Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
Group Blog
 
<<
มกราคม 2556
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
25 มกราคม 2556
 
All Blogs
 

เล่าเรื่องเกิ่วโด๋ย (câu đối) งานศพ



ปฐมภาค:เกริ่น

ธรรมเนียมงานศพของชาวไทยเชื้อสายเวียตนามในเขตอำเภอเมืองนครพนมนั้น ไม่เหมือนกันเลยทีเดียวหากแต่มีความต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยของชุมชน (หล่าง : Làng) ที่สังกัด  เช่น ชุมชนบ้านนาจอก ชุมบ้านต้นผึ้ง-ดอนโมง ชุมชนบ้านโพนบก ชุมชนวัดป่า ชุมชนบ้านนาราชควาย ชุมชนวัดอรัญ ชุมชนชาวเวียตนามในเทศบาลที่สังกััดด่ายเหียวและชุมชนคาธอลิกเวียตนามบ้านหนองแสง

ชอบภาพโทนนี้อ่ะครับ ถ้าอัดออกมาเป็นแผ่นมันจะสวยมั้ยครับ

นอกจากนี้ยังมีบ่อยครั้งที่พบว่าชุมชนมากกว่า 1 ร่วมกันจัดงานศพ 1 งาน ดังนั้นจึงทำให้ธรรมเนียมงานศพมีข้อแตกต่างกันไปเสียทุกครั้งเมื่อมีการผสมผสานดังกล่าวเกิดขึ้น ตรงนี้อาจสืบเนื่องจากค่านิยมเก่าสมัยก่อนที่ชาวไทยเชื้อสายเวียตนามมักแต่งงานกันในเชื้อสายเดียวกัน (แต่งข้ามหล่าง วนเวียนกันไปมา)  หรืออาจมาจากผู้ตายสังกัดชุมชนมากกว่า 1 ชุมชนนั่นเอง

ผมเองมองความแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยแต่ละหล่างเป็นสิ่งที่สวยงาม เหมือนเสื้อผ้าที่ตัดพอดีตัวสวยงามสบายเหมาะกับแต่ละคน ไม่ใช่เสื้อผ้าโหลที่ตัดไซร์เดียวกันเหมือนกันหมดทุกตัวเมื่อตัวไหนตัดต่างไปย่อมมองผิดหรือพลาดได้  หากแต่เรื่องธรรมเนียมงานศพที่ต่างกันไปในแต่ละหล่างนั้นย่อมไม่มีสิ่งใดผิด สิ่งใดถูกทุกสิ่งย่อมมีเหตุผลและคำตอบในตัวมันเอง

รูปภาพ

บ้านนาจอกนั้นได้ชื่อว่าเป็นชุมชนที่มีระเบียบแบบแผนทางสังคม (ระบบหล่าง) ยอดเยี่ยม หากแต่ธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับพิธีศพ และการไหว้ (กุ๋ง: Cúng ) ต่าง ๆ นั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย ผ่อนปรน และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย แต่ทว่ายังคงรักษาธรรมเนียมหลักแบบนาจอกไว้ได้เป็นส่วนใหญ่

รูปภาพ

ยกตัวอย่างเช่น การทำพิธีฝังศพที่นาจอกนั้นไม่ปรากฎว่ามีการใช้ หล่าเจี่ยวเลยตั้งแต่สมัยโบราณ และไม่มีการทำป้ายวิญญาณมาก่อนหน้า พ.ศ. 2540 แต่ภายหลังจึงมีการปรับเปลี่ยนให้มีป้ายวิญญาณไว้ทำพิธี แต่ทว่าก็ต้องทำพิธีหลังจากฝังศพแล้วเท่านั้น ระหว่างที่ศพยังไม่ถูกฝังจะไม่มีพิธีไหว้ใด ๆ เลย

ถ้าให้วิเคราะห์ก็คงเป็นเพราะนาจอกนั้นมีระบบเท่ยหล่าง (ซินแสประจำชุมชน) ที่มักจะสืบทอดตำรากันลงมาไม่ขาดสาย จึงทำให้คงเอกลักษณ์เฉพาะหล่างที่ไม่เหมือนชุมชนอื่นไว้ได้อย่างยาวนาน และธรรมเนียมอีกอย่างที่ไม่ค่อยพบเห็นได้ในงานศพในชุมชนบ้านนาจอกก็คือ

"เกิ่วโด๋ยงานศพ"

