@ดูงิ้วเถิดชื่นใจ@
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
8 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
ชุดงิ้วหมวดชุดอื่นๆ 行头 - 衣

หมวดชุดอื่นๆ



นอกเหนือจากชุด 4 ประเภท คือ ชุดบรรดาศักดิ์ ชุดคลุม ชุดเกราะ ชุดลำลอง
ชุดงิ้วที่เหลือทั้งหมดจะจัดเข้าหมวดชุดอื่นๆ เพราะยากแก่การจัดประเภทได้อย่างชัดเจน
ซึ่งชุดเหล่านี้อาจจะแบ่งจัดเก็บในหีบเสื้อผ้าของชุด 4 ประเภทในหีบใดหีบหนึ่งก็ได้

ชุดในหมวดนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทย่อย คือ
ชุดแบบยาว ชุดแบบสั้น ชุดแบบเฉพาะ และชุดอุปกรณ์เสริม





ชุดแบบยาว



ชุดลายสิงห์
เป็นชุดลำลองที่ใช้กับตัวละครขุนพลที่อยู่กับบ้านหรือที่ที่นอกเหนือจากสนามรบ
ลายที่ปักส่วนมากคือลาย สิงห์ เสือโคร่ง เสือดาว ผู้สวมใส่คือผู้มีความสามารถในการต่อสู้
ปกติชุดเป็นสีเขียว ปักลวดลายรายละเอียดเต็มชุด ลายที่นิยมคือ สิงห์คู่เล่นลูกบอล
ภาพ: เหลียนพอ จากงิ้วเรื่อง เจี้ยงเซี่ยงเหอ



ชุดลายกิเลน
เป็นชุดลำลองที่ใช้กับตัวละครขุนนางผู้ทรงอิทธิพล
ลายที่ปักคือกิเลน ซึ่งเป็นสัตว์ในจินตนาการ
กิเลนมีส่วนหัวเป็นมังกร หางสิงห์ เขากวาง
ด้านล่างปักเป็นลายอุปกรณ์เครื่องใช้ในการวาดภาพและเขียนอักษร เพื่อแสดงถึงอำนาจที่มี
ปกติชุดเป็นสีเหลือง ปักไหมสี ถ้าชุดเป็นสีดำ จะปักด้วยดิ้นทอง
ภาพ: จ้าวเกา จากงิ้วเรื่อง อวี่โจ้วเฟิง



ชุดลายวงดอกไม้
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครขุนนางบุ๋นระดับสูง บนชุดประกอบด้วยวงดอกไม้สิบวง ปักดิ้นทองหรือไหมสีต่างๆ ริมชุดและแขนเสื้อปักลายประกอบ
ภาพ: หลิ่นเซี่ยงหยู จากงิ้วเรื่อง เจี้ยงเซี่ยงเหอ



ชุดลายวงสิงห์
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครขุนนางบู๊ระดับสูง สีขาว สิงโตเป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญ
แต่เมื่อนำมาประกอบอยู่ภายในวง ทำให้ความรู้สึกอ่อนโยนลง แต่กลับสวยงามขึ้น
อีกทั้งยังมีความหมายว่าผู้สวมใส่ไม่ได้มีแต่ความกล้าหาญ แต่ยังประกอบไปด้วยสติปัญญา
ภาพ: จ้าวหยวิน หรือ จูล่ง จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชุดฝ่ายใน
เป็นชุดปกติไม่เป็นทางการของสตรีฝ่ายใน เช่น ฮองเฮา สนมเอกหรือองค์หญิง
จากชุดดูเหมือนหรูหราสูงส่ง แต่ยังถือว่าเป็นรองชุดสตรีบรรดาศักดิ์
โดยปกติชุดนี้ไม่สามารถใช้ในฉากสำคัญๆและเป็นทางการ เช่น ท้องพระโรง ได้
ชุดมีลักษณะยาวลงมาเป็นชุดเดียว ไม่แยกเสื้อกับกระโปรง แขนเสื้อมีลักษณะคล้ายชุดชาวแมนจู
กระโปรงแบ่งเป็นริ้ว 3 ชั้น มีทั้งหมด 64 ริ้ว ด้านหน้าเป็นชายขนาดใหญ่แบ่งเป็น 3 ชั้นเช่นกัน
สีหลักๆของชุดคือสีแดง และใช้สีอื่นๆประกอบ ทั้งตัวปักลาย
ส่วนบนปักหงส์หรือดอกโบตั๋น ส่วนริ้วกระโปรงปักดอกไม้หรือหงส์ตัวเล็กๆ
ส่วนปกสำหรับคลุมไหล่ ปกตั้ง ปักดอกไม้หรือลายต่างๆ และมีพู่ระย้าห้อยดูอ่อนช้อยงดงาม
ภาพ: หยางกุ้ยเฟย จากงิ้วเรื่อง กุ้ยเฟยจุ้ยจิ่ว



ชุดนางฟ้า
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครนางฟ้า ชุดพอดีตัว แขนสั้นแคบกว่าชุดทั่วไป
สวมใส่ชุดนี้ทำให้ดูอ้อนแอ้น เนื่องจากมีกระชับร่างกาย
ชุดประกอบด้วยเสื้อมีปกใหญ่ ด้านในต้องใส่เสื้อขาวแบบมีปกไว้ก่อน จึงสวมทับ
มีผ้าคลุมช่วงสะโพกทับกระโปรงอีกชั้น ใช้ไหมถักเป็นพู่ห้อยหยกหรือร้อยเป็นปม
ถ้าต้องการร่ายรำจึงคล้องแถบผ้าบริเวณแขนสองข้าง เพื่อให้ความรู้สึกกำลังล่องลอยอยู่ในอากาศ
ภาพ: นางฟ้า จากงิ้วเรื่อง เทียนหนี่ว์ซ่านฮวา



ชุดโบราณ
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครหญิง มีลักษณะคล้ายชุดนางฟ้า
ต่างกันตรงที่ชุดนี้มีปกคลุมไหล่ และชายแขนเสื้อมีชายผ้าต่อยาวออกมา
ภาพ: นางฟ้า จากงิ้วเรื่อง น่าวเทียนกง



ชุดขุนนาง
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครขุนนางบุ๋นระดับกลางลงไป ชุดคล้ายกับจอหงวนใหม่หรือเจ้าบ่าว
ชุดลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลมาจากราชวงศ์หมิง มีลักษณะคล้ายชุดบรรดาศักดิ์
ด้านหน้าอกและกลางหลังปักลายนกระเรียนบินจากทะเลสู่ดวงอาทิตย์
ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ลายบนชุดบอกถึงระดับตำแหน่งของผู้สวมใส่
ขุนนางบุ๋นปักนกกระเรียน ขุนนางบู๊ปักสัตว์สี่เท้า มีกำหนดรายละเอียดไว้อย่างเคร่งครัด
แต่ชุดสำหรับการแสดงงิ้วจะไม่นำหลักการเหล่านั้นมาประกอบชุด ใช้เป็นแค่เชิงสัญลักษณ์คร่าวๆ
สีชุดบอกระดับต่างๆ เรียงจาก ม่วง แดง ถ้าเป็นระดับสูง รองลงมาคือสีน้ำเงิน ต่ำสุดคือสีดำ
ตัวละครที่ใส่ชุดนี้ต้องคาดเข็มขัด เพราะเข็มขัดและหมวกเป็นหมายถึงตำแหน่งและหน้าที่
ภาพ: หลู่ซู่ หรือ โลซก จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชุดขุนนางสีแดง
ชุดขุนนางของตัวละครตลกจะสั้นกว่าชุดขุนนางทั่วไป
ใช้กับพวกตัวละครระดับนายอำเภอ ตัวละครพวกนี้มีลักษณะตลกหรือเจ้าเล่ห์
การที่ทำให้ชุดมีลักษณะสั้นก็เพื่อให้ดูน่าขบขัน อีกทั้งยังเหมาะสำหรับการแสดงท่าทางต่างๆ
บางครั้งเพื่อเพิ่มความตลก ยังสามารถใช้ชุดขุนนางหญิงที่มีขนาดสั้นมาใส่ได้เช่นกัน
ภาพ: ทังฉิน จากงิ้วเรื่อง เสิ่นโถวชื่อทัง



