<<
ธันวาคม 2549
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
27 ธันวาคม 2549
 

ผลงานชิ้นโบว์ดำ...

ทวงถามสปิริต 2 คนอันตราย ต้นตอโศกนาฏกรรมตลาดทุนไทย [25 ธ.ค. 49 - 15:27]

อีกครั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องตกเป็นจำเลยในหลายข้อหาที่สังคมทั้งไทยและเทศตั้งให้

ไม่ว่าจะเป็น โง่เขลา อ่อนหัด เปราะบาง หรือแม้แต่...น่าหัวเราะ!

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. ลูกหม้อซึ่งเพิ่งจะก้าวขึ้นรับตำแหน่งได้ไม่นาน ก็หยิบฉวยเอามาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 31 ปีของการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยออกมาใช้โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย หรือส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า



นี่เป็นความผิดพลาดอีกครั้งของ ธปท.ที่พยายามจะฝืนธรรมชาติของตลาดเงิน ขณะที่บทเรียนเดียวกันที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน หลังจากที่อดีตผู้ว่าการ ธปท.ลงมือใช้มาตรการต่อต้านการโจมตีค่าเงินบาท จนกระทั่งนำพาระบบการเงิน และสถาบันการเงินของประเทศไปสู่หายนะ และความเสียหายกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ไม่ได้ทำให้ผู้คนใน ธปท.เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี และสำนึกรับผิดชอบในฐานะที่เป็นธนาคารชาติแต่อย่างใด

เพราะมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งบังคับให้สถาบันการเงินที่รับแลกเงินสกุลต่างประเทศเป็นเงินบาท ต้องเรียกเก็บเงินมัดจำหรือกันเงินสำรองไว้จำนวน 30% ส่วนที่เหลือ 70% จึงสามารถนำมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อลงทุนในประเทศได้นั้น ส่งผลกระทบทันทีต่อดัชนีหุ้นไทยนับแต่ช่วงเปิดตลาดของวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา

เพียงหนึ่งชั่วโมงเศษที่ตลาดเปิด ดัชนีหุ้นได้ทรุดต่ำลงอย่างหนักถึง 74 จุด จากแรงถล่มขายของต่างชาติ มีผลให้ดัชนีหุ้นซึ่งปิดตลาดวันก่อนที่ระดับ 730.55 จุด ดิ่งลึกลงไปอยู่ที่ 656.49 จุด หรือ 10.14% กระทั่งผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ต้องตัดสินใจ หยุดการซื้อขายชั่วคราวเพื่อให้นักลงทุนมีเวลาทบทวน และพิจารณาข้อมูลรอบด้านใหม่อีกครั้ง

แต่แม้จะเปิดให้มีการซื้อขายอีกครั้ง สถานการณ์กลับยิ่งเลวร้ายลง โดยดัชนีร่วงลงไปต่ำสุดที่ 587.92 จุด ลดลง 142.63 จุด หรือกว่า 19% ก่อนมาปิดตลาดที่ 622.14 จุด ลดลงไป 108.41 จุด หรือ 14.84% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 72,131.55 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิกว่า 25,000 ล้านบาท

สื่อมวลชนทั่วโลก รวมถึงนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เรียกขานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยในวันนั้นว่า “อังคารทมิฬ”

เพราะเพียงวันเดียว ความมั่งคั่งของประเทศไทยที่สะท้อนออกมาในรูปของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยมูลค่าราคาตลาดรวม (Market Cap) ที่ 5.4 ล้านล้านบาท ต้องสูญหายไป 823,569 ล้านบาทในชั่วพริบตา

ขณะที่ความเชื่อมั่นที่ถูกกระชากไป ไม่อาจจะประเมินเป็นมูลค่าได้!!

