กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
30 กรกฏาคม 2553

การตั้งครรภ์ในเดือนที่ 4



พัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์
ทารกมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อวัยวะต่างๆบนใบหน้าที่มีการพัฒนาไปจนเกือบสมบูรณ์ มีแขนขานิ้วมือนิ้วเท้าที่ชัดเจน และมีรูปร่างที่ได้สัดส่วนมากขึ้น ทำให้ทารกในขณะนี้ดูมีรูปร่างของมนุษย์มากขึ้น ความยาวจากศีรษะถึงสะโพกตอนนี้จะยาวประมาณ 12 เซนติเมตร (4 3/4 นิ้ว) น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 130 กรัม (4 1/2 ออนซ์)

แม้ว่าทารกจะยังตัวเล็กมากๆ แต่แขนขาและนิ้วมือนิ้วเท้านั้นมีการพัฒนารูปร่างไปมาก และได้สัดส่วนเกือบสมบูรณ์ ตอนนี้ขาเริ่มยาวมากกว่าแขน และที่ปลายนิ้วมือมีเล็บขึ้นมาแล้ว อีกทั้งเริ่มมีลายนิ้วมือแล้วด้วย แต่เล็บที่นิ้วเท้าจะงอกตามมาทีหลัง

เนื่องจากในตอนนี้ทารกยังไม่มีเนื้อเยื่อชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ดังนั้น จะดูค่อนข้างผอม และผิวหนังที่ห่อหุ้มร่างกายอยู่นั้นก็บางมากเสียจนมองทะลุเข้าไปเห็นเส้นเลือดที่วิ่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายเป็นเครือข่ายอยู่ภายใต้ได้

ใบหน้าของทารกเริ่มมีคิ้วและขนตาบางๆขึ้น มีขนขึ้นตามใบหน้าตามตัว กระดูกของใบหน้าเริ่มมีโครงสร้างที่สมบูรณ์และได้สัดส่วนมากขึ้น การตรวจอัลตร้าซาวด์ในเดือนที่ 4 นี้จะสามารถมองเห็นอวัยวะเล็กๆบนใบหน้า เช่น จมูกและปากได้ชัดเจนมากขึ้น และเนื่องจากกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้มีการพัฒนาขึ้นมาแล้ว ดังนั้นทารกจะสามารถแสดงสีหน้าได้ ยิ้มได้ ขยับอวัยวะต่างๆบนใบหน้าได้ แต่ยังไม่สามารถควบคุมการแสดงสีหน้าได้ ถึงแม้ว่าเปลือกตาจะยังคงปิดสนิทอยู่เช่นเดิมแต่ดวงตาของทารกจะเริ่มมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของแสงสว่างได้แล้ว ที่บริเวณลิ้นของทารกก็เริ่มมีการสร้างปุ่มรับรสขึ้นมาอีกด้วย หูทั้งสองข้างจะเคลื่อนขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและภายในสัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์นี้ กระดูกชิ้นเล็กๆที่อยู่ภายในหูของทารกที่แข็งตัวขึ้นจะทำให้ทารกสามารถได้ยินเสียงเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูดของคุณแม่เอง เสียงหัวใจแม่เต้น หรือเสียงของระบบทางเดินอาหารของแม่

ในเดือนที่ 4 นี้ความแข็งแรงในการเคลื่อนไหวร่างกายของทารกมีมากขึ้นตามการพัฒนาของระบบประสาท ทารกจะเริ่มสร้างเนื้อเยื่อชั้นไขมันที่มีชื่อเรียกว่า Myelin ขึ้นมาเคลือบเส้นประสาทที่เชื่อมโยงระหว่างกล้ามเนื้อและสมองซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก เนื่องจากเมื่อมีการสร้างระบบประสาทเสร็จสมบูรณ์ การรับส่งข้อมูลจากกล้ามเนื้อสู่สมองและจากสมองสู่กล้ามเนื้อก็จะสามารถทำงานได้สมบูรณ์ นั่นหมายถึงมีการเคลื่อนไหวได้อย่างประสานสัมพันธ์กัน ทารกจะมีการหลับการตื่น มีการเคลื่อนไหว ยืดและงอแขนขาได้ เตะหรือตีลังกาก็ได้ ทารกจะเริ่มดูดนิ้วหัวแม่มือ กำมือและแบมือ แต่นี่เป็นเพียงการซ้อมการเคลื่อนไหวร่างกายเท่านั้น การเคลื่อนไหวให้สัมพันธ์กันนั้นยังต้องฝึกอีกมากหลังจากการคลอด