ชุดขุนนางสีดำ
เป็นชุดขุนนางระดับล่างชุด สีดำถือเป็นสีในระดับต่ำสุด ไม่มีการปักลายบนหน้าอกและกลางหลัง
ภาพ: จางซิ่ว จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชุดขุนนางประยุกต์
เป็นชุดขุนนางที่ประยุกต์ลายขึ้นมาใหม่ ปักลงบนหน้าอกและกลางหลัง รวมถึงชายชุดด้านล่าง
ภาพ: หลู่ซู่ หรือ โลซก จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชุดขุนนางหญิง
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครขุนนางหญิง ชุดยาวถึงแค่หัวเข่า สวมกับกระโปรง ใช้ไหมคาดแทนเข็มขัด
ภาพ: หลิวอิ่งชุน จากงิ้วเรื่อง ฝานเจียงกวาน



ชุดบัณฑิตขุนนาง
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครบัณฑิตระดับสูงที่เป็นขุนนาง พัฒนามาจากชุดขุนนางสีดำปักลายลงไป
แต่ไม่สวมเข็มชัดขนาดใหญ่ ใช้เป็นเข็มขัดอ่อนพอดีรอบเอว ชายชุดปักเป็นลายน้ำ
ภาพ: จู่สุยเหลียง จากงิ้วเรื่อง สือเต้าเปิ่น



ชุดบัณฑิต
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครบัณฑิต พัฒนามาจากชุดบัณฑิตขุนนางอีกที
โดยการเอาลายกลางชุดและแถบแข็งสองสีข้างด้านหลังออก ทำให้ดูกระชับและคล่องแคล่วขึ้นอีก
ภาพ: เฉาจื๋อ จากงิ้วเรื่อง ลั่วเสิน



ชุดน้ำเงิน
เป็นชุดที่แสดงถึงผู้มีความรู้แต่ไม่ได้เป็นขุนนาง ฟ้าเป็นสีดำ ริมชุดทั้งหมดเป็นสีน้ำเงิน
จากสีของชุดสามารถรู้สึกได้ถึงความลุ่มลึก หนักแน่นของตัวละครที่สวมใส่
ภาพ: เฉิงอิง จากงิ้วเรื่อง จ้าวซื่อกูเอ๋อร์



ชุดธนูปักไหม
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครองค์ชายหรือขุนพล
ต่างดับชุดบรรดาศักดิ์ตรงที่ปักมังกรแค่ 8 ตัว ใช้แถบผ้าชายพู่พันเป็นเข็มขัด
ชุดธนูแบ่งออกเป็น 6 ประเภท มีการกำหนดแบบแผนตัวละครที่ใส่ไว้ต่างๆกัน
เนื่องจากชุดนี้ออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสมกับการขี่ม้ายิงธนูล่าสัตว์ จึงมีชื่อว่า ชุดธนู
ภาพ: โจวอวี๋ หรือ จิวยี่ จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชุดธนูปักดิ้นทอง
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครนักรบที่มีอุปนิสัยมุทะลุดุดัน ใช้ดิ้นทองในการปักลายมังกร
ภาพ: ซั่นสยงซิ่น จากงิ้วเรื่อง สัวอู่หลง



ชุดธนูลายวงดอกไม้
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครนักรบทั่วไป นักรบในหุบเขารวมถึงเด็กหนุ่มที่มีความสามารถในการรบ
มีการปักเป็นลายวงดอกไม้ มีทั้งหมด 8 วง ใช้แถบผ้าชายพู่พันเป็นเข็มขัด
ภาพ: หยางเหวินกว่าง จากงิ้วเรื่อง มู่กุ้ยอิง



ชุดธนูลายดอก
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครนักรบหนุ่มเจ้าสำราญ หรือนักรบหญิงที่ปลอมตัวเป็นชาย
ชุดปักเป็นลายดอกไม้รวมทั้งกิ่ง ให้ความรู้สึกอ่อนโยนไปในตัว
ภาพ: หยางปาเจี่ย จากงิ้วเรื่อง ขุนศึกตระกูลหยาง



ชุดธนูสีดำ
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครนักรบหรือผู้มีความสามารถในการต่อสู้ พื้นสีชุดกับริมชุดเป็นคนละสี
ปกติใช้สีดำ สีอื่นๆมีใช้บ้าง เช่น ขาว ม่วง เทา ชุดนี้สามารถใส่เป็นชุดข้างในก่อนใส่ชุดเกราะทับได้
ภาพ: เจ้าพนักงานในศาล



ชุดธนูทั่วไป
เป็นชุดที่ใช้กับตัวละครเจ้าพนักงานชั้นต่ำสุด ไม่มีลวดลายใดๆทั้งสิ้น
ภาพ: ฉงกงเต้า จากงิ้วเรื่อง อวี้ถังชุน



ชุดลิ่วล้อ
เป็นชุดที่ใช้กับตัวประกอบหรือลิ่วล้อ
ปกติจะแบ่งทหารเป็นชุดๆละ 4 คน เช่น ทหาร 2 ชุด มี 8 คน
สีของชุดตัวประกอบจะใช้ตามสีชุดตัวละครหลัก
เช่น แม่ทัพชุดสีแดง ตัวประกอบเหล่านี้ก็จะใส่ชุดสีแดงเช่นกัน เพื่อให้ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน
ภาพ: ลิ่วล้อ



ชุดขันที
เป็นชุดขันที ชุดติดกระดุมด้านข้าง ปกพาดเฉียง สีเหลือง ช่วงเอวมีพู่ระย้าร้อยห้อยลงมา
ภาพ: ขันที



ชุดหัวหน้าขันที
เป็นชุดสำหรับหัวหน้าขันที คล้ายชุดขันทีทั่วไป ต่างกันที่ชุดนี้เป็นคอกลม
ขันทีในวังฮ่องเต้ใช้สีเหลือง ขันทีในตำหนักอ๋องต่างๆใช้สีม่วง ปักลายดอกไม้เช่นกัน
ภาพ: หัวหน้าขันที



ชุดทหารรักษาพระองค์
เป็นชุดสำหรับทหารรักษาพระองค์ในวังหลวง มีลักษณะคล้ายชุดเกราะ โดยทั่วไปใช้ชุดสีม่วง
ภาพ: ทหารรักษาพระองค์



ชุดองครักษ์
เป็นชุดสำหรับนายทหารระดับสูงที่ทำหน้าที่เป็นรักษาความปลอดภัย
คล้ายชุดทหารรักษาพระองค์ แต่ไม่ปักลายดอกไม้ ใช้เป็นกระจกกลมประดับแทน ทั่วไปใช้สีดำ
ภาพ: องครักษ์ จากงิ้วเรื่อง ฌ้อป้าอ๋อง







