@ดูงิ้วเถิดชื่นใจ@
Group Blog
 
<<
เมษายน 2557
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
12 เมษายน 2557
 
All Blogs
 

บทพระ-บทนาง 生-旦

ในบทความที่แล้วเราได้เกริ่นกันไว้ว่าบทบาทสำคัญในการแสดงงิ้วมีอยู่สี่บท และเราได้ทำความรู้จักบทหน้าลายกับบทตัวตลกกันแล้ว คราวนี้ก็ต้องกล่าวถึวประเภทของตัวละครงิ้วอีกสองบทที่ถือเป็นตัวละครที่สำคัญและทรงอิทธิพลต่อผู้ชมมากเป็นอันดับต้นๆ บทบาทที่เราจะมาทำความรู้จักกันต่อในคราวนี้คือ บทพระและบทนาง



旦 ตั้น คือ บทตัวนาง แบ่งย่อยเป็นหลายแบบ เช่น นางเอกหลักที่เน้นการร้อง นางเอกสาวที่เน้นการแสดง นางเอกบู๊ที่เน้นท่าทาง ฯลฯ ซึ่งแต่ละแบบ ล้วนแต่มีเสน่ห์และวิธีการแสดงที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียง ลีลาท่าทาง ล้วนแต่มีขนบในกาีแสดงที่กำหนดไว้ชัดเจน


ภาพ:ตัวนางแบบต่างๆ

เดิมสถานะของบทตัวนาง จะมีหน้าที่แค่ตัวประกอบ เพราะรูปแบบการแสดงงิ้วแต่โบราณเน้นที่บทตัวพระ ดังนั้นในสมัยก่อนบทตัวนางจะไม่มีท่าทางการแสดงมาก โดยเฉพาะบทนางเอกหลักที่เน้นการร้อง มักจะออกมายืนนิ่ง มือประสานกันอยู่บริเวณบั้นเอวด้านใดด้านหนึ่งแล้วร้องบรรยายเนื้อหา เน้นเสียงสูงและก้องกังวานเป็นหลัก


ภาพ:เหมยหลานฟางแสดงเป็นหยางกุ้ยเฟย

ต่อมาเหมยหลานฟาง ปรมาจารย์คนสำคัญผูัทำให้บทตัวนางมีความสำคัญขึ้นมาเทียบเท่าบทตัวพระ เริ่มจากการปรับปรุงทำนองการร้องที่แข็งทื่อให้มีความอ่อนหวานขึ้น แต่ยังคงแฝงไว้ด้วยน้ำเสียงที่เข้มแข็งก้องกังวาน ท่าทางจากที่ยืนเฉย ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวให้เข้ากับบทร้อง มีการใช้การกรีดมือและนิ้วมาช่วยเพิ่มความละเอียดอ่อนให้กับการแสดง แก้ไขการแต่งหน้าที่แต่เดิมไม่ค่อยพิถีพิถันให้ดูงดงามมากขึ้น

สาเหตุที่งิ้วในสมัยก่อนต้องใช้ผู้ชายมารับบทนาง เนื่องมาจากสภาพสังคมที่ชายเป็นใหญ่ กอปรกับธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างชายหญิงที่เคร่งครัด ทำให้จำเป็นต้องใช้ผู้ชายในการแสดง สถานะของผู้หญิงในสมัยก่อนอยู่ต่ำกว่าชายมาก แม้แต่การดูงิ้ว ก็ยังไม่สามารถไปดูได้ ผู้หญิงโบราณจะได้ดูงิ้วก็ต่อเมื่อที่บ้านตนมีงานและจ้างงิ้วมาทำการแสดง โดยจะแยกที่นั่งชายหญิงเป็นสองฝั่งชัดเจน ต่อมาเริ่มอนุญาตให้ผู้หญิงไปดูงิ้วตามโรงได้ แต่ยังคงแยกที่นั่งอยู่ จวบจนเมื่อเริ่มนั่งรวมกันได้ จึงเริ่มเกิดนักแสดงหญิงขึ้นมาบนเวทีงิ้ว