ทารกจะกลืนน้ำคร่ำเข้าไปในระบบทางเดินอาหาร และเริ่มมีการกรองที่ไตเป็นครั้งแรก แล้วจะปัสสาวะออกมาหมุนเวียนเป็นน้ำคร่ำอีก ทารกในครรภ์จะปัสสาวะออกมาประมาณทุกๆหนึ่งชั่วโมง

ภายในถุงน้ำคร่ำ ทารกจะถูกล้อมรอบด้วยน้ำคร่ำ ซึ่งจะช่วยให้ทารกลอยไปมาอย่างอิสระราวกับอยู่ในสระน้ำอุ่น เพื่อให้ทารกสามารถเคลื่อนไหวยืดแข้งยืดขาเพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้อย่างเต็มที่ โดยมีสายสะดือที่เปรียบเสมือนเป็นท่อออกซิเจนสำหรับนักดำน้ำ บางครั้งทารกอาจหมุนศีรษะลง แล้วอีกนาทีต่อมาอาจหมุนเอาขาลง แต่ว่าที่คุณแม่จะไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวนี้เนื่องจากน้ำคร่ำที่อยู่รอบตัวทารกจะกระจายแรงดันไปรอบด้านเท่าๆกันจนทำให้คุณแม่ไม่อาจรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวเล็กๆนี้ได้

หัวใจของทารกมีการสูบฉีดเลือดอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น และเสียงดังพอที่คุณจะสามารถได้ยินเสียงของการเต้นของหัวใจทารกได้จากการใช้หูฟังของแพทย์แนบกับหน้าท้อง ทารกมีการซ้อมหายใจ จากการตรวจอัลตร้าซาวด์จะเห็นภาพบริเวณทรวงอกของทารกมีการเคลื่อนไหว ขึ้นและลงเป็นจังหวะสม่ำเสมอ

เลือดของทารกมีการสูบฉีดไปเลี้ยงทั่วร่างกายเล็กๆ ด้วยความเร็วประมาณ 4 ไมล์ต่อชั่วโมง เลือดจากทารกจะออกสู่เส้นเลือดแดงใหญ่สองเส้นไปยังสายสะดือไปยังรกซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับจานมีเครือข่ายเส้นเลือดของมันเอง และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 3 นิ้วเท่านั้น ในตอนนี้เมื่อเลือดออกไปสู่รกก็จะมีการแลกเปลี่ยนอาหารและออกซิเจนกับเลือดแม่แล้วจึงไหลเวียนกลับมายังเส้นเลือดดำ 1 เส้นกลับสู่สายสะดือแล้วเข้าสู่ร่างกายทารกอีกครั้ง ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลา ประมาณ 30 วินาที

รกเปรียบเสมือนอวัยวะที่ทำหน้าที่หลายๆอย่าง เช่น ทำหน้าที่เป็นปอด ไต ลำไส้ ตับ และผลิตฮอร์โมน รกมีสองด้าน คือ ด้านแม่และด้านลูก รกทำหน้าที่ให้สารอาหารและออกซิเจนผ่านจากแม่ไปสู่ทารก และรับของเสียต่างๆจากทารกเช่นปัสสาวะของทารกและคาร์บอนไดออกไซด์กลับสู่ร่างกายแม่ แล้วตับและไตของแม่ก็จะทำหน้าที่กำจัดของเสียเหล่านั้น

สายสะดือของทารกยาวพอๆกับทารกและโตขึ้นเรื่อยๆเช่นเดียวกับทารก โดยเฉลี่ยความยาวของสายสะดือของทารกเมื่อคลอดจะมีขนาดยาวประมาณ 24 นิ้ว แต่อาจจะสั้นกว่านี้ได้ประมาณ 5 นิ้วและสามารถยาวได้ถึง 48 นิ้วเลยทีเดียว ซึ่งแรงดันของเลือดจะช่วยให้สายสะดือคงรูปเป็นเส้นตรงป้องกันการเกิดเป็นปม

อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกได้มีการพัฒนารูปร่างอย่างชัดเจน ตอนนี้ทารกจะเป็นเพศใดก็สามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ สำหรับทารกเพศหญิงนั้นจะมีการสร้างรังไข่ขึ้นมา ซึ่งเมื่อเริ่มแรกภายในรังไข่จะมีการสร้างเซลล์ไข่ขึ้นมาจำนวนมาก ในระยะ 16 สัปดาห์นี้ภายในรังไข่จะมีเซลล์ไข่บรรจุอยู่ประมาณ 2 ล้านฟอง แต่จะมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ จนเมื่อคลอดทารกจะมีเซลล์ไข่เหลืออยู่ประมาณ 1 ล้านฟอง และเมื่อเติบโตขึ้นเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็จะมีจำนวนเซลล์ไข่ลดลงไปอีก เมื่ออายุ 17 ปีเด็กผู้หญิงจะมีเซลล์ไข่เหลืออยู่ประมาณ 2 แสนฟองเท่านั้น แต่มันก็เพียงพอสำหรับการมีบุตรได้แล้ว

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่

ในเดือนที่สี่นี้คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างชัดเจน ขนาดของหน้าท้องจะโตขึ้นจนเห็นได้ชัด มดลูกมีเลือดมาเลี้ยงเพิ่มมากขึ้นเป็น 5 เท่า จากก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยการเจริญเติบโตของทารก ไตมีเลือดผ่านมากขึ้น 25% อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น และมีอัตราการสูบฉีดเลือดเพิ่มขึ้น 30-50% เทียบกับก่อนตั้งครรภ์ และคุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 2.45 – 4.5 kg / 5-10 lb เสื้อผ้าอาจเริ่มคับขึ้นอีก คุณแม่จะต้องเปลี่ยนมาใช้เสื้อผ้าที่ซื้อเตรียมเอาไว้ ในเดือนนี้จะเริ่มมีการเลี่ยนแปลงของสีผิวบริเวณหน้าท้องซึ่งจะมีลักษณะเป็นเส้นที่มีสีเข้มกว่าสีผิวจริงของคุณแม่ตรงกึ่งกลางของหน้าท้อง บริเวณหัวนมมีสีเข้มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และคุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งจะทำให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น อาการแพ้ท้องต่างๆจะหมดไปโดยสิ้นเชิง คุณแม่จะมีความอยากอาหารมากขึ้น ดังนั้นจงให้ความสนใจกับสิ่งที่ร่างกายคุณแม่ต้องการ์

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่

ในช่วงนี้คุณแม่อาจพบกับปัญหาของการท้องผูกและริดสีดวงทวาร อาหารว่างจำพวกผลไม้ หรือที่ทำจากธัญพืชต่างๆ จะช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น เนื่องจากตอนนี้คุณแม่อาจเริ่มมีปัญหาเรื่องท้องผูก ผลไม้แห้งให้ทั้งน้ำตาล ใยอาหาร และธาตุเหล็ก (แต่ระวังพวกของหมักดองซึ่งควรละเว้น) อาหารเหล่านี้ยังให้คุณค่าสารอาหารมากกว่าอาหารว่างพวกขนมขบเคี้ยว หรือลูกกวาด

หากคุณแม่เพียงแต่ท้องผูกเนื่องมาจากลำไส้ใหญ่มีการดูดน้ำกลับจากของเสียทำให้อุจจาระแข็งตัวมากขึ้นคุณแม่จึงถ่ายอุจจาระลำบาก คุณแม่ต้องดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้น รับประทานอาหารที่มีกากหรือเส้นไยเพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้น การใช้ยาระบายจะต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น เนื่องมาจากยาระบายบางชนิดอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ แต่ถ้าคุณแม่มีปัญหาของริดสีดวงทวารร่วมด้วยจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ ริดสีดวงทวาร คือ เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักที่โป่งพองออกจากการที่ท้องผูกแล้วเบ่งอุจจาระ เส้นเลือดที่โป่งพองออกนี้จะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บขณะถ่ายอุจจาระซึ่งจะทำให้อาการท้องผูกนั้นรุนแรงขึ้นไปอีกด้วย อาการริดสีดวงทวารสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาและการผูกหรือผ่าตัด

เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่อาจรู้สึกหายใจไม่เพียงพอได้เป็นบางครั้ง ไม่ต้องตกใจมันอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากความต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ คุณแม่เพียงแต่ตั้งสติและควบคุมการหายใจให้เป็นจังหวะ หายใจให้ยาวขึ้น ลึกมากขึ้นแล้วคุณแม่จะรู้สึกดีขึ้น

