บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
<<
เมษายน 2559
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
9 เมษายน 2559
 
All Blogs
 
ตอน 14 - สุดปลายทางที่ Jew Town - โคชิ, Kerala




หลังการครอบครองโคชินของชาวต่างชาติ ทั้งโปรตุเกส ดัทช์ และอังกฤษ ...  ปี 1947  การครอบครองก็สิ้นสุดลง พร้อมการเป็นเอกราชของประเทศอินเดีย 





แต่บรรยากาศ และกลิ่นไอสมัยโคโลเนียลยังอบอวลอยู่ทั่วโคชิ  หากเดินไปตามถนนสายแคบ ๆ ที่วกวนในมัตตันเชอรี่  ก็จะเห็นอาคารบ้านเรือนเก่า ที่สร้างโดยชาวโปรตุเกส ดัทช์ และอังกฤษ ผสมผสานกันไป  




ร้านขายของที่ระลึก แกลอรี่ ที่พักแบบ home stay บริเวณมัตตันเชอรี่



อาคารดั้งเดิมที่อยู่เลยจตุรัสวาสโก ดา กามา ออกไป


กำแพงป้อมเก่าค่ะ



บรรยากาศไม่เหมือนอยู่ในอินเดียเลย ต่างจากตริชี่ หรือมธุไรที่ได้สัมผัสมา  แผงหนังสือส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เห็นแต่แผง คนขายคงอยู่ตรงไหนสักมุม


โฆษณา Beach resorts ที่ อลัปปูจา หรือ อเลปปี้ หน้าอาคารเก่าโคชิ


จากที่นี่สามารถเดินเรื่อย ๆ ไปถึง Jew Town ไม่ไกลเท่าไรหรือนั่งรถตุ๊ก ๆ ไป ก็สะดวกดี ค่ารถไปไหนก็ 30 รูปี ยืนพื้น


Jew Town

Jew Town (ชุมชนชาวยิว) เป็นหนึ่งในสถานทีี่ท่องเที่ยวที่ต้องมาเยือน เมื่อมาถึงโคชิค่ะ  

ทำไมโคชิมี Jew town  ต่างจากประเทศอื่น ๆ  ที่มักจะมี China town,  Japanese town,  Korean town  หรืออย่าง Thai town ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ... กองทัพจีนได้มาถึงโคชิ และทิ้งมรดกให้เห็น คือ ยอยกปลาแบบจีน Chinese Fishing Nets  แล้วชาวยิวมาถึงโคชิเมื่อไรกัน 



ข้อมูลเกี่ยวกับชาวยิวในโคชิ ได้มาจากหลาย ๆ แหล่ง เช่น จากบันทึกของนักเดินทาง หรือพงศาวดารของชาวฮิบรู ...  ที่บันทึกว่าชาวยิวได้ล่องเรือมาถึงชายฝั่งมะละบาร์ตั้งแต่สมัยกษัตริย์โซโลมอน (King Solomon)  บ้างก็ว่ามาตั้งแต่การเนรเทศของชาวบาบีโลเนีย  หรือ อพยพหนีมาหลังจากการล่มสลายของ Second Temple  แห่งเยรูซาเลม (ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ก่อนคริสตกาล) หรือบางข้อมูลก็กล่าวว่ามาถึงในต้น ศต. ที่ 17


Jew street  มาถึงแต่เช้า ส่วนใหญ่ร้านค้ายังปิดอยู่ สุดทางที่เห็น คือ โบสถ์ยิว



อนุมาณว่ามีชาวยิวที่อพยพมาถึงชายฝั่งอนุทวีปอินเดียก่อนคริสตกาล  แต่กลุ่มที่มาและมีหลักแหล่งแน่นอน  ก็คือ มะละบาริยิว (Malabari Jews)  ส่วนใหญ่อพยพมาจากเยเมน และบาบีโลนค่ะ   ชาวยิวเหล่านี้ได้มาตั้งหลักฐานใกล้กับโคชิน ภายใต้พระราชานุญาตของมหาราชาอินเดีย ตั้งแต่ต้น ศต. ที่ 12 เป็นกลุ่มชาวยิวที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย  และได้กลายมาเป็น โคชินยิว (Cochin Jews)


โกดังหนึ่งที่ Jew town

นักเดินทางชาวยิว Benjamin แห่ง Tudela  (มีชีวิตอยู่ในสมัยกลาง (medieval period) ผู้ที่เดินทางไปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา คำบอกเล่าการมาเยือนเอเชียตะวันตกของเขา มีอิทธิพลต่อการเดินทางของมาร์โค โปโล ในเวลาหลายร้อยปีต่อมา)  ได้พูดถึงโกลัม (Kollam) เมืองชายฝั่งมะละบาร์ว่า  