ชุดแบบสั้น



ชุดบู๊แบบลาย
เป็นชุดสำหรับตัวละครบู๊ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือแบบลายและแบบเรียบ
ชุดมีปกใหญ่ เวลาใส่มีเชือกผูกด้านสีข้าง แขนเสื้อพอดีข้อมือ ด้านล่างของชุดเป็นกระโปรง 2 ชั้น
มีเชือกไหมพันรอบร่างกายท่อนบน เพื่อสื่อถึงความกระชับและยังทำให้ความสวยงามมีมากขึ้น
ภาพ: เหรินถังฮุ่ย จากงิ้วเรื่อง ซันช่าโข่ว



ชุดบู๊แบบเรียบ
เป็นชุดสำหรับตัวละครบู๊สูงอายุ มีเพียงลายหยูอี้บริเวณปก นอกนั้นจะไม่มีการปักลายเพิ่มเติม
ภาพ: เซียวเอิน จากงิ้วเรื่อง ต่าอวี๋ซาเจีย



ชุดคล่องตัวแบบลาย
เป็นชุดสำหรับตัวละครตลกบู๊ แต่เป็นแบบคอกลม แบ่งออกเป็นแบบลายและแบบเรียบ
โดยปกติลายบนชุดจะเป็นสัตว์ปีก เช่น นกนางแอ่นหรือผีเสื้อ แสดงถึงความแคล่วคล่องว่องไว
ภาพ: หลิวลี่หัว จากงิ้วเรื่อง ซันช่าโข่ว



ชุดคล่องตัวแบบเรียบ
เป็นชุดสำหรับตัวละครบู๊ทั่วๆไป ส่วนมากจะเป็นใช้สีดำ
หน้าอกสีข้างและแขนมีตะขอเสื้อเรียงแถวลงมา หากประณีตใช้งาช้างหรือกระดูกสัตว์มาทำส่วนนี้
เนื่องจากชุดเป็นสีดำ จึงตัดกับสีขาวของตะขอสีขาวราวนี้ได้อย่างสวยงาม
ภาพ: อู่ซง จากงิ้วเรื่อง อู่ซงต๋าหู่



ชุดชิงประยุกต์ลายมังกร
เป็นชุดสำหรับตัวละครที่มีบรรดาศักดิ์หรือขุนพลในเวลาออกเดินทาง
ชุดนี้ประยุกต์มาจากเครื่องแต่งกายของชาวแมนจู
โดยการปรับจากปกตั้งเป็นคอกลม และมีปกอีกชิ้นแยกต่างหากสำหรับคลุมทับบริเวณคอ
ชุดชิงประยุกต์นี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ แบบลายมังกร ลายดอก และแบบสีเหลือง
ภาพ: เซวียผิงกุ้ย จากงิ้วเรื่อง อู่เจียโพ



ชุดชิงประยุกต์ลายดอก
เป็นชุดสำหรับตัวละครองครักษ์ระดับรอง เช่น หวังเฉา หม่าฮั่น จางหลง จ้าวหู่
ไม่มีลวดลายอื่นใดนอกจากวงดอกไม้ โดยปกติชุดเป็นสีดำ
ภาพ: จางหลง จากงิ้วเรื่อง เปาบุ้นจิ้น



ชุดชิงประยุกต์สีเหลือง
ในสมัยราชวงศ์ชิง ชุดสีเหลือเช่นนี้ จะต้องเป็นผู้มีความดีความชอบจึงได้รับพระราชทาน
แต่ในการแสดงงิ้ว ความหมายที่แท้จริงถูกดัดแปลงไป แต่ก็ยังมีความเกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง
นั่นคือผู้สวมใส่ชุดนี้ คือเหล่าบรรดาทหารรักษาพระองค์ จึงใช้สีเหลืองเป็นสื่อแทน
ภาพ: ทหารรักษาพระองค์



ชุดน้ำชา
เป็นชุดชาวบ้าน เช่น คนตัดไม้ ชาวประมง คนรับจ้างแจวเรือข้ามฝาก
ที่ได้ชื่อชุดเช่นนี้เนื่องมากจากสีชุดเป็นสีเหมือนสีน้ำชา
แขนเสื้อไม่มีชายผ้าต่อ ส่วนล่างใส่กระโปรงสองชั้นคลุมทับกางเกงอีกที
ภาพ: คนรับจ้างแจวเรือข้ามฝาก



ชุดเสี่ยวเอ้อร์
เป็นชุดสำหรับเสี่ยวเอ้อร์ตามโรงเตี๊ยม
แขนเสื้อมีชายผ้าเหมือนชุดงิ้วทั่วๆไป ส่วนล่างใส่กระโปรงสองชั้นคลุมทับกางเกงอีกที
ภาพ: เสี่ยวเอ้อร์



ชุดจีวรเปิดพุง
เป็นชุดสำหรับผู้ออกบวชหรือนักพรตที่มีลักษณะโผงผางหรือเปิดเผย เวลาสวมใส่จะเปิดพุง
ชุดมีลักษณะแบบจีวรที่นำมาประยุกต์เพื่อความสวยงามและเหมาะสมกับบุคลิกของตัวละคร
ภาพ: หลู่จื้อเซิน จากงิ้วเรื่อง เหย่จูหลิน



ชุดนักโทษชาย
เป็นชุดสำหรับนักโทษชาย ปกตั้ง กระดุมข้าง ชุดมีสีแดง
โดยปกติสีแดงใช้กับงานมงคลต่างๆ ตามความเชื่อของคนจีน
การถูกจองจำลงโทษจนถึงประหารเป็นสิ่งไม่เป็นมงคล จึงใช้สีแดงมาเป็นการแก้เคล็ด
ในขณะเดียวกันสีแดงก็ให้ความหมายได้ทั้งด้านดีและไม่ดี ด้านดีคือมงคล ด้านไม่ดีคือสีของโลหิต
การที่ใช้สีแดงมาเป็นชุดนักโทษ จึงมีความหมายครอบคลุมได้ทั้งหมด
ภาพ: นักโทษชาย



ชุดนักโทษหญิง
เป็นชุดสำหรับนักโทษหญิง ปกตั้ง ติดกระดุมด้านหน้า แขนเสื้อไม่ติดชายผ้า
ท่อนล่างมีชายผ้าทอดยาวระหว่างขาสองข้างด้านหน้า หลังสวมกางเกงแล้วสวมกระโปรงทับอีกชั้น
แล้วนำกระโปรงขึ้นพับในลักษณะแหวกให้เห็นกางเกงที่สวมอยู่ด้านใน
ภาพ: ซูซาน จากงิ้วเรื่อง อวี้ถังชุน



ชุดเพชรฆาต
เป็นชุดสำหรับเพชรฆาต มีลักษะคล้ายชุดชิงประยุกต์ ชุดเป็นสีแดงริมดำ
ภาพ: เพชรฆาตจากงิ้วเรื่อง เปาบุ้นจิ้น



ชุดเสื้อกระโปรงฮวาตั้น
ในการแสดงอุปรากรปักกิ่ง ชิงอี จะใส่ชุดประเภทชุดคลุมเป็นหลัก
ส่วน ฮวาตั้น จะใส่ชุดประเภทนี้เป็นหลัก ซึ่งชุดนี้มีที่มาจากชุดสตรีในสมัยราชวงศ์ชิง
เสื้อปกตั้ง ติดกระดุมข้าง ท่อนล่างสวมกระโปรง ปักลายกิ่งก้านดอกไม้
จุดเด่นของชุดนี้คือสะดวกต่อการเคลื่อนไหว แต่ก็ยังดูสง่าในที
ท่อนบนกระชับ เหมาะกับการเคลื่อนไหวอันคล่องตัวของเด็กสาว
ท่อนล่างกระโปรงกว้าง ตามหลักสตรีจีนผู้ดีในสมัยโบราณ (เพราะต้องคลุมไม่ให้เห็นเท้า)
ท่อนบนท่อนล่างเมื่อสวมในด้วยกันจึงลักษณะเหมือนสามเหลี่ยม ให้ความรู้สึกการตั้งอยู่อันมั่นคง
ภาพ: เย่หานเยน จากงิ้วเรื่อง ฉู่หวังกง



