มกราคม 2553

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระธุดงค์
ไปเสิร์ชเจอบล๊อกเกี่ยวกับเรื่อง "ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระธุดงค์" อ่านแล้วเข้าที เลยขอนำมาเก็บรวบรวมไว้ที่นี่ให้เป็นซีรีส์เดียวกับหัวข้อธุดงค์ นี้เลยค่ะ

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระธุดงค์ตอนที่ ๑
posted on 03 Jul 2009 16:25 by akkarakitt in Dharma


เมื่อกล่าวถึงพระป่า หรือพระธุดงค์ แวบแรกทุกคนคงต้องคิดจินตนาการไปเหมือน ๆ กันว่า คงเป็นพระห่มจีวรสีเข้ม ๆ สีน้ำตาลไหม้ หรือที่ภาษาพระเรียกกันว่า สีกรัก สะพายย่ามใหญ่ ๆ ที่มีบาตรอยู่ข้างใน แบกกลด ที่ดูเหมือนร่มไว้บนบ่า แล้วออกเดินเท้าไปตามป่าตามเขา หรือสถานที่ต่าง ๆ ใส่รองเท้าบ้าง ไม่ใส่บ้าง น้อยคนนักที่จักทราบว่า คำว่า "พระธุดงค์" มิได้หมายความเช่นนั้นเลย

พอดีกำลังทำแนวข้อสอบนักธรรมโท ซึ่งสอบผ่านไปเมื่อปีที่แล้ว ไว้สำหรับรุ่นน้อง จักได้เรียน และสอบผ่านได้โดยสะดวกขึ้น อ่านไปเจอเรื่อง ธุดงควัตร โอ... สมัยก่อนข้าพเจ้าก็เข้าใจผิดไปไกลโขเหมือนกัน ก็เลยยกขึ้นมาแบ่งปัน

เรื่องธุดงควัตรมี ๑๓ ข้อ เป็นอุบายวิธีเครื่องขัดเกลากิเลส ให้เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เพื่อความผ่องใสของศีล ถูกทูลเสนอโดยพระมหากัสสปะ มิได้เป็นข้อบังคับให้ต้องปฏิบัติตามเหมือนพระวินัย คือ ใครใคร่ปฏิบัติ ก็ให้เปล่งวาจากล่าวคำสมาทาน หรืออธิษฐานใจเอา มิได้เกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก หรือ การเดินป่าแต่อย่างใด ที่สำคัญแม้อยู่กับที่ ไม่ได้ออกเดินเท้าไปในที่ต่าง ๆ ก็เป็นพระธุดงค์ได้ ครับ การสมาทาน ก็สมาทานเป็นข้อ ๆ ไป (สมาทานข้อเดียว ก็เรียกว่า ถือธุดงค์แล้ว ครับ พระมหากัสสปะผู้เสนอ ยังถือแค่ ๓ ข้อแรกเอง) หรือจักสมาทานทั้ง ๑๓ ข้อเลยก็ได้ ธุดงควัตร ๑๓ ข้อ มีดังนี้

๑. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

ผ้าบังสุกุล แปลว่า ผ้าเปื้อนฝุ่น มีคนไม่น้อยเข้าใจว่า ผ้าบังสุกุล เขียนว่า ผ้าบังสกุล (กระทั่งพระบวชมาตั้งสองพรรษาแล้ว ยังเข้าใจว่า เป็นผ้าบังสกุล อยู่เลย) ก็ขอให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ ที่ถูกต้อง คือ ผ้าบังสุกุล ครับ

สมัยก่อนผ้าหายาก และมีราคาแพง เหล่าพระภิกษุจักทำจีวรกันที ก็ต้องไปหาเศษผ้าที่เข้าทิ้งไว้ตามกองขยะ หรือผ้าห่อศพ มาซักทำความสะอาด แล้วเย็บเป็นจีวร ผ้าเหล่านี้แล ที่เรียกว่า ผ้าบังสุกุล ดังนั้น จีวรจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ของสมณะ มีพระวินัยกำหนดเรื่องจีวรไว้อย่างละเอียด

ภิกษุเห็นโทษของผ้าจีวรที่คฤหบดีถวาย แลเห็นประโยชน์ของการถือผ้าบังสุกุล ทำให้ปราศจากความกังวลในการแสวงหา เป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ชาวบ้าน ต่อการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "คหปติจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดคฤหบดีจีวรเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

ซึ่งก็หมายถึง พระภิกษุที่สมาทานธุดงควัตรข้อนี้ จักไม่รับผ้าจีวรที่ญาติโยมถวายไว้นุ่งห่ม (อาจจักรับไว้ เพื่อรักษากำลังใจ แต่มิได้ใช้ ส่งต่อให้พระภิกษุที่มิได้สมาทานธุดงควัตรข้อนี้ใช้แทน) แต่จักตัดเย็บย้อมขึ้นเอง ข้าพเจ้าเองสมัยที่บวชครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็มีประสบการณ์เรื่องนี้ ครับ เจ้าอาวาสท่านศรัทธาสายหลวงพ่อชา เวลาเดินธุดงค์ ก็เอาแนวปฏิบัติของหลวงพ่อชา เป็นหลัก ท่านอุตส่าห์เย็บจีวรให้ข้าพเจ้าด้วยมือท่านเอง สมัยนั้นก็ยังเป็นเด็ก ไม่ประสีประสาหรอกว่า ที่ครูบาอาจารย์อุตส่าห์เย็บจีวรให้ เป็นพระคุณขนาดไหน จำได้ว่าผ้าที่ใช้ทำจีวร เป็นผ้าดิบ ค่อนข้างหนา ท่านเย็บให้เสร็จแล้ว ก็นำมาต้มย้อมในปี๊บกันเองกับน้องชาย เป็นที่สนุกสนาน

สมัยปัจจุบันผ้าหาง่ายขึ้น และมีราคาถูกลง ความกังวลในเรื่องการแสวงหาจีวรไม่ใคร่มีแล้ว จึงเห็นพระสมาทานธุดงค์ข้อนี้น้อยลงมาก เห็นไหมว่า มิได้เกี่ยวกับสีจีวร หรือการเดินทางแต่อย่างใด

