ธมฺมํ ปสฺสโต มโน สุขํ.
เมื่อมองเห็นธรรม ใจย่อมเป็นสุข ฯ
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
18 ธันวาคม 2557
 
All Blogs
 
 ในโลกนี้มีคน ๖ ประเภท

ในโลกนี้มีคน ๖ ประเภท

เราเคยเอ่ยถึงจริต วันนี้เราจึงจะอธิบายจริตให้เข้าใจ พระพุทธเจ้าตรัสจริต ๖ ไว้ในมงคลวิเศษวิสุทธิมรรคว่า

จริต คือ ลักษณะนิสัยพื้นฐานที่ประพฤติปฏิบัติเป็นพฤติกรรมตามสภาพของจิตใจ อันเป็นปกติของบุคคลนั้น การที่เราจะทราบว่าใครมีจริตเป็นอย่างไรนั้นเราสามารถเรียนรู้ได้จากอุปนิสัยของคนๆนั้น อุปนิสัยเกิดขึ้นจากการอบรมหรือจากการเสพคุ้นบ่อยๆจนเกิดเป็นความเคยชินโดยผ่านทางสิ่งแวดล้อม ครอบครัว และการศึกษาฝึกฝนต่างๆ ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่า เหตุที่คนเรามีจริตแตกต่างกันเกิดจากกรรมในอดีตและสัดส่วนองค์ประกอบของธาตุทั้ง ๔ ภายในร่างกายของแต่ละคน พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องจริตด้วยวิธีตรัสบอกถึงอุปนิสัยของแต่ละบุคคล และทรงจำแนกจริตของแต่ละบุคคลไว้เป็น ๖ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต วิตกจริต สัทธาจริตและพุทธิจริต แต่ละคนจะมีจริตผสมอยู่ทุกแบบแต่สัดส่วนแตกต่างกันไป และมักจะมีจริตเด่นในสัดส่วนที่สูงอยู่ ๑หรือ ๒ แบบในคนๆเดียวกัน เมื่อเราได้ศึกษาทำความเข้าใจถึงจริตหรืออุปนิสัยต่างๆดังกล่าวแล้วจะช่วยให้เราเข้าใจตนเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาปรับปรุงแก้ไขตนเองและลดปัญหาความขัดแย้ง ทางด้านความคิด คำพูด การกระทำของกันและกันได้ การทำหน้าที่กัลยาณมิตรทั้งการให้สิ่งของ การให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนการให้กำลังใจนั้นจำเป็นจะต้องเข้าใจในจริตหรืออุปนิสัยของแต่ละบุคคลด้วยจึงจะทำให้การทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้นเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเต็มที่ เช่นรู้ว่าควรจะเลือกหัวข้อธรรมะไปแนะนำถ่ายทอดอย่างไรให้เหมาะสมกับจริตหรืออุปนิสัยของคนๆนั้นที่อธิบายเพื่อให้เข้าใจ และสามารถบอกความหมายและที่มาของจริตได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เข้าใจและสามารถบอกถึงประเภทประโยชน์ของการศึกษาเรื่องจริตทั้ง ๖ ประเภทได้และเพื่อให้เข้าใจ ทั้งยังสามารถนำความรู้เรื่องจริตไปปฏิบัติทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเองและชาวโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๑. ความหมายและที่มาแห่งจริต ๖

ใจของเรา เมื่อได้รับการอบรมจากสิ่งแวดล้อมชนิดใดบ่อยๆหรือเข้าไปเสพคุ้นกับสิ่งใดบ่อยๆ ก็จะเกิดความคุ้นเคยและพึงพอใจในสิ่งนั้นแล้วก็เลยเกาะเกี่ยวพัวพันอยู่กับสิ่งนั้นการที่จิตท่องเที่ยววนเวียนไปตามอารมณ์ประเภทที่จิตชอบนั่นเอง เรียกว่า“จริต” คำว่า จริตก็แปลว่า จิตที่เที่ยวไปเช่นจิตที่เที่ยวไปในทางดี เราเรียกว่า สุจริต ถ้าจิตเที่ยวไปในทางชั่ว เรียกว่าทุจริต จริต ยังแปลได้ว่า ความประพฤติ กิริยาอาการ

การอบรมหรือการเสพคุ้นกับสิ่งใดบ่อยๆจนเกิดเป็นความเคยชินย่อมมีอิทธิพลส่งผลให้เกิดเป็นอุปนิสัยได้ อุปนิสัย แปลว่า ความประพฤติที่เคยชินเป็นพื้นฐานมาในสันดาน ดังนั้น ถ้าจิตของเราชอบเที่ยวไปในทางไหนบ่อยๆจนเกิดเป็นความเคยชินขึ้นแล้วก็จะกลายมาเป็นจริต หรืออุปนิสัย ของคนคนนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น จริต คือลักษณะนิสัยหรือความประพฤติพื้นฐานที่ประพฤติปฏิบัติตามความเคยชินของจิตใจเดิมของบุคคลนั้น

ในทางพุทธศาสนากล่าวถึงเหตุที่คนเรามีจริตแตกต่างกันนั้นเกิดจากกรรมในอดีตและสัดส่วนองค์ประกอบของ ธาตุทั้ง ๔ ภายในร่างกายของแต่ละคน