ภาพ:ความอ่อนช้อยของมือเหมยหลานฟาง

ข้อดีของนักแสดงชายที่รับบทตัวนางสรุปคร่าวๆได้คือ
1. เสียงของผู้ชายจะมีพลังและความทุ้มมากกว่าผู้หญิง แม้จะเป็นการดัดเสียงก็ตาม เสียงผู้ชายก็จะมีคีย์ที่สูงกว่าและน้ำเสียบที่กว้างกว่า ในขณะทีานักแสดงหญิงส่วนมากเมื่อดัดเสียงแล้วเสียงจะเล็กและแหลม จนบางทีไม่น่าฟังเท่าเสียงผู้ชาย
2. รูปร่างที่สูงโปร่งของผู้ชายเมื่ออยู่บนเวทีจะสามารถดึงดูดความสนใจผู้ชายได้ดีกว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างเล็ก เพราะการแสดงบนเวทีเป็นการชมจากระยะไกล และเมื่อมีอายุมากขึ้น ผู้ชายจะมีรูปร่างที่อวบอิ่ม ในขณะที่ผู้หญิงจะดูไปทางอวบอ้วนมากกว่า
3. อายุการแสดงของผู้ชายจะยาวนานกว่าผู้หญิง เนื่องจากสภาพร่างกายที่แข็งแรงกว่าทางเพศกำเนิดแต่ต้น
4. ความละเอียดอ่อนในการแสดงบทนาง ผู้ชายจะทำได้ดีกว่าผู้หญิง เพราะผู้ชายจะต้องเลียนแบบท่าทางผู้หญิงออกมา ทำให้ในสมองต้องตั้งใจคิดตลอดเวลาว่าจะทำให้อย่างไรให้เหมือนหญิง ดังนั้นท่าทางการแสดงออกจะละเอียดมากกว่าผู้หญิงที่โดยธรรมชาติเป็นหญิงอยู่แล้ว จึงแสดงออกตามธรรมชาติ นักแสดงชายที่รับบทนางที่เล่นได้งดงามจึงมักถูกชมว่า เป็นผู้หญิงยิ่งกว่าผู้หญิง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความงามของตัวนาง ต้องอาศัยการแสดงออกที่นุ่มนวล แต่แท้จริงภายในต้องมีแก่นหรือทักษะและกำลังที่เข้มแข็งเป็นพื้น จึงจะสามารถแสดงพลังของสองขั้วออกมาได้อย่างสมดุล

บทพระเอกในการแสดงงิ้ว เป็นบทที่สำคัญที่สุดในอดีต ในภาษาจีนออกเสียงว่า เซิง 生 shēng โดยจะแบ่งออกเป็นช่วงอายุต่างๆ หากยังอยู่ในวัยกำดัดก็จะแต่งหน้าตามีสีสดใส ไม่ติดหนวดเรียกว่าบทเสี่ยวเซิง 小生 xiǎo shēng บทวัยกลางคนก็จะเริ่มมีการติดหนวดเครา ซึ่งตัวละครพระเอกที่มีหนวดนี้เรียกว่า เหล่าเซิง 老生 lǎo shēng เรียกอีกอย่างได้ว่าพระเอกหลักหรือ เจิ้งเซิง 正生 zhèng shēng ซึ่งเน้นที่ทักษะการขับร้องเป็นสำคัญ


ภาพ:พระเอกมีหนวด บทสำคัญในการแสดงงิ้ว

วัฒนธรรมการไว้หนวดในจีนมีมานานแต่โบราณ เป็นเครื่องแสดงความงามของบุรุษเพศ การไว้หนวดของชาวจีนมักจะเริ่มไว้กันในปีเสือหรือปีมะโรงเพื่อเอาเคล็ดว่าเป็นหนวดเสือหนวดมังกร จะไม่เริ่มต้นกันในปีชวดหรือปีหนู ดังนั้นเราจึงมักพบเห็นภาพวาดโบราณของจีนที่ชายหนุ่มจะมีหนวดเคราบนใบหน้า ตั้งแต่ฮ่องเต้ยันสามัญชน ในส่วนของวรรณกรรม หนวดเคราก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มักจะถูกนำมาบรรยายลักษณะของตัวละคร โดยเฉพาะในเรื่องสามก๊กที่ถือเป็นวรรณกรรมที่เน้นที่ตัวละครชาย รบทัพจับศึก ต่างจากเรื่องความฝันในหอแดงที่ไม่บรรยายความงามของบุรุษเพศด้วยหนวดเครา แต่จะองที่ความงามที่ความสูงสง่าของ รูปร่างมาก อย่างในสามก๊กก็เช่น เตียวหุยตาโต หน้าผากกว้าง หนวดดังเสือ หรือกวนอูสูงเก้าเชียะ หนวดยาวสองเชียะ โจโฉตาเล็กหนวดยาว ซุนกวนตาฟ้าหนวดแดง ฯลฯ


