บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2559
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
17 มีนาคม 2559
 
All Blogs
 

ตอน 10 - จากกันยากุมารี สู่อลัปปูจา (Alappuzha)


ออกจากที่พัก Vivekananda Kendra แต่เช้ามืดเหมือนทุกครั้งที่ต้องออกเดินทาง ลากกระเป๋ากันกรึง ๆ  จนมาถึงถนนใหญ่จึงได้เรียกรถตุ๊ก ๆ ไปสถานีรถไฟ  มีผู้โดยสารมารอซื้อตั๋วรถไฟกันพอควร แต่เราได้ตั๋วมาแล้ว  .. คงจำได้นะค่ะ ว่ามาถึงวันแรกไปสถานีรถไฟถามเรื่องตั๋วก่อนเลย  พนักงานบอกให้มาอีกวัน  พอไปอีกวันเห็นหน้ากันก็จำได้ แล้วก็ขายตั๋วสำหรับเดินทางวันรุ่งขึ้นให้ 3 ใบ .... วันเดินทางที่สถานีรถไฟ  เห็นคนรอซื้อตั๋วรถไฟ ก็เพิ่งนึกได้ว่า ตั๋วชั้น 3 ไม่มีจองล่วงหน้า จะเปิดขายก่อนรถไฟออกเหมือนบ้านเรา  พนักงานคงเห็นใจคนแปลกหน้าที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว มาขอซื้อตั๋วก็เลยขายให้  นับเป็นความกรุณาอย่างยิ่งค่ะ  

เราเลยได้ขึ้นรถไฟหาที่นั่งเป็นคนแรก ๆ จะเอาโบกี้ไหน แถวไหน นั่งตรงไหน ... เลือกเอาเล้ยย



ตอนขึ้นมาโล่งเชียว ลุงเหมือนยังไม่ตื่น ที่นั่งแถวยาวนี่เขียนไว้ให้นั่งแถวละ 4 คน  แต่พอรถไฟออกมาได้สักระยะ  ก็แน่นเหมือนในรูปล่ะ



จากแถวละ 4 สามารถเบียดกันได้ถึงแถวละ 6 เลย คนเยอะมากเหมือนรถเมล์บ้านเรา ทั้งคนไปทำงาน นักเรียนและนักเดินทางใกล้ไกล คนทำงานและนักเรียนเดินทางใกล้ ๆ  ค่อย ๆ ทะยอยกันลงไป 

จุดหมายปลายทางรถไฟของเราคือ กัตตะยัม (Kottayam) ห่างจากกันยากุมารี ขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 246 กม. ใช้เวลาเดินทางโดยรถไฟราว 5 ชม.  รถไฟขบวน 16382 ออกจากกันยากุมารี สุดทางที่มุมไป ...ข้อมูลตามลิงค์ค่ะ  //www.prokerala.com/travel/indian-railway/trains/cape-mumbai-express-317.html

รถไฟออก 5.15 น. จะถึง กัตตะยัม 11.30 น. (ข้อมูลพศ. 2555 ค่ะ) ความจริงรถไฟขบวนนี้ก็ผ่าน เมือง Ernakulam ด้วย และจาก Ernakulam ก็ต่อเรือข้ามไปโกชิ (Kochi หรือโคชิน Cochin)  ปลายทางสุดท้ายของอินเดียใต้ครั้งนี้ได้เลย  แต่ยังก่อนนั่นมันง่ายเกินไป แล้วเราก็จะไม่ได้ประสบการณ์ที่ Lonely Planet บอกว่าเป็นสุดยอดของรัฐเกรละ นั่นคือ The Kerelan Backwaters - Slow the pace with a boat trip on these lush lagoons, canal and lakes, visiting small settlements and meeting local villagers. - A world away from the clamour of India.  ใช้ชีวิตไปช้า ๆ ด้วยการล่องเรือไปตามคู คลอง หนอง บึง และทะเลสาบที่เขียวชอุ่ม เยี่ยมเยียนชุมชนเล็ก ๆ และชาวบ้านตามทางที่ผ่าน ซึ่งเป็นอีกโลกหนึ่งห่างจาก เสียงอีกทีกของอินเดีย

