"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
23 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 

Six Forgotten Beats

เขียนโดย จอห์น แม็กโดนัฟ

Gene Krupa & Buddy Rich Drum Battle





ถึงแม้ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่สังคมส่วนรวมไม่ใคร่จะให้ความสนใจเท่าที่ควร หากแต่มือกลองยุคบุกเบิกอย่าง ชิก เว็บ, โจ โจนส์, จีน ครูปา, ซิด แคตเล็ต, ซันนี เกรียร์ และเดฟ ทัฟ ยังคงควงไม้กลองส่งอิทธิพลต่อโลกดนตรีแจ๊สอย่างเด่นชัด

เมื่อสองปีก่อนผมได้เล่มเกมเชาว์ปัญญาความรู้ทั่วไปกับคนในครอบครัว มีคำตอบของคำถามอยู่หนึ่งคำถาม นั่นคือ Bing Crosby ซึ่งมีคนชิงตอบขึ้นมา แต่ทันใดสาวน้อยปัญญาชนวัยใส อายุยี่สิบต้นๆ ก็ทำหน้างุนงง

“ใครคือ บิง ครอสบีคะ?” เธองึมงำ สิ่งที่ตามมาคืออาการอ้าปากค้าง เหตุการณ์นี้ทำให้ย้อนกลับมาคิดถึงเหตุการณ์แวดวงดนตรีที่อยู่ในประสาทรับ รู้ของคนส่วนมาก

ยิ่งประวัติศาสตร์แจ๊สยาวนานมากเท่าไร คำถามเหล่านี้ก็ยิ่งสำคัญ เพราะว่าสังกัดเพลงก็หดตัวลง และผลงานรีอิชชูดีๆ ก็หาได้ยาก คำถามนี้ก็จะยิ่งสำคัญมากขึ้นอีก เคยมีบรรณาธิการของหนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกมาถามผม ว่า “ใครคือแฮรี เจมส์?” ในบทความที่ผมเขียนขึ้น คุณว่าผมควรจะอึ้งดีไหมครับ? แล้วผมก็มานั่งสงสัยอีกว่า ระหว่างแฮรี เจมส์กับบิง ครอสบี ใครควรจะถูกลืมมากกว่ากัน?

แค็ตตาล็อกเพลงที่มากมายมหาศาลของวัฒนธรรมป็อป ไม่ว่าจะเป็นหนัง, เพลง, วรรณกรรม, โทรทัศน์ และละครเวที ได้สถาปนาคำศัพท์ในประสบการณ์ร่วมที่เราใช้สื่อสารกัน มันคือวิธีการที่คนรุ่นหนึ่งจะสื่อสารผ่านสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เราได้พบเห็นอยู่เป็นประจำในการสนทนาและสื่อ




คนที่ฟังแจ๊สด้วยเจตนาที่จะแสดงทัศนะให้เข้าใกล้กับคำศัพท์ที่เพิ่งกล่าวไป ย่อหน้าบน ก็ได้เปลี่ยนชื่อนักดนตรีที่มันก็เหมาะสมอยู่แล้ว ให้กลายมาเป็นสมญาอะไรบางอย่างที่มันสะดวกต่อการแยะแยะประเภท เราอาจจะบรรยายซาวด์ของนักแซ็กโซโฟนหนุ่มหน้าใหม่สักคนด้วยคำว่า “Websterish” สำเนียงอัลโตแบบ “Hodges-like” หรือเฟรสซิงแบบ “Parker-esque” หรือ “Tatum-esque” ซึ่งเราก็คิดไปเองอย่างไม่รู้เดียงสาว่า แฟนนักอ่านรุ่นเยาว์ของนิตยสารดนตรีแจ๊สก็น่าจะเข้าใจและรับรู้ว่า นักเขียนต้องการจะสื่อถึงซาวด์แบบเบน เว็บสเตอร์, จอห์นนี ฮอดเจส, ชาร์ลี พาร์เกอร์ หรืออาร์ต ตาตัม นักดนตรีโซโลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสำเนียงอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่เพียงแค่เล่นด้วยซิกเนเจอร์ที่แม่นยำอย่างชัดเจนเท่านั้น แต่พวกเขายังเป็นหัวหอกในการค้นพบหลากหลายแนวทางการเล่น อันนำไปสู่สไตล์ดนตรีของรุ่นถัดมา