การที่จะรู้ว่าใครมีจริตแบบไหนเราสามารถดูจากอุปนิสัยของคนคนนั้นและเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจเราจึงจะมาศึกษาถึงรายละเอียดของอุปนิสัยของคนที่มีจริตต่างๆ เพื่อทำให้เราสามารถทราบได้ว่าตัวเราและบุคคลอื่นๆมีจริตเป็นเช่นไร ซึ่งจริตนั้นมีอยู่ ๖ แบบใหญ่ๆแต่ละจริตก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป เมื่อเราได้ศึกษาจนทราบแล้วว่า ตนเองมีจริตแบบใดผสมอยู่บ้างก็จะสามารถนำไปประยุกต์ปรับปรุงแก้ไขในด้านที่ไม่ดีให้ลดน้อยจนหมดไปและพัฒนาในด้านดีให้เพิ่มยิ่งๆขึ้นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับบุคคลต่างๆในสังคมที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอีกทั้งการศึกษาทำความเข้าใจในจริตของแต่ละบุคคลนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบันซึ่งมีความหลากหลายทางอารมณ์ เพื่อที่เราจะได้หยั่งลึกรู้ถึงอุปนิสัยใจคอของคนที่เราจะต้องเข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วยทำให้การวางตัวและการปฏิบัติต่อบุคคลที่เราเข้าหาเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามจริตอัธยาศัยของแต่ละคน ต่อจากนี้ไปเราจะได้มาศึกษากันว่า จริตทั้ง ๖ แบบนั้น มีลักษณะอย่างไรกันบ้าง

ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงเรื่องจริตไว้สมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพาพระภิกษุบวชใหม่ 500 รูปไปยังป่าหิมวันต์ทรงใช้กุศโลบายตรัสสอนจนพระภิกษุทั้ง 500 รูปได้บรรลุเป็นพระอรหันต์จากนั้นเทวดาทั้งหมื่นจักรวาลต่างพากันยินดีแล้วได้มาประชุมพร้อมกันทั้งหมดต่อหน้าพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้ง500 รูปเหล่านั้น ครั้นแล้วพระพุทธองค์จึงทรงตรวจดูถึงจริตของเทวดาเหล่านั้นว่าเทวดาพวกไหนมีจริตแบบไหน เหมาะแก่การฟังธรรมเรื่องใดบ้างทรงใคร่ครวญธรรมเทศนาอันเป็นที่สบายแก่พวกจริตเหล่านั้น ทรงกำหนดเทศนาว่าพวกเทวดาราคจริต เราจักแสดงสัมมาปริพพาชนียสูตร(สูตรว่าด้วยเรื่องที่พึงเว้นโดยชอบ)จักแสดงกลหวิวาทสูตร (สูตรเกี่ยวกับเรื่องทะเลาะวิวาท) แก่พวกโทสจริตจักแสดงมหาพยูหสูตร (สูตรว่าด้วยพวกใหญ่) แก่พวกโมหจริต จักแสดงจูฬพยูหสูตร(สูตรว่าด้วยพวกน้อย)แก่พวกวิตกจริต จักแสดงตุวัฏฏกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติของนกคุ่ม)

แก่พวกสัทธาจริตจักแสดง ปุราเภทสูตร (สูตรว่าด้วยเรื่องแตกในอนาคต) แก่พวกพุทธิจริต

จากเรื่องนี้เราจะเห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจำแนกจริตของแต่ละบุคคลไว้เป็น ๖ ประเภทด้วยกัน ได้แก่ราคจริต(รักสวย รักงาม) โทสจริต(หงุดหงิด รีบร้อน) โมหจริต(เขลา ซึม)วิตกจริต(กังวลมาก) สัทธาจริต(บูชาความเชื่อ) และพุทธิจริต(ฉลาด) ต่อจากนี้ไป เราจะมาอธิบายถึงรายละเอียดของแต่ละจริตทั้ง๖ แบบ คือ

.ลักษณะราคะจริต คือ เป็นคนมีบุคลิกดีมีมาด น้ำเสียงนุ่มนวลไพเราะ ติดในความสวย ความงาม ความหอมความไพเราะ ความอร่อยไม่ชอบคิด แต่ช่างจินตนาการเพ้อฝัน

จุดแข็ง มีความประณีต อ่อนไหว และละเอียดอ่อนช่างสังเกต เก็บข้อมูลเก่ง มีบุคลิกหน้าตาเป็นที่ชอบและชื่นชมของทุกคนที่เห็นวาจาไพเราะ เข้าได้กับทุกคน เก่งในการประสานงาน การประชาสัมพันธ์และงานที่ต้องใช้บุคลิกภาพ

จุดอ่อน ไม่มีสมาธิ ทำงานใหญ่ได้ยากไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่มีความเป็นผู้นำ ขี้เกรงใจคน ขาดหลักการมุ่งแต่บำรุงบำเรอผัสสะทั้ง 5 ของตัวเอง คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสชอบพูดคำหวานหูแต่อาจไม่จริง อารมณ์รุนแรง ช่างอิจฉา ริษยา ชอบปรุงแต่ง

วิธีแก้ไข พิจารณาโทษของจิตที่ขาดสมาธิ ฝึกพลังจิตให้มีสมาธิเข้มแข็งหาเป้าหมายที่แน่ชัดในชีวิตพิจารณาสิ่งปฏิกูลต่างๆของร่างกายมนุษย์เพื่อลดการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

.ลักษณะโทสะจริต คือ เป็นคนมีจิตขุ่นเคืองโกรธง่าย คาดหวังว่าโลกต้องเป็นอย่างที่ตัวเองคิด พูดตรงไปตรงมา ชอบชี้ถูก ชี้ผิดเจ้าระเบียบ เคร่งกฎเกณฑ์ แต่งตัวประณีต สะอาดสะอ้าน เดินเร็วตรงแน่ว

