บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2559
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
4 กรกฏาคม 2559
 
All Blogs
 
ตอน 9 - จากเมืองแองเจลิส สู่ปลายทางกัวลาลัมเปอร์




พักที่เมืองแองเจลิส ฟิลิปปินส์ 1 คืน รุ่งขึ้นก็เดินทางจาก Diosdado Macapagal International Airport (CRK)  ไปกัวลาลัมเปอร์ (LLCT Low Cost Carrier Terminal เฉพาะของ Air Asia)  ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชม. 45 นาที จากสนามบินนั่ง Skybus เข้าเมือง 1 ชม. สุดทางที่ KL Sentral ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินรถของกัวลาลัมเปอร์
2 สว. ไปพักที่ YWCA เพียงข้ามถนนจาก KL Sentral เดินผ่านซุ้มขายของ ไม่นานก็ถึง YWCA ค่าห้องคืนละ 80 ริงกิต รวมอาหารเช้า ถ้าพัก 2 คืน ขึ้นไป ช้บัตรเครดิตได้ค่ะ 



ภาพจากห้องพักชั้น 3 ที่ YWCA มองเห็นสนาม ไกลออกไปเป็นรถไฟฟ้า และโรงแรมเมอริเดียน

คำว่า Kuala Lumpur ในภาษามาเลย์ แปลว่า "muddy river confluence - จุดบรรจบของแม่น้ำที่เป็นโคลน" มีแม่น้ำคลาง (Sungai Klang) และแม่น้ำกอมบัก (Sungai Gombak) จากหมู่บ้านทำเหมืองทองแดงเล็ก ๆ  ที่ก่อตั้งในปี 1857 (พศ. 2400) โดยกัปตันเดินเรือชาวจีน ที่ค้นพบว่าบริเวณนี้มีสายแร่ดีบุกเป็นจำนวนมาก  ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และทำให้เมืองนี้เจริญขึ้น  จนกลายมาเป็นมหานครที่เต็มไปด้วยความคึกคัก มีประชากรราว 6.5 ล้านคน ภายในเวลา 150 ปี  เป็นที่หลอมหลวมของวัฒนธรรมที่หลากหลาย โรงแรมระดับ 5 ดาว แหล่งจับจ่ายใช้สอย และอาหารชั้นยอด

กรุงกัวลาลัมเปอร์  นับถึงปัจจุบัน 2016 (พศ. 2519) ก็มีอายุ 159 ปีแล้ว แต่ก็ยังนับว่าเป็นเมืองค่อนข้างใหม่ จึงไม่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เหมือนอย่าง Geroge Town - ปีนัง หรือ Malacca - มะละกา

ในช่วงแรก ๆ ของการตั้งเมือง ก็มีการต่อสู้ระหว่างแก๊ง ต่อมาเมืองเริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้น และได้กลายมาเป็นเมืองหลวงของสหพันธ์รัฐมาลายาในปี 1896 (พศ. 2439)  

วันที่ 31 สิงหาคม 1957 (พศ. 2500) สหพันธ์รัฐมาลายาได้รับเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ณ เวลา 09.30 น. หัวหน้าคณะรัฐมนตรีแห่งมาลายา Tunku Abdul Rahman เป็นผู้อ่านประกาศต่อหน้าฝูงชนจำนวนมาก รวมถึงผู้ปกครองรัฐต่าง ๆ  สมาชิกของรัฐบาล และบุคคลสำคัญต่างประเทศ ลานจตุรัส ซึ่งภายหลังได้เรียกว่า Stadium Merdeka (Independence Stadium - สนามกีฬาแห่งอิสรภาพ) 

จากนั้นได้รวมกันเป็นประเทศมาเลเซียดังปัจจุบัน และกรุงกัวลาลัมเปอร์ (KL) เป็นเมืองหลวงของประเทศใหม่ตลอดมา  การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้ KL ได้ก้าวมาเป็นเมืองทันสมัย เต็มไปด้วยตึกระฟ้า และระบบการคมนาคมที่ทันสมัย 
ปัจจุบัน แม้ศููนย์กลางการปกครองจะย้ายไปที่ปุตราจายา แต่ KL ยังคงเป็นศูนย์กลางธุรกิจ และการคมนาคมของประเทศ

วันแรกที่ KK ลุงก็กางแผนที่แล้วพาเดินไปเรื่อย ๆ  สถานที่สำคัญแห่งแรก คือ วัดศรีมหามาเรียมมัน


