มะเร็งปอด...ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน






ผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไร...


ผู้ป่วยเป็นมะเร็งของปอดจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไร
แล้วแต่เวลาที่ตรวจพบและเริ่มรักษาว่ามะเร็งนั้นอยู่ในระยะไหน
การแบ่งระยะของมะเร็งจึงมีความสำคัญในการพยากรณ์โรค
โดยเฉพาะมะเร็งชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer หรือ NSCLC)
ส่วนมะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer หรือ SCLC)
นั้นการแบ่งระยะของโรคมีความสำคัญน้อยกว่า
เพราะโรคแพร่เร็วและผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ระยะสั้นๆ หลังเป็นโรค
การรักษาก็ยังไม่ได้ผลดี

มะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer หรือ SCLC) นั้น
การแบ่งระยะของโรคเราแบ่งออกเป็นเพียง 2 ระยะเท่านั้นคือ

1.ระยะโรคจำกัดที่ (Limited Stage)
หมายถึง มะเร็งอยู่ในปอดข้างหนึ่งและถ้าไปที่ต่อมน้ำเหลืองก็ไปที่ทรวงอกด้านเดียวกัน
ผู้ป่วยพวกนี้มีชีวิตอยู่ได้ 2 ปีราวๆ 20%
2.ระยะที่โรคกระจายไปแล้ว (Extensive Stage)
หมายถึง โรคกระจายไปยังปอดด้านตรงข้ามแล้ว หรือกระจายไปอวัยวะอื่นแล้ว
ผู้ป่วยพวกนี้อยู่ได้ 2 ปีประมาณ 5%

สำหรับมะเร็งชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer หรือ NSCLC) นั้น
การพยากรณ์โรคดีกว่ามากโดยเฉพาะผู้ป่วยที่พบในระยะแรก (Stage I)

การแบ่งระยะของมะเร็งพวกนี้ที่นิยมกันใช้เรียกว่า TNM System
(T คือ ขนาดของก้อนมะเร็ง,
N คือ ไปต่อมน้ำเหลืองแล้วหรือไม่ ไปที่ต่อมไหน,
M คือ มีการกระจายไปอวัยวะอื่นแล้วหรือยัง)ดังรูป

ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ






มะเร็งปอดในปัจจุบันมีความสำคัญมากขึ้นในประเทศไทย เพราะเป็นสาเหตุ
การตายจากมะเร็งเป็นอันดับ 1 ทั้งในเพศชายและหญิง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา
มีการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติของมะเร็งปอดที่ผู้เขียนสังเกตคือ

คนไข้มาในระยะที่โรคยังไม่แพร่กระจายมากขึ้น คือมาด้วยภาพเอกซเรย์ปอดผิดปกติ
เห็นก้อนหรือเป็นจุด และคนไข้ไม่มีอาการเช่น อาการไอ ไอเป็นเลือด หรือ
น้ำหนักลด คนไข้เหล่านี้มีโอกาสหายขาดจากการผ่าตัดมากขึ้น คือ
ถ้าเป็นมะเร็งในระยะที่ 1 การผ่าตัดเพียงอย่างเดียวอาจทำให้หายถึง 75%
โดยไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงหลังผ่าตัด

เพศหญิงเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น โดยมากเป็นมะเร็งชนิด Adenocarcinoma
ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ทั้งการสูบเองหรือได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น

การตรวจในปัจจุบันที่ช่วยวินิจฉัยมากคือ การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
สามารถบอกถึงโอกาสว่าจุดหรือก้อนที่ผิดปกติมีโอกาสเป็นมะเร็งมากน้อยเพียงใด
โดยอาศัยลักษณะของก้อน เช่น ไม่มีโพรงในก้อน ไม่มีแคลเซียมในก้อน
ขอบของก้อนไม่เรียบ มีลักษณะลุกลามเข้าไปในเนื้อปอดปกติ

