กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
29 กรกฏาคม 2553

การตั้งครรภ์ในเดือนที่ี่ 3

พัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์

ขนาดของมดลูกในขณะนี้โตขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเสมือนห้องที่กว้างขวางสำหรับทารกที่อยู่ในนั้นจะลอยไปมาในน้ำคร่ำอย่างสุขสบาย อบอุ่น และเคลื่อนไหวอย่างไร้น้ำหนัก เมื่อสิ้นสุดเดือนที่สามนี้ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 18 กรัม ยาวประมาณ 9 เซนติเมตร ทารกในตอนนี้มีรูปร่างเป็นมนุษย์ตัวจิ๋ว
เนื่องจากกล้ามเนื้อและระบบประสาทเริ่มทำงานได้สัมพันธ์กัน ดังนั้น ทารกของคุณจะเริ่มเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรก ซึ่งอาจเป็นเหมือนการทดลองเคลื่อนไหวดูก่อน หลังจากนั้นจะเคลื่อนไหวจริงจังมากขึ้น และรุนแรงขึ้นเมื่อถึงปลายของเดือนที่ 3 นี้ ตอนนี้ทารกจะสามารถเตะ หมุนตัวไปรอบๆ บิดตัว ว่ายน้ำ แม้กระทั่งตีลังกาก็ได้ด้วย ทารกสามารถขยับนิ้วหัวแม่มือ อ้าปาก กลืน ซ้อมทำท่าหายใจเข้าออก หมุนข้อเท้า งอข้อมือและกำปั้นได้ แต่คุณแม่จะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวต่างๆของทารกในตอนนี้ ต้องรอไปจนกว่าจะถึงเดือนหน้าจึงจะรู้สึกได้
รูปร่างของใบหน้าเริ่มแสดงเค้าโครงที่ชัดเจนแล้วว่าจะเหมือนใครในครอบครัว เริ่มจะมองเห็นส่วนของคาง หน้าผาก และจมูกที่เป็นเพียงปุ่มเล็กๆ ตาทั้งสองข้างจะเข้ามาอยู่ใกล้กันมากขึ้น เปลือกตายาวพอที่จะปิดคลุมตาได้และจะหลับตาอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ตำแหน่งของหูจะเคลื่อนสูงขึ้นมาอยู่ด้านข้างของศีรษะแล้ว และสามารถมองเห็นเป็นรูปร่างใบหูชัดเจน ส่วนหลอดเสียงนั้นจะอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วแต่จะยังไม่สามารถก่อให้เกิดเสียงได้
ตอนนี้ทารกอาจจะเริ่มดูดได้แล้ว ปุ่มรับความรู้สึกที่ลิ้นที่จะทำหน้าที่รับรู้รสชาติของอาหารและต่อมน้ำลายมีการพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และเมื่อมีการพัฒนาการกลืนได้แล้วทารกก็จะเริ่มกลืนน้ำคร่ำเข้าไป น้ำคร่ำนี้จะเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหารที่เพิ่งจะสร้างเสร็จใหม่ๆเช่นกัน ในน้ำคร่ำจะมีสารอาหารที่จะช่วยให้ทารกเจริญเติบโต และการกลืนน้ำคร่ำเข้าไปก็จะทำให้ไตเริ่มทำงาน เมื่อไตทำงานมีการกรองเกิดขึ้นทารกก็จะมีการปัสสาวะ แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลเพราะปัสสาวะของทารกจะสะอาดปราศจากเชื้อและหมุนเวียนกลับไปเป็นน้ำคร่ำใหม่
ทารกอาจสูดเอาน้ำคร่ำเข้าไปในทางเดินหายใจบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ต้องกังวลเพราะทารกยังไม่มีการหายใจจนกว่าจะออกมาสู่โลกภายนอกเท่านั้น แม้จะพบว่าทารกมีการซ้อมหายใจก็ตาม แต่ออกซิเจนทั้งหมดที่ทารกใช้ได้มาจากคุณแม่ผ่านทางสายสะดือ