ซึ่งแม้ว่าไม่เป็นที่นิยมแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีให้เห็นเลยดังนั้นจึงขอนำเสนอเรื่องราวของเกิ่วโด๋ยงานศพไว้พอให้ครบถ้วนกระบวนความรู้ในธรรมเนียมงานศพที่จะได้รับจาก บล๊อก นาจอก ณ นครนพม 

ทุติยภาค : บอก

เกิ่วโด๋ยงานศพคือ ป้ายผ้าสีต่าง ๆ ที่เขียนอักษรเวียตนามสองแถวเป็นคำไว้อาลัยต่อการจากไปของผู้ตาย โดยการเขียนเกิ๋วโด๋ยนั้นต้องอาศัยผู้ที่มีลายมือสวยทั้งยังสามารถเข้าใจในหลักการแต่งเกิ่วโด๋ยเวียตนามที่ถูกต้องตามอักขรวิธีอีกด้วย

สีของป้ายผ้าที่นิยมนำมาเขียนเกิ่วโด๋ยงานศพ ในช่วงหนึี่่่่งมีความนิยมในการสื่อความหมายที่ต่างกันไปตามสีผ้า ดังนี้

1. สีขาว มักเป็นของลูก-หลาน สายตรงของผู้ตาย

2. สีชมพู มักเป็นตระกูลของดอง (ตระกูลพ่อแม่ของลูกเขย หรือลูกสะใภ้ของผู้ตาย)

3. สีเหลือง มักเป็นของหลานทั้งหลานในและหลานนอก

4. สีเขียวอ่อน มักเป็นน้อง ๆ ของผู้ตาย

5. สีแดง มักเป็นสีที่ใช้ทั่ว ๆ ไปกรณีผู้ตายมีอายุประมาณ 80 ปีขึ้นไป


แต่ปัจจุบันสีที่ยังคงยึดตามความนิยมดังกล่าวคือสีขาวเท่านั้น ส่วนสีอื่น ๆ ก็ใช้ได้ตามความพอใจแต่ก็มักจำกัดแค่สีขาวกับชมพูเพราะมีร้านค้าที่ตัดผ้าสำหรับเขียนเกิ่วโด๋ยขายเพียง 2 สีขนาดมาตรฐานยาว 2 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร หากต้องการสีอื่นคงต้องตัดผ้าแล้วเย็บเอง ซึ่งออกจะดูวุ่นวายเอาการอยู่จึงไม่ค่อยมีสีอื่นให้เห็นบ่อยนัก

ส่วนชุมชนที่นิยมใช้เกิ่วโด๋ยงานศพและมีการสร้างสรรค์ฝีมือฝากไว้กับป้ายผ้าสีต่าง ๆ ดังกล่าวคือ ชุมชนวัดป่า ชุมชนด่ายเหียว และชุมชนบ้านโพนบก  ส่วนชุมชนอื่น ๆ จะมีให้เห็นบ้างแต่ก็ล้วนเป็นฝีมือการเขียนของคนในสามชุมชนดังกล่าวนั่นเอง

เกิ่วโด๋ยที่ใช้ในงานศพถ้าขณะที่ศพตั้งอยู่ที่บ้านก็นิยมแขวนไว้เป็นฉากหลังโลงศพหรือบริเวณด้านข้าง ๆ ที่ไม่ห่างจากโลงศพนัก

ตติยภาค : เล่า

ส่วนตำแหน่งเดินของเกิ่วโด๋ยในขบวนแห่ศพมักจะจัดให้เดินตามหลังลิงซาโดยใช้ไม้ไผ่ยาวผูกติดแล้วยกชูขึ้นลักษณะคล้ายผืนธงหากแต่ไม่จัดเป็นธง แต่ปัจจุบันขบวนแห่งศพของชุมชนต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปมากอาทิ การผูกลิงซาไว้กับรถศพจากเมื่อก่อนแยกกันเดิน การนำธงมาปักไว้กับรถศพ  เหล่านี้ทำให้รูปแบบขบวนแห่ศพจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยและบริบทของแต่ละชุมชน

ภาพตำแหน่งเกิ่วโด๋ยผืนสีชมพูในขบวนแห่ศพชุมชนด่ายเหียว ปลิวไสวคล้ายธงงานศพ

ตำแหน่งเกิ่วโด๋ย 3 ผืน 2 แบบในขบวนแห่ศพชุมชนโพนบก

ตำแหน่งเกิ่วโด๋ย สำเร็จรูปที่ซื้อจากเวียตนามในขบวนแห่ศพชุมชนโพนบกแบบเก่าที่เกิ่วโด๋ยจะตามหลังลิงซา (ยุคที่ยังไม่ผูกลิงซาเข้ากับรถศพ)

