"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2548
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
12 สิงหาคม 2548
 
All Blogs
 

Billie Holiday เสียงแห่งความปวดร้าว

“Strange Fruit” น่าจะเป็นเพลงที่อยู่ในอันดับแรกๆ หากจะให้นึกถึงผลงานเพลงของ บิลลี ฮอลิเดย์ ผู้หญิงที่ชีวิตปูไว้แต่ความเศร้าสร้อย แม้แต่บทเพลงที่ร้องก็ยังมิวายที่จะแฝงไว้ด้วยความเศร้า ไม่พ้นที่จะออกมาทางดวงตากร้านโลกของเธอ ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับนักร้องแจ๊สในยุคเดียวกันอย่าง เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ ซึ่งมีแต่ดวงหน้าและแววตาที่สดใส ร่าเริง อย่างที่หญิงสาววัยนั้นควรจะเป็น ....

ชีวิตของ บิลลี ฮอลิเดย์ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 1915 ที่บัลติมอร์ ในชื่อของ เอเลนอรา เฟแกน ด้วยความผิดพลาดทางเทคนิคของคุณแม่วัยรุ่นอายุ 13 ปี ซาดี เฟแกน พ่อของ บิลลี มีชื่อว่า แคลเรนซ์ ฮอลิเดย์ เป็นนักเล่นกีตาร์และแบนโจวัย 15 ปี (ซึ่งภายหลังได้เล่นกับวงออร์เคสตราของ เฟล็ตเชอร์ เฮนเดอร์สัน ด้วย) ทิ้ง ซาดี และ เอเลนอรา น้อยๆ ไว้ตามลำพังหลังจากที่ ซาดี วางแผนปล่อยให้ท้องเพื่อมัด แคลเรนซ์ ไว้ แต่ไม่สำเร็จ เขาเพียงแต่ยอมรับว่า เอเลนอรา เป็นลูกของเขาเท่านั้น แม้ว่าตอนหลัง บิลลี จะเจอพ่อเข้าโดยบังเอิญที่นิวยอร์ก แต่เธอก็หลบเลี่ยงที่จะไม่ใช้เขาเป็นนักดนตรีแบ็คอัพมาตลอด แต่ด้วยความที่ ซาดี ยังเด็กนักและอาจจะไม่ได้ใส่ใจกับลูกน้อยเท่าที่ควร เธอจึงปล่อยให้ เอเลนอรา ไปอยู่กับญาติใจโหดที่เลี้ยงเด็กด้วยความรุนแรง เธอได้เข้าเรียนเมื่ออายุล่วงเข้าไป 10 ปี หลังจากที่เกือบถูกเพื่อนบ้านใจโฉดข่มขืน เธออาศัยอยู่ได้สักพักจนแตกเนื้อสาว เพื่อนบ้านก็ช่วยให้เธอได้ออกมา และย้ายไปอยู่กับ ซาดี ซึ่งก็ย้ายไปนิวเจอร์ซีย์ด้วยกันเมื่อปี 1927 แล้วจึงได้ย้ายไปบรูคลินอีกที

ที่นิวยอร์ก บิลลี ช่วยแม่ทำงานเป็นคนรับใช้ แต่ท้ายที่สุด เธอก็ได้มาประกอบอาชีพโสเภณีตั้งแต่ยังเด็กตามแม่ของเธอเพื่อหารายได้พิเศษ โอกาสทองในชีวิตการร้องเพลงของ บิลลี มาถึงในปี 1933 เมื่อมีคนชวนให้เธอให้ไปช่วยออดิชันเป็นเพื่อน จริงๆ แล้ว บิลลี ได้ไปร้องเพลงในคลับทั่วนิวยอร์กแล้วตั้งแต่ช่วงปี 1930-31 จอห์น แฮมมอนด์ โปรดิวเซอร์ชื่อดังในแวดวงการเพลงได้มาเห็นแววของเธอเข้าที่ โมเน็ต คลับ เมื่อช่วงต้นปี 1933 จอห์น อายุมากกว่าบิลลีเพลง 3 ปีเท่านั้น แต่ก็เริ่มฉายแววของความเป็นคนดังแล้ว เขาเขียนถึงเธอในหนังสือ Melody Maker และได้ชักชวน เบนนี กูดแมน มาดูการแสดงของเธอในที่สุด หลังจากได้อัดเดโมที่ โคลัมเบีย สตูดิโอ แล้ว บิลลี ก็เข้าร่วมคณะกับ เบนนี เพื่อออกสู่สาธารณะชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1933 ในเพลง Your Mother’s Son-In-Law

