้งนั้นทางการได้แต่งตั้ง "นายละออ อุปทัง"  ชาวบ้านนาจอกที่มีเชื้อสายไทยแท้ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้านทดแทน โดยผู้ใหญ่ละออ ท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ชาวบ้านนาจอกรักใคร่มากคนหนึ่ง เพราะท่านได้ให้การดูแล บำบัดทุกข์ บำรุงสุขชาวบ้านนาจอกให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปได้ ร่วมทั้งท่านยังสามารถทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับทางการได้เป็นที่เรียบร้อยทุกประการ
 
 
หลังการตั้งค่ายทหารสอดส่องความประพฤติของชาวบ้านเป็นเวลา 2 ปี แต่ก็หาได้พบความผิดปกติใดใดในหมู่บ้านแห่งนี้ไม่ ทางการจึงได้ค่อย ๆ ถอนกำลังทหารไปยังที่ตั้งคือค่ายทหารนาโพธิ์ แต่อย่างไรก็ตามในช่วง พ.ศ.2511 - 2512 บ้านเมืองก็ยังคงวุ่นวายมากด้วยเรื่องราวปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ หลังจากทางการถอนทหารไปจากบ้านนาจอกหลายปีแล้ว  ราว พ.ศ. 2515 คุณทวดลายจึงได้รับการปล่อยตัวกลับมายังบ้านนาจอกท่ามกลางความดีใจของครอบครัว ญาติมิตร และชาวบ้านนาจอกด้วยว่าตั้งแต่ท่านถูกส่งตัวไปยังจังหวัดนครราชสีมาทายาทก็หาได้ทราบข่าวคราวของท่านแต่ประการใด
 
คุณทวดลายในบทบาทเท่ยกุ๋ง ขณะทำพิธีในงานศพหลานชายของท่านที่บ้านโพนบก ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2529
 
 
บั้นปลายชีวิตคุณทวดลายท่านใช้ชีวิตด้วยความสุขสงบ เรียบง่ายกับลูกหลานในครอบครัวของท่าน และท่านได้อุทิศตัวทำงานให้กับทางราชการและชุมชนหมู่บ้านเป็นเอนกประการ อาทิ เป็น กรรมการศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง กรรมการหมู่บ้าน  กรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านนาจอก กรรมการศึกษาโรงเรียนเมืองนครพนม (ภูเขาทอง) และนอกจากนี้ท่านยังได้อุทิศตนเป็นเท่ยกุ๋งประจำหมู่บ้าน (Thầy làng) มาอย่างยาวนานกระทั่งท่านถึงแก่กรรมในวัย 89 ปี
 

คุณทวดลาย (กลาง) ในงานศพพี่สะใภ้ (คุณทวดทุม ประชากุล)
คุณทวดชาญ เลวรรณ (ขวา) น้องชายคนเดียวของคุณทวดทุม
นายด่าย วรหาญ (ถือไมค์) หลานปู่ของนายเทียด วรหาญ (ผู้ร่วมก่อตั้งบ้านนาจอกกับหมื่นมนัสประชา-ผู้เขียน)
 
 

3. ทายาทหมื่นมนัสประชา-สายบ้านโพนบก
 
ช่วงเวลาที่หมื่นมนัสประชาได้อพยพหนีภัยโรคระบาดจากบ้านกกต้องไปอยู่ที่บ้านโพนบก ท่านจึงได้ภรรยาคนที่ 2 ที่นี่ ภรรยาคนนี้ให้กำเนิดบุตรสาวกับหมื่นมนัสประชา 1 คน คือคุณทวดทุ้ย แต่หลังจากคลอดคุณทวดทุ้ยได้ไม่นานแม่ของท่านก็เสียชีวิต ในช่วงแรกคุณทวดทุ้ยอยู่ในความดูแลของคุณเทียดทองภรรยาคนแรกของหมื่นมนัสประชา แต่หลังจากที่หมื่นมนัสประชาและคุณเทียดทองได้ตัดสินใจย้ายไปตั้งรกรากที่บ้านนาจอก ญาติฝ่ายคุณทวดทุ้ยจึงได้ขอท่านไปอุปการะดูแลจน
คุณทวดทุ้ยเติบโตขึ้นที่บ้านโพนบก แต่กระนั้นเมื่อท่านเติบโตขึ้นก็ได้ไปมาหาสู่หมื่นมนัสประชาผู้บิดาที่บ้านนาจอกอยู่เป็นนิจ
 