นอกจากนั้น พวกเขายังเล่นกับจังหวะของมือกลอง ที่ก็มีซิกเนเจอร์ที่มีทั้งความแม่นยำและชัดเจน ทั้งยังแพร่หลายออกไปมากกว่าเดิม การเฟรสซิงของนักโซโลกับการสลักเวลาของมือกลองเป็นสิ่งที่มาควบคู่กัน เหมือนกับนักว่ายน้ำที่เคลื่อนที่ไปพร้อมกันกับน้ำทะเล

ในโพลดาวน์บีต ฮอลออฟเฟมจนถึงปี 2008 มีมือกลองเพียงแค่เก้าคนเท่านั้นที่หลุดรอดเข้ามา เมื่อเปรียบเทียบกับนักทรัมเป็ต 16 คน นักเปียโน 25 คน และนักเป่าอีก 30 คน มือกลองหกคนจากทั้งหมดเก้าคน ยังคงอยู่ในความทรงจำของแฟนเพลงรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันอยู่บ้าง ด้วยอานิสงส์ที่เป็นรากฐานของดนตรีแจ๊สบางสาขาที่ยังคงร่วมสมัยอยู่ คาดว่าน่าจะมีชื่อของแม็กซ์ โรช, อาร์ต เบลกกี, โทนี วิลเลียมส์, เอลวิน โจนส์ และตำนานที่ยังมีลมหายใจอยู่… รอย เฮย์นส สำหรับบัดดี ริช ซึ่งเป็นผู้นำวงบิ๊กแบนด์ร่วมสมัยในตอนนั้นจนกระทั่งปี 1987 ที่เขาเสียชีวิต และยังคงดำรงไว้ซึ่งตำนานอันโด่งดังในแวดวงแจ๊ส ทั้งยังน่าจะเป็นมือกลองแจ๊สที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกด้วย ดูเหมือนว่าหกคนนี้จะยังคงอยู่ห่างจากคำว่า “ปล่อยปละละเลย” ไปอีกหลายขุม

ถึงแม้มันอาจจะน่าพิศวงในตอนแรกเลย และที่สำคัญมือกลองคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์แจ๊ส ที่นักฟังรุ่นใหม่ๆ น้อยคนเหลือเกินจะรู้จักเขา… จีน ครูปา ทำไมมือกลองที่ครองตำแหน่งนักตีชื่อดังคนสำคัญของดนตรีแจ๊สมานานกว่าสามสิบ ปี ถึงได้เลือนหายไปได้อย่างฉับพลัน? และทำไมเหล่านักวิจารณ์ ผู้ซึ่งเป็นคนโหวตฮอลออฟเฟม ถึงได้ไม่มีเยื่อใยให้กับเหล่ามือกลองที่ได้เปลี่ยนช่วงเวลาที่ล่วงเลยให้ กลายเป็นงานศิลปะ ในช่วงก่อนปี 1945?

เคนนี วอชิงตัน มือกลองคนหนึ่งกล่าวว่า “ปัญหาก็คือ ถ้าคุณไปฟังงานของเอลวิน โจนส์ก่อน ก็มีปัญหาแล้วครับ เพราะเอลวินนั้นต้นตำรับเลย แต่เบื้องหลังของต้นตำรับนั่นน่ะก็มีเงาของมือกลองแจ๊สดั้งเดิมอยู่ครับ ถ้าคุณไปคุยกับเขาเรื่องซันนี เกรียร์ เขาก็สามารถจะฝอยรายละเอียดนิดๆ หน่อยๆ ได้ครึ่งค่อนชั่วโมง แต่คนรุ่นใหม่ส่วนมากจะติดกับความสนเท่ห์ของจอห์น โคลเทรน และไมล์ส เดวิส แล้วพวกเขาก็ไปไม่ได้ไกลกว่านั้นครับ การพยายามเล่นในแบบเอลวิน โจนส์คือสิ่งที่แย่ที่สุดที่คุณสามารถทำได้เลยล่ะครับ ถ้าคุณไม่ยอมฟังว่าใครคือต้นฉบับดั้งเดิมของเขา”





