สิงหาคม 2553
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
31 สิงหาคม 2553

เด็กหลอดแก้ว (IVF) บลาสโตซิสท์คัลเจอร์

การถือกำเนิดครั้งแรกของเด็กหลอดแก้วในปี 1978 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการรักษาภาวะมีบุตรยากสมัยใหม่และอัตราการตั้งครรภ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) และการช่วยเหลือการเจริญพันธุ์อื่นๆได้ทำการรักษาอย่างแพร่หลายทั่วไปในปัจจุบัน และได้มีการปรับปรุงพัฒนาให้ได้ผลสำเร็จที่สูงขึ้นและมีค่าใช้จ่ายคุ้มค่ามากกว่าการรักษาด้วยการใช้วิธีการแบบพื้นฐานต่างๆเช่นการผ่าตัดแก้ไขท่อนำไข่
การปฏิสนธิภายนอกร่างกายแบบดั้งเดิม (Conventional IVF) นั้นเป็นชื่อสำหรับวิธีการรักษาโดย Test tube baby (เด็กหลอดแก้ว) ซึ่งเป็นต้นกำเนิด หลักการรักษานั้นจะต้องนำอสุจิหยดลงไปบนจานเพาะเลี้ยงตัวอ่อนหรือหลอดทดลองที่บรรจุเซลล์ไข่ของฝ่ายหญิงอยู่ภายในนั้น การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) แบบอื่นๆที่แตกต่างไปจากแบบดั้งเดิมนั้นก็จะมีวิธีการทำคล้ายๆกันนี้ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนก่อนที่จะมีการย้ายตัวอ่อนกลับคืนให้

บลาสโตซิสท์คัลเจอร์

ปัจจุบันในยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี Blastocyst transfer นั้นถือเป็นวิธีการที่เข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่การทำ IVF แบบเดิมซึ่งใส่ตัวอ่อนระยะ 4 - 8 เซลล์ ในอดีตแพทย์จะต้องทำการใส่ตัวอ่อนกลับคืนให้ภายในวันที่สองหรือไม่เกินวันที่สามภายหลังจากไข่ถูกปฏิสนธิ เนื่องจากตัวอ่อนเหล่านั้นไม่สามารถรอดชีวิตต่อไปจนถึงระยะบลาสโตซิสท์ในห้องปฏิบัติการได้ จนกระทั่งปัจจุบันได้มีการผลิตน้ำยาซึ่งสามารถใช้เพาะเลี้ยงตัวอ่อนให้เจริญเติบโตต่อไปได้จนถึงระยะบลาสโตซิสท์ ด้วยเหตุนี้เราจึงได้รับประโยชน์อย่างมากจากเพาะเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์

ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์นั้นเป็นตัวอ่อนที่มีการพัฒนาไปจนมีจำนวนเซลล์ 100 -120 เซลล์ และกว่าจะมาถึงระยะนี้ได้ตัวอ่อนจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาตัวเองนานถึง 5 วันภายหลังจากที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิ และระยะหลังจากนี้คือการฝังตัวลงบนเยื่อบุโพรงมดลูกของแม่และเกิดเป็นการตั้งครรภ์


