"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
11 กุมภาพันธ์ 2550
 
All Blogs
 

‘Round Midnight เมื่อเสียงดนตรีคือสิ่งเกื้อหนุนชีวิต



มีภาพยนตร์มากมายที่ได้บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตตัวละคร เคล้าคลอไปด้วยเสียงดนตรีแจ๊สอย่างที่ได้เคยนำเสนอไปแล้วบางเรื่อง แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กน้อยเท่านั้น เพราะนอกจากนั้นแล้วนับย้อนถอยหลังกลับไป 7,300 วัน โลกแห่งภาพยนตร์ได้จดจารความงดงามแห่งดนตรีแจ๊สเอาไว้ด้วยศิลปะแห่งภาพยนตร์ในอีกเรื่องราวหนึ่ง ถึงไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องที่ได้รับอิทธิพลมาจากประวัติชีวิตของศิลปินคนใด แต่กลับมีความรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นชีวิตที่ต้องสาปของนักดนตรีหรืออย่างที่ยังต้องคอยวนเวียนอยู่กับชีวิต ความรัก ชื่อเสียงและเหล้า หรือถ้าหนักขึ้นมาอีกหน่อยก็คือยาเสพติด

แม้กระนั้นก็แทบจะตัดสินได้เลยว่ายาเสพติดกับศิลปินเป็นสิ่งที่คู่กันมาแต่ไหนแต่ไร ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าด้วยเหตุใดจะต้องเป็นอย่างนั้น จะเป้นการเห็นแก่ตัวเกินไปหรือไม่ หากว่าจะบอกว่าจงเสพและจงดื่ม หากว่ามันเป็นแรงบันดาลในการสร้างสรรค์ค์ผลงานที่เหนือคำบรรยายเหล่านั้น แต่ถ้าแรงบันดาลใจในการรังสรรค์งานดนตรีนั้นมาจากสิ่งอื่น ก็คงจะดีกว่านี้ไม่ใช่น้อย...

แบร์ทรองด์ ทาร์แวร์นิเยร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้กำกับฯที่เริ่มต้นโปรเจ็กต์นี้ แต่ใครจะรู้ล่ะว่า Round Midnight นั้นจริงๆ แล้วได้รับอิทธิพลมาจากศิลปินคนใด....

“I'm tired...of everything except the...the music”

7,300 วันผ่านมาแล้ว แต่โลกยังคงจดจำชื่อของ ‘Round Midnight จะดว้ยเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่อย่างหนึ่งก็คือมันเป็นภาพยนตร์ที่สร้างโดยชาวฝรั่งเศสที่ผลงานมาแล้วเป็นที่น่าจับตามอง, นำแสดงโดยนักเป่าแซ็กโซโฟนมือวางอันดับต้นๆ ของอเมริกา, เพลงประกอบโดยหนึ่งในนักเปียโนรุ่นใหม่ไฟแรงที่สุดเท่าที่จะมีในตอนนั้น, มีตัวประกอบภาพยนตร์รวมดาวนักดนตรีแจ๊สไว้ราวกับภาพยนตร์เรื่อง The Outsiders สมัยก่อนเลยทีเดียว

“ใช่... ผมเหนื่อยหน่ายกับทุกอย่าง ยกเว้นดนตรี”



ณ มหานครปารีส ในปี 1959 เดล เทอร์เนอร์ นักแซ็กโซโฟนรุ่นเก๋าชาวอเมริกันที่ดูเหมือนว่าจะเบื่อหน่ายกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เดลเป็นนักดนตรีอัจฉริยะที่ช่ำชองในการเป่าเทเนอร์แซ็กโซโฟน อีกทั้งยังสามารถในการเขียนเพลงอีกด้วย หากแต่ความเหนื่อยล้าจากชีวิตทำให้เดลไม่สามารถที่จะดึงเอาความสวยงามต่างๆ มาร้อยเรียงเป็นบทเพลงจากชีวิตที่เหลืออยู่ เดลเป็นหนึ่งในบรรดาสุดยอดนักดนตรี เขายังหนึ่งในหัวหอกแห่งการเปลี่ยนแปลงดนตรีแจ๊สที่ยังเคยได้ร่วมงานกับตำนานหัวก้าวหน้าอย่าง ชาร์ลี ปาร์เกอร์, ดุ๊ก เอลลิงตัน และเคาน์ต เบซี