จุดแข็ง อุทิศตัวทุ่มเทให้กับการงานมีระเบียบวินัยสูง ตรงเวลา วิเคราะห์เก่ง มองอะไรตรงไปตรงมามีความจริงใจต่อผู้อื่น สามารถพึ่งพาได้ พูดคำไหนคำนั้น ไม่ค่อยโลภ

จุดอ่อน จิตขุ่นมัว ร้อนรุ่ม ไม่มีความเมตตาไม่เป็นที่น่าคบค้าสมาคมของคนอื่น และไม่มีบารมี ไม่มีความคิดสร้างสรรค์สร้างวจีกรรมเป็นประจำ มีโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย

วิธีแก้ไข สังเกตดูอารมณ์ตัวเองเป็นประจำเจริญเมตตาให้มากๆ คิดก่อนพูดนานๆ และพูดทีละคำ ฟังทีละเสียง อย่าไปจริงจังกับโลกมากนักเปิดใจกว้างรับความคิดใหม่ๆ พิจารณาโทษของความโกรธต่อความเสื่อมโทรมของร่างกาย

.ลักษณะโมหะจริต คือ เป็นคนง่วงๆ ซึมๆเบื่อๆ เซ็งๆ ดวงตาดูเศร้าๆ ซึ้งๆ พูดจาเบาๆ นุ่มนวลอ่อนโยน ยิ้มง่ายอารมณ์ไม่ค่อยเสีย ไม่ค่อยโกรธใคร ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบทำตัวเป็นจุดเด่นเดินแบบขาดจุดหมาย ไร้ความมุ่งมั่น

จุดแข็ง ไม่ฟุ้งซ่านเข้าใจอะไรได้ง่ายและชัดเจน มีความรู้สึก มักตัดสินใจอะไรได้ถูกต้อง ทำงานเก่งโดยเฉพาะงานประจำ ไม่ค่อยทุกข์หรือเครียดมากนัก เป็นคนดี เป็นเพื่อนที่น่าคบไม่ทำร้ายใคร

จุดอ่อน ไม่มีความมั่นใจ มองตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริงโทษตัวเองเสมอ หมกมุ่นแต่เรื่องตัวเองไม่สนใจคนอื่นไม่จัดระบบความคิดทำให้เสมือนไม่มีความรู้ ไม่มีความเป็นผู้นำ ไม่ชอบเป็นจุดเด่นสมาธิอ่อนและสั้น เบื่อง่าย อารมณ์อ่อนไหวง่าย ใจน้อย

วิธีแก้ไข ตั้งเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจนฝึกสมาธิสร้างพลังจิตให้เข้มแข็งให้จิตออกจากอารมณ์โดยจับการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือเล่นกีฬา แสวงหาความรู้และต้องจัดระบบความรู้ความคิด สร้างความแปลกใหม่ให้กับชีวิต อย่าทำอะไรซ้ำซาก

.ลักษณะวิตกจริต คือ เป็นคนพูดน้ำไหลไฟดับความคิดพวยพุ่ง(ฟุ้งซ่าน) อยู่ในโลกความคิดไม่ใช่โลกความจริงมองโลกในแง่ร้ายว่าคนอื่นจะเอาเปรียบกลั่นแกล้งเรา หน้าจะบึ้ง ไม่ค่อยยิ้มเจ้ากี้เจ้าการ อัตตาสูง(มั่นใจในตนเองสูง) คิดว่าตัวเองเก่งอยากรู้อยากเห็นไปทุกเรื่อง ผัดวันประกันพรุ่ง

จุดแข็ง เป็นนักคิดระดับเยี่ยมยอดมองอะไรทะลุปรุโปร่งหลายชั้น เป็นนักพูดที่เก่ง จูงใจคน เป็นผู้นำหลายวงการละเอียดรอบคอบ เจาะลึกในรายละเอียด เห็นความผิดเล็กความผิดน้อยที่คนอื่นไม่เห็น

จุดอ่อน มองจุดเล็กลืมภาพใหญ่เปลี่ยนแปลงความคิดตลอดเวลา จุดยืนกลับไปกลับมา ไม่รักษาสัญญา มีแต่ความคิดไม่มีความรู้สึก ไม่มีวิจารณญาณ ลังเล มักตัดสินใจผิดพลาด มักทะเลาวิวาททำร้ายจิตใจ เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นมีความทุกข์เพราะเห็นแต่ปัญหาแต่หาทางแก้ไม่ได้

วิธีแก้ไข เลือกความคิด อย่าให้ความคิดลากไปฝึกสมาธิแบบอานาปานัสสติ เพื่อสงบสติ อารมณ์ เลิกอกุศลจิต คลายจากความฟุ้งซ่านสร้างวินัย ต้องสร้างกรอบเวลา ฝึกมองภาพรวม คิดให้ครบวงจร หัดมองโลกในแง่ดีพัฒนาสมองด้านขวา

.ลักษณะสัทธาจริต คือ เป็นคนยึดมั่นอย่างแรงกล้าในบุคคลหลักการหรือความเชื่อ ย้ำคิดย้ำพูดในสิ่งที่ตนเองเชื่อถือและศรัทธาคิดว่าตัวเองเป็นคนดี น่าศรัทธา ประเสริฐกว่าคนอื่น เป็นคนจริงจัง พูดมีหลักการ

จุดแข็ง มีพลังจิตสูงและเข้มแข็งพร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่นต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมไปสู่สภาพที่ดีกว่าเดิม มีพลังขับเคลื่อนมหาศาลมีลักษณะความเป็นผู้นำ