ผลของการใส่ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์
1) ในทางทฤษฎีแล้วยิ่งตัวอ่อนมีจำนวนเซลล์มากก็จะยิ่งมีโอกาสฝังตัวได้สูงขึ้น จากการศึกษาพบว่าอัตราการตั้งครรภ์จากการใส่ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์สูงกว่าอัตราการตั้งครรภ์จากการใส่ตัวอ่อนระยะ 4 – 8 เซลล์
2) การใส่ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์คืนกลับสู่โพรงมดลูกจะเป็นการกระทำที่สัมพันธ์กับกระบวนการเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตัวอ่อนระยะ 4 – 8 เซลล์นั้นเป็นระยะที่ควรจะอยู่ที่ท่อนำไข่ ดังนั้นการใส่ตัวอ่อนในวันที่ 2 และ 3 จึงอาจเป็นอัตรายต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อน เพราะต้องพบกับสภาวะแวดล้อมภายในมดลูกก่อนเวลาอันสมควร ดังนั้นการใส่ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์ซึ่งตามธรรมชาติจะผ่านท่อนำไข่ออกมาอยู่ในมดลูกแล้ว จะสอดคล้องกับระยะของเยื่อบุโพรงมดลูกและสามารถฝังตัวได้ทันทีเช่นเดียวกับกระบวนการตามธรรมชาติ
3) โดยปกติตามธรรมชาติแล้วตัวอ่อน 30 – 40 % ไม่สามารถรอดชีวิตไปถึงระยะบลาสโตซิสท์ได้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากตัวอ่อนที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจไม่เจริญเติบโตไปจนถึงระยะบลาสโตซิสท์ ดังนั้นการเพาะเลี้ยงบลาสโตซิสท์จึงเปรียบเสมือนการคัดเลือกตัวอ่อนระดับหนึ่งในการย้ายกลับคืนสู่โพรงมดลูก
4) การยืดระยะเวลาเพาะเลี้ยงตัวอ่อนออกไปถึงระยะบลาสโตซิสท์ซึ่งมีเซลล์จำนวนมาก และเซลล์ของบลาสโตซิสท์ยังได้แบ่งแยกออกเป็นเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นทารก และเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นรกแล้ว ความจริงข้อนี้ช่วยให้เราสามารถดูดเอาเซลล์ส่วนที่จะพัฒนาไปเป็นรกของตัวอ่อนออกมาจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปตรวจโครโมโซมได้ โดยไม่มีผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ และการเจริญเติบโตต่อไปของตัวอ่อนในครรภ์ ซึ่งจะช่วยคัดกรองโรคทางพันธุกรรมได้อีกทางหนึ่ง
5) นอกจากนี้การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์ยังสามารถทำการคัดเลือกตัวอ่อนที่มีคุณภาพดี และลดจำนวนตัวอ่อนที่จะใส่กลับคืนให้ได้เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์แฝด
ขั้นตอนของการรักษาด้วยวิธีบลาสโตซิสท์คัลเจอร์
การกระตุ้นไข่

การกระตุ้นไข่นั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะให้มีไข่เกิดขึ้นจำนวนมาก และต้องการที่จะนำไข่ที่กระตุ้นได้ออกมาให้ได้มากที่สุด เนื่องจากความเชื่อที่ว่าโอกาสของการตั้งครรภ์จะสูงขึ้นหากมีการใส่ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีมากกว่า 1 ตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูก การใช้ยากระตุ้นไข่ (Gonadotrophin) ที่ใช้ฉีดให้กับผู้ป่วยแต่ละรายนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุของฝ่ายหญิง โครงสร้างของร่างกาย ขนาดยาที่เคยให้ในรอบการรักษาที่ผ่านมา เป็นซิสท์ของรังไข่หรือไม่ ประวัติในรอบการรักษาที่ผ่านมาที่เกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป Ovarian hyperstimulation syndrome (OHSS) และประวัติการผ่าตัดรังไข่ ขนาดของยาอาจถูกเพิ่มขึ้นหรือถูกลดขนาดยาลงขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาที่ฉีดให้ในผู้ป่วยแต่ละราย การให้ยากระตุ้นไข่จะฉีดให้อย่างต่อเนื่องทุกวันจนกระทั่งขนาดของไข่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 – 22 มิลลิเมตร โดยปกติแล้วการฉีดยาจะใช้เวลาประมาณ 12 – 16 วัน

การกระตุ้นไข่ตก

สามารถทำได้โดยการให้ Human chorionic gonadotrophin (hCG) ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสุกสมบูรณ์ของเซลล์ไข่ โดยจะทำการฉีด hCG ให้เมื่อไข่โตได้ขนาดที่ต้องการ และจะสามารถทำการเจาะไข่ได้ภายใน 34 – 36 ชั่วโมงหลังนั้น