ความเป็นจริงที่โหดร้ายกว่านั้นก็คือ โชคชะตาของมือกลองต่างต้องอิงอยู่กับนักดนตรีรอบตัว ถ้าเกิดว่าไม่มีใครฟังเคาน์ต เบซี, เบนนี กูดแมน, โคลแมน ฮอว์กินส์, ทอมมี ดอร์ซีย์, รอย เอลดริดจ์ หรือเลสเตอร์ ยัง ก็ไม่มีใครได้ฟังฝีมือของมือกลองเบื้องหลังเหล่านี้เหมือนกัน พวกเขาเหมือนถูกลอยแพในหน้าประวัติศาสตร์หลังๆ นี้ ในวัฒนธรรมของความทรงจำที่พาดผ่านพรมแดนของความคนึงหา ณ ที่ซึ่งผู้รู้เพิ่มจำนวนมากกว่าผู้เห็น

“นักเรียนระดับปริญญาตรีต่างก็คิดทั้งนั้นว่า มันเริ่มต้นจากเดฟ เวกค์ล, สตีฟ แก็ด หรือ ปีเตอร์ เอิร์สกีน” เลส เดอเมอร์ล มือกลองที่เล่นกับแฮรี เจมส์ในช่วงยุค 70-80 กล่าวไว้ “แต่เมื่อเด็กๆ เหล่านั้นได้ยินเดฟ, สตีฟ หรือปีเตอร์พูดถึงเจ้าพ่ออย่างบัดดี ริช และโจ โจนส์ พวกเขาก็จะลองไปเสาะหาดู เด็กๆ จะได้รู้เรื่องราวเหล่านี้จากคนที่พวกเขานับถือ ผมถึงได้คอยบอกเล่าประวัติศาสตร์เหล่านั้นให้กับนักเรียนของผม พร้อมกับเรื่องราวเหล่ามือกลองทรงคุณค่า ก่อนที่พวกเขาจะอายุครบ 20 กัน ผมก็เคยสงสัยเรื่องชิก เว็บ ตอนที่จีน ครูปากับบัดดี ริชพูดถึงตอนผมยังเด็กๆ”

จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าผลงานของบรรดามือกลองเหล่านี้หายไป หรือว่าตกยุค แต่ตรงกันข้าม ในบางกรณี ผลงานเหล่านั้นได้ซึมซับเข้าสู่งานดนตรีรุ่นใหม่ๆ ซึ่งบ่อยครั้งต้นตำรับถูกปล่อยทิ้งไว้เบื้องหลัง จีน ครูปาเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน Sing, Sing, Sing ผลงานเพลงระดับห้าดาวของเขายังคงมีชีวิตชีวาและถูกนำมาใช้ตลอดในหนังร่วม สมัย, รายการโทรทัศน์ และโฆษณาเชิงพาณิชย์

ในการศึกษาแจ๊สดูเหมือนจะไม่สามาถถ่ายทอดประวัติศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิผล เคนนี วอชิงตันบอกว่า “ครูสอนมีอะไรต้องทำเยอะแยะในหลายๆ ปีที่ผ่านมา เพราะว่าไม่มีใครพูดว่า “พวกคุณต้องรู้เรื่องพวกนี้นะ ไม่งั้นคุณสอบตก” ครูจำนวนมากไม่รู้เรื่อง แต่ในชั้นเรียนของผม ถ้าเด็กๆ ไม่มีงานของโจ โจนส์ละก็ พวกเขาก็สอบตก มันเป็นสิ่งที่ต้องมีครับ”

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ลองไปสอบถามสมาชิกวงดนตรีระดับหัวแถวในโรงเรียนมัธยมปลาย ว่ารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับจีน ครูปา, ซิด แค็ตเล็ต, ซันนี เกรียร์, โจ โจนส์, เดฟ ทัฟ หรือชิก เว็บ มีคนหนึ่งบอกว่า “เหมือนเคยฟัง” จีน ครูปา “นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมแปลกใจเลย ผมสอนระดับวิทยาลัย ก็เจอเรื่องแบบนี้เหมือนกัน พวกเขาอาจจะรู้จักจีน ครูปา แต่เคยฟังเพลงของจีนหรือเปล่า? ไม่เลย คุณไม่สามารถจะให้พวกเขาเล่นห้าหรือเจ็ด สโตรก โรล และเรียนรู้ทฤษฎีพื้นฐาน 26 ข้อของการตีกลอง”