คุณทวดทุ้ยแต่งงานกับคุณทวดเหรียญ ศิริสวัสดิ์ มี บุตรชาย 3 คน หญิง 1 คนดังที่เล่ามานี้ทายาทที่สืบสกุลลงไปจากคุณทวดทุ้ยก็นับว่ามีเชื้อสายของหมื่นมนัสประชาด้วยเหตุนี้
 
 
บุตรชายคนหนึ่งของคุณทวดทุ้ยคือคุณตาเลื่อน ศิริสวัสดิ์  ท่านรับราชการครูและเป็นคนที่กว้างขวางเป็นที่รู้จักนับหน้าถือตาของข้าราชการครูยุคนั้นเป็นอย่างมาก คุุณตาเลื่อนนับว่าเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนเชื่อมโยงความผูกพันรักใคร่กันของทายาทหมื่นมนัสประชาสายที่ 1 สายที่2 และสายบ้านโพนบกให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเป็นอันมากเพราะท่านมักไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องของท่านที่นาจอกอยู่เป็นนิจ กระทั่งท่านได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ.2529 การไปมาหาสู่กันก็ลดน้อยลงไปด้วยจึงเป็นเหตุให้ทายาทรุ่นหลัง ๆ ของท่านมักไม่ทราบเรื่องราวลำดับญาติกับสายบ้านนาจอกมากนัก
 
พิธีเคลื่อนศพขอคุณตาเลือน ศิริสวัสดิ์ ไปยังสุสานบ้านโพนบก  ถ่ายเมื่อปี 2529
(พ.ศ.2477 - 2529)
 
 
 

4. ทายาทหมื่นมนัสประชา-สายคุณเทียดทอง

 
คุณเทียดทอง ท่านมีพี่สาวที่รักใคร่สนิทสนมนับถือช่วยเหลือกันมาตั้งแต่ครั้งที่ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2420 อยู่ 1 คน ต่อมาพี่สาวของท่านได้แต่งงานแล้วเป็นม่ายโดยมีบุตรชาย 1 คน คือคุณทวดเกียว  คุณทวดเกียวแต่งงานกับคุณทวดเต้ยแล้วมีบุตรชาย 1 คน คือคุณตาบุญมี ประชากุล ซึ่งแต่งงานกับคุณยายจันทร์มา ประชากุล มีลูกด้วยกัน 7 คน ซึ่งแต่เดิมทั้งหมดอยู่ในความอุปถัมภ์ของคุณเทียดทอง และหมื่นมนัสประชา จึงได้ร่วมใช้นามสกุลประชากุลด้วยเหตุนี้
ดังนั้นทายาทสายคุณตาบุญมีจึงมีความเกี่ยวข้องกับหมื่นมนัสประชาด้วยเหตุที่เล่ามานี้
 
 
จารึกที่หลุมศพของทายาทหมื่นมนัสประชา-สายคุณเทียดทอง ประชากุล
 
 
 
สายตระกูลที่นับเนื่องมาจากหมื่นมนัสประชา-บ้านนาจอก เห็นจะมีแต่เพียง 4 สายที่กล่าวมาข้างต้น แต่จากการสืบค้นข้อมูลนามสกุล "ประชากุล" ยังพบซ้ำอีกหลายจังหวัดโดยเฉพาะพบมากที่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
แต่จากการสอบถามพูดคุยก็ได้ความว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่ประการใดเป็นแต่เพียงการเขียนพ้องกันเท่านั้น
 
 
ทั้งนี้เนื่องจากในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2455  และได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่  1 กรกฎาคม พ.ศ.2456 และในครั้งนั้นก็มีกาพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัวโดยเฉพาะข้าราชการและบุคคลที่ทำราชการอยู่ในเขตท้องถิ่นเรื่อยมาหลายปี ที่เรียกว่านามสกุลพระราชทาน ซึ่งมีมากถึง 6,432 นามสกุล โดยในกรณีนี้ผู้ทำราชการที่มีทินนามหรือเป็นขุนนางอยู่แล้วอยู่แล้วก็จะได้รับพระราชทานนามสกุลตามทินนามหรือใช้ทินนามของผู้เป็นต้นสกุล ซึ่งก็คือ  "มนัสประชา" แต่แล้วทายาทก็เปลี่ยนแปลงให้กระชับเป็น "ประชากุล" ในยุคหลัง
 