๒. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร

หมายถึง ถือครองผ้าเพียง ๓ ผืน สละการสะสมผ้าที่เกินความจำเป็น ภิกษุเห็นประโยชน์จากการใช้ไตรจีวรว่า ทำให้ท่องเที่ยวไปมาได้สะดวก ไม่เป็นภาระ เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "จตุตฺถจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดจีวรผืนที่ ๔ เสีย สมาทานองค์ของผู้ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร

ข้อนี้สมัยบวชครั้งแรก ก็เคยถือเหมือนกัน (เพราะมีผ้าอยู่แค่นั้น) สมัยนั้นสบาย ครับ เดินธุดงค์ไป ๗-๘ วัน ไม่ได้เจอแหล่งน้ำเลย หลวงพ่อท่านแนะว่า เมื่อสมาทานธุดงค์ (ข้อหลัง ๆ) แล้ว ไม่ให้ปักกลดใกล้เขตบ้านเรือน หรือวัด ต้องให้ห่างจากชุมชนประมาณ ๒๕ เส้น หรือ ๑ กม. ฉะนั้น เจอวัดจะเข้าไปปั้นจิ้มปั้นเจ๋อขอสรงน้ำ (อาบน้ำ) ไม่ได้ ต้องสรงน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติเท่านั้น ตอนนั้นก็เดินกันขาขวิดเลย กว่าจะเจอน้ำตก จีวรงี้เป็นคราบเกลือสม่ำเสมอทั้งผืน เจอน้ำตกแล้วเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น จำวัด (นอน) กับเสียงน้ำตก สบายแฮ

มาในการบวชครั้งนี้ ตอนพรรษาแรก ก็เอากะเขาเหมือนกัน เวลาอยู่ในอาวาสไม่ลำบากเท่าไหร่ ครับ แต่พอออกนอกสถานที่ ก็หืดขึ้นคอเหมือนกัน มีอยู่คราวหนึ่ง ไปปักกลดในเขตป่าใหม่ที่วัดท่าซุง แล้วฝนตก ตรงที่นอนเป็นแอ่งพอดี ข้าวของลอยน้ำเท้งเต้ง ย้ายที่แล้ว จีวรก็เปียก เอาไปซักก็แห้งไม่ทัน ก็จำวัด ไปทั้งที่เปียก ๆ อย่างนั้น เวลาซักผ้านุ่ง ก็เอาจีวรมานุ่งแทน เอาสังฆาฏิมาห่ม วุ่นวายดีแท้

เอาละวันนี้เอาแค่ ๒ ข้อก่อน เดี๋ยวจักหลับไปกันหมด ส่งท้ายนิดหนึ่ง พระเดินป่า เขาเรียกว่า เดินรุกขมูล ครับ ใช่ว่าพระใส่จีวรสีแปลกตา แบกบาตร แบกกลด จักเป็นพระธุดงค์กันไปเสียหมด

จบตอน ๑

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระธุดงค์ ตอนที่ ๒
posted on 04 Jul 2009 15:54 by akkarakitt in Dharma

มาว่ากันต่อไป ตอนที่แล้วแจงไป ๒ รายการละ ยังไม่มีข้อไหนเกี่ยวข้องกับป่าเลย ไปดูข้อสามกันต่อไป

๓. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
หมายถึง ภิกษุเว้นกิจนิมนต์เพื่อภัตตาหาร เห็นประโยชน์ของการเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพว่า ไม่มีความยุ่งยากในการตระเตรียม ไม่ละโมบในอาหารที่มีรสอร่อย และไม่ยึดติดกับปัจจัยที่ได้มา เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ, ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดอดิเรกลาภเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร

ข้อนี้เห็นวัตรปฏิบัติกันหลากรูปแบบ แต่ที่เห็นเหมือน ๆ กัน คือ เวลาเดินธุดงค์ (หมายถึง เดินทางไป ถือวัตรธุดงค์ไปด้วย) จักไม่รับเงินรับทอง หลวงพ่อพระราชพรหมยานสั่งไว้เลยว่า พระเดินธุดงค์ หากรับเงินรับทอง ถือว่า ธุดงค์หลอกลวงชาวบ้าน สายหลวงพ่อชา ก็ไม่ให้รับเงิน และส่วนใหญ่ แค่สตางค์แดงเดียว รับแล้วเป็นได้เรื่อง คืนนั้นไม่ต้องนอน มดขึ้นกลด กวนกันทั้งคืนทีเดียว

เรื่องบิณฑบาตเป็นวัตรนี่ เวลาเข้าป่าลึก ไม่มีบ้านคน พระธุดงค์เขาก็ไปบิณฑบาตกับต้นไม้กัน ครับ ส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้ขาดบิณฑบาต อีกส่วนหนึ่ง คือ การบิณฑบาตกับเทวดา มี ๒ แบบ

แบบหนึ่ง เจริญเมตตาอัปปมัญญาสมาบัติ (คือแผ่เมตตาทั่วไปในจักรวาล โดยไม่จำเพาะเจาะจง) ให้อารมณ์คงที่ตลอดสามวัน วันที่สามให้ตั้งใจกำหนดว่า จักเดินบิณฑบาตจากต้นไม้ต้นนี้ ไปต้นโน้น หากผู้ใดประสงค์จักใส่บาตร จงมาใส่ หาไม่แล้วจักอยู่ด้วยธรรมปีติ

หลวงพ่อเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การบิณฑบาตแบบนี้ว่า มีเด็กชาวป่าแต่งตัวมอมแมม โผล่มาจากไหนก็ไม่ทราบ มาใส่บาตร แต่อย่าได้ไปถามเชียวว่า หนูมาจากไหน หรือบ้านหนูอยู่ไหน เป็นได้อดข้าวแบบไม่มีกำหนด ข้อสังเกตของเทวดาจำแลงพวกนี้ เขาทั้งหลายจักไม่กระพริบตา และข้าวที่ได้ จักมีสีเหลืองน้อย ๆ มีดอกไม้ดอกหนึ่ง และข้าวมีรสหวานหน่อย ๆ ปริมาณสักทัพพีหนึ่ง แต่ฉันแล้วอิ่มไปทั้งวัน