รอย เฮนย์สเองก็ไม่ประหลาดใจ “ไม่มีอีกแล้วครับ” เขาว่าอย่างนั้น “อาจจะเพราะว่ามันนานเกินไป แต่ก็คงไม่นานไปกว่านั้น ผมรักมือกลองพวกนั้นนะ แล้วผมรู้จักหมดทุกคน ยกเว้นชิก เว็บ พวกนั้นสุดยอดทุกคนครับ”

เคร็ก เฮย์นส ลูกชายของรอย เดินเข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย ก็เสริมว่า “ผมว่าน่าแปลกใจกว่าอีกนะ ที่เห็นเด็กๆ รุ่นใหม่รู้จักมือกลองพวกนั้น”

ชิโก แฮมิลตันยังพูดถึงเรื่องที่แย่ไปกว่านั้นอีก “เด็กผิวสีโดยเฉลี่ยแล้ว ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า ดุก เอลลิงตันคือใคร ไม่รู้ว่าเคาน์ต เบซีคือใคร ในขณะที่เด็กผิวขาวยังรู้จัก แต่เด็กผิวสีไม่รู้เรื่องเลย เพราะว่าพวกเขาไม่เล่นและไม่ฟังแจ๊สอีกต่อไปแล้ว แล้วพวกเขาจะรู้จักมือกลองแจ๊สได้ยังไง?”

เรามาว่ากันต่อในเรื่องที่ว่า ทำไมมือกลองหกคนนี้ถึงสมควรจะได้รับการระลึกถึงมากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้? เริ่มด้วยเหตุผลแรก เพราะพวกเขาล้วนแต่เป็นบุคคลแรกๆ ที่ได้กระตุ้นกระแสมือกลองแจ๊สให้ตื่นขึ้นมาจากหลับใหล ทั้งหกคนนี้เหมือนแบกเอากลองออกมาตั้งอยู่ข้างหน้า ใส่วิญญาณและสลักเสลาลวดลายในบทเพลง พร้อมกับขับเคลื่อนมันไปสู่หลากหนทางที่ไม่อาจจินตนาการ มือกลองยุคนิว ออร์ลีนส์ในช่วงแรกๆ ก็มีความสำคัญเหมือนกัน แต่เนื่องจากว่าแผ่นเสียงในยุคทศวรรษที่ 20 มือกลองยังคงเป็นเหมือนมีหน้าที่เป็นตัวประกอบวงดนตรีมากกว่าจะเป็นตัวเด่น ไม่เหมือนมือแบนโจหรือทิวบา และแล้ววันเวลาของเหล่ามือกลองก็มาถึงในช่วงยุค 30 เมื่อภาคริธึมเริ่มที่จะออกมาหายใจหายคอ
แบบออกหน้าออกตาได้บ้าง และเทคโนโลยีการบันทึกเสียงก็เริ่มก้าวหน้าขึ้น

มือกลองทั้งหกคนนี้ต่างก็ได้สั่งสมชื่อเสียงก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่สอง กับวงบิ๊กแบนด์ แต่ละคนมีบุคลิกและซาวด์เด่นมากพอที่จะแยกตัวเองออกมาจากมือกลองธรรมดาๆ

ในวันนี้ เมื่อมีการเอ่ยถึงชิก เว็บ (1902-1939) เหมือนการเอ่ยถึงแขนขาของเอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ ซึ่งชิกเป็นคนค้นพบเพชรเม็ดงามเม็ดนี้เมื่อปี 1935 และเอลลาก็มีชื่อเสียงท่วมท้นเสียจนกลืนกินทั้งชิกและวงทั้งวงหายไป หากแต่ในช่วงแรกของยุคสวิง ชิกปรียบเสมือนพระเจ้าของมือกลองหน้าใหม่ๆ ทุกคน เพราะว่าตอนนั้นเขาเป็นมือกลองคนเดียวที่เป็นหัวหน้าวงออร์เคสตรา อย่างน้อยก็จนกระทั่งจีน ครูปาออกจากวงของเบนนี กูดแมนไปในปี 1938 ชิกได้ดึงเอากลองเข้ามาสู่ความสนใจของคนฟัง และทำให้มันเปล่งประกายเจิดจรัสอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน





“เขาได้วางแบบพิมพ์เขียวเอาไว้ให้กับกลองแจ๊สในวงบิ๊กแบนด์” เคนนีพูดไว้

ด้วยมาตรฐานแห่งกาลเวลา เขาคือมือกลองโซโลแจ๊สอาชีพคนแรก ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เคยได้บันทึกแผ่นเสียงในนามของตัวเอง ชิกหลังค่อมเนื่องจากอาการเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง การเล่นของเขารวมเอาไว้ด้วยความแม่นยำ, จังหวะเป๊ะ และความเร็วที่เร้าอารมณ์ บนเวทีที่ซาวอย เล่าลือกันว่าเหล่าคนดูต่างตกอยู่ใต้มนต์สะกดของเขาทั้งสิ้น เป็นที่อิจฉาต่อเพื่อนๆ มือกลองด้วยกันเป็นอย่างยิ่ง อนิจจา วันเวลาและบุคคลในห้วงเวลานั้นต่างก็สิ้นลมหายใจกันไปหมดแล้ว ณ ตอนนี้

เมื่อเอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ได้รับความนิยม ทางก็เริ่มกลายมาเป็นตัวประกอบให้กับเธออย่างทวีคูณ แต่งานที่ยังคงอยู่เพียงหยิบมือเดียวภายใต้สังกัดเด็กกา อย่างเช่น Liza, Clap Hands, Here Comes Charlie และ Harlem Congo และอีกสองเซสชันที่บันทึกในปี 1936 และ 1939 ก็เป็นการให้สื่อให้เห็นถึงการแหวกแนวของมือกลองที่ไม่ได้นั่งอยู่แต่ เก้าอี้หลังวง และเล่นซาวด์ที่แตกต่างไปจากนักโซโลคนอื่นๆ

นอกเหนือไปจากชิก เว็บแล้ว ก็ต้องเอ่ยถึงจีน ครูปา (1908-1973) ผู้ซึ่งมีลีลาการตีและจังหวะกระเดื่องที่นิยมในสไตล์เก่าๆ (อย่างเช่นของซัตตี ซิงเกิลตัน) แต่ก็เพรียวลมมากพอที่จะเตะคิกออฟให้กับวงของเบนนี กูดแมนได้บรรลุสู่ความสำเร็จในปี 1935-36 ถ้าชิก เว็บเป็นมือกลองของเหล่านักดนตรี จีน ครูปาก็ต้องเป็นมือกลองของคนทั่วโลก เขามีเทคนิกประกอบกับพรสวรรค์ที่ทำให้ย่างเท้าเข้าสู่ความเป็นดาวได้

“เขามีความเข้าใจว่ามือกลองจะต้องขับเคลื่อนอยู่เสมอ” เดอเมอร์ลกล่าว “และสายตาต้องจับจ้องอยู่ที่จังหวะ”

และเขาก็ได้เอาข้อได้เปรียบข้อนั้นในการสร้างจังหวะสื่ออกมาเป็นเสียงที่ตรา ตรึง เสียงกลองของเขากลายมาเป็นมนต์สะกดในจังหวะเต้นรำที่ลอยละล่อง เมื่อวงดนตรีของเบนนีไปที่ฮอลลีวู้ด กล้องต่างก็จับอยู่ที่พลังดึงดูดจากจีน ครูปามากกว่าความสงบเสงี่ยมนิ่งๆ ในแบบเบนนีเสียอีก เคนนี วอชิงตันบอกว่า “แต่ว่าอย่า เข้าใจผิด เขาคนนี้เล่นได้จริงๆ”

รอย เฮย์นส แฟนเพลงเก่าแก่เพิ่มเติมว่า “เขารู้ว่าต้องปรับเสียงเซ็ตกลองของเขายังไง เขามีซาวด์ของตัวเองจริงๆ”