คุณแม่อาจพบว่าบ่อยครั้งขณะที่แปรงฟันจะมีเลือดบนแปรงสีฟัน เรื่องนี้แก้ไขได้ง่ายมากเพียงแต่เปลี่ยนมาใช้แปรงสีฟันที่อ่อนนุ่มกว่า แต่ถ้าหากคุณแม่มีปัญหาอื่นๆเกี่ยวกับฟัน ควรไปพบทันตแพทย์เท่านั้น เมื่อคุณแม่ไปพบทันตแพทย์ต้องบอกคุณหมอด้วยว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ คุณหมอจะได้ให้การดูแลเป็นพิเศษ เช่น หากว่าคุณแม่จำเป็นต้อง X – Ray ฟัน คุณหมอจะใช้ที่กำบังไม่ให้รังสีตกกระทบมายังท้องของคุณแม่ได้


ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

มีตกขาวเหนียวข้น

หากคุณแม่มีตกขาวที่เหนียวข้นมากขึ้นเหมือนในช่วงก่อนจะมีรอบเดือนไม่ต้องกังวล เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่การติดเชื้อหรือการอักเสบ ตราบใดที่ไม่มีสีผิดปกติหรือกลิ่นเหม็นผิดปกติ ตกขาวนี้อาจมีมากจนคุณแม่ต้องใช้แผ่นอนามัยเพื่อให้รู้สึกสบายขึ้น แต่อย่าใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปในช่องคลอดเพราะจะมีการสะสมของเชื้อโรคได้

การติดเชื้อของช่องคลอด
คุณแม่อาจมีการติดเชื้อในช่องคลอดได้ในขณะที่ตั้งครรภ์ ไม่วาจะเป็นแบคทีเรีย ยีสต์ หรือเชื้อรา ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะรักษาให้หายก่อนคลอด เนื่องจากการติดเชื้อที่ช่องคลอดนี้ไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่อาจทำให้ทารกติดเชื้อได้ในระหว่างการคลอดทางช่องคลอด

คุณแม่ต้องไปพบแพทย์เมื่อมีการอักเสบ บวมแดง หรือคันบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ มีตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นจากช่องคลอด เพื่อตรวจหาสาเหตุ แยกจากการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สารคัดหลั่งจากช่องคลอดจะถูกนำไปตรวจด้วย

คุณแม่จะต้องรักษาความสะอาดของร่างกายมากขึ้น และหลังจากปัสสาวะหรืออาบน้ำต้องใช้ผ้านุ่มหรือกระดาษทิชชูนุ่มๆซับบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ให้แห้งสนิท อย่าใช้แป้งโรยบริเวณนั้น และรักษาความสะอาดของชุดชั้นใน ต้องตากแดดให้แห้งสนิทก่อนใส่

แสบลิ้นปี่ (Heartburn)

เป็นอาการที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้ามาในหลอดอาหาร เนื่องมาจากการที่มดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นดันกระเพาะอาหารขึ้นไป และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ทำให้กล้ามเนื้อของหลอดอาหารขยายตัว จึงมีกรดหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปได้ ซึ่งจะทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ และบริเวณทรวงอก

วิธีการที่จะช่วยให้อาการเหล่านี้ทุเลาทำได้โดยหลีกเลี่ยงอาหารทอด และอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานอาหารมื้อละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง ดื่มน้ำมากๆจะช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร และอย่ารับประทานอาหารเมื่อคุณแม่กำลังจะเข้านอน หรือกำลังจะนอนพักตอนกลางวัน การนอนในท่าที่ศีรษะสูงอาจช่วยลดอาการลงได้ และอาจจำเป็นต้องใช้ยาลดกรดตามที่แพทย์สั่ง


การตรวจต่าง ๆ

การตรวจกรองทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติโดยวิธีการตรวจ Triple Marker

โรค Down syndrome เป็นความผิดปกติของทารกแรกคลอดซึ่งมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 ข้าง พบได้ประมาณร้อยละ 0.75 ของทารกแรกคลอดมีชีวิตทั้งหมด ซึ่งหญิงตั้งครรภ์แต่ละคนจะมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน โดยหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีจะมีอัตราเสี่ยงมากว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยดังนี้