วัดศรีมหามาเรียมมัน (Sri Mahamariamman Temple) เป็นวัดฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดในกัวลาลัมเปอร์ สร้างในปี 1873 อยู่ตรงชายขอบของไชน่าทาวน์ ที่ถนนบันดาร์ (Jalan Bandar)  โดย K. Thamboosamy Pillai เพื่อเป็นสถานที่สักการะบูชาของครอบครัว Pillai  แต่ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1920 ได้เปิดให้ผู้อพยพชาวอินเดียกลุ่มแรก ๆ ที่มายัง KK และสาธารณชนเข้าไปบูชาได้ ปัจจุบันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ 




ในปี 1968 มีการก่อสร้างใหม่ โดยเน้นที่ซุ้มประตู "ราชา โคปุรัม - Raja Gopuram" ตามแบบเทวาลัยในอินเดียใต้ มีทั้งหมด 5 ชั้น  สูง 22.9 เมตร (75 ฟิต) รูปทรงปิรามิด ตกแต่งด้วยรูปปั้นเทพฮินดู ทั้งหมด 228 องค์ ด้วยฝีมือของช่างศิลปจากอินเดียใต้ ที่มีหัวหน้าช่างที่ชื่อ "S. T. Muniappa"



ผ่านตู้ไปรษณีย์ขนาดมหึมา แล้วก็มาถึง Central Market หรือตลาดกลาง



Central market ตั้งอยู่กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ สร้างขึ้นในปี 1888 เดิมใช้เป็นตลาดสด มีการปรับปรุงหลายครั้ง จนแล้วเสร็จในปี 1937 เป็นสถาปัตยกรรมแบบ Art Deco อย่างที่เห็นในปัจจุบัน และได้รับการประกาศให้เป็นมรดกด้านสถานของประเทศ รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอีกด้วย 




ด้านในของตลาด จัดเรียงเรียงรายกันไปเหมือนแผงลอย สะท้อนถึงตลาดแบบดั้งเดิมที่เคยมีใน KL ในช่วงทศวรรษที่ 1800 ที่นี่เป็นแหล่งรวมงานศิลปะ งานฝีมือ และของที่ระลึกแท้ ๆ จากมาเลเซีย 




แล้วก็เดินต่อไปเรื่อย ๆ จนมาถึง มัสยิดจาเมก แต่ไม่ได้เข้าไปด้านในค่ะ 

มัสยิดจาเมก (Masjid Jamek)  เป็นหนึ่งในสุเหร่าที่เก่าที่สุดใน KL  ทั้งยังเป็นตัวอย่างอันสวยงามของสถาปัตยกรรมแบบมุสลิมอินเดีย ออกแบบโดย Arthur Benison Hubback สถาปนิกชาวอังกฤษ สร้างในปี 1909  ตั้งอยู่บริเวณที่แม่น้ำ Klang และ Gombak ไหลมาบรรจบกัน หรือที่เรียกได้ว่าเป็นบริเวณจุดกำเนิดของกัวลาลัมเปอร์  สุลต่านแห่งเซลังงอร์ Sultan Sir Alaeddin Sulaiman Shan ได้วางหินก้อนแรกของการก่อสร้าง ในวันที่ 23 มีนาคม 1908  ทั้งยังเป็นผู้เปิดสุเหร่าอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 ธันวาคม 1909  



 การออกแบบอาคารได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมแบบโมกุล ทางเหนือของอินเดีย  สำหรับตัวมัสยิด Jamek  มีหอคอยหลัก 1 คู่ สีขาวสลับแดง สูง 88 ฟุต (26.8 ม.) มีโดมสีขาว 3 โดม โดยมีโถงสำหรับสวดมนต์อยู่ด้านล่างของโดม   ทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่เงียบสงบที่ล้อมรอบด้วยต้นปาล์ม ท่ามกลางความอึกทึกของย่านกลางเมือง




ผ่านบาซาร์ใกล้ ๆ มัสยิด แล้วก็ถึง Little India ที่ Brickfields ค่ะ

Brickfields (ลานก้อนอิฐ) เป็นเมืองขนาดกลางอยู่นอกใจกลางเมือง KL ที่ได้ชื่อนี้  เนื่องจากเดิมพื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นหลุมดินเหนียว จึงเป็นแหล่งทำอิฐจากดินเหนียวเหล่านี้  ปัจจุบัน รู้จักกันโดยทั่ว ๆ ไป ว่า Little India เพราะเป็นที่ประกอบธุรกิจ และที่อยู่อาศัยของชาวอินเดียเป็นจำนวนมาก 



