Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2561
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
20 มิถุนายน 2561
 
All Blogs
 

หมื่นมนัสประชากับบ้านนาจอก : บันทึกสุดท้ายก่อนลับเลือนหาย ตอนที่ 1 ภูมิหลังการก่อตั้งบ้านนาจอก

ตอนที่ 1 ภูมิหลังการก่อตั้งบ้านนาจอก
 

(พ.ศ.2387 - 2476)
หมื่นมนัสประชาในชุดสูทสากล เบื้องซ้ายกลัดตราพระราชสีห์ (ตราผู้ใหญ่บ้าน) เครื่องหมายสิงห์บำบัดทุกข์ บำรุงสุข 
และประดับเหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ พระราชพิธีสมโภชพระนคร 150 ปี *
ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2475


Theo dấu chân tiên tổ hướng về tổ quốc.

Góp công dựng Bản Mạy gìn giữ giống nòi.

 

หมื่นมนัสประชา (  Kiều Phương : เล เกี่ยว เฟือง หรือชื่อไทยว่า เบบแก้ว  เลเกียว) เป็นชาวเวียดนามเกิดเมื่อพ.ศ. 2387 ที่จังหวัดเหงะอาน (Nghệ An) ภาคกลางของประเทศเวียดนามท่านเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่รู้หนังสือเนื่องจากตระกูลของท่านเป็นตระกูลที่สืบทอดวิชาในพิธีกรรมการเซ่นไหว้ต่างๆภาษาเวียดนามเรียกว่า เท่ยกุ๋ง (Thầy cúng) จึงทำให้ท่านได้รับการศึกษาตลอดจนได้รับการถ่ายทอดวิชาเท่ยกุ๋งจากผู้เป็นบิดาซึ่งวิชาดังกล่าวถือเป็นวิชาที่มีความสำคัญยิ่งในสังคมชาวเวียดนามโบราณที่ความเชื่อส่วนใหญ่ยังคงยึดโยงอยู่กับพิธีกรรมและการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ

ในวัยหนุ่มของท่าน (ราวพ.ศ. 2406) ท่านได้เริ่มเข้าร่วมขบวนการวันเทิน (Phong trào Văn Thân) ขบวนการวันเทินนี้เป็นขบวนการที่พยายามปกป้องสถาบันกษัตริย์เพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของฝรั่งเศสในเวียดนามทั้งนี้ตั้งแต่ฝรั่งเศสยึดครองโคชินจีนก่อให้เกิดผลกระทบต่อการปกครองของราชวงศ์เหงียนมากปฏิกิริยาของราชสำนักเป็นไปในการปราบปรามชาวเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์ส่วนการเจรจากับฝรั่งเศสเป็นไปในรูปแบบที่เวียดนามอยู่ในสภาพด้อยกว่าประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะชนชั้นกลางได้มารวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากเพื่อต่อต้านฝรั่งเศสและโจมตีชาวเวียดนามที่นับถือคริสต์ต่อมาเมื่อจีนและฝรั่งเศสตกลงสงบศึกกันโดยจีนที่เคยช่วยเหลือเวียดนามรบกับฝรั่งเศสก็ถอนกำลังออกไปฝรั่งเศสจึงเริ่มปราบปรามชาวเวียดนามอย่างรุนแรงซึ่งในระยะต่อมาฝรั่งเศสได้พยายามปราบปรามกดดันกลุ่มสนับสนุนขบวนการวันเทิน ในตอนกลางของประเทศเวียดนามอย่างหนัก

ด้วยเหตุที่ถูกฝรั่งเศสกดดันอย่างหนักนี่เองราวปี พ.ศ. 2415 หมื่นมนัสประชาและสหายร่วมอุดมการณ์ในกลุ่มวันเทินจึงต้องเคลื่อนย้ายกำลังไปตั้งมั่นและแสวงหาแนวร่วมแถบแขวงคำม่วนเมืองท่าแขกประเทศลาว(พื้นที่แขวงคำม่วนที่ติดกับพรมแดนเวียดนามนี้เป็นส่วนที่แคบที่สุดของประเทศลาว)