จตุรภาค : ตัวอย่าง

เกิ่วโด๋ยงานศพนั้นมีเพียง 2 แถวหลักยืนพื้นและมีคำอยู่ไม่มากแต่ทว่าความหมายกลับลึกซึ้งและกว้างขวางกว่าขนาดของผืนผ้าที่เขียนไว้ ขอนำเกิ่วโด๋ยของ 2 ชุมชนมาถ่ายทอดเป็นตัวอย่าง

เกิ่วโด๋ยงานศพชุมชนวัดป่า ซึ่งถือว่าเป็น original ของชาวไทยเชื้อสายเวียตนามในจังหวัดนครพนม

ผืนสีขาว ซ้าย - Bé nuôi dạy lớn dựng xây công bố nặng tày non thái

ขวา - Sớm nâng niu chiều bồng bế ơn ông sâu tựa biển đông

แปล - เมื่อยังเล็กเฝ้าเลี้ยงดู เมื่อเติบใหญ่ให้สร้างตัว พระคุณพ่อยิ่งใหญ่ดุจดังขุนเขา
       - เช้าเย็นให้ความรักความเอ็นดู พระคุณปู่ (ตา) มากมายดุจดังมหาสมุทร

ผืนสีชมพู ซ้าย - Làng xóm quý ông hiền lành vui tính, gạt lệ nhớ tình xưa.

ขวา - Thông gia hoà thuận con cháu bình an, đau lòng thương người khất

แปล  - เพื่อนฝูงต่างรักใคร่ เช็ดน้ำตาเมื่อนึกถึงวันวาน
- สองครอบครัวสมัครสมานสามัคคีลูกหลานมีแต่ความสงบสุข เสียใจเมื่อต้องเสียดองไป

+++++++++++++++++++++++++++++++++ 

ส่วนเกิ่วโด๋ยงานศพชุมชนโพนบก ถือว่าเป็นของใหม่เพราะคนเขียนอายุยังไม่ถึง 30 เสน่ห์ของแบบนี้คือภาษาเวียตนามที่สะกดด้วยอักษรจีนแบบเก่าในแถวกลางของผืนเกิ่วโด๋ย

สีขาวเด้อ ซ้าย - Chập chờn cơn ác mộng, mẹ con ở lại, bàn hoàn buốt dạ buổi chia lyขวา - Lởn vởn cõi uyên nguyên, cha đã ra đi, trăn trở run môi lời đoạn biệtแปล - แม่กับลูกต้องพบกับฝันร้ายที่ไม่คาดคิด แสนโศกเศร้าเสียใจเมื่อต้องพลัดพรากจากพ่ออันเป็นเป็นที่รัก ปากสั่นเมื่อถึงเวลาที่ต้องกล่าวคำอำลา

ผ้าสีขาว ซ้าย - Chập chờn cơn ác mộng, mẹ con ở lại, bàn hoàn buốt dạ buổi chia ly
ขวา - Lởn vởn cõi uyên nguyên, cha đã ra đi, trăn trở run môi lời đoạn biệt
แปล - แม่กับลูกต้องพบกับฝันร้ายที่ไม่คาดคิด แสนโศกเศร้าเสียใจเมื่อต้องพลัดพรากจากพ่ออันเป็นเป็นที่รัก ปากสั่นเมื่อถึงเวลาที่ต้องกล่าวคำอำลา

ซ้าย - Thương cha tóc bạc tiễn đưa con, não nùng thảm thiết một niềm buồn đauขวา - Khóc anh vội lên tiên cưỡi hạc, ngơ ngẩn buồn tình trăm việc bối rốiแปล - ปู่ต้องมาส่งศพศพลูกชาย จิตใจเต็มไปด้วยความโศกเศร้า น้องๆ ร้องไห้ส่งศพพี่ชาย จะหันไปทางไหนก็มีแต่ความสับสน ทำอะไรไม่ถูก

ผ้าสีชมพู ซ้าย - Thương cha tóc bạc tiễn đưa con, não nùng thảm thiết một niềm buồn đau
ขวา - Khóc anh vội lên tiên cưỡi hạc, ngơ ngẩn buồn tình trăm việc bối rối
แปล - ปู่ต้องมาส่งศพศพลูกชาย จิตใจเต็มไปด้วยความโศกเศร้า น้องๆ ร้องไห้ส่งศพพี่ชาย จะหันไปทางไหนก็มีแต่ความสับสน ทำอะไรไม่ถูก