 รุ่งขี้นอีกวันก็ไปเอาคิวขึ้นไปชมทัศนียภาพของ KL บนตึกเปโตรนาส (Petronas) ไปตั้งแต่เช้า ดูเหมือนจะได้รอบบ่ายแก่ ๆ  แล้วก็มารอคิวขึ้นชม เมื่อถึงรอบของเรา มีจำกัดจำนวนแต่ละรอบค่ะ



ระหว่างรอขึ้นตึกแฝดเปโตรนาสนั้น ก็เตร่อยู่ใกล้ ๆ  





























เตร่ ๆ อยู่สักพัก ก็เจอกับคุณ Ryan Madas อีกครั้ง ตอนแยกกันที่บันดาร์ เสรี เบกาวัน คุณ Ryan บอกว่าจะกลับไป KK แล้วไปต่อมะละกา  ส่วนเรา สว. กลับ KK แล้วไปต่อฟิลิปปินส์ มาเจอกันอีกครั้งที่ KL นี่เอง




อาคารหอคอยคู่เปโตรนาส หรือ ตึกแฝดเปโตรนาส (Petronas Twin Towers) เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้ำสมัยที่โดดเด่น ที่สร้างใน ศต. 21  ออกแบบโดย Cesar Pelli สถาปนิกชาวอาร์เจนตินา สร้างโดยบริษัทปิโตรเลียมเนชั่นแนลเบอร์ฮาด  มีผู้รับเหมาก่อสร้างจาก 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยมีนัยยะเป็นการแข่งขันความเป็นผู้นำ ทางด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารตึกระฟ้า  ตึกแฝดเปโตรนาสเคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกตั้งแต่ ปี 1998 - 2004 แม้อันดับความสูงที่สุดในโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว  แต่ตึกแฝดเปโตรนาสยังคงเป็นตึกแฝดสูงที่สุดในโลก (451.9 เมตร) จวบจนปัจจุบัน 




ภาพ KL จากชั้นที่ 41 ของตึกแฝดเปโตรนาส




ตึกแฝดเปโตรนาส มีทั้งหมด 88 ชั้น นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปถึงชั้นที่ 41 ที่ความสูง 175 เมตร ทีี่ที่มีสะพานเชื่อม (Sky Bridge) ระหว่างอาคารหอคอยแฝด เพื่อเข้าไปชมทัศนียภาพของ KL โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย






ด้านนอกของตึกโดดเด่นด้วยรูปทรงแบบหน้าตัดของเพชรที่เจียระไนแล้ว   ประกอบด้วยสแตนเลสสตีลที่อัดขึ้นรูป ถึง 83,500 ตรม. (899,000 ตร.ฟุต)  ในส่วนของหอคอยจึงใช้สแตนเลสสตีล 55,000 ตรม. (590,00 ตร.ฟุต) ที่มีส่วนประกอบที่หักเหแสง เพื่อลดระดับความแรงของแสงอาทิตย์  และขณะเดียวกันก็ทำให้ตัวหอคอยส่องแสงประกาย  นอกจากนั้นก็ใช้กระจกชนิดที่ลดความร้อนของแสง โดยสะท้อนแสง UV ออกไป  อีกทั้งภายในอาคารก็ยังกรุด้วยผ้าม่านถึง 33,000 ผืน



อาคารหอคอยคู่เปโตรนาส (Petronas Twin Towers) และหอคอยกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur Tower) โดดเด่นเหนือท้องฟ้ายามค่ำคืน กลางย่านธุรกิจของกรุงกัวลาลัมเปอร์ (ภาพจาก internet)

จตุรัสเมอร์เดกา (Merdeka Square หรือ Dataran Merdeka)


จตุรัสเมอร์เดกา (Merdeka Square หรือ Dataran Merdeka) ตั้งอยู่บริเวณที่แม่น้ำ Klang และ Gombak ไหลมาบรรจบกัน หรือที่เรียกได้ว่าเป็นบริเวณจุดกำเนิดของกัวลาลัมเปอร์  เช่นเดียวกับมัสยิดจาเมก จตุรัสเมอร์เดกาเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ ที่ซึ่งธงชาติอังกฤษถูกปลดลง แล้วแทนที่ด้วยธงชาติมาเลเซีย เมื่อเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 สิงหาคม 1957 (พศ. 2500) เมื่อได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ 

