Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
พฤศจิกายน 2564
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
4 พฤศจิกายน 2564

นิทรรศการตู้ลายทอง เหรียญที่ระลึกในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 และเครื่องโต๊ะ


 
หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ชวนชมนิทรรศการ ตู้ลายทอง 
และ เหรียญที่ระลึกในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ณ อาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง)
ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ ภายในนิทรรศการจัดแสดงตู้ลายทอง
ที่ใช้ใส่หนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร โดยฝีมือช่างไทย
สมัยโบราณตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาสืบมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ จำนวน 47 ใบ
 
ส่วนนิทรรศการ เหรียญที่ระลึกในรัชสมัยรัชกาลที่ 5
จัดแสดงเหรียญแบบต่างๆ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้น
เพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกในวาระสำคัญต่างๆ รวมไปถึงเหรียญราชอิสริยา
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ(ฟรี)ได้ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น.
และในวันหยุดนักขัตฤกษ์พิเศษช่วงวันหยุดยาวที่ 21 – 24 ตุลาคม 2564
 ยังมีการจัดแสดงชุดเครื่องโต๊ะ ในกิจกรรมงาน 111 ปี ปิยมหาราชรำลึกอีกด้วย
 
และนั่นคือคำเชิญชวนให้เราออกเดินทางไปยังท้องสนามหลวงอีกครั้ง
 

 
พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา
ด้วยการส่งเสริมให้ตั้งวิทยาลัยสำหรับเล่าเรียนพระไตรปิฎกและวิชาชีพชั้นสูงขึ้น 2 แห่ง
คือ มหามกุฎราชวิทยาลัย ตั้งอยู่บริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร สำหรับฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
อีกแห่งหนึ่งคือ มหาธาตุราชวิทยาลัย ตั้งอยู่บริเวณวัดมหาธาตุ สำหรับฝ่ายมหานิกาย
โดยเริ่มสร้างมหามกุฎราชวิทยาลัยก่อน แต่มหาธาตุราชวิทยาลัยนั้นติดขัดเรื่องสถานที่
 
พ.ศ. 2437 สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เสด็จทิวงคต รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชปรารภว่า
ตามโบราณราชประเพณีเมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ที่ดำรงพระเกียรติยศชั้นสูงสวรรคต
จะต้องสร้างพระเมรุขนาดใหญ่และสิ่งก่อสร้างประกอบบริเวณท้องสนามหลวง
แต่การสร้างนั้นเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ เสร็จพระราชพิธีแล้วก็ต้องรื้อถอนไป
 
จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดการสร้างถาวรวัตถุสถานขึ้นแทนการสร้างพระเมรุขนาดใหญ่
เมื่อเสร็จสิ้นงานพระศพแล้วจะได้ยกถาวรวัตถุสถานนี้ให้เป็นสถานศึกษาสำหรับเล่าเรียน
ของพระภิกษุสามเณร หากมีงานพระศพ จึงจะใช้ตึกวิทยาลัยแห่งนี้เป็นที่ตั้งพระศพ
โดยจะสร้างแต่พระเมรุน้อยสำหรับใช้ในการพระราชทานเพลิงเท่านั้น
 
รับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ เป็นผู้อำนวยการ
และออกแบบเป็นอาคารทรงยาวมียอดปรางค์ 3 ยอด สร้างขึ้นบริเวณด้านหน้าวัดมหาธาตุ  
รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์ ณ วันที่ 13 ก.ย. 2439 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับ
ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีเปิดมหามกุฎราชวิทยาลัย ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
 
พ.ศ. 2443 มีกำหนดการพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
แต่ขณะนั้นอาคารถาวรวัตถุยังสร้างไม่เสร็จ ด้วยกระเบื้องมุงหลังคาที่สั่งทำจากประเทศจีน
ทำเข้ามาผิดรูปแบบ ทรงมีพระบรมราชโองการให้จัดการพระราชทานเพลิงพระศพ
ด้วยการใช้สถานที่พระอุโบสถของวัดบวรสถานสุทธาวาสในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล
เป็นพระเมรุพิมานสำหรับตั้งพระศพ และปลูกพระเมรุน้อยสำหรับพระราชทานเพลิง

การก่อสร้างตึกถาวรวัตถุค้างมาจนตลอดรัชกาล ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่า
การสร้างตึกถาวรวัตถุค้างมานาน หากสร้างให้สำเร็จแล้วจะเป็นสง่าแก่พระนคร
เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศ และสมควรเป็นสถานที่ทำราชการที่สำคัญได้แห่งหนึ่ง
จึงโปรดฯ ให้สร้างต่อมาจนสำเร็จ และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดเมื่อ วันที่ 1 ม.ค. 2559
และพระราชทานสถานที่นี้ ให้เป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร



 
สืบเนื่องจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเล็งเห็นคุณค่าของ ตู้ลายทอง
อันเป็นภูมิปัญญางานช่างไทยสมัยโบราณจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้รวบรวมตู้พระธรรมลายรดน้ำจากวัดต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นตู้ใส่หนังสือ
ในหอพระสมุดวชิรญาณ ในพระบรมมหาราชวังมาตั้งแต่ พ.ศ.2448
 