ชุดเสื้อกางเกงฮวาตั้น
เป็นชุดฮวาตั้นอีกประเภท แต่ใช้สำหรับตัวละครหญิงชาวบ้านทั่วไป สวมกางเกงแทนกระโปรง
ภาพ: โจวซื่อ จากงิ้วเรื่อง จ้านหวั่นเฉิง



ชุดบู๊หญิง
เป็นชุดสำหรับตัวละครหญิงที่ความสามารถในการต่อสู้
ในสมัยก่อนท่อนล่างจะสวมกระโปรงเปิดให้เห็นขาด้านหน้า
แต่ตอนหลังพัฒนาเป็นผ้าสองผืนคล้ายเกราะบริเวณขาสองข้าง
เมื่อมีบทต่อสู้ ผ้าสอนผืนนี้จะพริ้วไหวไม่ต่างจากกระโปรง ทำให้ดูอ่อนหวานในความแข็งแกร่ง
ภาพ: หยางไผเฟิง จากงิ้วเรื่อง ขุนศึกตระกูลหยาง



ชุดตัวตลกหญิง
เป็นชุดสำหรับตัวตลกหญิง ชุดนี้มีที่มาจากชุดสตรีสมัยราชวงศ์ชิงเช่นกัน
ชุดเด่น คือ ชุดมีแขนกว้าง แขนเสื้อมีการปักลายอย่างสวยงาม กางเกงขากว้างรวบช่วงข้อเท้า
หากดูจากชุดจะเห็นว่าใหญ่โตรุ่มราม แต่ก็เป็นการเพิ่มอารมณ์ขันให้เหมาะกับบุคลิกของตัวละคร
ภาพ: นางซื่อ จากงิ้วเรื่อง ซ่งซื่อเจี๋ย



ชุดทหารเลว
เป็นชุดสำหรับลิ่วล้ออีกประเภท เนื่องจากไม่ค่อยสวยงาม จึงไม่ได้รับความนิยม
ภาพ: ทหารเลว



ชุดพลทหาร
เป็นชุดที่ได้รับการพัฒนามาแทนชุดทหารเลว พัฒนามาจากชุดคล่องตัวแบบเรียบอีกขั้น
แต่ไม่ต้องมีกระดุมแถว หน้าอกชายเสื้อและช่วงชายแขนเสื้อปักลายดอกไม้
ภาพ: พลทหาร







ชุดแบบเฉพาะ



ชุดแปดเหลี่ยม
เป็นชุดสำหรับกุนซือ ชุดประกอบด้วยสัญลักษณ์หยินหยางที่หน้าอกและกลางหลัง
ทั่วทั้งชุดเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ทางลัทธิเต๋า แบ่งได้เป็น
สัญลักษณ์ฟ้า ที่ไหล่ซ้าย สัญลักษณ์ดิน ที่ไหล่ขวา
สัญลักษณ์ลม ที่เข่าซ้าย สัญลักษณ์ฟ้าร้อง ที่เข่าขวา
สัญลักษณ์ภูเขา ที่น่องซ้าย สัญลักษณ์หนองน้ำ ที่น่องขวา
สัญลักษณ์น้ำ ที่แขนซ้าย สัญลักษณ์ไฟ ที่แขนขวา
มีความหมายว่า ไหล่แบกฟ้าดิน อกอุ้มลมฟ้า(ร้อง) หลังหนุนภูเขาลำธาร แขนซ่อนน้ำไฟ
ชุดนี้น้อยคนที่จะได้ใส่ ส่วนมากต้องเป็นตัวละครที่ฉลาดล้ำลึก ชุดเป็นสีฟ้าอ่อนปักดิ้นทอง
ภาพ: จูเก๋อเลี่ยง หรือ ขงเบ้ง จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชุดแปดเหลี่ยม(ฉบับหม่าเหลียนเหลียง)
เป็นชุดแปดเหลี่ยมที่ได้รับการตกแต่งเพิ่มเติม โดยการเพิ่มวงกลมลายใบไม้ไปรอบๆสัญลักษณ์
หยินหยางตรงกลางหน้าอกเปลี่ยนเป็นลายใหม่ที่ยังคงให้ความหมายเดิม และใช้สีเหลืองแทน
ชุดนี้ได้รับการออกแบบโดย หม่าเหลียนเหลียง นักแสดงในยุคเดียวกับ เหมยหลานฟาง
ภาพ: จูเก๋อเลี่ยง หรือ ขงเบ้ง จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชุดกระเรียน
เป็นชุดที่คล้ายกับชุดแปดเหลี่ยม แต่เปลี่ยนสัญลักษณ์ต่างๆเป็นลายนกกระเรียน
ทำให้ชุดนี้สามารถใช้กับตัวละครได้หลากหลายขึ้น เช่น เซียนดาวเหนือ หรือ เซียนอายุวัฒนะ
ภาพ: จูเก๋อเลี่ยง หรือ ขงเบ้ง จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชุดอาคม
เป็นชุดสำหรับนักพรตในการทำพิธีทางลัทธิเต๋า
ชุดเป็นชุดยาวคลุมเท้า แขนเสื้อกว้าง ชายผ้าสีขาวยังคงอยู่
ชุดนี้มีทั้งแบบที่ตกแต่งด้วยสัญลักษณ์หยินหยางและสัญลักษณ์แปดเหลี่ยม
ภาพ: จูเก๋อเลี่ยง หรือ ขงเบ้ง จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชุดเซียนหญิง
เป็นชุดสำหรับเซียนหญิงหรือนางฟ้านางสวรรค์
ส่วนๆหลักของชุดคือริ้วผ้าทั่วทั้งชุด ไม่ว่าจะเป็นตัวเสื้อหรือกระโปรง
ริ้วผ้าเหล่านี้ดัดแปลงมาจากชุดกระโปรงของบรรดาลูกสาวขุนนางในปลายราชวงศ์ชิง
กระโปรงแบ่งเป็น 3 ชั้น แต่ละริ้วเป็นรูปทรงกระบี่ ทุกปลายริ้วมีพู่ห้อย ยามร่ายรำจึงสวยงามมาก
ภาพ: นางฟ้า จากงิ้วเรื่อง นางฟ้าโปรยดอกไม้



ชุดเกราะเกล็ดปลา
เป็นชุดของอวี๋จีสนมรักของซีฉู่ป้าหวัง (ฌ้อป้าอ๋อง)
เกราะแบบนี้ได้รับการดัดแปลงมาจากที่คลุมไหล่และส่วนคลุมกระโปรงให้มีลักษณะเป็นเกราะ
ส่วนเกราะปักด้วยดิ้นทอง ประดับด้วยพู่สีแดง ตัดกับชุดด้านในสีเหลืองได้อย่างสวยงาม
ภาพ: อวี๋จี จากงิ้วเรื่อง ฌ้อป้าอ๋อง