จุดอ่อน หูเบา ความเชื่ออยู่เหนือเหตุผลถูกหลอกได้ง่าย ยิ่งศรัทธามาก ปัญญายิ่งลดน้อยลง จิตใจคับแคบไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่าง ไม่ประนีประนอม มองโลกเป็นขาวและดำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตนคิดว่าถูกต้อง สามารถทำได้ทุกอย่างแม้แต่ใช้ความรุนแรง

วิธีแก้ไข นึกถึงกาลามสูตรใช้หลักเหตุผลพิจารณาเหนือความเชื่อ ใช้ปัญญานำทาง และใช้ศรัทธาเป็นพลังขับเคลื่อนเปิดใจกว้างรับความคิดใหม่ๆ ลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวบุคคลหรืออุดมการณ์ลดความยึดมั่นในตัวกูของกู

.ลักษณะพุทธิจริต คือ เป็นคนคิดอะไรเป็นเหตุเป็นผลมองเรื่องต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงไม่ปรุงแต่งพร้อมรับความคิดที่แตกต่างไปจากของตนเอง ใฝ่เรียนรู้ ช่างสังเกตมีความเมตตาไม่เอาเปรียบคน หน้าตาผ่องใส ตาเป็นประกาย ไม่ทุกข์

จุดแข็ง สามารถเห็นเหตุเห็นผลได้ชัดเจนและรู้วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างถูกต้อง อัตตาต่ำ เปิดใจรับข้อเท็จจริงจิตอยู่ในปัจจุบัน ไม่จมปลักในอดีต และไม่กังวลในสิ่งที่จะเกิดในอนาคต พัฒนาปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอเป็นกัลยาณมิตร

จุดอ่อน มีความเฉื่อยชาไม่ต้องการพัฒนาจิตวิญญาณ ชีวิตราบรื่นมาตลอด หากต้องเผชิญพลังด้านลบอาจเอาตัวไม่รอด ไม่มีความเป็นผู้นำ จิตไม่มีพลังพอที่จะดึงดูดคนให้คล้อยตาม

วิธีแก้ไข้ถามตัวเองว่าพอใจแล้วหรือกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพิ่มพลังสติสมาธิพัฒนาจิตใจให้มีพลังขับเคลื่อนที่แรงขึ้น เพิ่มความเมตาพยายามทำให้ประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้น

จากข้อมูลรายละเอียดของจริตทั้ง ๖แบบที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจนิสัยของตนเองและผู้คนรอบข้างมากยิ่งขึ้น พร้อมกับได้รู้ว่า เราจะต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้างและจะต้องพัฒนาอะไรบ้างในตัวของเราเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นไปและข้อที่ควรทราบคือ ในแต่ละคนจะมีจริตผสมอยู่ทุกแบบ แต่สัดส่วนแตกต่างกันไปและมักจะมีจริตเด่นในสัดส่วนที่สูงอยู่ ๑ หรือ ๒ แบบในคนๆ เดียวกัน จัดจริตเข้าพวกกัน

ในจริต ๖ ประเภทนั้น เมื่อมีจริตอย่างหนึ่งแล้วอีกอย่างหนึ่งที่เป็นพวกกันก็พลอยมีขึ้นด้วย ถึงไม่ใช่หัวหน้า ก็เป็นชั้นรองเมื่อจัดเป็นพวกแล้วได้ดังนี้

ราคจริต เป็นพวกกับ สัทธาจริต

โทสจริต เป็นพวกกับ พุทธิจริต

โมหจริต เป็นพวกกับ วิตกจริต

ต่อจากนี้ไปเราจะได้มาศึกษาถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องจริตเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

ดัดจริต-วิกลจริต

ตามปกติ ถ้าจิตของเราเดินอยู่ในวิถีคือหมายความว่า เป็นจิตปกติสามัญอย่างเราๆท่านๆนี้ที่จิตจะคิดทำอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของจริตที่มีอยู่มีเหมือนกันที่บางคนริทำอะไรฝืนจริตในบางครั้ง เช่น ตัวเป็นคนโทสะจริตไม่ค่อยชอบแต่งเนื้อแต่งตัว แต่ไปได้คู่รักเป็นคนราคะจริต ชอบสวยๆงามๆตัวก็พยายามแต่งตัวทำทีว่าเป็นคนราคะจริตเพื่อจะได้สบใจคนรักการทำอย่างนี้เรียกว่า ดัดจริต คือ จริตของตัวเป็นอย่างหนึ่ง แต่ดัดไปใช้จริตอีกอย่างหนึ่งแต่ก็รอดตานักสังเกตไปไม่ได้ เพราะเขาจะต้องพลั้งหาจริตเดิมจนได้และแม้แต่ในขณะที่ดัดจริตอยู่นั่นเอง ก็มีรายละเอียดบางอย่างที่ปิดไม่มิดอย่างเช่นการหวีผม ผูกเนกไทใส่เสื้อเรียบหมดทุกอย่างแต่เชือกผูกรองเท้าสองข้างทำเงื่อนไม่เหมือนกันหรือปล่อยเงื่อนเปะปะเท่านี้ก็รู้แล้วว่าเขาเป็นคนโทสะจริต