+++++++++++++++++++++++++++++++++ 

ส่วนเกิ่วโด๋ยที่มาแรงไม่แพ้สองแบบข้างต้นคือแบบสำเร็จรูปที่ซื้อจากเวียตนามคำที่ใช้จะเป็นคำกลาง ๆ แต่โดยส่วนตัวผมว่าแม้จะสวยแต่ดูขาดเสน่ห์ความเป็น "ศิลป์" ไปมากพอสมควร

ซ้าย - Bóng hạc xe mây về cõi Phật

ขวา - Để lại trần gian phúc cháu con

แปล - ดวงวิญญาณล่องลอยสู่ดินแดนแห่งพระอามิตาพุทธเจ้า

- โลกมนุษย์เหลือไว้เพียงพระคุณอันยิ่งใหญ่ให้ลูกหลานได้จดจำ

เบญจมภาค : สรุป

ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นย่อมพอสรุปได้ว่าการใช้เกิ่วโด๋ยในงานศพจัดเป็นทั้ง "ศาสตร์" และ " ศิลป์" แห่งบรรพชนที่ชาวไทยเชื้อสายเวียตนามควรเปิดใจทำความรู้จักถึงที่มา ความงาม และความสำคัญ

รูปภาพ

ศาสตร์ ที่ต้องใช้คือความรู้ด้านไวยากรณ์เวียตนามที่เป็นหลักในการแต่งเกิ่วโด๋ยซึ่งนับเป็นศาสตร์ชั้นสูงและหาผู้รู้ยากยิ่ง การสรรหาคำมาใช้ การผูกโยงแต่งให้สอดคล้องกับกรณีงานศพแต่ละงาน และหากแต่งให้ในนามผู้ใดผู้แต่งย่อมต้องเข้าใจบริบทแห่งการเขียนเกิ่วโด๋ยอย่างลึกซึ้งจึงจะสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่าง งดงาม และไพเราะ

ศิลป์ ที่ต้องใช้คือการเขียนด้วยปากกาหมึกปลายตัด ให้ลายมือสวยงามเป็นศิลป์ การเลือกผ้า การจัดวางตำแหน่งการเขียน การวัด การกะช่องว่างของคำที่แต่งไว้ให้พอดีกับระยะความยาวของผ้า ตลอดจนการจัดวางเกิ่วโด๋ยในห้องพิธีตั้งศพ และบางครั้งเกิ่วโด๋ยงานศพจากผืนผ้าเหล่านี้ถูกนำไปต่อยอดให้เป็นป้ายจารึกถาวรที่โหม่ (หลุมศพ) ของผู้วายชนม์ได้อีก  เหล่านี้นับเป็นศาสตร์และศิลป์อันสำคัญ และเป็นสิ่งที่ทำให้เกิ่วโด๋ยที่ถูกแขวนในงานศพแบบเวียตนามนั้นยังคงงดงามตามประเพณีเสมอ

ตัวอย่างเกิ่วโด๋ยจากงานศพ ที่นำมาทำเป็นจารึกถาวรที่โหม่หรือหลุมศพ (2 ข้างซ้ายขวา)

แต่ธรรมดา การเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นนิรันดร์ ถึงแม้เกิ่วโด๋ยงานศพจะลดจำนวนการใช้ลงมากในทุกชุมชมที่กล่าวมาอันเนื่องจาก คนรุ่นใหม่น้อยคนที่จะเข้าใจและรู้ความหมายของการใช้เกิ่วโด๋ยงานศพ ทั้งยังอ่านไม่ออกแปลไม่ได้ จึงไม่เห็นความสำคัญ  พวงหรีดดอกไม้สดจึงเข้ามาแทนที่สัญลักษณ์ในการแสดงความอาลัยอย่างแนบเนียน  และคงแนบเนียนไปเรื่อย ๆ ตราบจนเกิ่วโด๋ยผืนสุดท้ายจะถูกเผามอดไหม้ไปกับกองไฟหลังครบ 100 วันตามธรรมเนียมการไว้ทุกข์...

