อาหารมังสวิรัติสูตรเจ้าคุณนรฯ

อาหารมังสวิรัติสูตรเจ้าคุณนรฯ

“หางอึ่ง”
ปัจจุบันมีผู้นิยมรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นจำนวนไม่น้อย เหตุผลเท่าที่ฟังมาก็คือย่อยง่าย มีกากใยจากผัก ผลไม้มาก ทำให้ขับถ่ายสะดวก และรักษาศีล ๕ ข้อที่ ๑ คือปาณาติปาตาฯ ได้อย่างเคร่งครัด สิ่งที่น่าห่วงใยคือ สารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด ความจริงผักปลอดสารพิษก็พอมีขายแต่หาซื้อยาก และมีราคาแพงเนื่องจากผู้ปลูกอ้างว่าต้องลงทุนลงแรงสูงกว่าผักทั่วไป
ผู้เขียนได้ทดลองรับประทานอาหารมังสวิรัติในเทศกาลกินเจเดือนตุลาคมปีนี้ สามวันแรกรู้สึกภาคภูมิใจในข้อที่ว่า เราเอาชนะใจตนเองได้ เพราะขณะที่สมาชิกในครอบครัวรับประทานอาหารปกติเราก็มองดูเฉยๆ โดยไม่เกิดความอยากแต่อย่างใด ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเอาชนะใจตนเองได้ครบตามเทศกาลหรือไม่ ถ้าไม่ครบก็ขออนุญาตเข้าข้างตนเองโดยยกมรดกที่ ๑๑๗ ของท่านพุทธทาสมาปลอบใจ
“มรดกที่ ๑๑๗ ชาวพุทธแท้ ไม่กินสิ่งที่หมายมั่นว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผักแต่กินอาหารที่บริสุทธิ์ถูกต้อง สมควรแก่การกิน โดยความเป็นธาตุตามธรรมชาติ และกินเท่าที่จำเป็นจะต้องกินเหมือนน้ำมันหยอดเพลารถ หรือการกินเนื้อบุตรของตนเองที่ตายลงเมื่อหลงทางกลางทะเลทรายเพื่อประทังชีวิติให้รอดออกไปได้เท่านั้น”
ผู้เขียนได้อ่านประวัติ พระภิกษุ พระยานรรัตนราชมานิต พระอริยสงฆ์ซึ่งเป็นที่รู้จักและศรัทธากันมากโดยเฉพาะในวงการพระเครื่อง และพระพิมพ์ (ผู้เขียนประวัติคือ คุณอธึก สวัสดีมงคล) ที่ติดใจเป็นพิเศษคือตอนที่เล่าถึงอาหารที่ท่านฉันตลอดระยะเวลา ๓๔ พรรษา น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักมังสวิรัติทั้งหลายจะได้ทดลองอาหารมังสวิรัติสูตรใหม่ๆ ดูบ้าง
พระภิกษุ พระยานรรัตนราชมานิต เป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดมาก ท่านมีความมักน้อย ยินดีเพียงปัจจัย ๔ ที่จำเป็นเท่านั้น ท่านจึงไม่รับเครื่องไทยธรรมใดๆ ที่มีผู้นำมาถวาย ไม่รับแขกที่กุฏินุ่งห่มเพียงผ้า ๓ ผืน ไม่ใช้ไฟฟ้าหรือตะเกียงในกุฏิ ในกุฏิของท่านไม่มีของใช้ฟุ่มเฟือยเลย มีเพียงโครงกระดูก โลงศพ และหนังสือเท่านั้น
ในด้านภัตตาหารนั้น แต่เดิมในระหว่างที่ท่านเป็นนวกภิกขุท่านก็ออกรับบิณฑบาตและฉันวันละ ๒ เวลาเช่นพระภิกษุทั่วไป
ต่อมาก็เปลี่ยนไปฉันอาหารมังสวิรัติซึ่งทางบ้านจัดทำมาถวายและงดการออกบิณฑบาต พอย่างเข้าพรรษาที่ ๕ ที่ ๖ ก็เปลี่ยนจากอาหารมังสวิรัติมาเป็นอาหารที่ท่านคิดขึ้นเอง (ฉันวันละ ๑ ครั้ง) ท่านฉันอาหารตำรับนี้อยู่จนตลอดชีวิต โดยน้องชายและครอบครัวเป็นผู้ปรุงถวาย หลานชายของท่านจะนำมาถวายที่วัดเวลา ๘.00 น. ซึ่งเป็นเวลาทีท่านลงทำวัตรเช้า

