จังหวัด "ปราจีนบุรี"
คำขวัญ...ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวารวด

จังหวัดปราจีนบุรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของภาคกลาง เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีทรัพยากรในด้านการท่องเที่ยวมากมายและหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะผืนป่ามรดกโลกของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่นับเป็นสมบัติล้ำค่าในด้านของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งของประเทศและของโลก

เดิมปราจีนบุรีเป็นจังหวัดใหญ่ มีพื้นที่กว้างขวางเป็นอันดับ 6 ของประเทศ แต่ภายหลังได้มีการแยกจังหวัดออกจากมณฑลปราจิณ ตั้งเป็นจังหวัดนครนายกและฉะเชิงเทรา และในปี พ.ศ. 2536 ก็ได้มีพระราชบัญญัติแยกพื้นที่บางอำเภอออกจากจังหวัดปราจีนบุรีอีกครั้ง แล้วตั้งเป็นจังหวัดสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรีจึงมีขนาดเท่ากับในปัจจุบันนับแต่นั้นมา

จังหวัดปราจีนบุรีมีเนื้อที่ประมาณ 4,762 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,054,449 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 45 ของประเทศไทย สภาพพื้นที่แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ เขตที่ราบสูงทางตอนบนของจังหวัด ติดเทือกเขาดงพญาเย็น บริเวณรอยต่อของจังหวัดนครนายกและจังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะเป็นที่ราบสูงคล้ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มียอดเขาสูง 1,326 เมตร พื้นที่ส่วนมากเป็นป่าทึบและเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำหลายสาย และเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำทางตอนล่าง มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำบางปะกง ซึ่งเกิดจากแควหนุมานและแควพระปรง ไหลมาบรรจบกันที่อำเภอกบินทร์บุรี ผ่านอำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอประจันตคาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอบ้านสร้าง แล้วไหลเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา บริเวณแถบนี้เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยเฉพาะการทำสวนผลไม้

บริเวณที่ตั้งของจังหวัดปราจีนบุรีในปัจจุบัน พบว่ามีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยโบราณตั้งแต่เมื่อประมาณ 2,000–2,500 ปี มาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และมีอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่สมัยทวารวดีต่อเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี ดังปรากฏหลักฐานเป็นซากเมืองโบราณที่เรียกว่า "เมืองศรีมโหสถ" ที่ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ และทางด้านทิศตะวันออกของเมืองศรีมโหสถ บริเวณบ้านโคกขวาง อำเภอศรีมหาโพธิ ยังพบชุมชนโบราณอายุร่วมสมัยเดียวกันกับเมืองศรีมโหสถ บริเวณซากเมืองโบราณเหล่านี้มีซากโบราณสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และพบโบราณวัตถุต่างๆ ได้แก่ พระพุทธรูป เทวรูป เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทสำริด กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

ต่อมาศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงเช่นในปัจจุบัน มีชุมชนหนาแน่นจนเกิดเป็นเมืองขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า "เมืองปราจีน" และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า "เมืองปราจิณ" หรือ "มณฑลปราจิณ" ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้จัดระเบียบการปกครองแผ่นดินตามแบบต่างประเทศ มณฑลปราจิณถูกยุบเลิก คงมีฐานะเป็นเพียงหัวเมืองเมืองหนึ่ง ต่อมาโปรดให้เปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" จึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า "จังหวัดปราจีนบุรี"

ปัจจุบันปราจีนบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอบ้านสร้าง อำเภอประจันตคาม อำเภอศรีมโหสถ อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอนาดี


สถานที่ท่องเที่ยวในปราจีนบุรี ได้แก่

วัดแก้วพิจิตร

ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านขวาของแม่น้ำบางปะกง ถนนแก้วพิจิตร ตำบลหน้าเมือง ในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2กิโลเมตร เป็นวัดนิกายธรรมยุติวัดแรกของจังหวัดปราจีนบุรี สร้างเมื่อปี พ.ศ.2422โดยเศรษฐีนีใจบุญชาวปราจีนบุรีชื่อนางประมูล โภคา (แก้ว ประสังสิต)ภรรยาของขุนประมูลภักดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2461 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่เพื่อทดแทนหลังเก่าที่ชำรุดผุพัง จึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับอาคารผสมผสานระหว่างศิลปะไทย จีน ยุโรปและเขมร พระประธานสร้างเมื่อปี พ.ศ.2462 โดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หลวงพ่ออภัยวงศ์ หรือ หลวงพ่ออภัย เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรผู้สร้าง

ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดบนแผ่นผ้าเกี่ยวกับเรื่องราวในพระพุทธ ศาสนา เช่น ทศชาติชาดก มารผจญ วาดโดยช่างหลวงในรัชกาลที่ 6 ฝาผนังด้านนอกพระอุโบสถมีภาพปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ ด้วยพระอัฉริยภาพของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ท่านได้สร้างปริศนาธรรมแทรกไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น นาฬิกาที่ไม่ยอมเที่ยงอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนแก้ว สร้างปริศนาด้านการปกครอง เช่น รูปสิงห์โตตัวผู้เพียงตัวเดียวไว้ที่บานหน้าต่าง ด้านหน้าพระอุโบสถมี อาคารเรียนหนังสือไทย นักธรรมบาลีเป็นอาคารคอนกรีต รูปสถูปโดม ศิลปะกรีกหรือโรมันอยู่หลังหนึ่ง

นอกจากนั้นภายในวัดแก้วพิจิตรยังมีหอพระไตรปิฎกและศาลาตรีมุข ที่ท่าน้ำ บรรยากาศภายในวัดร่มรื่น เปิดเวลา 08.30-17.00 น.

สอบถามรายละเอียด โทร. 0 3721 2795, 08 1481 1740, 08 1650 0327

กลุ่มโบราณสถาน สระมรกต

ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดสระมรกต ตำบลโคกไทย เป็นกลุ่มโบราณสถานทางพุทธศาสนาขนาดใหญ่ ที่สร้างซ้อนทับกันหลายสมัย เริ่มตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างศิลาแลงและอิฐ ส่วนใหญ่คงเหลือเฉพาะรากฐานอาคารเท่านั้น ระหว่างการขุดแต่งได้ค้นพบ รอยพระพุทธบาทคู่ สลักอยู่บนศิลาแลง ลักษณะเป็นรอยเลียนแบบรอยเท้ามนุษย์ กลางฝ่าพระบาทสลักรูปธรรมจักรนูนทั้งสองข้างและมีการสลักรูปกากบาท ตรงกลางมีหลุมสำหรับใช้ปักเสา สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อปักฉัตรหรือร่ม รอยพระพุทธบาทคู่นี้คาดว่าสร้างขึ้นครั้งแรกสมัยทวารวดีถึงสมัยลพบุรี นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ใกล้กันมี บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพบพระพุทธรูปและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากภายในบ่อ และเป็นบ่อซึ่งได้นำน้ำขึ้นทูลเกล้าถวายเนื่องในพิธีรัชมังคลาภิเษก

นอกจากนั้นยังมี สระมรกต เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานสระมรกตประกอบด้วย อาคารศิลาแลงล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ลักษณะเป็นอโรคยศาล หรือโรงพยาบาลในสมัยโบราณ ส่วนสระมรกตเป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้างประมาณ 115 เมตร ยาว 214 เมตร ลึก 3.50 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ สันนิษฐานว่าขุดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำ และได้นำศิลาแลงไปใช้เป็นสถาปัตยกรรม นอกจากสระมรกตแล้วยังมี สระบัวหล้า และ อาคารศรีมโหสถ ศูนย์นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานเมืองศรีมโหสถ เปิดให้ชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. ค่าเข้าชม 30 บาท

การเดินทาง จากตัวเมืองปราจีนบุรีไปตามถนนสุวินทวงศ์ ใช้เส้นทางหมายเลข 319 สายปราจีนบุรี-อำเภอพนมสารคาม ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 500 เมตร ก็จะถึงกลุ่มโบราณสถานแห่งนี้