อวัยวะเพศเริ่มปรากฏรังไข่ และอัณฑะได้ถูกสร้างขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้วภายในร่างกาย แต่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกยังไม่ชัดเจนและยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก ดังนั้น การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์อาจจะยังไม่เห็นว่าทารกเป็นเพศใดได้ ผิวหนังของทารกจะเป็นสีแดงและบางใสมากจนเห็นเครือข่ายของเส้นเลือดอย่างชัดเจน ส่วนนิ้วมือและนิ้วเท้าตอนนี้มีห้านิ้วชัดเจนไม่ติดกันแล้ว และเริ่มมีการสร้างเล็บอีกด้วย
ตอนนี้หัวใจสามารถทำงานได้สมบูรณ์ สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้ หัวใจเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอแต่เร็วมาก เร็วกว่าการเต้นของหัวใจแม่ คุณแม่อาจจะได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจลูกด้วยหากคุณหมอทำการตรวจด้วย Doppler
เซลล์กระดูกที่ได้วางตัวไว้ตั้งแต่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์นั้นได้มีการพัฒนาด้านโครงสร้างเสร็จเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามกระบวนการพัฒนากระดูกนั้นใช้เวลานานมาก โครงสร้างต่างๆของกระดูกและข้อนั้นจะสร้างเมื่อทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา แต่ความแข็งแรงของกระดูกจะมีการพัฒนาต่อไปจนสมบูรณ์ก็เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
ในปลายสัปดาห์ที่ 12 นี้ รกของทารกได้มีการพัฒนาจนสมบูรณ์แล้วและทำหน้าที่แทนถุงไข่แดงในการนำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงทารก และยังเป็นที่แลกเปลี่ยนของเสียจากเลือดทารกไปยังมารดา
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่
ในเดือนที่ 3 นี้ คุณแม่จะเริ่มปรับตัวให้เข้ากับการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น คุณแม่หลายท่านตั้งตารอคอยกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ เนื่องจากการที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆเกิดขึ้นจะช่วยเพิ่มโอกาสให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปด้วยดีมากยิ่งขึ้น ตอนนี้เสื้อผ้าอาจเริ่มคับเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ใครๆจะยังดูไม่ออกว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ และยังต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์เลยทีเดียวกว่าคุณจะต้องการเสื้อผ้าสำหรับการตั้งครรภ์อย่างจริงจัง
หากคุณแม่มีความรู้สึกอ่อนล้าจากผลของการแพ้ท้อง ข่าวดีก็คือจากสัปดาห์ที่ 12 นี้เป็นต้นไป อาการแพ้ท้องจะเริ่มทุเลาลง แต่อย่าคาดหวังว่าทุกอย่างจะต้องสมบูรณ์แบบ มันอาจไม่ได้ดีขึ้นภายในวันสองวันนี้ แต่อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ก็ได้
ในระยะนี้คุณแม่อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดจากการตั้งครรภ์ (ประมาณ 1.2 kg / 4 ? lb) แม้ว่าบางทีน้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นน้อยกว่านี้เนื่องจากผลของการแพ้ท้อง แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไป และเริ่มรับประทานอาหารที่มีคุณค่าให้มากขึ้นก็พอ