Kerelan Backwaters คืออะไร มะงุ่มมะงาหราหาความหมาย ข้อมูลอยู่เป็นนาน พอได้ความว่า  backwaters คือ  บึงน้ำกร่อย ทะเลสาบน้ำจืด ที่อยู่ขนานไปตามชายฝั่งทะเลอารเบียน (หรือชายฝั่งมะละบาร์) รวมทั้งทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ทั้งห้า ที่เกิดจากแม่น้ำ 41 สาย แล้วเชื่อมโยงกันเหมือนใยแมงมุม ด้วยบึง คู คลองทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์ขุดขึ้น เพื่อเชื่อม backwaters ทั้งหมดเข้าด้วยกัน จนทำให้มีความยาวมากถึงครึ่งหนึ่งของรัฐเกรละ .. backwaters เกิดจากกระแสน้ำ คลื่นที่ซัดเข้าฝั่ง ทำให้เกิดสันดอน เกาะแก่ง ระหว่างทางและที่ปากแม่น้ำหลายสาย ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลทางตะวันตก 





เห็นรูปใน internet ... มันช่างเชิญชวนให้เรานั่งเรือไปเรื่อย ๆ อย่างที่เขาบอกจริง ๆ ด้วย ... แต่ดูราคาแล้ว backpackers ถอยก่อน แถมเราก็ไม่มีเวลาแล้วละค่ะ  แต่ก็อยากมีประสบการณ์ Kerelan backwaters บ้าง  .. ทำไงดี

พอดีได้ข้อมูลเส้นทางเดินเรือท้องถิ่นของ Kerela State Water Transport Department (SWTD) ที่รับส่งผู้โดยสารระหว่าง 2 ฝั่งของ backwaters มีหลายเส้นทางด้วยกัน ทั้งยังมีบริการเรือเฟอรรี่สำหรับนักท่องเที่ยวล่องไปตาม backwaters ในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย   แต่เราก็จะเสียเวลาไปอีกวัน  .. ดูแล้วมีเส้นทางหนึ่งที่เริ่มจากกัตตะยัม ไปอลัปปูจา ผ่านหลายสถานที่ที่เรือเฟอรรี่จะพาไปอยู่แล้ว  แล้วจากอลัปปูจาต่อรถบัสไปโกชิก็อีกชั่วโมงกว่าเท่านั้น  ก็เลยเลือกเส้นทางนี้ซึ่งเหมาะสมด้วยประการท้้งปวงค่ะ

 เส้นทางนี้มีเรือออกจากท่าเรือกัตตะยัม วันละ 4 เที่ยว เวลา 07.15, 13.00, 16.00 และ 17.45 น. (พศ. 2555)  ฉะนั้น ถ้ารถไฟถึงกัตตะยัม 11.30 น. ก็มีเวลาเหลือเฟือสำหรับไปล่องเรือเที่ยว 13.00 น. เพราะทั้งสถานีรถไฟและท่าเรือห่างกันเพียง 2 - 3 กม. 

คงจำอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ที่ได้กล่าวถึงในตอนแรก อาจารย์เล่าในหนังสือ "อินเดีย จาริกด้านใน" ถึงความจริงใจของคนอินเดียใต้ว่า "นั่งรถตุ๊ก ๆ จากสถานีรถไฟไปท่าเรือกัตตะยัม ให้ค่ารถไป 50 รูปีตามที่คนขับรถเรียก ในใจก็คิดว่าแพงเพราะทั้ง 2 ที่ไม่ไกลกัน แต่คนขับทอนมาให้ 35 รูปี แล้วบอกว่า 15 ไม่ใช่ 50 (fifteen not fifty) แถมบอกว่าเขาพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง  คงทำให้อาจารย์คงเข้าใจผิด 