บิลลี ไม่ได้เข้าห้องอัดอีกนานนับปี เธอใช้เวลาในช่วงปี 1934 ร้องอยู่ในคลับชื่อดังในนิวยอร์ก ต้นปี 1935 เธอออกปรากฏตัวครั้งแรกที่ อะพอลโล เธียเตอร์ (กับนักเปียโนหนุ่ม บ็อบบี เฮนเดอร์สัน) และหนังเรื่องหนึ่งของ ดุค เอลลิงตัน ช่วงครึ่งหลังของปีเดียวกัน เธอกลับเข้าห้องอัดอีกครั้ง และอัดแผ่นเสียงถึง 4 เซสชัน ด้วยการแนะนำของ เท็ดดี วิลสัน เธอก็ได้มาร้องเพลงที่บรรดานายทุนจัดไว้ให้สำหรับนักร้องผิวสี เพลงดีเด่นดังมักจะอยู่ในมือพวกนักร้องผิวขาวเสมอในช่วงยุคสวิง แต่เชื่อไหมว่า เพชรอย่างไรก็เป็นเพชร ถึงแม้ บิลลี จะได้ร้องเพลงที่โดนเขี่ยนทิ้ง แจ่เธอและเพื่อนๆ อย่าง รอย เอลดริดจ์ นักทรัมเป็ต, จอห์นนี ฮอดเจส นักอัลโตแซ็ก, เบน เว็บสเตอร์ นักเทเนอร์แซ็ก และ ชู เบอร๊รี ก็ได้เพิ่มพลังไพเราะให้กับเพลงอย่าง What A Litlle Moonlight Can Do, Twenty Four Hours A Day และ If You Were Mine กลายเป็นเพชรขึ้นมาได้ ด้วยพลังของวงดนตรีที่มีความสามารถกับนักร้องอย่าง บิลลี ทำให้พวกเขากลายเป็นดาวแห่งสังกัด โคลัมเบีย, บรันสวิก และ โวเคเลียน ไปในที่สุด

ในช่วงปี 1936 บิลลี ออกเดินสายกับวงดนตรีนำโดย จิมมี ลันซ์ฟอร์ด และ เฟล็ตเชอร์ เฮนเดอร์สัน แต่ก็กลับไปนิวยอร์กเพื่อบันทึกเสียงหลายเซสชันเช่นกัน ปลายปี 1937 เธอร่วมบันทึกเสียงในหลายๆ เพลงกับวงใหม่ที่ จอห์น เพิ่งไปค้นพบมา นั่นคือวง เคาน์ต เบซี ออร์เคสตรา ซึ่งมี เลสเตอร์ ยัง นักเทเนอร์แซ็ก ผู้ซึ่งรู้จักมักจี่กับ บิลลีมานานหลายปีก่อนหน้า, บัค เคลย์ตัน นักทรัมเป็ตผู้ซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนสนิทของ บิลลี ในภายหลัง พวกเขาอัดเพลงเด่นๆ ไว้หลายเพลงในช่วงปลายทศวรรษที่ 30 และเป็นช่วงที่ บิลลี ตั้งสมญา Pres ให้กับ เลสเตอร์ เพื่อนของเธอ ส่วน เลสเตอร์ ก็ไม่ยอมน้อยหน้า สมญา Lady Day ให้ บิลลี เป็นการตอบแทน ก่อนฤดูใบไม้ผลิปี 1937 เธอถูกไล่ออกจากวงของ เคาน์ต เบซี ซึ่งตอนนั้นเธอทำงานคู่กับ จิมมี รัชชิง ได้ไม่เต็มปีดี สาเหตุมาจากอารมณ์ที่แปรปรวน ขาดความรับผิดชอบ และการให้สัมภาษณ์ว่า เธอไม่ต้องการร่วมงานกับนักร้องบลูส์ผิวขาว ซึ่ง จิมมี ก็มีผิวขาวซะด้วยสิ!!