โบราณสถานเมืองศรีมโหสถ

ตั้งอยู่ที่บ้านโคกวัด ตำบลโคกปีบ เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน มีเนื้อที่ประมาณ 700ไร่ ลักษณะของเมืองมีคูเมือง และคันดินกำแพงเมืองล้อมรอบคูน้ำ ภายในเมืองมีโบราณสถาน เนินดิน สระน้ำ บ่อน้ำ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปกว่า 100แห่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี หลักฐานส่วนใหญ่ที่พบมักจะเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู เช่น เทวาลัย เทวรูป ศิวลึงค์ โบราณสถานที่สำคัญในเมืองศรีมโหสถประกอบด้วย กลุ่มโบราณสถานกลางเมือง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18เป็นหมู่เทวาลัย ฐานก่อด้วยศิลาแลง ด้านบนก่อด้วยอิฐ ด้านหลังมีบ่อน้ำก่อด้วยศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 โบราณวัตถุที่ขุดพบ ได้แก่ เทวรูปต่าง ๆ และเศษเครื่องปั้นดินเผา สมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์ ภูเขาทอง เป็นเจดีย์รูปกลม ลักษณะเหมือนโอคว่ำ สมัยทวารวดี โบราณสถานหมายเลขที่ 25 เป็นเทวาลัย รากฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12โบราณสถานสระแก้ว

ตั้งอยู่นอกเมืองศรีมโหสถไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นสระน้ำโบราณขนาดกว้างประมาณ 18 เมตร ขุดลงไปในชั้นของศิลาแลงธรรมชาติ ตัวสระเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ทางด้านทิศตะวันตกมีทางลงทำเป็นขั้นบันไดกว้าง 4เมตร ความยาวทางลง 13.60 เมตร ผนังขอบสระทุกด้านมีการแกะสลักภาพนูนต่ำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น รูปช้าง มกร (มะกอน, มะกอระ หรือมะกะระ หมายถึง มังกร) สิงห์ หมู กินรี งูพันเสา สัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ชั้นสูง สันนิษฐานว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของ กษัตริย์เมืองศรีมโหสถ อายุราวพุทธศตวรรษ ที่ 10-11

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองปราจีนบุรีประมาณ 20กิโลเมตร ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 319 กิโลเมตรที่ 130 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 3070 อีกประมาณ 1กิโลเมตร เมืองโบราณจะอยู่ทางด้านขวามือ โบราณสถานตั้งอยู่กระจัดกระจาย สามารถเข้าได้หลายทางและสามารถทะลุถึงกันได้ เวลาเปิดทำการ 08.30 - 16.30 น. ค่าเข้าชม 30 บาท






อุทยานแห่งชาติทับลาน

ครอบคลุมพื้นที่ของตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอปักธงชัย อำเภอ วังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,240ตารางกิโลเมตร หรือ 1,400,000ไร่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 ภายในอุทยานฯ มีสถานที่น่าสนใจ ได้แก่

ป่าลานและสวนพักผ่อนหย่อนใจ อยู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ เป็นป่าลานที่ขึ้นเองตามธรรมชาติแห่งสุดท้ายของประเทศไทย มีต้นตาลเป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ใบใหญ่เป็นรูปพัดคล้ายใบลาน จะออกดอกเมื่อต้นมีอายุ 20ปีขึ้นไป ช่วงฤดูออกดอกในราวเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ดอกมีสีเหลืองสดสวยงามมาก หลังออกดอกแล้วต้นลานนั้นจะตายไป สวนพักผ่อนหย่อนใจ อยู่ติดกับที่ทำการอุทยานฯ พื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ประกอบด้วยต้นลานและพันธุ์ไม้นานาชนิด ภายในร่มรื่น มีซุ้มสำหรับนั่งพักผ่อน กลางสวนมีสระน้ำขนาดใหญ่นอกจากดงลานแล้ว ภายในพื้นที่อุทยานฯ ยังปกคลุมด้วยป่าเต็งรังและป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และนกชนิดต่าง ๆ

น้ำตกทับลานหรือน้ำตกเหวนกกก อยู่ห่างจากบ้านทับลานประมาณ 7กิโลเมตร เดินเท้าอีกประมาณ 1กิโลเมตร จึงจะถึงตัวน้ำตก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงาม มีความสูง 20 เมตร มีน้ำไหลเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น อ่างเก็บน้ำทับลาน อยู่ห่างจากบ้านทับลานประมาณ 1กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำที่สวยงามล้อมรอบไปด้วยภูเขา อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน


หาดชมตะวัน อยู่ห่างจากตัวอำเภอเสิงสาง ประมาณ 17กิโลเมตร เป็นชายหาดริมอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำปลายมาศ หาดยาวประมาณ 300เมตร บริเวณหาดทรายสามารถเล่นน้ำได้ มีกิจกรรมล่องเรือนำเที่ยวชมทิวทัศน์รอบเขื่อนไป-กลับ นั่งได้ 10 คน ราคา 500 บาท และล่องแพ นั่งได้ 40 คน ราคา 2,000 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านราษฏร์ โทร. 08 1967 1377 เหมาะสำหรับที่จะท่องเที่ยวแบบครอบครัว แบบหมู่คณะ ทางอุทยานแห่งชาติมีบ้านพักรับรอง 1 หลัง ราคา 1,500 บาท มีเต็นท์ให้เช่า พักได้ 2-5 คน ราคา 250-500 บาท ในกรณีที่นำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ 30 บาท/คน/คืน

น้ำตกบ่อทอง อยู่ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี ห่างจากเส้นทางหลวงหมายเลข 304 ประมาณ 6 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมากในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายนน้ำจะค่อนข้างน้อย

น้ำตกห้วยคำภู อยู่ในท้องที่ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี ประมาณ 20กิโลเมตร ลักษณะเป็นลำธารที่มีน้ำไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้น ๆ ด้านล่างเป็นฝายน้ำล้นเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ การเดินทาง แยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 บริเวณกิโลเมตรที่ 92 เข้าไปประมาณ 20 กิโลเมตร

ลำแปรง อยู่ห่างจากอำเภอครบุรี ประมาณ 35กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีสัตว์ป่านานาชนิด ดูนก สถานที่พัก ทางอุทยานฯ มีเต็นท์ให้เช่า พักได้ 2-5 คน ราคา 250-500 บาท ในกรณีที่นำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ 30 บาท/คน/คืน การเดินทาง สามารถไปทางอุทยานแห่งชาติปางสีดาได้

น้ำตกห้วยใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันตกของอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความสวยงาม มีความสูง ประมาณ 50 เมตร กว้าง 30 เมตร ไหลแผ่กว้างเป็นม่านน้ำตก มีน้ำไหลตลอดปี แต่ไม่มีแอ่งน้ำให้เล่น การเดินทาง แยกจากทางหลวงหมายเลข 304 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 79 เข้าไปอีก 6 กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ในหน้าแล้งนำรถยนต์เข้าได้เกือบถึงตัวน้ำตก

น้ำตกสวนห้อม ห้วยขมิ้น ห้วยใหญ่ใต้ อยู่ในท้องที่ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวันครราชสีมา ห่างจากถนนสาย 304ประมาณ 6กิโลเมตร น้ำตกมีลักษณะเป็นหน้าผา สูงประมาณ 50เมตร กว้างประมาณ 30เมตร น้ำตกมีความสวยงามมากในฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายน ในฤดูแล้งน้ำจะค่อนข้างน้อย บริเวณใกล้เคียงน้ำตกทางอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้จัดสถานที่กางเต็นท์อยู่บนเนินเขาไว้บริการนักท่องเที่ยว ในกรณีที่นำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ 30 บาท/คน/คืน เต็นท์ให้เช่า พักได้ 2-5 คน ราคา 250-500 บาท บ้านพักรับรอง 1หลัง ราคา 1,500 บาท จากจุดกางเต็นท์นี้สามารถมองเห็นน้ำตก ทิวทัศน์ที่สวยงามของอุทยานแห่งชาติได้

เขื่อนลำมูลบน อยู่ในเขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เป็นเขื่อนดินสูง 30เมตร และเป็นต้นน้ำของแม่น้ำมูลที่เกิดจากผืนป่าทับลานบนสันเขื่อนมองเห็น ทิวทัศน์สวยงามของอ่างเก็บน้ำ ได้มีการพัฒนาบริเวณของเขื่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำเป็นหาดบริเวณท้ายเขื่อน เรียกว่า หาดจอมทอง เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อน นั่งตากอากาศ ลงเล่นน้ำ ล่องแพ และขึ้นไปชมทิวทัศน์บนเขาจอมทอง