จิตของคนละทิ้งจริต ต่อเมื่อจิตออกนอกวิถีคือตามธรรมดาจิตของเราที่คิดอะไรอยู่ทุกวันนี้ ย่อมรับอารมณ์น่ารักบ้าง น่าชังบ้างทำให้เกิดความดีใจบ้าง เสียใจบ้างแต่จะดีใจหรือเสียใจเท่าไรๆก็ต้องไม่เกินอัตราวิถีกำหนดไว้ถ้าดีใจหรือเสียใจเกินกำหนด จิตจะออกนอกวิถี ไม่สามารถกลับเข้าสู่วิถีเดิมได้ทีนี้ถ้าจิตดีใจหรือเสียใจเกินกำหนดออกไป จิตจะทิ้งจริต คือไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของจริตแล้ว คนอย่างนี้เรียกว่า คน วิกลจริต หรือ เสียจริตลงได้เป็นอย่างนี้แล้ว ก็กลายเป็นคนไม่มีจริต ภาษาชาวบ้านเรียกว่า คนบ้า

ดังที่ได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่าในทางพุทธศาสนากล่าวถึงเหตุที่คนเรามีจริตแตกต่างกันนั้นเกิดจาก กรรมในอดีต และสัดส่วนองค์ประกอบของธาตุทั้ง ๔ ภายในร่างกายของแต่ละคน ดังนั้น จะได้ขยายความเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

สาเหตุของจริต ที่มาจาก กรรมที่ทำในอดีต

ผู้สะสมกุศลกรรมไว้ในอดีตชาติโดยอุบายวิธีที่น่ารักน่าชอบใจ

ผู้จุติจากสวรรค์ มาปฏิสนธิในโลก...ส่วนใหญ่เป็นคนราคะจริต

ผู้ในอดีตชาติ สั่งสมกรรมอันก่อเวร คือ การฆ่าทรมาน จับกุมคุมขัง

ผู้จุติจากนรก หรือ กำเนิดงู มาปฏิสนธิโนโลก...ส่วนใหญ่เป็นคนโทสจริต

ผู้ในอดีตชาติ ดื่มน้ำเมามากและเว้นจากการศึกษาสดับฟังสนทนาธรรม

ผู้จุติจากกำเนิดดิรัจฉาน มาปฏิสนธิในโลก...ส่วนใหญ่เป็นคนโมหะจริต

สาเหตุของจริต ที่มาจาก สัดส่วนองค์ประกอบของธาตุทั้ง ๔

อนึ่งได้พบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับทางธาตุในร่างกายอยู่อีกนิดหนึ่งเป็นประเภทเกร็ดความรู้เหมือนกัน ไม่พอจะตั้งหัวข้ออธิบายต่างหากจะตัดทิ้งก็เสียดาย เลยขอแถมท้ายไว้ด้วย เพราะเป็นความวิปริตทางร่างกายเกี่ยวกับจริตเหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ดังต่อไปนี้ว่า

คนราคะจริต ธาตุทั้ง 4 ในตัวคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมและธาตุไฟ มีส่วนผสมเท่ากัน

คนโทสะจริต ธาตุไฟกับธาตุลมแรงไป

คนโมหะจริต แรงทางธาตุดินกับธาตุน้ำ

นอกจากนี้ยังได้พูดถึงว่า

คนราคะจริต ยิ่งด้วยเสมหะ

คนโทสะจริต ยิ่งด้วยน้ำดี

คนโมหะจริต ยิ่งด้วยลม

หมายเหตุ สาเหตุของจริต ทั้งที่มาจากกรรมในอดีตและธาตุทั้ง ๔ นั้นยังกำหนดเอาแน่เอานอนไม่ได้ จึงให้ศึกษาไว้เป็นเพียงเกร็ดความรู้ ยังใช้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัวไม่ได้ในทุกๆจริต

น้ำเลี้ยง(เลือด)ในหัวใจมีสีตามจริต

ข้อควรทราบเบ็ดเตล็ดอีกอย่างหนึ่งคือในตำราทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงว่า จิตของคนเราอาศัยอยู่ในหทัยรูปซึ่งหมายถึงก้อนเนื้อสัณฐานกลมๆก้อนหนึ่งในทรวงอกก้อนเนื้อที่เรียกว่าหทัยรูปนี้เรียกว่าหัวใจ ถ้าผ่าเข้าไปดูในใจกลางของเนื้อนั้นท่านว่ามีแอ่งเล็กๆอยู่แอ่งหนึ่ง ขนาดเมล็ดบุนนาควางลงได้ ในแอ่งนี้มีน้ำขังอยู่ประมาณฝ่ามือเรียกว่าน้ำเลี้ยงหัวใจหรือพูดย่อๆว่า “น้ำใจ” จิตของคนเราอาศัยน้ำนี้อยู่

น้ำเลี้ยงหัวใจของคน มีสีต่างๆกันตามอำนาจจริตของผู้นั้น ดังต่อไปนี้

1.คนราคะจริต น้ำเลี้ยงหัวใจสีแดง

2.คนโทสะจริต น้ำเลี้ยงหัวใจสีดำ

3.คนโมหะจริต น้ำเลี้ยงหัวใจสีน้ำล้างเนื้อ

4.คนวิตกจริต น้ำเลี้ยงหัวใจสีเหมือนน้ำเยื่อถั่วพู

5.คนสัทธาจริต น้ำเลี้ยงหัวใจสีเหมือนดอกกรรณิการ์

6.คนพุทธิจริต น้ำเลี้ยงหัวใจใสแจ๋วมีแววเหมือนแก้วเจียระไน

ข้อความเหล่านี้ เป็นเกร็ดความรู้สีของน้ำเลี้ยงหัวใจที่ระบุไว้นี้ หมายถึงสีน้ำใจของผู้มีจริตอย่างนั้นๆแต่โดยหลักเกณฑ์ที่เป็นจริง คนคนหนึ่งมีจริตหลายอย่างเพราะฉะนั้นสีของน้ำจะต้องเป็นสีผสม เช่น คนมีราคจะริตด้วย มีโทสะจริตด้วย มีโมหะจริตด้วย น้ำใจก็กลายเป็นว่า สีแดง สีดำ สีน้ำล้างเนื้อท่านผู้อ่านคิดผสมเอาเองก็แล้วกันว่า จะเป็นสีอะไร ในพระสูตรบรรยายไว้ว่าน้ำเลี้ยงหัวใจนี่ ทำให้คนเรามีจิตใจต่างกัน มีนิสัยต่างกัน