หลังพิธีเปิดหอพระสมุดสำหรับพระนคร ตู้ลายทองเหล่านั้นจึงถูกเคลื่อนย้ายจาก
หอพระสมุดวชิรญาณในพระบรมมหาราชวัง มาที่ตึกถาวรวัตถุเพื่อใช้เป็นตู้ใส่หนังสือเช่นเดิม
เมื่อมีการก่อสร้างหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี จึงมีการย้ายหนังสือ รวมทั้งตู้ลายทองไป
กลายเป็นปมปัญหาว่า ใครคือเจ้าของสถานที่แห่งนี้

 ระหว่างวัดมหาธาตุซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่เดิม และกรมศิลปากรที่ถือว่า
รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานตึกนี้ให้เป็นหอสมุดของประชาชน
พ.ศ. 2553 ครบรอบ 100 ปี การเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 5
กรมศิลปากรได้เข้ามาใช้ตึกถาวรวัตถุ เพื่อใช้เป็นที่จัดนิทรรศการ
เฉลิมพระเกียรติของรัชกาลที่ 5 

กรมศิลปากรได้เข้ามาปรับปรุงอีกครั้ง โดยการเปิดให้เป็นแหล่งค้นคว้าเอกสาร
ชื่อหอสมุดปิยมหาราชรฦก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 99 ปี ที่รัชกาลที่ 6
ได้ทรงพระราชดำเนินมาทำพิธีเปิดอาคารถาวรวัตถุแห่งนี้ ให้เป็นหอสมุดสำหรับพระนคร
โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จมาทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2558
 
ปัจจุบันตู้ลายทองที่เคยเป็นตู้หนังสือ จำนวนกว่า 300 ใบ เก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) 
ในนิทรรศการนี้ ได้นำตู้ลายทองมาจัดแสดงจำนวน 47 ใบ โดยตู้ที่คัดเลือกมาส่วนใหญ่
เน้นตามรายการที่ปรากฏในหนังสือ ตู้ลายทอง ภาค 1
(สมัยอยุธยาและธนบุรี) ที่เคยตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2523 
 

 
ตู้พระธรรม เป็นงานศิลปกรรมชิ้นหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่วัดวาอาราม
ในพระพุทธศาสนาไว้สำหรับเก็บพระธรรมคัมภีร์ โดยมีการประดับตกแต่งให้สวยงาม

แบ่งออกเป็น ตู้ลายรดน้ำ ซึ่งเกิดจากการเขียนน้ำยาและปิดทองรดน้ำ
ลวดลายหรือรูปภาพที่ได้จะมีเพียงสีทอง บนพื้นรักสีดำทึบ
ลวดลายที่นิยม ได้แก่ ลายกนกต่างๆ ลายพันธุ์พฤกษา ลายดอกกนกพุดตานเถา ลายดอกเบญจมาศ  
หรือเป็นภาพเล่าเรื่อง เช่นพุทธประวัติ ภาพชาดก หรือภาพที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา
 
ตู้ไม้จำหลัก ซึ่งจำหลักเป็นลายต่างๆ เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายดอกพุดตาน ลายประแจจีน เป็นต้น
บางครั้งมีการประดับกระจกสี เช่น ขาว แดง น้ำเงิน เขียว เหลิอง ซึ่งช่างจะฝังกระจกลงไปในเนื้อไม้
ตู้ลายกำมะลอ เป็นตู้ที่เขียนสีด้วยลายหม่นๆ เพียงไม่กี่สีเช่น แดง เทา ขาว เหลือง เขียว บนพื้นรักสีดำ
และนิยมปิดทองบนลายกำมะลอ เพื่อขับให้สีทองเด่นขึ้น นิยมเขียนเป็นลายทิวทัศน์ หรือพุทธศาสนา
 
ตู้ทองทึบ เป็นตู้ที่ตกแต่งด้วยการลงรักปิดทองทึบ ให้เป็นสีเหลืองอร่าม โดยไม่มีการเขียนลวดลาย
ตู้กระแหนะรักสมุก เป็นตู้ที่ตกแต่งด้วยลวดลายที่เกิดจากการใช้แบบพิมพ์
ตีลายด้วยรักสมุกแล้วจึงแผ่ลายๆ นั้นไปประดับตกแต่งตู้

ตู้ประดับมุก เป็นการตกแต่งด้วยการตัดเปลือกหอยมุกมาประดับเป็นลวดลายศิลปะไทย และภาพเล่าเรื่อง 
ตู้ภาพเขียนสี มักเขียนเป็นการภาพทวารบาล ภาพฮกลกซิ่ว ลายเมฆ
 
