"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กันยายน 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
28 กันยายน 2548
 
All Blogs
 

Diana Krall

Diana Krall

“ฉันไม่ได้มีหน้าที่ทีจะบอกใครให้เชื่อในเรื่องไหน แต่ฉันอยากจะให้คนฟังเป็นคนตัดสินเองมากกว่า”....ไดแอนา ครอล



Stop This World……
บทเพลงแรกในอัลบัม The Girl In The Other Room สตูดิโออัลบัมชุดที่ 7 อันเป็นชุดล่าสุดของไดแอนา ครอล นักเปียโนและนักร้องเสียงนุ่มชาวแคนาเดียน..... ซึ่งจะเปลี่ยนความรู้สึกของคุณที่มีต่อเธอไปโดยปริยาย เธอผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในหญิงสาวในฝันของผู้ชายมากมายบนโลกนี้ หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ทั่วโลกต่างลงความเห็นว่า เธอนั้นเซ็กซี่ แต่เป็นความเซ็กซี่ที่ซ่อนเร้นอยู่ในน้ำเสียงที่ชวนหัวใจละลาย เหมือนอย่างแคธลีน เทอร์เนอร์ (ถึงแม้หญิงสาวค่อนโลกจะบอก (อย่างอิจฉา) ว่า อุ๊ย เสียงของเธอนั้นหรือช่างเย็นชา…) และคงปฏิเสธไม่ได้เต็มปากเสียทีเดียวว่า ความสำเร็จในปัจจุบัน มีส่วนมาจากบุคลิกชวนฝันของเธอด้วย ไม่ว่าจะเป็นผมสีบลอนด์ทอง นัยน์ตาสีเขียวมรกต แต่เอาเถอะนะ หากปราศจากดนตรีที่ดีแล้ว ไม่ว่าจะชวนฝันแค่ไหน ก็คงอยู่ไม่รอดแน่นอน

The Girl In The Other Room ยังเป็นอัลบัมแรกในชีวิตการเป็นศิลปินของครอลที่ลงมือเขียนเพลงด้วยตัวเอง นอกจากการนำเพลงสแตนดาร์ดมาเรียบเรียงใหม่เหมือนอย่างในอัลบัมที่ผ่านๆ มาถึงแม้เธอจะเคยกล่าวเอาไว้ว่า

“ฉันเลือกเฉพาะเพลงที่ฉันชอบมาร้อง บางทีเพลงที่ฉันไม่ชอบ คนอื่นก็อาจจะไม่ชอบเหมือนกัน การร้องเพลงสแตนดาร์ดเหล่านี้ เป็นการเติมเต็มให้ตัวฉันเอง มันเป็นวิธีแสดงออกให้รู้ว่าฉันรู้สึกอย่างไรและฉันเป็นใคร” แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่คิดแบบนี้ ทำแบบนั้น

แน่นอน ทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป และที่สำคัญ เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า แรงบันดาลใจในการทำงานครั้งนี้มาจากไหน… แต่ถ้าคุณยังไม่ทราบล่ะก็.....ตามเรามาสัมผัสกับโลกส่วนตัวของเธอ....

มนต์รักนักดนตรี

เอลวิส คอสเตลโล นักดนตรีสายร็อคแอนด์โรลพบกับครอลเมื่อครั้งงานแจกรางวัลแกรมมีในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2002 ณ ตอนนั้นหนุ่มใหญ่ยังเคียงคู่ตุนาหงันอยู่กับ เคตลิน โอริออร์แดน ภรรยาอดีตนักเบสของวงเดอะ โพกส์ แล้วกามเทพตัวน้อยๆ ก็แผลงศรรักปักอกสาวใหญ่ปลาย 30 (ที่ตอนนั้นก็ควงอยู่กับจอห์น-พอล เบิร์นบาค นักเขียนบทชาวอเมริกัน) เข้าจนได้ หนึ่งเดือนถัดมา ครอลก็ซื้อแผ่นผลงานเพลงของคอสเตลโลชนิดครบชุดเลยทีเดียว เท่านั้นยังไม่พอ ความชื่นชอบในตัวคอสเตลโล ยังทำให้ครอลนั่งดื่มด่ำกับเพลงของเขาจนกระทั่งตีสาม!!