อีกแบบหนึ่ง ให้นำบาตรไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ และเจาะจงแผ่เมตตาให้กับรุกขเทวดา ที่มีวิมานอยู่บนต้นไม้ต้นนั้น พอมีเสียงคล้ายฝาบาตรหล่น ก็ใช้ได้

ทั้งสองวิธี เห็นมีแต่ท่านที่ปฏิบัติได้ขั้นเทพทั้งนั้นที่ทำได้ คือ อย่างน้อย ๆ ต้องได้สมาบัติ ๘ เป็นอย่างต่ำ (ส่วนใหญ่ต้องเป็นพระที่ได้อภิญญา ถึงจะทำได้) และต้องทำให้ถูกวิธี หลวงพี่เล็กเคยแนะไว้ว่า อย่าได้ไปอาจหาญอธิษฐานว่า หากไม่ได้อาหาร ข้าพเจ้าจักยอมอดตาย อย่างนี้ เทวดาเขาจักลองใจว่า จักถือสัจจวาจาได้จิงป่าว เป็นได้ตายกันจริง ๆ ไม่มีโอกาสได้เห็นข้าวเทวดา

เท่าที่ได้ไปสังเกตพระที่ออกป่าจริง ๆ ไปทดลองวิชากัน เห็นหน้าแห้งกลับมาทุกราย เลยยังไม่เคยเห็นข้าวเทวดาจะจะกับตาตัวเอง ใครอยากทดลอง ขอให้รีบมาบวช แล้วเข้าป่าทดสอบกัน อย่าเพิ่งปรามาสว่าจักมิใช่เรื่องจริง เกิดจริงขึ้นมา จักเป็นโทษมิใช่น้อย

ข้อนี้ก็อีกเช่นกัน อยู่วัดก็ถือได้ ครับ ก็แค่เดินบิณฑบาตเป็นวัตร แล้วก็งดรับกิจนิมนต์

๔. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร
คือ บิณฑบาตไปตามลำดับตั้งแต่บ้านหลังแรกไป มิใช่บิณฑบาตหลังหนึ่ง แล้วเว้นไปสามหลัง เพราะรู้ว่า สามหลังที่ว่า ทำอาหารไม่อร่อย ด้วยเห็นประโยชน์ว่า สามารถโปรดสรรพสัตว์ให้สม่ำเสมอกัน มิได้เลือกชนชั้นวรรณะ เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "โลลุปฺปจารํ ปฏิกฺขิปามิ, สปทานจาริกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดการเที่ยวบิณฑบาตข้ามลำดับเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการเที่ยวไปตามลำดับบ้านเป็นวัตร

ข้อนี้ชัดเจน คงไม่ต้องอธิบาย ไม่ต้องเดินป่าก็ถือได้อีกแล้ว ครับ

๕. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร
หมายถึง ภิกษุเว้นการฉันอาหารในที่สองแห่ง เว้นการฉันบ่อย ๆ ฉันแต่พอดี ๆ ไม่มากไม่น้อยเกินไป มีหลักปฏิบัติ คือ เมื่อฉันเสร็จลุกจากที่แล้ว จักไม่กลับมานั่งฉันอีก เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดการฉันในสถานที่แห่งที่สองเสีย สมาทานองค์ของผู้ฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร

ข้อนี้อาจจักเคยได้ยินที่เขาว่า "ฉันเอกา" หรือ ฉันมื้อเดียว พระธรรมยุตินิกาย หรือพระป่าบางรูป ก็ถือฉันกันเป็นปกติ ไม่ว่าอยู่ป่า หรืออยู่วัด ตอนไปเดินธุดงค์เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตามแบบสายหลวงพ่อชา ฉันเช้าเสร็จแล้วล้างบาตรเลย ไม่มีการเก็บอาหารไว้ฉันมื้อเพลต่อ ส่วนใหญ่พระที่เดินธุดงค์ก็ทำเช่นนั้น เพราะเป็นการตัดกังวล ไม่อย่างนั้น คงต้องกระเตงข้าวใส่บาตรไปด้วย เป็นภาระ และอาจหกเลอะเทอะระหว่างทางได้อีกด้วย ฉันเสร็จแล้ว ก็เดินไปเรื่อย ๆ จนพระอาทิตย์ใกล้ตก ก็แวะปักกลดตรงที่ที่คิดว่าเหมาะสม เวลาปักกลดนี่ต้องเล็งดูให้ดีนะ ครับ ปักแล้วห้ามถอน เป็นการถือสัจจะอย่างหนึ่ง

ตอนนั้นกลับมาจากธุดงค์ผอมกะหร่องเป็นนายแบบเลย แต่รู้สึกแข็งแรงมาก ใครอยากผอมแบบประหยัด ก็มาทดลองกันได้ ครับ

ข้อนี้ฆราวาสก็นำไปเป็นหลักปฏิบัติได้ ครับ เป็นการลดความอ้วนไปในตัว คือ กินอาหารแต่ละมื้อแล้ว ระหว่างมื้อไม่ไปกินอาหารจุบจิบ ประหยัดค่าขนมเดือนหนึ่งไม่น้อย

ผ่านมา ๕ ข้อแล้ว ยังไม่มีข้อใด เกี่ยวข้องกับการเดินป่าเลย ล้วนแล้วแต่ทำที่วัดได้ทั้งสิ้น ครับ ฉะนั้นบางทีอาจจักมีพระธุดงค์จำวัดอยู่ใกล้ ๆ บ้านท่านก็เป็นได้ และพระที่ท่านเข้าใจว่า เป็นพระธุดงค์ ก็อาจจะไม่ใช่พระธุดงค์อย่างที่เข้าใจ หากท่านเหล่านั้นยังรับเงินรับทองอยู่ หลวงพ่อเรียกพระเหล่านี้ว่า "พระเดินดง" ครับ มิใช่พระธุดงค์

ข้อสังเกต วัตรธุดงค์ทั้งหลาย หากไปเดินป่าเสีย ก็จักรักษาได้ทั้งหมดอย่างง่ายดาย โดยอัตโนมัติ ครับ ฉะนั้น อาจสรุปได้ว่า พระเดินป่า อาจถือธุดงค์เป็นส่วนใหญ่ แต่พระถือธุดงค์ อาจไม่ได้อยู่ในป่า งงแมะ?