ชุดหญิงแมนจู
เป็นชุดที่ใช้เฉพาะกับสตรีชั้นสูงที่เป็นชนต่างเผ่า ชุดหญิงแมนจูประเภทนี้ถือเป็นชุดใส่ในโอกาสทั่วไป ไม่ใช่ชุดพิธีการ
มีปกตั้ง กลัดกระดุมข้าง แขนเสื้อไม่กว้างและแคบเกินไป ความยาวชายชุดถึงเท้า ผ่าข้าง ชุดไม่ได้เน้นช่วงเอว
ชุดประเภทนี้จะได้รับอิทธิพลมาจากสมัยราชวงศ์ชิง เมื่อมาใช้ในการแสดงก็ถูกนำมาเพิ่มหรือลดรายละเอียดให้ดูเหมาะสมกับการแสดงบนเวที
ภาพ: องค์หญิงเถี่ยจิ้ง จากงิ้วเรื่อง หยางซื่อหลางเยี่ยมแม่



ชุดข้าราชการ(ต่างเมือง)
เป็นชุดสำหรับข้าราชการต่างเมือง(ต่างเผ่า) ปกกลมปิดช่วงคอ ติดกระดุมกลางตลอดชุด
ผ่าข้าง แขนเสื้อกว้าง มีลวดลายตำแหน่งบนหน้าอกและด้านหลัง
ชุดนี้ได้นำชุดข้าราชการในสมัยราชวงศ์ชิงมาใช้โดยตรง
ภาพ: ข้าราชการเมืองเหลียว จากงิ้วเรื่อง หยางซื่อหลางเยี่ยมแม่



ชุดจีวร
เป็นชุดสำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นชุดจีวรสำหรับใส่คลุมทับด้านนอกเฉวียงบ่า
โดยทั่วไปจีวรของพระภิกษุจะใช้ในพิธีการ แต่เมื่อนำมาใช้ในการแสดงงิ้ว จะมีการตกแต่งสีสันให้สวยงามขึ้นและมีขอบเขตในการใช้กว้างกว่า
พื้นจีวรเป็นสีแดง ในดิ้นทองปักเป็นลายตาราง ด้านที่ใช้คล้องเป็นห่วง อีกด้านเป็นแถบผ้าเส้นเล็กลายคทาหยูอี้
คล้องกันเป็นปมที่กลางหน้าอก โดยจีวรพาดเพียงไหล่ซ้ายเพียงด้านเดียว
ภาพ: พระถังซำจั๋ง จากงิ้วเรื่อง ไซอิ๋ว



ชุดอรหันต์
เป็นชุดที่ใช้กับพระอรหันต์ในเทพนิยายโดยเฉพาะ
ปกใหญ่กลัดกระดุมเฉียง เสื้อยาวถึงเข่า แขนเสื้อกว้าง
ไม่ต่อชายผ้า แต่จะรัดช่วงข้อมือให้แน่นพอดี เพื่อความสะดวกในการแสดงบทบาทการต่อสู้ ชุดเป็นสีเทา เครื่องแต่งกายประกอบคือลูกประคำยักษ์ที่ใช้เฉพาะในการแสดงงิ้ว
ภาพ: หนึ่งในสิบแปดอรหันต์ จากงิ้วเรื่อง ไซอิ๋ว



ชุดนาจา
เป็นชุดเฉพาะสำหรับเทพเจ้านาจา เป็นลูกของแม่ทัพหลี่จิ้ง
ตามตำนานกล่าวว่าตอนกำเนิดมีรูปร่างเล็กอยู่กลางดอกบัว ดังนั้นดอกบัวจึงถูกจำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ตกแต่งชุด
เพื่อแสดงถึงชาติกำเนิดตามตำนาน
ชุดประกอบด้วยเกราะดอกบัว ทั้งเพราะอกและเอว กลีบบัวเป็นพื้นสีชมพู ขอบสีทอง
ชุดด้านในเป็นสีเทาปักลวดลายสิริมงคล 8 ชนิด
ภาพ: นาจา จากงิ้วเรื่อง เซียนปลาหลีฮื้อ



ชุดจงขุย
เป็นชุดสำหรับเทพเจ้าจงขุยในเทพนิยาย
ตามตำนานเล่าว่าเมื่อเป็นมนุษย์เป็นคนซื่อตรง ดุดัน มีความสามารถทั้งบุ๋นและบู๊ ถึงขนาดเคยสอบได้ตำแหน่งบัณฑิตบู๊ แต่ด้วยความที่รูปร่างน่าเกลียด จึงถูกตัดสิทธิ์ออกไป จึงตายไปพร้อมกับความคับแค้นใจ
พญายมรู้สึกสงสารและเสียดายความสามารถ จึงมอบตำแหน่งผู้พิพากษาคอยดูแลความอยุติธรรมในยมโลกให้
ตามรูปลักษณ์ที่ปรากฎจะเป็นข้าราชการในชุดฝ่ายบุ๋น หน้าดำหนวดยาว สวมชุดข้าราชการพร้อมหมวก
แต่ในการแสดงงิ้วจะแต่งกายแตกต่างออกไป คือ ใส่ชุดข้าราชการสีแดง โดยมีชุดบุ๋นเป็นหลัก ชุดเกราะบู๊มาประกอบช่วงเอวลงไป เพื่อแสดงถึงความสามารถทั้งสองด้านของจงขุย
เข็มขัดไม่ใช้แบบขุนนางบุ๋น แต่จะให้ผ้ารัดแบบตัวละครบู๊แทน เพื่อแสดงถึงอุปนิสัยอันดุดัน
แขนเสื้อด้านซ้ายมีชายผ้า ด้านขวารวบพอดีข้อมือ มีวัสดุแหลมงอกออกมาเพื่อแสดงว่ามือขวามีหกนิ้ว
โดยรวมแล้วชุดจงขุยแสดงถึงลักษณะทั่วไป ความสามารถและอุปนิสัย โดยผ่านการตกแต่งให้ดูเกินจริง อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของการแสดงงิ้ว
ภาพ: จงขุย



ชุดภูตผี
เป็นชุดสำหรับตัวละครภูตผี ส่วนสำคัญคือลายที่ลักษณะเป็นขน สื่อถึงขนตามร่างกาย
ภาพ: ภูต



ชุดชุดหงอคง
เป็นชุดสำหรับหงอคงในเรื่องไซอิ๋ว เป็นเสื้อคอกลม ติดกระดุมด้านข้าง แขนเสื้อรวบพอดีข้อมือ
ชายเสื้อทำเป็นสองชั้นคล้ายกระโปรง พื้นชุดเป็นสีเหลือง ปักลวดลายอันสื่อถึงขนบนตัวลิงทั้งชุด
ภาพ: ซุนหงอคง จากงิ้วเรื่อง ไซอิ๋ว



ชุดลิง
เป็นชุดสำหรับตัวละครที่เป็นลิง ประกอบด้วย เสื้อ กางเกงและผ้าสามแฉกรอบเอว
ลวดลายสีสรรเหมือนกับชุดหงอคง
ภาพ: ลิง จากงิ้วเรื่อง ไซอิ๋ว



ชุดพระ
ชุดสำหรับตัวละครเจ้าอาวาส มีลักษณะเหมือนชุดลำลองแบบเรียบ ต่างกันที่แขนเสื้อไม่มีชาวผ้า
ทำเป็นแขนกว้างพิเศษ รูปแบบนี้ทำให้ตัวละครดูมีความหนักแน่นมั่นคง สีชุดเป็นสีเทาเหรือเหลือง
ภาพ: พระ



ชุดเณร
เป็นชุดสำหรับตัวละครที่แสดงเป็นเณร ชุดยาวถึงเข่า แขนเสื้อไม่ต้องมีชายผ้า
คล้ายชุดของเณรจริงๆในชีวิตประจำวัน ต่างกันแค่ชุดในการแสดงงิ้วมีการตกแต่งปกให้ดูเด่นและงดงาม
ภาพ: เณร







