สมุดบันทึกผู้หญิงชอบเที่ยว "ภัทรานิตย์" -- www.atourthai.com --

"เที่ยวเมืองไทยด้วยหัวใจ แล้วคุณจะรักเมืองไทยอย่างยั่งยืน"


<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
12 พฤษภาคม 2552
 

BANGKOK :: Museum Siam ตามหาคนกบแดงในพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้

เมือวันหยุดที่ผ่านมาเป็นอาทิตย์ที่ได้มีชีวิตนิ่งๆ อยู่กรุงเทพฯ อยู่บ้านว่างๆ ก็มีเสียงโทรศัพท์จากอดีตเพื่อนที่ไม่เจอกันนานแล้วล่ะ ยังเคยคิดด้วยซ้ำว่าคงไม่ได้เจอกันอีกแล้วมั้ง โทรมาชวนหาที่ไปเพราะไม่อยากอยู่บ้าน เออเข้าทางนักเดินทางอย่างเราเลยล่ะ แต่ว่านี่ก็เที่ยงแล้วจะไปไหนได้ไกลล่ะนอกจากกรุงเทพฯ



เราเคยจำได้ว่าเคยได้อ่านบล็อกของใครสักคนนี่แหละ เขียนเล่าเรื่องที่สงบในกรุงเทพฯ มีอยู่ที่หนึ่งที่น่าสนใจคือ "พิพิธภัณฑ์บางกอก" ก็เลยบอกว่าไปนี่ล่ะ ใช้เวลาเดินทางเกือบชั่วโมงจากบ้าน (หลักสี่) มายังกระทรวงพาณิชย์เก่า แล้วก็มาถึงมิวเซียมสยาม เฮ้ย เราจะไปพิพิธภัณฑ์บางกอกไม่ใช่เหรอวะ ไหงมาโผล่ที่นี่ได้ล่ะ แต่ด้วยความที่ไหนๆ ก็มาแล้วเข้าไปดูกันเสียหน่อย



ก่อนอื่นเรามารู้จักพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กันก่อน มิวเซียมสยาม เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกที่เน้นการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ เน้นการจัดนิทรรศการที่กระตุกต่อมความคิด และจุดประกายความอยากรู้ โดยสามารถจับได้ เล่นได้ ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๖ นั่นก็คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และจิตใจ ประกอบกับการเล่าเรื่องโดยใช้ตัวละครพูดถึงเนื้อหาตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน สร้างความน่าสนใจให้กับผู้เข้าชมได้ตื่นตาตื่นใจไปกับการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับประวัติศาสตร์ได้ดีทีเดียวล่ะ

ซึ่งรู้สึกแปลกใจมาก ด้วยความที่เวลาไปต่างประเทศชอบไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากๆ แต่กลับไม่เคยเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในบ้านตัวเองเลย ทำให้รู้สึกว่าบ้านเรามีอะไรหลายอย่างที่เรามองข้ามไป สงสัยต้องเริ่มกลับมาเที่ยวบ้านตัวเองมากขึ้นล่ะ กลับมาต่อที่มิวเซียมสยามกันดีกว่า มิวเซียมสยามตั้งอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์เดิม บริเวณท่าเตียนข้างวัดโพธิ์ล่ะ

อัตราค่าเข้าชมนิทรรศการสำหรับผู้ใหญ่ ๑๐๐ บาท นักเรียนนักศึกษา ๕๐ บาท ชาวต่างชาติ ๓๐๐ บาท หากมากันเป็นกลุ่มสิบคนขึ้นไปนักเรียนก็จะเหลือ ๒๕ บาท ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท และชาวต่างชาติ ๑๕๐ บาท ราคาก็ไม่แพงนะเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะได้รับด้านใน ตามกันเข้ามาดูด้านในกันดีกว่า ชักช้าอยู่ใยใช่ไหมล่ะ

