Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
26 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 

เที่ยวสุพรรณ....กับด่วนขุนแผน ตอนที่ 2

จากกระทู้ตอนแรก มีหลายๆ ท่านให้ความสนใจและสอบถามว่า เมืองสุพรรณบุรีมีรถไฟไปถึงด้วยหรือ ?

จากข้อมูลสั้นๆ ในหนังสือ "รถจักรและรถพ่วงประวัติศาสตร์" ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์เผยแพร่ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน 2534 กล่าวไว้ว่า
...........

ทางแยกสายหนองปลาดุก - สุพรรณบุรี

ทางสายนี้แต่เดิม วางแผนจะสร้างจากหนองปลาดุก ผ่านสุพรรณบุรี แล้วต่อไปบรรจบทางสายเหนือที่สถานีบ้านป่าหวาย จังหวัดลพบุรี เพื่อเป็นทางติดต่อตรงระหว่างสายเหนือกับสายใต้โดยไม่ผ่านกรุงเทพฯ และในระยะยาว ก็วางแผนจะสร้างทางแยกจากสุพรรณบุรีไปทางตะวันตกเฉียงเหนือผ่าน กำแพงเพชร ตาก ไปสุดพรมแดนที่แม่สอด แต่ได้รับงบประมาณให้สร้างเพียงแค่สุพรรณบุรี งานส่วนที่เหลือจึงได้ระงับไปนับแต่นั้นมา

สำหรับทางตอนหนองปลาดุก - สุพรรณบุรี นี้ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2493 แล้วเสร็จเปิดการเดินรถได้ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2506 เป็นระยะทางทั้งสิ้น 78 กิโลเมตร สิ้นค่าก่อสร้างรวม 58,069,153 บาท
.......................




พอได้เวลา นายสถานีชุมทางหนองปลาดุก ยกธงเขียวให้สัญญาณปล่อยขบวนรถพิเศษออกจากย่านสถานี และเจ้าหน้าที่สถานี มีการโบกมือส่งให้กับขบวนรถไฟไปสุพรรณบุรีเที่ยวกลางวันนี้ด้วย



ขบวนรถแล่นผ่านประแจเข้าสู่รางประธาน และผ่านประแจรางแยกเข้าเส้นทางสายสุพรรณบุรี ส่วนประแจทางแยกไปสายกาญจนบุรีนั้น จะเห็นอยู่ข้างหน้าครับ



ป้ายบอกระยะทางแจ้งไว้ว่า สุพรรณบุรี 78 กิโลเมตร

นั่นหมายความว่า สถานีแห่งต่อไปบนเส้นทางสายนี้จะอยู่ห่างกันถึง 78 กม.ทีเดียวครับ จะไม่มีสถานีใดๆ ตั้งอยู่ระหว่างทางอีกเลย นอกจากที่หยุดรถต่างๆ เท่านั้น

นับว่าเป็นระยะทางระหว่างสถานีที่ยาวที่สุดในประเทศไทย



ด้วยระยะทางระหว่างสถานีที่ตั้งอยู่ห่างกันแบบนี้ ทำให้การเดินรถไฟบนเส้นทางช่วงนี้ จะไม่มีขบวนรถใดๆ มาวิ่งร่วมทางอีก เพราะไม่มีประแจให้หลีกกันระหว่างทางเลย

หากจะมีรถไฟขบวนใดรอเข้าเส้นทางไปสุพรรณบุรีอีก ต้องรอให้ขบวนที่วิ่งอยู่นั้นออกมาถึงชุมทางหนองปลาดุกก่อน ถึงจะแล่นเข้าไปได้

นั่นเป็นข้อกำหนดที่ขบวนรถไฟพิเศษขบวนนี้ ต้องเร่งออกจากเส้นทางสายสุพรรณบุรี ก่อนเวลาขบวนรถปกติจะเข้าสู่เส้นทางสายนี้ในช่วงเย็นครับ



นอกจากนั้น ด้วยสภาพทางที่ไม่ค่อยจะได้รับการบำรุงรักษาเท่าที่ควร เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ ทำให้ขบวนรถที่วิ่งบนเส้นทาง สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 50 กม./ชม. แถมบางแห่งยังมีป้ายกำหนดความเร็วไว้ไม่เกิน 30 กม./ชม.อีกด้วย

ลองทายกันสิครับว่า รถด่วนขุนแผนขบวนนี้ออกจากชุมทางหนองปลาดุกเวลาประมาณ 09.30 น. ไปถึงสถานีสุพรรณบุรีประมาณกี่โมง ?



ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ เส้นทางสายนี้มีจุดตัดหลายแห่ง ซึ่งไม่มีเครื่องกั้นทาง เนื่องจากมีเพียงขบวนรถไฟผ่านเพียงช่วงเช้ากับช่วงเย็นเท่านั้น จึงเป็นความเคยชินของชาวบ้านที่คิดว่าไม่มีรถไฟวิ่งผ่านอีกตลอดทั้งวัน

ดังนั้น พอมีขบวนรถพิเศษวิ่งไปบนเส้นทางช่วงนอกเวลาปกติ จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ครับ และรถไฟคันหนึ่ง ราคานับสิบล้านบาท

ปัญหานี้ ทำให้ทีมผู้จัดรายการทัวร์ต้องรวมหัวกันคิดหาวิธีแก้ไข และได้ผลเป็นที่พอใจ โล่งใจเมื่อรายการทัวร์สิ้นสุด



การประกันความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุนั้น ทางผู้จัดรายการของบริษัท ไปดำเนินการประกันภัยกลุ่มให้กับสมาชิกที่สำรองที่นั่งและชำระเงินแล้วทุกคน นั่นเป็นส่วนที่ลดภาวะความเสี่ยงในกรณีเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดฝัน

ส่วนผู้ร่วมจัดอีกรายนั้น ลงทุนสำรวจพื้นที่จริงล่วงหน้าตามข้อมูลแผนที่ระบบ GIS ระบุ เก็บภาพมาหารือ แล้วขอความช่วยเหลือจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง มาช่วยดูแลจุดตัดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ อยู่ประจำ โดยอาศัยความสัมพันธ์อันดีจากสมาชิกก๊วนที่รู้จักผู้รับผิดชอบของหน่วยงานดังกล่าว ผลก็ปรากฎในวันเดินทางจริงแบบนี้ครับ

สร้างความฮือฮากับลูกทัวร์ที่ไม่ทราบเบื้องหลังการเตรียมการแบบนี้ ถึงกับปรบมือกันเกรียวกราว



แต่ละจุดที่คาดว่ามีความเสี่ยงสูง และมีเจ้าหน้าที่คอยอยู่ดูแล ประสานงานโดยทาง ว.ทั้งขาไปขากลับ ก็อดไม่ได้ที่จะฝากน้ำใจแก้เหนื่อยแก่น้องๆ อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยเหล่านี้ล่ะ

แต่เจ้าของรถที่ถูกกักเอาไว้ คงบ่นกันพึมพำ ต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้



กูรูเรื่องทางที่นั่งไปด้วย บอกว่า เส้นทางสายสุพรรณบุรี ใช้รางที่รื้อมาจากเส้นทางรถไฟสายมรณะช่วงสถานีนิเถะ ใกล้ด่านพระเจดีย์สามองค์ ลงมาถึงสถานีน้ำตก หลังจากกองกำลังสัมพันธมิตรได้ตกลงขายเส้นทางรถไฟสายไทย - พม่า ในส่วนที่อยู่ประเทศไทย พร้อมรถจักรและล้อเลื่อนในราคา 50 ล้านบาทไทยในสมัยนั้น และกรมรถไฟ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีสภาพชำรุดมาก เนื่องจากก่อสร้างอย่างเร่งด่วนเพื่อการสงคราม คันทางทรุด สะพาน ไม้หมอนถูกไฟป่าไหม้เสียหาย ทำให้ไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ

รางที่รื้อออกเนื่องจากไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถนี้ นอกจากจะนำไปซ่อมเส้นทางสายต่างๆ ที่ชำรุดด้วยฝีมือทิ้งระเบิดจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว ยังมีเหลือนำไปก่อสร้างเส้นทางสายสุพรรณบุรี และเส้นทางสายท่าข้าม - ท่าขนอน ไปยังเกาะภูเก็ต (ท่าขนอน เป็นชื่อเดิมของ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี)