เดล เทอร์เนอร์เป็นอีกหนึ่งอัจฉริยะที่มีชีวิตอิงแอบกับเหล้าและยาเสพติด เขาตัดสินใจที่จะผันตัวไปไปเล่นดนตรีที่ปารีส ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 60 เป็นยุคทองของแจ๊สในปารีสเลยทีเดียว เนื่องจากความเบื่อหน่ายบางอย่าง เพราะอยู่ที่นิวยอร์ก เขาบอกว่าผู้คนไม่ค่อยยอมรับการเล่นของเขา ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เหตุผลก็คือการเล่นของเขาตอนนั้นมันคือจุดเปลี่ยนของวงการแจ๊สนั่นเอง

เขาจัดการหาเพื่อนร่วมวงเพื่อที่จะไปเล่นที่บลูโน้ต คลับในปารีส คลับที่อบอวลไปด้วยคนหนุ่มสาวที่หลงใหลในดนตรีแจ๊ส สุ้มเสียงสรรพสำเนียงแห่งแจ๊ส และควันบุหรี่มี่บดบังทัศนียภาพต่างๆ ให้กลับกลายเป็นสีเทา เดลยังได้รับการปฏิบัติเหมือนคนที่ไร้ความรับผิดชอบ เนื่องจากอาการติดเหล้าของเขา ทำให้ผู้จัดการทางร้านต้องจ่ายค่าตัวของเขาผ่านทาง “บัตเตอร์คัพ” ผู้เปรียบเสมือนคนดูแลวงดนตรีวงนี้ ทำให้ฐานะทางการเงินของเดลไม่ค่อยเสถียรเท่าที่ควร เพราะว่ามักจะได้เงินอย่างไม่ต่อเนื่องเหมือนเช่นเพื่อนนักดนตรีคนอื่นๆ

นอกเหนือไปจากคอเพลงแจ๊สที่เข้ามาเสพดนตรีจากเดลในคลับแล้ว ในคืนฝนตกคืนแรกที่เขาได้เล่นที่ปารีส มีชายหนุ่มคนหนึ่งแอบฟังบทเพลงจากช่องลมด้านนอก ด้วยความที่เขารักและติดตามผลงานของเดลมาอย่างต่อเนื่อง เขารู้ว่าเดลเป็นนักดนตรีอัจฉริยะ แล้วคงไม่มีวันพลาดเมื่อรู้ว่าเดลมาเล่นที่นี่ หากแต่เขาไม่มีเงินมากนัก ประกอบกับภาระที่จะต้องเลี้ยงดูลูกสาวอีกหนึ่งคนในอพาร์ตเมนต์แคบๆ เท่าแมวดิ้นตาย ทำให้ฟรานซิส บอร์เลร์ ศิลปินภาพเขียนได้แต่สดับบทเพลงผ่านท่อลม

การมาของเดลสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับฟรานซิสเป็นอย่างมาก เขาเฝ้าแอบฟังอยู่หลายคืน จนกระทั่งสบโอกาสในคืนหนึ่งที่เขารอจนเดลออกมาจากคลับ ได้แต่ยืนด้อมๆ มองๆ จนกระทั่งเดลสังเกตเห็นจึงได้ข้ามถนนตรงเข้ามาหาเขา จากนั้นเดลจึงถามเขาว่า “เลี้ยงเบียร์ผมหน่อยได้ไหม?” ฟรานซิสแทบไม่ต้องคิดก่อนตอบ เขารีบพยักหน้า เราไม่รู้หรอกว่าเขามีเงินมากน้อยแค่ไหนในตอนนั้น ลุ้นแต่ว่าให้เขาได้รู้จักกับเดลเท่านั้นเอง จากที่เขาตกอยู่ในอาการประหม่าก็กลับกลายมาเป็นการดูแลเดลอย่างเข้าถึงในเวลาไม่นานนัก