 
ขออวสานการเล่าเรื่องราวของหมื่นมนัสประชาแต่เพียง 3 ตอนเท่านี้
 
สำหรับท่านที่สนใจกดอ่าน ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ได้ตามลิงค์ข้างล่าง
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

จนกว่าจะพบกันใหม่

Nguyễn Gia Huy

 

 

*************************************************************************************

 

"Chân thành cảm ơn Thầy Minh Quang đã giúp đỡ tận tình về việc viết bài và chỉnh sửa lại bài viết "

"Cảm ơn Anh Viết Thành đã có lời động viên tinh thần và giúp đỡ về Tiếng Việt thường xuyên"

*************************************************************************************

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.จตุพร ดอนโสม. (2555).การสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ุของคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก. ขอนแก่น : ศูนย์วิจัยพหุอัตลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง
2.ธันวา ใจเที่ยง. (2546). หมู่บ้านชาวนาปฏิวัติบนแผ่นดินอีสานตอนบน. กรุงเทพฯ : พิมพ์ดี.

3.ธัญญาทิพย์ ศรีพนา. (2546). ชาวเวียดนามอพยพในภาคอีสานของไทย. อินโดจีนศึกษา. ปีที่ 3-4 : ม.ค.2545 - ธ.ค.2546

4 . นามสกุล. ค้นเมื่อ 29  กรกฎาคม 2561. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5
5. เฟซบุ๊ค : Kosin Nittayakom
 




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2561
8 comments
Last Update : 21 พฤษภาคม 2562 21:03:15 น.
Counter : 3033 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณกะว่าก๋า, คุณInsignia_Museum

 

โอ้โห... ข้อมูลแน่นมากครับพี่
คนจีนเองก็มีสาแหรกประจำตระกูล
เอาไว้เช็คเชื้อสายเถือกเถอเหล่ากอ
เป็นสิ่งที่ดีมากๆเลยนะครับ

มะเฟืองเป็นสัญลักษณ์ในธงเวียดนาม
ผมเพิ่งทราบจากที่นี่เป็นที่แรกเลย

โหวตครับ

 

โดย: กะว่าก๋า 4 สิงหาคม 2561 14:04:42 น.  

 

มาอ่านเรื่องในอดีตที่มีคุณค่าค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 4 สิงหาคม 2561 20:58:49 น.  

 


อรุณสวัสดิ์ครับพี่




 

โดย: กะว่าก๋า 5 สิงหาคม 2561 6:47:23 น.  

 

สายสัมพันธ์ที่สืบทอด มีความชัดเจนและย้อนไปไดไกลมากครับ
แนาการเขียนแบบนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ครอบครัวอื่นไปใช้
ผมเองก็เคยเขียนสาแหรกของตระกูล แต่ไม่มีรายละเอียดที่สืบค้นได้ จึงออกมาในแนวประวัติรวมๆของท้องถิ่นครับ

 

โดย: Insignia_Museum 5 สิงหาคม 2561 12:42:39 น.  

 

สวัสดีเช่นกันครับ

เดือนนี้มีหนังสือให้อ่านอีกหลายเล่มเลยล่ะครับ

 

โดย: กะว่าก๋า 6 สิงหาคม 2561 14:16:07 น.  

 

ไม่ได้คุยกันนานเลยนะครับ ยังทำงาน มศว อยู่ใช่ไหมครับส่วนน้องๆที่ชวนกันเดินคือน้องๆในที่ทำงานเดียวกันน่ะครับ ซึ่งตอนนี้ผมก็ออกมาแล้ว

 

โดย: Insignia_Museum 6 สิงหาคม 2561 14:25:50 น.  

 



สวัสดียามเช้าครับพี่


 

โดย: กะว่าก๋า 7 สิงหาคม 2561 6:41:06 น.  

 

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ค่ะ

 

โดย: สมาชิกหมายเลข 3445381 5 พฤศจิกายน 2561 3:41:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Gia Huy - Peeradol
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
แจกฟรีแบ๊คกราว
Friends' blogs
[Add Gia Huy - Peeradol's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.