จบตอน ๒

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระธุดงค์ ตอนที่ ๓
posted on 06 Jul 2009 08:50 by akkarakitt in Dharma

มาทำความเข้าใจกับพระธุดงค์กันต่อไป ครับ หลังจากแวะออกนอกเรื่องไปเขียน tribute ให้ราชาเพลงป็อปเสียหนึ่งเอ็นทรี่ ว่าจักเขียนตั้งแต่วันแรกที่ทราบข่าวการเสียชีวิตแล้ว แต่เผอิญเป็นพระ ครับ เรื่องสรรเสริญเยินยอ ขอให้เป็นเรื่องของฆราวาสเขาดีกว่า ถ้ามันโยงเข้าธรรมะไม่ได้ ก็ไม่ค่อยอยากเขียน

มีคำร่ำลือหนาหูมานานแล้ว ครับว่า พระธุดงค์ให้หวยแม่น เป็นความเข้าใจผิดอย่างแรงกล้า ครับ กลไกการใบ้หวย ไม่อยู่ในสารบบของพระธุดงค์ ที่เขาถูกหวย เขาไปถูกกันเอง ครับ พวกบ้าหวย อ่านไว้ให้ดี ๆ การถูกหวย ส่วนใหญ่เกิดจากการทำบุญโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ประเภทเจอปุ๊บทำปั๊บ ไม่มีความลังเล อย่างมีอยู่คราวหนึ่ง เดิน ๆ กระมิดกระเมี้ยนอยู่แถวเสาชิงช้า รี ๆ รอ ๆ จักขึ้นรถเมล์หรือแท็กซี่ดี (วันนั้นแถวนั้นแท็กซี่ก็ไม่ค่อยมี) มีแท็กซี่อยู่คัน เลี้ยวกลับรถมาจากฝั่งโน้น ทั้งที่ไม่ได้เรียก ถามหลวงพี่ไปไหน แล้วก็พาไปส่งถึงที่ ไม่คิดตังค์ บอกผมอยากทำบุญ ถามดูก็ได้ความว่า เขาถูกหวยบ่อย ๆ เช่นนี้เป็นต้น หรืออย่างขับรถกระบะ (ขอเน้นว่า กระบะนะ ถ้าเป็นผู้หญิง รถเก๋งอันตรายเกินไป เดี๋ยวนี้มิจฉาชีพเยอะ) ไปตามต่างจังหวัด เห็นพระเดินเท้ามาเหงื่อซก ก็แวะไถ่ถาม ท่านจักไปไหนหรือ? ไม่เดือดร้อนเกินไป ก็ชวนท่านโดยสารไปด้วย อย่างนี้ก็ใช้ได้

เคยนั่งฟังประสบการณ์ของพวกที่ได้หวยจากพระธุดงค์ ส่วนใหญ่เขาไปแคะแกะเกาได้กันเอง ครับ พระธุดงค์ไม่ได้เกี่ยวข้องกระไรด้วยเลย เช่น มีคราวหนึ่ง พอออกเดินไปแล้ว ญาติโยมก็ตามมานับจำนวนธูปที่จุดบูชาพระเมื่อคืน หรือสนทนาธรรมประเภทขอหวย เว้ากันซื่อ ๆ หลวงพ่อก็ปฏิเสธไป บอกจักมาเอาอะไรกับพระ พระก็มีแต่ให้ศีล ๕ ศีล ๘ ป๊าบ... งวดนั้นออก ๕๘ เฉยเลย ฉะนั้นเรื่องคนถูกหวยนี่ ส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะบุญของเขาสั่งสมมาเองนั่นแล พระไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรด้วย

ส่วนพระที่เจอหน้าปุ๊บใบ้หวยแหลกลาญ ขอให้พึงตั้งข้อสังเกตไว้ ครับ ข้าพเจ้าไปกราบพระอาจารย์มาหลายที่ พบพระอริยะก็บ่อย ถ้าไปกราบที่ไหนแล้วท่านใบ้หวย ความศรัทธาของข้าพเจ้าจักลดลงไปกว่าครึ่ง
เอ้า... นอกเรื่องอีกละ ไปว่ากันต่อ ครับ

๖. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร
หมายถึง ภิกษุเมื่อรับอาหารบิณฑบาต ก็รับพอประมาณ ไม่รับมากเกินขีดจำกัด เวลาฉันก็ฉันในบาตร เห็นโทษของการรับ และการฉันมาก ว่าก่อให้เกิดความอึดอัด ถูกความง่วงครอบงำ เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้แล้ว จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ปตฺตปิณฑิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดภาชนะที่สองเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการฉัน เฉพาะในบาตรเป็นวัตร

ข้อนี้ ก็ไม่เกี่ยวกระไรกับการเดินป่าอีกเช่นกัน แต่ถ้าได้เดินป่า ก็ต้องฉันในบาตรไปโดยปริยาย เพราะคงไม่มีพระเดินป่าที่ไหนพกจานชามไปด้วย บาตรจึงเป็นสิ่งวิเศษล้ำค่าสำหรับพระ เรียกได้ว่า มีบาตรใบเดียว เที่ยวได้ทั่วไทย ครับ หรือใครอยากโกอินเตอร์ ก็เดินไปบิณฑบาตในประเทศเพื่อนบ้านได้ ถ้าไปแถวชายแดนเขมร ก็ระวังระเบิดหน่อยก็แล้วกัน

สายหลวงพ่อชา และสายพระป่าบางสาย เพิ่มวัตรข้อนี้ให้เข้มข้น ด้วยการเทกับข้าวคาวหวานผสมกันลงในบาตร แล้วค่อยฉัน เพื่อไม่ให้ติดในรส ปฏิบัติแรก ๆ ก็สยึ๋มกึ๋ยดีแท้ ครับ ทำไปนาน ๆ ก็ชิน ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ก็จักเห็นว่า อาหารนี่ขอให้เคี้ยว ๆ กลืน ๆ เพื่อประทังหิวได้ ก็เพียงพอ ครับ รสชาติกลิ่นสีสันนั่นเป็นส่วนเกิน แล้วคนเราก็ไปบ้าเสียเงินเสียทองตั้งมากมาย เพื่อไปนั่งกินในร้านอาหารหรู ๆ บรรยากาศดี ๆ รสชาติสุดบรรเจิด ก็เพื่อสนองกิเลสตัณหาเท่านั้น หาสาระกระไรมิได้