ก่อนจะหมดยุค 30 จีนได้เริ่มวงบิ๊กแบนด์ของตัวเอง เขาเป็นมือกลองที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก และเป็นแม็กทริกซ์แห่งความโด่งดังของบัดดี ริช เขาคงจะกู้เอาชื่อเสียงของเขาคืนมากับงานที่ประณีตบรรจงมากกว่านั้น เริ่มต้นด้วยงานที่ค่อนข้างจะไม่พิถีพิถันอย่าง Sing, Sing, Sing ซึ่งนิตยสารดาวน์บีตได้ทำนายเอาไว้ในเดือนตุลาคม 1937ว่า “จะเป็นเพลงที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์”




ซันนี เกรียร์ (1895-1982) ได้นำเอาการเล่นกลองในวงบิ๊กแบนด์ไปสู่หนทางที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะสามารถเติบโตเจริญงอกงามได้ในวงของดุก เอลลิงตันได้เท่านั้น “ผมรักซันนี” รอย เฮย์นสเอ่ย “ผมได้สนิทกับซันนีมากขึ้นตอนผมอายุหกสิบกว่า”

แต่ชิโก แฮมิลตันไม่ได้รอนานขนาดนั้น “ซันนีเป็นมือกลองคนแรกที่ผมได้เห็น แม่พาผมไปที่โรงหนังพาราเมาน์ตในแอลเอตอนอายุ 8 ขวบ ทุกอย่างที่เขาสัมผัสกลับกลายมาเป็นดนตรีไปหมด”

ซันนีเป็นเหมือนศิลปินมากกว่าจะเป็นมืออาชีพในเครื่องดนตรีของเขา สัญชาตญาณแห่งสีสัน, ลวดลาย และศิลปะพอเหมาะพอเจาะกับวงดนตรีของดุก เอลลิงตันในช่วงวงจังเกิลยุคแรกๆ และในตอนท้ายๆ เขาได้หันมาสนใจดนตรีในตะวันออกกลาง ซันนีคงจะเป็นมือกลองคนเดียวที่มักจะไปไหนมาไหนพร้อมด้วยเซ็ตกลองทิมปา นีและเพอร์คัสชันของตัวเอง

“ซันนีเป็นนักเพอร์คัสชันมากกว่าจะเป็นมือกลอง” เดอเมอร์ลว่าไว้ ตรงกับความเห็นของชิโกที่กล่าวว่า ซันนีเป็นเหมือนมือเพอร์คัสชันคนแรกในแวดวงแจ๊ส

ซันนีเติบโตเป็นเส้นขนานกับดุก เอลลิงตัน ดังนั้นในช่วงต้นยุค 40 เขาได้ผลิตงานที่รุ่มรวยที่สุดในสไตล์และมุมมองที่ยังไม่เคยมีใครเล่นมาก่อน และบางทีอาจจะไม่มีใครทำได้ ไม่มีการโยกย้ายครั้งใดในวงของดุกที่จะสั่นคลอนมากเท่ากับการออกไปของซันนี ในปี 1951 ซึ่งก็ได้ลุยส์ เบลสันมาทดแทน

“มือกลองหลายคนพยายามจะเลียนแบบสไตล์ที่รุ่งโรจน์ของซันนี” ชิโกเล่า

กระทั่งในวันนี้ อิทธิพลการเล่นของเขาก็ยังส่งผลถึงเพลงในยุคปัจจุบัน ไม่มีอาณาจักรดนตรีของซันนี อาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่เคยไปเล่นที่ไหน นอกเสียจากวงของดุก เอลลิงตัน เขาเป็นนักดนตรีประหลาดๆ ที่ไม่อาจถูกลืมได้แน่นอน หนึ่งกลองชุดของซันนีที่ขึ้นชื่อมากได้ถูกโชว์ที่ Vintage and Custom Drums ของสตีฟ แม็กซ์เวลในชิคาโก สตีฟตอบปฏิเสธข้อเสนอมากมายที่มาขอซื้อ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ข้อเสนออันหอมหวลพร้อมด้วยราคาเกิน $25,000 ทำให้กลองชุดของซันนี เกรียร์ได้ที่อยู่ใหม่ในบ้านของชาร์ลี วัตต์สเป็นที่เรียบร้อย