การตรวจด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ เช่น PET Scan ยังไม่แนะนำในมะเร็งระยะแรก
เพราะเครื่องมือชนิดนี้ไม่สามารถแยกก้อนมะเร็งออกจากก้อนที่เป็น
การอักเสบติดเชื้อได้ชัดเจน ต้องอาศัยการตรวจเนื้อเยื่อจึงจะได้ผลแน่นอน
จึงไม่เปลี่ยนแผนการรักษา ยกเว้นแต่ในรายที่คาดว่าไม่พบระยะแรก เช่น
ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดโตมาก หรือมีน้ำ ในช่องปอด การตรวจชนิดนี้จะมี
ประโยชน์ในการหาว่า มีมะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นหรือไม่ เช่น ตับ
สมอง ต่อมหมวกไต และต่อมน้ำเหลืองที่โตมีความน่าสงสัยว่าเป็นมะเร็งสูงหรือไม่
ซึ่งอาจต้องตัดเนื้อต่อมน้ำเหลืองมาตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งจริง
โดยการส่องกล้องที่เรียกว่า Mediastinoscopy

การเจาะก้อนเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งก่อนการผ่าตัดโดยการใช้เข็มเล็ก ๆ
ที่เรียกว่า Fine needle aspiration-FNA สำหรับคนไข้ที่คาดว่าผ่าตัดได้
โดยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจสมรรถภาพปอด อาจไม่จำเป็นต้องทำ
เพราะไม่เปลี่ยนแผนการรักษา เพราะถ้าหากพบมะเร็งก็ต้องผ่าตัด
แต่ถ้าผลออกมาไม่พบมะเร็ง ก็ต้องผ่าตัดเหมือนกัน เพราะผลลบไม่สามารถ
ตัดการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งออกไป ในคนไข้ที่สมรรถภาพปอดไม่ดี
หรือการตรวจคาดว่าเป็นมะเร็งแต่เป็นระยะที่ไม่หายด้วยการผ่าตัด
การได้การวินิจฉัยแน่นอนว่าเป็นมะเร็งปอดก็ย่อมมีประโยชน์
การเริ่มรักษาด้วยยา หรือฉายแสงต่อไป

การตรวจอวัยวะอื่นก่อนผ่าตัดมีความจำเป็นเพื่อความปลอดภัยในการผ่าตัด
เช่น การตรวจหาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน อาจกระทำโดยการซักประวัติ
ว่ามีอาการแน่นหน้าอกเมื่อออกกำลังกายหรือไม่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ในขณะพักและขณะออกกำลังกาย การฉีดสีเส้นเลือด หัวใจ

มะเร็งปอดแบ่งเป็นสองชนิด คือ ชนิดเซลล์เล็ก และชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก
ชนิดหลังพบบ่อยกว่า และเป็นมะเร็งที่อาจหายขาดด้วยการผ่าตัด การผ่าตัด
จะพิจารณาเฉพาะในคนไข้ที่การตรวจก่อนผ่าตัดคาดว่าเป็นมะเร็งระยะต้น ๆ
(ไม่เกินระยะที่ 2 ไม่มีต่อมน้ำเหลืองโตใน Mediastinum) และคนไข้แข็ง
แรงพอที่จะทนการผ่าตัดปอดบางส่วนออกได้