ทางหนุ่มใหญ่เองก็ไม่ธรรมดา ผลงานอัลบัม When I Was Cruel ของคอสเตลโลยังชวนให้แฟนเพลงฉงนฉงายถึงหญิงสาวที่ได้รับการกล่าวถึงในเนื้อเพลงอย่าง did her green eyes seduce you/and make u get so weak? ในเพลง Episode of Blonde แลดูอะไรๆ ก็สอดคล้องกับบุคลิกของครอลเสียหมดเลยสิเนี่ย แถมตอนที่เธอไปเปิดคอนเสิร์ตที่ซิดนีย์ โอเปรา เฮาส์ คอสเตลโลก็ยังอุตส่าห์ควงภรรยาไปดูด้วยซ้ำ และแล้ว ชีวิตแต่งงานของคอสเตลโลและโอริออร์แดนก็ล่มลงหลังจากนั้นไม่ถึงสองเดือน

ก่อนเข้าปลายปี 2002 ครอลสูญเสียอะเดลลา แม่บังเกิดเกล้าวัย 60 ของเธอไปอย่างไม่มีวันกลับ อีกทั้งเธอยังเลิกรากับเบิร์นบาคเสียด้วยภายในเวลาเดียวกัน

เมื่อหัวใจดวงเปลี่ยวมาเจอกันเข้าอีกครั้ง ทั้งสองคนจึงเริ่มเป็นที่จับตามองของแวดวงการเพลงไปด้วยประการฉะนี้ สื่อมวลเริ่มประโคมข่าวของคู่นักดนตรีหนุ่มสาวคู่นี้เมื่อทั้งคู่ถูกพบที่ภัตตาคารในนิวยอร์กเดินจูงมือกันแน่นแฟ้น จากนั้นทั้งสองได้มีโอกาสขึ้นเวทีร่วมกันที่โอลด์วิก เธียเตอร์ในลอนดอน คอสเตลโลร้องเพลงของป้าเอลตัน จอห์น Sorry Seems To Be The Hardest Word ส่วนครอลเล่นเปียโน เมื่อครบรอบหนึ่งปีของการพบกัน พวกเขาก็ประกาศตัวเป็นคู่รักต่อสาธารณชน

พ่อของครอลออกมาประกาศถึงการหมั้ นหมายของทั้งคู่ ยิ่งตอกย้ำสถานภาพให้จริงจังมากยิ่งขึ้น แต่ก็หามีข่าวใดๆ ออกจากปากทั้งคู่ไม่ แต่หลังจากนั้นไม่นาน คอสเตลโลออกอัลบัมเพลงกึ่งแจ๊ซ North ภายใต้สังกัดเด็กกา พร้อมกับนัยในบทเพลงที่ว่า There’s nothing to stop me now/I’m heading North.

ในที่สุด ข่าวมงคลของครอลและคอสเตลโลก็ออกมาให้แฟนเพลงร่วมยินดีจนได้ เมื่อทั้งคู่เข้าพิธีแต่งงานเล็กๆ แบบเป็นส่วนตัวใกล้กรุงลอนดอน เป็นเวลาเกือบสองปีที่ทั้งคู่พบกันและตกลงใจที่จะอยู่ร่วมกัน แต่ครอลก็ยังเขินอายที่จะยอมรับว่าผู้คนจำนวนสนใจชีวิตแต่งงานของเธอกับคอสเตลโล

“ฉันประหลาดใจมากเลยนะคะที่รู้ว่าคนสนใจมากขนาดนี้ คือฉันไม่ได้คิดเลยน่ะค่ะ แต่ฉันคิดว่าคงจะไม่ได้ทำอย่างที่สามีภรรยาศิลปินคู่อื่นเขาทำกัน อย่างเช่น ร่วมออกทัวร์ด้วยกัน ฉันก็มีงานของฉัน เขาก็มีงานของเขา โอ้ย ตอนนี้ฉันกลายเป็น “คู่ศิลปินรางวัลแกรมมีข้าวใหม่ปลามัน” ไปแล้ว เชื่อไหมล่ะ?”



Diana Krall : Looking Back In Her Eyes

ครอลเริ่มโด่งดังจากอัลบัมแรก Stepping Out ในปี 1993 ที่สร้างความโดดเด่นให้กับตัวเองมากในวงการแจ๊ซ ในฐานะของนักร้องนักเปียโนสาวสวยมากด้วยฝีมือ ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีพร้อมไปเสียทุกอย่าง เธอจบการศึกษาด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลี ที่มีชื่อเสียงมายาวนานกับการผลิตนักดนตรีแจ๊ซ พ่อของครอลเป็นนักเปียโนสไตรด์ที่สะสมแผ่นเสียงมากมาย นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอได้ศึกษางานเปียโนของศิลปินดังๆ อย่าง แฟตส์ วอลเลอร์

“ฉันว่าพ่อมีผลงานทั้งหมดของแฟตส์ทุกชุดเลยมั้ง” เธอบอกในครั้งหนึ่ง “ฉันเองก็ถือเป็นโอกาสที่จะศึกษามันไว้ทั้งหมดเหมือนกัน”

ชีวิตการศึกษาของเธอเดินทางขึ้นล่องอเมริกา-แคนาดาอยู่เรื่อยๆ จากคำชักชวนของนักเบส เรย์ บราวน์ในครั้งแรก ทำให้เธอได้มีโอกาสไปเรียนเปียโนกับจิมมี โรลส์ที่แอลเอ ครอลมักจะลังเลเสมอๆ ในการร้องเพลงของเธอ แต่โรลส์ก็เป็นคนที่สร้างความมั่นใจให้จนเธอกล้าที่จะร้องร่วมกับเล่นเปียโน

“ฉันออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้างโดยมีจิมมีเป็นครู เรียนรู้ก็จากเขา ซึมซับมาทุกสิ่งทุกอย่าง” เธอนึกย้อนความหลัง ซึ่งตอนนี้จิมมี โรลส์ก็ได้ฝากไว้แต่เพียงผลงาน ส่วนลมหายใจนั้นเขาทิ้งไว้บนโลกตั้งแต่ปี 1996 แล้ว

ครอลย้ายกลับมาโตรอนโตเรียนกับดอน ธอมป์สัน จนเมื่อปี 1990 ครอลก็มาปักหลักอยู่ที่นิวยอร์ก เล่นดนตรีวงสามชิ้นกับเพื่อนๆ Steppin’ Out เป็นงานชิ้นแรกกับค่ายจัสตินไทม์ส เรคคอร์ดส ที่เธอรับเอาอิทธิพลของศิลปินจัดจ้านอย่างคีธ จาร์เรตเข้ามาเต็มๆ และแววจรัสแสงก็เริ่มจับตัวเธอตั้งแต่นั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องนุ่มละมุน ทว่าสง่างาม ขณะเดียวกันก็สดใสร่าเริง เพื่อนร่วมวงอีกสองคนอย่างจอห์น เคลย์ตัน (เบส) และเจฟ แฮมิลตัน (กลอง) มีส่วนทำให้อัลบัมนี้โดดเด่นเช่นกัน ด้วยลีลาสวิงเฉพาะตัวของแต่ละคน โดยเฉพาะเพลงบรรเลงที่น่าติดใจอย่าง Big Foot ที่ครอลจัดสรรเรียบเรียงจังหวะจะโคนสนุกๆ ได้อย่างลงตัว หากจะบอกว่าเป็นศิลปินหน้าใหม่แล้ว ครอลเปิดตัวมาได้ดีมากกับ Steppin’ Out

แน่ล่ะ… ค่ายใหญ่ๆ อย่างจีอาร์พีหรือจะมองข้ามเธอไปได้ Only Trust Your Heart ก็เลยเป็นงานชุดถัดมากับจีอาร์พี เธอยังรักษาความเป็นแจ๊ซเปียโนโวคอลและลีลาบ็อป-สวิงไว้อย่างเหนียวแน่น แต่น่าเสียดายที่เคลย์ตันกับแฮมิลตันไม่ได้ตามมาเป็นแบ็คอัพคู่บารมีให้กับเธอ แต่เอาเถอะ เพราะทีมใหม่ที่เข้ามาก็คือ คริสเตียน แม็คไบรด์ (เบส) กับ ลิววิส แนช (กลอง) ไม่น่าผิดหวังเท่าใดนัก แต่อย่างไรก็ตาม ความประทับที่มีให้ก็ไม่ได้มากไปกว่าชุดแรก

ครอลถูกย้ายไปเข้าสังกัดอิมพัลส์เมื่อทำอัลบัมชุดที่สาม All For You อัลบัมที่ทำขึ้นมาเพื่ออุทิศให้แก่แน็ต คิง โคล นักร้องนักเปียโนที่ครอลชื่นชอบ แต่กระนั้นความชอบหรือผลงานอุทิศให้ก็ไม่ได้ทำให้เธอสูญเสียรูปแบบการร้องและเล่นอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง นักดนตรีไซด์แมนถูกเปลี่ยนตัวเป็นรัสเซล มาโลน มือกีตาร์หนุ่มที่มากฝีมือได้มีโอกาสเข้ามาร่วมวงกับครอล แต่หากบอกกันตามตรงแล้ว เขาก็ไม่ได้โชว์ฝีมือมากนักในอัลบัมนี้ แต่ก็ไม่แปลก เพราะเจ้าของอัลบัมคือครอล ไม่ใช่มาโลน และพอล เคลเลอร์ (เบส) ที่ก็มีหน้าที่เพียงแบ็คอัพที่ดีเท่านั้น ดังนั้นอัลบัมนี้ครอลจึงเป็นนางเอกอย่างเต็มตัว และมันก็เป็นอีกอัลบัมหนึ่งที่ช่วยตอกย้ำว่าเธอไม่ได้เป็นแค่สาวสวย ที่มากับผมสีบลอนด์เท่านั้น ยังไม่หมดเท่านั้น เพราะมันคืออัลบัมที่ติดชาร์ตบิลบอร์ดเกือบเจ็ดสิบสัปดาห์