การตรวจอัลตร้าซาวด์
วิธีการหลักในการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของไข่นั้นทำได้โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ การตรวจอัลตร้าซาวด์ในครั้งแรกนั้นจะกระทำภายหลังจากเริ่มฉีดยากระตุ้นไข่ไปแล้ว 7 วัน และจะทำการตรวจซ้ำขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งในแต่ละครั้งที่ทำการตรวจ แพทย์จะตรวจดูรังไข่ทั้งสองข้างรวมทั้งมดลูก จำนวนของไข่ในรังไข่แต่ละข้างจะถูกตรวจสอบและวัดขนาด

การเจาะเก็บไข่
เมื่อจะทำการเจาะเก็บไข่ จะมีการใช้ยาระงับความรู้สึกชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อให้หลับไปเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะทำการเจาะไข่ แพทย์จะทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อให้มองเห็นรังไข่และอวัยวะในอุ้งเชิงกรานในระหว่างการเจาะไข่ และใช้เข็มเจาะไข่เจาะผนังช่องคลอดเข้าไปยังรังไข่ และดูดเอาเซลล์ไข่ออกมาสู่หลอดทดลอง เซลล์ไข่จะถูกนำออกมาทำความสะอาดในน้ำยาสำหรับเพาะเลี้ยง และจะถูกนำไปเก็บไว้ในตู้อบที่จะช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ 37 องศาเซลเซียสตลอดเวลา
การเจาะไข่ผ่านทางช่องคลอดนั้นเป็นวิธีการที่ปลอดภัย ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใดและสามารถตื่นฟื้นคืนสติได้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น การเจาะไข่มักใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที และอาจนอนพักเป็นเวลาเพียงหนึ่งถึงสองชั่วโมงก่อนกลับบ้านในวันนั้น

การเก็บตัวอย่างเชื้ออสุจิ
สามีของผู้ป่วยจะถูกขอให้ทำการเก็บตัวอย่างเชื้ออสุจิให้ ซึ่งจะกระทำในวันเดียวกับการเจาะไข่ น้ำอสุจิที่หลั่งออกมาได้จะถูกเก็บไว้ในภาชนะพลาสติกที่ไม่เป็นพิษต่ออสุจิและสะอาดปราศจากเชื้อโรค ตัวอย่างอสุจิที่เก็บได้จะถูกนำไปวิเคราะห์ก่อนนำไปเตรียมเพื่อการปฏิสนธิ การเตรียมอสุจินั้นปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี แต่ทุกวิธีมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ คัดกรองเอาน้ำอสุจิ ส่วนประกอบทางเคมี ตัวอสุจิที่ตายและผิดปกติ และเซลล์อื่นๆออกไปให้หมด ซึ่งจะคงเหลือไว้เพียงตัวอสุจิที่ปกติ มีชีวิต และเคลื่อนไหวได้ อยู่ในน้ำยาเพาะเลี้ยง

การให้ฮอร์โมน Progesterone เสริม
เพื่อป้องกันการสร้างฮอร์โมน Progesterone ไม่เพียงพอ จึงได้มีการให์ฮอร์โมน Progesterone เสริม โดยจะเริ่มให้ในตอนเย็นในวันที่ทำการเจาะเก็บไข่หรือในเช้าวันรุ่งขึ้น ยาที่ใช้โดยทั่วไปจะใช้เหน็บเข้าไปยังช่องคลอด ซึ่งยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป
การเหน็บยาฮอร์โมน Progesterone จะกระทำต่อเนื่องไปจนได้รับผลการตรวจการตั้งครรภ์ หากผลแสดงว่าไม่ตั้งครรภ์ก็จะหยุดการเหน็บยาได้ และรอบเดือนก็จะมาภายในสองสัปดาห์หลังจากนั้น แต่ถ้าหากผู้ป่วยตั้งครรภ์ ก็จะต้องทำการเหน็บยาต่อไปจนกระทั้งอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์

