เมื่อวานเป็นเหตุ วันนี้เป็นผล วันนี้เป็นเหตุ พรุ่งนี้เป็นผล
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2551
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
29 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
"ความยุติธรรมอยู่เหนือตัวบทกฎหมาย"

"ความยุติธรรมอยู่เหนือตัวบทกฎหมาย"


เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ดังนั้นทางคณะนิติศาสตร์ 4 สถาบัน ซึ่งประกอบไปด้วย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย , คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช ได้จัดเสวนาในหัวข้อ" บทบาทนักกฎหมายใต้ร่มพระบารมี"




โดยมีพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธาน และผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยประธาน 3 ศาล ได้แก่ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา, นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และนายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์, นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด, นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา, นายมารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ, นายสัก กอแสงเรือง อดีตนายกสภาทนายความ, นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา, นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ อดีตรองประธานวุฒิสภา ท่ามกลางผู้เข้าฟังมากกว่า 2,000 คน



พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เจ้าฟ้านักกฎหมาย ทรงร่วมแสดงความคิดเห็นว่า บทบาทนักกฎหมายนอกจากจะเผยแพร่ตัวบทกฎหมายแล้ว น่าจะรวมถึงการเผยแพร่บทบาทขององค์กรต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ เพราะกฎหมายเป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของประชาชน หลายคนเข้าใจว่ากฎหมายเป็นข้อจำกัดเฉพาะวิชาชีพ จึงอาจจะไม่เข้าใจ การเข้าใจผิดอาจก่อให้เกิดปัญหาและเกิดช่องว่างด้วย อย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรศาล ซึ่งต้องขอโทษด้วย ทั้งศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนๆ ที่เป็นคนนอกก็เข้ามาถามอยู่บ่อยครั้ง องค์กรไหนทำหน้าที่อะไร ความจริงคนเรียนกฎหมายใหม่ยังไม่เข้าใจเลย ช่องว่างเหล่านี้ทำให้เกิดความคลางแคลง ไม่น่าเชื่อถือ ทำให้ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะคนขาดความน่าเชื่อถือ จนรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ยุติธรรมคืออะไร มันวุ่นวายไปหน่อย ดังนั้นบางเรื่อง บางทีเราคงต้องการกาวใจ นั่นคือความเข้าใจ ความสามัคคี ซึ่งเป็นพระราชปณิธาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด ซึ่งความสามัคคีนี้นอกจากจะอยู่ในหมู่เองแล้ว ต้องรวมถึงประชาชนและสังคมอีกด้วย



นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า บทบาทของนักกฎหมายไทยใต้ร่มพระบารมี จะเห็นภาพสะท้อนได้จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันนิติศาสตร์รำลึกเมื่อหลายปีก่อน นับว่าเป็นหลักของบ้านเมือง ทำให้การปกครองบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่งานด้านกฎหมายเป็นเรื่องที่มีปญหา เพราะวิชาการที่นำมาใช้นั้นมาจากต่างประเทศ ดังนั้นจะต้องพิจารณาความเป็นอยู่ของบ้านเมืองประกอบด้วย เพราะหากนำมาใช้แบบเพรียวๆก็จะทำให้เกิดปัญหา



หลักใหญ่ของนักกฎหมายคือต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางเอาไว้ แต่การปกครองบางทีก็ไม่ได้ปกครองไปตามกฎเกณฑ์ เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นไม่เอื้ออำนวย อย่างกรณีชาวบ้านที่อยู่ตามป่าเขาหลายสิบปี แต่อยู่ๆทางการก็กำหนดให้เป็นเขตป่าสงวน จึงทำให้มีความผิด เมื่อต้องขึ้นศาล บางคดีศาลเห็นว่าชาวบ้านควรชนะ แต่ถ้าดูตามลายลักษณ์อักษรแล้ว ชาวบ้านจะแพ้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงขอให้นักกฎหมายช่วยคิดว่า จะทำอย่างไรให้การปกครองเกิดความเป็นธรรม



ดังนั้นกฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์และดำรงความยุติธรรมถูกต้อง เที่ยงตรง มีประสิทธิภาพเต็มที่หรือไม่ ก็อยู่ที่การใช้กฎหมายเป็นสำคัญ ถ้าใช้ตรงตามเจตนารมณ์ กฎหมายก็จะมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยพลิกแพลง บิดพลิ้ว ด้วยอคติ ด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์แล้ว กฎหมายก็จะเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ และประสิทธิภาพของกฎหมายก็จะลดลง



อย่างไรก็ตามบางทีนักกฎหมายใช้กฎหมายไปนานๆ และอยู่กับกฎหมายมากๆ ก็อาจจะติดกับตัวบทกฎหมาย และคิดว่ากฎหมายเป็นตัวความยุติธรรม ซึ่งในความจริงแล้วไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นเพียงปัจจัยที่ได้ตราขึ้นไว้เพื่อรักษาความยุติธรรมเท่านั้น การดำรงความยุติธรรมต้องอาศัยผู้ใช้กฎหมายเป็นสำคัญ โดยต้องรักษาความเป็นกลาง และรักษาวัตถุประสงค์ของกฎหมาย พร้อมด้วยมโนธรรมของนักกฎหมาย จากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงตระหนักในความสำคัญของกฎหมายและห่วงใยนักกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง



ทั้งนี้พอจะสรุปได้ว่าพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทนั้น ส่งผลต่อนักกฎหมายด้วยกันหลายประการ คือ 1.เป็นการปลุกจิตสำนึกให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎมายมีแรงบันดาลใจ มีอุดมการณ์และจริยธรรม 2.เป็นการจุดประกายให้นักกฎหมายคำนึงถึงความยุติธรรมว่าต้องมาก่อนและอยู่เหนือกฎหมาย นักกฎหมายไทยจะมองข้ามและละเลยปัญหานี้มานาน เพราะกฎหมายบ้านไทยไปยึดแนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมือง แทนที่จะยึดสำนักกฎหมายธรรมชาติ