และแม้จะย้อนกลับไปสำรวจดูวิกฤตการณ์ต่างๆในอดีต ก็ไม่พบว่าจะมีวิกฤตการณ์ครั้งใดเลวร้าย และส่งผลกระทบรุนแรงต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติได้เท่ากับครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์วันแบล็คมันเดย์ วันที่ 19 ต.ค.30 ที่ดัชนีหุ้นปรับตัวลงไป 13.85 จุด หรือลดลง 2.93% สงครามอ่าวเปอร์เซีย 2 ส.ค.33 ดัชนีลดลง 13.27 จุด หรือ 1.16% เหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะ รสช. เมื่อ 25 ก.พ.34 ดัชนีร่วง 57.40 จุด หรือ 7.25% และพฤษภาทมิฬ 19 พ.ค.35 ดัชนีติดลบ 65.05 จุด หรือ 8.88% หรือแม้ล่าสุดหลังวันปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ดัชนีหุ้นลดลงไปเพียง 9.99 จุด ...ก็ไม่มีครั้งไหนรุนแรงเท่านี้

แม้ที่สุดความสูญเสียในวันนั้นจะสามารถยับยั้ง บรรเทาลงด้วยการทบทวนมาตรการใหม่

แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกาศใช้นโยบาย กลับแสดงท่าทีเมินเฉยต่อคำร้องขอของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงโบรกเกอร์ ทั้งยังยืนกรานในความสำเร็จของมาตรการที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงจากระดับที่ 35.10 บาท เป็น 35.90 บาท

ดังจะเห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่ออกมาแถลงเมื่อเวลา 14.45 น. ของวันเดียวกันว่า มาตรการนี้ให้ผลชะงัด เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากวันก่อน 0.80 บาท ไปอยู่ที่ระดับ 35.90 บาท ซึ่งเป็นไปตามที่ภาคธุรกิจร้องขอ ส่วนผลกระทบในตลาดหุ้นที่ดัชนีทรุดลงไปถึง 100 จุด เป็นเรื่องที่คาดเดามาก่อนหน้าอยู่แล้ว “รู้อยู่แล้วว่า หุ้นจะลดลง 10% ซึ่งพอตั้งตัวได้ เดี๋ยวก็กลับมาซื้อกันเอง ส่วนเงินไหลออก ไม่กลัว อยากให้ออกบ้าง ถ้าไม่ออก บาทจะแข็ง”



ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังบอกกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า สถานการณ์วันนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติของการซื้อขายหุ้นที่คนรวยกับคนรวยซื้อขายกันเอง พร้อมสำทับว่า “เขากำลังเก็งกันสนุก ก็ต้องสะดุดแน่ เราบอกชัดแล้วว่า เงินที่นำเข้ามาเมืองไทย มากเกินไปแล้ว มาบีบให้เงินบาทแข็งเกินไป ผู้ส่งออกเรากำลังลำบาก เราต้องเลี้ยงเศรษฐกิจของเราก่อน ผมไม่เลี้ยงนักลงทุน แต่เลี้ยงเศรษฐกิจ”

หันไปดู นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะที่เป็นเจ้าของผู้กำหนดนโยบายสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท ก็ปรากฏว่า ทันทีที่ประกาศใช้มาตรการในช่วงปิดตลาดวันที่ 18 ธ.ค. นางธาริษาได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยอ้างว่าจะต้องไปรับแขกต่างประเทศของ ธปท. ขณะที่มีกำหนดการลาพักร้อนต่อในวันที่ 20 ธ.ค.

นี่จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานที่ตลาดทุนของประเทศกำลังจะพังครืนลง และต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อ ให้รอดพ้นจากผลกระทบของการดำเนินนโยบายผิดๆของทางการ จึงไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ หรือช่วยแก้ไขเยียวยาให้สถานการณ์คลี่คลายลงภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

หากแต่นาทีต่อนาที และชั่วโมงต่อชั่วโมง ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ กองทุน โบรกเกอร์ รวมถึงนักลงทุนต่างต้องเผชิญปัญหากันตามลำพัง จนกระทั่งความเสียหายมาเคาะประตูเรียกถึงห้องนอนแล้วนั่นแหละ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร จึงยอมจำนนในเวลาต่อมา

“มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกมาตรการนี้สำหรับต่างชาติที่นำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น และกรณีที่นำเงินมาลงทุนโดยตรง ส่วนเงินลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และตั๋วเงิน จะยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการนี้ต่อไป เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ และตั๋วเงินระยะสั้นเป็นจำนวนมากเพื่อเก็งกำไรค่าเงิน...”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังบอกว่า เขาไม่เคยรู้รายละเอียดของมาตรการนี้มาก่อน เพียงแต่ได้รับรายงานเบื้องต้นในวันศุกร์ (15 ธ.ค.) และรับทราบมาตรการภายหลังที่ออกมาแล้ว เมื่อดัชนีหุ้นตกลงมาก จึงนั่งไม่ติด และเรียกหลายฝ่ายมาหารือเพื่อหาข้อยุติ อันเป็นที่มาของมาตรการที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งมีผลตั้งแต่เวลา 08.30 น. ของวันที่ 20 ธ.ค.เป็นต้นไป