ราวปี พ.ศ.2420 ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนลาวจึงทำการกวาดล้างกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการวันเทิน ที่เคลื่อนย้ายมาจากตอนกลางของประเทศเวียดนามเป็นอย่างหนักทำให้สมาชิกในกลุ่มวันเทินจำเป็นต้องหนีกระจัดกระจายกันข้ามฝั่งมาที่แผ่นดินไทยและในในช่วงเดียวกันนี้ก็ปรากฏว่าได้มีชาวเวียดนามทยอยกันหนีภัยจากการคุกคามของฝรั่งเศสในเวียดนามและลาวเข้ามาในประเทศไทยผ่าน 3 ช่องทางคือ

 

1. ทางภาคตะวันออกของไทยได้แก่ จังหวัดจันทบุรี

 

2. ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยได้แก่บ้านหนองแสง จังหวัดนครพนม บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนครและบ้านท่าจังหวัดอุบลราชธานี

 

3. ทางภาคเหนือของประเทศไทยได้แก่ บ้านแพร่ จังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะนับถือศาสนาคริสต์แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์อพยพเข้ามาพร้อมกันเพราะถูกกดดันทางการเมืองและส่วนหนึ่งก็เพราะความอดอยากเมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเขตภาคกลางของประเทศเวียดนามโดยคนไทยจะเรียกคนเวียดนามกลุ่มนี้ว่าเป็นกลุ่ม ญวนเก่า

หมื่นมนัสประชานั้นได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในยุคเดียวกันนี้แต่ท่านและสมาชิกส่วนหนึ่งได้อาศัยอยู่ที่บ้านคำเกิ้ม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านนาจอกในปัจจุบันไปทางทิศเหนือราว 4 กิโลเมตรท่านอยู่ที่บ้านคำเกิ้มได้ระยะหนึ่งก็มีเหตุให้ต้องอพยพไปอาศัยอยู่ที่บ้านโพนบกเนื่องจากที่บ้านคำเกิ้มได้เกิดโรคระบาดรุนแรง

เนื่องจากพื้นที่ของบ้านโพนบกนั้นเป็นที่ดอนไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาตินอกจากของป่าที่อุดมสมบูรณ์หมื่นมนัสประชาและสมาชิกส่วนหนึ่งที่อพยพมาพร้อมกันจึงต้องไปแสวงหาเสบียงอาหารนอกพื้นที่บ้านโพนบกอยู่เนืองเนืองซึ่งพื้นที่ของบ้านนาจอกในขณะนั้นติดอยู่กับหนองน้ำขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า หนองญาติ ที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์มากเนื่องจากมีปลาและสัตว์น้ำจืดอยู่ชุกชุมการเดินทางจากบ้านโพนบกไปถึงหนองญาติจะต้องเดินผ่านพื้นที่ป่ารกชัฏแห่งนี้อันเต็มไปด้วยสุนัขจิ้งจอกที่ดุร้าย (หมาจอกภายหลังเพี้ยนเสียงเป็น นาจอก”) 

ดังนั้นหากเป็นเวลากลางคืนจึงต้องเดินอ้อมไปทางพื้นที่ที่ติดกับบ้านนาจอกนั่นคือบ้านต้นผึ้ง ที่บ้านต้นผึ้งนี้มี "ต้นผึ้ง" ซึ่งจัดเป็นต้นไม้ที่ค่อนข้างสูง และมีจำนวนมาก ต้นผึ้งนี้เรียกอีกชื่อว่า “ยวนผึ้ง” เป็นไม้เนื้ออ่อนจัดอยู่ในตระกูลไทร ลำต้นมีลักษณะสูงใหญ่ ผิวเรียบ สีขาว มีกิ่งก้านที่แผ่กว้างขยายออกไปในทุกทิศ จึงเป็นที่ชื่นชอบของ “ผึ้งหลวง” ที่มักจะมาเกาะเพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัยตลอดทั้งปี  ดังนั้นจึงทำให้มีสมาชิกส่วนหนึ่งที่มาหาเสบียงอาหารที่หนองญาติก็แวะตีผึ้งเอาน้ำผึ้งไปขายนานครั้งเข้าก็สมัครใจที่จะแผ่วถางบุกเบิกตั้งเพิงพักตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ที่บ้านต้นผึ้งเสียเลย ดังนั้นเขตบ้านต้นผึ้งที่เป็นส่วนหนึ่งของบ้านนาจอกในปัจจุบันนั้นจึงนับได้ว่าถูกก่อตั้งบุกเบิกขึ้นก่อนบ้านนาจอกฝั่งบ้านใหม่