ภาพ:กวนอูผู้ลือชื่อด้านความงามของหนวด

หรือแม้แต่ในบันทึกประวัติศาสตร์ก็มักกล่าวถึงหนวดเคราเมื่อมีการบรรยายถึงบุคคล เช่น เล่าปังมีใบหน้าสง่าดุจมังกร มีหนวดอันงดงาม ฯลฯ ดังนั้นในอดีตจึงมีการลงโทษด้วยการจับโกนหนวดเครา ถือเป็นการดูหมิ่นความเป็นชายให้ผู้รับโทษได้รับความอับอาย การไว้หนวดยังเป็นสัญลักษณ์และธรรมเนียมนิยมอย่างหนึ่งของข้าราชสำนัก เช่น ในราชวงศ์ก็ยังมีกลอนที่แสดงถึงการย้อมหนวดให้ดำหรือถอนหนวดที่หงอกขาวทิ้งเพื่อให้ดูไม่ขัดตายามต้องรับใช้ฮ่องเต้ที่ยังทรงพระเยาว์ หรือในรวงศ์ซ่งก็ยังมีเรื่องของโค่วจุ่นที่หาวิธีย้อมหนวดให้ขาวเพื่อให้ตนดูมีวัยวุฒิมากขึ้นสมกับตำแหน่งมหาเสนาบดี ดังนั้นบรรดารูปวาดข้าราชการสมัยโบราณ หนวดเคราจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เสียเลยในภาพเหล่านั้น โดยจะแบ่งออกเป็นหนวดแบบบู๊และบุ๋น แบบบู๊คือหนวดเสือแบบเตียวหุย คือมีลักษณะเป็นเส้นแข็งชี้ตรงอย่างหนวดของเสือ แบบบุ๋นคือหนวดที่เรียงตัวยาวสลวยลงมาบริเวณใต้คางและจอนทั้งสองข้าง


ภาพ:สีหนวดบอกอายุ

ในการแสดงงิ้วก็เช่นเดียวกัน หนวดงิ้วจะโดดเด่นที่ความยาวเกินจริง นั่นเพราะทำขึ้นเพื่อการแสดงโดยเฉพาะ หนวดของตัวพระมักจะใช้หนวดแบบสามช่อหนือหนวดแบบบุ๋นที่ได้กล่าวไป หากเป็นตัวละครมีอายุมากมักจะสวมหนวดที่หนาเตอะคลุมทั้งคาง โดยสีของหนวดจะแบ่งตามอายุคือดำ เทาและขาว และยังมีสีแดง เขียว ดำแซมขาว ฯลฯ สำหรับตัวละครบางตัวที่มีเอกลักษณ์ เช่น ซุนกวน สุหม่าเอี๋ยน ฯลฯ การสะบัดหนวดในการแสดงงิ้วยังเป็นอีกทักษะที่นักแสดงงิ้วจะเป็นต้องเรียนรู้ สะบัดอย่างไรให้สวย พริ้ว ไม่พันกันมั่ว สามารถควบคุมให้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ดังนั้นหนวดในการแสดงงิ้วจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ความสำคัญของมันจึงถูกเลือกนำมาใช้กับบทพระเอกหลัก ซึ่งเป็บบทบาทที่สำคัญที่สุดในการแสดงในสมัยโบราณ


ภาพ:ลีลาการสะบัดหนวดในการแสดง

หนวดกับบทบาทความเป็นพระเอก มักจะมาคู่กันเสมอในสมัยโบราณ พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือหนวดทำให้ผู้ชายดูสมชายชาตรี เพราะเป็นสิ่งที่ผู้หญิงไม่สามารถมีได้ แม้แต่ปัจจุบันที่มักนิยมผู้ชายที่หน้าเกลี้ยงเกลา แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังคงนิยมชมชอบผู้ชายที่ไว้หนวดเครา เพราะมองว่าเท่และดูแมน ความนิยมนี้จึงเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ความหมายของหนวดเคราก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากอดีตเท่าไรมากนัก ผู้ชายกับหนวดจึงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้แม้แต่ในเวทีงิ้วก็ตาม 须眉 xū méi ซวีเหมย ที่แปลว่าหนวดและคิ้วในภาษาจีนจึงหมายถึงผู้ชายได้อีกด้วย




 

Create Date : 12 เมษายน 2557
0 comments
Last Update : 12 เมษายน 2557 16:28:17 น.
Counter : 16780 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


อุปรากรจีน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




@ยินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจอุปรากรจีนครับ@

"บทความทุกชิ้นทั้งในกระทู้และblogนี้
ข้าพเจ้าขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอก
หากต้องการจะนำไปใช้ในกิจการใดๆ
รบกวนให้เกียรติลงชื่อ/Creditผู้เขียน
หรือจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก็จะดีมาก
มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย"

Credit: ดนุพล ศิริตรานนท์

สามารถชมคลิปสารคดีงิ้วและงิ้วเรื่องต่างๆได้ที่
https://www.facebook.com/jingju.thai
http://www.youtube.com/user/MrOperahouse

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับสิ่งตัวเองที่รักนะครับ
Friends' blogs
[Add อุปรากรจีน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.