แต่โชคไม่มา วาสนาไม่ถึง รัฐบาลชุดต่อมา ได้ตัดงบประมาณก่อสร้างเส้นทางรถไฟทั้งสองสายนี้ลง เพื่อนำไปใช้ด้านอื่นที่จำเป็นกว่า ความฝันนั่งรถไฟข้ามทะเลไปยังเกาะภูเก็ต และต่อจากสุพรรณบุรีไปลพบุรี เลยค้างเติ่งจนถึงทุกวันนี้



สองข้างทางนั้น น่าสนใจครับ ในช่วงแรกๆ จะเป็นไร่อ้อย สลับกับสวนผักที่ส่งไปจำหน่ายยังเมืองกรุง อาจหลุดไปอยู่ร้านอาหารไทยในต่างประเทศบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ ?

ช่วงนี้หน้าหีบอ้อยด้วยสิ ไม่ทราบว่าน้ำตาลแพงได้อย่างไร ?



สวนกล้วยก็มีหลายขนัดทีเดียว ดินดีจริงๆ ครับ เหอๆๆๆ



ดั้นด้นผ่านสวน ผ่านไร่ชาวบ้านได้สักพัก เราก็ผ่านอดีตสถานีแรกบนเส้นทางสายนี้ ปัจจุบันกลายเป็นที่หยุดรถครับ ชื่อว่า ยางประสาท



ติดตามด้วยอดีตสถานี ดอนขุนวิเศษ ที่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีใครโบกมือยาวเกินมนุษย์มนา รอขึ้นรถไฟตรงที่นี่หรือเปล่า ?

โดยเฉพาะยามค่ำหรือเช้ามืดน่ะครับ



เริ่มเฉียดชุมชนเมืองครับ อดีตสถานีรถไฟกำแพงแสน ที่ค่อนข้างทำใจยากสักหน่อย เมื่อทิ้งร้างไป แต่รถไฟยังจอดรับ หากมีผู้โดยสารรอโบกขึ้นรถ

ที่หยุดรถดอนขุนวิเศษ ก็ทำนองเดียวกัน แต่ที่พิเศษไม่เหมือนใครสำหรับเส้นทางสายสุพรรณบุรี ก็คือ ผู้โดยสารรอโบกขึ้น-ลงรถตามรายทางได้ครับ ส่วนใหญ่จะเป็นริมทางตัดรถไฟนั่นแหละ โล่ง สะดวกหน่อย เพราะรถไฟวิ่งด้วยความเร็วแค่ 50 กม./ชม.เท่านั้นเอง หยุดได้ค่อนข้างสะดวก



ภาพแปลงเพาะชำไม้ดอกเล็กๆ ริมทางรถไฟ รอผู้สนใจซื้อนำไปประดับสวนในบ้าน ที่ อ.กำแพงแสน



ที่หยุดรถ ทุ่งฟัก ชื่อสถานที่ใกล้เคียงเนินประหลาดด้านขวามือ ที่มีลักษณะ "ภูเพียง" ไม่เล็กไม่ใหญ่ ผุดขึ้นกลางทุ่งราบ พอตอบได้ไหมครับว่าเป็นเนินอะไร ?

ด้านซ้ายทางก็มีเหมือนกันครับ



ขอเฉลยมิให้คาใจตอนกลับกรุงเทพฯ ว่า เป็นบ่อขยะฝังกลบของบริษัท กลุ่ม 79 จำกัด รับขยะที่ผ่านการคัดแยกวัสดุเพื่อทำ recycle ไปแล้ว นำมาฝังกลบที่นี่ ซึ่งมีระบบป้องกันรั่วซึมตามหลักวิชาการ และมีระบายความร้อนจากขยะนำไปใช้กับไฟฟ้าขนาดเล็กได้อีกด้วย

นานเข้า...ดินแต่ละชั้นที่กลบบรรดาขยะเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น "ภูเพียง" ดังกล่าว

ถ้ารักษ์กรุงเทพฯ ช่วยกันลดปริมาณขยะกันด้วยนะครับ



มาถึงที่หยุดรถอีกแห่งหนึ่งล่ะครับ ชื่อว่า ทุ่งบัว

นอกจากจะอยู่ใกล้ชุมชนแล้ว ยังอยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อีกด้วย