การผ่าตัดปอดในปัจจุบันทำได้สองวิธี คือการผ่าตัดผ่านแผลเปิดในทรวงอก
ข้างที่มีมะเร็ง ผ่านช่องระหว่างซี่โครง และการผ่าตัดโดยใช้กล้องโดยเจาะรู 2-3 รู
ที่ทรวงอกที่ใส่กล้องและเครื่องมือ แต่ก็ยังต้องมีแผลเปิดที่ทรวงอก
เพื่อช่วยในการผ่าตัดและเพื่อนำปอดที่ตัดออก การผ่าตัดแบบเปิดเป็นการผ่าตัด
มาตรฐาน มีอัตราเสี่ยงต่ำและไม่มีผลเสียระยะยาวต่อการหายใจและ
การเคลื่อนไหวของแขน และสามารถใช้ผ่าตัดกับมะเร็งปอดทุกระยะ
แม้ว่าคนไข้เคยผ่าตัดปอดมาก่อน มีพังผืดในช่องปอด หรือคนไข้ที่เคยฉายแสง
รังสีที่ทรวงอกหรือปอดมาก่อน ข้อดีของการผ่าตัดด้วยกล้องคือ
อาการเจ็บแผลน้อยกว่า อยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า และสามารถกลับไปทำงานได้เร็วกว่า
แต่การศึกษาพบว่าคนไข้ที่ผ่าตัดด้วยกล้องมีระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล
แตกต่างกับการผ่าตัดแบบเปิดไม่มาก คือประมาณ 1-2 วันเท่านั้น
และสมรรถภาพของปอดในระยะยาวก็ไม่ดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
ข้อจำกัดของการผ่าตัดด้วยกล้องคือ ไม่สามารถทำได้อย่างปลอดภัยถ้าหาก
ก้อนใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร ก้อนติดกับขั้วปอด มีพังผืดในช่องปอด
ก้อนติดกับผนังทรวงอก เคยได้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงมาก่อน
สำหรับการเราะต่อมน้ำเหลืองใน Mediastinum การเราะด้วยกล้องก็อาจทำได้
แต่ผลของการผ่าตัดยังคงต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบกับการเราะผ่านแผลเปิดทรวงอก
ซึ่งมักจะเราะได้มากกว่าทำให้ผลของการผ่าตัดจัดระยะของมะเร็งถูกต้องขึ้น
และมีผลดีต่อความรอดชีวิตหลังผ่าตัด

การผ่าตัดปอดมีหลักการคือ การตัดปอดกลีบที่มีก้อนมะเร็งอยู่พร้อมกับ
เราะต่อมน้ำเหลืองใน Mediastinum ออกด้วย ถ้าหากเนื้องอกอยู่ในหลอดลมใหญ่
ของปอดข้างนั้นก็อาจต้องตัดปอดทั้งข้างออก ซึ่งคนไข้ที่แข็งแรงเป็นปกติ
สามารถทนการตัดปอดอีกได้หนึ่งข้างโดยไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตหรือ
ทำให้เป็นทุพพลภาพ ในคนไข้ที่สมรรถภาพปอดไม่ดี เช่น อายุมาก หรือ
เป็นโรคถุงลมปอดโป่งพอง การตัดปอดส่วนที่มีก้อน มะเร็งออกพร้อมเราะ
ต่อมน้ำเหลืองก็เป็นการรักษาที่ได้ผลดี แม้ว่าโอกาสที่มะเร็งจะกำเริบใกล้
บริเวณปอดที่ถูกตัดออกมีมากกว่าการตัดปอดเป็นกลีบ

อัตราเสี่ยงการผ่าตัดไม่สูงมากนัก ในคนไข้ปกติที่แข็งแรงพอควรอัตราตาย
จากการผ่าตัดของการตัดปอดออก 1 กลีบเท่ากับประมาณ 2-3%
และการตัดปอดออกทั้งข้างมีอัตราตายประมาณ 5%

การตัดปอดออก 1 กลีบมีผลต่อการหายใจไม่มากนัก ความแข็งแรงจะกลับมา
เท่ากับก่อนผ่าตัดหลังการผ่าตัดประมาณ 6 เดือน

การใช้ชีวิตหลังผ่าตัด คนไข้สามารถออกกำลังกายเบา ๆ เช่น
การเดินได้ภายใน 3-4 วันหลังผ่าตัดหลังจากแพทย์นำท่อระบายออกจาก
ทรวงอกแล้ว การออกกำลังกายจะทำได้มากเมื่อกล้ามเนื้อทรวงอกติดดีแล้ว
คือประมาณ 2 เดือน คนไข้ต้องพยายามออกกำลังกายที่หัวไหล่และแขน
ข้างเดียวกับแผลผ่าตัด เพื่อป้องกันไหล่ติดหลังผ่าตัด ซึ่งรักษาให้หายได้ยาก