อาหารที่ท่านฉันประกอบด้วย
๑. มะนาว ผลขนาดกลาง แกะเอาแต่เนื้อเป็นกลีบๆ ๖-๙ กลีบ เพิ่มจำนวนตามขนาดผล เล็ก ใหญ่ ของมะนาว
๒. ใบไม้สีเขียว ใช้ใบไม้ที่รับประทานได้ตำละเอียดขนาดก้อนเท่าหัวแม่มือโดยปกติใช้ใบฝรั่ง และบางครั้งก็ใช้ใบไม้อื่นๆ เช่น สะเดา กระถิน มะม่วง มะเฟือง มะยม มะดัน ก้ามปู
๓. อาหารกวนใช้แทนเป็นกับข้าว ประกอบด้วย ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วขาว ถั่วเหลือง ถั่งลิสง ๕ อย่าง ส่วนละเท่าๆ กันรวมต้มให้เปื่อย โม่ละเอียดใส่กะทะกวน ผสมเกลือ น้ำตาลทรายแดง น้ำส้มมะขามเปียก ปรุงชิมให้รสกลมกล่อมกวนจนแห้ง กวนครั้งหนึ่งๆ เก็บไว้ใช้ได้ ๑ อาทิตย์
๔. ถั่วเขียวและข้าวสารผสมส่วนเท่ากัน โม่ละเอียด ใช้แทนข้าว
๕. มันเทศนึ่ง
๖. กล้วยน้ำว้า
๗. ของหวานคือ ขนมกวนแห้งๆ เช่นถั่วกวน เผือกกวน มันกวน ข้าวตู
ภาชนะใส่อาหาร เป็นกล่องอะลูมิเนียมมีฝาปิด รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกล่องสูง ๑ นิ้ว กว้าง ๖ นิ้ว ยาว ๑๐ นิ้ว
เตรียมอาหารเพื่อจัดลงกล่องดังนี้ มันเทศล้างสะอาดไม่ปอกเปลือก ตัดเป็นชิ้น ๆ พอใส่กล่องได้ ๙ ชิ้น ใส่รังถึงนึ่ง ตวงถั่วเขียวผสมข้าวสารที่โม่ละเอียดไว้ตามข้อ ๔ ประมาณ ๓ ถ้วยตะไลผสมน้ำพอสมควรใส่กระทะกวนจนสุก ตักใส่ปิ่นโตอะลูมิเนียมวางลงในรังถึงรวมกับมันเทศ ปิดฝานึ่งจนมันเทศสุก
กล่องอาหารแบ่งจัดตามส่วนดังนี้