เดลกับฟรานซิสใช้เวลาพูดคุยกันมากมายหลายเรื่อง รวมทั้งการเข้าสู่สังคมซึ่งกันและกัน เดลไปหาฟรานซิสที่บ้าน ไปเยี่ยมเบรองแชร์ ลูกสาวของฟรานซิส ไปกินข้าวเย็นด้วยกัน ส่วนฟรานซิสก็พาเบรองแชร์ไปดูเดลเล่นที่คลับ ไปนั่งรอ ทำให้ทั้งคู่ได้เรียนรู้และดูแลซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจของกันและกันอีกต่างหาก

เดลเริ่มมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นจากการดูแลของฟรานซิส จากที่เคยหายตัวไปไม่ยอมมาเล่นในบางครั้ง ต้องตามหาจนจ้าละหวั่น ก่อนที่จะพบว่าเขาเมาฟุบหลับอยู่ข้างถนน จนทำให้เจ้าของคลับและบัตเตอร์คัพปวดหัวไปตามๆ กัน หรือไม่บางทีก็เกือบจะไปมีเรื่องกับยาม จนฟรานซิสต้องพาเขาไปโรงพยาบาล นั่นคือด้านมืดของเดลที่ฟรานซิสเริ่มจะเห็น กลับกลายมาเป็นความรับผิดชอบที่เดลเริ่มมีมากขึ้น เขาสัญญากับฟรานซิสว่าจะไม่ดื่มเหล้า ถึงแม้ฟรานศิสจะไม่เชื่อในตอนแรก เขาบอกว่า “คุณไม่เคยหยุดดื่ม” แต่เดลกลับบอกว่า “ฉันไม่เคยสัญญากับใครเหมือนกัน” นั่นคือสัญญาณที่ดีที่เขากลับมาเป็นนักดนตรีมืออาชีพที่ไม่ต้องให้ใครคอยตามจิกตลอดเวลา แม้กระทั่งบัตเตอร์คัพ สุขภาพของเขาเริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เดลเริ่มจะปฏิวัติการจ่ายเงินให้กับตัวเอง โดยเรียกร้องกับเจ้าของคลับให้จ่ายโดยตรงเหมือนกับคนอื่นๆ โดยไม่ต้องผ่านบัตเตอร์คัพอีกต่อไป และนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขากลับมาเป็นผู้เป็นคนอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ต้องเที่ยวไปขอเงินจากแฟนเพลงคนแล้วคนเล่าเหมือนที่ฟรานซิสเองก็เคยเจอ นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่สุด....เดลกลับมาเขียนเพลงและบันทึกเสียงอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นสิ่งที่ฟรานซิสเองก็อยากเห็นมากที่สุดเช่นกัน



ส่วนฟรานซิสเอง... เขาเริ่มทำงานได้ดีขึ้น ประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์งานกลับคืนมาอย่างน่าแปลกใจ ถึงแม้ในตอนแรกเขาต้องบากหน้าไปขอยืมเงินจากซิลวี ภรรยาเก่าเพื่อที่จะมาหาเช่าห้องพักห้องใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทั้งเขากับลูก และที่สำคัญ...สำหรับเดล นักดนตรีที่เขาทุ่มเทจิตใจให้ทั้งหมด เขากลับมาดูแลเบรองแชร์เหมือนอย่างที่พ่อที่ดีควรจะทำ เขาสัญญากับซิลวีว่าจะคืนเงินให้ครบภายใน 6 เดือน ซึ่งเขาก็สามารถจะทำได้จริงๆ ฟรานซิสกับเดลมีชีวิตที่ดีขึ้น จนกระทั่งสามารถจัดงานปาร์ตีและเชิญเพื่อนๆ ของเดลจากคลับบลูโน้ตมาฉลองกันที่ห้องพักได้อย่างสบายๆ ถึงแม้ว่าการสร้างครอบครัวใหม่ของฟรานซิสจะไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ที่ลูกสาวของตัวเอง แต่กลับมีเป้าหมายหลักอยู่ที่เดลนั่นเองในการเริ่มต้นใหม่ แบร์ทรองด์สื่อสารถึงความเป็น “ฮีโรที่ไม่ได้มีตัวตน” ในฉากที่ฟรานซิสเชิญเดลไปงานเลี้ยงวันเกิดของเบรองแชร์ที่ลียง ซึ่งเป็นบ้านพ่อกับแม่ของเขาเอง ปู่กับย่อได้มอบเค้กปักด้วยเทียนให้กับเด็กน้อย เธออธิษฐานเสร็จแล้วเป่าเทียน ในตอนนั้นเองเธอสังเกตเห็นแววตาที่ว่างเปล่าของเดล เธอจึงได้ตัดเค้กให้เขาชิ้นหนึ่งแล้วบอกให้เขาอธิษฐาน เราจะคิดเป็นอย่างอื่นใดไปได้ นอกจาก “ความตาย” ที่เขาอยากจะให้มาเยือน

งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกราฉันใด เดลก็ต้องมีวันกลับคืนสู่นิวยอร์กฉันนั้น เขากลับไปเล่นที่นิวยอร์กโดยมีฟรานซิสไปส่งพร้อมเพลงใหม่ ที่แต่งให้กับ แชน ลูกสาวคนเดียวของเขาแต่ระยะห่างระหว่างพ่อลูกคู่นี้มันไกลเกินกว่าจะต่อกันติด เพลงแจ๊สเพียงหนึ่งเพลงไม่สามารถเยียวยาบาดแผลได้ และก็เป็นฝีมือของฟรานซิสอีกนั่นเองที่โทรศัพท์ไปบอกให้แชนมาร่วมฟังเพลงนี้ในคลับ แต่เดลไม่อนุญาตให้เขาอยู่จนถึงวาระสุดท้าย เมื่อฟรานซิสกลับสู่ฝรั่งเศสไม่นานนัก เขาจึงได้รับข่าวจากกูดลีย์ ผู้จัดการของเดลที่นิวยอร์กว่า เขาได้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งมาร์ติน สกอร์เซซี รับบทเล็กๆ เป็นกูดลีย์นี้ด้วยตัวเอง

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าทั้งเดลและฟรานซิสถูกอ้างอิงมาจากชีวิตของใคร แต่ว่ากันว่าตัวเดลนั้นถูกผสมผสานจากบุคลิกของนักดนตรีแจ๊ส 2 คน ซึ่งก็คือ บัด พาวเวลและเลสเตอร์ ยัง ส่วนฟรานซิสนั้นมีตัวตนอยู่จริงในชื่อของ ฟรานซิส โปรดาส์ ซึ่งความสัมพันธ์ที่แนบแน่นฉันท์เพื่อนระหว่างบัดและฟรานซิสก็ได้รับการโจษขานในหนังสือหลายๆ เล่ม

แบร์ทรองด์บินไปหาเด็กซ์เตอร์ที่อพาร์ทเมนต์ในนิวยอร์กว่าจ้างเขาเพื่อมารับบทเดล เทอร์เนอร์ เขาออกจะงงในตอนแรกที่ได้เห็นเด็กซ์เตอร์ “ผมต้องไปนั่งรอเขา เพราะว่าเขานอนหลับอยู่ แต่ตอนที่เขาเดินเข้ามาพบผม ผมรู้สึกว่ามันโดนเลย แค่จากท่าเดินของเขาเท่านั้นล่ะครับ ผมจ้องตอนที่เขาเดินเข้ามา ก็ติดตาเลยว่าตอนนั้นกลัวเขาจะหกล้ม แล้วก็จะหมดลมอยู่ตรงนั้น ผมไม่รู้เลยว่าจะมีใครมาถ่ายทอดบทนี้ได้ดีเท่าเขาอีก” ซึ่งเด็กซ์เตอร์ก็ไม่ได้ทำให้เขาผิดหวังเลยแม้แต่น้อย ด้วยวัยถึง 63 ปีเด็กซ์เตอร์ก็ยังคงถ่ายทอดการแสดงให้กับตัวละครอย่าง เดล เทอร์เนอร์ จนพาตัวเองก้าวไปสู่การเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาดารานำชาย ในปี 1986 นั่นเอง