" ทั่วทั้งเกาะและเมืองเล็ก ๆ แถบนั้น มีชาวอิสราเอลอยู่หลายพันคน  ผู้อยู่อาศัยทั้งหมดเป็นคนผิวดำ รวมทั้งชาวยิวก็ผิวดำด้วย   ชาวยิวเป็นคนดีและมีเมตตา พวกเขาคงรู้จักกฏบัญญัติของโมเสส และศาสดาอื่น ๆ   ผู้ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่ามะละบาริยิว  เขาได้สร้างโบสถ์ยิวในเกรละ ตั้งแต่ต้น ศต. ที่ 12 และ 13 "






ในปี 1492 หลังจากมีการขับไล่ชาวยิวออกจากบริเวณคาบสมุทรไอบีเรีย (ตั้งอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กับมหาสมุทรแอตแลนติค ทางแถบประเทศสเปนในปัจจุบัน)  มีครอบครัวชาวยิว 2-3 ครอบครัว ที่มีเชื้อสาย Sephardic Jews  ได้อพยพมาไกลจนถึงโคชิน ใน ศต. ที่ 16  ต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น Paradesi Jews (หรือ Foreign Jews - ชาวยิวต่างประเทศ) ชาวยิวเหล่านี้ยังคงมีการติดต่อค้าขายกับทางยุโรป 







ชาวยิวทั้ง 2 ชุมชน ยังคงรักษาไว้ซึ่งความแตกต่างของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของตนเอง  ปลาย ศต. 19 มีกลุ่มชาวยิวที่พูดภาษาอารบิค หรือ Baghdadi Jews - แบกแดดยิว ได้อพยพมายังอินเดียใต้ และมาอยู่ร่วมชุมชนกับยิว Paradesi  






หลังการประกาศเอกราชของประเทศอินเดียใน ปี 1947 และอิสราเอลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประเทศ  ชาวยิวในโคชินเกือบทั้งหมดอพยพจากเกรละ ไปประเทศอิสราเอล หรือประเทศอื่น ๆ ช่วงกลางทศวรรษ 1950  มีการขายโบสถ์เกือบทั้งหมด เพื่อใช้ในกิจการอื่น ๆ แต่โบสถ์ที่โคชิยังคงอยู่ และพิธีกรรมยังคงดำเนินต่อไป และกลายเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน




ตามคำกล่าวที่แพร่หลายของชาวมาลายัม ว่า "พระเจ้าที่สร้างเกรละ มีนิ้วโป้งสีเขียว  จึงทำให้เกรละเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ เขียวชอุ่ม และงดงาม ดังเมืองของพระเจ้า - God's Own Country"   

สายแล้ว ร้านค้า แผงลอยเริ่มเปิด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย เริ่มเดินชมของที่ระลึก หลังจากไปชม โบสถ์ยิว (Jewish Synagogue)  และ Mattancherry Palace มาแล้ว



ชุมชนยิวแห่งมัตตันเชอรรี่ และอาณาบริเวณรอบ ๆ โบสถ์ยิว  ในอดีตนอกจากจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนยิวแล้ว  ยังเป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศของโคชินอีกด้วย  



หากเดินไปตามถนนแคบๆ ในยิวทาวน์ จะเห็นอาคารเก่าที่ทรุดโทรม มีกลิ่นหอมฉุนของขิง กระวาน ยี่หร่า ขมิ้น และกานพูลโชยมา อาจเห็นชื่อของชาวยิวที่ยังค้างคาอยู่ที่ป้ายหน้าร้าน



ยิวทาวน์เคยรุ่งเรืองด้วยการค้า แม้จะพูดภาษามาลายาลัม ชาวยิวในชุมชนยิวก็คงรักษาเอกลักษณ์ ประเพณี พิธีกรรม การสวดมนต์และวัฒนธรรมฮิบรูไว้อย่างเข็มแข็ง   พวกเขาแต่งกายแบบดั้งเดิม ทำอาหารแบบดัั้งเดิม    ซื้อเนื้อจากร้านขายเนื่้อของชาวยิว  



ปัจจุบันครอบครัวชาวยิวเหลืออยู่เพียงไม่กี่ครอบครัว และมีอายุกว่า 80 ปี ขึ้นไป 



Jew Street ได้เป็นประจักษ์พยานของความรุ่งเรืองนั้นในอดีต  ปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนไปเป็นอาคารร้านค้าของโบราณ ร้านขายของที่ระลึก ร้านเครื่องเทศที่เหลือไม่มาก  และแออัดไปด้วยนักท่องเที่ยว