ระยะในห้องปฏิบัติการ
ในวันที่มีการเจาะเก็บไข่

สามถึงหกชั่วโมงหลังจากการเจาะเก็บไข่ Embryologist จะนำอสุจิที่เตรียมแล้วไปหยดลงบนจานเพาะเลี้ยงซึ่งมีเซลล์ไข่อยู่ โดยมีการควบคุมปริมาตรของอสุจิให้เหมาะสม จำนวนของอสุจิที่จะหยดลงไปผสมกับไข่นั้นขึ้นอยู่กับค่าที่วัดได้จากการตรวจตัวอย่างน้ำอสุจิ หากมีค่าการตรวจที่ไม่ค่อยดีนัก Embryologist จะเพิ่มจำนวนตัวอสุจิให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ

ในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่มีการเจาะเก็บไข่
จานเพาะเลี้ยงจะถูกนำออกมาจากตู้อบ เพื้อนำไปตรวจดูการปฏิสนธิ ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะถูกย้ายไปไว้ในจานเลี้ยงใบใหม่ซึ่งมีน้ำยาเพาะเลี้ยงใหม่และนำกลับเข้าสู่ตู้อบไว้ดังเดิม ไข่ใบที่ไม่ได้รับการปฏิสนธิและไข่ใบที่มีการปฏิสนธิผิดปกติจะถูกทิ้งไป โดยปกติแล้วประมาณ 40 – 70% ของไข่จะได้รับการปฏิสนธิ

ในที่สองถึงวันที่ห้าหลังการเจาะไข่
ตัวอ่อนสามารถถูกย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกได้ตั้งแต่วันที่สองของการเจาะไข่ หรือสามารถย้ายกลับคืนในวันที่สาม วันที่สี่ หรือวันที่ห้า หลังการเจาะไข่ก็ได้ ในการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่าการย้ายตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูกในวันที่ห้าจะมีอัตราการตั้งครรภ์สูงกว่าการย้ายตัวอ่อนในวันอื่นๆทั้งหมด (Gardner et al.,1998a,b) ในวันที่สองไข่ที่ปฏิสนธิแล้วแต่ละใบนั้นควรจะมีการแบ่งเซลล์เป็นสองเซลล์ หรือ สี่เซลล์แล้ว แต่ละเซลล์จะยังคงอยู่ภายในเปลือกของไข่ เมื่อไข่ที่ปฏิสนธิแล้วมีการแบ่งเซลล์จำนวนมากขึ้นจะถูกเรียกว่าตัวอ่อน (Embryo) ประมาณ 90% ของไข่ที่ปฏิสนธิได้ควรจะเจริญเติบโตไปจนถึงระยะตัวอ่อน ตัวอ่อนจำนวนหนึ่งจะถูกคัดเลือกเพื่อการย้ายกลับคืนสู่โพรงมดลูก สำหรับตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีที่เหลือจะถูกนำไปแช่แข็งเก็บไว้ ตัวอ่อนที่คุณภาพไม่ดีจะไม่สามารถรอดชีวิตจากกระบวนการแช่แข็งและละลายออกมาใช้ได้ก็จะถูกทิ้งไป



