@ดูงิ้วเถิดชื่นใจ@
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
3 มีนาคม 2557
 
All Blogs
 

บทหน้าลาย-บทตลก 净-丑

ตัวละครหลักในการแสดงงิ้ว สามารถแบ่งได้สี่บทหลักๆเรียงตามความสำคัญคือ พระ นาง หน้าลายและตัวตลก แต่่แท้จริงตัวละครทุุกบทล้วนมีความสำคัญ โดยเฉพาะบทตลก ดังนั้นบทความแนะนำตัวละครในครั้งนี้ ผู้เขียนจะขอเล่าถึงจุดเด่นของทั้งสี่บท โดยเรียงลำดับย้อนหลังขึ้นมา โดยจะแบ่งเล่าตอนละสองบท ในตอนนี้จะเริ่มที่ ตัวตลกและหน้าลาย


丑 chǒu โฉ่ว นอกจากจะแปลว่า น่าเกลียด อัปลักษณ์แล้ว ในการแสดงงิ้วยังหมายถึงบทตัวตลก หนึ่งในสี่บทบาทที่สำคัญต่อการแสดงงิ้วอีกด้วย บทตัวตลก ในการแสดงงิ้ว ถือว่าเป็นบทที่มีความสำคัญมาก เพราะบทตลกมีบทบาทที่จะทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปได้โดยที่ผู้ชมสามารถพักหูจากการฟังมาดูแทน บทตลกยังช่วยดึงดูดความสนใจให้กับผู้ชมรุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่สามารถดื่มด่ำกับลีลาการร้อง แต่สามารถเข้าใจเรื่องได้โดยผ่านลีลาการแสดง ความสำคัญของบทตลกจึงเกิดเป็นคำกล่าวว่า 无丑不成戏 wú chǒu bú chéng xì อู๋โฉ่วปู้เฉิงซี่ "ไม่มีตลกไม่ใช่งิ้ว"


ภาพ:ถังหมิงหวงกับหยางกุ้ยเฟย

ในสมัยราชวงศ์ถัง ฮ่องเต้ถังหมิงหวงทรงรักในดนตรีและศิลปะการแสดง ทรงจัดให้มีการฝึกซ้อมนักแสดงในสวนแพร์ อันเป็นต้นกำเนิดของงิ้วในภายหลัง พระองค์ทรงเชี่ยวชาญในการดนตรี นอกจากนี้ยังโปรดที่จะเข้าร่วมแสดงกับบรรดานักแสดงในสวนแพร์ด้วย ว่ากันว่าโปรดแสดงในบทตัวตลก มีครั้งหนึ่งทรงต้องการหยอกเย้าเอาใจหยางกุ้ยเฟย แต่ด้วยความที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นจะลงไปทำท่าแปลกๆก็จะดูไม่เหมาะสม จึงทรงนำหยกมาแขวนไว้กลางหน้าเพื่ออำพราง จึงเป็นตำนานต่อมาว่า ทำไมตัวตลกในงิ้วจึงต้องมีจุดสีขาวบนใบหน้าอยู่เสมอ


ภาพ:ตัวตลกบทต่างๆในงิ้วปักกิ่ง

จุดขาวบนใบหน้ามีลวดลายที่ต่างกันไป บ้างเป็นรูปวงกลม บ้างเป็นรูปก้อนทองจีน บ้างเป็นรูปหนู บ้างเป็นรูปไก่ ฯลฯ เช่น ตัวละครที่โลภมาก ชอบลักเงินทอง หรือเป็นคนขี้เหนียว ก็จะวาดจุดขาวให้เป็นรูปก้อนทองจีน เพื่อเป็นนัยให้คนดูเข้าใจ ในสมัยก่อนหัวหน้าคณะงิ้วมักจะเป็นนักแสดงบทตลกเสียส่วนมาก เพราะบทตลกนอกจากจะต้องแสดงตามบทบาทของตนแล้ว ในบางทียังต้องมีการเลียนแบบท่าทางการร้องการแสดงของบทอื่นๆ ทำให้นักแสดงบทนี้สามารถสอนนักแสดงรุ่นหลังได้ในทุกบทบาท ไม่ว่าจะชายหรือหญิง เด็กหรือคนแก่ ก็แสดงได้ทั้งหมด บทตลกจึงถือเป็นบทที่ยากที่สุด

净 jìng จิ้ง หรือบทหน้าลาย มีเรื่องเล่าหลายที่มา แต่ที่ได้รับความนิยมก็คือตำนานของหลันหลิงหวัง ว่ากันว่า หลันหลิงหวังเป็นนักรบที่เก่งฉกาจ แต่ด้วยเพราะเป็นหนุ่มหน้ามนคนหน้าหวาน เวลาออกรบจึงมักถูกศัตรูสบประมาท เขาจึงใช้วิธีการใส่หน้ากาก(ในส่วนของหน้ากากก็มีพัฒนามาจากพ่อมดพ่อหมอใน สมัยโบราณที่นำมาใส่ในเวลาทำพิธี)ออกรบ โดยวาดเป็นลวดลายที่มีใบหน้าดุดัน ต่อมาถึงราชวงศ์ถังก็ยังมีการแสดงระบำเล่าเรื่องราวของหลันหลิงหวัง จึงคาดว่าบทหน้าลายในแสดงงิ้วมีต้นกำเนิดมาจากเรื่องราวของหลันหลิงหวังนี่เอง