หลังผ่าตัดสามารถใช้ชีวิตเหมือนปกติ สามารถออกกำลังกายได้โดยไม่มีข้อจำกัด
แต่คนไข้ต้องหยุดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอด เช่นการสูบบุหรี่ โดยทั่วไป
ต้องพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อตรวจติดตามโรค เพราะมะเร็งปอดจะมีโอกาส
แพร่กระจายหลังผ่าตัดภายใน 5 ปีแรก ถ้าเกิน 5 ปีแล้วไม่มีมะเร็งกำเริบ
ก็ถือว่าหายขาดได้ แพทย์จะติดตามด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย
โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลืองที่เหนือกระดูกไหปลาร้า ตรวจหาน้ำในช่องปอด
การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดและการ ถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก
การตรวจด้วยการเจาะเลือด เช่น หา CEA level การตรวจด้วย PET scan
ในคนไข้ที่โรคกำเริบก็อาจรักษาต่อได้ด้วยการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด
การฉายแสง

ข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติชัย เหลืองทวีบุญ
หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.









25 มิถุนายน 2551

เรานอนมองไฟเพดานอยู่บนเตียงผ่าตัด ผนังทุกด้านเป็นสีขาว....
รวมจิตไม่ให้ฟุ้งด้วยการสวดคาถาบูชาพระคเนศร
ปล่อยให้พยาบาล 7-8 คนจัดการกับร่างกายของเราอย่างที่เขาต้องการ
แขนทั้งสองถูกมัดตรึงเหมือนกางเขน
คนหนึ่งเอาอะไรมาหนีบที่นิ้วชี้ซ้าย
คนหนึ่งพันที่วัดความดันแบบอัตโนมัติต้นแขนซ้าย
สองคนสาละวนแปะวงกลมๆ5-6แผ่นอยู่ที่หน้าอก
วิสัญญีแพทย์เข้ามาสวัสดี "ผมขอเปิดเส้น เดินยาหน่อยนะครับ"
เราพยักหน้า ไม่กลัวเข็ม แต่ไม่มองดีที่สุด
หมอมัดเลือกจุดที่จะแทงเข็มแล้วพอใจตรงท้องแขนขวา
ชอบใจตรงกดเข็มเข้าเส้นเลือดอย่างมั่นใจที่สุดเพียงครั้งเดียว
(เวลาโดนเจาะเลือด ไม่เคยโดนทีเดียวเลยซักที!)

หมดผ่าตัดเข้ามาในห้องด้วยชุดเต็มยศ
เข้ามาทักทายแล้วพูดกับเราว่า
"ผมจะผ่าปอดขวาก่อนนะ
ตัดเอาจุดสองจุดนั้นออกมาส่งให้ LAP ตรวจ
LAPจะแจ้งผลในหนึ่งชั่วโมงว่าใช่มะเร็งหรือไม่
ถ้าใช่.....ผมจบไม่ผ่าต่อ
ถ้าไมใช่...ผมจะผ่าข้างซ้ายต่อ ตัดปอดซ้ายล่างออก 1 กลีบ
เอาตามนี้นะครับ........เราพยักหน้า

จากนั้นเราก็หลับตา ได้ยินเสียงเคลื่อนไหวรอบๆตัวอยู่สักพัก
.....แล้วหลับไปตอนไหนไม่รู้......








เรารู้สึกตัวตื่นจากหลับไหลยาวนาน 6 ชั่วโมงในห้อง ICCU ด้วยเสียงเดิม
หมอเขย่าแขนเรียก..."พี่ พี่ ...ผมเอาออกหมดแล้วนะ"
ในความมึนงง ยังคงถามสิ่งที่ใจจดจ่อ.."สองข้างเหรอ ?"
หมอหัวเราะ "สองข้างเลยพี่..ผมตัดต่อมน้ำเหลืองออกมาอีก 10 จุด..แถมฟรี!"