วิธีสังเกตจริต

เราสามารถสังเกตได้จากลักษณะความประพฤติต่างๆ ได้แก่ ลักษณะการเดิน ลักษณะการยืนและนั่ง ลักษณะการนอนลักษณะการทำงาน ลักษณะการนุ่งห่ม ลักษณะการบริโภค ลักษณะการมองดูรูปและลักษณะของกิเลสที่แสดงออกมาให้เห็น เป็นต้น

อธิบายจาก ลักษณะการเดิน

เมื่อจะเดินไปโดยการเดินไปตามปกติ จะเดินไปอย่างน่ารักค่อยๆวางเท้า วางเท้าลงด้วย ความเรียบร้อย ยกเท้าขึ้นด้วยความเรียบร้อยและรอยเท้าของเขาเป็นรอยเว้ากลาง นี้คือบุคคล ราคะจริต (สัทธาจริต ก็คล้ายกัน)

ย่อมเดินดุจใช้ปลายเท้าทั้งสองขุดพื้นดินไปย่อมวางเท้าลงโดยเร็ว ยกเท้าขึ้นโดยเร็ว และรอยเท้าของเขาเป็นรอยเท้าขยุ้มจิกลง นี้คือบุคคลโทสะจริต (พุทธิจริต ก็คล้ายกัน)

เวลาเดินท่าทางงกๆ เงิ่นๆจะวางเท้าลงก็เหมือนคนหวาดสะดุ้ง จะยกเท้าขึ้นก็เหมือนคนหวาดสะดุ้งและรอยเท้าของเขาเป็นรอยเลอะเลือน นี้คือบุคคล โมหะจริต (วิตกจริต ก็คล้ายกัน)

อธิบายจาก ลักษณะการยืนและนั่ง

มีลักษณะน่าเลื่อมใส มีอาการนุ่มนวลนี้คือบุคคล ราคะจริต (สัทธาจริต ก็คล้ายกัน)

มีลักษณะแข็งกระด้าง นี้คือบุคคล โทสะจริต(พุทธิจริต ก็คล้ายกัน)

มีอาการส่ายไปมา นี้คือบุคคล โมหะจริต(วิตกจริต ก็คล้ายกัน)

อธิบายจาก ลักษณะการนอน

ไม่รีบร้อน ปูที่นอนได้เรียบแล้วค่อยๆล้มตัวลงนอน รวบอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายดีแล้วจึงนอนหลับไปโดยอาการที่น่าเลื่อมใส และเมื่อถูกปลุกให้ลุกขึ้น จะไม่ลุกขึ้นโดยเร็วจะค่อยๆให้คำตอบขานรับ ราวกับว่ารังเกียจอยู่ ฉันนั้น นี้คือบุคคล ราคะจริต(สัทธาจริต ก็คล้ายกัน)

รีบร้อนปูที่นอน โดยอาการที่พอจะใช้ได้ทิ้งกายลงนอนทำหน้านิ่ว และเมื่อถูกปลุกให้ลุกขึ้น จะลุกขึ้นโดยเร็วให้คำตอบราวกับว่าโกรธ นี้คือบุคคล โทสะจริต (พุทธิจริต ก็คล้ายกัน)

ปูที่นอนเป็นรูปน่าเกลียด มีกายเกะกะมีอวัยวะขัดไปข้างนั้นข้างนี้ นอนคว่ำหน้าเป็นส่วนมาก และเมื่อถูกปลุกให้ลุกขึ้นจะทำเสียงครางอือๆลุกขึ้นเฉื่อยชา นี้คือบุคคล โมหะจริต (วิตกจริต ก็คล้ายกัน)

อธิบายจาก ลักษณะการทำงาน

การปัดกวาด จะจับไม้กวาดได้เหมาะเจาะดีไม่รีบเร่ง ไม่ปัดกวาดสิ่งของให้กลาดเกลื่อน กวาดได้หมดจด เรียบร้อย นี้คือบุคคลราคะจริต (สัทธาจริต ก็คล้ายกัน)

การปัดกวาด จะจับไม้กวาดแน่น มีท่าทางเร่งรีบทำสิ่งของให้กระจัดกระจาย หรือพูนกันไปข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้างมีเสียงกวาดอันดุดัน กวาดได้หมดจดแต่ไม่เรียบ นี้คือบุคคล โทสะจริต (พุทธิจริตก็คล้ายกัน)

การปัดกวาด จะจับไม้กวาดหลวมๆกวาดไปมาทำให้เปรอะ ไม่หมดจด ไม่เรียบร้อย นี้คือบุคคล โมหะจริต (วิตกจริตก็คล้ายกัน)

หมายเหตุ การปัดกวาดเป็นเช่นนี้ฉันใดแม้ในบรรดากิจการงานอื่นๆทั้งปวงมีการซัก การรีดผ้า เป็นต้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สรุปคือบุคคลราคะจริตเป็นผู้มีปกติกระทำให้ละเอียดนุ่มนวลเรียบร้อยและโดยเคารพ (สัทธาจริตก็คล้ายกัน) บุคคลโทสะจริตเป็นผู้มีปกติกระทำได้มั่นคงเข้มแข็งแต่ไม่เรียบร้อย (พุทธิจริต ก็คล้ายกัน) บุคคลโมหะจริตเป็นผู้มีปกติกระทำได้ไม่ละเอียด ยุ่งเหยิง ไม่เรียบร้อยและให้สำเร็จรอบคอบไม่ได้ (วิตกจริต ก็คล้ายกัน)