สถานที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง ราคา 1,500 บาท มีเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว พักได้ 2-5 คน ราคา 250-500 บาท หรือจะนำเต็นท์ไปเองโดยเสียค่าพื้นที่คนละ 30บาท/คืน สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน 520หมู่ 1ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี 25220

โทร. 0 3721 9408 หรือ ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 หรือ dnp.go.th

การเดินทาง รถยนต์ อุทยานฯ อยู่ริมเส้นทางหลวงหมายเลข 304ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 197จากสี่แยกอำเภอกบินทร์บุรีใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 304สายอำเภอกบินทร์บุรี-นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 32กิโลเมตร (ห่างจากจังหวัดปราจีนบุรี ประมาณ 90กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 107 กิโลเมตร)รถประจำทาง จากกรุงเทพฯ ขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร 2สายกรุงเทพฯ-กบินทร์บุรี ลงที่กบินทร์บุรี จากนั้นให้ต่อรถสายกบินทร์บุรี-โคราช ไปอีก 32 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งอยู่ติดกับถนนใหญ่

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

อยู่ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถนนปราจีนอนุสรณ์ เส้นทางหลวงหมายเลข 3069 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2.5 กิโลเมตร ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นตึกสองชั้นแบบยุโรป สมัยเรอเนสซองส์ มีมุขด้านหน้า ตรงกลางเป็นโดม ผนังด้านนอกเป็นปูนปั้นลายพฤกษาประดับซุ้มประตูและหน้าต่าง ภายในตกแต่งแบบตะวันตก เป็นตึกที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างขึ้นโดยทรัพย์สินส่วนตัวในปี พ.ศ. 2452 เพื่อถวายเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากเสด็จประพาสมณฑลปราจีนอีกครั้ง แต่ไม่ทันได้เสด็จประทับพระองค์ก็เสด็จสวรรคตก่อน เมื่อ พ.ศ.2453 อย่างไรก็ตามที่นี่เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า อยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2455 รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ คราเสด็จมณฑลปราจีนบุรี

โดยที่ท่านเจ้าของตึกนี้ไม่เคยใช้ที่นี่เป็นที่พำนักส่วนตัวเลย ตึกนี้เคยใช้เป็นตึกอำนวยการ ชั้นล่างเป็นห้องตรวจโรค ห้องจำหน่ายยาและห้องผ่าตัด ชั้นบน ทำหน้าที่รับคนไข้หญิง จนถึงปี พ.ศ.2512 ที่ตึกอำนวยการหลังปัจจุบันเสร็จ ปี พ.ศ.2533 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถาน และได้มีการเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2539 โดยจัดทำเป็น พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร เป็นศูนย์การรวบรวมอนุรักษ์ตำราไทย สมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี อีกทั้งยังเป็นแหล่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรและการแพทย์ของท้องถิ่น ชั้นล่าง จัดแสดงประวัติตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตำนานหมอหลวง การแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านและตัวอย่างเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์แผนไทย เช่น ตู้ยา หินฝนยา หินชนวน มีดหมอ ชั้นบน จัดแสดงสมุดข่อย หนังสือและตำรายา หินบดยาในอดีตสมัยทวารวดี เปิดบริการทุกวันเวลา 08.30-17.00 น.

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นโรงพยาบาลนำร่องเรื่องการแพทย์แผนไทย ผลงาน “โครงการทัวร์สุขภาพโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวครั้งที่ 4 ประจำปี 2546 รางวัลดีเด่นประเภทโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว โดยใช้สมุนไพรบำบัดยารักษาโรค มีการนวด อบ ประคบและฝังเข็ม แปรรูปสมุนไพรไทยเป็นเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 3721 1088 ต่อ 3166 หรือ 0 3721 6164 และยังมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในราคาย่อมเยาชั้นล่างของโรงพยาบาล เปิดทุกวัน เวลา 08.30-20.30 น.หป โทร. 0 3721 1088 ต่อ 3166 หรือ abhaiherb.com