โบสถ์ยิว Paradesi (White Jew) Synagogue

เดินไปเรื่อยจนสุดซอย  Synagouge  ก็มาถึงโบสถ์ยิว Paradesi (White Jew) Synagogue  ที่ป้อมโคชิ  ซึ่งเป็นโบสถ์ยิวที่ยังประกอบพิธีกรรมอยู่ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ  สร้างในปี 1567 เป็นหนึ่งในเจ็ดโบสถ์ยิวของชุมชนยิว ที่อาศัยในโคชิน  



จากที่คำว่า Paradesi ซึ่งหมายความว่า "ชาวต่างชาติ"  จึงได้นำมาเรียกโบสถ์ยิวแห่งนี้  เพราะสร้างโดย Sepharadic หรือ ชาวยิวที่พูดภาษาสเปน ทั้งยังหมายถึง โบสถ์ยิวแห่งโคชิน (Cochin Jewish Synagogue)  หรือ โบสถ์แห่งมัตตันเชอรี่ (Mattancherry)  อีกด้วย  โบสถ์สร้างอยู่ใกล้กับพระราชวังมัตตันเชอรี่ (Mattancherry Palace)  เคยถูกทำลายโดยชาวโปรตุเกส และสร้างใหม่ในปี 1664  โดยชาวดัทช์

ภายในไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูป ก็ขอรูปมาจาก internet เหมือนเดิมค่ะ 



ภายในตกแต่งสวยงาม เช่น แชนเดอร์เรียร์จากเบลเยี่ยม ธรรมมาสน์ทองเหลือง พื้นปูด้วยกระเบื้องพอร์ซเลน ศต. ที่ 18 จากจีน แต่ละแผ่นไม่เหมือนกันเพราะวาดด้วยมือทุก ๆ แผ่น  นอกจากนั้น ปัจจุบันยังเป็นที่เก็บรักษาของมีค่า และของโบราณ เช่น  กฏบัตรโบราณ จานทองแดงจากศต. ที่ 10   นาฬิกาจาก ศต. ที่ 18 และอื่น ๆ 


ออกมาด้านนอก มีคนมาขอถ่ายรูปกับลุง สังเกตุว่าผู้คนเป็นมิตรและมีอัธยาศัยดีมาก ๆ เลยค่ะ


พระราชวังมัตตันเชอรี่ (Mattancherry Palace)

จากโบสถ์ยิว ก็ไปชม Mattancherry Palace  หรือ Dutch Palace เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างโดยชาวโปรตุเกส เมื่อปี 1557 เพื่อมอบให้แก่ราชา Vira Keralavarma (คศ. 1537 - 1561) แห่งโคชิ   ได้รับการปรับปรุงโดยชาวดัทช์ ในปี 1663  พระราชวังนี้มีรูปแบบเหมือนคฤหาสน์เกรละ ที่เรียกว่า Nalukettu - (ที่พักอาศัยของขุนนางผู้ใหญ่ หรือชั้นสูง) แยกออกเป็นสี่ปีก เปิดสู่ลานตรงกลาง ซึ่ง ณ ลานนี้ ที่มีเทวาลัยภควตีตั้งอยู่



พระราชวังเป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างตรงจุดที่จะเห็นทัศนียภาพแบบพาโนรามาของ backwaters ของโคชิ  




มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง  ที่งดงามรอบอาคารพระราชวังที่ยาวกว่า 300 เมตร  หลัก ๆ  ก็เป็นเรื่องราวมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย คือ รามายนะ และมหาภารตะ ทั้งยังมีตำนานเกี่ยวกับเทพในศาสนาฮินดู รวมทั้งงานของกวีสันสกฤต Kalidasa ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย  


นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงสิ่งของอื่น ๆ อีก เช่น อาวุธ เครื่องใช้ และเครื่องตกแต่ง ทำให้เราได้เห็นภาพวิถีชีวิตบางส่วนของราชวงค์  (ภายในห้ามถ่ายรูป รูปข้างต้นจาก internet ค่ะ )

หลังจากสัมผัสกลิ่นไอยุคโคโลเนียลบริเวณ Jew town ได้รู้ได้เห็นประวัติศาสตร์บางส่วนของโบสถ์ยิว และพระราชวังมัตตันเชอรี่แล้ว   ก็ไปตามหาพริกไทยค่ะ ไปตามหาจริง ๆ ด้วย 

