โลกจิต - แทนไท ประเสริฐกุล / สนุกกับโมเลกุล - จอห์น เอ็มเสลย์
สวัสดีปีใหม่เพื่อนๆชาวบล๊อคทุกท่านค่ะ
ห่างหายไปเนิ่นนานวันนี้เลยเอาบล๊อคมาปัดฝุ่น "เล็กน้อย" ด้วยการเก็บหนังสือน่าสนใจเข้าบล๊อค

โดยส่วนตัวแล้วเจ้าของบล๊อคเป็นเด็กสายศิลป์ที่ขยาดกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อจับพลัดจับผลูกับความชอบทางด้านปั้นเรื่องราวหรือเขียนนิยาย ก็ทำให้รู้ว่าการเขียนนิยายต้องอาศัยความรู้ทุกแขนง (และเพิ่มงานหนักให้กับตัวเองโดยการยังจะกล้าคิดค้นเข้าไปยุ่งวุ่นวายกับข้อมูลที่ตัวเองรู้น้อยและแทบจะเรียกได้เป็นแขยง)

เมื่อเริ่มเข้ามารวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังจึงได้ตระหนักรู้ว่าแท้จริงนั้น วงการหนังสือในบ้านเราที่มีแนวทางทางวิทยาศาสตร์นั้น หาได้ยากเหลือเกิน

โดยมากแล้วถ้าพูดถึงการหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ต้องเข้ามุม"ตำรา" อันแสนจะอ่านยากสำหรับคนเรียนสายศิลป์

และที่ยากเข้าไปอีกคือการ "สืบค้น" ข้อมูลตลอดจน case study ต่างๆ ด้วยที่ไม่รู้แม้กระทั่งว่าจะเริ่มค้นจาก "คำเฉพาะ"(technical term) ว่าอะไรดี

แต่วงการวรรณกรรมแท้จริงแล้วก็ไม่ได้มืดมนจนเกินไปถ้ามีเวลาเดินหากันจริงๆ แม้ว่าความจริงนั้นจากการเดินท่องงานหนังสือทั้งงานเป็นเวลาหลายวันจะค้นพบว่าเราควรจะยอมรับความจริงว่าข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ในบ้านเราถูกผลิตมาเป็นหนังสือที่ "บุคคลทั่วไป" สามารถอ่านได้มีน้อยมาก ไม่เป็น "วิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก" ก็เป็น "วิทยาศาสตร์เฉพาะทางสำหรับผู้ที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้น"

สอบถามจากหลายต่อหลายคนหรือหลายต่อหลายร้านค้าว่าไม่มีหนังสือที่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันบ้างหรือ คำตอบที่ได้รับมักจะเป็นแนวว่าข้อมูลพวกนั้นมักจะอยู่ในวารสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่แพร่หลายนัก

ฟังแบบนี้ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร จะโทษว่าไม่ค่อยมีผู้นิยมผลิตหนังสือวิทยาศาสตร์ดี หรือจะต้องทำความเข้าใจผู้ผลิตเพราะเราไม่ได้ถูกปลูกฝังให้เป็นเมืองแห่งการฝักใฝ่ศึกษาทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนตัวอยู่แล้ว (จะโทษประการหลังก็ไม่ได้เพราะฉันก็ต้องยอมรับล่ะว่าฉันเองก็เคยเป็นผู้ที่ขยาดและไม่ชอบการศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อยู่แต่เดิมเช่นกัน อาจเพราะสายวิทย์-คณิตถูกกำหนดสำหรับเด็กหัวกะทิ และฉันในวัยเด็กก็ไม่ใช่เด็กขยันและเกลียดการบังคับท่องจำตัวเลขตลกๆหรือการใช้ศัพท์แสงเรียกกระบวนการวิจัยหรือการอธิบายปฏิกิริยาทางเคมีต่างๆให้เข้าใจยากๆแบบนี้เป็นที่สุด)

โลกจิต - แทนไท ประเสริฐกุล

*

ภายใต้รังแคของคุณลงไปเพียงไม่กี่เส้น ยังมีโลกอีกโลกหนึ่ง รอคอยให้เข้าไปสำรวจ

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อ "บุคคลทั่วไป" โดยแท้จริง จะว่าว่าเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งหมดก็ไม่เชิง เพราะมีส่วนของมนุษยวิทยาและจิตวิทยาเข้าไปผสมรวมอยู่ด้วย (ซึ่งเข้ากับความสนใจส่วนตัวกับสิ่งที่ฉันได้ศึกษามาตลอดระยะเวลาสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยเช่นกัน ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงอาจจะมีเนื้อหาคุ้นตาฉันมากกว่าสายศิลป์คนอื่นๆ)