พิพิธภัณฑ์พระครูอุทัยธรรมธารี (เส็ง สุขิโต)

อยู่ถัดจากศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปทางจังหวัดสระแก้ว เป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และศิลปะวัตถุของประเทศ เพื่อนบ้าน รวมทั้งของที่จัดทำขึ้นใหม่เลียนแบบศิลปะโบราณ ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีโบราณวัตถุประมาณ 900ชิ้น อาทิ กำไลสำริด ภาชนะดินเผา เครื่องเคลือบ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ เหรียญกษาปณ์ไทย เหรียญเงินตราของประเทศเพื่อนบ้านสมัยก่อน กี๋รูปกลมแบบ 5ขา เปิดทุกวันไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-16.00 น.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี

ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี ประมาณ 200 เมตร เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์โบราณคดี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของโบราณวัตถุในภูมิภาคตะวันออกและจังหวัด ใกล้เคียง อาทิ ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราดและระยอง โดยเน้นการจัดแสดงที่เมืองศรีมโหสถเป็นสำคัญ ภายในแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นล่าง จัดแสดงประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองปราจีนบุรี โบราณคดีเมืองนครนายกและนิทรรศการพิเศษ ชั้นบน จัดแสดงศิลปะโบราณคดีในประเทศไทย โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออก โบราณคดีใต้น้ำรวมทั้งเครื่องถ้วยสังคโลกที่พบใต้ทะเลจากบริเวณเกาะคราม จังหวัดชลบุรี และนิทรรศการชั่วคราว โบราณวัตถุส่วนใหญ่ของที่นี่ได้มาจากเมืองโบราณสมัยทวารวดี อาทิ พระพุทธรูป เทวรูปเคารพในศาสนาฮินดู ศิวลึงค์ ทับหลัง เครื่องใช้สำริด จัดแสดงศิลปะสมัยต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงสมัยรัช กาลที่ 5 เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบ นอกจากนั้นยังจัดสถานที่ส่วนหนึ่งสำหรับนิทรรศการชั่วคราวในโอกาสต่าง ๆ ด้วย

พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 3721 1586

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 135 ถนนปราจีนตคาม ตำบลดงขี้เหล็ก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร ในพื้นที่ 17ไร่ของคุณณรงค์ อยู่สุขสุวรรณ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนในสมัยก่อน จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์นี้ คือ มีตะเกียงเจ้าพายุจำนวนมากซึ่งเจ้าของเป็นผู้สะสมมา

นอกจากนี้ ยังมีเหรียญ ธนบัตรเก่า ตู้แบบต่าง ๆ เช่น ตู้ไม้สัก โต๊ะเครื่องแป้ง พัดลมที่ใช้น้ำมันก๊าด สิ่งที่น่าสนใจ คือ ล็อตเตอรี่สยามรัฐรุ่นแรกมีอายุกว่า 70 ปี เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00-18.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 60 บาท เด็ก 30 บาท สอบถามรายละเอียด โทร. 0 3746 5300,0 3746 5333,08 1864 8218 โทรสาร 0 3721 1345

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ประดิษฐานอยู่ ณ สี่แยกเนินหอม ตำบลบ้านพระ ปากทางเข้าสู่ตัวเมืองปราจีนบุรี ห่างจากตัวเมืองปราจีนบุรีไปทางทิศเหนือ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 320 ประมาณ 9 กิโลเมตร วงเวียนศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะตั้งอยู่ทางขวามือ หรือ จากนครนายกไปตามทางหลวงหมายเลข 33 กิโลเมตรที่ 158

ศาลแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับยืน เหตุที่สร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ท่านในคราวกรีฑาทัพจากกรุง ศรีอยุธยา เพื่อไปปราบนักพระสัฏฐาแห่งเมืองละแวก กัมพูชา เมื่อ พ.ศ. 2132 ระหว่างการเดินทางทัพได้หยุดพักกองทัพ ณ บริเวณเนินหอม (บริเวณที่ตั้งศาลในปัจจุบัน) ประชาชนชาวจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดใกล้เคียงนิยมมาสักการะบูชาเพื่อ ความเป็นสิริมงคล