ภาพต้นผึ้ง หรือต้นยวนผึ้ง อันเป็นที่มาของชื่อบ้านต้นผึ้ง

ในราวปีพ.ศ.2439 หมื่นมนัสประชาและนายเทียด วรหาญ (ปู่ของลุงเตียวเจ้าของที่บ้านลุงโฮจิมินห์-แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในปัจจุบัน) จึงได้อพยพจากบ้านโพนบกมาบุกเบิกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านนาจอกเพื่อแสวงหาแหล่งทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเพราะทำเลที่ตั้งของบ้านนาจอกนี้อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำหนองญาติอันอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านสามารถเพาะปลูกหาปลา ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ได้ผลดียิ่งจึงส่งผลให้ชาวเวียดนาม (ญวนเก่า) ที่เข้ามาในรุ่นราวคราวเดียวกันทยอยกันมาอยู่ที่บ้านนาจอกมากขึ้นเรื่อยๆ จนค่อย ๆสามารถจัดตั้งหมู่บ้านได้ในที่สุด

คนกลุ่มแรกที่บุกเบิกตั้งบ้านนาจอกพร้อมๆกับหมื่นมนัสประชานี้ส่วนใหญ่มีเชื้อสายหรือบ้านเกิด (Quê quán) มาจากจังหวัดเหงะอาน (Nghệ An) จังหวัดฮาติ่งห์ (Hà Tĩnh-เดิมเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเหงะอานแต่มาแยกเป็นจังหวัดในภายหลัง) และจังหวัดกวางบิงห์ (Quảng Bình)โดยที่เส้นทางหลักจากภาคกลางของประเทศเวียดนามผ่านลาวมายังจังหวัดนครพนมนั้นเป็นเส้นทางจากเมืองวิงห์ (Vinh) ที่ชาวเวียดนามจากจังหวัดเหงะอานและจังหวัดฮาติงใช้เดินทางมายังเมืองท่าแขกแขวงคำม่วน ประเทศลาว (แขวงคำม่วนนี้เป็นพื้นที่ส่วนที่แคบที่สุดของประเทศลาวจึงเป็นช่องทางการอพยพเดินเท้าที่สะดวกที่สุดของชาวเวียดนาม) ก่อนที่ต่อมาจึงอพยพข้ามแม่น้ำโขงมายังจังหวัดนครพนม ประเทศไทย

บ้านไม้ทรงโบราณของบ้านนาจอกถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2550

 

เมื่อหมื่นมนัสประชาก่อตั้งหมู่บ้านสำเร็จเป็นปึกแผ่นได้ระหนึ่งแล้ว ท่านได้รับเลือกจากสมาชิกให้ผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแลสมาชิกในหมู่บ้านซึ่งขณะนั้นการแบ่งเขตการปกครองและการเรียกชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ ของทางราชการยังไม่ตรงกับการเรียกชื่อของชาวบ้าน กล่าวคือ บ้านนาจอกสมัยก่อนนั้นเรียกว่า บ้านในเมือง (ข้อมูลตรงนี้สอดคล้องกับการตั้งชื่อโรงเรียนบ้านนาจอกที่หมื่นมนัสประชาก่อตั้งขึ้น โดยแรกเริ่มโรงเรียนมีชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลตำบลในเมือง 2 และเปลี่ยนอีกหลายชื่อกว่าจะเป็นชื่อโรงเรียนบ้านนาจอก : อ้างจาก จตุพร ดอนโสม : 2555 :82 - 84) และ อำเภอเมืองปัจจุบัน ยังเรียกว่าอำเภอหนองปึกหรืออำเภอหนองบึก