ช่วงอายุ (ปี) พบอัตราเสี่ยง

18-34 0.5%

35-39 1.0%

40-44 1.5%

> 45 4-6%




การตรวจวินิจฉัยและการประเมินความเสี่ย

โดยทั่วไปแล้วการตรวจน้ำคร่ำยังถือเป็นวิธีที่ใช้กันอยู่ แต่เนื่องจากวิธีการเจาะน้ำคร่ำนี้อาจมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้จึงไม่เหมาะที่จะทำในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย โดยแพทย์จะทำการตรวจน้ำคร่ำในหญิงที่ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี หรือมีความเสี่ยงที่จะมีบุตรที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมสูงเท่านั้น

ดังนั้นปัจจุบันวิธีการตรวจคัดกรองที่จัดว่าเป็นวิธีที่ให้ความปลอดภัยสูง และมีประโยชน์ต่อหญิงตั้งครรภ์ทุกราย คือ การตรวจเลือดแม่ โดยการตรวจทางชีวเคมี ได้แก่ การตรวจ MSAFP, beta hCG และ UE3 ซึ่งจะสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ถูกต้องถึง 70% (Detection rate) วิธีนี้มีความแม่นยำสูง ที่สำคัญที่สุด คือ มีความปลอดภัยสะดวกรวดเร็ว

Triple marker ประกอบด้วยการตรวจ


1. Alpha-Fetoprotein (AFP) สามารถตรวจทารกในครรภ์ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป และระดับ AFP ในทารกจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะสูงสุดที่อายุครรภ์ประมาณ 13 สัปดาห์ และจะเริ่มลดลงหลังจากคลอด ในขณะที่ระดับ AFP ในเลือดมารดา (MSAFP) จะตรวจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 7 สัปดาห์ และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 28-32 สัปดาห์ ซึ่งจะตรงข้ามกับระดับ AFP ในทารกที่จะเริ่มลดลง

ปัจจัยที่มีผลต่อระดับ MSAFP ได้แก่

1.การปนเปื้อนเลือดทารกเพียงเล็กน้อย จะทำให้ค่าตรวจ MSAFP สูงเกินจริงอย่างมาก
2.น้ำหนักตัวมารดา
3.โรคเบาหวานบางชนิด
4.การตั้งครรภ์แฝด จะทำให้ระดับ MSAFP สูงขึ้นกว่า 2 เท่าของการตั้งครรภ์เดี่ยว
5.เพศทารก โดยปกติทารกเพศชายจะให้ค่า MSAFP ในเลือดมารดาสูงกว่ามีทารกเพศหญิง
6.อายุครรภ์ ควรตรวจควบคู่กับการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตร้าซาวด์) เพื่อลดผลบวกลวงและลบลวง
7.เชื้อชาติ พบว่าคนผิวดำจะมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าคนผิวขาว 10-15 % หญิงชาวตะวันออกจะมีระดับต่ำกว่าหญิงผิวขาวประมาณ 6%
2. hCG ระดับของ hCG ในเลือดมารดาจะสูงสุดที่อายุครรภ์ประมาณ 16 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 2 และจะเริ่มคงที่หลัง 22 สัปดาห์ในขณะที่ระดับของ free beta hCG จะมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดการตั้งครรภ์และจะสูงสุดที่อายุครรภ์ประมาณ 36 สัปดาห์ ในมารดาของทารกกลุ่มอาการดาวน์ ระดับ hCG จะสูงกว่าครรภ์ปกติที่ 2 เท่า หากพิจารณาคู่กับระดับ MSAFP ในการตรวจกรองจะให้ผลถูกต้องเท่ากับร้อยละ 49 และหากพิจารณาร่วมกับอายุด้วยจะให้ผลถูกต้องเพิ่มขึ้นเป็น 50%

ปัจจัยที่มีผลต่อระดับ hCG ได้แก่

◦น้ำหนักตัวมารดา หากน้ำหนักมากจะมีระดับ hCG ต่ำกว่าปกติประมาณร้อยละ 13
◦เบาหวานชนิด IDDM ซึ่งจะมีผลให้ระดับ hCG ต่ำกว่าปกติประมาณร้อยละ 13
◦เชื้อชาติ (race) เชื้อชาติ African-Americans and Asian-Americans จะมีระดับสูงกว่าสตรีผิวขาวประมาณร้อยละ 8-9 และร้อยละ 16
◦การตั้งครรภ์แฝด ค่าจะสูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวประมาณ 1.8-2.4 เท่าในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 15-19 สัปดาห์
◦uE3 (Unconjugate Estriol) ค่าของ uE3 ในเลือดมารดาจะเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ ในขณะที่มารดาตั้งครรภ์ทารกกลุ่มดาวน์จะพบค่าเฉลี่ยของ uE3 ในเลือดต่ำกว่าปกติประมาณร้อยละ 21