ทิปส์

ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการล่องแก่งหินเพิงคือในฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่สายน้ำสวยงามมากที่สุด

สำหรับกิจกรรมล่องแก่ง นักท่องเที่ยวควรตรวจสอบระดับน้ำในลำน้ำ ณ ช่วงเวลานั้นๆ ก่อนออกเดินทาง เนื่องจากในบางช่วงของฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำในลำน้ำอาจสูงและไหลเชี่ยวจนไม่สามารถลงล่องแก่งได้ โดยสามารถสอบถามโดยตรงได้จากโรงแรมที่พัก หรือผู้ประกอบการนำล่องแก่งที่ท่านใช้บริการ

ข้อปฏิบัติในการล่องแก่ง คือ ควรละเว้นการดื่มสุราและของมึนเมาในขณะลงล่องแก่ง สวมชูชีพและหมวกกันน็อกตลอดเวลา และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของไกด์นำทางโดยเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไป เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว มักจะเจอฝูงลิงป่าอยู่เป็นจำนวนมากตลอดสองข้างทางในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นักท่องเที่ยวไม่ควรให้อาหารลิงป่าโดยเด็ดขาด

เที่ยวปราจีนบุรีช่วงหน้าฝน ต้องไม่พลาดเมนูหน่อไม้ไผ่ตงสด ที่ทั้งหวาน กรอบ อร่อย และราคาถูกเป็นพิเศษ หาซื้อได้ง่ายตามตลาดสด ตลาดนัด และริมเพิงข้างทางทั่วไป

ข้อมูลน่ารู้ ด่านตรวจบริเวณทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เปิดเวลา 06.00 น. และปิดเวลา 21.00 น. นอกเหนือจากเวลานี้ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออกอุทยานฯ ได้ ผู้ที่ต้องการขึ้นไปพักค้างคืนบนอุทยานฯ จึงควรตรวจสอบและกำหนดเวลาในการเดินทางให้ดี

การเดินทาง

ปราจีนบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 135 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดปราจีนบุรีได้อย่างสะดวกหลายวิธี ทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

โดยรถไฟ : การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดปราจีนบุรีทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางและราคาตั๋วโดยสารของการรถไฟแห่ง ประเทศไทยได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ railway.co.th และจองตั๋วรถไฟก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2220-4444 ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.

โดยรถยนต์ : จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้หลายเส้นทาง ได้แก่

1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงรังสิต แล้วใช้สะพานวงแหวนแยกขวามาเข้าเส้นทางหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิต ผ่านอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 33 (นครนายก-ปราจีนบุรี) ถึงสามแยกหนองชะอม ประมาณกิโลเมตรที่ 155 แยกขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 319 จนถึงตัวจังหวัดปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 132 กิโลเมตร

2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่านอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงแยกหินกอง ประมาณกิโลเมตรที่ 90 แยกขวาใช้เส้นทางหมายเลข 33 ผ่านอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครนายก ไปจนถึงสามแยกบ้านหนองชะอม ประมาณกิโลเมตรที่ 155 ให้แยกขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 319 จนถึงตัวจังหวัดปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 164 กิโลเมตร

3. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม แล้วเข้าเส้นทางหมายเลข 319 ผ่านอำเภอศรีมโหสถ จนถึงตัวจังหวัดปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 158 กิโลเมตร

4. จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 3481 ที่เขตหนองจอก ผ่านอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร

โดยรถประจำทาง : มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-ปราจีนบุรี ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 transport.co.th ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ thaiticketmajor.com

การเดินทางภายในปราจีนบุรี

ในตัวจังหวัดปราจีนบุรีมีรถชนิดต่าง ๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่าง ๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง และสถานีรถไฟ ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย





ที่มา ททท



Create Date : 13 ตุลาคม 2553
Last Update : 13 ตุลาคม 2553 21:39:07 น.
Counter : 886 Pageviews.

0 comments

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
ตุลาคม 2553

 
 
 
 
 
1
4
8
9
10
12
14
16
17
19
21
23
25
26
27
29
 
 
All Blog