บัดดล..ประสาทรับความรู้สึกทุกจุดเริ่มทำงาน
ที่จมูกมีสายออกซิเย่น
นิ้วชี้ซ้ายยังมีอะไรหนีบอยู่
ท้องแขนขวาติดเข็มห้อยน้ำเกลือ
ข้างล่างถูกสวนปัสสาวะ
สีข้างทั้งสองข้างถูกเจาะแทงสายเดรนน้ำเหลือง
รอยกรีดผ่าตัด กลับอยู่ด้านหลัง เฉียงเป็นแนวซี่โครงใต้ปีกแขนทั้งสองข้าง
และคุณพระคุณเจ้า...เรากำลังทิ้งน้ำหนักตัวบดทับแผลนั้นอยู่
โอ....ลองขยับตัวดู...ทุกจุดกรูกันเข้าจู่โจมอย่างพร้อมเพียง
สถานการณ์แบบนี้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการสั่งให้ตัวเองหลับ
เพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้ความเจ็บปวดทั่วสารพางค์....


ตื่นอีกครั้งด้วยพยาบาลมาจับแขนซ้ายยกไม่ปราณีปราศรัยแม้คนไข้หลับอยู่
...อืมมม...เราคราง
...ขอวัดความดันหน่อยนะคะ..
...ขอวัดไข้หน่อยนะคะ..

...อออออย่า...อย่ามาถูก...เจ็บทนไม่ไหวแล้วววววว!!!...น้ำตาเริ่มปริ่ม
พยาบาลผงะค้าง..ผลุนผลันต่อโทรศัพท์

..หมอคะ..มาดูคนไข้หน่อย..ปวดมาก
ไม่ถึง 5 นาที เสียงหมอก็ดังขึ้น...
..ผมสั่งให้ฉีดมอร์ฟีนไว้แล้วไง..
..ไม่ได้สั่ง..เสียงเปิดแฟ้ม
...เถียงจริงๆ..
...ก็หนูไม่ผิด หนูก็เถียงซิ..
...เอาปากกามา..

นาทีถัดมาพยาบาลไม่รอให้หมอเขียนเสร็จ เธอก็ปักเข็มลงที่สายน้ำเกลือ
2 วินาทีเท่านั้น มันตีขึ้นหน้าอก...และในวินาทีต่อมามันตีลงไปถึงนิ้วเท้า

โอวววว.....ทำไมเตียงมันนุ่มขึ้นอย่างนี้ล่ะ
...เราขยับตัวได้ 1 ที ก็หลับต่อไป......พร้อมรอยยิ้มมุมปาก



















 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2551
17 comments
Last Update : 26 มิถุนายน 2554 12:34:16 น.
Counter : 6171 Pageviews.

 

ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ขอให้หายไวไวนะค่ะ

 

โดย: Kaew IP: 58.9.80.124 8 กรกฎาคม 2551 11:43:11 น.  

 

ขอเป็นกำลังใจให้ด้วยคนค่ะ

 

โดย: พัทธนันท์ IP: 58.136.36.34 8 กรกฎาคม 2551 13:06:40 น.  

 

ข้อมูลดีมาก ๆ ค่ะ

คุณพระรักษานะคะ

 

โดย: น้านก (Aunti-นก ) 8 กรกฎาคม 2551 14:39:33 น.  

 

.....กำลังใจคอยส่งให้อยู่เสมอ
แม้ไม่เจอก็คิดถึงและห่วงหา
ให้โรคภัยที่แผ้วพานผ่านเข้ามา
ออกไปจากกายาอย่าใกล้กราย

ให้สุขกายสุขใจต่อไปนี้
ทุกข์ที่มีเคยผ่านมาให้ห่างหาย
มีความสุขสนุกสบายทั้งใจกาย
ตั้งแต่นี้ต่อไปตลอดกาล.....

 

โดย: ปลาทูน่าสีชมพู 8 กรกฎาคม 2551 16:25:29 น.  

 

เช่นกันกับพี่สาว กำลังใจมีเป็นเข่ง
ขนมาเป็นรถบรรทุกเลยคะ

เรื่องโรคร้ายเหล่านี้รายละเอียดมันดูน่ากลัว แต่ควรศึกษาเรียนรู้เอาไว้

ขอให้หายไว ๆ นะคะ พักฟื้น รักษาใจ รักษากายไว้ให้มั่น
เพื่อตัวเอง เพื่อคนที่เรารัก และรักเรานะคะ

 

โดย: แม่มด (GreenWitch ) 8 กรกฎาคม 2551 21:26:40 น.  