"การถือกฎหมายโดยเคร่งครัดละเลยต่อความยุติธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ขัดกับสามัญสำนึก ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญประเทศเยอรมนีเคยวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับให้ผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีตามตัวบทอักษรเท่านั้น หากแต่สนับสนุนให้ผู้พิพากษาตีความกฎหมายตามเจตนารมณ์อย่างกว้างขวาง จริงอยู่คำวินิจฉัยที่มีมาแล้วในอดีตศาลต้องวินิจฉัยตามกฎหมายเท่านั้น แต่บัดนี้สถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว เมื่อมีช่องว่างของกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจอุดช่องว่างนั้นได้โดยอาศัยสามัญสำนึกว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน"



3.พระเจ้าอยู่หัวทรงให้คำนึงถึงการตีความกฎหมายตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ โดยปราศจากอคติ ให้รักษาอุดมการณ์ จรรยาและความสุจริต 4.นักกฎหมายต้องกล้าหาญที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามความถูกต้อง เที่ยงตรง ทั้งทางกฎหมายและทางศีลธรรม ไม่มีอคติ ไม่กลัวอิทธิพลต่างๆ นักกฎหมายต้องมีทัศนคติกว้างไกลยอมรับความเห็นของคนอื่น อย่ายึดตัวบทกฎหมายทุกประการ ซึ่งจะทำให้รักษาความยุติธรรมได้ไม่เต็มที่



5.พระองค์ทรงชี้ทางสว่างให้นักกฎหมายว่า ให้พัฒนาเป็นนักกฎหมายที่แท้จริง และ6.เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้นักกฎหมายให้มุ่งมั่นผดุงความยุติธรรม



ดังนั้นพระราชดำรัสเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับสามัญและความเป็นธรรม สามารถปฏิบัติได้ไม่ล้าสมัย นักกฎหมายไทยต้องนำมาปฏิบัติ นักกฎหมายต้องมีคุณธรรม จริยธรรม กล้าทำในสิ่งที่ใตร่ตรองแล้วว่าถูกต้องชอบธรรม การเสนอความเห็นต้องสุภาพ นิ่มนวล มีเหตุผลที่หนักแน่น ต้องรักษาความถูกต้องชอบธรรมยิ่งกว่าความเกรงใจ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบในหน้าที่ อดทนอดกลั้น มีความเป็นธรรม เมตตา เป็นที่ตั้ง



ด้านนายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งสิ้น แต่นักกฎหมายลืมพื้นฐานในทางกฎหมาย ทุกคนที่เป็นนักกฎหมายลืมไปหมด ไปสนใจกับเหตุการณ์วิวัฒนาการความคิดใหม่ ลืมพื้นฐานของกฎหมาย กล่าวคือ นิติรัฐ ที่พัฒนามาจากรัฐตำรวจ พัฒนามาเป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งที่คนไทยลืมไปอย่างหนึ่งก็คือ หัวใจหรือหลักการสำคัญของนิติรัฐอยู่ตรงไหน พูดเพื่อให้โก้เก๋เท่านั้น นิติรัฐคือ การกระทำของฝ่ายปกครองต้องเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องถูกตรวจสอบได้โดยองค์กรตุลาการ ความเป็นอิสระของตุลาการ การแบ่งอำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยใช้อำนาจผ่านองค์กรทั้ง 3 ไม่ได้หมายถึงว่าการขีดเขียน แปลตัวอักษร



"เหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติสุขในขณะนี้ ผมคิดว่าเกิดจากความหมักหมมของปัญหา เนื่องจากการที่เขาคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ดังนั้นหากทำให้เขาเห็นว่าปัญหาได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม ทุกๆปัญหาก็จะเรียบร้อยมากกว่านี้เยอะ"



ด้านนายผัน จันทรปาน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การที่ได้มาทำงานในศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องศึกษาว่าผู้พิพากษาควรตัดสินคดีอย่างไร และการตัดสินภายใต้พระปรมาภิไธยจะต้องทำอย่างไร นั่นก็คือ ต้องจงรักภักดี มีความซื่อสัตย์ สุจริต ต้องมีความเป็นธรรม รวมทั้งการตัดสินจะต้องสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งศาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ต้องยึดมั่น ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกประการ



อย่างไรก็ตามในสมัยที่ตนรับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทย และได้มีโอกาสถวายการรับใช้ในหลวง เมื่อครั้งเสด็จลงในพื้นที่จังหวัดนาราธิวาส เมื่อ 33 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้สำนึกในบุญคุณของพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่สุด เพราะท่านทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นการใช้ตัวบทกฎหมายของนักกฎหมายจึงต้องยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม และความยุติธรรม เป็นสำคัญ



.....หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ

ที่มา..//www.parliament.go.th/news/news_detail.php?prid=10584







Create Date : 29 มิถุนายน 2551
Last Update : 29 มิถุนายน 2551 18:45:25 น. 0 comments
Counter : 1757 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Frank Abanel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




" อย่ามักน้อยหวังเพียงปัญญา
เพื่อใช้ทำมาหากิน

อย่าหวังเพียงเรียนกฎหมายให้จบสิ้น
เพื่อทรัพย์สินชื่อเสียงตำเเหน่งงาน

ขอจงเป็นดั่งเทพยุติธรรม
ผู้รู้โลกลึกล้ำเกินคำขาน

บูชาความถูกต้องเป็นตำนาน
มุ่งสืบสานประโยชน์สุขเเก่มวลชน "

Google
Friends' blogs
[Add Frank Abanel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.