จำนวนของตัวอ่อนที่จะย้ายกลับคืนสู่โพรงมดลูก
จำนวนของตัวอ่อนที่จะใส่กลับคืนสู่โพรงมดลูกส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ ยิ่งใส่ตัวอ่อนจำนวนมากกลับคืนให้อัตราการตั้งครรภ์ก็ยิ่งสูงตาม อย่างไรก็ตามการใส่ตัวอ่อนจำนวนมากยังส่งผลให้อัตราการตั้งครรภ์แฝดสูงตามขึ้นไปด้วย ซึ่งการตั้งครรภ์แฝดสามหรือมากกว่ามักก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อการตั้งครรภ์นานาประการ
นอกจากจำนวนของตัวอ่อนจะส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ อายุของมารดา ระยะของตัวอ่อน และคุณภาพของตัวอ่อน ก็ส่งผลต่อการตั้งครรภ์มากเช่นเดียวกัน ดังนั้นจำนวนของตัวอ่อนที่จะใส่กลับจึงต้องพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย โดยทั่วไปหากทำการใส่ตัวอ่อนที่ระยะบลาสโตซิสท์ในผู้หญิงที่อายุน้อย (20-25 ปี) แพทย์อาจทำการใส่ตัวอ่อนกลับคืนให้เพียงหนึ่งถึงสองตัวอ่อน สำหรับผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 35 ปี ยังอาจพิจารณาใส่ตัวอ่อนให้เพียงสองตัวในรอบการรักษาแรก การใส่ตัวอ่อนครั้งละสามตัวนั้นอาจทำในรายที่อายุ 36 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เคยประสบความล้มเหลวในการทำเด็กหลอดแก้วมาก่อน ทั้งตัวผู้ป่วยเองและทีมแพทย์ที่ให้การรักษาจะต้องร่วมกันตัดสินใจว่าจะใส่ตัวอ่อนกลับคืนจำนวนกี่ตัว ความสามารถในการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนได้นานขึ้นถึง 5 วันนั้นช่วยให้แพทย์สามารถเลือกตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีที่สุดจากบรรดาตัวอ่อนที่สามารถเจริญเติบโตไปจนถึงระยะบลาสโตซิสท์ได้ ซึ่งเป็นความหวังว่าเทคนิคอันก้าวหน้าในการทำการรักษานี้จะนำไปสู่การลดจำนวนตัวอ่อนที่จะใส่กลับคืนและคงอัตราความสำเร็จที่สูงไว้ได้

การย้ายตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูก
การใส่ตัวอ่อนสามารถทำได้ง่ายๆโดยไม่มีความเจ็บปวด ฝ่ายหญิงจะต้องนอนบนเตียงสำหรับใส่ตัวอ่อนที่จะสามารถจัดท่าได้อย่างเหมาะสม แพทย์จะใส่เครื่องมือขยายช่องคลอดเข้าไปก่อนเพื่อให้มองเห็นปากมดลูกได้ ตัวอ่อนจะถูกดูดเข้ามาไว้ในท่อสำหรับใส่ตัวอ่อนซึ่งปลายหนึ่งต่อกับกระบอกฉีดยาเล็กๆ และส่งต่อไปให้แพทย์เพื่อนำท่อนั้นสอดผ่านปากมดลูกเข้าไปสู่ภายในโพรงมดลูกและฉีดตัวอ่อนซึ่งรวมอยู่กับน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนลงไปบนเยื่อบุโพรงมดลูก หลังจากนั้นแพทย์จะดึงท่อใส่ตัวอ่อนออกมา ตามด้วยอุปกรณ์อื่นๆทั้งหมด และผู้ป่วยจะได้นอนพักบนเตียงสักครู่หนึ่งก่อนที่จะลุกขึ้นและกลับบ้าน
แพทย์จะสั่งฮอร์โมน Progesterone เสริมให้อย่างเพียงพอเป็นเวลาประมาณ 15 วัน หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้วนั้น ผู้ป่วยมักไม่มีสิ่งอื่นใดที่ต้องกระทำเป็นพิเศษ ผู้ป่วยมักได้รับคำแนะนำให้ทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ และผู้ป่วยจะถูกขอให้เข้ามาตรวจเลือดเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์หาก 12 วันภายหลังการใส่ตัวอ่อนผู้ป่วยยังไม่มีรอบเดือนมา