เริ่มจากห้องที่ ๑ เค้าสื่อความหมายของห้องนี้ว่า ย้อนกลับไปสู่เรื่องราวอันเป็นต้นกำเนิดจากสุวรรณภูมิสยามประเทศถึงประเทศไทย เพื่อหาคำตอบว่า "เราคือใคร"



โดยเรื่องราวทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงผืนผ้าใบลักษณะเป็นเกลียวดูแปลกตา ซึ่งมองไปด้านบนแค่จุดนี้ใช้โปรเจคเตอร์ยิงพร้อมกันเจ็ดตัวเลยล่ะ ซึ่งเป็นวีดีทัศน์เล่าเรื่องว่าเราคือใคร ความยาวประมาณสักห้านาทีเห็นจะได้ล่ะ เมื่อจบก็เดินตามทางไปยังห้องต่อไปคือห้องที่ ๒ เปิดตำนานสุวรรณภูมิ





ห้องนี้จะแสดงความเป็นมาของก่อนจะมาเป็นบรรบุรุษชาว "สุวรรณภูมิ" ชื่อที่ชาวโลกเมือประมาณ ๓๐๐๐ ปี ก่อนจะเรียกดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางทิศตะวันออกของอินเดีย ซึ่งถัดออกมาจะห้องนี้ก็จะเจอสัญลักษณ์ "คนกบแดง" เป็นรูปคนทำท่ากบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ล่ะ ซึ่ง "กบ" ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์เป็นที่เคารพบูชาทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล่ะ จากนั้นก็เดินขึ้นไปยังชั้น ๓ ของอาคารเพื่อเข้าสู่ห้องที่ ๔ คือ เปิดตำนานสุวรรณภูมิ




ห้องนี้จะทำความรู้จักกับ "สุวรรณภูมิ" การเกษตร การค้า การสร้างเมือง เทคโนโลยีแห่งโลหะ และความเชื่อเรื่องผี พราหมณ์และพุทธ ซึ่งสามารถค้นคำตอบว่า สุวรรณภูมิคือแผ่นดินทองที่นี่มีทองจริงหรือ? ห้องนี้เราชอบไอเดียการจัดแสดงเค้าล่ะ เอาแปรงไปปัดตรงหน้าจอภาพก็จะค่อยๆ ขึ้นมาเข้าท่าดีแฮะ



สุวรรณภูมิเป็นแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จึงทำให้มีผลผลิตจากธรรมชาติมากมายที่ชาวโลกต้องการ และแน่นอนที่นี่มีทองคำจริงๆ กับแร่ธาตุมีค่าอื่นๆ เช่น ทองแดง ดีบุก เหล็ก สมชื่อ "แผ่นดินทอง" ซึ่งความร่ำรวยทางธรรมชาติเช่นนี้เอง ทำให้ชาวโลกต้องเดินทางมาแสวงโชคถึงที่นี่




ห้องนี้จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับบรรพชน ชนพื้นเมืองสุวรรณภูมิดำรงชีวิตด้วยการร่อนเร่ล่าสัตว์เก็บของป่า จนถึงช่วง ๕๐๐๐ ปีก่อนพัฒนามาเป็นตั้งถิ่นฐาน รู้จักการทำการเกษตร แต่ต่อมาก็รู้จักพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะผสมที่เรียกว่า "สำริด" มีการสร้างเมืองติดต่อแลกเปลี่ยนกับโลกภายนอนทั้งทางบกและทางทะเล จนเริ่มถลุงเหล็กเพื่อทำเครื่องมือเครื่องใช้ จุดน่าสนใจก็คงจะเป็นกลางห้องที่จัดแสดงแผ่นดินสุวรรณภูมิโดยยิงโปรเจคเตอร์จากด้านบนลงล่างล่ะ




เชื่อไหมว่า "ระบบแฟรนไชส์" เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้วล่ะ เนื่องจากเกิดการแลกเปลี่ยนจนมาเป็นเครือข่ายชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจของระบบการค้าภายในภูมิภาคสุวรรณภูมิ