ในปี พ.ศ. 2473 (ตรงกับ รัชกาลที่ 7) นายเบบแก้ว เลเกียว ผู้ใหญ่บ้านในเมือง อำเภอหนองบึก  ได้รับแต่งตั้งจากทางราชการให้มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางไทยระดับ 6 ที่  "หมื่นมนัสประชา"  ถือศักดินา 300

(เพิ่มเติมจากผู้เขียน : ลำดับขุนนางโบราณเรียงดังนี้ 1.เจ้าพระยา  2.พระยา  3.พระ  4.หลวง  5.ขุน  6.หมื่น  7.พัน และ 8.นาย/หมู่)



 

                                                                                           

อ้างจากราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่  2 ธันวาคม พ.ศ. 2473 เล่มที่ 45 หน้า 2712

 


ซึ่งนับว่าในปีนั้น มณฑลอุดร จังหวัดนครพนม มีเพียงท่านเพียงผู้เดียวที่ได้รับบรรดาศักดิ์จากทางราชการ 
และจากหลักฐานชิ้นนี้น่าจะทำให้การบอกเล่าเรื่องราวของบ้านนาจอกที่ไม่ค่อยชัดเจน จะได้มีข้อมูลอ้างอิงได้ถูกต้องเป็นทางการขึ้นกว่าในยุคปัจจุบันที่เรื่องราวหมื่นมนัสประชาผู้ใหญ่บ้านคนแรกได้ลับเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์การก่อตั้งบ้านนาจอกเสียแล้ว



ประกาศราชกิจจานุเบกษา ปี พ.ศ.2473 ลำดับที่ 112 หมื่นมนัสประชา ศักดินา 300
(ขอบพระคุณ คุณKosin Nittayakom ที่กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูล )
 

ในระยะแรกหมู่บ้านนาจอกแบ่งออกเป็น 2 หมู่บ้านคือบ้านต้นผึ้งที่ตั้งขึ้นก่อนมี ขุนเดช บำรุงเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกและบ้านใหม่ (BạnMạy:ชื่อเรียกในกลุ่มคนไทยเชื้อสายเวียดนามมาแต่เดิม) ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังจากบ้านต้นผึ้งโดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือหมื่นมนัสประชา ดังนั้นที่เรียกว่าบ้านใหม่นี้จึงเป็นการออกเสียงแบบภาษาเวียดนามทับศัพท์ภาษาไทยนั่นเองและต่อมาภายหลังเพื่อความเป็นระเบียบและง่ายต่อการปกครองจึงได้รวมบ้านนาจอก (บ้านใหม่) และบ้านต้นผึ้งเข้าเป็นหมู่บ้านเดียวกันใช้ชื่อเป็นทางการว่า บ้านนาจอก ตามพระราชบัญญัติการปกครองท้องถิ่นพ.ศ. 2475

 

ในยุคแรกนั้นตระกูลเก่าแก่ที่มาสร้างและบุกเบิกบ้านนาจอกพร้อมๆกับหมื่นมนัสประชาสังเกตได้ไม่ยากกล่าวคือตระกูลเก่าแก่จะจับจองที่ดินติดกับทุ่งนาและหนองญาติเนื่องจากสังคมชาวเวียดนามเก่านั้นก็เป็นสังคมเกษตรกรรมการมีที่ดินที่ตั้งบ้านเรือนติดกับผืนนาและหนองน้ำใหญ่นั้นย่อมแสดงถึงความมั่งคั่งและความบริบูรณ์ของตระกูลนั้น ๆ ต่อมาภายหลังจึงมีสมาชิกอื่นทยอยกันเดินทางมาแผ้วถางจับจองที่ดินตั้งรกรากอยู่ที่บ้านนาจอกมากขึ้นเรื่อยๆโดยจะสังเกตว่าที่ดินตระกูลที่มาที่หลังก็จะต้องจับจองได้ที่ดินถัดขึ้นไปจากพื้นที่ของตระกูลเก่าแก่ที่มาอยู่ก่อนนั่นเอง