ชุดอุปกรณ์เสริม



เสื้อกั๊กยาวปักลายมังกร
เสื้อกั๊กแบ่งออกเป็นแบบหลักๆมีสองแบบคือ แบบสั้นและแบบยาว
ด้วยความที่ยากจะจำแนกไว้ในหมวดอื่น จึงรวมไว้ในหมวดอุปกรณ์เสริมแทน
เสื้อกั๊กในสมัยราชวงศ์หมิง มีแต่แบบยาว ส่วนมากจะเป็นสาวชาวบ้านหรือสาวใช้ใส่กัน
ในสมัยราชวงศ์ชิงพัฒนามีทั้งแบบสั้นและแบบยาว ชายสวมแบบสั้น หญิงมีสวมทั้งสั้นและยาว
เมื่อเสื้อกั๊กนำมาใช้บนเวทีงิ้ว ก็ถูกพัฒนาให้มีขอบเขตการใช้งานที่กว้างมากขึ้น มีรูปแบบชัดเจน
เสื้อกั๊กยาวปักลายมังกร ชายเสื้อยาวถึงหลังเท้า ติดดุมหน้า ปกใหญ่ บ่าตั้ง ชายเสื้อผ่าทั้งสองข้าง
ปักลายมังกรและก้อนเมฆ เวลาใส่ใช้สวมทับชุดบรรดาศักดิ์ ประดับด้วยเข็มขัดอีกที
ภาพ: จิ้นหลิงกง จากงิ้วเรื่อง จ้าวซื่อกูเอ๋อร์



เสื้อกั๊กยาวไร้ลาย
รูปลักษณ์เหมือนเสื้อกั๊กยาวปักลายมังกร เพียงแต่ไม่มีการปักลายใดๆลงไป
ส่วนมากจะเป็นสีน้ำตาล สีน้ำเงินเข้ม ฯลฯ มีเพียงขอบเสื้อที่ทำเป็นสีดำแทนการปักลาย
เมื่อใช้จะสวมใส่ชุดลำลอง มักใช้กับตัวละครสูงอายุ
ภาพ: ชายชรา



เสื้อกั๊กสงฆ์
เสื้อกั๊กสงฆ์มีลักษณะเฉพาะ เสื้อขาวเลยเข่า คาดผ้าแถบสีเหลือง(สื่อถึงความเป็นบรรพชิต)ที่เอว
บริเวณคอเสื้อและดุมทำเป็นรูปคทาหยูอี้ ตัวเสื้อเป็นสีเขียวหม่น
ส่วนมากจะใช้กับพระที่มีวิทยายุทธ์ เมื่อใช้จะสวมทับชุดคล่องตัวที่ใช้ในบทต่อสู้เช่นกัน
ส่วนเครื่องประดับบนศีรษะก็จะถูกเลือกใช้ตามบทบาทที่ได้รับ
ภาพ: พระ



เสื้อกั๊กพลทหาร
มีลักษณะคล้ายเสื้อกั๊กแบบสั้น คอกลม ดุมหน้า ผ่าชายเสื้อสองข้าง สีแดงเป็นหลัก
เสื้อแบบเก่ามักมีการปักคำว่า ทหาร ไว้กลางอกและหลัง
แต่ต่อมาพัฒนาให้สวยงามด้วยการปักลวดลายลงไปแทน
ภาพ: ทหาร



เสื้อกั๊กยาวสตรี
มีความยาวเลยเข่า แต่ไม่ถึงหลังเท้า ปักลวดลายดอกไม้ต่าง
ใช้งานคู่กับกระโปรงร้อยจีบที่มีผืนผ้าด้านหน้า เอวคาดด้วยผ้าคาดเอว
โดยมากใช้กับหญิงชาวบ้าน หากเป็นใช้กับสาวใช้จะสวมใส่กับกางเกงแทน
ภาพ: ซูซัน จากงิ้วเรื่อง อวี้ถังชุน



เสื้อกั๊กแม่ชี
มีลักษณะเหมือนเสื้อกั๊กสตรีแบบยาว แต่ต่างกันที่ใช้ลายผืนนาแทน โดยใช้สีน้ำเงิน ฟ้า ขาวตัดกัน
ใช้งานคู่กับกระโปรงร้อยจีบที่มีผืนผ้าด้านหน้า เอวคาดด้วยเชือก
ภาพ: เฉินเมี่ยวฉาง จากงิ้วเรื่อง ชิวเจียง



เสื้อกั๊กยาวหญิงชรา
มีลักษณะคล้ายชุดคลุมหญิงชรา ปกใหญ่และปักลวดลายเฉพาะที่ปก
นอกนั้นไม่มีลวดลายและอุปกรณ์ใดๆตกแต่งเพิ่มเติม
ภาพ: หลิวผอ จากงิ้วเรื่อง ป้าเยี่ยน



เสื้อกั๊กภิกษุณี
มีลักษณะเหมือนเสื้อกั๊กยาวสตรี แต่ไม่ปักลวดลายใดๆทั้งสิ้น
สวมใส่กับกางเกงและถุงเท้า โดยสวมทับชุดลำลองอีกที
ภาพ: เหล่าเต้ากู จากงิ้วเรื่อง วั่งเจียงถิง



เสื้อกั๊กแบบสั้นดุมข้าง
เป็นเสื้อกั๊กแบบสั้นที่ใช้มากที่สุด โดยมากจะรับบทสาวใช้
ปกตั้ง คอปาด ดุมข้าง ผ่าชายสองข้าง สวมใส่ทับเสื้อแขนลีบ กระโปรงจีบใหญ่และผ้าคาดเอว
ภาพ: ชุนเซียง จากงิ้วเรื่อง หมู่ตันถิง



เสื้อกั๊กแบบสั้นดุมซิกแซก
ขอบเขตการใช้งานค่อนข้างแคบ โดยจะใช้กับสตรีต่างเผ่า
ปกตั้ง ดุมซิกแซก ผ่าชายสองข้าง ปักลวดลายต่างๆ สวมทับกี่เผ้า
ภาพ: เถี่ยจิ้งกงจู่ จากงิ้วเรื่อง ซื่อหลางทั่นหมู่



ผ้ากันเปื้อนแบบยาว
ผ้ากันเปื้อนแบบยาวนี้ แต่เดิมใช้กันในหมู่หญิงสาวชาวบ้านเวลาทำครัวในทางตอนใต้ของจีน
เมื่อนำมาใช้บนเวทีงิ้ว จะสื่อความหมายถึงสตรีที่ทำงานบ้านหรือใช้แรงงาน
ตัวชุดปักลวดลายต่างๆ เมื่อใช้งานจะสวมทับชุดลำลองแบบเรียบไม่ปักลายใดอีกที
ภาพ: หลิวหยิ่งชุน จากงิ้วเรื่อ เฟินเหอวาน



ผ้ากันเปื้อนแบบสั้น
ผ้ากันเปื้อนแบบนี้จะใช้กับหญิงชาวบ้านร้านตลาด โดยมากจะใช้สีดำปักลวดลายต่างๆ
สวมบนทำเป็นรูปคทาหยูอี้ เวลาใส่จะผูกปมที่ด้านหลัง ทำให้ผู้สวมใส่ดูอรชรอ่อนแอ้น
และดูคล่องแคล่วว่องไว มักสวมทับเสื้อกับกางเกงและผ้าแถบยาวห้อยจากช่วงเอวลงมา
ภาพ: ซุนอวี้เจียว จากงิ้วเรื่อง สืออวี้จั๋ว