หน้าสถานีรถไฟ มีนายท่าสถานีที่จัดระเบียบรถโดยสาร  ก็ไปต่อแถวกับเขา  เราบอกนายท่า  นายท่าบอกคนขับรถ คนขับรถบอกนายท่า นายท่าเขียนค่าโดยสาร  เราเอามาดู .. อ้าว !!!...  15 รูปี กลายเป็น 140 รูปี ไปได้ไงนี่  เราบอกนายท่า นายท่าถามคนขับรถ คนขับรถบอกนายท่า นายท่าบอกเราว่า "ตอนนี้มีการซ่อมสะพาน เรือออกจากท่ากัตตะยัมไม่ได้  ต้องไปออกอีกท่า มันไกล  ราคานี้ถูกต้องแล้วนะนาย" ... เข้าใจกันแล้ว รถตุ๊ก ๆ ก็พาเราบึ่งไปไหนไม่รู้  เพราะมันนอกแผนที่ที่พกมา  ผ่านถนนใหญ่  ลัดเลาะไปตามถนนซอย ผ่านชุมชน แล้วก็ไม่มีชุมชน เป็นเรือกสวนไร่นาเป็นส่วนใหญ่ ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวอยู่ครึ่งชั่วโมง  .. ลุงเปรยขึ้นมาว่าถ้าเขาเอาเรามาทิ้งไว้ที่นี่ จะกลับกันยังไง 

จนมาสุดทางที่ต่อไปข้างหน้าไม่ได้แล้ว  เพราะกำลังมีการซ่อมสะพาน ... แม่นแล้ว.. สะพานที่ทำให้เรือผ่านไม่ได้ ตอนแรกคิดว่าเป็นสะพานในเมือง แต่เป็นสะพานตรงนี้เอง คนขับบอกว่าเดินเลี้ยวขวาไปสัก 100 เมตร ก็จะเจอท่าเรือ .... 

ท่าเรือ Kanjiram ที่หมู่บ้าน Kiliroor ห่างจากตัวเมืองเกือบ 10 กม.  เวลาสักเที่ยงกว่าของวันนั้นเงียบสนิท  ได้ข้อมูลจากร้านค้าที่อยู่ใกล้ ๆ ว่า เที่ยวบ่ายโมงไม่มีแล้ว ต้องรอเรือเที่ยว 4 โมงเย็นจ้า .. ถอนหายใจกันเฮือกใหญ่ หมดสภาพไปตาม ๆ กันต้องรออีก 3 ชม.กว่า ถึง 4 โมง ถึงอลัปปูจาก็มืดซิ โรงแรมก็ไม่ได้จองไว้ ต้องไปงมหากันตอนมืด ๆ อีกหรึอนี่ 



ถนนที่ตรงมายังท่าเรือ Kanjiram ..ไกล ๆ คือช่วงที่มีการซ่อมสะพาน  

เป็นช่วงเวลาพักเที่ยงพอดี นักเรียนจาก SNDP Higher Secondary School ออกมา เห็นคนแปลกหน้าที่ท่าเรือ ก็มาถามไถ่กันจนไม่รู้จะตอบกันอย่างไร  พอดีคุณครูออกมานักเรียนชายก็หลบฉากไปยืนแถวที่ถ่ายรูปไว้น่ะค่ะ  เหลือแต่คุณครูกับนักเรียนหญิง  คุณครูถามว่ากินข้าวกันแล้วยัง มี hotel อยู่ตรงสะพาน ตอนนั้นนึกว่ามีโรงแรมและมีห้องอาหารด้วย  ไปถึงเห็นแต่ร้านอาหาร  ค่ะ คำว่า "hotel" ในภาษาฮินดี จะหมายถึงร้านอาหารด้วย


ที่หน้าโรงเรียน ถ่ายรูปคุณครูใจดีกับแพรวไว้เป็นที่ระลึก หมู่นักเรียนชายเป็นฉากหลัง  แล้วก็มีนักเรียนหญิงหน้าตาคมคาย ยิ้มรับกล้องอย่างสดใส  แล้วก็ตามเคย ได้อัดรูปหลายชุดส่งไปให้คุณครูกับเด็ก ๆ ที่โรงเรียนแล้วค่ะ





คุณครูและเด็ก ๆ กลับเข้าโรงเรียนไปแล้ว  ส่วนเราก็รอต่อไป 



บรรยากาศที่ Kanjiram boat jetty - Kiliroor, กัตตะยัม



บ่าย 3 เรืิิอก็มาจอดที่ท่า  รับรองว่า บ่าย 4 ออกแน่นอน



ได้เวลาเรือออก ผู้ปกครองกับเด็กนักเรียนเต็มลำ



แพรวกลายเป็นขวัญใจเด็ก ๆ ไปแล้ว















เรือจอดส่งเด็กเป็นระยะ ๆ ผู้โดยสารเบาบางลง  แต่ยังเหลือตัวป่วนที่มาเต๊ะท่าให้ถ่ายรูป

