ประเพณี "ไหว้พระจันทร์"

ค่ำคืนวันที่ 3 ต.ค. หรือตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามระบบการนับแบบจันทรคติของชาวจีน ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญกับชาวจีนทั่วโลกด้วยเป็นวันไหว้พระจันทร์ กล่าวกันว่า ในคืนวันไหว้พระจันทร์ ดวงจันทร์บนท้องฟ้าจะมีความงดงามเป็นพิเศษที่สุดในรอบปี เพราะจะสุกสว่างและมองเห็นเป็นดวงกลมที่สุด

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศไทย หรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่มีชาวจีนไปตั้งถิ่นฐาน ก็จะปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือ ตั้งโต๊ะจัดของสักการะบูชาพระจันทร์ เพื่อขอพรให้ครอบครัวและให้กับชีวิตของตนเอง ของแต่ละอย่างบนโต๊ะก็จะมีความหมายต่างๆ กันไป ไม่กำหนดตายตัว แต่ผลไม้ที่ใช้จะเน้นให้เป็นผลกลม นัยว่าเพื่อความกลมเกลียวของคนในครอบครัว

ศ.ชะภิพร เกียรติคชาธาร ( Prof.Chaphiporn Kiatkachatharn) อาจารย์ประจำคณะภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเฉิงตู มณฑลเสฉวน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ( Faculty of Foreign Languages & Culture of Chengdu University) อธิบายไว้ในเว็บไซต์ "สยามไชน่า" siamchina.comว่า วันไหว้พระจันทร์ เป็นคำกล่าวเรียกของคนไทย ที่เรียกตามพิธีการที่คนไทยมองเห็นลูกหลานชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยปฏิบัติกัน แต่ถ้ามีความเข้าใจในภาษาจีน ก็จะทราบว่า วันไหว้พระจันทร์ ในความหมายของชาวจีนที่แท้จริงนั้น คืออะไร




"ในภาษาจีน วันเพ็ญเดือนแปด คนจีนเรียกว่า จงชิว () แปลตามตัวอักษรหมายความว่า กลางฤดูใบไม้ร่วง (จง แปลว่า กลาง , ตรงกลาง ชิว แปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง ) ประเทศจีน แบ่งฤดูกาล ออกเป็น สี่ฤดู ในหนึ่งปี ได้แก่ ชุน ( ฤดูใบไม้ผลิ ), เซี่ย (ฤดูร้อน ), ชิว ( ฤดูใบไม้ร่วง ) และ ตง ( ฤดูหนาว ) วันจงชิว หรือวันไหว้พระจันทร์ ก็คือวันที่นับเป็นช่วงตรงกลางของฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งการนับว่าช่วงไหนเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง ต้องนับตามแบบจันทรคติ เช่น ปีนี้วันเพ็ญเดือนแปดทางจันทรคติ ตรงกับวันที่ 3 ต.ค.ของปีปฏิทินสากล"

ชาวจีนไหว้พระจันทร์ในวันเพ็ญเดือนแปดมาช้านาน ไม่ปรากฏหลักฐานชี้ชัดว่าใครเป็นผู้ริเริ่ม ขณะเดียวกันก็มีตำนาน และเรื่องราวต่างๆ มากมาย ที่สามารถนำมาอ้างอิงถึงความสำคัญของการไหว้พระจันทร์ในวันเพ็ญเดือนแปดได้