ตัวอ่อนที่ใส่กลับเข้าไปในมดลูก

ไม่มีใครอาจทราบได้แน่ชัดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวอ่อนในแต่ละวันหลังจากการย้ายตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูก จากเวลาที่ตัวอ่อนได้ถูกวางลงบนเยื่อบุโพรงมดลูกของแม่ตัวอ่อนจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นในการเจริญเติบโตต่อไปจากของเหลวที่สร้างมาจากเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูก ตัวอ่อนทำการฝังตัวลงบนเยื่อบุโพรงมดลูกโดยเจาะออกจากเปลือก และฝังตัวลงไป หลังจากนั้นจะสร้างรกขึ้นมาก่อนเพื่อนำอาหารไปเลี้ยงเซลล์ที่จะเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไป ในระยะเวลาสองสัปดาห์หลังการใส่ตัวอ่อน ตัวอ่อนจะสามารถสร้างฮอร์โมน hCG ออกมาได้ซึ่งเป็นสัญญาณส่งไปยังอวัยวะระบบต่างๆของแม่ว่าได้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นแล้ว ในการทดสอบการตั้งครรภ์ hCG นั้นจะสามารถตรวจพบได้จากในปัสสาวะหรือจากเลือดของแม่

การทดสอบการตั้งครรภ์
สองสัปดาห์แห่งการรอคอยเพื่อที่จะทำการทดสอบการตั้งครรภ์นั้นช่างเป็นช่วงเวลาที่นำมาซึ่งความเครียด ความวิตกกังวล การดูแลด้านจิตใจ การให้คำปรึกษา สามารถช่วยลดระดับความเครียดลงได้และช่วยให้คู่สามีภรรยาสามารถผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ดีขึ้น ตัวอย่างเลือดของฝ่ายหญิงจะถูกดูดออกมาเพื่อนำไปทำการตรวจการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ 14 หลังจากการใส่ตัวอ่อน การตรวจการตั้งครรภ์นั้นใช้เวลาไม่นานและสามารถทราบผลการตรวจได้ในวันนั้น ในบางครั้งผลที่ได้ชัดเจนว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ แต่บางครั้งก็ไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน ซึ่งในกรณีเช่นนี้จะทำการตรวจซ้ำใน 48 ชั่วโมงหรือในหนึ่งสัปดาห์ต่อมา

ทารกที่เกิดจากการรักษาด้วยวิธีบลาสโตซิสท์
ทารกที่คลอดจากการรักษาด้วยบลาสฌตซิสท์คัลเจอร์ และเทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์อื่นๆนั้นไม่ได้เกิดความพิการแต่กำเนิดมากไปกว่าทารกที่ตั้งครรภ์ตามธรรมชาติในประชากรทั่วไป (น้อยกว่า 5%) ในด้านพฤติกรรม เด็กเหล่านี้ก็มีพฤติกรรมคล้ายคลึงกันกับเด็กทั่วไปแม้ว่าเด็กมักจะได้รับความรักและตามใจมากกว่าเด็กทั่วไปเล็กน้อยก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานใดๆในปัจจุบันที่จะแสดงให้เห็นว่า เด็กเหล่านี้แตกต่างจากเด็กทั่วไปและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นทั่วไป เนื่องจากเด็กหลอดแก้วคนแรกของโลกที่เกิดขึ้นในปี 1978 นั้นปัจจุบันยังดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติ




 

Create Date : 31 สิงหาคม 2553
2 comments
Last Update : 31 สิงหาคม 2553 9:37:59 น.
Counter : 6431 Pageviews.

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ คุณหมอ

ตอนนี้ทำ IVF เหมือนกัน ใส่ตัวอ่อนเป็นวันที่ 5 แล้วยังไม่มีอาการใดๆ เลย

ไว้รอไปเช็คฮอร์โมนวันที่ 16 นี้แล้วค่ะ

 

โดย: nokojang 6 กันยายน 2553 16:14:41 น.  

 

 

โดย: สมาชิกหมายเลข 1779106 30 มีนาคม 2558 17:05:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


DR.TONGTIS
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




• B.Sc. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1974-1978.
• M.D. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1979-1980.
• Diploma Board of Obstetrics and Gynecology. Chulalongkorn University, Bangkok Thailand 1981-1983.
• Postdocteral Fellow Training. Queen's Mother Hospital, Glasgow Scotland.
• Postdocteral Fellow Training.King's College Hospital, London. UK.
• Postdocteral Fellow Training. Department of Obstetrics and Gynecology and Department of Radiology. John Hopkins Hospital, John Hopkins University.
[Add DR.TONGTIS's blog to your web]