หากว่าซันนีเป็นคนประหลาดที่มีลักษณะเฉพาะ โจ โจนส์ (1911-1985) ก็เป็นคนที่กว้างไกลด้วยวิสัยทัศน์ ผู้ซึ่งให้พลวัตรที่อุดมด้วยประสทิธิภาพแก่วงของเคาน์ต เบซี อันช่วยในการเปลี่ยนแปลงกฏพื้นฐานของการเคลื่อนไหวในวงการแจ๊ส “เขาเป็นครูของผม” ชิโกบอกไว้

ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการเล่นกลองเบสไปสู่ไฮแฮต (ในขณะที่กีตาร์และเบสยังคงเป็นภาคริธึมบางๆ) บีตของโจมีจังหวะยกและความยืดหยุ่นที่ดูเหมือนจะล่องลอยสู่อากาศ จังหวะกล่อมเกลี้ยงที่ไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนวงดนตรีมากนัก กลับกลายมาเป็นสิ่งที่หุ้มห่อความนุ่มละมุนลื่นไหลของเสียงเทเนอร์แซ็กโซโฟน จากเลสเตอร์ ยัง โจ โจนส์เป็นองค์สำคัญของความทันสมัยในยุคของคุณภาพ เขาทำมาหมดทุกอย่างด้วยจังหวะเต้นรำเป็นส่วนน้อย และการควบคุมสมดุลย์เป็นส่วนมาก มือกลองแจ๊สในยุคก่อนสงครามโลกต่างก็พยายามเลียนแบบการตีไฮแฮตที่โปร่งเบา ของโจ แต่น้อยคนนักที่จะทำได้ถึง

มือกลองยุคก่อนสงครามโลกส่วนมากเบ่งบานเมื่อได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ลงตัว เพียงครั้งเดียว หากแต่เดฟ ทัฟ (1908-1948) กลับทำได้ถึงสองครั้ง มันยากที่จะจินตนาการใครสักคนที่จะเล่นอยู่ในวงสองซึ่งแตกต่างกัน อย่างวงคล้ายดิกซีของทอมมี ดอร์ซีย์ ในช่วงกลางยุค 30 กับวงของวู้ดดี เฮอร์แมน ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นบีบ็อปในช่วงกลางยุค 40 หรือไม่เช่นนั้นมือกลองคนนั้นก็คงเป็นส่วนสำคัญของแต่ละวง “เขาเล่นในแบบที่หัวหน้าวงอยากให้เล่น” ชิโกให้ความเห็น

“มือกลองที่เล่นรัวจะเล่นอยู่บนบีตของเพลง” เดอเมอร์ลกล่าว “เดฟไม่ได้เล่นรัวมากมายนัก แต่เขาเล่นตามบีตแบบเมล ลูวิส และเกรดี เทตได้ พวกเขาเล่นอยู่ภายใต้วงดนตรี นั่นคือศิลปะครับ”





คนสุดท้าย ซิด แคตเล็ต (1910-1951) มือกลองเอนกประสงค์ที่สุด แต่อาจจะเป็นที่รู้จักและจดจำน้อยที่สุดในบรรดาหกคนนี้ก็เป็นได้ ในเส้นทางอาชีพของเขา เล่นจากวงของซิดนีย์ เบเชต์ ไปสู่ชาร์ลี พาร์เกอร์ แต่เขากลับจบลงที่ความเอนกประสงค์ของตัวเอง ซิดเป็นมือกลองนักกิจกรรม บ่อยครั้งที่เขากระด้างกระเดื่อง แต่ก็ไม่เคยทำตัวไม่เหมาะสม เขาสามารถจะตีเฟรสที่จับใจได้ด้วยการตีขอบแบบสบายๆ หรือใช้ฝีแปรง และสร้างประกายแวววาวให้กับมันได้ แต่เขาเล่นหลากหลายสไตล์มากจนเกินไป จนกระทั่งต้องยอมจำนนต่อหน้าประวัติศาสตร์ ปลาอยให้มันดำเนินไปสู่ความเป็นอมตะด้วยตัวของมันเอง โดยที่ไม่ต้องเร่งรัดหรือสร้างมันให้มาก วิตนีย์ เบลเลียต นักวิจารณ์ผู้ทรงอิทธิพลต่อสื่อมีส่วนทำให้คงชื่อของซิดอยู่มากในตอนนั้น แต่ตอนนี้เราคงต้องหาซิด แคตเล็ตด้วยตัวเอง เขาได้ทิ้งรอยจารึกอันยิ่งใหญ่ไว้กับวงของเบนนี กูดแมนในปี 1941 และวงเล็กๆ อีกมากมายตลอดยุค 40