(ซึ่งข้าพเจ้าสมัยเป็นฆราวาสก็ชอบไปทำกระไรไร้สาระประเภทนี้นี่แหละ ไปนั่งดริ๊งค์จิบค็อกเทลเย็น ๆ ที่ซีร็อคโค กับหอยนางรมนิวซีแลนด์อบชีส ราคามหาโหด บนดาดฟ้าตึกสเตททาวเวอร์บ้าง ซีฟู๊ดบุฟเฟ่ต์ตามโรงแรมบ้าง อาหารญี่ปุ่นประเภทเนื้อโกเบกระทะร้อนบ้าง หนักสุด ก็ขับรถไปอยุธยาเพื่อไปกินกุ้งแม่น้ำเผาเป็น ๆ ครับ ค่าน้ำมันแพงกว่าค่ากุ้งอีก ได้ปาณาติบาตเป็นของแถมกลับบ้านอีกต่างหาก เฮ้อ... กิเลสคนเรานี่หนอ สรุปกินแล้วก็ออกมาเป็นขี้เหม็น ๆ เหมือนกันหมดนั่นแล)

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตอันนำมาถวายภายหลังเป็นวัตร
หมายถึง เมื่อเริ่มฉันแล้ว ใครจักนำกระไร น่าอร่อยแค่ไหนมาถวายอีก ก็ไม่รับ หรือรับไว้ แล้วส่งให้ภิกษุรูปอื่นฉันแทน เห็นประโยชน์ของการไม่ตกเป็นทาสของตัณหา เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดโภชนะอันเหลือเฟือเสีย สมาทานองค์ของผู้ห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลงลงมือฉันเป็นวัตร

เรื่องเกี่ยวกับวัตรที่เคร่งครัดนี่ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เหนื่อยเหมือนกัน ครับ ทำไปเป็นปีเป็นชาติก็ไม่เห็นผลกระไร แต่ถ้าประกอบด้วยปัญญาสักนิด การปฏิบัติจักพัฒนาอย่างรวดเร็ว การปฏิบัติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา คือ ถือเอามาปฏิบัติแต่รูปแบบ มิได้พิจารณาว่า ทำไปเพื่ออะไร ทำไปเพื่อให้ดูขลัง

ญาติโยมตื่นเต้นศรัทธา ไม่เคยเห็นพระฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร หลวงพ่อพระราชพรหมยานเคยเล่าถึงการปฏิบัติของท่านว่า ท่านเคยลองมาหมด ฉันเอกา ฉันเจ ฉันในบาตร เป็นปี ๆ ไม่เห็นมันบรรลุตรงไหน กิเลสเต็มใจเท่าเดิม สุดท้ายมาพบว่า เขาปฏิบัติกันที่ใจ ครับ รูปแบบภายนอกเป็นเพียงเปลือก ถ้าเปลือกดีข้างในเน่า ก็ใช้ไม่ได้ ครับ เช่น ทำตัวเคร่งเพื่อให้ญาติโยมมายอมรับนับถือ อย่างนั้นไม่ต้องเคร่ง ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จักดีกว่า ครับ

พระบางรูปเปลือกเน่า แต่ข้างในแจ่ม อย่างนี้น่านับถือ ครับ เช่น หลวงปู่เจี๊ยะ ปฏิปทาท่านดูเผิน ๆ เหมือนพระนักเลง เวิ๊ก ๆ ว๊าก ๆ ประหยัด มัธยัสถ์อย่างมาก จนคนแถวนั้นเข้าใจว่า ท่านขี้เหนียว วันดีคืนดี ท่านก็นำปัจจัยทั้งหมดที่มี สร้างเจดีย์บรรจุฟันของหลวงปู่มั่น เป็นอาจาริยบูชา โดยมิได้บอกบุญใครเลย ใครเคยปรามาสท่านไว้อึ้งกันเป็นแถบ ๆ

เอาละครับ ว่ากันมาเกินครึ่งทางแล้ว ยังไม่มีวัตรปฏิบัติข้อใด เกี่ยวข้องกับการเดินป่าเลย เราคงต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า "พระธุดงค์" กันใหม่เสียแล้ว อ้อ... เตือนไว้สักนิด ครับ เคยมีญาติโยมมาเล่าให้ฟังว่า เจอพระธุดงค์โบกรถ หากว่ากันตามสายหลวงพ่อชาแล้ว ท่านไม่อนุญาตให้เหยียบยานพาหนะเลย ครับ อย่าว่าแต่ขอโดยสาร ขึ้นยานพาหนะไม่ว่าจักเป็นรถ หรือมอเตอร์ไซด์เมื่อไหร่ ถือว่า ขาดจากการธุดงค์ โยมท่านนั้น (เป็นผู้หญิง) เล่าอีกว่า ให้โดยสารแล้วยังไม่พอ ให้พาไปส่งในที่เปลี่ยว ๆ แล้วขอตังค์ติดกระเป๋า ๔๐๐ บาท อีกต่างหาก โหย... ข้าพเจ้าฟังแล้วเสียวแทน นาทีนั้นเขาขอเท่าไหร่ก็ให้เขาไปเถอะ ครับ มีชีวิตรอดกลับมาได้ก็บุญแล้ว ฉะนั้นคิดจักทำบุญก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ครับ มีการใคร่ครวญพินิจพิจารณาว่า อย่างใดเหมาะสม จริยาของพระเป็นอย่างไร เรามีความปลอดภัยแค่ไหน มิใช่เห็นว่า เป็นผ้าเหลืองแล้วก็ไว้ใจท่านง่าย ๆ พระดี ๆ มีเยอะ ครับ แต่ฆราวาสที่เป็นมิจฉาชีพ ปลอมห่มผ้าเหลืองก็มาก ฉะนั้น พึงทำบุญด้วยความไม่ประมาท ครับ

จบตอน ๓

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระธุดงค์ ตอนที่ ๔
posted on 09 Jul 2009 12:28 by akkarakitt in Dharma

