"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
3 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

75 สุดยอดมือกีตาร์พันธุ์แจ๊ส (1)

คราวนี้เรามารู้จักมือกีตาร์แจ๊ส ผู้บรรเลงบทเพลงผ่านเส้นลวดหกสายให้เป็นท่วงทำนอง หากจะว่ากันจริงๆ แล้ว เครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ยังถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่ได้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในวงการดนตรีแจ๊ส จะเป็นเครื่องเป่าและเปียโนเสียมากกว่าที่จะได้ครอบครองพื้นที่ส่วนมาก มีมือกีตาร์เพียงห้าคนเท่านั้นที่ได้เข้าไปอยู่ใน Hall of Fame ของนิตยสารแจ๊สเก่าแก่ของอเมริกา อย่าง ดาวน์บีท ซึ่งก็มีชาร์ลี คริสเตียน, จังโก ไรน์ฮาร์ดต, เวส มอนต์โกเมอรี, จิมมี เฮนดริกซ์ และแฟรงก์ แซปปา ถึงแม้จะเป็นรายชื่อสั้นๆ แต่ก็เป็นรายชื่อที่แสดงให้เห็นว่ากีตาร์ได้ส่งอิทธิพลต่อดนตรีแจ๊สนับตั้งแต่ยุคกรุยทางในทศวรรษที่ 20
เราลองมาดูกันถึงรายชื่อมือกีตาร์ที่ได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์ชื่อดังในอเมริกา จากการรวบรวมของนิตยสารดาวน์บีต ในวาระครบรอบ 75 ปีในปี 2009 นี้

ยุคบุกเบิก

1. Django Reinhardt จังโก ไรน์ดฮาร์ดต มือกีตาร์เบลเยียมเชื้อสายยิปซีที่ได้รับการยอมรับในเรื่องฝีมืออันโดดเด่น จังโกได้กลายเป็นสื่อสัญลักษณ์ของแจ๊สสไตล์ยุโรปในช่วงทศวรรษที่ 30 ความช่ำชองในการเล่นของจังโกทำให้เขาประสบความสำเร็จในการเล่นอย่างแคล่วคล่องว่องไวเหนือเฟร็ตบนคอกีตาร์ ขอบเขตเทคนิกการเล่นของเขาก็ไปไกลเกินจะชื่นชม เมื่อมานั่งคิดว่าจังโกมีนิ้วมือซ้ายที่ใช้การได้เพียงแค่สองนิ้วเท่านั้น งานสร้างสรรค์และการเล่นประทับใจที่ยังคงไม่สามารถหาใครมาเทียบเคียงได้เลย “จังโกมีหูที่แม่นยำมากๆ” ชาร์ลี เบิร์ด มือกีตาร์อีกคนหนึ่งได้เคยเอ่ยถึงสรรพคุณของจังโกเอาไว้ “เขาขึ้นชื่อในเรื่องการเล่นที่ดุดัน และการเล่นซิงเกิลโน้ตที่มีชีวิตชีวา คงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่จะเล่นให้ได้แบบจังโก”



2. Freddie Green เฟรดดี กรีนถือเป็นมือกีตาร์ที่ได้สร้างคุณูปการให้แก่วงดนตรีของเคาน์ต เบซีอย่างมาก ในแง่การเพิ่มมูลค่าให้กับภาคริธึมแตกต่างกับวงบิ๊กแบนด์วงอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน เขาเข้าวงของเคาน์ต เบซีในปี 1937 แล้วก็อยู่ร่วมหัวจมท้ายมาตลอดเกือบห้าสิบปี “กับเบซีแล้ว เขาเปรียบเสมือนหัวใจของวงเลยทีเดียว” บาร์นีย์ เคสเซิลกล่าวไว้ “เป็นแรงขับเคลื่อนที่ทรงตัว เออร์วิง แอชบี (มือกีตาร์) เคยพูดไว้ว่า ‘ริธึมกีตาร์ก็เหมือนวานิลลาที่สอดไส้ในเค้ก คุณไม่รู้รสหรอกตอนกิน แต่ถ้าเมื่อไรที่ไม่มี คุณจะรู้ได้ทันที’”