Love Scenes อัลบัมที่ออกมาในปี 1997 เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เพราะได้ทั้งเงินและเกือบจะได้กล่องด้วย มาโลนยังคงอยู่กับครอล แต่แม็คไบรด์ถูกนำมาแทนที่เคลเลอร์ เธอบอกเมื่อครั้งทำอัลบัมชุดนี้ว่า “ฉันต้องขอบคุณโทนี เบ็นเน็ตมาก เขาเป็นนักตีความเพลงสแตนดาร์ดที่เก่งมากจริงๆ ไม่แพ้แฟรงค์ สิเนตราเลย ส่วนสิเนตรานั้น ฉันก็เป็นแฟนเพลงตัวเอ้ของเขาเลยอยู่แล้ว แม้ว่าจะหมดยุคเขาไปแล้วก็ตาม แต่คงจะยากที่จะหาคนมาเทียบชั้นได้ ฉันขอยกตำแหน่งนักร้องเพลงยอดนิยมตลอดกาลให้เขาแบบไม่ต้องคิดเลย”

ถึงแม้อัลบัมนี้จะได้รับความนิยมมากมายก็ตาม แต่ก็ยังไม่ใช่อัลบัมสำคัญที่ครอลได้สร้างไว้ให้แก่วงการแจ๊ซเท่า All For You

แล้วความชอบในศิลปินรุ่นใหญ่อย่างสิเนตรา ก็ส่งผลให้กับครอลในอัลบัม When I Look In Your Eyes ซึ่งเธอได้มาร่วมงานกับจอห์นนี แมนเดล อะเรนเจอร์ที่เคยทำงานกับสิเนตราในชุด Ring-A-Ding-Ding และเขียนเพลงประกอบภาพยนตร์ M*A*S*H นอกจากนั้นยังทำงานร่วมกับเบ็นเน็ต, บาร์บรา สตรัยแซนด์ “เขาเป็นนักอะเรนจ์มือหนึ่งทีเดียว” ครอลเคยบอกไว้ เพื่อนเก่าอย่างเคลย์ตันและแฮมิลตันก็กลับมาร่วมงานด้วยกันอีก ในขณะที่มาโลนก็ยังคงอยู่เช่นเดิม เพลง Devil May Care ของครอลในชุดนี้ “ได้รับเกียรติ” จากโฆษณาชิ้นหนึ่งในบ้านเรานำไปใช้เสียด้วย อัลบัมนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเธอในการผสานตัวเองเข้ากับวงออร์เคสตรา

อัลบัมถัดมา The Look Of Love เป็นครั้งแรกที่เธอทำดนตรีในแบบผสมออร์เคสตรอล และแน่นอน เป็นอัลบัมที่น่าผิดหวังที่สุดของครอลเท่าที่เคยได้สัมผัสมาก็ว่าได้ เริ่มต้นตั้งแต่ปกอัลบัมที่ฝ่ายการตลาดวางเธอไว้ในจุดของดารานางแบบที่ขายรูปลักษณ์มากเกินไป ไม่ใช่นักดนตรีเสียอย่างนั้น อีกทั้งภาคดนตรีที่ออกไปทาง Easy Listening เสียมากกว่า แม้ว่าจะเป็นอัลบัมที่ประสบความสำเร็จในแง่ยอดขาย มีการนำมารีแพ็กเกจกันไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันของญี่ปุ่น (เจ้าแห่งการรีแพ็กเกจ) มีเพลงแถมอีกหกเพลง และเวอร์ชันออสซี ที่มีเพลงแถมห้าเพลงด้วยกัน แต่แง่คำวิจารณ์แล้ว ครอลเสียรังวัดไปมากทีเดียว ถึงแม้จะมีข่าวออกมาว่าเธอไม่ค่อยจะชอบการตลาดแบบนี้เท่าไรนัก แต่แฟนเพลงแจ๊ซของเธอก็ต้องเดือดร้อนขุดอัลบัมเก่าๆ ขึ้นมาฟังแก้พื้นเสียเป็นการชั่วคราว แต่อย่างไรก็ตาม ครอลกลับมาคืนบัลลังก์อย่างสง่างามกับอัลบัม Live In Paris หากแต่คราวนี้หน้าปกอัลบัมไร้แรงดึงดูดทางการตลาดอย่างสิ้นเชิง บทเพลงสแตนดาร์ดคัดสรรทั้งสิบสองเพลง ได้รับการเรียบเรียงและวางจังหวะจะโคนในการสอดแทรกท่อนอิมโพรไวส์เป็นอย่างดี ส่วนไซด์แมนแต่ละคนนั้นนามอุโฆษแทบทั้งสิ้น แต่งานนี้ไม่มีมาโลนมาเล่นกีตาร์ กลายเป็นแอนโธนี วิลสันแทน และวิลสันก็ได้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างแก่แฟนเพลงชาวไทยมากขึ้นก็ด้วยอานิสงส์จากอัลบัมนี้แท้ๆ ทีเดียว