หลังจากการก่อตั้งหมู่บ้านนาจอกมาได้ระยะหนึ่งความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ติดมาจากแผ่นดินแม่ก็ถูกเก็บไว้ในลึกที่สุดในจิตใจของหมื่นมนัสประชาเพราะทุกอย่างถูกแทนที่ด้วยเรื่องปากท้องการทำมาหากิน การทำเกษตรกรรมและการเป็นผู้นำที่จะต้องนำพาสมาชิกในหมู่บ้านเล็กๆนี้ให้อยู่รอดปลอดภัยบนผืนแผ่นดินไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามผสมผสานวัฒนธรรม 2 แผ่นดินเข้าด้วยกันจนค่อยๆหลอมรวมเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์คนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอกอย่างในปัจจุบัน

 

Nguyễn Gia Huy

 

**** โปรดติตตามตอนที่ 2 อนุสรณ์สืบเนื่องจากหมื่นมนัสประชา ****

**** โปรดติดตามตอนที่ 3 ครอบครัวของหมื่นมนัสประชา ****

ตอนที่ 2

 

*********************************************************************

"Chân thành cảm ơn Thầy Minh Quang đã giúp đỡ tận tình về việc viết bài và chỉnh sửa lại bài viết "
"Cảm ơn Anh Viết Thành đã có lời động viên tinh thần và giúp đỡ về Tiếng Việt thường xuyên"


**********************************************************************
 

เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ พระราชพิธีสมโภชพระนคร 150 ปี  (Commemoration medal) *

เป็นเหรียญกะไหล่เงิน พระราชทานแก่ข้าราชการฝ่ายหน้า ตั้งแต่ชั้นยศอำมาตย์เอกลงไปจนถึงราชบุรุษ และขุน หมื่น ประทวนกับข้าหลวงน้อยชั้นเจ้ากรมปลัด  กรมสมุหบัญชี   เฉพาะที่มีบรรดาศักดิ์                                                

                                                                                                                                        

 



เอกสารอ้างอิง

1. จตุพร ดอนโสม. (2555).การสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ุของคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก. ขอนแก่น : ศูนย์วิจัยพหุอัตลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง
2. ณัฏฐนันท์ สุวรรณวงก์ และคณะ. (2561). 125 ปีชาวเวียดนามเมืองอุดร. อุดรธานี : บ้านเหล่าการพิมพ์

3. ธัญญาทิพย์ ศรีพนา. (2546). ชาวเวียดนามอพยพในภาคอีสานของไทย. อินโดจีนศึกษา. ปีที่ 3-4 : ม.ค.2545 - ธ.ค.2546

4. Phong trào Văn Thân. ค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2561. https://vi.wikipedia.org/wiki/Phong_tr%C3%A0o_V%C4%83n_Th%C3%A2n
5. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 45 หน้า 2712 ปี พ.ศ. 2473
6. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.7 ร.ล. 15.1 ฉ.2, เหรียญที่ระลึกในงานฉลองพระนคร 150 ปี พ.ศ. 2475 (อ้างจาก ; wiki.kpi.ac.th : สืบค้นเมื่อ 19 พ.ค. 2562)

 

 





 

Create Date : 20 มิถุนายน 2561
3 comments
Last Update : 21 พฤษภาคม 2562 21:06:39 น.
Counter : 3608 Pageviews.

 

ไปอ่านตอน 2 ต่อค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 17 กรกฎาคม 2561 13:22:05 น.  

 

เนื้อเรื่องสนุก มีสาระน่าติดตามอ่าน ทำให้ทราบถึงช่วงการโยกย้ายถิ่นฐานของคนเวียดนามเข้าสู่ไทยอีกช่วงหนึ่ง ในจำนวนการเข้าไทยหลายระลอก สืบเนื่องกว่า 236 ปี ภูมิใจในอัตลักษณ์ของความเป็นเวียดนามที่ต้องผ่านความยากลำบากนานัปการจนมีวันนี้

 

โดย: นายอรรถพล เรืองสิริโชค IP: 124.121.196.65 22 กรกฎาคม 2561 0:15:43 น.  

 

คิดถึงบ้านนาจอก ไม่ลืมเลือนค่ะ

 

โดย: JATUPORN DONSOM IP: 202.29.14.124 16 มีนาคม 2566 19:56:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Gia Huy - Peeradol
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
แจกฟรีแบ๊คกราว
Friends' blogs
[Add Gia Huy - Peeradol's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.