3. Eddie Lang เอ็ดดี แลง เขียนหนังสือเกี่ยวกับแจ๊สกีตาร์มาตั้งแต่ยุค 1920 ไลน์ริธึมที่ค่อนข้างจะโอนอ่อนผ่อนปรน แต่ก็เต็มไปด้วยความหนักแน่นในน้ำเสียง ซึ่งก็ได้เป็นเนื้อหนังเติมเต็มให้กับวงที่เล่นนำโดย เรด นิโคลส์, แฟรงกี ทรัมบาวเออร์, เดอะ ดอร์ซีย์ บราเธอร์ส, พอล ไวต์แมน และบิง ครอสบี


4. Carl Kress คาร์ล เครส มือริธึมกีตาร์ยุคบุกเบิกในยุค 1920 ซึ่งมีอดีตเป็นนักแบนโจ คาร์ล เครสได้พาตัวเองไปสู่จุดสูงสุดของนักเล่นสวิงแห่งยุคสมัยของเขา รวมไปถึงวงที่นำโดย พอล ไวต์แมน, เรด นิโคลส์, มิฟฟ์ โมล และเดอะ ดอร์ซีย์ บราเธอร์ส โซโลที่มีคอร์ดเอี่ยวบ่งบอกคนละแนวทางกับเอ็ดดี แลง เรียกได้ว่าเล่นคนเดียวได้ไลน์ทั้งโซโลและคอร์ดในเวลาเดียวกัน ด้วยการเล่นที่นุ่มนวลและเปี่ยมไปด้วยพลังขับเคลื่อนเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเป่าฮอร์นและนักโซโลหลายๆ คน การทูนกีตาร์ของเขาเปิดช่องให้เขาสามารถเล่นวอยซิงคอร์ดได้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่คุณจะไปหาฟังได้จากสแปนิชกีตาร์ธรรมดาๆ ได้


5. Eddie Durham เอ็ดดี เดอร์แรมเล่นทั้งกีตาร์และทรอมโบนตลอดเส้นทางอาชีพนักดนตรีของเขา นอกเสียจากนั้นเขายังถ่ายทอดความสามารถในการอะเรนจ์, เขียนเพลง, วางแผนร่วมกับหัวหน้าวงชื่อดังอย่าง เบนนี โมเท็น, เคาน์ต เบซี, วิลลี ไบรอันต์, เกล็น มิลเลอร์, แฮรี เจมส์ และอาร์ตี ชอว์ ในฐานะนักบุกเบิกกีตาร์ไฟฟ้ายุคแรก เขาได้รับอิทธิพลจากชาร์ลี คริสเตียนมาแบบเต็มเปา เขายังเป็นคนแรกที่บันทึกเสียงอัลบัมด้วยกีตาร์ไฟฟ้ากับวงแคนซัส ซีตี ไฟว์ในปี 1938 ช่วงยุค 1940 เขาไปทำงานเป็นผู้อำนวยการด้านดนตรีของ ดิ อินเตอร์เนชันแนล สวีตฮาร์ตส ออฟ ริธึม ในปี 1969 หลังจากที่การอะเรนจ์มีอิสระเสรีมากขึ้น เขาก็ได้กลับมาจับกีตาร์อีกครั้งกับบัดดี เทต เพื่อนร่วมวงเคาน์ต เบซี

6. George van Eps จอร์จ แวน เอ็ปส์ อดีตมือแบนโจที่หันมาเล่นกีตาร์ในช่วงที่เริ่มเข้าวงการดนตรีใหม่ๆ เขาปรากฏโฉมสู่สาธารณะเมื่อปลายยุค 1920 และช่วงต้น 1930 เล่นควบคู่ไปกับมือกีตาร์ระดับตำนานอย่าง เอ็ดดี แลง, เบนนี กูดแมน และเรย์ โนเบิล จอร์จเป็นที่รู้จักเสมือนผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอร์ด ความโดดเด่นในการเล่นเครื่องดนตรีของเขาส่งอิทธิพลต่อนักเล่นกีตาร์ทุกยุคทุกสมัยให้ติดตาม “ผมมักจะชอบคิดให้มันเป็นฮาร์โมนิก ไลน์ มากกว่าจะให้เป็นบล็อก คอร์ด เพราะส่วนมากบล็อก คอร์ดจะเป็นที่นิยมกันอยู่แล้ว กีตาร์ก็เหมือนเปียโนที่คุณวางไว้บนตัก”