คำแนะนำในการตรวจคัดกรอง

สตรีมีครรภ์ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ควรได้รับการตรวจ Triple Screening เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 15-18 สัปดาห์ สำหรับสตรีที่มีอายุครรภ์ >35 ปี ควรใช้วิธีตรวจยืนยันโดยใช้วิธีตรวจน้ำคร่ำ และไม่ควรตรวจกรองเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะมีบุตรที่มีความผิดปกติสูง ทั้งนี้ วิธีการตรวจ triple screening หากตรวจร่วมกับการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตร้าซาวด์) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจให้แม่นยำยิ่งขึ้น ข้อมูลพื้นฐานของหญิงตั้งครรภ์มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการตรวจ Triple marker จึงจำเป็นต้องประเมินข้อมูลของหญิงตั้งครรภ์อย่างครบถ้วนทุกครั้งที่ทำการส่งตรวจ

การเจาะน้ำคร่ำ (Amniocentesis)

น้ำคร่ำก็คือของเหลว ใส สีเหลืองอ่อนที่อยู่ล้อมรอบทารกในครรภ์ บรรจุอยู่ในถุงน้ำคร่ำอีกทีหนึ่ง น้ำคร่ำประกอบไปด้วยน้ำ 98% และสารต่างๆอีก 2% ซึ่งจะมีเซลล์ของทารกที่หลุดออกมาปนอยู่ด้วย ทารกในครรภ์จะลอยอยู่ในน้ำคร่ำ ระหว่างที่มีการตั้งครรภ์ปริมาณน้ำคร่ำจะเพิ่มมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของทารก เมื่อตั้งครรภ์ครบกำหนด (40 สัปดาห์) จะมีปริมาณของน้ำคร่ำประมาณ 1,000 ml. ที่ล้อมรอบทารกอยู่ น้ำคร่ำจะไหลเวียนโดยการเคลื่อนไหวตัวของทารกทุกๆ 3 ชั่วโมง

น้ำคร่ำมีหน้าที่มากมายสำหรับทารก เช่น

1.ป้องกันทารกจากการกระทบกระเทือนจากภายนอก
2.ให้อิสระในการเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวกเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อและกระดูกให้เจริญเติบโต
3.ควบคุมอุณหภูมิที่แวดล้อมทารกให้คงที่
4.ป้องกันการสูญเสียความร้อนของทารก
5.เป็นแหล่งของน้ำที่ทารกกลืนเข้าไป
6.ทำให้ทารกมีการเจริญเติบโตและพัฒนารูปร่างสมสัดส่วนตามปกติ
การมีปริมาณน้ำคร่ำมากกว่าปกติจะเรียกว่า Polyhydraminos เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นบ่อยๆ สำหรับการตั้งครรภ์แฝด หรือ อาจเกิดจากความพิการแต่กำเนิดของทารกบางอย่าง เช่น Hydrocephalus และการมีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติจะเรียกว่า Oligohydraminos สภาวะดังกล่าวจะเป็นสาเหตุทำให้ทารกไม่เจริญเติบโตตามปกติ


การตรวจน้ำคร่ำจะเป็นการวินิจฉัย สุขภาพของทารก ความสมบูรณ์ และเพศของทารก การเจาะเอาน้ำคร่ำออกมาตรวจเรียกว่า Amniocentesis
การตรวจน้ำคร่ำสามารถบอกความผิดปกติของโครโมโซมได้ เช่น Down’s syndrome ความผิดปกติของโครงสร้างของร่างกาย เช่น Spina bifida (การเปิดของสันหลัง กระดูกสันหลังไม่ปิด) และ Anencephaly (สภาวะที่สมองไม่สมบูรณ์ หรือไม่มีสมอง)