ด้วยตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องไปซื้อพริกไทยที่โคชิ  .... จริง ๆ ก็เห็นมีขายบริเวณ boat jetty และร้านที่ถนน Synagogue  แต่เพราะอยากจะซื้อจากร้านขายที่ไม่ได้ขายนักท่องเที่ยว  จึงถามคนแถวนั้นว่าหาซื้อเครื่องเทศได้ที่ไหน  เขาบอกว่าต้องไปที่  "KC"  ทั้ง 3 สว. เดินกันเหงื่อตก (เพราะอากาศร้อนมาก ขนาดเป็นกลางเดือนตุลาคมเข้าไปแล้วนะ)  ถึง "KC" ปรากฏว่า "ปิด" (Closed)  ค่ะ  .... ลืมไปว่าวันอาทิตย์ร้านปิด


แค่ร้านปิดวันอาทิตย์จะไปย่อท้ออะไร ... ขนาดต้องข้ามทะเล มหาสมุทร รอนแรมมากันเป็นเดือน ๆ ผ่านอะไรต่อมิอะไรเพื่อตามหาเครื่องเทศชั้นดี  ชาวยุโรปก็ยังมากันเลย

วันรุ่งขึ้นก่อนกลับ เราก็ไปกันอีกครั้งค่ะ วันนี้ร้านเปิดแล้ว 




ในอดีตที่เกรละ "พริกไทย" เป็นเสมือน "karuthuponnu" หรือ "black gold - ทองคำสีดำ" หมายถึง "พริกไทย" เป็นกระดูกสันหลังของการค้าเครื่องเทศทั้งในประเทศ และต่างประเทศของรัฐนี้ 



แม้การค้าเครื่องเทศจะไม่รุ่งเรืองเท่าอดีต  แต่วิธีการคัดเลือก การเก็บรักษา และการประมูล  ก็ยังคงดำเนินอยู่ที่ป้อมโคชิ อย่างที่เป็นตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา




แล้วก็ได้พริกไทยชั้นดีจากแหล่งผลิตพริกไทยที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง  มีพริกไทยดำ  พริกไทยขาว  และพริกไทยเขียว  คนขายบอกว่าพริกไทยเขียวจะเผ็ด และหอมกว่าอีก 2 ชนิด  แพงกว่าด้วย  เหมือนจะ 800 รูปี ต่อกิโลกรัมค่ะ  

ได้พริกไทยแล้วก็มีแรงเดินต่อ ผ่านย่านอาคารที่ครั้งหนึ่งเต็มไปด้วยเครื่องเทศนานาชนิด  แต่แล้วทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา






จากนั้นก็เดินไปเรื่อย ๆ จนใกล้จตุรัสวาสโก ดา กามา ..ก็มีรถตุ๊ก ๆ มาจอดพรืดอยู่ข้าง ๆ  ได้ยินเสียงทักทายมาจากในรถ  นายบาบูนั่นเอง "ขึ้นรถมาเลย เดี๋ยวจะไปส่ง"  "ไม่เป็นไร เดินไปก็ได้"  "ไม่เป็นไร ขึ้นมา ๆ"  หลวมตัวขึ้นไปแล้ว ก็ตามฟอร์ม "แวะร้านนี้ ๆๆ หน่อยนะ ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร ไปดูก่อน"  

บาบูไม่ได้สังเกตุนักท่องเที่ยวแบกเป้อย่างเราเลยหรือ !!?? เฟอร์นิเจอร์ติดตัวสักชิ้นก็ไม่มี  รองเท้าก็รองเท้าแตะฟองน้ำแถมกางเกงชาวเลอีกต่างหาก  แต่ก็เห็นใจบาบูนะคะ  บาบูจะไปถามคนที่แต่งตัวหรูได้อย่างไร  เฟอร์รารี่ ตุ๊ก ตุ๊ก เนี่ย !!!


สุดท้ายก็ได้แวะร้านหรูที่บาบูพาไปส่ง (แต่สภาพเรามันตรงกันข้ามกับร้านเลย)  ได้ของที่ระลึกมากันคนละชิ้น  ออกมาก็เห็นบาบูยังรออยู่หน้าร้าน ก็เลยถ่ายรูปกันเอาไว้  



ใครไปถึงโคชิอยากอุดหนุนบาบู ก็ตามนามบัตรนี้ค่ะ  


ตกลงก็ไม่ได้ให้บาบูไปส่งตามที่เขาบอก  เดินไปเรื่อย ๆ ดูอะไร ๆ ไปเรื่อย ๆ เย็นแล้ว อากาศสบาย ๆ ไม่ร้อนมาก 