ผู้เขียนถ่ายทอด ให้มุมมองและยก case study หลายๆตัวอย่างเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทของมนุษย์(และเปรียบเทียบกับของสัตว์) จนเห็นภาพและเกิดความน่า "ทึ่ง" อย่างน่าอัศจรรย์

หนังสือเล่มนี้เกิดจากแรงบันดาลใจที่ฉันจะต้องศึกษาเรื่องกระบวนการทางความคิดของมนุษย์ไม่เพียงแค่ในเชิงสังคมวิทยา แต่ในมุมมองของกระบวนการทำงานของสมองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งหลังจากค้นพบหนังสือเล่มนี้ก็พบว่าให้คำตอบหลายๆอย่างได้น่าทึ่งมาก

เหมาะสำหรับที่จะอ่านเล่น และอ่านแล้วได้ไอเดียหรือ case study ต่างๆเพื่อนำไปศึกษาต่อ และที่สำคัญ "อ่านง่าย และ สนุกสนาน" เป็นหนังสือแนววิทยาศาสตร์ในฝันที่ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียด มี fact และสอนให้เด็กที่ไม่ชอบและไม่เคยเข้าใจวิทยาศาสตร์หนึ่งคนเข้าใจมันได้อย่างแท้จริง

แล้วคุณจะรู้ว่า การทำงานของสมองนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ในหลายรูปแบบมากกว่าที่คุณคิด

- ใครจะรู้ได้ว่าคนที่เห็น "รูป" จากการ "ฟังเพลง" นั้นมีจริง และเขาไม่ได้เป็นโรคและไม่ได้บ้า ไม่ได้หลอน
- ใครจะรู้ได้ว่าความรู้สึกที่คนแขนขาดที่ยังรู้สึกว่ายังมีแขนข้างนั้นของตนเองตลอดเวลาและสามารถรู้สึกเจ็บได้หากรับรู้ว่าใครมาทำร้ายแขนข้างนั้นของเขานั้นไม่ใช่เรื่องตลกและคิดคำนึงไปเอง
- ใครจะเคยรู้ถึงความนึกคิด ภาพต่างๆที่เกิดขึ้นในหัวของคนตาบอด

และอื่นๆอีกมากมายที่ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวและไกลตัวที่ได้อ่านและรู้เห็นถึงตัวอย่างมากมายที่ผู้เขียนค้นหา ค้นพบและอธิบายได้อย่างสร้างสรรค์และอ่านแล้วเกิดทั้งอาการ "ยิ้มขำ" "ยิ้มกว้าง" และ "ยิ้มอย่างเพิ่งจะเข้าใจ"

แนะนำหนังสือเล่มนี้สำหรับคนที่อยากเรียนรู้พฤติกรรมมากมายที่เกิดจากสมองของมนุษย์ เพื่อที่จะเปิดโลกทางวิทยาศาสตร์ เข้าใจผู้อื่นและเข้าใจตนเองอย่างง่ายๆ และยิ้มให้กับวงการวรรณกรรมว่าหนังสือดีๆทางวิทยาศาสตร์ยังไม่หายไป

ขอบคุณผู้เขียนสำหรับแง่มุมและความรู้ต่างๆเล่มนี้

**********************************

สนุกกับโมเลกุล
ผู้เขียน : จอห์น เอ็มเสลย์
ผู้แปล: ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย
บรรณาธิการ : อุทัย วงศ์ไวศยวรรณ


*

อัศจรรย์เคมีของสสารรอบตัวเรา

ไหนๆก็พูดถึงหนังสือทางวิทยาศาสตร์ที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่ไม่เชิงจะง่ายแต่น่าสนใจและไม่ใช่หนังสือแบบเรียนเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยให้ศึกษา

แต่น่าแปลกใจว่า ทำไมพอเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์แนวนี้ ต้องมีคำประเภทว่า "สนุกกับ" หรือ "รอบตัว" เจาะจงไว้ ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์กลัวคนอ่านแขยงกับความเป็นวิทยาศาสตร์ของมันรึเปล่า เลยต้องตั้งชื่อชวนเชื่อราวกับเป็นหนังสือสำหรับเด็ก

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม "เด็กโข่ง" คนนี้ก็หลงกลซื้อมาเพราะเมื่อเปิดดูได้รู้ว่ามันไม่ "เด็ก" ขนาดนั้น

สนุกกับโมเลกุลเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นวิทยาซ้าดวิทยาศาสตร์ และค่อนข้างจะซับซ้อนหรือมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งกว่าเล่มแรกที่นำเสนอ การเขียนไม่ได้เพื่อความบันเทิงเริงใจ ไม่มีการพูดคุยกันเองหยอกล้อคนอ่านเท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่น่าสนใจและน่าแนะนำคือองค์ความรู้ภายในที่นำเสนอ

หนังสือเล่มนี้พูดถึง "เคมีสสาร" รอบตัวเราที่บางครั้งใกล้ตัวเสียยิ่งกว่าใกล้ตัว เช่นความรู้ใหม่ๆเรื่องผงซักฟอก หรือกระทั่งเกลือ!

หนังสือเล่มนี้ใช้คำพาดหัวข้อเรื่องแต่ละเรื่องค่อนข้างยาก ด้วยการเอาชื่อสารประกอบอย่างเป็นทางการของสิ่งเหล่านี้เป็นหัวเรื่อง ทำให้ครั้งแรกที่เปิดดูอย่างไม่ตั้งใจพบว่าเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ทั่วไปหนึ่งเล่ม แต่เมื่อได้ลอง(แอบ)อ่านในร้านกลับพบว่ามีมากกว่านั้น

หนังสือเล่มนี้แม้จะมีชื่อของสารประกอบมากมายเต็มไปหมด แต่แต่ละหัวเรื่องกลับถูกเขียนและอธิบายไว้เรื่องละประมาณสองสามหน้าทำให้ถ้ารู้สึกหนักเกินไปก็สามารถพักวางได้เสมอเหมือนกับอ่านคอลัมน์นิตยสารอาทิตย์ละเล่ม อีกทั้งชื่อสารประกอบมากมายเมื่อได้อ่านถึงข้อมูลภายในแล้วพบว่าชื่อยากๆพวกนี้ที่แท้แล้วก็เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ที่เด็กศิลป์-ภาษาอย่างฉันไม่เคยท่องจำและให้ความสนใจ (จนถึงขนาดว่าบางครั้งเห็นคำว่า ไฮโดรเจนออกไซด์ ก็รู้สึกว่าขยาด ทั้งๆที่มันคือ H20 หรือน้ำดีๆนี่เอง -_-')

ในหนังสือเล่มนี้มีคำน่าขยาดมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีที่มา การผลิตตลอดจนคุณประโยชน์ที่น่าทึ่งและมหันตภัยที่น่าตกใจเช่นกัน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว - สารที่มีรสขมที่สุดในโลก), เคฟลาร์ (พลาสติกที่หยุดได้แม้กระทั่งกระสุนปืน), พายรูบาบ-กรดอซิลิกที่อาจปลิดชีวิตมนุษย์ได้ในช็อกโกแลต, แคลเซียมฟอสเฟต(กระดูก - กับการเลือกบริโภคยาสีฟัน) เป็นต้น

แม้ในเล่มนี้จะมีชื่อสารประกอบทางเคมีมากมาย บ้างไกลตัวบ้างใกล้ตัวแต่ฉันก็ถือได้ว่ามีประโยชน์และเปิดโลกทัศน์(แม้จะยังคงความอ่านยากอย่างหนังสือวิทยาศาสตร์ไว้บ้าง) แต่ก็ช่วยให้เข้าใจ "วิทยาศาสตร์" ได้มากยิ่งขึ้นจริงๆ

ขอบคุณโลกแห่งวรรณกรรมที่ทำให้ฉันเติบโต



Create Date : 11 มกราคม 2551
Last Update : 17 มีนาคม 2553 12:00:56 น.
Counter : 844 Pageviews.

3 comments
  


สุขสันต์วันเด็กนะคะ
โดย: hypnosis วันที่: 11 มกราคม 2551 เวลา:13:19:40 น.
  
เล่มสองนี่ของคบไฟหรือเปล่าคะ
โดย: ลูกสาวโมโจโจโจ้ (the grinning cheshire cat ) วันที่: 11 มกราคม 2551 เวลา:21:00:51 น.
  
เห็น"โรคจิต" เหมือนกัน เห็นแล้วก็เลย "โรคจิต" อยากอ่าน อิอิ
โดย: Boyne Byron วันที่: 11 มกราคม 2551 เวลา:21:43:09 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ฟองคลื่น คืนจันทร์ พันดาว
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



มกราคม 2551

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31