Backwaters มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในการดำรงชีวิตของคนท้องถิ่นมานานเป็นศตวรรษ  การเชื่อมโยงถึงกันโดยคูคลอง  ทำให้เกิดวิธีการขนส่งที่ประหยัด  ทั้งการคมนาคม การค้า การเกษตร การประมง และผลิตภัณฑ์จากปลา รวมทั้งการต่อเรือซึ่งเป็นงานหัตถกรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น  ก็กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ

หากในระยะหลัง ๆ นี้ มีการพยายามทำให้เกษตรกรรมมีความมั่นคงขึ้น โดยใช้พื้นที่บางส่วนของ backwaters มาทำการเกษตร โดยเฉพาะในเขต Kuttanad ของอลัปปูจา

จากภาพจะเห็นระดับน้ำที่สูงกว่าพื้นที่การเกษตรที่เป็นดิน

เพื่อเพิ่มพื้นที่การเกษตรที่ขนานไปกับเส้นทางน้ำ จึงทำคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น เหมือนเป็นกำแพงกั้นน้ำ  ...   พื้นที่เพาะปลูกที่เคยเป็น  backwaters ส่วนนี้  เมื่อน้ำแห้งไป  ก็จะมีระดับต่ำน้ำทะเลประมาณ 4 - 10 ฟิต  เรียกกัน ทั้ง Q S T และ R block  ตั้งอยู่ที่ Kuttanad  ซึ่งเป็นแหล่งอู่ข้าวของรัฐเกรละ .. Blocks ต่าง ๆ เหล่านี้ใช้เทคโนโลยีจากประเทศเนเธอร์แลนด์   เมื่อมีการเพาะปลูก  ก็จะทดน้ำจากคูคลองที่เชื่อมต่อเป็นโยงใยกับทะเลสาบใหญ่ Ashtamudi



 ภาพนี้จาก www.alamy.com ค่ะ จะเห็นความต่างระดับของพื้นที่เพาะปลูกกับเส้นทางน้ำได้ชัดกว่าค่ะ 


เรือยังพาเราไปเรื่อย ๆ ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี



ผ่านทะเลสาบ Vembanad  ซึ่งเป็นหัวใจของ backwaters  ยังเพื่อนโดยสารอยู่อีกหลายคน  เด็ก ๆ ลงไปหมดแล้ว แต่ละคนก็นั่งชมทัศนียภาพไปอย่างเงียบ ๆ 




จากท่า Kanjiram -กัตตะยัมมาอลัปปูจา ประมาณ 18 กม. ใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชม.ครึ่ง  ค่าเรือ 9 รูปี (5.50 บาท) ลดให้ 1 รูปี เพราะไม่ได้ออกจากท่ากัตตะยัม  แม้ไม่ได้ไปกับ houseboat แต่ก็ได้เห็นเรือกสวนไร่นา สัมผัสกับจอมซนทั้งหลายบนเรือ เห็นวิถีชีวิต 2 ข้างลำน้ำ  ได้ประสบการณ์ประทับใจที่ไม่ลืมอีกครั้งหนึ่ง 



 แต่วันนี้ยังไม่จบค่ะ  เพราะไม่รู้ว่าจะนอนกันที่ไหนเลย ตามแผนการเดินทางเดิม เราควรจะถึงอลัปปูจาประมาณ 4 โมงเย็น  แต่เรือมาถึงเอาเกือบทุ่ม   .. ดูที่พักไว้อยู่ 1 แห่ง ถ้ามาบ่าย ๆ ก็คงเจอ  ที่พักบริเวณท่าเรือ  ดูเหมือนโรงแรมร้าง ก็เดินต่อ ... แต่ก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าจะเดินไปไหน มีเสียงเปรย ๆ มาว่า บอกแล้วให้ดู google earth ก็ไม่ดู โห ..ถึงดูก็คงไม่รู้เรื่อง แค่ google map รู้เรื่องก็เก่งแล้ว