เสื้อคลุมลายมังกร
เสื้อคลุมในชีวิตจริงจะใช้สำหรับกันหนาว แต่เมื่อมาอยู่บนเวทีงิ้วขอบเขตการใช้จะเปลี่ยนไป
การสวมผ้าคลุมยังสามารถหมายถึง ตัวละครกำลังเดินทาง เจ็บป่วยหรือเพิ่งตื่นนอน ได้อีกด้วย
ลักษณะโดยทั่วไปของเสื้อคลุมจะยาวถึงหลังเท้า มีเชือกผูกที่ช่วงปกคอ ส่วนล่างกว้างกว่าส่วนบน
เสื้อคลุมลายมังกรใช้กับฮ่องเต้หรือผู้มีสถานะสูงส่ง ใช้สีแดงเป็นหลัก ปักลายมังกรล่อแก้ว
ภาพ: หลี่ซื่อหมิน จากงิ้วเรื่อง อวี้ฉือกง



เสื้อคลุมบุรุษลายดอก
เสื้อคลุมแบบนี้โดยปกติจะใช้กับกวานอวี่ (กวนอู)
พื้นเป็นสีเขียว ปักลายดอกโบตั๋น สื่อถึงความสง่างาม
ภาพ: กวานอวี่ หรือ กวนอู จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



เสื้อคลุมแบบสั้น
เป็นผ้าคลุมที่พัฒนาขึ้นมาทีหลัง ความยาวเลยเข่าเพียงเล็กน้อย
ภาพ: ซูอู่ จากงิ้วเรื่อง ซู่อูมู่หยาง



เสื้อคลุมลายหงส์
จุดเด่นของผ้าคลุมประเภทนี้ จะมีการตกแต่งตลอดช่วงชายเสื้อคลุม
ส่วนมากเป็นสีเหลือง ปักลายหงส์กลางดงโบตั๋น
ภาพ: อวี๋จี จากงิ้วเรื่อง ฌ้อป้าอ๋อง



เสื้อคลุมสตรีลายดอก
มักปักเป็นลายนกและดอกไม้ มีลักษณะการตกแต่งเหมือนกันเสื้อคลุมลายหงส์
ภาพ: จวงจีกงจู่ จากงิ้วเรื่อง จ้าวซื่อกูเอ๋อร์



เสื้อคลุมสตรีไร้ลาย
ไร้การปักลวดลายใดๆ มีเพียงการตกแต่งตลอดช่วงชายผ้าคลุมเท่านั้น
ภาพ: หงฝูหนี่ว์ จากงิ้วเรื่อง หงฝูจ้วน



เสื้อกันฝน
เป็นเสื้อกันฝนที่ใช้กันในหมู่ชาวนา เมื่อมาอยู่บนเวทีก็ประยุกต์ให้สวยงาม
โดยการใช้พู่จำนวนมากมาประดับทั่วทั้งชุด เป็นชั้นลดหลั่นกันไป ยามเคลื่อนไหวจึงดูงดงาม
ภาพ: ถานจี้เอ๋อร์ จากงิ้วเรื่อง วั่งเจียงถิง



กระโปรงร้อยจีบ
เป็นกระโปรงที่ใช้กันในสมัยราชวงศ์ชิง มีจีบรอบตัวกระโปรง
ส่วนทางด้านหน้าและหลังมีผืนผ้าสำหรับตกแต่งปักลายต่างๆ
นอกนั้นเป็นจีบที่ลักษณะคล้ายเกล็ดปลา จึงเรียกอีกชื่อว่า กระโปรงเกล็ดปลา
จีบลายเกล็ดปลานอกจากจะทำให้ดูสวยงามแล้ว ยังทำให้ตัวกระโปรงเป็นรูปทรงอยู่ตัว
ชายกระโปรงปักเป็นลายต่างๆ กระโปรงประเภทนี้ส่วนมากจะใช้สีขาวเป็นหลัก
ภาพ: ฉินเซียงเหลียน จากงิ้วเรื่อง ฉินเซียงเหลียน



กระโปรงจีบใหญ่
เป็นกระโปรงที่มีจีบขนาดใหญ่ ใช้ในสองลักษณะงาน
หนึ่งคือใช้กับตัวละครหญิงชรา มักเป็นสีเขียวหม่น ไม่ปักลายใดๆ
สองคือใช้กับตัวละครที่สวมเสื้อแบบสั้น สีเหมือนกับตัวเสื้อ
เนื่องจากรูปทรงมีพื้นที่ให้ตกแต่งมาก จึงมักปักลายไม้กิ่งต่างๆ
ภาพ: ตงฟางซื่อ จากงิ้วเรื่อง หงหนีกวาน



กระโปรงทรงกระบอก
เรียกอีกอย่างว่า กระโปรงตัวที่สอง เพราะมักสวมทับกระโปรงร้อยจีบอีกที
มักปักลายที่ช่วงล่างตัวกระโปรง กระโปรงประเภทนี้ไม่ค่อยได้เห็นกันมากนัก
ภาพ: หงเหนียง จากงิ้วเรื่อง ซีเซียงจี้



กระโปรงคลื่น
เป็นกระโปรงสองชั้น สีขาว ใช้กับตัวละครชายชาวบ้านหรือผู้ใช้แรงงาน
ภาพ: ตัวตลก



เสื้อกั๊กปกตั้ง
เป็นชุดที่พัฒนามาจากสมัยราชวงศ์หมิง มีปกตั้ง ชุดยาวลงมาถึงเอว
เมื่ออยู่บนเวทีงิ้วจะใช้กับตัวละครชนกลุ่มน้อยหรือชนต่างเผ่า
ภาพ: ทหารเมืองเหลียว จากงิ้วเรื่อง ซื่อหลางทั่นหมู่



สนับแข้ง
เป็นเครื่องประดับที่ใช้ตกแต่งบริเวณแข้ง ใช้กับบทบู๊ เช่นคนจูงม้าหรือทหาร
ภาพ: คนจูงม้า







หมวดเครื่องแต่งกายพิเศษ



เครื่องแต่งกายพิเศษนี้ คือการนำชุดหรืออุปกรณ์ต่างๆมาผสมผสานกัน
จนเกิดเป็นชุดที่มีความหมายลึกซึ้งไปอีกขั้นหนึ่ง และสืบทอดวิธีการแต่งกายเช่นนี้ต่อกันมา

ชุดบรรดาศักดิ์บุรุษคลุมทับด้วยชุดคลุมเฉวียงบ่า
สื่อถึงแม่ทัพออกตรวจกองทหาร
ภาพ: โจวอวี๋ หรือ จิวยี่ จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชุดบรรดาศักดิ์สตรีคลุมทับด้วยชุดคลุมเฉวียงบ่า
สื่อถึงแม่ทัพหญิงออกตรวจกองทหาร
ภาพ: มู่กุ้ยอิง จากงิ้วเรื่อง ขุนศึกตระกูลหยาง



ชุดลำลองสตรีคลุมทับด้วยชุดคลุมเฉวียงบ่า
สื่อถึงหญิงบ้า ขาดสติ การแต่งกายจึงไม่เรียบร้อย
ภาพ: จ้าวเยี่ยนหรง จากงิ้วเรื่อง อวี่โจ้วเฟิง



ชุดลำลองบุรุษคลุมทับด้วยชุดคลุมเฉวียงบ่า
สื่อถึงชายที่กำลังเดินทาง
ภาพ: ฉินฉยง จากงิ้วเรื่อง เสียงหม่าจ้วน



ชุดลำลองต้องโทษ
สื่อถึงนักโทษชายที่อยู่ในระหว่างเดินทาง
ภาพ: หลินชง จากงิ้วเรื่อง เหย่จูหลิน