บิลลี ได้พักผ่อนในช่วงสั้นๆ ก่อนที่ อาร์ตี ชอว์ จะจ้างเธอไปร้องให้กับทางวงในปี 1938 ซึ่งเป็นวงตัวอย่างวงแรกทีเดียวที่สมาชิกวงล้วนแต่เป็นคนขาว ยกเว้น บิลลี คนเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความสนับสนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูขอเพื่อนร่วมวง โดยเฉพาะ อาร์ตี ผู้ซึ่งเป็นคนรักของเธอด้วย ผู้จัดโชว์และผู้สนับสนุนรายการวิทยุก็เริ่มต่อต้านเธอ ตัดเพลงที่เธอร้องออกจากโปรแกรมออกอากาศ ด้วยเรื่องที่ว่าเสียงอันเป็นเอกลักษณ์แหวกแนวของเธอนั้นไม่เข้าหูใครต่อใครหลายคน พอๆ กับเรื่องที่เธอเป็นคนผิวสี แต่ บิลลี ก็ทนไม่ได้กับการถูกดูถูกเหยียดหยามที่มากขึ้นเรื่อยๆ เธอจากเพื่อนร่วมวงมาอย่างไม่สบอารมณ์ ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเกินไปนัก ในเมื่อมีอิสระที่จะไปร้องที่ไหนก็ได้ และเธอก็ได้มาลงที่ คาเฟ โซไซตี คลับดังแห่งใหม่ สถานที่ท่องราตรีซึ่งรวบเอาคนหลากหลายเชื้อชาติโดยไม่มีความรังเกียจ ที่นั่นเองที่ บิลลี ฮอลิเดย์ ได้ยิงศรดอกใหม่นำเธอไปสู่สถานะของนักร้องที่ทรงพลังขึ้น.... นั่นคือเพลง Strange Fruit ที่เธอร้องไว้ ณ ที่นี้เป็นแห่งแรก

เพลงนี้กลายเป็นเพลงเอกของเธอไปโดยปริยาย ถูกบรรดาแฟนเพลงของให้ร้องให้ฟังมากที่สุด ทั้งๆ ที่เป็นเพลงที่มีเนื้อหารุนแรงและเกี่ยวข้องกับการเมืองมาก บิลลี หนักใจมากก่อนที่จะตัดสินใจร้องเพลงนี้ หลังจากนั้น เธอพยายามผลักดันให้ โคลัมเบีย บันทึกแผ่นเพลงนี้ออกขาย แต่ก็ไม่สำเร็จ ค่าย คอมมอดอร์ ของ มิลต์ เกเบลอร์ จึงได้เข้ามาเป็นทางเลือกกับเธอในตอนนั้น หลายสำนักวิทยุก็ต่อต้านด้วยการไม่เปิดออกอากาศ แต่นั่นกลับทำให้กระแสคลื่นใต้น้ำยิ่งแรงขึ้น ในปี 1942 เธอกลับมาบันทึกเสียงกับ โคลัมเบีย ต่อ เพลงที่ดังที่สุดของเธอช่วงนั้นคือ เพลงที่เธอเขียนขึ้นเอง God Bless The Child มิลต์ ผู้ซึ่งเป็น A&R ของค่าย เดกกา จีบเธอเข้าสังกัดเพื่อบันทึกเพลง Lover Man ในปี 1944 ซึ่งเขียนเนื้อขึ้นเพื่อเธอโดยเฉพาะ ไม่นานนัก เธอก็ได้เป็นศิลปินอันดับหนึ่งของ เดกกา และเป็นช่วงที่เธอบันทึกเพลงรักที่ดีที่สุดไว้หลายเพลง อาทิ ‘Tain’t Nobody’s Business If I Do, Them There Eyes และ Carzy He Calls Me

กลางทศวรรษที่ 40 ถึงแม้จะเป็นช่วงรุ่งเรืองสุดขีดของ บิลลี แต่เธอกลับตกเป็นทาสของเหล้าและกัญชาอย่างยากที่จะถอนตัว จริงๆ เธอเริ่มสูบกัญชาตั้งแต่อยู่กินกับสามีคนแรก จอห์นนี มอนโร ชีวิตแต่งงานไม่ยืดยาวนักก็เลิกรากันไป เมื่อมาปลงใจกับ โจ กาย นักทรัมเป็ตร่วมวง เธอก็เริ่มขยับมาสู่การเสพเฮโรอีน อย่างไรก็ตาม การออกมาทำวงตามลำพังกับสามีทำให้เธอสูญเสียรายได้งามๆ ไปมากพอควร แต่ที่เสียมากกว่าคือ ซาดี แม่ของเธอได้จากไป สร้างความโศกสลดแก่ บิลลี อย่างหาที่สุดมิได้ หลังจากนั้นเธอก็ถูกจับกุมในข้อหามีเฮโรอีในครอบครองและถูกจองจำอยู่นานถึง 8 เดือน