และที่หยุดรถอีกแห่งหนึ่ง ท่าทางภูมิฐานกว่าแห่งอื่น เพราะสร้างทีหลังเพื่อนครับ เรียกกันในฐานที่เข้าใจตามประสาคนท้องถิ่นว่า โรงเรียนการบินกำแพงแสน



จากโรงเรียนการบินกำแพงแสน เส้นทางรถไฟจะเริ่มโค้งออกไปทางขวามือ เข้าสู่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี



จุดตัดอีกแห่งหนึ่งที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ คือทางเข้าบางลี่ หรือ อ.สองพี่น้อง นั่นเองครับ เป็นเส้นทาง คสล.ขนาด 6 เลนกว้างขวาง แต่ไม่มีเครื่องกั้นทางให้เห็นเลย

ขนาดหน่วยงานราชการยังคิดเหมือนๆ กับชาวบ้านเลยว่า รถไฟมาเพียงวันละ 2 ขบวน เช้ามืดกับค่ำสนิท สร้างเครื่องกั้นทางทำไมให้เปลืองเงิน ?

อะโห... น่าน้อยใจแทนรถไฟจริงๆ



พักสายตากับทุ่งนาปรังยามสายสักภาพนะครับ เป็นที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับชื่อเสียงของเมืองสุพรรณบุรี คือปลูกข้าวเป็นปริมาณมากที่สุดในประเทศไทย

คงจะจริง เพราะสุพรรณบุรีมีท้องนากว้างขวางสุดลูกตา ทำนากันจนจำกันไม่ได้ว่าเป็นนาปรังหรือนาปีเลยล่ะ

เป็นแบบนี้ ใครที่ออกข้อสอบกับเด็กนักเรียนอย่าเอาไปตั้งคำถามเชียวว่าชาวนา ทำนาปีละกี่ครั้ง ?

เพราะเด็กสมัยนี้จะตอบไม่ถูกครับ



มาถึงอดีตสถานีประจำอำเภอสองพี่น้องแล้วล่ะ

สถานีศรีสำราญ

และยุบลงเป็นที่หยุดรถ ด้วยเหตุรถไฟวิ่งบริการไม่ตรงเวลาที่ชาวบ้านเขาต้องการนั่นแหละ



จากศรีสำราญ บ้านเรือนผู้คนเริ่มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ปล่อยให้ลูกทัวร์ที่นั่งรถผ่านไป ถามกันเล่นๆ ในกลุ่มว่า บ้านนี้เขาทำอาชีพอะไร ?



บ้านริมคลองสองพี่น้อง อันแสนสุข



นาบัว



ที่หยุดรถดอนสงวน ที่รับกับบรรยากาศพื้นบ้านจริงๆ



เส้นทางรถไฟเริ่มโค้งไปทางขวาอีก เข้าสู่เขต ต.มะขามล้ม อ.บางปลาม้า ละครับ



ที่นี่มีฝูงนกหนีหนาวจากไซบีเรีย มาอาศัยอยู่เยอะแยะครับ มีมากนกระทั่งเจ้าของบ่อปลา ต้องลุงทุนซื้อตาข่ายมาคลุมบ่อปลาเลยทีเดียว



และแล้วเราก็ได้เห็น หอบรรหาร-แจ่มใส เอ๊ย !!! หอชมเมืองสุพรรณบุรี เริ่มโผล่จากขอบฟ้ามาทักทายอยู่ลิบๆ แสดงว่าใกล้ถึงปลายทางเข้ามาทุกขณะ



ผ่านทางตัดเลี่ยงเมืองสุพรรณบุรี แต่งานนี้ ไม่ต้องถึงมืออาสาสมัครฯ หรอกครับ เพราะมีพนักงานประจำเครื่องกั้นอยู่แล้ว



ใกล้เข้าไปทุกขณะ แล้วย่านสถานีสุพรรณบุรี เริ่มโผล่มาให้เห็น



ครั้นถึงเวลา 11.45 น. ขบวนรถพิเศษแล่นเข้าเทียบชานชาลาสถานีสุพรรณบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่ของ ททท.ที่ได้รับการแจ้งประสานงานล่วงหน้า มารอรับพร้อมกับรถทัวร์คันใหญ่จอดรออยู่หลังสถานี