ชุดบรรดาศักดิ์รัดเอวด้วยไหม
สื่อถึงขันทีในตำแหน่งสูงหรือขันทีชั้นผู้ใหญ่
ภาพ: ขันทีชั้นผู้ใหญ่



เสื้อกั๊กและกางเกง
สื่อถึงสาวใช้
ภาพ: สาวใช้



ชุดคลุมพร้อมเครื่องประดับศีรษะขนาดใหญ่
สื่อถึงงผู้ถูกแต่งตั้งเป็นองค์หญิง
ภาพ: จวงจีกงจู่ จากงิ้วเรื่อง จ้าวซื่อกูเอ๋อร์



ชุดคลุมมีปกคลุมไหล่พร้อมเครื่องประดับศีรษะขนาดเล็ก
สื่อถึงนางกำนัล
ภาพ: นางกำนัล



หมวกข้าราชการปักดอกไม้ทอง
สื่อถึงจ้วงหยวนหรือจอหงวนคนใหม่
ภาพ: จ้วงหยวน หรือ จอหงวน



หมวกข้าราชการประดับปีกยศ
สื่อถึงพระชามาดาหรือบุตรเขยในราชวงศ์
ภาพ: เฉินซื่อเหม่ย จากงิ้วเรื่อง ฉินเซียงเหลียน



หมวกข้าราชการประดับปีกยศเพิ่มหางไก่ฟ้าและหางจิ้งจอก
สื่อถึงพระชามาดาหรือบุตรเขยในราชวงศ์ต่างเผ่า
ภาพ: หยางเหยียนฮุย จากงิ้วเรื่อง ซื่อหลางทั่นหมู่



ชุดบรรดาศักดิ์เหลืองประดับพร้อมหางไก่ฟ้า หางจิ้งจอกและแถบผ้าดำ
สื่อถึงซุนอู่คงหรือหงอคงเมื่อแรกตั้งตนเป็นใหญ่
ภาพ: ซุนอู่คง หรือ หงอคง จากงิ้วเรื่อง ไซอิ๋ว



ชุดชิงประยุกต์พร้อมชุดธนู
สื่อถึงขุนนางต่างเมือง
ภาพ: เหลียวกว๋อกว๋อจิ้ว จากงิ้วเรื่อง ซื่อหลางทั่นหมู่



ชุดบรรดาศักดิ์แดงและหมวกขุนนางชั้นสูงประดับโบแพร
สื่อถึงเทพแห่งความสุข
ภาพ: เทพแห่งความสุข



ชุดข้าราชการสีแดงและหมวกขุนนางประดับโบแพร
สื่อถึงข้าราชการเทพบนสวรรค์
ภาพ: เทพสวรรค์



ชุดเกราะเหลืองสวมหมวกเกราะประดับโบแพร
สื่อถึงแม่ทัพเทพ
ภาพ: เทพรักษาธรรม จากงิ้วเรื่อง นางพญางูขาว



ชุดทหารสวมหมวกเกราะประดับโบแพร
สื่อถือทหารสวรรค์
ภาพ: ทหารสวรรค์ จากงิ้วเรื่อง ไซอิ๋ว


แถบผ้าขาวคล้องคอ
สื่อถึงผู้ถูกจับกุม
ภาพ: หวังหยวิน จากงิ้วเรื่อง หงจงเลี่ยหม่า



เชือกพันรอบกาย
สื่อถึงผู้มีวิทยายุทธ์ทั้งชายและหญิง
ภาพ: สือซันเม่ย จากงิ้วเรื่อง สือซันเม่ย



หมวกประดับดอกไม้
สื่อถึงผู้มีนิสัยดุดัน แต่ขณะเดียวกันก็รักความสวยงาม
ภาพ: หลี่ขุย จากงิ้วเรื่อง หลี่ขุยทั่นหมู่



โบแพรขาว
สื่อถึงสตรีผู้กำลังไว้ทุกข์
ภาพ: เซียวซู่เจิน จากงิ้วเรื่อง เสี่ยวซั่งเฝิน



ผ้าขาวคาดหมวก
สื่อถึงบุรุษผู้กำลังไว้ทุกข์
ภาพ: หลู่ซู่ จากงิ้วเรื่อง โว่หลงเตี้ยวเซี่ยว


ผ้าดำคลุมทับหมวก
สื่อถึงวิญญาณ
ภาพ: เปาเจิ่ง หรือ เปาบุ้นจิ้น จากงิ้วเรื่อง เปาบุ้นจิ้น (ท่องยมโลก)



ผ้าดำคลุมศีรษะแขวนพู่ขาวขนาบหน้า
สื่อถึงผู้ล่วงลับหรือผี
ภาพ: หลิวซื่อชาง จากงิ้วเรื่อง อูเผินจี้



หมวกปล่อยเปียสองชาย
สื่อถึงหญิงที่ปลอมตัวเป็นชาย
ภาพ: สวินกว้านเหนียง จากงิ้วเรื่อง สวินกว้านเหนียง



ขมับผูกปมผ้า
สื่อถึงกำลังเดินทางหรือเจ็บป่วย
ภาพ: อันจี้ จากงิ้วเรื่อง สือซันเม่ย



สวมเฉพาะเกราะขา
สื่อถึงนักรบที่พ่ายศึก
ภาพ: นักรบพ่ายศึก



ชายสวมกระโปรง
สื่อถึงชายที่กำลังป่วย
ภาพ: หลิวเป้ย หรือ เล่าปี่ จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



ชายสวมกระโปรงเว้นด้านหน้า
สื่อถึงชายที่กำลังเดินทาง
ภาพ: จางเฟย หรือ เตียวหุย จากงิ้วเรื่อง สามก๊ก



หญิงสวมกระโปรงคลุมทับอีกชั้น
สื่อถึงหญิงที่กำลังป่วย
ภาพ: ไป๋ซู่เจิน จากงิ้วเรื่อง นางพญางูขาว



หญิงสวมกระโปรงเว้นด้านหน้า
สื่อถึงนักโทษหญิง
ภาพ: ซูซัน จากงิ้วเรื่อง หนี่ว์ฉี่เจี้ย







ข้อมูลในบทความนี้ เป็นข้อมูลของชุดงิ้วปักกิ่ง
ซึ่งยึดถือแบบแผนมาจากงิ้วคุนฉวี่บรรพบุรุษแห่งงิ้วทั้งปวง (百戏之祖)
จึงจะมีบางส่วนที่ไม่สามารถพบเห็นได้จากงิ้วในไทย
จึงขอเรียนให้ทราบไว้ ณ ที่นี้
เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องประกอบการพิจารณาอ่านบทความ


Create Date : 08 ตุลาคม 2553
Last Update : 9 ตุลาคม 2553 10:34:20 น. 0 comments
Counter : 31776 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อุปรากรจีน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




@ยินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจอุปรากรจีนครับ@

"บทความทุกชิ้นทั้งในกระทู้และblogนี้
ข้าพเจ้าขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอก
หากต้องการจะนำไปใช้ในกิจการใดๆ
รบกวนให้เกียรติลงชื่อ/Creditผู้เขียน
หรือจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก็จะดีมาก
มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย"

Credit: ดนุพล ศิริตรานนท์

สามารถชมคลิปสารคดีงิ้วและงิ้วเรื่องต่างๆได้ที่
https://www.facebook.com/jingju.thai
http://www.youtube.com/user/MrOperahouse

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับสิ่งตัวเองที่รักนะครับ
Friends' blogs
[Add อุปรากรจีน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.