คำว่า "เมอร์เดกา" หมายถึงเอกราช จุดเด่นอยู่ที่เสาธงขนาดใหญ่ที่สูงถึง 100 เมตร และเต็มไปด้วยอาคารในยุคอาณานิคม และกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมอังกฤษ 


อาคารสุลต่านอับดุล ซามัค (Sultan Abdul Samad Building) ที่อยู่ตรงข้ามจตุรัส เป็นอาคารหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากที่สุด  สร้างขึ้นในปี 1897 (พศ. 2440) ตั้งชื่อตามพระนามของสุลต่านแห่งสลังงอร์  ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ A.C. Norman ที่ได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมโมกุลอินเดีย  ส่วนของนาฬิกามีความสูง 40 เมตร มักเรียกกันว่า บิ๊กเบน (Big Ben) ของมาเลเซีย ด้านบนจะเป็นโดมขนาดใหญ่สีทอง



 เดิมใช้เป็นที่ทำการของหน่วยราชการในยุคที่อังกฤษเข้ามาปกครอง ต่อมาเป็นอาคารสำนักงานของศาลฏีกา  ส่วนปัจจุบันเป็นที่ทำการของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และวัฒนธรรม



มีโอกาสไปจตุรัสเมอร์เดกาก็ค่ำมืดแล้ว เลยไม่ได้เห็นความสวยงาม และอาคารอื่น ๆ ในเวลากลางวัน ได้แต่เอาข้อมูลอาคารต่าง ๆ บริเวณจตุรัสมาฝากค่ะ



นอกจากอาคารสุลต่านอับดุล ซามัคแล้ว  ตรงข้ามจตุรัสเป็นอาคารสลังงอร์คลับในพระบรมราชูปถัมภ์ (Royal Selangor Club Complex) สร้างในปี 1884 (พศ. 2427) เพื่อเป็นที่พบปะของสมาชิกชั้นสูงในสังคมสมัยอาณานิคม ทางด้านใต้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ (National History Museum) ถัดไปเป็นแกลลอรี่เกี่ยวกับกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur City Gallery) ทางด้านเหนือ คือ วิหารเซนต์แมรี่ของนิกายแองคลิกัน (St. Mary's Anglican Cathedral) ซึ่งล่าสุดเป็นที่ทำการสังฆมณฑลแห่งมาเลเซียตะวันตก




กลางคืนมีการติดไฟระยิบระยับ เพิ่มความสวยงามให้กับอาคารเหล่านี้

 ทุก ๆ ปี ในเช้าของวันแห่งเอกราช - Merdeka Day (31 สิงหาคม) และวันชาติมาเลเซีย - Malaysia Day (16 กันยายน)  ซึ่งเป็นวันที่ระลึกการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซีย วันเดียวกันนี้ในปี 1963 จะมีการเฉลิมฉลอง ขบวนพาเหรด การแสดง ที่จตุรัสเมอร์เดกา มีผู้เข้าร่วมการเฉลิมฉลองนับหมื่นคนค่ะ

บล๊อคนี้เป็นบล๊อคสุดท้ายของการเดินทาง 2 อาทิตย์  3 ประเทศ คือ มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ รวม 7 เมือง เปลี่ยนที่พัก 9 ครั้ง ของ 2 สว. คืนสุดท้ายออกจากที่พัก YWCA ตั้งแต่ตี 4 จาก KL ก็กลับตรงมาเชียงใหม่เลย เป็นการเดินทางช่วงเดือนเมษายน ที่อากาศร้อนมาก ๆ ทำเอาสบักสบอม 

หมายเหตุอีกที ทริปนี้เป็นเรื่องราวย้อนหลังไปหลายปี ขอขอบคุณทุกคนที่มาเยึ่ยม คงมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์บ้างนะคะ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณภาพจาก internet และข้อมูลจาก
https://www.ilovetogo.com/Article/29/6750/
//www.holidaythai.com/Malaysia-Attractions-3194.htm

//wikitravel.org/en/Kuala_Lumpur
//www.mu-ku-ra.com/2014/05/merdeka-square-dataran-merdeka.html
https://www.expedia.co.th/Jamek-Mosque-Kuala-Lumpur
//publicholidays.com.my/national-day/





Create Date : 04 กรกฎาคม 2559
Last Update : 14 กรกฎาคม 2559 16:32:13 น. 0 comments
Counter : 2073 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.