ภาพ:หลันหลิงหวังสวมหน้ากากออกรบ

ในส่วนของการแสดงงิ้ว ในสมัยแรกการวาดลวดลายมีทั้งแบบวาดลงบนหน้านักแสดงจริงๆจะวาดลงบนหน้ากากก่อน ค่อยนำมาสวม ข้อดีของการวาดลงบนหน้ากากคือสะดวก ประหยัด ใช้ได้หลายงาน แต่เมื่องิ้วมีการพัฒนาจนเต็มรูปแบบ การร้องกลายมามีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ตัวละครทุกตัวเลยจำเป็นต้องร้อง การใส่หน้ากากจึงต้องเปลี่ยนมาวาดลายลงบนหน้านักแสดงแทน แต่ยังมีบางการแสดงที่สวมหน้ากากอยู่ เช่น การแสดงเบิกโรงอวยพร นักแสดงเพียงแค่แสดงท่าทางไม่มีการร้อง การแสดงเหล่านี้จึงถือเป็นร่องรอยที่เหลือมาจากการแสดงโดยสวมหน้ากากในยุคต้น


ภาพ:1.หยางชีหลาง 2.เปาบุ้นจิ้น 3.จงขุย 4.จิงฉอง

การวาดลายบนหน้าจะมีความหมายเสมอ ยกตัวอย่างตามภาพประกอบ 1.หยางชีหลาง ตามตำนานว่าเป็นดาวเสือจุติมาเกิด จึงวาดคำว่าเสือบนหน้าผาก 2.เปาบุ้นจิ้นสามารถตัดสินคดีในยมโลกได้ จึงวาดรูปพระจันทร์เสี้ยว 3.จงขุยได้รับตำแหน่งขุนนางหลังจากตาย จึงวาดรูปค้างคาวบริเวณจมูก เพราะคำว่าค้างคาวในภาษาจีนพ้องกับคำว่าความสุข 4.จิวฉอง(ลูกน้องกวนอู)โขกศีรษะตาย ดังนั้นบทจิวฉองหลังจากเสียชีวิตและได้เป็นเทพ บนหน้าผากก็จะวาดให้มีรอยเลือดปรากฎ จะเห็นได้ว่าลวดลายบทใบหน้ามีที่มาที่ไปและความหมายเฉพาะตัว

หลักในการวาดหน้างิ้ว สามารถสรุปที่มาคร่าวๆได้ดังนี้
1. จากความหมายของสี เช่น สีแดงคือซื่อสัตย์ สีขาวคือเจ้าเล่ห์ ฯลฯ
2. จากพ่อสู่ลูก เช่น เตียวหุยหน้าดำ ลูกชายเตียวหุยก็วาดหน้าดำด้วย (แท้จริงอุปนิสัยอาจต่างกัน)
3. จากการเลียนแบบ ส่วนมากจะใช้กับงิ้วที่แต่งขึ้นใหม่ภายหลัง เช่น ตัวละครที่มีอุปนิสัยคล้ายกัน ก็จะถูกวาดให้มีสีหลักบนใบหน้าให้มีสีเดียวกับตัวละครที่มีรูปแบบหน้าอยู่ ก่อนแล้ว
4. จากชื่อแซ่ หากในชื่อแซ่มีความหมายเป็นสีใดๆปรากฎก็จะกำหนดให้มีสีใบหน้าตรงตามสีในชื่อนั้นๆ
5. จากสายตระกูลแซ่ เช่น ตัวละครที่มีแซ่ กวน เหมือนกวนอูจะมีหน้าสีแดง ฯลฯ
6. จากความเข้าใจผิด คือตัวละครคล้ายกันหรือคำในชื่อไปพ้องเสียงกับสีใดสีหนึ่ง จึงถูกวาดขึ้นตามความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแต่ต้น แต่เมื่อผู้ชมยอมรับและจำใบหน้านั้นๆได้ จึงถูกใช้เป็นแบบแผนต่อมา

ดังนั้นแม้จะขึ้นชื่อว่า "หน้าลาย" แต่ตัวละครบทนี้กลับ "ลายแต่ไม่รก ลายมีแบบแผน ลายแบบมีศิลป์" สมกับเป็นศิลปะชั้นสูงที่มีที่มามานานหลายร้อยหลายพันปี

 
ภาพ:หน้าลายผีเสื้อที่พ้องกับความหมายในชื่อของเตียวหุย (หุย แปลว่า บิน)




 

Create Date : 03 มีนาคม 2557
0 comments
Last Update : 3 มีนาคม 2557 20:33:34 น.
Counter : 10779 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


อุปรากรจีน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




@ยินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจอุปรากรจีนครับ@

"บทความทุกชิ้นทั้งในกระทู้และblogนี้
ข้าพเจ้าขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอก
หากต้องการจะนำไปใช้ในกิจการใดๆ
รบกวนให้เกียรติลงชื่อ/Creditผู้เขียน
หรือจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก็จะดีมาก
มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย"

Credit: ดนุพล ศิริตรานนท์

สามารถชมคลิปสารคดีงิ้วและงิ้วเรื่องต่างๆได้ที่
https://www.facebook.com/jingju.thai
http://www.youtube.com/user/MrOperahouse

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับสิ่งตัวเองที่รักนะครับ
Friends' blogs
[Add อุปรากรจีน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.