ถึงเวลาที่ต้องกล่าวคำอำลา จากป้อมโคชิไปสนามบิน มีรถตลอดทั้งวัน เที่ยวแรก 8.00 น. เที่ยวสุดท้าย 18.55 น  รถจะมาก่อนเวลาประมาณ  10 นาที     จอดที่มุมจตุรัสวาสโก ดา กามา   รายละเอียดอื่น ๆ  ดูตามลิงค์นี้ได้เลยค่ะ  //m.cial.aero/Pages/Bus-Timings




ที่สนามบินโคชิน มีเก้าอี้นั่งรอ 2 แบบ เป็นเก้าอี้เหล็กอะไรสักอย่างสีเงิน ดูสะอาดสะอ้าน  แล้วก็มีเก้าอี้นวม แอบคิดเอาเองว่าเหมือนเก้าอี้ราชายังไงไม่รู้  ..




 ตอนแรกก็นั่งเก้าอี้สีขาว ตอนหลังเปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้ราชาดีกว่า ไม่รู้จะได้มีโอกาสมาอีกหรือไม่

ที่สนามบินโคชินอีกเหมือนกัน จะเรียกผู้โดยสารก่อนประมาณ 45 นาที (ที่อื่นประมาณ 30 นาที)  พอเรียกแล้ว ก็จะดูบัตรโดยสารว่าที่นั่งแถวอะไร  แล้วก็ให้นั่งรอตามโซนที่พนักงานบอก คือเขาจะแบ่งที่นั่งรอ คิดว่า  2 โซนค่ะ  

เวลาเรียกขึ้นเครื่อง ก็บอก เอ้า !! โซน 2 แถวแรกไปได้ ต่อไปค่อยเป็นแถวสอง เหมือนนักเรียนเลย  .. แต่ก็ดีจริง ๆ นักเรียนทุกคนปฏิบัติตัวดีมาก  ไปขึ้นเครื่องอย่างเรียบร้อย ไม่มีใครแย่งใคร  ขึ้นไปบนเครื่อง ก็ไม่ชุลมุน วุ่นว่าย  .. 15 นาทีทุกอย่างเรียบร้อย 

ท้ายสุดของ 3 สว. ที่ไปอินเดียใต้กันมา รวม 2 รัฐ 6 เมือง แล้วก็กลับบ้านกันอย่างสะบักสะบอมพอควร ...แต่ลุงบอกไม่ได้ครึ่งของที่ Backpack ไปญี่ปุ่น-เกาหลีเลย

อีกนิดค่ะ สนใจการเล่าเรื่องอินเดียใต้ จาก "แพรว" นักเขียนตัวจริง ติดตามได้ตามลิงค์นี้ค่ะ//luengfaikham.blogspot.com/2014/12/blog-post_11.html

ขอบคุณ-  นานริ (Nanri) ทุกคนที่แวะเข้ามาอ่านค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย หนังสือ "The Rough Guide to India, sixth edition.  หนังสือ "Lonely Planet : India" 10th edition. ภาพจาก internet และเว๊บไซด์
www.keralatourism.org/destination/mattancherry-palace-kochi/178/
https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_the_Jews_in_India
https://www.jewishvirtuallibrary.org/jsource/biography/Solomon.html
//www.cochin.org.uk/tourist-attractions/fort-kochi.html



Create Date : 09 เมษายน 2559
Last Update : 19 เมษายน 2559 15:19:40 น. 4 comments
Counter : 4087 Pageviews.

 
เก่าจริง เมือง...

รูปสุดท้ายลุงนั่งสบายมาก


โดย: เมย์ IP: 118.172.180.127 วันที่: 19 เมษายน 2559 เวลา:16:02:31 น.  

 
ก็ลุงบอกไม่ได้ครึ่งของตอนแบกเป้นไปญี่ปุ่น-เกาลี นี่ ถามแม่เปี๊ยกซิ โหดแค่ไหน


โดย: payaichow (สมาชิกหมายเลข 1920579 ) วันที่: 20 เมษายน 2559 เวลา:11:03:49 น.  

 
โหดมาก กลับมากางเกงหลวม
เสื้อผ้าขี้เกลือขึ้นเป็นแผนที่ เพราะไม่ได้ซัก 555
ก็ไปกันหน้าร้อนพอดี ฝนก็ตก
หนุกหนานกันไป



โดย: พูดไม่เก่ง แต่เจ๋งทุกคำ วันที่: 22 สิงหาคม 2560 เวลา:15:12:01 น.  

 
สนุกและได้ความรู้มากมาย ขอบคุณค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 25 ตุลาคม 2560 เวลา:13:54:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.