“เขาเป็นคนที่ตัวใหญ่มาก” ชิโกเล่าความหลัง “แต่เขามีฝีกลองที่แผ่วเบามากที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมาเลย”

รอย เฮย์นสกับเดอเมอร์ลได้ให้ข้อสังเกตไว้เหมือนๆ กันคือ เอสไควร์คอนเสิร์ตที่จัดในปี 1944 ปรากฏชัดถึงอิทธิพลที่เขาได้ทิ้งไว้ และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีการค้นพบการแสดงที่ทาวน์ ฮอล เล่นกับชาร์ลี พาร์เกอร์และดิซซี กิลเลสปี อกกจำหน่ายโดยอัพทาวน์ เร็คคอร์ดส ในปี 2005 “เขาเล่นได้แผ่นเบายิ่งกว่าแม็กซ์ เสียอีก” เคนนีบอก

สิ่งที่น่าพิศวงก็คือ ความโดดเด่นของที่มันมีพอๆ กันของเขาจากผลงานคอนเสิร์ต Symphony Hall ในปี 1947 กับ Town Hall ที่เล่นในวงของหลุยส์ อาร์มสตรอง แนวคิดเรื่อง “ยุคแรก” กับ “สมัยใหม่” กลายมาเป็นความไม่สัมพันธ์กันในวงบิ๊กแบนด์ของเขาเอง

ยังคงมี มือกลองอีกหลายคนที่ถูกหลงลืม อาทิ เบบี ด็อดส์, ซัตตี ซิงเกิลตัน, วอลเตอร์ จอห์นสัน, เรย์ แม็กคินเลย์, โคซี โคล, เคนนี คลาร์ก, พานามา ฟรานซิส, จอร์จ เว็ตลิง, ดอน ลามอนด์, กัส จอห์นสัน, ชาโดว์ วิลสัน, เจซี เฮิร์ด, นิก ฟาทูล, เดนซิล เบสต์, เมล ลูวิส และอีกมากมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าการรำลึกถึงมือกลองทั้งหกคน จะเป็นการลืมคนอื่นๆ ที่เหลือ อะไรที่เก่าแล้ว ก็อาจจะถูกละทิ้ง แต่เมื่อละทิ้งไป มันก็รอเวลาที่จะได้กลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง บางทีอาจจะได้ฉลองในฐานะที่เป็นสิ่งที่บุกเบิกอีกครั้ง สำหรับมือกลองแล้วเป็นเรื่องของกาลเวลาเสมอ








 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2552
5 comments
Last Update : 23 พฤษภาคม 2552 11:46:01 น.
Counter : 1704 Pageviews.

 

ผมได้ชม 20th century boys ภาคสอง เรียบร้อยแล้วครับ ตอนนั้นมีโอกาสมากรุงเทพฯ ก็เลยได้ดู

บล็อกนี้เยี่ยมมากเลยคัรบ ดนตรีแจ๊ซ ผมกำลังเริ่มหัดฟังอยู่เหมือนกัน

 

โดย: I will see U in the next life. 25 พฤษภาคม 2552 9:24:04 น.  

 

 

โดย: nunaggie 26 พฤษภาคม 2552 5:51:46 น.  

 

20th century boys รู้สึกว่าเข้าแต่ที่ลิโด้อะครับ ทำไมไม่รู็เหมือนกัน

 

โดย: I will see U in the next life. 30 พฤษภาคม 2552 13:34:40 น.  

 

แวะมาหาความรู้เพิ่มเติมครับ มีเรื่องน่าสนใจตลอดเลยบล็อกนี้

 

โดย: catz2go 2 มิถุนายน 2552 21:24:01 น.  

 

แวะมาทักทายค่ะ

 

โดย: Candydolls 2 กรกฎาคม 2552 2:17:56 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.