"ข้าว" สมัยก่อนไม่ได้ปลูกขึ้นเอง เริ่มจากการหาข้าวป่ามาก่อน ต่อมาจึงเริ่มจะปลูกเอง โดยปลูกข้าวปลูกเอเชียและแอฟริกาก่อน โดยเรียนรู้จากการนำข้าวป่ามาปลูก อยากรู้จักว่าเค้ารู้ได้ยังไงนะว่าข้าวป่าทานได้ เพื่อนเราบอกว่า "สงสัยคงแทะแบบเม็ดก๊วยจี้มั้งแก" ว่าไปนั่น เราใช้เวลาอยู่ในห้องนี้นานมาก เพราะมีวีดีทัศน์ และมีเกมส์ให้เล่นประกอบกับมีสไลด์โชว์ที่น่าสนใจ

แต่ด้วยความที่มากับบ่ายมากแล้ว เพราะฉะนั้นพวกเราจึงใช้เวลาที่ห้องนี้นานมากไม่ได้ ห้องต่อไปจะเป็นห้องที่ ๕ พุทธิปัญญา สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหัวใจของพุทธศาสนา




ด้วยความที่ห้องนี้เป็นห้องมืดๆ ตรงกลางมีที่นั่งซึ่งมีเสียงพระพุทธทาสสอนด้วย พอไปนั่งรู้สึกดีจัง ด้วยความที่ห้องมันเงียบและมืดด้วยล่ะ เราชอบเรื่องนิทานตุ๊กตาแตกล่ะ ซึ่งก็มีอยู่ว่า เด็กเล็กคนหนึ่งได้รับตุ๊กตาเป็นของขวัญวันเกิด

อยู่มาวันหนึ่งตุ๊กตาตกลงมาแตก เมื่อเด็กเห็นว่าตุ๊กตาของตนเองแตกจึงเกิดความเสียใจ รู้สึกห่อเหี่ยวใจ ร้องไห้คร่ำครวญแม้ว่าหลายวันผ่านไป เมื่อคิดถึงเหตุการณ์นี้ ก็ยังเกิดความเสียใจขึ้นมาอีก เพราะสูญเสียของรักของตนเองไป สุดท้ายเด็กคนนี้ก็เกิดทุกข์ เพราะไม่เข้าใจเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง

เมื่อมองดูตุ๊กตาที่ตกลงมาด้วยขาดสติคือ "อวิชชา" ปรุงแต่งให้เกิด "สังขาร" คือความรู้สึกนึกคิด เห็นตุ๊กตาแตกคือตากับรูปกระทบกันเกิด "จักษุวิญญาณ" ทำให้เกิด "นามรูป" คือความรู้สึกนึกคิด และรูปร่างที่สัมผัสได้ทางตา "อายตนะ" คือ ตาที่มองเห็นตุ๊กตาตก "ผัสสะ" คือ การรับรู้เพราะตาสัมผัสกับตุ๊กตา "เวทนา" คือ ความรู้สึกเป็นทุกข์ เสียใจก่อให้เกิด "ตัณหา" คือไม่อยากทุกข์ เสียใจเพราะตุ๊กแกแตก "อุปาทาน" คือยึดมั่นว่าเป็นตุ๊กตาของเรา เมื่อเป็นของเราจึงเกิด "ภพ" มีตัวตนและยึดมั่นตัวตนนั้นไว้ทำให้เกิด "ชาติ" แล้วก็มีความทุกข์ในเรื่องตุ๊กตาแตกคือ ร้องไห้ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า "อุปายาส" ความเหี่ยวแห้งใจ

ซึ่งนี่แหละคือสัจธรรมของมนุษย์ ท่านพระพุทธทาสจึงสอนว่าเวลาทำอะไรให้เดินทางสายกลาง ดีใจมากไปก็ไม่ดี เสียใจมากไปก็ไม่ดี ซึ่งจะว่าไปแล้วนั้นทุกสิ่งเราคือตัวกำหนด จะดีจะชั่วก็ตัวเรา อยากเป็นคนดีก็ต้องทำดีจริงไหมล่ะ เริ่มจะอินมากไปล่ะ ออกจากห้องนี้ไปต่อกันดีกว่า