อยากจะบอกว่ายังมีอีกอัลบัมหนึ่งที่แฟนเพลงชาวไทยอาจจะพลาดไป เนื่องด้วยเป็นอัลบัมที่ไม่ได้มีขายแพร่หลายตามท้องตลาด แต่เป็นอัลบัมภายใต้ชื่อของนักทรอมโบนชาวสวิสเซอร์แลนด์ วินซ์ เบ็นเนเด็ตติ กับอัลบัม Heartdrops : Vince Benedetti Meets Diana Krall อัลบัมนี้ไม่มีรายละเอียดมากนัก เพลงทั้งหมดมาจากการร่วมประพันธ์ของเบ็นเนเด็ตติกับครอล ดูเหมือนตัวอัลบัมจะเกาะความดังของครอลเสียมากกว่า จึงไม่ได้มีอะไรให้น่าจดจำนอกจากแฟนพันธุ์แท้ที่อยากจะสะสมผลงานของเธอให้ “ครบ” ทุกชุดเท่านั้น

ครอลกับภาพสะท้อนของเด็กสาวในห้อง



เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ครอลออกผลงานชุดใหม่เอี่ยมต่อจาก The Look Of Love หลังจากที่เธอเข้าห้องหอกับคอสเตลโลได้เพียง 3-4 เดือน และไม่ใช่แค่ครอลเท่านั้นที่มีอิทธิพลกับงานดนตรีของสามีเธอ แต่คอสเตลโลเองก็มีอิทธิพลต่อความคิดในการทำงานของเธอไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้น The Girl In The Other Room จึงเป็นผลงานแรกในชีวิตของเธอที่ลงมือเขียนเนื้อเขียนทำนองเอง รวมทั้งคอสเตลโลก็มีส่วนช่วยภรรยาสาวในการเขียนเพลงถึงเจ็ดเพลงด้วยกัน โดยครอลจะรับหน้าที่เขียนทำนอง ส่วนเนื้อร้องนั้นเธอจะเป็นผู้ให้แค่ไอเดียที่อยากได้ แล้วจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของคอสเตลโล ซึ่งทั้งหมดก็มาจากการพูดคุยกันของทั้งสองคนเกี่ยวกับชีวิตของครอล ความตายของแม่และสิ่งที่เธอประสบมาทั้งหมดในชีวิต

เธอหัวเราะเมื่อถูกถามถึงการร่วมงานกับสามี “คุณคิดว่ายังไงล่ะ? ฉันไม่รู้จะพูดยังไงดีนะ ฉันก็เรียนรู้ที่จะทำงาน….มันก็เหมือนกับการที่ฉันได้ร่วมงานกับบ็อบ ดีแลน หรือโจนี มิตเชลแหละ”

เธอยอมรับว่าการร่วมงานกับคอสเตลโลเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเธอ และยังหวังว่าจะได้ทำงานกับเขาต่อไปเรื่อยๆ “เราทำงานกันเงียบๆ แต่ขณะเดียวกัน ฉันก็สนเท่ห์ในงานของเขาเหมือนกัน เพราะว่าเขาไม่ได้รู้ลึกเพียงอย่างเดียว แต่เขารู้ไปหมดทุกอย่าง ฉันเลยรู้ว่าเขาเข้าใจงานของฉัน วิธีที่ได้มาซึ่งเนื้องานที่ต้องการ ไม่สำคัญเท่าเนื้องานที่ออกมาหรอก ถ้ามันไม่ท้าทาย ก็ป่วยการ ฉันชอบทำงาน ชอบสร้างสรรค์ ชอบนั่งเล่นเปียโนทั้งวัน นั่นเป็นสิ่งที่ฉันทำแล้วมีความสุขมากที่สุด...

“ฉันไม่ได้ฟังเฉพาะเพลงแจ๊ซเท่านั้นนะ แต่ยังฟังเพลงป๊อปสแตนดาร์ดอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน อย่างทอม เวตส์ หรือ โจนี มิตเชล พวกอัลบัม For The Roses หรือ Heijira ทำให้ฉันหันกลับมาคิดถึงผลงานของคนแคนาดาด้วยกัน จริงๆ แล้วที่นี่ (เกาะแวนคูเวอร์) มีอะไรน่าสนใจมากขึ้นเยอะกว่าตอนที่ฉันออกไปท่องอเมริกาซะอีก

ดังนั้น ในอัลบัมนี้จึงยังมีเพลงของทอม เวตส์ อย่าง Temptation หรือ Black Crow ของโจนี มิตเชล หรือแม้กระทั่ง Almost Blue ของคอสเตลโลเอง การที่นักดนตรีแจ๊ซจะข้ามสายพันธุ์ไปแปลงเพลงป็อปหรือร็อคนั้น ก็มักจะเป็นการนำเพลงเก่าอย่างของเดอะ บีเทิลส์มาคารวะ แต่ด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านเปียโนของเธอเองแล้ว เธอตั้งใจปรุงแต่งตัวโน้ตของเวตส์, คอสเตลโลและของเธอเองเป็นอย่างดี จนกระทั่งแม้แต่จิมมี โรลส์ อดีตครูเปียโนของเธอก็อาจจะชอบก็เป็นได้

“มันข้ามสายพันธุ์ก็จริง แต่มันยังสวิงอยู่ไม่ใช่หรือ?” เธอบอกสั้นๆ “ฉันเติมแต่งอะไรเข้าไปตั้งเยอะ เยอะกว่าตอนที่เป็นเพลงต้นฉบับเสียอีก” “ฉันหวังว่าการเขียนเพลงเองแบบนี้ มันก็เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นศิลปินด้วยไม่ใช่หรือคะ?”

