"ปลอดประสพ" เล็ง "ปล่อยน้ำเข้ากรุง" ทดลองระบบป้องกัน











ปลอดประสพ เตรียมปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพฯ 5, 7 กันยายนนี้ ยันจำเป็นทดสอบการระบายของคูคลองและเครื่องสูบน้ำ ระบุจะสั่งหยุดทันทีหากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย บอกประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก พร้อมสวน รองผู้ว่าฯ ธีระชน ออกมาท้วง เพราะอยากเพิ่มบทบาทเพื่อลงสมัคร ผู้ว่าฯ กทม.

หลังจากคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มีแผนซ้อมระบายน้ำในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ด้วยการปล่อยน้ำเข้ากทม. ในวันที่ 5 และ 7 กันยายน เพื่อเตรียมรับมือกับน้ำเหนือที่จะลงมาถึงประมาณต้นเดือนตุลาคมนี้ และ นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวนั้น

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ออกมาโต้กลับกรณีนี้ว่า นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ และ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยนั้น เป็นการแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และยืนยันว่าจะเป็นการทดสอบระบายน้ำ 30% ของศักยภาพการรองรับปริมาณน้ำ ซึ่งมีปริมาณไม่เกิน 10-20 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที เท่านั้น

นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า นายธีระชน ต้องการลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อเพิ่มบทบาทของตนเองเท่านั้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 9 หน่วยงานในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดย กบอ. จะดำเนินการซ้อมการระบายน้ำในกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกและตะวันตก ระหว่างวันที่ 5 และ 7 กันยายน เพื่อเตรียมรับมือกับน้ำเหนือที่จะลงมาถึงกรุงเทพฯ ประมาณต้นเดือนตุลาคมนี้

"ถือเป็นครั้งแรกที่มีการทดลองใช้โมเดลระบายน้ำ ในรูปแบบต่าง ๆ ในการทดสอบพื้นที่จริง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร หลังจากที่มีการขุดลอกคูคลองรอบกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวมถึงได้ติดตั้งระบบการเตือนภัย ดังนั้นขออย่าให้ประชาชนตกใจ เพราะน้ำที่ระบายผ่านคูคลองรอบกรุงเทพฯ มีปริมาณไม่มาก เป็นการทดลองระบบและความพร้อมเพื่อดูจุดติดขัดต่าง ๆ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในกรุงเทพฯ ว่าปีนี้น้ำจะไม่ท่วมแน่นอน" นายปลอดประสพ กล่าว

นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า การระบายน้ำครั้งนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งการใช้เซ็นเซอร์ติดตามการไหลของน้ำ การควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอัตโนมัติ เปรียบเหมือนกับนักกีฬา จะเล่นกีฬาอะไรก็ต้องซ้อมก่อน โดยเฉพาะในกรณีนี้ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องซ้อม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่เอาความรู้จากตำราเก่า ๆ มาด่าตน ซึ่งในคณะกรรมการ กบอ. มีคนที่มีความรู้จำนวนมาก ไม่ใช่คน 2 คนที่จะมาบอกว่าไม่มีความรู้ ตนไม่อยากทะเลาะด้วยแล้ว

ประธาน กบอ. กล่าวอีกว่า จะมีการทดสอบ 2 วัน คือวันที่ 5 กันยายน จะทดสอบการระบายน้ำในฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร บริเวณคลองทวีวัฒนาและคลองอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกันในกรุงเทพฯ โดยคลองทวีวัฒนาสามารถรองรับการไหลผ่านของน้ำได้สูงสุด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และวันที่ 7 กันยายน จะทดสอบการระบายน้ำด้านฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ บริเวณคลองระพีพัฒน์และคลองลาดพร้าว โดยคลองระพีพัฒน์สามารถรองรับการไหลผ่านของน้ำได้สูงสุดกว่า 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนคลองลาดพร้าวสามารถรองรับการไหลผ่านของน้ำได้สูงสุด 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

เขายืนยันว่า การทดสอบครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ และสามารถหาจุดทรุดตัวของคูคลองบริเวณใต้สะพาน เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ที่สำคัญไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำที่ใช้ในการเกษตร เนื่องจากกรมชลประทานได้จัดสรรน้ำไว้แล้ว ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขอยืนยันว่าไม่มีอะไรเสี่ยงจะทำให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน เพราะการปล่อยน้ำครั้งนี้จะจำกัดการปล่อยน้ำให้อยู่ในระดับเพียง 1 ใน 3 ของความสามารถที่คลองแต่ละแห่งจะรับได้

"ผมมั่นใจว่า กบอ. จะควบคุมการทดสอบในครั้งนี้ได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่ติดตามและควบคุมการระบายน้ำ หากเกิดเหตุสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยจะหยุดการทดสอบการระบายน้ำทันที รวมทั้งจะประกาศรายละเอียดให้ประชาชนรับทราบต่อไปด้วย และขอยืนยันจะไม่เกิดน้ำท่วมระหว่างการทดสอบระบบ แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษบริเวณคลองลาดพร้าวอย่างใกล้ชิด เพราะสามารถรองรับการไหลผ่านของน้ำได้สูงสุด 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอาจมีปริมาณน้ำที่สูงขึ้นเกือบถึงตลิ่งได้ แต่หากเกิดความเสียหายตนพร้อมที่จะรับผิดชอบ" นายปลอดประสพ กล่าว