จากห้องที่ห้า สู่ห้องที่ ๖ การกำเนิดสยาม ห้องนี้จัดแสดงเกี่ยวกับการที่แคว้นต่างๆ เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นนครรัฐ สืบสานเรื่องราววีรบุรุษผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาจากตำนานท้าวอู่ทอง ปริศนาเร้นลับของปฐมกษัตริย์กับตำนานชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ ว่ากันว่าพระเจ้าอู่ทองทรงมาจากไหนนั้น ยังคงเป็นปริศนา ด้วยความที่ห้องนี้จัดแสดงในห้องมืดมาก จึงไม่ได้เก็บภาพมาฝากค่ะ

พวกเราเดินต่อไปยังห้องที่ ๗ สยามประเทศ หรือสยามเมืองน้ำ ด้วยความที่ชัยภูมิของกรุงศรีอยุธยามีลักษณะเป็นเกาะ ล้อมรอบด้วยน้ำ ๓ สาย จึงมีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งแหล่งทรัพยากรสำคัญบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง มีข้อได้เปรียบจากการที่เป็นเมืองในลุ่มน้ำท่วมถึง เมือฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมพื้นที่นอกกรุงจนข้าศึกต้องถอยทัพกลับไป ซึ่งยุทธวิธีนี้ใช้ทุกครั้งที่มีศึกประชิดพระนคร แต่ท้ายที่สุดก็ถูกแก้ได้จนกรุงศรีอยุธยาต้องถึงกาลอวสานในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐




จึงไม่น่าแปลกใจนักที่มีเรือมากมายจัดแสดงอยู่ภายในห้องนี้ เพราะคนกรุงศรี กินอยู่ ค้าขายกับสายน้ำนั่นเอง





ด้วยความที่ชาวกรุงศรีอยุธยาบริโภคปลาเป็นอาหารหลัก ไม่เฉพาะไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเท่านั้น พระมหากษัตริย์ก็โปรดการเสวยปลาเช่นกัน ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระมีการออกกฏหมายห้ามราษฏรกินปลาตะเพียน เพราะเป็นของโปรดของพระเจ้าแผ่นดิน ใครฝ่าฝืนถูกปรับเงิน ๕ ตำลึง กันเลยทีเดียว เพิ่งรู้นะเนี่ยว่ามีกฏหมายห้ามกินปลาด้วยอ่ะ



ต่อไปเป็นห้องที่ ๘ สยามยุทธ์ เหตุแห่งสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือความต้องการแสดงพระองค์ของกษัตริย์ในฐานะ "พระจักรพรรดิ" เหนือพระเจ้าแผ่นดิน ห้องนี้จึงรวบรวมเรื่องราวการต่อสู้และอุปกรณ์ที่ใช้ทำสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยาล่ะ มีวีดีทัศน์จำลองการต่อสู้สมัยกรุงศรีที่น่าดูทีเดียวล่ะ เสียดายที่ดูได้นิดเดียวเพราะเค้าใกล้จะปิดแล้ว



จากนั้นก็เดินออกไปห้องต่อไป ห้องที่ ๙ แสดงความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ ผืนดินตามธรรมชาติไม่มีเส้นแบ่งใดมาขวางกั้นผู้คน แต่เส้นพรมแดนถูกสร้างมาเพื่อแบ่ง "เขา" สร้าง "เรา" และสร้าง "ชาติ" หาคำตอบกันได้ที่ห้องนี้





ห้องที่ ๑๐ เป็นห้องจัดแสดงกรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา เมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยาก็ได้มีการสร้างเมืองใหม่บนผืนดิน "บางกอก" โดยห้องนี้ได้จำลองแนวคิดและการสืบสานวัฒนธรรมจากเมืองเก่า ไอเดียการจัดแสดงเก๋ไก๋เชียวล่ะ เป็นบานประตูเปิดสู่อารยธรรม