แต่เมื่อเป็นคนจัดการการเดินทาง  ต้องหาที่พักให้ได้ซิ  ต้องมีที่ไหนให้ถามได้น่า  แล้วก็จริง ๆ ด้วยค่ะ เห็นโรงพักอยู่ฝั่งตรงข้าม วิ่งข้ามถนนไปถามว่าจะหาที่พักบริเวณนี้ได้ที่ไหน .. ยังกับตำรวจจะรู้ .. ข้ามถนนกลับมา ตำรวจบอกให้เดินไปอีกสักหน่อย ก็จะเจอ Tourist office พอถึงเห็นอาคารชั้น 2 ยังเปิดไฟอยู่ มีชาย 2 คน กำลังนั่งคุยกัน  คงงง ๆ ว่าใครทะเล่อทะล่าขึ้นมา ... เขาบอกว่า Tourist office ปิดแล้ว ก็เลยถามเขาเรื่องที่พัก เขาว่ามีโรงแรมเวนิส  ก็บอกว่าเดินเข้าไปครึ่งซอยแล้ว รู้สึกซอยจะลึก แล้วก็มืด แล้วก็ไม่แน่ใจว่าเต็มหรือเปล่า เพราะไม่ได้จองไว้


ด้วยความมีน้ำใจ เขาโทรไปหาเจ้าหน้าที่ของ Tourist information ให้  ทำให้คืนนั้นเราได้ที่พักที่ KTC Guesthouse เดินต่อไปอีก 50 เมตร มีป้ายที่หน้าซอย เดินเข้าซอยไปนิดเดียว  ตอนลงทะเบียน พอรู้ว่าจากประเทศไทย เจ้าของโรงแรมก็บอกว่าอาหารไทยอร่อยนะ งงมากเลยค่ะ เมืองไทยดังถึงอลัปปูจาเลยนี่  ถ้าเป็นเมืองใหญ่ก็เป็นธรรมดา เขาบอกอีกว่าคนที่นี่ไปเที่ยวเมืองไทยกันเยอะเลย

จบอีกวันที่ผ่านการเดินทางเกือบจะครบประเภททั้งรถไฟ ตุ๊ก ๆ เรือโดยสาร  ทั้งสนุก ประทับใจ แล้วก็เหนื่อย   ... บล๊อคหน้าเรามารู้จักอลัปปูจากันหน่อยค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย และ

https://www.keralatourism.org/destination/qst-r-block-kayal-alappuzha/64





 

Create Date : 17 มีนาคม 2559
3 comments
Last Update : 26 มีนาคม 2559 12:21:38 น.
Counter : 933 Pageviews.

 

น่าสนุก และน่าประทับใจมากค่ะ เคยไปเที่ยวอินเดียหนึ่งเดือน ได้รับประสบการณ์ที่ไม่อาจจะลืมได้เลยในชีวิตนี้ค่ะ

 

โดย: Maeboon 20 มีนาคม 2559 20:16:46 น.  

 

เที่ยวครั้งนี้ได้ครบทุกรสชาติจริงๆ
เจอจอมป่วน จอมซนเยอะจริงๆ
ดาราหน้ากล้องเพียบเลย

 

โดย: พูดไม่เก่ง แต่เจ๋งทุกคำ 21 มีนาคม 2559 7:11:31 น.  

 

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
ชมพร Education Blog ดู Blog
**mp5** Dharma Blog ดู Blog
ร่มไม้เย็น Dharma Blog ดู Blog
พรหมญาณี Dharma Blog ดู Blog
สมาชิกหมายเลข 1920579 Travel Blog ดู Blog

เข้าไปอ่านเรื่องราวบังคลาเทศ คอมเม้นท์ไว้หลายตอน เสียดายที่ไม่ได้อ่านตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่งั้นต้องโหวตกระขายแน่ๆ ค่ะ เรื่องราวเนื้อหาดีมากเลย

หนูรู้จักพี่เปี๊ยกค่ะ เคยไปทานข้าวด้วยกัน พี่เขายิ้มอย่างเดียว พูดน้อยมากค่ะ

 

โดย: Maeboon 22 มีนาคม 2559 23:51:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.