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่

ระวังเรื่องการใช้ยา


การใช้ยาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง คุณแม่ไม่ควรไปซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด หากคุณแม่มีโรคประจำตัวใดๆควรแจ้งให้คุณหมอทราบด้วย และหากไม่สามารถมาพบคุณหมอได้ในกรณีเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาจากหมอท่านอื่น ควรบอกคุณหมอด้วยว่าคุณกำลังตั้งครรภ์
การดูแลผิวพรรณป้องกันท้องลาย
ท้องลายเกิดจากการที่ผิวหนังบริเวณหน้าท้องมีการขยายออกอย่างรวดเร็วในขณะตั้งครรภ์ และผิวหนังไม่มีความยืดหยุ่นดีพอก็จะแตกลายได้ จะทำให้คันยิ่งถ้าไปเกาท้องก็จะลายมากขึ้น และเมื่อคลอดผิวหนังมีการหดกลับลงอย่างรวดเร็วก็จะทำให้ลายมากขึ้นเหมือนคนที่อ้วนแล้วผอมอย่างรวดเร็ว คนท้องทุกคนไม่จำเป็นที่จะต้องท้องลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพผิวหนังของแต่ละคนด้วย
การป้องกันท้องลายสามารถทำได้โดยทาครีมชนิดเข้มข้นและนวดเบาๆ ทาครีมให้ทั่วบริเวณท้อง ต้นขา หน้าอก ก้น ทาบ่อยๆได้ยิ่งดี หากผิวที่แตกจะทำให้คันแต่ไม่ควรเกาเพราะจะทำให้ท้องลายมากขึ้น เวลานอนให้ใช้หมอนเล็กๆหลายๆใบหนุนท้องเพื่อช่วยพยุงน้ำหนักไว้ จะทำให้ท้องลายน้อยลงโดยเฉพาะบริเวณท้องด้านข้างท้องลายมักจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 เนื่องจากขนาดของท้องจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเดือนที่ 3 นี้คุณแม่จะยังไม่พบว่าท้องลาย แต่ก็ควรทาครีมอย่างสม่ำเสมอทุกๆวันตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผิว เตรียมความพร้อมเมื่อผิวต้องขยายออกอย่างรวดเร็วจะได้ไม่แตกลาย
นอกจากนี้คุณแม่ควรดูแลเล็บไม่ให้เล็บยาวเพราะจะทำให้เผลอเกาท้องได้ การตัดเล็บควรตัดเป็นเส้นตรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเล็บขบ ควรแช่มือและเท้าในน้ำอุ่นสักสิบนาทีจะทำให้เล็บอ่อนลงจะช่วยให้ตัดง่ายขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

ภาวะเครียด


ความเครียด ความวิตกกังวลในการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นจากการที่การตั้งครรภ์เป็นสิ่งใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และคุณแม่ยังมีความรักความห่วงใยต่อทารกในครรภ์ คุณแม่อาจไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ซึ่งล้วนเป็นประสบการณ์ใหม่ เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นหากมีมากเกินไปก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของมารดาและทารกได้ มีรายงานการวิจัยที่รายงานระบุว่า ความเครียดมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง คลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักน้อยเมื่อคลอด เป็นต้น การลดความเครียดนี้สามารถทำได้โดยปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำต่างๆ
การที่คุณแม่มีความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์มากขึ้นจะทำให้คุณแม่สามารถเตรียมรับ หรือเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าและสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่า และความเครียดของคุณแม่ก็จะน้อยลง คุณแม่อาจพูดคุยถึงสิ่งที่วิตกกังวลกับคุณพ่อ หรือคุณยาย หรือเพื่อนที่มีประสบการณ์ในการตั้งครรภ์มาก่อนก็อาจช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้นได้

การแท้งบุตร

การแท้งคือ การที่มีการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนระยะที่ทารกจะสามารถมีชีวิตอยู่ในโลกภายนอกได้ คุณแม่อาจมีคำถามว่าแล้วเมื่ออายุครรภ์เท่าใดที่ทารกจึงจะสามารถมีชีวิตรอดได้หากมีการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนกำหนด คำตอบอาจไม่ตรงกันในแต่ละประเทศ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ช่วยทารกที่คลอดก่อนกำหนดให้มีชีวิตอยู่รอดได้นั้นแตกต่างกัน เช่นทารกที่คลอดในสหรัฐอเมริกาตอนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์สามารถมีชีวิตรอดได้ ดังนั้นประเทศสหรัฐอเมริกาจึงถือเกณฑ์ที่ว่า หากมีการสิ้นสุดการตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์ไม่ถึง 20 สัปดาห์และทารกมีน้ำหนักน้อยกว่า 500 กรัมถือเป็นการแท้ง ส่วนในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยจะถือว่าการแท้งหมายถึงมีการสิ้นสุดการตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์หรือทารกมีน้ำหนักน้อยกว่า 1000 กรัม