ห้องที่ ๑๑ ชีวิตนอกกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ดักสัตว์หรือของเล่นในสมัยก่อนที่ทำด้วยไม้หรือกะลามะพร้าว เข้าใจทำชะมัด



ห้องที่ ๑๒ แปลงโฉมสยามประเทศ เป็นผลมาจากการติดต่อกับโลกตะวันออก ทำให้สยามจึงได้เปลี่ยนโฉมให้เข้ากับวิถีที่เปลี่ยนแปลงไป สยามจึงนำสมัยขึ้นล่ะ






ห้องนี้มีชุดสมัยเก่าให้ใส่ถ่ายรูปด้วยล่ะ เป็นที่สนุกไปเลยเรา ชอบอยู่ล่ะเรื่องถ่ายรูปอ่ะ ว่าแต่คนสมัยก่อนเค้าไม่คันกันบ้างเหรอเนี่ย ผ้าลูกไม้แข็งคันจะแย่ ขืนให้ใส่เดินแบบนี้ทั้งวันกลายเป็นลิงแน่ๆ เลยช้าน อ้อลืมบอกไปห้องนี้มีตู่ไปรณีย์ตู้แรกของสยามด้วยล่ะ ดูคลาสสิกชะมัด

ห้องต่อไปเป็นห้องที่ ๑๔ สีสันตะวันตก แสดงความมีชีวิตชีวาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เศรษฐกิจรุ่งเรืองผู้คนแจ่มใส เสียงเพลงสนุกสนานกล่อมให้ผู้คนลืมความเจ็บปวดในอดีต ประเทศไทยก็เปิดรับวัฒนธรรมอเมริกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พอมาห้องนี้ทำให้รู้สึกว่าช่วงนี้เป็นช่วงสนุกสนานของยุคเลยล่ะ มีสิ่งแปลกใหม่เข้ามามากขึ้นผู้คนตอบรับกระแสแห่งสีสันนี้มากๆ อ่ะ






และห้องสุดท้าย ห้องที่ ๑๕ เมืองไทยวันนี้ จัดแสดงเกี่ยวกับสิ่งใดบ้างที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นดีเอ็นเอของความเป็นไทย ซึ่งห้องนี้มืดมากมิอาจถ่ายรูปมาให้เพื่อนๆ ได้ชมกันได้ ประกอบกับเวลาจำกัดสุดๆ เลยต้องรีบออกมา จริงๆ แล้วยังมีอีกสองห้องที่เรายังไม่ได้ดูคือ ห้องที่ ๑๖ มองไปข้างหน้า เป็นห้องที่จะบอกว่า "วันพรุ่งนี้ของประเทศไทยจะเป็นเช่นไร คนรุ่นปัจจุบันเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้" และห้องที่ ๑๗ ตึกเก่าเล่าเรื่อง เป็นประวัติความเป็นมาของตึกมิวเซียมสยามแห่งนี้ล่ะ เอาเป็นว่าเดี๋ยวมาใหม่มาตั้งแต่เช้ากันเลย ที่นี่เปิดบริการวันอังคาร - วันอาทิตย์ โดยเปิดตั้งแต่ ๑๐.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. ล่ะ





ด้านหน้าของที่นี่มีวัตถุทรงแปลกๆ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหมายความว่ายังไง ถามเพื่อนที่เป็นแนวอาร์ตหน่อย มันก็อธิบายมาซะยาว แล้วก็ถามมันปิดท้ายว่า "นี่มั่วหรือรู้ความหมายของกันแน่" เพื่อนก็ตอบว่า "ไม่รู้เหมือนกัน" เออขอบใจ และหากคราวหน้าได้ไปพิพิธภัณฑ์บางกอกจะเอามารีวิวให้ฟังกันใหม่นะคะ .. ขอบคุณเพื่อนๆ ที่แวะมาอ่านค่ะ