 

เป็นกำลังใจให้นะค่ะ
สู้ๆนะค่ะ

 

โดย: บางส้มเปรี้ยว 8 กรกฎาคม 2551 23:07:37 น.  

 

เป็นข้อมูลที่ดี และน่าจะมีประโยชน์กับทุกคนที่เข้ามาอ่าน
ในกรณีของคุณ ถือว่าโชคดีที่หมอจำต้องผ่าปอดข้างซ้ายต่อ
หมดเคราะห์หมดโศกแล้วนะครับ
เอาไว้วันที่ 25 มิ.ย. 56 เรามานัดฉลองกัน เนอะ

 

โดย: BPI IP: 125.26.3.26 8 กรกฎาคม 2551 23:52:39 น.  

 



มาเป็นกำลังใจและขอให้ป้าวีดีขึ้นเรื่อยๆนะครับ

 

โดย: ลุงแอ๊ด 9 กรกฎาคม 2551 11:23:50 น.  

 

มาเติมกำลังใจ
เดินหน้าสู้ไปไม่ไหวหวั่น
ไม่ได้สู้ลำพัง

 

โดย: Beee (Beee_bu ) 9 กรกฎาคม 2551 13:52:01 น.  

 



เติมกำลังใจให้ป้าวีค่ะ

 

โดย: fulgurant 10 กรกฎาคม 2551 1:43:41 น.  

 



ขอบคุณทุกๆท่านที่เข้ามาให้กำลังใจป้าวีค่ะ
วันนี้...ป้าวีเจ็บน้อยลงมากแล้วค่ะ...

 

โดย: AuntieV 10 กรกฎาคม 2551 7:28:11 น.  

 

Take care of yourself,
whatever you do...
There aren't many people
as special as you !

 

โดย: BPI IP: 125.26.0.69 10 กรกฎาคม 2551 8:47:17 น.  

 

มาให้กำลังใจ
ขอให้แผลแห้งและไม่มีปัญหาเรื่องติดเชื้อ
ขอให้ปอดขยายตัวได้เต็มทีในเร็ววัน
ขอให้ไอน้อยลง เดี๋ยวจะไอแทนให้ (ถ้าแลกกันได้)

 

โดย: ซูม IP: 124.120.16.217 16 กรกฎาคม 2551 21:22:05 น.  

 

...

เริ่มสงสัยว่า
ใครที่เคยเป็นวัณโรคปอด
ลามไปจนถึงวัณโรคต่อมน้ำเหลือง
จะมีโอกาสกลายสภาพไปจนถึงขั้นมะเร็งด้วยมั๊ย ...
เดี๋ยวนี้ ไม่เคยอยากเจอหมอเลย ...

 

โดย: lastmoon 21 กรกฎาคม 2551 8:35:11 น.  

 

สู้ๆนะคะ

ตอนนี้อากงเราก็ เปงมะเร็งขั้วปอดระยะสุดท้าย


เราก็ ขอ กำลัง ใจบ้าง เหมือนกานนะ

ToT

 

โดย: แป้งป๋อง IP: 203.131.211.137 22 เมษายน 2552 21:34:40 น.  

 

ตอนนี้คุณแม่ของฉันจะต้องได้รับการผ่าตัดเหมือนคุณ แต่คุณแม่เป็นคนขี้กลัว ฉันไม่รู้จะทำอย่างไรดี สำหรับคุณฉันเป็นกำลังใจให้นะคะ

 

โดย: ศศิชาฏา แก้วดวงน้อย IP: 223.206.176.37 24 มีนาคม 2554 15:55:20 น.  