ศ.ชะภิพร เล่าให้ ไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า ในสมัยโบราณก่อนประวัติศาสตร์จีนยุคต้น ชาวจีนต่างนิยมกราบไหว้เทพจันทราในวันเพ็ญเดือนแปด ครั้นล่วงเลยมาถึงยุคต้นของประวัติศาสตร์จีนในสมัยราชวงศ์โจว ชาวจีนก็นิยมไหว้พระจันทร์ในวันเพ็ญเดือนแปด เพื่อเป็นการต้อนรับสู่การย่างเข้าสู่ดูหนาว ซึ่งในสมัยราชวงศ์โจวนี่เอง ประเพณีการไหว้พระจันทร์เริ่มเป็นที่แพร่หลาย และมีเอกลักษณ์ของวันไหว้พระจันทร์ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่ เครื่องเช่นไหว้ต่างๆ ซึ่งเครื่องเซ่นไหว้ที่เด่นชัดที่สุด และขาดเสียไม่ได้ในพิธีไหว้พระจันทร์ คือ ขนมไหว้พระจันทร์ และแตงโม

นักปราชญ์จีนสมัยโบราณ มักนำความคิด แนวปรัชญา นำมาสอดใส่กับวิถีชีวิตของชาวบ้าน และสอนให้ปฏิบัติต่อกันมาเป็นประเพณี โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ความหมายที่แท้จริง หากแต่การปฏิบัติตามย่อมเกิดผลดี ชาวบ้านล้วนศรัทธราและให้ความร่วมมือ ในคืนวันไหว้พระจันทร์วันเพ็ญเดือนแปด แท้จริงแล้วก็คือวันครอบครัวของชาวจีน ในสมัยราชวงศ์โจวนั่นเอง

ดังมีคำกล่าวของนักปราชญ์จีนในสมัยนั้นว่า "ดวงจันทร์กลมเต็มดวงมากที่สุด สมาชิกในครอบครัวก็กลมเกลียวสามัคคีที่สุด ดั่งความกลมของดวงจันทร์"

ในคืนวันดังกล่าว ยามเที่ยงคืนคาบเกี่ยวกับวันใหม่ หลังจากสมาชิกในครอบครัวทำพิธีไหว้ดวงจันทร์เสร็จแล้ว ต่างก็ร่วมกันรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ เพื่อแสดงถึงความสามัคคี ความกลมเกลียวระหว่างสมาชิกในครอบครัว ขนมไหว้พระจันทร์นั้น จะต้องนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัวอย่างพอดี เกิไนหรือขาดไม่ได้ และแต่ละชิ้นต้องมีขนาดที่เท่ากันด้วย ขนมไหว้พระจันทร์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี ความกลมเกลียว ในครอบครัวนั่นเอง ดังนั้น รูปลักษณะของขนมไหว้พระจันทร์ จะต้องทำเป็นก้อนวงกลมเท่านั้น ถึงจะให้ความหมายดังกล่าว

ขนมไหว้พระจันทร์ จะต้องมีไส้หวาน หรือสอดไส้ด้วยธัญพืชที่มีรสหวานเท่านั้น เพราะฤดูไม้ร่วงกำลังจะผ่านไป กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวอันแสนลำบากในการดำรงชีวิตของชาวจีน การร่วมรับประทานของหวานในวันไหว้พระจันทร์กับครอบครัว เป็นนัยแห่งความหวานชื่น ความสุข ความอุดมสมบูรณ์ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะแห่งความหนาวเหน็บ และขาดแคลนอาหาร แต่ปัจจุบัน ขนมไหว้พระจันทร์ มีทั้งไส้หมูแฮม ไส้หมูแดง ไส้หมูหยอง และไส้ต่างๆ ที่มีรสเค็ม รสเปรี้ยว ซึ่งไม่ได้ให้ความหมายใดๆ มากไปกว่า "ขนม" หรือ "Moon Cake" ที่รับประทานกันเพื่อความอร่อยเท่านั้น