มาว่าเรื่องของพระธุดงค์กันต่อไป หลังจากหนีไปอัพเอ็นทรี่เรียกเรทติ้งเสียหลายเพลา ว่ามาได้ ๗ ข้อละ เป็นเรื่องของจีวร กับบิณฑบาต ส่วนต่อไปเป็นเรื่องของเสนาสนะ หรือที่พักอาศัย เอาละ คราวนี้ค่อยเกี่ยวกับป่า ๆ หน่อย ครับ

๘. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร
หมายถึง ภิกษุผู้ถือการอยู่นอกหมู่บ้าน ต้องเว้นระยะห่างไว้อย่างน้อย ๔๐๐ เส้น หรือ ๑ กม. เพราะเห็นโทษของการอยู่ในที่อันพลุกพล่าน เห็นประโยชน์ของการอยู่ในที่อันสงัด ว่าเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ, อารญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดเสนาสนะชายบ้านเสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ป่าเป็นวัตร

ข้อนี้ละครับ ที่ทำให้คนทั้งหลายเข้าใจไปว่า พระธุดงค์ต้องอยู่ป่าเท่านั้น คงไม่ต้องอธิบาย ไปดูข้อต่อไปกันเลย

๙. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร
หมายถึง ภิกษุเว้นไม่อยู่อาศัยในที่มุงที่บัง เห็นประโยชน์ว่า เป็นอิสระจากงานก่อสร้าง ไม่มีความเดือดร้อนในการหาที่อยู่ เห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ, รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดที่อยู่อันมุงบังเสีย สมาทานองค์ของผู้ที่อยู่โคนไม้เป็นวัตร



ข้อนี้ก็ไม่มีกระไรยาก เห็นกันอยู่เป็นประจำว่า พระแบกกลดไปถึงไหน ก็ปักกลดนอนที่นั่น สังเกตนิดหนึ่ง ครับว่า ไม่มีธุดงควัตรข้อไหนระบุให้เดินไปเรื่อย ๆ สมัยก่อน ข้าพเจ้าก็คิดเข้าใจไปเองว่า พระธุดงค์ต้องเดินทางเท่านั้น เดินทางตลอดเวลา เดินไปเรื่อย ๆ อยู่กับที่ได้ไม่เกิน ๑-๒ วัน เพื่อไม่ให้ติดสถานที่ ความจริงแล้ว ท่านทั้งหลายออกเดินเพื่อหาที่สัปปายะ สงบ วิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร แล้วก็อาจปักกลดอยู่นานเป็นเดือนก็ได้ ครับ

แต่จากการที่ได้ไปทดลองเดินธุดงค์ สถานการณ์ในเมืองไทย ไม่เอื้ออำนวยให้ปักกลดอยู่นาน ๆ ครับ มิใช่เพราะไม่ปลอดภัยจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือสถานการณ์ก่อการร้ายภาคใต้หรอก แต่เป็นเพราะโยมที่เป็นญาติกับคุณเอ็ดดี้ ครูสอนคณิตศาสตร์ ครับ พอทราบว่า มีพระเดินธุดงค์มาปักกลดเมื่อไหร่ แทนที่จักกระตือรือร้นหาทางทำบุญ เหล่าญาติธรรมของคุณเอ็ดโด้ จักรีบคว้าเครื่องมือทางคณิตศาสตร์หลาย ๆ ตัว ไม่ว่าจักเป็นสูตรคูณ การแก้สมการเอ็กซ์โปเนนเชียล การถอดค่าสแควร์รูท แฟคโตเรี่ยล หรือการแปลงค่าลาปาซ หรือลาปาซทรานซ์ฟอร์ม พร้อมทั้งเครื่องมือขูดแคะแกะเกา ประเภทกระดาษทราย นิ้วชี้ ตะไบ และอื่น ๆ มาถูพระ ครับ เพื่อหาตัวเลขไปถอดสมการทางคณิตศาสตร์ สำหรับซื้อสลากกินไม่แบ่ง หรืออันเดอร์กราวด์ล็อตโต้

พระธุดงค์เลยอยู่นานไม่ได้ ครับ ถูกถูไถเข้าไปขนาดนั้น นานไปก็สึกสิ ครับ ไม่ใช่พระไททาเนี่ยม ฉะนั้นจึงมักไม่ค่อยเห็นท่านอยู่กับที่

ข้อนี้อย่าไปเข้าใจสับสน กับข้อเสนอของพระเทวทัตนะ ครับ พระเทวทัตเสนอข้อวัตรอันเคร่งครัด คือ บังคับให้พระทั้งหลายอยู่ป่าตลอดชีวิต ข้อเสนอนั้นมีวาระแอบแฝง ครับ คือรู้อยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าจักต้องปฏิเสธ จักได้ใช้เป็นข้ออ้างว่า พระบรมศาสดาลำเอียง เป็นผู้มักมาก ภิกษุทั้งหลายมาอยู่กับเรา พระเทวทัตผู้เคร่งครัด และมักน้อย กันดีกว่า

คราวนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตว่า ภิกษุใดใคร่อยู่ป่า ก็ให้อยู่ป่า ภิกษุใดใคร่อยู่เมือง ก็ให้อยู่เมือง ขืนพระองค์อนุญาตตามข้อเสนอของพระเทวทัต เวลาชาวบ้านจักทำบุญที คงต้องลำบากลำบนแบกข้าวปลาอาหารเข้าไปถวายในป่าโน่น

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร
ภิกษุเห็นประโยชน์ของการอยู่ในที่โล่งแจ้งว่า สามารถกำจัดความประมาท และความง่วงเหงาได้ ไปมาที่ไหน ก็สะดวกสบายไม่มีอะไรต้องห่วง เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ, อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดที่มุงที่บัง และโคนต้นไม้เสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นวัตร



ข้อนี้ไม่เคยปฏิบัติ ครับ เป็นพระพอนด์นูริชชิ่งโคตรไวทเทนนิ่งครีม ผิว (เหมือนจะ) เป็นโรคด่างขาว เม็ดสีน้อย ไม่อาจต้านทานสายลมแสงแดดนาน ๆ และยุงได้ ครับ