 

เป็นเหมือนกันค่ะ ตอนแรกไม่มีอะไรเลย ตรวจสุขภาพประจำปีเค้าบอกเจอจุดที่ปอดขวาบน ก็เลยไปหาหมอโดยที่ไม่มีอาการอะไรเลย หลังจากนั้นก็ตรวจเสมหะ3วันไม่เจอเชื้อวัณโรค เอ็กเรย์ ทำซีทีสแกนพบว่าจุดมีขนาด 2เซ็นต์ หมอนัดตัดชิ้นเนื้อปอด 5ชิ้นหลังจากตัดชิ้นเนื้อปอดไปตรวจเริ่มมีอาการไอ ไอหนักมากกก แต่ผลตรวจชิ้นเนื้อคือไม่พบ วัณโรค และเชื้อมะเร็งหลังจากนั้นหมอก็นัดเรื่อยๆ ทำซีทีสแกนอีกรอบพบว่าจุดมีขนาดใหญ่ขึ้นหมอไม่ไว้วางใจ เลยส่งไปหาหมอเฉพาะทางหมอบอกอาจจะเป็นเนื้องอกกรือมะเร็งก็ได้เค้ายังไม่ฟันธงแต่รูปแผ่นเอ็กซ์เรเค้าบอกว่าเหมือนมันกำลังจะวิ่งเข้าหน้าอกแล้วหมอก็ถามตัดเลยไม๊ เราก็ตัดสินใจบอกหมอว่าตัดเลยค่ะ หมอก็ถามอีกว่าจะตัดเฉพาะจุดหรือตัดกลีบนึง เราก็บอกกลีบนึงเลบค่ะกลัวถ้าเกิดเป็นมะเร็งแล้วมันจะกระจายถ้าตัดเฉพาะจุด หมอบอกคิดถูกแล้ว เพราะถ้าเจอมะเร็งก็ต้องกลับมาตัดใหม่อีกรอบถ้ารอบแรกเลือกตัดเฉพาะจุด หมอนัดรอบแรกนัด16 ธ.ค 58 กะลังจะเข้าห้องผ่าตัดแต่ดันไอออกมาแบบมีสเลด เท่านั้นแหละหมอดมยาให้เลื่อนการผ่าตัดออกไปเนื่องจากสเลดมีสีเขียวกลัวติดเชื้อหลังการผ่าตัด ให้เราพบแพทย์เพื่อรักษาหวัดให้หายบวกกับโปแตสเซี่ยมต่ำผ่าตัดไม่ได้ หลังจากนั้นนัดผ่าอีกที 6 ม.ค 59 รอบนี้ได้ผ่าค่ะ ผลสรุปออกมาเป็นมะเร็งระยะที่1ค่ะ พักฟื้นที่โรงบาล10วันค่ะและก็พักที่บ้าน1เดือน ตอนนี้ทำงานแล้วค่ะแต่หมอก็นัดอยู่ตลอดเนื่องจากหลังผ่าได้6วันหมอก็พาไปอัลต้าซาวหาจุดอื่นว่ามีอีกไม๊ สรุปเจอจุดที่ที่ตับขวา และปอดกลางอีกคะ ทีนี้นัดทำซีทีสแกนอีกรอบ ที่ตับขนาดยังเท่าเดิมค่ะ
แต่ที่ปอดมีขนาด 6 มิล แต่หมอแจ้งว่าอาจจะเป็นผังผืดหรือแผลที่มันนูนก็เป็นได้ แต่ก็นัดเอ็กซเรอยู่เรื่อยๆค่ะ อาการตอนนี้เหลือไออย่างเดียวค่ะ ไอจนเจ็บข้างในไปหมดไอแบบมีสเลด ส่วนสีแล้วแต่สถานการณ์เลยค่ะถ้าอากาศเย็นจะเป็นสีเขียว ถ้าปกติจะเป็นสีขาวแต่ยังรู้สึกเจ็บๆแผลบ้างบางครั้งเสียวๆแปร๊ปๆ

 

โดย: จ๋า IP: 49.229.35.242 12 กุมภาพันธ์ 2559 21:01:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


AuntieV
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Free Hit Counter
online counter
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
8 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add AuntieV's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.