It’s round midnight

ถึงแม้ว่าเด็กซ์เตอร์ กอร์ดอนจะเอารางวัลออสการ์มาประดับ ‘Round Midnight ในฐานะดารานำชายไม่ได้ แต่เฮอร์บี แฮนค็อก นักเปียโนแจ๊สหนุ่มผู้ได้รับมอบหมายในการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่เท่านั้นเขายังได้รับบทเอ็ดดี เวย์น นักเปียโนในคลับที่เล่นร่วมวงกับเดล เทอร์เนอร์ แถมยังเป็นคนที่ไม่ยอมให้เดลดื่มเหล้าขณะเล่น ก็เลยโดนเขาด่าแบบขำๆ

หลังจากที่แบร์ทรองด์ส่งบทหนังไปให้เฮอร์บีอ่านแล้ว เขาถึงกับโทรกลับมาบอกแบร์ทรองด์ว่า “นี่เฮอร์บีนะครับ ผมอ่านบทจบแล้ว แล้วผมก็ร้องไห้ ผมรู้สึกภูมิใจเหลือเกินที่เกิดเป็นคนดำและก้เป็นนักดนตรีแจ๊ส”



แบร์ทรองด์กับเฮอร์บีตกลงกันก่อนตอนที่เริ่มจะทำเพลงประกอบว่า เพลงทุกเพลงที่พวกเขาเล่นกันอยู่ที่คลับ (ซึ่งเราก็เห็นพวกเขาเล่นในหนังนั่นเอง) ซึ่งตอนแรกเฮอร์บีเองก็ยังไม่มั่นใจว่าคุณภาพของเสียงจะออกมาอย่างไรบ้าง เขาระมัดระวังในเรื่องอะคูสติกของฉากในคลับเป็นอย่างมาก แล้วผลลัพธ์ที่ได้มาก็เป็นที่น่าพอใจเหมือนกับที่เฮอร์บีคาดหวังไว้ เขาถึงกับบอกว่า “โห ถ้าแจ๊สคลับมีอะคูสติกเยี่ยมๆ อย่างนี้ทุกที่ล่ะก็ เยี่ยมไปเลย!!”

ดังนั้นจุดเด่นอย่างแรกที่สัมผัสได้เลยก็คืองานเสียงของอัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์ ถึงแม้ว่าจะเป้นอัลบัมที่เก่าแก่ย้อนหลังไปถึง 20 ปีแล้วก็ตาม แต่ว่าการรีมาสเตอร์ทั้งซีดีและดีวีดีทำออกมาอย่างประณีตบรรจง โดยเฉพาะซีดีที่นำมารีมาสเตอร์เป็นดอลบี 5.1 จากการดูแลของเฮอร์บีเอง เสียงที่ออกมาเนียนใสและไร้ข้อบกพร่อง

ต้องยอมรับเลยว่า ‘Round Midnight เป็นอัลบัมเพลงแจ๊สที่ไม่ได้ต้องการแค่ประกอบภาพยนตร์เท่านั้น หากแต่มันมีราคาค่างวดด้วยตัวของมันเอง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในหนังก็ตาม เราสามารถหยิบแผ่นเพลงแผ่นนี้มาฟัง แล้วเลื่อนไหลอิ่มเอิบไปกับบทเพลงที่นำมาตีความและแต่งขึ้นมาใหม่ด้วยฝีมือของนักเปียโนที่ตอนนี้แทบจะกลายเป็นตำนานอยู่แล้ว

‘Round Midnight เพลงเอกที่เขียนโดยเธลอเนียส มังค์, คูตี วิลเลียมส์และเบอร์นาร์ด ฮาร์นิเกน ถูกนำมาใช้เป็นชื่อเรื่องที่แสดงความหม่นเศร้า ถ่ายทอดผ่านชีวิตของเดลอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งที่โดดเด่นใน Round Midnight เวอร์ชันนี้คงจะเป็นเสียงของบ็อบบี แม็กแฟร์รินที่ฟังเผินๆ แล้วอาจจะคิดไปถึงเครื่องเป่าอย่างอัลโตแซ็กโซโฟนไปเลยก็ได้ การเรียบเรียงเพลงนี้ไม่ได้ทำออกมาในแง่ของการรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ หากแต่เน้นการเรียบเรียงในอันที่จะสร้างความสวยงามให้กับบทเพลง โดยเฉพาะในช่วงอิมโพรไวส์เปียโนของเฮอร์บีช่วงกลางเพลงก่อนจะส่งต่อให้กับบ็อบบี เพลงนี้ไม่ได้ถูกจัดมาเพื่อประกอบฉากใดฉากหนึ่งในภาพยนตร์ หากแต่ใช้เป็นเพลงเปิดตัวเลยทีเดียว