ครอลยังบอกอีกว่า “สำหรับฉัน ฉันคงไม่สามารถบอกได้เต็มปากหรอกว่าไม่กลัวที่จะทำอะไรเลย ถ้าฉันพูดก็คงจะโกหกแล้วล่ะ ฉันอยากจะเรียกว่า มันเป็นการแหกกฎสำหรับตัวเองไม่ใช่แค่การเขียนเนื้อเพลงเพื่อปลดปล่อยความคิดของตัวเองเท่านั้น แต่มันยังให้อิสระฉันในการย้อนกลับไปสู่วันเวลาที่ได้ร่วมเล่นร่วมเรียนกับจิมมีเมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้ว”

การเรียงเพลงในอัลบัมนี้เริ่มต้นจากเพลงจังหวะเบาสบายๆ ไล่เรื่อยมาถึงเพลงที่มีจังหวะหนักแน่นขึ้นไปเรื่อยๆ I’ve Changed My Address เป็นเพลงช่วงกลางอัลบัมที่เธอเขียนอุทิศให้กับ Bradley’s บาร์ที่เธอชอบไปนั่งครั้งเมื่อยังลุยอเมริกาใหม่ๆ แต่กาลเวลาทำให้บาร์เหล่านั้นเปลี่ยนไป เมื่อตรงที่ที่เคยมีเปียโนนั้น กลับกลายเป็นที่ตั้งโต๊ะพูล และที่วางโทรทัศน์ให้ลูกค้าดูการถ่ายทอดสดกีฬาไปแล้ว

“ฉันเริ่มต้นทบทวนความหลังอย่างจริงจังเมื่อครั้งยังอยู่กับจิมมี ซึ่งเขาเองก็เป็นที่มาของเพลงนี้เหมือนกัน อาจจะเพราะว่าฉันกำลังเขียนเพลงนี้อยู่ แล้วฉันก็นึกขึ้นมาได้ว่าฉันกับเขานั่งฟังเพลงของเวย์น ชอร์เตอร์, คาร์เมน แม็กเร, ทอม เวตส์ แล้วก็แผ่นบิลลี ฮอลิเดย์อีกเพียบ

“หลังจากเขียนไปได้สองเพลง I’ve Changed My Address กับ Abandoned Masquerade ก็รู้เลยว่าจิมมียังคงอยู่ในกระแสความนึกคิดของฉัน ฉันชอบสิ่งที่เขาเป็น ไม่มีใครจะไปวางกรอบอะไรให้เขาได้ ฉันไม่รู้จะบอกผู้คนอย่างไรว่าจิมมีเป็นใคร พวกเขาไม่รู้จักจิมมี แล้วก็ได้แต่ทำตาฉงนฉงาย”

ก่อนหน้านี้ในอัลบัมชุด Steppin’ Out เธอได้แต่งเพลงอุทิศให้กับโรลส์ในเพลง Jimmie ด้วย

Love Me Like A Man เพลงกลิ่นอายบลูส์ที่บอนนี เรตดัดแปลงมาแล้วก่อนที่ครอลจะเอามาคัฟเวอร์ต่ออีกรอบ เป็นบลูส์แจ๊ซ ที่แอนโธนี วิลสันได้โชว์ฝีมือกีตาร์ที่เก่งกาจของตัวเองด้วย แน่นอน ครอลเองก็ท้าให้พวกเราได้ฟังเธอร้องเพลงกลิ่นอายบลูส์เช่นกัน

ช่วงหลังของอัลบัมคืนสู่ความเรียบง่ายหลังจากที่พาอารมณ์คนฟังเพริดแพร้วไปกับจังหวะกระชั้นแล้ว จึงเริ่มเข้าสู่จังหวะกลางๆ และทูนแบบสแตนดาร์ดอันเป็นอิทธิพลที่เธอได้รับมาจากโรลส์ I’m Pulling Through บิลลี ฮอลิเดย์เคยบันทึกเสียงไว้เมื่อปี 1940 จากนั้นครอลก็กลับเข้าสู่เพลงใหม่ของเธอเองจริงๆ แต่ก็ยังยืนอยู่บนพื้นของซาวด์สแตนดาร์ดเก่าๆ ที่เรียบง่าย