มันเทศนึ่ง มะนาว
ใบไม้ตำ

อาหารกวน
ถั่วเขียวผสมข้าวสาร
กล้วยน้ำว้า


ขนมหวาน


ใช้ใบตองรองเสียก่อน แบ่งกล่องเป็น ๓ ช่องเท่ากันตามภาพแล้วจัดดังนี้
ช่องซ้ายวางมันเทศนึ่ง ๙ ชิ้น
ช่องกลางวางมะนาวลงตรงกลาง กลบด้วยใบไม้ตำ กลบด้วยอาหารกวนตามข้อ ๓ กลบ
ด้วยถั่วเขียวผสมข้าวสารตามข้อ ๔ ซึ่งนึ่งสุกแล้ว
ช่องขวาตอนบน วางกล้วยน้ำว้าปอกเปลือกแล้ว ตัดแบ่งไม่ให้ขาดผลละ ๓ ท่อน รวม ๒
ผล
ตอนล่างวางขนมหวาน ๙ คำ
เสร็จแล้วตัดใบตองปิดฝาอาหารที่จัดทำ ปิดฝากล่อง ฝากล่องจะสูงกว่ากล่องราวครึ่งนิ้วแล้วห่อด้วยผ้าสีเหลืองชั้นหนึ่ง ห่อด้วยพลาสติกสีขาวอีกชั้นหนึ่งใส่ลงในถุงพลาสติกรัดด้วยนังยางให้เรียบร้อย ส่งถวายให้ทันเวลา ๘.๐๐ น. ทุกวัน ฉันเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ช้อนที่ฉันนั้นเป็นช้อนที่ทำด้วยกะลา
ท่านได้ฉันอาหารตำรับนี้จำเจตดลอดเวลา ๓๕ พรรษา
ตรงนี้คงจะเป็นสัจธรรมที่สอนเรา ๆ ท่าน ๆ ว่า การกินอาหารควรเป็นไปเพื่อความคงอยู่ของสังขาร ไม่ใช่เที่ยวสรรหาอาหารรสชาติแปลกๆ ใหม่ๆ มาเพื่อสนองความอยากของตนเอง
“พระสงฆ์ คือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ถูกต้องทำนองคลองธรรม ข้างนอกอย่างไรข้างในอย่างนั้น ในที่มืดกับสว่างคือสถานที่แห่งเดียวกัน ปากกับใจประสานกัน คำพูดและการกระทำไม่ต้องเอาสองหาร เป็นผู้ปกติคอยขัดเกลาอุปธิกิเลสต่างๆ ตลอดจนความไม่ชอบมาพากลทั้งหมด ที่เรียกว่า “อุชุปฏิปน.โน”
พระสงฆ์นั้นควรมีสิ่งเดียวคือ “ความบริสุทธิ์” ที่เรียกว่า “พรหมจรรย์” ชื่นชมกับความสุขอันเกิดแต่ความวิเวก ปฏิปทาของพระสงฆ์คือความเป็นผู้ไม่เบียดเบียนความสำรวมและความเป็นผู้ปราศจากกำหนัดคือความก้าวล่วงกามทั้งปวง ความน้อมไปในสิ่งสันโดษ และมักน้อยเป็นสุขอย่างยิ่ง
การทำใจมิให้ติดในปัญจพิธกามคุณ ย่อมเป็นปฏิปทาของพระสงฆ์ หยาดน้ำย่อมไม่ติดในใบบัว วารีย่อมไม่กำซาบในดอกปทุม พระสงฆ์ที่ศึกษาดีแล้วปฏิบัติดีแล้วก็อย่างนั้น นี้คือผู้ควรอัญชลีกรรมของบุคคล
(จากชีวิตบทที่ ๓ ของพระมหากวี กิต.ติสาโร)

จากหนังสือ “ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือน กุมภาพันธ์
2537 ปีที่ 23 เล่มที่ 11 หน้าที่ 43





Create Date : 31 สิงหาคม 2548
Last Update : 11 กันยายน 2548 18:43:24 น. 5 comments
Counter : 1156 Pageviews.

 
ทำไมเข้าการกวนถึงไม่มีเรื่องการกวนเลย วัยรุ่นเซ็ง


โดย: แมงง่องแง่งลอยด่องแด่งในหม้อแอ่งน้ำ IP: 61.19.42.19 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:10:39:12 น.  

 
หายากมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ


โดย: ต๊ดซี่จัง IP: 61.19.42.19 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:10:40:52 น.  

 
สาธุๆ อนุโมทนาครับ ผมทำไม่ได้ครับไม่มีบุญมากขนาดนั้น ทำไม่ได้แน่ๆครับ ขนาดผมบวช 12 ปี เบื่ออาหาร 4-5 อย่างซ้ำๆกันทุกวัน เบื่อมาก ขอสาธุดังๆ ครับ


โดย: หนานชาน IP: 118.175.183.90 วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:21:07:09 น.  

 
ขออนุโมทนาด้วยจิตคารวะยิ่ง


โดย: เพ็ญรัตน์ IP: 58.147.6.129 วันที่: 16 ตุลาคม 2551 เวลา:19:02:34 น.  

 
หมั่นเข้ามาบ่อย ๆ นะคุณอึ่ง
เอาเรื่องดี ๆ มาเล่าให้ฟังบ้าง
คิดถึงนะจ๊ะ จุ๊บ ๆ


โดย: ชิงดวง วันที่: 30 ตุลาคม 2551 เวลา:19:10:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อึ่งปากขวด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
สิงหาคม 2548
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
31 สิงหาคม 2548
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add อึ่งปากขวด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.