ขณะที่ นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องนี้ทาง กทม. ทราบเรื่องแล้ว แต่ตนจะขอพูดในฐานะวิศวกรและคณะทำงานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงของ ศปภ. ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นคนแต่งตั้งเมื่อช่วงปลายปี 2554 และสามารถทำให้ กทม. รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วมมาได้กว่า 20 เขต

"ผมคิดว่าในการที่จะทดลองระบบระบายน้ำในช่วงฤดูฝน เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะคณะทำงานบริหารจัดการน้ำชุดที่แล้วได้สั่งให้รื้อให้ระบบป้องกันน้ำฝนของ กทม. เพื่อให้น้ำเหนือไหลออกปากอ่าวเมื่อปลายปี 2554 ออกไปแล้ว ฉะนั้นระหว่างการทดลองระบบ เกิดมีฝนตกขึ้นมาผู้ที่ตัดสินใจดำเนินการเรื่องนี้จะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น กทม. และผมทราบมาว่าในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำอุทกภัย (กบอ.) วิศวกรชั้นผู้ใหญ่หลายคนไม่เห็นด้วย" นายธีระชนกล่าว

นายธีระชัย กล่าวต่อว่า หากอยากจะทดลองทำจริง ๆ ผู้ที่ดำเนินการเรื่องนี้จะต้องไปทำสิ่งเหล่านี้คือ

1. จะต้องไปดูพื้นที่ต้นน้ำว่าเขื่อนมีสภาพเป็นอย่างไร การปล่อยน้ำมาจากเขื่อนในปริมาณมากจะทำให้เกิดสภาวะน้ำแล้งหรือไม่

2. จะต้องไปดูคลองระพีพัฒน์ที่เมื่อช่วงน้ำท่วมปลายปี 54 ได้มีการไปขวางคลองเอาไว้ ได้มีการแก้ไขปัญหาหรือยัง ประตูระบายน้ำจำนวน 14 บาน และเขื่อนอีก 20 กว่าจุด สถานีสูบน้ำ 3 แห่งที่คลองหกวาสายล่าง มีการซ่อมแซมหมดแล้วหรือยัง ชายทะเลที่น้ำไปไม่ถึงมีการได้ขุดลอกคูคลองให้น้ำไปถึงแล้วหรือยัง คลองหนอกจอกและคลองประเวศน์ ซึ่งปีที่แล้วไม่ยอมเปิดให้น้ำไหลผ่านได้ดูแลระบบและเปิดแล้วหรือยัง รวมไปถึงพื้นที่แก้มลิงฝั่งตะวันออกและตะวันตกที่เตรียมจะรับน้ำได้มีการเตรียมการครบถ้วนแล้วหรือยัง

"ถ้าสิ่งเหล่านี้ครบถ้วนแล้วก็ขอให้ทดสอบเลย แต่ถ้าน้ำฝนมาจะต้องรับผิดชอบ เพราะได้มีการรื้อระบบป้องกันน้ำฝนของกรุงเทพมหานครไปแล้ว ซึ่งการกระทำการใด ๆ ขอให้นึกถึงประชาชน และขอให้คนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมทางน้ำ ได้โปรดรับฟังความคิดเห็นของวิศวกรผู้ใหญ่ที่มีใบประกอบวิชาชีพและมีความรู้ด้านนี้โดยตรงที่อยู่ร่วมในที่ประชุม กบอ.บ้าง" นายธีระชน กล่าว

ขณะที่ นายสัญญา ชีนิมิตร ผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า ได้ส่งตัวแทนไปร่วมหารือกับรัฐบาลเกี่ยวกับแผนงานดังกล่าว ซึ่งได้รับทราบว่าในวันที่ 5 กันยายน จะมีการทดลองปล่อยน้ำมาฝั่งตะวันตก เข้าสู่คลองมหาสวัสดิ์ คลองบางกอกน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา และไหลออกแม่น้ำนครชัยศรี และในวันที่ 7 กันยายน จะปล่อยน้ำมาฝั่งตะวันออกไปยังพื้นที่คันกั้นน้ำ (ฟลัดเวย์) และอาจเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน บริเวณคลองลาดพร้าวและคลองสองด้วย

"ผมได้รายงานให้ผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหารรับทราบแล้ว ซึ่งก็มีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่ และได้สั่งการให้สำนักฯ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบว่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน กทม. จะประสานขอให้รัฐบาลหยุดดำเนินการทดลองแผนดังกล่าวทันที" นายสัญญา กล่าว






ที่มาkapook.com



Create Date : 30 สิงหาคม 2555
Last Update : 30 สิงหาคม 2555 23:52:01 น.
Counter : 974 Pageviews.

0 comments

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
สิงหาคม 2555

 
 
 
1
2
3
4
6
8
9
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
23
24
25
27
29
31
 
 
All Blog