7. Eddie Condon เอ็ดดี คอนดอน หนึ่งในมือกีตาร์แจ๊สไม่กี่คนที่ไม่เคยเล่นโซโล แต่ทุกครั้งที่เขาจับกีตาร์สี่สายของตัวเองขึ้นมาทีไร ก็ต้องเป็นอันให้ต้องตกอยู่ในความห้วงรู้สึกอยู่ร่ำไป เอ็ดดีปักหลักอยู่ที่ชิคาโก แล้วก็มาร่วมวงกับออสติน ไฮ แก็งค์ในช่วงยุค 1920 ภายหลังจึงมาทำงานกับจีน ครูปา, เรด แม็กเคนซี และบิกซ์ ไบเดอเบ็ก สวิงที่โดดเด่นและเป็นจังหวะกลายมาเป็นต้นแบบที่กีตาร์ควรจะเป็นในวงดนตรีที่ประกอบด้วยนักดนตรีภาคริธึมเด็ดๆ เอ็ดดียังทำงานได้หลากหลายและเป็นคนมีไหวพริบ เขาเป็นทั้งเจ้าของคลับ, A&R, โปรโมเตอร์, นักเขียน และพิธีกรรายการโทรทัศน์อีกด้วย


8. Oscar Moore ออสการ์ มัวร์ มือกีตาร์จากวงดนตรีทริโอดั้งเดิมของแน็ต คิง โคลในช่วงปี 1937-47 ผู้ซึ่งมีฝีมืออันหาผู้ใดเทียบเทียม และก็เป็นมือกีตาร์ผู้ซึ่งกลายเป็นมือกีตาร์ที่ไม่ค่อยจะมีชื่อเสียงเท่าไร ทั้งที่เขาได้ตำแหน่งมือกีตาร์ยอดเยี่ยมของนิตยสารดาวน์บีตสี่ปีติดต่อกัน (1945-48) ชาร์ลี คริสเตียนเป็นมือกีตาร์คนสำคัญที่ส่งอิทธิพลให้กับออสการ์ เขาเล่นในสไตล์โซโลซิงเกิลโน้ตแบบบีบ็อป ด้วยความราบรื่น นุ่มนวล และสะอาดหูเป็นที่ยิ่ง นอกจากนั้นในการทำงานกับวงของแน็ต เขายังเล่นและบันทึกเสียงด้วยแรงอิทธิพลความชื่นชอบในศิลปินอย่าง ไลโอเนล แฮมพ์ตัน, อาร์ต ตาตัม และเลสเตอร์ ยัง “เสียงกีตาร์ที่เขาเล่นออกมาสร้างความประทับใจให้ผม ไม่ใช่แค่การโซโลซิงเกิล โน้ต แต่เป็นในคอร์ด, เมโลดี และฮาร์โมนี” เคนนี เบอร์เรล มือกีตาร์ในตำนานคนหนึ่งเอ่ยถึงออสการ์ “เขาเป็นมือกีตาร์คนหนึ่งที่มีคอนเซ็ปต์ในฮาร์โมนีที่ยอดเยี่ยมมากๆ ในบรรดามือกีตาร์ที่ผมเคยได้ฟังมา”


9. Les Paul เลส พอล ผู้ซึ่งช่ำชองทั้งด้านวิทยุ, โทรทัศน์ และอุตสาหกรรมเครื่องดนตรีกีตาร์ เขาได้สร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อดนตรีแจ๊ส ก่อนที่จะหันเหไปจับตลาดป็อป และประดิษฐ์กีตาร์โมเดลที่เป็นอมตะอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ เลส พอลได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจากจังโก ไรน์ฮาร์ดต ไลน์โซโลของเขาเป็นสวิงที่ว่องไว หนักแน่น การโยกสายที่เป็นเอกลักษณ์ เลส ผู้ซึ่งตอนนี้อายุอานามได้ 93 ก็ยังคงแข็งแรงพอที่จะไปเล่นที่ไอริเดียม คลับในนิวยอร์กทุกๆ คืนวันจันทร์ “กีตาร์ก็เป็นเหมือนบาร์เทนเดอร์, จิตแพทย์ที่มีฝีมือ… เป็นศิลปะการบำบัดชั้นยอด” พอลเคยพูดไว้ “ถ้าผมรู้สึกเครียดๆ ผมก็จะหยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่น แล้วมันก็จะบอกผมว่า ‘เฮ้ ฉันมีอะไรใหม่ๆ มาให้นาย อะไรที่นายจะต้องทำให้สำเร็จลุล่วงนะ’”




 

Create Date : 03 ธันวาคม 2552
0 comments
Last Update : 3 ธันวาคม 2552 11:01:53 น.
Counter : 1103 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.