“ราคาหุ้นก็ขึ้นใหม่ได้ ไม่ต้องห่วงนักลงทุน เพราะเป็นเรื่องของคนรวย สนใจเกษตรกรดีกว่า ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นถือว่าไม่มี เพราะเงินก็ยังอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และไม่จำเป็นต้องหาคนรับผิดชอบ และผลของมาตรการ ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ช่วยผู้ส่งออกได้”

หลายฝ่ายลงความเห็นกับคำพูดข้างต้นว่า นี่อาจเป็นเพราะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้รับการแต่งตั้งมาโดยการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ใช่จากการเลือกตั้ง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่เขาจะมีความรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่ามันจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้แก่ประเทศสักเพียงใดก็ตาม

ทีนี้กลับมาดูว่า ทำไมมาตรการดังกล่าว จึงทำให้นักลงทุนถล่มขายหุ้นออกมาอย่างหนักขนาดนั้น

อันดับแรกเห็นจะต้องยอมรับว่า โดยธรรมชาติของตลาดหุ้นทั่วโลก เป็นตลาดเสรี มาตรการใดก็ตามที่ให้ ผลด้านเดียว และนำมาซึ่งการส่งสัญญาณผิดๆ รวมทั้งไม่เข้าใจธรรมชาติและความอ่อนไหวของตลาดอย่างแท้จริง ย่อมเปรียบเสมือนการราดน้ำมันจุดไฟเผาบ้านตัวเอง

โดยเฉพาะเมื่อมาตรการนั้นๆมีเป้าประสงค์เพื่อควบคุมการเข้าออกของเงินทุน (Capital Control) ซึ่งกองทุนขนาดใหญ่ในหลายประเทศ มีกฎข้อห้ามบ่งชี้ว่า ไม่ให้ไปลงทุนในประเทศที่มีนโยบายควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุน



ที่สำคัญ มาตรการที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่รับซื้อ หรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทต้องเรียกเก็บเงินมัดจำ 30% และลงทุนได้จริงเพียง 70% ซ้ำถ้าต้องเอาเงินออกภายใน 1 ปี ยังถูกหักอีก 10% นั้น ไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน เพราะทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นทันที

และเมื่อยืนยันจะนำมาตรการนี้ออกมาใช้ จึงเท่ากับบังคับให้กองทุนต่างชาติต้องเทขายหุ้นออกมาอย่างถล่มทลาย

ขณะที่ นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เอเซียพลัส และ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ชี้ว่า นี่เป็นมาตรการที่ทำร้ายนักลงทุนที่ลงทุนอย่างสุจริต ทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะคนไทยที่ออมเงินในตลาดหุ้น รวมทั้งที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างๆทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนเพื่อการลงทุนในระยะยาว ตลอดจนถึงผู้ที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นทั้งหมด ต้องได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาหุ้นที่ลดลง

มือหนึ่ง เราชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่อีกมือ ทำเหมือนปิดประเทศ ไม่ให้เงินทุนใหม่เข้ามา ถือว่ารัฐบาลนี้ไม่ให้ความสำคัญต่อตลาดทุน ทำให้ความมั่นใจในการลงทุนต้องมาสูญไปภายในวันเดียว... เพราะอยู่ดีๆเราก็ทำให้ต้นทุนของต่างชาติสูงขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับการเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นภูมิภาคนี้”

ที่แย่กว่านั้น ประเทศไทยเพิ่งจะเปิดบ้านโรดโชว์ เชิญนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนไปไม่นาน แต่เมื่อมีมาตรการนี้ออกมา ก็เท่ากับสูญเปล่า ต่อไปคงไม่ต้องออกไปชวนใครมาลงทุนอีกแล้ว

ปัญหาคงไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากแต่มาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทของ ธปท.ดังกล่าว นอกจากจะไล่เงินที่ไหลเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 300,000 ล้านบาท ให้ต้องออกไปแล้ว มันยังอาจปิดกั้นไม่ให้เม็ดเงินใหม่ๆไหลเข้าประเทศอีกด้วย ตราบเท่าที่ ธปท.ยังคงยืนกรานจะใช้มาตรการนี้ต่อไป

คำกล่าวนี้ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร และนางธาริษา พยายามจะตระเวนไปพบสื่อต่างๆ เพื่อยืนยันว่า มาตรการที่ออกมาเป็นสิ่งที่คิดและพิจารณามาแล้วอย่างรอบคอบ ที่สำคัญ พวกเขาพยายามทำเพื่อจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

พวกเขายืนยันว่า สามารถทำให้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นถึง 14% ลดลงมาเหลือ 12% เทียบกับเงินสกุลเพื่อนบ้านที่แข็งค่าแค่ 6-7% เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยสู้กับประเทศอื่นได้ เพราะการส่งออกสำคัญมากกว่าเศรษฐกิจ มีมูลค่าถึง 60% ของจีดีพี ส่วนมูลค่ามาร์เก็ตแคปที่หายไปเป็นเพียงความสูญเสียทางบัญชี

ขณะที่นางธาริษากล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่สามารถที่จะแยกแยะหรือติดป้ายเงินได้ว่า ส่วนนี้เป็นเงินระยะสั้นหรือระยะยาว ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับต่างชาติที่ขายหุ้นออกมา ไม่ใช่นักลงทุนไทย

ก่อนจะจบบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ทีมเศรษฐกิจอยากจะโฟกัสลงไปในประเด็นที่ว่า ทำไมค่าเงินบาทจึงแข็งกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค ขณะที่เงินทุนจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลออกจากสหรัฐอเมริกามายังเอเชีย ไม่ได้ ถาโถมเข้ามาไทยเพียงประเทศเดียว หากแต่กระจายไปในประเทศต่างๆ ตั้งแต่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ไทย ไปจนกระทั่งถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่เวียดนาม

เหตุผลแรกที่ควรตรวจสอบดูก็คือ นโยบายการเงินของประเทศผิดพลาดหรือไม่

ในหลักคิด ค่าเงินของประเทศใดก็ตาม เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะแข็งมาก หรือแข็งน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับนโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ โดยค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นกว่าประเทศอื่น นับแต่ต้นปีแข็งค่าเกือบ 15% ขณะที่เพื่อนบ้านแข็งค่าขึ้น 7-8%

ก็เพราะแต่ละประเทศล้วนมีมาตรการรับมือกับการหลั่งไหลเข้ามา ของเงินทุนจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และทันกาล ทั้งยังใช้มาตรการหลายๆทางเข้าดูแล มิใช่ผูกคอตัวเองไว้กับนโยบาย Inflation Targeting หรือ “การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ” ที่ยืนกรานตลอดเวลาว่า จะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยให้ เหตุผลเพียงว่า ต้องการจะควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้เร่งตัวขึ้นสูงจนเกินไป

ในความเป็นจริง ขณะนี้เงินเฟ้อได้ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 2.7% และเดือน ต.ค.อยู่ที่ 2.8% จึงเป็นเหตุผลเพียงพอให้ลดดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 5% ลงได้



ถามว่า ทำไม ธปท.ควรต้องปรับดอกเบี้ยลดลง เหตุผลก็คืออัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนี้เอง ที่เป็นตัวเร่งให้เงินลงทุนหลั่งไหลเข้ามากินส่วนต่าง โดยนำเงิน มาพักไว้ที่สถาบันการเงิน เพื่อรอเก็งกำไรค่าเงินบาท

ทีมเศรษฐกิจยังคงยืนยันความเห็นในบทวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ด้วยว่า ธปท.จำเป็นต้องทบทวน และสร้างความชัดเจนในนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม เพื่อใช้เป็นมาตรการสำหรับต้านทานกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจำนวนมหาศาลเข้ามา และเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกควบคู่กันไป ไม่ใช่ถีบหัวส่งเงินทุนออกไป และปิดกั้นไม่ให้เม็ดเงินใหม่เข้ามา