ขอต่ออีกนิด .. ลืมบอกไปว่าเค้ามีขายที่ระลึกด้วยค่ะ มีทั้งของเล่นพื้นบ้าน ของใช้ และของที่ระลึก น่าสนใจทีเดียว มีสบู่แยกตามธาตุด้วยล่ะ ยังกะอวาตาร์ที่โฆษณาเลย และมีเครื่องหยอดเหรียญที่ระลึกด้วยล่ะ





Photo and Story By
Patthanid C.
www.patthanid.bloggang.com
Facebook : Patthanid FC



Create Date : 12 พฤษภาคม 2552
Last Update : 4 กันยายน 2558 16:33:03 น. 6 comments
Counter : 2975 Pageviews.  
 
 
 
 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...
 
 

โดย: baareeraa วันที่: 12 พฤษภาคม 2552 เวลา:12:22:40 น.  

 
 
 
ไปมาเหมือนกัน แต่ยังนึกอยู่ว่าอยากไปอีกและไปอีก :-)

//www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E6856079/E6856079.html

............

ขออนุญาตฝากข่าวกิจกรรมดีๆ....สนับสนุนไทยเที่ยวไทยมาฝากค่ะ

SCB ชวนคนไทยเที่ยวเมืองไทย
ขอเชิญคุณร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เป็นรูปถ่ายและเรื่องราวสั้นๆ ในหัวข้อ

"Once in your life...
ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ไหนที่คุณอยากให้คนไทยได้ไปเที่ยว?"

ลุ้นรางวัลแพคเกจหลากรส หลายรางวัล มูลค่ากว่า 80,000 บาท
ที่ //www.scb.co.th/travel.html

วันนี้ ถึง 30 มิถุนายน นี้ค่า

ว่างๆ เชิญมาร่วมสนุกกันนะคะ นอกเหนือจากรางวัลฮิปๆ ก็คือเราช่วยกันสนับสนุนไทยเที่ยวไทย ชุบชีวิตเศรษฐกิจไทยด้วยกันนะคะ :-)
 
 

โดย: Pen (จันทร์เพ็ญ จันทนา ) วันที่: 12 พฤษภาคม 2552 เวลา:17:51:23 น.  

 
 
 
ไม่เคยมาที่นี่เลย น่าสนใจมากค่ะ
 
 

โดย: nathanon วันที่: 13 พฤษภาคม 2552 เวลา:3:40:29 น.  

 
 
 
น่าไปมากๆ ว่างๆจะไปดูเหมือนกัน
 
 

โดย: ชิต IP: 125.26.27.147 วันที่: 13 พฤษภาคม 2552 เวลา:16:13:06 น.  

 
 
 
ขอตามไปเที่ยวด้วยคนค่ะ ยังไม่เคยไปเลย
 
 

โดย: ด.ญ คณิตกร วันที่: 18 พฤษภาคม 2552 เวลา:22:58:40 น.  

 
 
 
ยังม่ายเคยไปเหมือนกันอ่ะ อย่างงี้ต้องลอง...
 
 

โดย: tukatakitty IP: 58.8.63.2 วันที่: 4 มิถุนายน 2552 เวลา:18:11:37 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

patthanid
 
Location :
ราชบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 47 คน [?]




: การท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ
: คืออีกก้าวของประสบการณ์
: ทุกๆ ก้าวที่ก้าวเดิน
: มีจุดหมายที่อยากสัมผัส
: โลกใบกลมๆ ใบนี้

ติดต่อผู้เขียน
Email :: patthanids@hotmail.com
Line :: @atourthai
Facebook :: Patthanid Cheang
Fanpage :: โสดเที่ยวสนุก

สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539 ห้ามผู้ใดละเมิดโดยนำภาพถ่าย
รูปภาพ, บทความ งานเขียนต่างๆ รวมถึง
ข้อความต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมดของข้อความใน Blog แห่งนี้
ไปใช้ทั้งโดยเผยแพร่ไม่ว่าเป็นการส่วนตัว
หรือเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็น
ลายลักษณ์อักษร มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดี
ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด
New Comments
[Add patthanid's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com