หลังจากได้รับอิสรภาพ ทุกอย่างก็ไม่ได้เหมือนฝันไปเสียหมดสำหรับเธอ ก็ในเมื่อเป็นขี้คุกขี้ยา ใครจะไปจ้างเธอทำงาน ในช่วงสงคราม เธอทำงานให้กับสังกัด เดกกา จนถึงปี 1950 หลังจากนั้น 2 ปี เธอก็เริ่มมาทำงานกับ นอร์แมน แกรนซ์ กูรูวงการแจ๊ส เจ้าของ เคลฟ (หรือ เวิร์ฟ ในปัจจุบัน) และได้ร่วมงานกับเพื่อนเก่าอย่าง เบน เว็บสเตอร์ เพื่อนใหม่อย่าง ออสการ์ ปีเตอร์สัน, แฮรี “สวีต” เอดิสัน และ ชาร์ลี เชเวอร์ส เพลงอมตะนิรันดร์กาลของเธอหลายเพลงเกิดขึ้นในช่วงนี้

ในช่วงปี 1957 บิลลี ได้ออกโชว์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายทางทีวี CBS ในรายการ The Sound Of Jazz กับเพื่อนๆ อย่าง เบน, เลสเตอร์ และ โคลแมน ฮอว์คกินส์ เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น ก็ออกอัลบัม Lady In Satin ด้วยเสียงที่แหบห้าว กับเสียงวงเครื่องสายฝีมือ เรย์ เอลลิส ในระหว่างปีสุดท้ายของชีวิต บิลลี ได้ออกปรากฏตัว 2 งานที่ยุโรป ก่อนที่โรคหัวใจและตับจะพรากลมหายใจของเธอไปจากร่าง กระนั้นเธอก็ยังคงอยู่กับเฮโรอีนจนลมหายในสุดท้ายในวันที่ 17 กรกฎาคม 1959 พร้อมกับเงินในบัญชีที่มีแค่ 70 เซ็นต์ และ 750 ดอลลาร์ติดตัวเนื่องจากถูกโกง ชื่อเสียงและอิทธิพลของเธอขจรขจายไปทั่วยิ่งกว่าเดิม ไม่ว่ากับนักร้องอย่าง แจนิส จอปลิน หรือ นีนา ซีโมน หรือด้วยภาพยนตร์ที่ตามมาอย่าง Lady Sings The Blues นำแสดงโดย ไดแอนา รอส หลังจากยุคซีดีคืบคลานมาถึง ผลงานมากมายของ บิลลี ถูกนำมาปัดฝุ่นรีมาสเตอร์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ Quintessential 9 ชุดจาก โคลัมเบีย หรือ The Complete Decca Recordings จาก เดกกา และ The Complete Billie Holiday On Verve 1945-1959 จาก เวิร์ฟ

ครั้งหนึ่ง เธอขึ้นโชว์ด้วยดอกการ์ดีเนียสีขาวทัดผม เอาชนะใจคนดูของเธอด้วยประโยคในเพลงของเธอว่า “I’ve live songs like that.” ถึงแม้ว่า Strange Fruit อย่าง บิลลี ฮอลิเดย์ จะมีชีวิตที่คับแค้นทั้งทางใจและกายขนาดไหน อาภัพกับชีวิตรักปานใด หรือแม้ว่าเธอจะจากไปโลกสกปรกใบนี้ไปแล้ว แต่เสียงเพลงแห่งผลไม้รสขื่นลูกนี้ จะติดอยู่ในความทรงจำของเราไปตราบนานเท่านาน




 

Create Date : 12 สิงหาคม 2548
3 comments
Last Update : 12 สิงหาคม 2548 13:34:42 น.
Counter : 1974 Pageviews.

 

มาอ่านค่ะ
กำลังจะทำหนังสือเพลงของตัวเองน่ะ

 

โดย: ป้ามด 23 มิถุนายน 2551 16:14:58 น.  

 

เล่นคาริเน็ตนานเเล้วไม่รู้ประวัตินักดนตรีระดับโลกเลยเข้ามาอ่าน
ToT

 

โดย: joe IP: 222.123.196.78 6 กรกฎาคม 2551 13:53:40 น.  

 

กำลังหาประวัติอย๔พอดีเลย ดีจัง..ขอบคุณ คร่า

 

โดย: จ้าวญิ๋งส์ IP: 124.121.180.125 10 กรกฎาคม 2551 0:09:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.