สาเหตุของการแท้ง

1. ความผิดปกติของทารก ทารกที่แท้งในช่วงไตรมาสแรกมักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของ
โครโมโซมของทารก สาเหตุของการแท้งส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมของ
ทารกและการตั้งครรภ์ไข่ฝ่อ (Blighted ovum) คือ การท้องที่มีการฝังตัวของรกแต่ไม่เกิดตัวเด็ก
ซึ่งเชื่อว่าเป็นการสุ่มเลือกของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่มีความผิดปกติหรืออ่อนแอก็จะตายไป
2. ความผิดปกติของฮอร์โมน พบว่ามารดาที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนต่ำ
โดยฮอร์โมนมีผลต่อคุณภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งเป็นที่อยู่ของตัวอ่อน
และเป็นแหล่งอาหารสำหรับ การเจริญเติบโต หากฮอร์โมนน้อยเยื่อบุโพรงมดลูก
ก็มีสภาพไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ตัวอ่อนก็เจริญต่อไม่ได้จะทำให้เกิดการแท้งขึ้น
3. มีความผิดปกติของกายวิภาคของมดลูกและ ปากมดลูกของมารดา เช่นโพรงมดลูกมี
ผนังกั้นตรงกลางมีมดลูกสองอัน ปากมดลูกสองอัน ช่องคลอดสองอัน
หรือมีเนื้องอกของมดลูก
4. ชนิดของเลือดแม่และลูกไม่เข้ากัน ซึ่งมักพบในชาวผิวขาวมากกว่าผิวเหลือง
5. การติดเชื้อ เช่น ซิฟิลิส
6. ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ
7. ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานหนัก ยกของหนัก และการกระทบกระเทือน
ประเภทของการแท้ง
o การแท้งคุกคาม คือ การที่มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยที่ปากมดลูกยังปิดอยู่ เป็นอาการแสดงว่ากำลังจะแท้ง หากมาพบแพทย์ทันเวลาและอาการไม่รุนแรงมาก ประมาณ 50% ของผู้ป่วยสามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้โดยที่แพทย์จะต้องดูแลเป็นพิเศษ แพทย์อาจให้ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อจนกว่าเลือดจะหยุด หรืออาจต้องทำการเย็บผูกปากมดลูก แพทย์อาจให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดการบีบตัวของมดลูก อาจต้องนอนพักในโรงพยาบาลชั่วระยะเวลาหนึ่ง ผู้ป่วยต้องนอนพักมากๆ หลีกเลี่ยงการทำงานหนักโดยเด็ดขาด หลีกเลี่ยงการเดินทาง การมีเพศสัมพันธ์ และการสวนถ่ายอุจจาระ
o การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การที่มีเลือดออกทางช่องคลอด มีน้ำคร่ำรั่วออกมา ปากมดลูกเปิดขยายตัวออก อาจมีชิ้นส่วนของรกออกมาจุกอยู่ที่ปากมดลูก เมื่อมาถึงระยะนี้แล้วจะไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ ในที่สุดก็จะแท้งออกมาเอง หรือหากมาพบแพทย์ แพทย์อาจทำการดูดเอาทารกออกมาให้เพื่อให้แท้งครบ
o การแท้งไม่ครบ คือ การแท้งที่มีเลือด น้ำคร่ำ และชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์ เช่น ทารก รก ถุงน้ำคร่ำบางส่วนหลุดออกมา มีบางส่วนค้างอยู่ภายในมดลูก ซึ่งการแท้งชนิดนี้จะทำให้มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี เลือดจะไหลออกมาไม่หยุดจนทำให้ช็อกได้ ดังนั้น แพทย์จะให้น้ำเกลือหรือให้เลือดเพื่อทดแทนปริมาตรของเลือดในระบบไหลเวียนเลือดแล้วทำการดูดเอาชิ้นส่วนที่เหลือออกมาให้หมด หลังจากนั้นมดลูกจะบีบตัวได้ดีขึ้นเลือดก็จะหยุดไหลไปเอง
o การแท้งค้าง คือ การแท้งที่ทารกเสียชีวิตไปแล้วแต่ยังคงค้างอยู่ในโพรงมดลูกต่อไป
4 – 8 สัปดาห์ อันตรายที่เกิดขึ้นจากการแท้งค้างก็คือมารดาจะเกิดภาวะเลือดแข็งตัวช้าผิดปกติ ทำให้มีเลือดออก เช่นเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล มีจุดจ้ำเลือดตามผิวหนังทั่วตัว มีบาดแผลแล้วเลือดหยุดยาก วิธีการรักษาแท้งค้าง คือ ต้องรักษาภาวะเลือดแข็งตัวช้าผิดปกติก่อนแล้วจึงทำการดูดเอาทารกและรกออกมา
การระมัดระวังป้องกันการแท้งo ฝากครรภ์กับสูติแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพโดยเร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์
o มารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
o เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด มีน้ำคร่ำออกมาทางช่องคลอด หรือปวดท้องให้รีบมาพบแพทย์
o ระมัดระวังเรื่องการทำงานหนัก ยกของหนัก การใส่รองเท้าส้นสูง การหกล้ม การกระทบกระเทือนต่างๆ
o รับประทานอาหารให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ ปริมาณมากเพียงพอ ระมัดระวังในการใช้ยาโดยเฉพาะยาระบาย งดสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
o ทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน นอนให้หลับ