Body And Soul เพลงนี้ถูกเล่นในบลูโน้ต คลับ ซึ่งก็หมายถึงการบันทึกสดด้วย สำเนียงการเป่าแซ็กโซโฟนของเด็กซ์เตอร์นั้นหาใครกินลงลำบากเหลือเกิน ดูเหมือนเป็นเมโลดีที่เล่นกันง่ายๆ หากด้วยเทคนิกการเล่นที่แพรวพราวและลื่นไหลของเด็กซ์เตอร์ มันไม่ง่ายหรอก แต่ทำให้เราไม่รู้สึกลำบากหรือยากที่จะฟังและซึมซับมัน ช่วงท้ายเพลงลุ่นให้จบเกือบตัวโก่งเลยทีเดียว จอห์น แม็กลัฟลิน รับบทมือกีตาร์ในวง เช่นเดียวกับบิลลี ฮิกกินส์ ในบทมือกลอง

Fair Weather เพลงนี้พิเศษทีเดียวตรงที่ได้นักร้อง-นักทรัมเป็ตหนุ่มเจ้าเสน่ห์ในแนวอึมครึมอย่างเช็ต เบเคอร์มาร่วมวงด้วย บทเพลงไม่โดดเด่นนัก หากแต่น่าฟังตรงเสียงของชายหนุ่มผู้มีเสน่ห์คนนี้นี่เอง

Una Noche Con Francis เพลงนี้โดยบัด พาวเวล เป็นบีบ็อปสนุกๆ ที่เครื่องดนตรีทุกชิ้นสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวของท่วงทำนอง โดยมีเด็กซ์เตอร์และเวย์น ชอร์เตอร์ควบตำแหน่งเทเนอร์แซ็กฯ แบบคู่ เดินเบสโดย ปิแอร์ มิเชอโลต์ มือเบสชาวฝรั่งเศสที่มีฝีมือไม่น้อยกว่าเบสสิสต์ชาวอเมริกันคนอื่นๆ เขาเคยได้รับเลือกให้เล่นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง L’Ascenseur Pour L’Echafaud หรือ Elevator To The Gallow ซึ่งถ้าใครชอบไมล์ส เดวิส ก็คงจะพอคุ้นๆ ว่าเป็นงานเพลงประกอบภาพยนตร์ของเขานั่นเอง ฝีมือการเดินเบสของเขาในเพลงนี้ไม่ต้องการคำสาธยายสรพพคุณใดๆ ให้มากความ

Minuit Aux Champs-Elysees โดยเฮนรี เรอโนด์ เพลงเศร้าๆ เหงาๆ ที่ดูเอ็ตระหว่างเปียโนของเฮอร์บีและไวบราโฟนของบ็อบบี ฮัตเชอร์สัน ผู้ซึ่งเล่นเป็นหนึ่งในนักดนตรีของวงนี้ด้วยในชื่อว่า เอซ เปียโนของเฮอร์บีทำหน้าที่เพียงแค่เป็นภาคจังหวะให้กับไวบราโฟนของบ็อบบี ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะสามารถขับเน้นให้โน้ตที่โหยละห้อยแต่ละตัวสื่อสารความเปล่าเปลี่ยวออกมาได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

Chan’s Song (Never Said) เพลงนี้เขียนโดยเฮอร์บี แฮนค็อกและสตีวี วันเดอร์ ถูกบรรเลงออกมาอย่างไม่ซับซ้อนมากนัก โดดเด่นด้วยเสียงของบ็อบบี แม็กแฟร์รินอีกครั้งหนึ่ง เพลงนี้สดชื่น หลุดจากธีมโลว์คีย์ที่เราเฝ้าดูเฝ้าฟังมาเกือบตลอดทั้งเรื่อง อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นการกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ของเดลที่นิวยอร์ก หลังจากที่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากความชื่นชอบและชื่นชมที่ฟรานซิสมีให้ และเพลงนี้เขาเขียนขึ้นมาใหม่ให้กับลูกสาวคนเดียวที่ห่างเหิน