***************************************************

ฉภาค : ขอบคุณ

ขอบคุณ น้องต้อม @ HANOI ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความเรื่องนี้ รวมทั้งกรุณามอบไฟล์ภาพประกอบ ตลอดจนสำนวนแปลภาษาที่งดงาม

ขอบคุณน้องตี๋เล็ก@นครพนม ที่กรุณาถ่ายภาพเกิ่วโด๋ยงานศพให้แม้จะอยู่ในช่วงทุกข์โศกของครอบครัว

ขอบคุณพี่ Bumpkin Nkp ช่างภาพแถวหน้าของนครพนมที่กรุณาส่งไฟล์งานศพที่นาจอกมาให้ผมได้เลือกมาประกอบบล๊อกพร้อมทั้งนำไปแชร์ในกลุ่มเฉพาะของผู้สนใจใฝ่รู้ธรรมเนียมเวียตนามในไทย ทุกคนฝากขอบพระคุณพี่และหวังว่าหากมีวาระอื่น ๆ อีกคงจะได้รับความกรุณาจากพี่อีกครั้ง




 

Create Date : 25 มกราคม 2556
10 comments
Last Update : 4 มิถุนายน 2560 17:59:16 น.
Counter : 4110 Pageviews.

 

เป็นธรรมเนียมที่ควรจะได้รับการอนุรักษ์ไว้เนอะคะ

แต่ก็เป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่ทราบวิธีการอ่านและเขียน จึงทำให้ประเพณีนี้ค่อยๆ เลือนไปตามเวลา

อ่านแล้วรู้สึกเสียดายจังเลยค่ะ..

 

โดย: ไอศครีมรสช๊อกโกแลตชิพ 13 กุมภาพันธ์ 2556 12:38:56 น.  

 

เนื้อหาละเอียดดีคับ..น่าสนใจ..ทำให้ลูกหลานเวียตนามเข้าใจความหมายและความสำคัญของป้ายผ้าเหล่านี้..ซึ่งพวกเขาเคยพบเจอแต่ไม่ทราบว่ามันคืออะไร..เขียนอะไรไว้..และแปลว่าอะไร..พวกเขาจึงหันไปใช้พวงหรีดแทน..ซึ่งราคาแพงกว่าโก่วโด่ยมาก..

 

โดย: อรรถพล IP: 119.42.85.195 13 กุมภาพันธ์ 2556 14:05:57 น.  

 

นี่ก็ชอบอ่านมากค่ะ ทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราว

 

โดย: tuk-tuk@korat 13 กุมภาพันธ์ 2556 16:07:28 น.  

 

พี่พีร์เก็บรายละเอียดได้ดีมากครับ
เป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลังจริงๆครับ


 

โดย: กะว่าก๋า 13 กุมภาพันธ์ 2556 21:28:37 น.  

 

ตามมาอ่านครับคุณพีร์ แต่ละขั้นตอนละเอียดมากครับ ผู้เขียนจะต้องมีความจำที่ดีมาก เพราะมีเรื่องปลีกย่อยที่ต้องเก็บ ต้องจำ และสอบทานความถูกต้องด้วย เป็นบทความที่เขียนได้ยากมากครับ

 

โดย: Insignia_Museum 13 กุมภาพันธ์ 2556 22:40:32 น.  

 

สุขสันต์วันแห่งความรักเช่นกันนะครับพี่พีร์

 

โดย: กะว่าก๋า 14 กุมภาพันธ์ 2556 10:42:21 น.  

 

เนื้อหาละเอียดมากครับ นำเสนอเอกลักษณ์ของแต่ละที่ได้เป็นอย่างดี ขอบคุณครับที่ส้รางสรรบทความดีๆ แบบนี้ให้คนรุ่นหลังได้อ่านกัน

 

โดย: พัชรพงษ์ IP: 49.48.136.122 14 กุมภาพันธ์ 2556 11:13:19 น.  

 

สุขสันต์วันวาเลนไทม์ครับ

มาเก็นรายละเอียดอีกครั้งครับคุณพีร์

 

โดย: Insignia_Museum 14 กุมภาพันธ์ 2556 20:51:42 น.  

 




Happy Valentine's Day

วันแห่งความสุขด้วยรัก
วันแห่งมิตรไมตรีและเอื้ออาทร
ป้าขอถือโอกาสนี้มอบกุหลาบแทนความปรารถนาดีที่มีต่อกันค่ะคุณพีร์


 

โดย: ร่มไม้เย็น 15 กุมภาพันธ์ 2556 0:23:39 น.  

 

มาเก็บรายละเอียดอีกครั้งครับ

 

โดย: Insignia_Museum 22 กุมภาพันธ์ 2556 21:19:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Gia Huy - Peeradol
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
แจกฟรีแบ๊คกราว
Friends' blogs
[Add Gia Huy - Peeradol's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.