อธิบายจาก ลักษณะการบริโภค

เป็นผู้ชอบใจในโภชนะที่ประณีต มีรสหวานและเมื่อบริโภคจะทำให้เป็นคำไม่ใหญ่นัก คือเป็นปริมณฑลพอเหมาะ เป็นผู้รู้จักรสไม่รีบร้อนบริโภค ได้โภชนะดีนิดหน่อยเท่านั้นก็จะถึงซึ่งความดีใจ นี้คือบุคคล ราคะจริต(สัทธาจริต ก็คล้ายกัน)

เป็นผู้ชอบใจในโภชนะอันหยาบๆ มีรสเปรี้ยว และเมื่อบริโภคจะทำให้เป็นคำใหญ่เต็มปากเป็นผู้ไม่รู้จักรส รีบร้อนบริโภคได้โภชนะไม่ดีนิดหน่อยเท่านั้นก็จะถึงซึ่งความเสียใจ นี้คือบุคคล โทสะจริต(พุทธิจริต ก็คล้ายกัน)

เป็นผู้ชอบใจอะไรไม่แน่นอนและเมื่อบริโภคจะทำให้เป็นคำเล็กๆ ไม่เป็นปริมณฑล เหลือเมล็ดข้าวไว้ในภาชนะทำปากให้เปื้อน มีจิตฟุ้งซ่านนึกถึงเรื่องนั้นๆบริโภคไป นี้คือบุคคล โมหะจริต(วิตกจริต ก็คล้ายกัน)

อธิบายจาก ลักษณะของกิเลสที่แสดงออกมาให้เห็น

มายา(ความประพฤติหลอกลวง) สาไถย(ความโอ้อวด)มานะ(ความถือตัว) ปาปิจฉตา(ความปรารถนาลามก หรือความปรารถนาในทางชั่ว)มหิจฉตา(ความมักมาก) อสันตุฏฐิตา(ความไม่สันโดษ) สิงคะ(ความรักใคร่)จาปัลยะ(ความฟุ้งเฟ้อ) ย่อมเป็นไปมากในบุคคลผู้มี ราคะจริต

โกธะ(ความโกรธ) อุปนาหะ(ความผูกโกรธ)มักขะ(ความลบหลู่) ปลาสะ(ความแข่งดี) อิสสา(ความริษยา) มัจฉริยะ(ความตระหนี่) ย่อมเป็นไปมากในบุคคลผู้มี โทสะจริต

ถีนะ(ความท้อถอยจากการงาน) มิทธะ(ความโงกง่วง)อุทธัจจะ(ความฟุ้งซ่าน) กุกกุจจะ(ความหงุดหงิดรำคาญ) วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)อาทานคาหิตา(ความยึดถือ)ทุปปฏินิสสัคคิตา(ความเป็นคนที่มีความยึดถืออันผู้อื่นเปลื้องได้ยาก)ย่อมเป็นไปมากในบุคคลผู้มี โมหะจริต

ภัสสพหุลตา(ความเป็นผู้พูดมากกว่าทำ)คณารามตา(ความเป็นผู้ยินดีด้วยหมู่คณะ) กุสลานุโยเคอรติ(ความไม่ยินดีในการประกอบเนืองๆ ซึ่งกุศล)อนวัฏฐิตกิจจตา(ความเป็นผู้มีกิจจับจด) รัตติธุมายนา(กลางคืนสุมควัน)ทิวาปัชชลนา(กลางวันไฟลุกเป็นเปลว) หุราหุรังธาวนา(ความพล่านไปข้างนั้นข้างนี้) ย่อมเป็นไปมากในบุคคลผู้มี วิตกจริต

มุตตจาคตา(ความเป็นผู้มีความเสียสละหลุดพ้นจากไปได้)อริยานัง ทัสสนกามตา(ความเป็นผู้ใคร่จะพบเห็นพระอริยะเจ้าทั้งหลาย) สัทธัมมังโสตุกามตา(ความเป็นผู้ใคร่จะฟังพระสัทธรรม) ปาโมชชพหุลตา(ความเป็นผู้มากไปด้วยความปราโมทย์)อสถตา(ความไม่โอ้อวด) อมายาวิตา(ความเป็นผู้ไม่มีมายา) ปสาทนีเยสุ ฐาเนสุปสาโท(ความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใสทั้งหลาย) ย่อมเป็นไปมากในบุคคลผู้มี สัทธาจริต

โสวจัสสตา(ความเป็นผู้ว่าง่าย)กัลป์ยาณมิตตตา(ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร) โภชเนมัตตัญญุตา(ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ)สติสัมปชัญญะ(ความระลึกได้และความรู้ตัว) ชาคริยานุโยค(ความประกอบเนืองๆซึ่งชาคริยธรรม คือ ไม่มักมากในการหลับ) สังเวชนีเยสุ ฐาเนสุสังเวคะ(ความสังเวชในฐานะที่ควรสังเวช) สังวิคคัสสะ โยนิโส ปธานะ(ความเพียรโดยแยบคายแห่งบุคคลผู้มีจิตสังเวช) ย่อมเป็นไปมากในบุคคลผู้มี พุทธิจริต