คงจะไม่เกินความจริงนักหากจะกล่าวว่า ‘Round Midnight คือการรวมตัวของหลากหลายสิ่งของวงการศิลปะทั้งสองแขนงคือดนตรีและภาพยนตร์พึงจะมี ถึงแม้ว่าตัวภาพยนตร์จะเป็นรองภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ไปบ้าง แต่ทั้งเฮอร์บีและเด็กซ์เตอร์ก็ได้ทำหน้าที่คนทำเพลงประกอบได้อย่างสมบูรณ์ ส่งเสริมให้ตัวหนังโดดเด่นขึ้นมาได้อย่างน่าพอใจ ดังนั้นหากว่าภาพยนตร์และอัลบัมเพลงประกอบจะยังคงได้รับการจดจารในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เพลงแจ๊สให้คนรุ่นหลังได้ดูได้ฟังกันต่อไป ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

Director: Bertrand Tavernier
Actors: Dexter Gordon, Francois Cluzet, Herbie Hancock, Lonette McKee, Martin Scorsese, Philippe Noiret
Awards: 1986 Academy Award - Best Score (Herbie Hancock)
Screen Aspect: Widescreen [16:9 Transfer]
Sound Quality:Dolby Surround 5.1 - English -
Subtitles: English, Espanol, Francais, Portuguese



‘Round Midnight (1986)
Produced by Herbie Hancock

Tracklisting
1. Round Midnight
2. Body And Soul
3. Berangere’s Nightmare
4. Fair Weather
5. Una Noche Con Francis
6. The Peacocks
7. How Long Has This Been Going On?
8. Rhythm-A-Ning
9. Still Time
10. Minuit Aux Champs-Elysees
11. Chan’s Song (Never Said)

Musicians

Herbie Hancock Piano
Ron Carter Bass
Tony Williams Drums
Bobby McFerrin Vocal
Dextor Gordon Tenor Sax
Pierre Michelot Bass
Billy Higgins Drums
John McLaughlin Guitar
Chet Baker Vocal & Trumpet
Bobby Hutcherson Vibes
Wayne Shorter Tenor Sax
Lonette McKee Vocal
Freddie Hubbard Trumpet
Cedar Walton Piano







 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2550
6 comments
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2550 13:18:07 น.
Counter : 2069 Pageviews.

 

หนังน่าดู แผ่นน่าฟัง

ขอบคุณที่ไปให้ข้อมูลหนังสือในบล็อกค่ะ
เดี๋ยวงานหนังสือไปสอยมาดีกว่า

 

โดย: ยาคูลท์ 25 กุมภาพันธ์ 2550 13:40:47 น.  

 

เสียงเพลงในเรื่องนี้ มันบอกอะไรหลายๆอย่าง ยิ่งภาพยนต์และดนตรีไปด้วยกัน ทำให้เพลงและหนังน่าดูไปด้วย

 

โดย: ดาว..กลางวัน (ดาว..กลางวัน ) 25 กุมภาพันธ์ 2550 19:22:43 น.  

 

พี่ชอบหนังเรื่องนี้มากเลยจ่ะ ดาว เอ...แต่อาจจะน้อยกว่า The Bridges of Madison County หน่อยนึง

 

โดย: nunaggie 26 กุมภาพันธ์ 2550 21:25:09 น.  

 

คุณนายยย จะเดินทางอยู่แล้วนะเนี่ย ยังออนอีกนะ เดินทางโดยสวัสดิภาพนะเจ๊

 

โดย: ดาว..กลางวัน (ดาว..กลางวัน ) 23 มีนาคม 2550 8:38:52 น.  

 

น่าดูนะคะ

 

โดย: เยี่ยมรุ้ง 23 มีนาคม 2550 20:32:19 น.  

 

พี่จ๋า บล็อกเจ๊หน่ะ ดองเค็มได้แล้วมั้งเนี่
เป็นไงบ้าง คิดถุงพี่สาวคนนี้จังเลย

 

โดย: ดาว..กลางวัน (ดาว..กลางวัน ) 30 มีนาคม 2550 22:28:41 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.