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังจำเป็นต้องจัดทำบัญชีให้ชัดเจนเพื่อแยกแยะระหว่างเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไร กับเงินทุนระยะยาวที่เข้ามาลงทุนเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

แต่ทั้งหมดทั้งปวง ความอ่อนด้อยในการดำเนินนโยบายของ ธปท. จนเป็นที่มาของเหตุการณ์ “อังคารทมิฬ” นั้น ยังไม่หนักหนาสาหัสสากรรจ์มากเท่ากับภาวะการขาดความเป็นผู้นำของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร และนางธาริษา

เพราะการปฏิเสธความรับผิดชอบ แสดงอาการไม่ครั่นคร้ามต่อความเสียหายอันเกิดแก่นักลงทุนในตลาดหุ้น ได้ปรากฏทั่วไปในสายตาของนานาอารยประเทศ นักลงทุนกำลังวิตกว่า รัฐบาลชุดนี้จะออกนโยบายอะไรมาสร้างความอกสั่นขวัญแขวนอีกหรือไม่ หรือที่ร้ายที่สุด ไม่แน่ใจว่าจะบริหารเศรษฐกิจและประเทศไปได้ตลอดรอดฝั่ง!!

ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้จัดการกองทุนต่างชาติหลายแห่ง ได้เพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายของทางการไทย รวมทั้งความเสี่ยงจากวิสัยทัศน์การบริหารงานของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรและนางธาริษา เข้าไปเป็นปัจจัยในการพิจารณาการลงทุนในไทยเพิ่มเติม

สถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่ใช่เวลาแห่งความสง่างามของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เวลาที่จะมาเล่นลิ้น ใช้สำบัดสำนวน แต่เป็นสถานการณ์ที่ต้องคำนึงถึงความเสียหายอันเกิดแก่ประเทศชาติเป็นสำคัญ และความเสียหายนั้น เกิดขึ้นจากการกระทำของบางบุคคล!!! ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายจริงที่วัดได้เป็นเม็ดเงิน การสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ประเมินค่ามิได้ ไม่รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่หม่นหมองลงในสายตานานาประเทศ

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุที่บุคคลทั้งสองจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ และสมควรแสดงสปิริต!!!

ความเสียหายจากมาตรการ ธปท.

1- ความเชื่อถือในนโยบายของ ธปท.ลดลงและความเชื่อมั่นของนักลงทุนหดหาย
2- มูลค่าตลาดรวมของตลาดหุ้นไทยหายภายในวันเดียว 800,000 ล้านบาท
3- รายย่อยที่ถูกบังคับขายกว่า 10,000 ล้านบาท ในวันที่ 19 ธ.ค.ต้องรับภาระขาดทุนทันที
4- ดัชนีหุ้นที่ปรับตัวลง ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นปรับตัวลง รวมทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนกบข. ทำให้คนที่เกษียณอายุช่วงนี้ได้รับความ เสียหายจากผลตอบแทนของกองทุนที่ลดลง
5- กองทุนรวม ที่จะออกขายหน่วยลงทุนให้ต่างชาติต้องสะดุดไม่สามารถขายได้ โดยเฉพาะกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังสดใส
6- ตลาดตราสารหนี้ หมดความน่าลงทุน ทำให้ราคาตราสารหนี้ตกต่ำ หากยังใช้ มาตรการต่อเนื่องในระยะยาว คาดว่าเงินจะไหลออกนอกประเทศ ขณะที่เงินใหม่จะไม่เข้ามาลงทุน
7- ต้นทุนการกู้เงินจากต่างประเทศสูงขึ้น กรณีบริษัทไทยจะออกหุ้นกู้ขายให้ต่างชาติ เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นให้คุ้มกับการนำเงินเข้ามาแล้วต้องถูกตั้งสำรอง 30%
8- รัฐบาลไทยต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรสูงขึ้น จากการกู้เงินเพื่อทำงบฯขาดดุลอีก 1.5 แสนล้านบาท

จาก ทีมเศรษฐกิจ ไทยรัฐ




Create Date : 27 ธันวาคม 2549
Last Update : 27 ธันวาคม 2549 17:15:59 น. 0 comments
Counter : 511 Pageviews.  
 

~ Passer By ~
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ~ Passer By ~'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com