รู้จริตแล้วได้ประโยชน์อะไร

ความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าจะด้านการศึกษา การงานครอบครัว หรือด้านอื่น ๆ มีปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่สุด คือความสามารถในการทำหน้าที่และมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้อย่างเหมาะสมซึ่งจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้นจะต้องเข้าใจธรรมชาติของตนเองและผู้อื่นเป็นอย่างดีว่ามีลักษณะนิสัยพื้นฐานเป็นอย่างไร รู้ข้อดีและข้อจำกัดของกันและกันเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ในบทบาทของแต่ละคน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในองค์กรและสังคมประเทศชาติซึ่งองค์ความรู้ด้านจริตนั้นจะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของตนเองและผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้งเพราะเป็นบุคลิกภาพพื้นฐานตามที่เป็นจริงในปัจจุบัน

ตัวอย่างหัวข้อธรรมะที่เหมาะกับจริตต่างๆ

ราคะจริต ได้แก่ อานิสงส์ผลบุญ การเสวยผลบุญของสวรรค์ชั้นต่างๆ ธรรมะอันทำให้งาม อานิสงส์การประพฤติพรหมจรรย์เป็นต้น

โทสะจริต ได้แก่ ผลกรรมในนรก อบายภูมิ การรักษาศีล อานิสงส์การแผ่เมตตา เป็นต้น

โมหะจริต ได้แก่ อานิสงส์การให้ทาน-รักษาศีล กุศลกรรมบถ 10 สัมมาทิฏฐิ 10 เป็นต้น

วิตกจริต ได้แก่ อานิสงส์การให้ทาน รักษาศีล วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น เป็นต้น

สัทธาจริต ได้แก่ อานุภาพผลแห่งบุญ อานุภาพของพระรัตนตรัย อานิสงส์การให้ธรรมทานเป็นต้น

พุทธิจริต ได้แก่ ธรรมะหมวดต่างๆเช่น อิทธิบาท ๔ สังคหวัตถุ ๔ ฆราวาสธรรม ๔ จริต๖มรรค ๘ มงคลชีวิต ๓๘ ประการ พระวินัย พระสูตรต่างๆวิธีรักษาศีล วิธีฝึกสติ วิธีฝึกสมาธิ เป็นต้น

ท่านผู้อ่าน อ่านจบแล้ว พอเข้าใจจริตของตนเองหรือไม่(ส่วนปีศาจน้อยเป็นคนพุทธิจริต บางครั้งก็กลายเป็นราคะจริตด้วยนากั๊ป คือชอบฝันหวานจิ เอ แล้วจะมีคนมีจริตเหมือนปีศาจน้อยบ้างหรือไม่นะ อยากรู้จัง ห้าๆๆ)ครั้งนี้ คงพอแค่นี้ก่อน บล็อกหน้า เจอกันวันที่ ๒๕ ธ.ค. กั๊ปป๋ม

เอกมฺปิปาปํ กโรติ ปาโปเยวาติวุจฺจติ.

บุคคลทำความชั่วแม้ครั้งเดียวเขาก็เรียกว่าคนชั่วเหมือนกัน

บรรยายโดย...ปีศาจน้อยจอมซน..

หมายเหตุ ..เดือนนี้..เป็นเดือนเกิดของปีศาจน้อย ..ใครที่เกิดในเดือนนี้ ..ขอให้มีความสุข..มีความสำเร็จดังหวังขอรับ




Create Date : 18 ธันวาคม 2557
Last Update : 18 ธันวาคม 2557 1:13:31 น. 10 comments
Counter : 5267 Pageviews.

 
เทสจ้า


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 18 ธันวาคม 2557 เวลา:1:14:43 น.  

 




ขอบคุณมากค่ะ ..




บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
เนินน้ำ Food Blog ดู Blog
lovereason Literature Blog ดู Blog
คืนฝันปีศาจน้อย Dharma Blog ดู Blog

ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 5 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น






โดย: foreverlovemom วันที่: 18 ธันวาคม 2557 เวลา:1:46:06 น.  

 




อ่ะ ..

เผื่อบ้านนี้ด้วย ค่ะ ..












โดย: foreverlovemom วันที่: 18 ธันวาคม 2557 เวลา:12:29:02 น.  

 





ไปละ ..




flower






โดย: foreverlovemom วันที่: 19 ธันวาคม 2557 เวลา:8:20:28 น.  

 


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 21 ธันวาคม 2557 เวลา:8:29:20 น.  

 




หวัดดี 2 ยาม ครับ ..










โดย: foreverlovemom วันที่: 22 ธันวาคม 2557 เวลา:0:23:19 น.  

 
ยอดเยี่ยมเลยครับ


โดย: แมวเซาผู้น่าสงสาร วันที่: 23 ธันวาคม 2557 เวลา:14:50:06 น.  

 




ให้ทุกบ้าน ..

เผื่อ บ้านนี้ด้วย .. ค่ะ ..













โดย: foreverlovemom วันที่: 23 ธันวาคม 2557 เวลา:16:34:33 น.  

 




หลับตา แล้วเห็นความมืด ซ้อนทับความมืด ..

บางครั้ง .. สว่างจ้า ..

เหมือนมีพระอาทิตย์ ลอยลงมาใกล้ๆ ..

แสบตา .. จนต้องลืมตา นั่นเทียว ..

















โดย: foreverlovemom วันที่: 24 ธันวาคม 2557 เวลา:8:09:41 น.  

 




Merry Christmas













โดย: foreverlovemom วันที่: 24 ธันวาคม 2557 เวลา:23:12:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

คืนฝันปีศาจน้อย
Location :
สมุทรสาคร Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




web stats
free counters
Friends' blogs
[Add คืนฝันปีศาจน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.