Black Crow เพลงเก่าของโจนี มิตเชลยังบอกเราได้ว่าครอลได้รับอิทธิพลจากเพื่อนร่วมชาติคนนี้มาไม่น้อย ในแง่ของการเขียนเนื้อเพลง ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชน ทั้งๆ ที่ครอลเป็นศิลปินที่รักษาความเป็นส่วนตัวมากที่สุดคนหนึ่ง “เมื่อคุณทำงานสร้างสรรค์อะไรสักอย่าง คุณไม่ได้คิดหรอกว่าจะมีการทำแผนโปรโมตต่อไปภายหน้า แถมก็ไม่ได้นึกอีกนั่นแหละว่าจะต้องให้สัมภาษณ์สื่อเป็นวรรคเป็นเวร ซึ่งฉันว่ามันเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างเปราะบาง แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวกับดนตรีโดยตรงเท่านั้น ใช่ไหมคะ? แต่ฉันก็แค่จดจ่ออยู่กับงานที่ต้องทำ อีกอย่าง ฉันก็อินกับดนตรีของโจนีมากทีเดียว”

ครอลถึงกับอยู่แต่ในบ้านเพื่อฟังอัลบัมของมิตเชลอย่าง For The Rose, Blue, Hissing Of Summer’s Lawn และ Heijira แล้วก็เข้าถึงการเขียนเนื้อของมิตเชลที่มีต่อสิ่งรอบตัว "ฉันจึงเข้าใจว่าโจนีเขียนเนื้อเพลงจากมุมมองของคนแคนาเดียนแถบเวสต์โคสต์จริงๆ"

แต่การฟังอัลบัม The Girl In The Other Room ยังไม่สมบูรณ์ ถ้าคุณยังไม่ได้ฟังสองเพลงท้ายอัลบัม ที่ดูเหมือนว่ามันจะเป็นสิ่งที่ทรงพลังที่สุด นั่นคือ Narrow Daylight กับ Departure Bay ซึ่งเป็นเพลงที่เธอแต่งร่วมกับคอสเตลโล

Narrow Daylight เพลงแจ๊ซจังหวะกินใจที่จะทำให้คุณล่องลอยไปกับเสียงทุ้มๆ ของครอล ความแปลกของมันก็คือความยาวของวลีที่แปลกหู ทำให้ดูเหมือนมันจะไม่สมบูรณ์นั่นเอง เนื้อร้องท่อนตรงกลางจะทำให้ความโศกเศร้าของคุณอันตรธานไปในบัดดล Although deep down I wished it would rain,Washing away all the sadness and tears,That will never fall so heavily again.

แต่ขณะเดียวกันก็ซ่อนไว้ด้วยความหม่นเศร้า เข้ากับเสียงร้องของครอล Narrow daylight entered my room.Shining hours were brief. Winter is over. Summer is near. Are we stronger than we believe?

Departure Boy คือเพลงปิดท้ายอัลบัม เป็นเพลงบัลลาดที่เอ่ยถึงท่าเทียบเรือเฟอรีที่นาเนโม บ้านเกิดของครอล ที่ซึ่งเธอกระโดดโลดเต้นเล่นตามประสาเด็กอยู่บนเนินหิน ได้ยินเสียงเรือยนต์ไกลๆ และเป็นที่ซึ่งเธอเติบโตมาเพื่อรอวันก้าวเข้าสู่โลกอันกว้างใหญ่ แล้วตอนนี้ล่ะ? เธอบอกว่า I just get home and then I leave again. It’s a long ago and far away.Now we’re skimming stones and exchanging rings, and scattering and sailing from Departure Bay แต่แล้วเนื้อเพลงก็กระหวัดเข้าสู่เรื่องราวของแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว Last year we were laughing, we sang in church beautifully. Now her perfume’s on the bathroom counter. And I’m sitting in the back pew crying.

“ฉันใส่ความรู้สึกทุกอย่างอย่างซื่อตรง นั่นอาจจะเป็นเหตุที่ทำให้ต้องวางทุกอย่างออกห่างตัวเองเมื่อก่อนนี้ ฉันโชคดีมากที่ได้มีโอกาสแบบนี้ ได้ถ่ายทอดอารมณ์ ได้เป็นศิลปิน”

มันอาจจะเป็นการปิดอัลบัมที่ค่อนข้างจะหดหู่ไปสักหน่อย หากว่ามันไม่ได้มี I’m Coming Through แทรกเข้ามา Department Bay ซึ่งก็เป็นผลงานการเขียนของทั้งคู่อีกเหมือนกัน Only the love you gave to me will save me, I think she knew. วิลสันได้โชว์ฝีมือกีตาร์ของเขาอีกคำรบอย่างโดดเด่นในเพลงนี้

ครอลยังย้ำอยู่เสมอๆ ว่าเธออายุเข้า 39 ปีแล้ว และคงไม่แปลกอะไรหากหญิงสาวที่เริ่มต้นที่จะมีครอบครัวจะพูดอย่างเธอ “อะไรๆ มันก็เปลี่ยนไปแล้ว งานฉันมันรัดตัวมากคุณก็เห็น แต่ฉันยังต้องแบ่งเวลาให้ครอบครัวด้วย ทั้งสามีของฉัน พ่อแล้วก็พี่สาว ทุกคนสำคัญสำหรับฉันทั้งนั้น