ประเพณีวันไหว้พระจันทร์ ยังเคยถูกนำมาใช้ในภารกิจกู้ชาติจีนจากชาวมองโกล ประชาชนระดับรากหญ้าที่ได้รับความลำบากทุกข์เข็ญจากการปกครองอย่างเข้มงวดของมองโกล รวมตัวกันต่อต้านโดยมีชาวนาเป็นผู้นำชื่อ "จูหยวนจาง" อาศัยวันไหว้พระจันทร์ เป็นวันประกาศอิสรภาพ โดยนำกระดาษเขียนข้อความนัดแนะกำหนดการขับไล่มองโกล ยัดใส่ไว้ในขนมไหว้พระจันทร์ เมื่อชาวบ้านได้รับขนมไหว้พระจันทร์ ก็ทราบกำหนดการร่วมมือกันขับไล่ชาวมองโกลออกจากแผ่นดินจีนจนประสบความสำเร็จ ผู้นำคือ จูหยวนจาง ก็ได้เป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินจีน ตั้งราชวงศ์ใหม่ ชื่อว่า ราชวงศ์หมิง

ศ.ชะภิพร กล่าวว่า ปัจจุบันประเพณีวันไหว้พระจันทร์มีความหมายเปลี่ยนไป ทั้งชาวจีนในประเทศไทย และชาวจีนในเมืองจีนเอง ให้ความสำคัญของวันเพ็ญเดือนแปดในเชิงประเพณี แต่ไม่ยึดถือความหมายดั้งเดิม ขนมไหว้พระจันทร์มีการออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งไม่ได้มีความหมายถึงความกลมเกลียว ความสามัคคี ที่ประเทศจีนวัยรุ่นชาวจีนให้ความสำคัญกับวันไหว้พระจันทร์ไม่ต่างไปกับวันแห่งความรัก กลายเป็นวันที่จะนัดแนะกันไปเที่ยวยามค่ำคืน กลายเป็นกิจกรรมอื่นๆ ที่มิใช่กิจกรรมแห่งวันครอบครัวอีกต่อไป

ปัจจุบันลูกหลานคนจีนในเมืองไทย ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3-4-5 ความเข้มข้นของเทศกาลประเพณีไหว้พระจันทร์คงจะลดลงตามสภาพของความไม่เข้าใจว่า ประเพณีไว้พระจันทร์สำคัญอย่างไร ทำไมต้องมี และทำไมต้องไหว้ "..ผมเชื่อว่าเทศกาลไหว้พระจันทร์จะคงยังมีอยู่ในประเทศไทย ตราบเท่าที่ยังมีลูกหลานชาวจีนอยู่ เพียงแต่ความเข้มข้นอาจจะลดลง อาจกลายเป็นเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ (Moon Cake Festival) เหมือนกับเทศกาลขนมไทยก็เป็นได้ เพราะเดี๋ยวนี้เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นเทศการทำเงินของร้านเบเกอรี่ไปแล้ว ขนมก็จะออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่มีความหมายของความกลมเกลียวอีกต่อไป.."

ขณะที่ในประเทศจีนเอง ตั้งแต่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นต้นมา ประเพณีไหว้ได้หมดไปจากสังคมจีน จะมีเหลือแต่ประเพณีการกินขนมไหว้พระจันทร์ และการกลับมาทานข้าวร่วมกันที่บ้านเป็นวันครอบครัว ซึ่งเป็นความหมายที่แท้จริงของวันไหว้พระจันทร์เท่านั้น

"...ผู้นำชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย สมาคมจีนต่างๆ ถ้ายังไม่ให้ความสำคัญกับวันไหว้พระจันทร์ในเชิงความหมายต่อบุตรหลาน แต่ให้ความสำคัญในเชิงความเชื่อเพียงอย่างเดียว ประเพณีวันไหว้พระจันทร์ ก็จะกลายเป็นประเพณีขนมไหว้พระจันทร์ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน.." ศ.ชะภิพร กล่าว










ข้อมูลจากwww.kapook.com



Create Date : 03 ตุลาคม 2552
Last Update : 3 ตุลาคม 2552 13:54:52 น.
Counter : 539 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
ตุลาคม 2552

 
 
 
 
1
4
5
6
9
10
11
13
15
16
17
18
19
20
22
23
24
25
26
27
28
29
 
All Blog