การตรวจต่าง ๆ
การตรวจปัสสาวะ

เป็นการตรวจหาระดับน้ำตาล โปรตีน การติดเชื้อ คุณเพียงแต่ปัสสาวะใส่ในภาชนะที่ทางโรงพยาบาลได้จัดเตรียมเอาไว้ให้แล้วเขียนชื่อของคุณแม่ลงไปในสติกเกอร์สำหรับติดบนภาชนะ เมื่อคุณแม่ติดสติกเกอร์ที่มีชื่อคุณแม่อยู่เสร็จเรียบร้อยแล้วก็เพียงแต่ส่งให้เจ้าหน้าที่เท่านั้น การตรวจปัสสาวะแพทย์อาจให้ทำการตรวจทุกครั้งที่มารับการตรวจครรภ์ หรืออาจให้ตรวจเฉพาะบางครั้งก็ได้ ซึ่งสามารถตรวจได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์
การตรวจเลือด
ในเดือนที่ 3 นี้การตรวจเลือดจะกระทำเพื่อดูการติดเชื้อ ภาวะโลหิตจาง ในขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีปริมาตรของเลือดเพิ่มมากขึ้น ของเหลวและโปรตีนในเลือดจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นประมาณ 40 % ส่วนเม็ดเลือดแดงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% แต่พลาสม่าอาจเพิ่มขึ้นไม่เพียงพอซึ่งอาจทำให้คุณมีภาวะโลหิตจางได้ การตรวจเลือดเพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจางจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น หากมีภาวะโลหิตจางเกิดขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องมีการให้ยารับประทาน แต่ถ้าหากเป็นรุนแรงก็จำเป็นต้องให้เลือด
นอกจากนี้การตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมันอาจจำเป็นหากคุณแม่จำไม่ได้ว่า เคยฉีดวัคซีนมาก่อนหรือไม่ หากคุณแม่ไม่มีภูมิคุ้มกันและติดเชื้อในขณะที่ตั้งครรภ์ก็อาจทำให้ทารกมีความพิการได้ อย่างไรก็ตามแต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์ไปแล้วและยังไม่มีภูมิคุ้มกันไม่ต้องกังวล เนื่องจากไม่มีการระบาดของโรคนี้มานานมากแล้ว ดังนั้น คุณแม่จึงไม่ต้องขอร้องให้คุณหมอฉีดวัคซีนให้ระหว่างที่ตั้งครรภ์เพราะจะทำให้ทารกติดเชื้อและพิการได้ หากตรวจพบว่าคุณมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะต้องตรวจว่าคุณมีตัวเชื้อ (antigen) ของไวรัสหรือไม่ หากมีเมื่อคลอดเราก็เพียงแต่ฉีดยาให้กับทารกหลังคลอดภายในเวลาไม่เกินสองชั่วโมงเท่านั้นทารกก็จะไม่ติดเชื้อ การตรวจเลือดมักทำในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์และตรวจซ้ำอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์




Create Date : 29 กรกฎาคม 2553
Last Update : 29 กรกฎาคม 2553 10:33:14 น. 1 comments
Counter : 652 Pageviews.  

 


โดย: สมาชิกหมายเลข 1779106 วันที่: 30 มีนาคม 2558 เวลา:17:00:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DR.TONGTIS
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




• B.Sc. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1974-1978.
• M.D. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1979-1980.
• Diploma Board of Obstetrics and Gynecology. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1981-1983.
• Postdocteral Fellow Training. Queen's Mother Hospital, Glasgow Scotland.
• Postdocteral Fellow Training.King's College Hospital, London. UK.
• Postdocteral Fellow Training. Department of Obstetrics and Gynecology and Department of Radiology. John Hopkins Hospital, John Hopkins University.
[Add DR.TONGTIS's blog to your web]