บรรดาผู้โดยสารที่เป็นลูกทัวร์ของบริษัทนำเที่ยว จำต้องสละยานที่นี่ ลงไปต่อรถทัวร์ซึ่งจะพาไปเที่ยวตามรายการที่จัดเอาไว้ รวมถึงเลี้ยงมื้อกลางวันด้วยครับ

ทราบว่า เส้นทางจะไปเที่ยวตลาดเก้าห้อง หอบรรหาร-แจ่มใส ชมเมืองสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์ เยี่ยมชมมังกรทองและพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ก่อนกลับมาสมทบกันอีกครั้งหนึ่งในช่วงบ่าย



ส่วนก๊วนที่ผมร่วมทางนั้น ยังครับ... ยังไม่ถึงปลายทาง

เดี๋ยวเสียชื่อว่านั่งรถไฟไปสุพรรณบุรีไม่สุดสาย

หลังจากบรรดาลูกทัวร์ต่างลงต่อรถทัวร์กันเรียบร้อยแล้ว นายสถานีสุพรรณบุรี ให้สัญญาณธงเขียวปล่อยรถอีกครั้งหนึ่ง ไปยังที่หยุดรถมาลัยแมนซึ่งเป็นปลายทาง



คราวนี้ได้ชื่อว่าไปสุดเส้นทางสายสุพรรณบุรีจริงๆ ล่ะครับ เพราะสุดปลายที่กั้นรางนั้นก็คือ ถนนมาลัยแมน ซึ่งเป็นปลายทางของขบวนรถปกติกรุงเทพ - สุพรรณบุรี ด้วย

คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนสุพรรณบุรีไม่นิยมขึ้นรถไฟ หากคิดว่าต้องไปซื้อตั๋วที่สถานีสุพรรณบุรี ที่อยู่ห่างจากถนนมาลัยแมนเป็นระยะไกลร่วมกิโลเมตร ในเวลาตีสี่

ขนาดรถไฟต้องปรับตัว ออกมารอรับถึงริมถนนมาลัยแมน ก็ไม่อยากจะขึ้นอีกนั่นแหละ กว่าจะไปถึงกรุงเทพฯ เกือบสามโมงเช้า นั่งรถตู้สบายกว่าเป็นไหนๆ



คราวนี้ไม่ลง ก็ต้องลงรถไฟล่ะ เพราะขบวนรถไฟจะกลับไปจอดพักรอทำขบวนเที่ยวกลับที่สถานีสุพรรณบุรี จนถึงกำหนดนัด จึงจะออกมารับกันที่นี่อีกครั้งหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง คือ ท้องเริ่มร้องอุทธรณ์แล้วสิครับ ทำให้เจ้าภาพผู้คุ้นทาง พาชาวคณะออกมาถนนใหญ่ หาร้านอาหารกันโดยด่วน ซึ่งก็ไม่ไกลนัก ตรงข้ามวัดป่าเลไลยก์ที่อยู่ใกล้ๆ กันนั่นเอง

ฝั่งตรงข้ามตรงที่หยุดรถมาลัยแมนนั้น คือโรงเรียนกรรณสูตรศึกษาลัย โรงเรียนประจำจังหวัดสุพรรณบุรีนั่นเองครับ คิดว่าหลายๆ ท่านที่ติดตามมา คงได้ทราบพิกัดแล้วว่า ทางรถไฟสายสุพรรณบุรีนั้นมีปลายสายอยู่ตรงที่ใด ?

ขอพักยกไปทานข้าวกลางวันก่อน คิดว่ายังพอมีเนื้อหาเสนอได้อีกสักตอนส่งท้ายครับ

( จบตอนที่ 2 )




 

Create Date : 26 มีนาคม 2554
4 comments
Last Update : 30 มีนาคม 2554 15:14:36 น.
Counter : 5770 Pageviews.

 

มาเจิม บลอค ครับผม

 

โดย: Kavanich96 28 มีนาคม 2554 8:16:22 น.  

 

ขอบคุณที่มาแวะชมครับ...

 

โดย: owl2 30 มีนาคม 2554 15:06:31 น.  

 

ตามมาเที่ยวสุ 1000 ด้วยค่ะ...

 

โดย: phuketian 22 ธันวาคม 2554 19:01:52 น.  

 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ ต้องขออภัยที่ตอบช้าสุดๆ เลย

 

โดย: owl2 12 ตุลาคม 2560 11:01:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.