การตรวจน้ำคร่ำในการตั้งครรภ์ระยะใกล้คลอดสามารถใช้วินิจฉัยปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ เช่น ปัญหาของกลุ่มเลือด หรือ การติดเชื้อ และยังช่วยบอกถึงความพร้อมของทารกว่าเติบโตเต็มที่ ปอดสมบูรณ์พอที่จะมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่หากเกิดการคลอดก่อนกำหนด

โดยปกติการเจาะน้ำคร่ำจะเจาะในไตรมาสที่ 2 – 3 การเจาะน้ำคร่ำจะทำเวลาใดขึ้นอยู่กับเหตุผลที่ต้องการเจาะ เช่น ถ้าต้องการเจาะเพื่อตรวจความผิดปกติของโครโมโซมก็จะเจาะเมื่ออายุครรภ์ได้ 15 –18 สัปดาห์เป็นต้น
การเจาะน้ำคร่ำไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนทำ ก่อนเจาะ 3 – 4 ชั่วโมงควรดื่มน้ำมากๆเพื่อให้แน่ใจว่ามีปริมาณของน้ำคร่ำเพียงพอและไม่จำเป็นต้องให้กระเพาะปัสสาวะเต็มก่อนทำ

การเจาะน้ำคร่ำ แพทย์จะทำการตรวจครรภ์โดยจะใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อคาดคะเนอายุครรภ์ที่แน่นอน จำนวนของทารก การเต้นของหัวใจ ท่าและตำแหน่งของทารก ตำแหน่งของรก ว่าอยู่ที่ตรงไหนเพื่อป้องกันไม่ให้เข็มแทงไปถูกทารก สายสะดือ หรือรก ก่อนเจาะแพทย์จะเตรียมผิวหนังหน้าท้องบริเวณที่จะเจาะโดยทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดใต้ผิวหนัง แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆ ยาวๆเจาะผ่านผนังหน้าท้อง ผ่านลงไปที่มดลูก เข้าไปในถุงน้ำคร่ำแล้วดูดเอาน้ำคร่ำปริมาณ 15 -30 ml. (1ml. / อายุครรภ์ 1 สัปดาห์) ออกมานำไปปั่นหาเซลล์ของทารกเพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมต่อไป
การเจาะน้ำคร่ำใช้เวลาเพียง 2 –3 นาที คุณแม่สามารถกลับบ้านได้เลย ไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล ภายใน 12 ชั่วโมงร่างกายจะสร้างน้ำคร่ำมาทดแทนได้เหมือนเดิม การเจาะน้ำคร่ำอาจมีความรู้สึกเจ็บเหมือนถูกเข็มแทงสัก 2 -3 วินาที แต่เมื่อเข็มแทงผ่านลงไปแล้วความรู้สึกนั้นก็จะหายไป ความกลัวเข็มและเกร็งหน้าท้องขณะทำจะทำให้เจ็บมากขึ้น คุณแม่บางท่านจะมีควมรู้สึกเหมือนถูกกดบริเวณท้องน้อยขณะที่มีการดูดน้ำคร่ำออกไป หลังจากเจาะน้ำคร่ำเสร็จแล้วบางรายอาจรู้สึกเกร็งเล็กน้อย การนอนพักสักระยะจะทำให้ดีขึ้น ผลการตรวจจะทราบภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของเซลล์ และขั้นตอนในห้องปฏิบัติการ



Create Date : 30 กรกฎาคม 2553
Last Update : 30 กรกฎาคม 2553 11:33:45 น. 2 comments
Counter : 913 Pageviews.  

 
มีประโยชน์มากเลยค่า ขอบคุณนะค่ะ จะคอยตามอ่านต่อนะค้า


โดย: supergaye วันที่: 3 สิงหาคม 2553 เวลา:14:16:49 น.  

 


โดย: สมาชิกหมายเลข 1779106 วันที่: 30 มีนาคม 2558 เวลา:17:00:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DR.TONGTIS
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




• B.Sc. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1974-1978.
• M.D. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1979-1980.
• Diploma Board of Obstetrics and Gynecology. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1981-1983.
• Postdocteral Fellow Training. Queen's Mother Hospital, Glasgow Scotland.
• Postdocteral Fellow Training.King's College Hospital, London. UK.
• Postdocteral Fellow Training. Department of Obstetrics and Gynecology and Department of Radiology. John Hopkins Hospital, John Hopkins University.
[Add DR.TONGTIS's blog to your web]