๑๑. โสสานิกังคะ ถืออยูป่าช้าเป็นวัตร
หมายถึง ภิกษุเมื่ออาศัยอยู่ในเสนาสนะอื่น อาจเกิดประมาท แต่เมื่ออาศัยในป่าช้า ย่อมได้มรณานุสสติ (ระลึกถึงความตาย) และอสุภนิมิตทั้งหลาย มีซากศพ เป็นต้น เป็นผู้คลายความยึดถือ และไม่มีความสะดุ้งกลัว ต่อสิ่งที่คนอื่นหวาดกลัว เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "อสุสานํ ปฏิกฺขิปามิ, โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดที่ที่มิใช่ป่าช้าเสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร

ที่วัดท่าซุง มีการปฏิบัติธรรมถือธุดงควัตรข้อนี้เหมือนกัน ท่านว่า ทุกที่ ทุกตารางมิลลิเมตรบนโลกใบนี้ ไม่มีที่ไหน ไม่มีคนตาย ครับ ดังนั้น ทุก ๆ ที่ ก็คือป่าช้า ความจริงก็พอถูไถไปได้ ครับ แต่เป้าประสงค์หลักของข้อนี้ ก็คือ การทำลายความกลัวในใจของเราเอง ครับ ธรรมดาคนเราก็ต้องคิดจินตนาการไปบ้างละ ครับว่า มีกระไรอยู่ในป่าช้า นอนคนเดียวด้วย

ข้อนี้สมัยบวชเมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยทดลองไปนอนอยู่สองสามคืน ก่อนออกธุดงค์จริง ครับ พบว่า ที่ป่าช้า (ต่างจังหวัด) สงบกว่าในวัดเสียอีก นั่งสมาธิกระไร ๆ ก็ดีไปหมด ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากครูบาอินสม สมัยที่บวชปัจจุบันนี้อีก ครับว่า ในป่าช้านั่น ไม่ค่อยมีผีหรอก ส่วนใหญ่เขาแค่เอากระดูกมาไว้เท่านั้น ผีจริง ๆ จักอยู่ตรงที่เขาตายนั่นแล แล้วก็พวกทางสามแพร่ง สี่แพร่ง

ข้าพเจ้าก็เกือบจะเชื่อ ครับ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นขึ้นในคืนนั้น ท่านเจ้าอาวาสให้ไปนอนในป่าช้า ทดสอบความกล้าหาญ

ช่วงหัวค่ำเหตุการณ์ก็ปกติ ครับ กางกลดแล้วก็สวดมนต์ เตรียมตัวจำวัด
พอตกดึก มีเสียงเหมือนคนเดินรอบกลด ครับ ไม่ใช่คนเดียวเสียด้วย
ข้าพเจ้าก็แข็งใจ ทำเป็นไม่ได้ยิน ไม่รู้ไม่ชี้
สักพักกลิ่นสาบก็โชยมาเตะจมูก
หัวใจเต้นระส่ำ แต่ก็ยังไม่กล้าลืมตา ครับ
นอนสวดมนต์ไปเรื่อย ๆ ตอนนั้นนึกคาถากระไรได้ ว่าไปให้หมด
สักพักเสียงเดินก็หยุด...
หยุดตรงด้านข้างกลด...
เสียงเหมือนคนล้มตัวลงนอน...
นอกจากเสียง และกลิ่นแล้ว คราวนี้มีสัมผัสด้วย
มีอะไรอุ่น ๆ มาสัมผัสข้าพเจ้า รู้สึกเหมือนเป็นเมือก ๆ เละ ๆ
แทบกรี๊ดวิ่งหนีออกนอกกลด ครับ เจอของจริงเข้าแล้วกรู
แข็งใจรวบรวมความกล้า ลืมตาขึ้นดู ครับ ผีก็ผีวะ
ปั๊ด... ไอ้ด่าง สุนัขขี้เรื้อนและพวกพ้อง
เจ้าของกลิ่นสาบ ล้มตัวลงนอนอยู่ข้างกลด!!!!
โธ่...วรนุช!!! ไม่น่ามาหลอกกันเลย!!!

จบตอน ๔

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระธุดงค์ ตอนที่ ๕ - ตอนจบ
posted on 10 Jul 2009 10:44 by akkarakitt in Dharma

มาจนถึงตอนอวสานจนได้ ครับ ว่ามาสี่ตอนแล้ว ครับ วันนี้จบแน่ ๆ
หลังจากพาไปทดสอบความกล้า ด้วยการนอนในป่าช้าเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ใจเราเองนั่นแล ที่หลอกตัวเอง และจังหวะที่คนเรากลัว จิตจักรวมได้ง่าย บางทีก็ตัดสินกันตอนนั้นเลย ครูบาอาจารย์หลายท่าน ก็ได้ธรรมตอนที่ตัดสินใจสละชีวิตนั่นแล ธุดงควัตรนี่พอข้อท้าย ๆ เริ่มโหดขึ้นทุกขณะจิต ครับ

๑๒. ยถาสันถติกังคะ ถือการอยู่ในเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) อันท่านจัดให้อย่างไร
หมายถึง ภิกษุกำจัดความปรารถนาในที่อยู่อาศัยที่ผู้อื่นโลภอยากได้ ไม่รู้สึกเดือดร้อน เมื่อถูกขอให้สละที่อยู่อาศัยให้ผู้อื่น เห็นโทษของความโลภในเสนาสนะ เห็นประโยชน์ของการอยู่อาศัยในเสนาสนะตามปกติที่เขาจัดให้ว่า เป็นการละทิ้งความสะดวกสบาย และอยู่ด้วยกรุณาจิตต่อผู้อื่น เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามี, ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดความอยากเอาแต่ใจ ในเสนาสนะเสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดสให้เป็นวัตร

ข้อนี้ไม่เคยปฏิบัติแฮะ กอดกุฏิแน่นเลย ไล่ก็ไม่ไป ... เอิ๊ก ไปดูข้อสุดท้ายสุดโหดกัน ครับ

๑๓. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร
หมายถึง ภิกษุเห็นโทษของการนอน แต่เห็นประโยชน์ของการนั่งว่า เป็นเหตุละความเกียจคร้านได้ บรรเทาความง่วงเหงาที่ครอบงำ เป็นอิริยาบถที่เหมาะแก่การเจริญสมาธิ เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ, เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดการนอนเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการนั่งเป็นวัตร