“ฉันยังคงเสาะหาตัวตนของตัวเอง สิ่งสำคัญที่ฉันรำลึกอยู่เสมอคือฉันจะไม่มีวันสูญเสียดวงตาแห่งดนตรี ฉันมีความสุขมากตอนนี้ในชีวิตส่วนตัว พอใจที่อัลบัมนี้ฉันไม่ได้ทำเพื่อใครเลยนอกจากตัวเอง ไม่ได้พิสูจน์อะไรให้ใครเห็นทั้งสิ้น รวมทั้งไม่ได้พยายามจะป่าวประกาศด้วยว่า “ฉันเป็นนักเขียนเพลง” สิ่งที่ฉันต้องการคือ “อิสรภาพ” ที่จะได้ทำอย่างที่ฉันต้องการ”

Diana Krall / The Girl In The Other Room (Verve Records)



ดูแลการผลิตโดย ทอมมี ลิพูมา และ ไดแอนา ครอล
บันทึกและผสมเสียงโดย อัล ชมิดต์
ไดแอนา ครอล – ร้องและเปียโน
แอนโธนีวิลสัน – กีตาร์
นีล ลาร์เสน – แฮมมอนด์ บี 3
คริสเตียน แม็คไบรด์ – เบส
จอห์น เคลย์ตัน – เบส
ปีเตอร์ เออร์สกีน – กลอง
เจฟ แฮมิลตัน – กลอง
แทร์รี ลีน แคร์ริงตัน – กลอง




 

Create Date : 28 กันยายน 2548
7 comments
Last Update : 28 กันยายน 2548 15:52:09 น.
Counter : 1714 Pageviews.

 

พออ่านอีกทีก็ชอบบทความนี้แฮะ ทำการบ้านเยอะเหมือนกัน เหนื่อย

 

โดย: nunaggie (nunaggie ) 28 กันยายน 2548 15:57:50 น.  

 

 

โดย: เด็กชายก้อง 28 กันยายน 2548 23:45:19 น.  

 

ชอบการเล่นเปียโนอันดุดันของเธอในหลายๆเพลงของชุดนี้ แต่ในแง่ commercial มันอาจจะเป็นแนวทางที่ไม่เวิร์คเท่าไหร่ งานของเธอที่ผมชอบที่สุดก็ยังคงเป็น Love Scenes ครับ

 

โดย: winston 2 ตุลาคม 2548 8:39:31 น.  

 

ผมฟังเพลงของครอลล์บ้างอ่ะครับ แต่ชอบน้ำเสียงของนักร้องหญิงคนอื่นมากกว่าอ่ะครับ ผมว่าเสียงเธอเย็นชา ทุ้มๆ พอฟังหลายๆเพลงไปก็จะเริ่มกรสับกระส่ายอ่ะครับ แหะๆ แต่ชอบเธอหลายๆเพลงอ่ะครับ

อ่อ พาลไปชอบงานของสามีเธอ นายคอสเตลดลด้วย ชุด North อ่ะครับ สุดๆ ชอบ

 

โดย: ข้าวตู IP: 203.113.0.193 6 ตุลาคม 2548 12:56:14 น.  

 

อ่านยังไม่จบครับ ชักจะเริ่มสนใจซะแล้วซิ แต่วันนี้ไม่ไหวจริงๆครับ ปวดตา แต่สัญญาว่าจะหลับมาอ่านจนจบครับ ชอบ Blog นี้จัง

 

โดย: กังซี IP: 61.91.137.78 18 ตุลาคม 2548 17:37:00 น.  

 

โอวววววว
ผมฟังเพลงของเธอมาเป็นปีแบบไม่ได้ติดตามครับ
มีแค่ All for you + Love scenes

ยังคิดอยู่ว่าคงเป็นสาวแก่เสียงนุ่มคนนึงก็เท่านั้น ไม่คิดว่าสวยขนาดนี้ และเก่งขนาดนี้

สงสัยต้องไปหา DVD concert มาดูซะแล้ว
ความจริงผมชอบฟังเพลงแบบนี้มากๆเลยครับ แต่ไม่ได้รู้จัก Jazz เท่าไหร่ แบบว่าฟังไปเรื่อย . . . เข้าใจว่าแนวนี้เรียก Vocal Jazz (หรือเปล่า ?)

อ่านแล้วได้ความรู้เยอะดีครับ ได้รู้จักเธอมากขึ้นเยอะเลย

Thx


 

โดย: v74 20 ตุลาคม 2548 10:20:20 น.  

 

ขอบคุณมาก สำหรับประวัติของ ครอล ค่ะ
ชอบ ครอลมาก..จาก when i look in your eyes
และ steping out

ชุดล่าสุด ออกมาใหม่ๆ ค่อนข้างผิดหวังอย่างแรง
แต่ฟังๆไปก้อ โอเค ขึ้นค่ะ
ชอบที่สุด ในอัลบั้มนี้ ก้อ
Narrow Daylight

 

โดย: vodca IP: 58.136.19.10 2 พฤศจิกายน 2548 15:21:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.