ข้อนี้เข้มข้นดี ครับ เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการทรมานตนมาแต่ไหน ๆ มีนะ ครับ ไม่ใช่ไม่มี ประเภทที่ทรมานร่างกายตัวเองแล้ว ได้ดิบได้ดี ภาวนาคล่องตัว อาจอนุมานได้ว่า เขาเคยปฏิบัติแนวนี้มาแต่ปางก่อน แต่สำหรับบางคน ปฏิบัติแล้ว ยิ่งแย่กว่าเดิม ภาวนาไม่ขึ้น อย่างนี้ก็ต้องเลิกไป ครับ

ต้องจำไว้เลยว่า ธุดงควัตร คือ "อุบาย" วิธีเครื่องขัดเกลากิเลส มิใช่เป็นทางพ้นทุกข์ ถ้าทรมานร่างกายตัวเองมาก ๆ แล้วบรรลุ พวกฤๅษีชีไพร บรรลุกันไปนานแล้ว ครับ

เนสัชชิฯ เป็นอุบายในการเร่งความเพียร สั่งสมบารมีให้เต็ม ครับ โดยเฉพาะสัจจบารมี ขันติบารมี และวิริยบารมี เคยพบพระที่ถือเนสัชชิมาหลายรูป บางรูปถือด้วยความงมงาย เอาไว้อวดว่า เขาถือเนสัชชิฯ เขาเก่ง ข้าพเจ้าเห็นพระเหล่านี้ ไม่เห็นคืบหน้าไปไหน ก็ไขว่คว้าหาแนวทางการปฏิบัติที่เคร่งครัดขึ้นไปอีก แล้วก็เห็นละได้แต่กิเลสจิ๊บกิเลสจ้อย แต่กิเลสมานะถืออัตตาตัวตน อันเป็นกิเลสตัวใหญ่ นับวันมีแต่พองขึ้น

ส่วนท่านที่ถือเนสัชชิฯ กันแบบเอาจริงเอาจัง บางทีไม่ทราบด้วยซ้ำว่า ท่านถือ เพราะท่านมิได้เอาไปคุยโอ้อวดใคร ต้องสังเกตเห็นเอง ท่านจึงบอก ท่านว่า ช่วงแรกทรมานมาก เหมือนร่ายกายจักแตกเป็นเสี่ยง ๆ พอผ่านได้ จักรู้สึกเบาสบาย ภาวนาง่ายขึ้นมาก และทำกระไรก็มักประสบความสำเร็จ

วิธีการ คือ เวลานอน ท่านใช้วิธีฟุบหน้าลงกับบาตรนอน ครับ หลังไม่ให้แตะพื้น แล้วอยากจักสมาทานนานสักเท่าไหร่ ก็สมาทานเอา ข้าพเจ้าเคยสมาทานถือ ๑ คืน ครับ มันก็เหมือนอดนอนธรรมดา ๆ นี่ละ แต่พอตอนกลางวัน สติขาดเมื่อไหร่ มันก็เผลอเอนตัวลงนอนด้วยความเคยชินทันที เป็นการฝึกสติที่ดี ครับ วัตรพวกนี้ ฆราวาสก็เอาไปทำได้ ครับ ช่วยเร่งความเพียร

สองข้อสุดท้ายนี่ ก็ไม่เกี่ยวกับการเดินทางเท้าเปล่า ถือกลด แบกบาตร เที่ยวเดินป่าไปแต่อย่างใด ทำที่วัด ที่บ้านได้อีกแล้ว ครับ

สรุปว่า การปฏิบัติใด ๆ ต้องประกอบด้วยสติ ประกอบด้วยปัญญา ครับ จึงจักเป็นพุทธะ หาไม่แล้วแนวปฏิบัติที่ยิ่งกว่านี้ ศาสนาอื่นเขาก็มีกัน ครับ ไม่เห็นเขาพ้นทุกข์แต่อย่างใด มาปฏิบัติธรรม ด้วยสติ ด้วยปัญญากันดีกว่า ครับ

อวสาน





Create Date : 19 มกราคม 2553
Last Update : 19 มกราคม 2553 16:39:22 น.
Counter : 17476 Pageviews.

8 comments
  
"..พี่น้องเอย..คันบ่ออกจากบ้าน..บ่ฮู้ฮ่อมทางเทียว..คันบ่เฮียนวิชา.กะบ่มีความฮู้..สิเป๋นครูกะต่ามถ่อน..แพทหรือหมอกะต๋ามส่าง..คันบ่หาหนทาง.มาศึกษาแท้แท้..โอยความฮู้แม่นบ่มี..ซันแหล่ว..
โดย: บัวขาบ ลุ่มน้ำมูล IP: 125.25.162.16 วันที่: 20 ตุลาคม 2553 เวลา:17:18:19 น.
  
ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ :D
โดย: T8 IP: 223.207.32.59 วันที่: 8 ตุลาคม 2554 เวลา:0:00:19 น.
  
สาธุความรู้ครับ
โดย: สาธุความรู้ IP: 218.251.113.57 วันที่: 15 มีนาคม 2558 เวลา:10:37:39 น.
  
โดย: 4144144 (สมาชิกหมายเลข 4144144 ) วันที่: 10 ตุลาคม 2560 เวลา:20:23:17 น.
  
โดย: สมาชิกหมายเลข 4144144 วันที่: 10 ตุลาคม 2560 เวลา:20:23:32 น.
  
โดย: tamma55 (สมาชิกหมายเลข 4144144 ) วันที่: 10 ตุลาคม 2560 เวลา:20:24:28 น.
  
อยากอ่าน


โดย: tamma55 IP: 119.76.35.246 วันที่: 10 ตุลาคม 2560 เวลา:20:29:03 น.
  
ใช้เหรอครับที่บอกว่า พระมหากัสสะปะ(ผู้เสนอ)ยังถือแค่ 3 ข้อ
โดย: กิตติภพ IP: 182.52.206.75 วันที่: 22 มิถุนายน 2564 เวลา:12:05:23 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

patnaja
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




Puangpeth Jang

สร้างลิงค์ของโปรไฟล์ในแบบที่เป็นตัวคุณเอง