การแบ่งตู้พระธรรมอีกแบบ คือแบ่งด้วยรูปแบบของตู้ซึ่งมักจะใช้บอกอายุของตู้ได้แบบคร่าวๆ ตามสมัยนิยม
ได้แก่ ตู้ขาหมู เป็นตู้ที่มีขาตรงๆ สีเหลี่ยม บางตู้อาจมีเชิงตู้เป็นรูปปากสิงห์หรือหูช้าง
ตู้เท้าสิงห์ เป็นตู้ที่มีขาทรงโค้ง จำหลักลายให้ดูคล้ายเท้าสิงห์ มีนิ้วมีเล็บ บางตู้อาจเพิ่มส่วนของลิ้นชัก
ตู้เท้าคู้ เป็นตู้ที่มีการลบเหลี่ยมของไม้ให้มีความโค้งให้มีความมน หันเข้าหากันคู้เข้าไปใต้พื้นตู้
 

 
ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า นิทรรศการนี้ได้คัดเลือกตู้สมัยอยุธยาและธนบุรีมาจัดแสดงเป็นส่วนใหญ่
จึงมีความงดงามเป็นอย่างมาก ด้วยเชิงช่างโบราณ แต่ชิ้นที่ทุกคนควรชม คือตู้ ธบ 2
เป็นตู้พระธรรมสมัยธนบุรีแบบขาหมูมีลิ้นชัก เขียนภาพพระนารายณ์และภาพสัตว์
ที่มีประวัติว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งที่วัดเทพธิดารามเป็นของพระยาธรรมปรีชา (บุญ)
เมื่อท่านได้ลาสิกขา ลูกศิษย์ได้นำไปไว้ที่วัดโพธิ์ชัย สุพรรณบุรี
 
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไปพบเข้า จึงรับสั่งให้นำกลับมาตั้งไว้ที่กระทรวงมหาดไทย
ต่อมารัชกาลที่ 5 เสด็จมาเห็นรับสั่งว่าตู้ใบนี้ฝีมือช่างลวดลายงดงามนักให้นำไปเก็บรักษาไว้
ที่หอพระสมุด อย่าให้ใครมานำไปเป็นของส่วนตัว ตู้ใบนี้จึงมีชื่อว่า ตู้ทรงอายัด
 
หากพูดถึงตู้พระธรรม ก็คงไม่สามารถที่หลีกเลี่ยงได้ ที่ต้องกล่าวถึงถึงตู้อีกใบหนึ่ง
ซึ่งนักวิชาการศิลปะ ต่างยกย่องว่าเป็นงานช่างชั้นครู เป็นตู้พระธรรมที่งดงามที่สุดในประเทศ
ก็คือ  ตู้ลายรดน้ำช่างวัดเชิงหวาย ที่มีลวดลายอ่อนพลิ้ว หาฝีมือของช่างที่ใดจะเทียบได้
เป็นตู้พระธรรมสมัยอยุธยาที่ได้มาจากวัดนางนอง เขตบางขุนเทียน ชื่อวัดเซิงหวายนั้นไม่มีตัวตน
 
แต่ประวัตินั้นมีว่า สมเด็จกรมพระยานรานิวัติวงศ์ฯ ได้ทรงกล่าวถึงลวดลายบนตู้ใบนี้ว่า
ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เหมือนกับเซิงหวายที่อยู่ในป่า จนมีการบันทึกไว้ใน หนังสือประตูใหม่
ออกเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2454 เขียนถึงไว้ว่า
 
ศักรวาตู้ทองวัดเซิงหวาย แลลวดลายดูเด่นเหมือนเส้นเหลา
สิงหราลดาดอกออกพรายเพรา ปักษาเจ่าจับจิกผกากิน

 
ปัจจุบันตู้ใบนี้จัดแสดงอยู่ที่ห้องอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร



Create Date : 04 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2564 16:40:17 น. 8 comments
Counter : 1590 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณอุ้มสี, คุณtuk-tuk@korat, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณหอมกร, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณKavanich96, คุณทนายอ้วน, คุณnewyorknurse, คุณ**mp5**, คุณนกสีเทา


 
สวยค่ะ
เป็นมุมที่ชอบเดินไปดู
แม้ว่าบรรยากาศจะดูวังเวง
เจิม


โดย: อุ้มสี วันที่: 4 พฤศจิกายน 2564 เวลา:12:59:10 น.  

 
อยากไปชมมากครับ แต่ยังเกรงๆน้องโคอยู่ คริๆๆๆ

วันนี้โหวตหมดแล้ว พรุ่งนี้มาใหม่นะคราบ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 4 พฤศจิกายน 2564 เวลา:13:28:15 น.  

 
สวยจริง ๆ ค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 4 พฤศจิกายน 2564 เวลา:15:46:38 น.  

 
สวัสดีค่ะ..

ตู้สวยทุกตู้เลยนะคะ..



โดย: อ้อมแอ้ม (คนผ่านทางมาเจอ ) วันที่: 4 พฤศจิกายน 2564 เวลา:18:30:50 น.  

 
นึกว่าวัดเชิงหวายแถวบางซ่อนเสียอีกจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 4 พฤศจิกายน 2564 เวลา:19:21:07 น.  

 
สวัสดีครับ

คุณผู้ชายในสายลมหนาวบรรยายข้อมูลในบล็อกนี้ไว้ละเอียดมากเลย ทั้งประวัติและรูปแบบ
ผมได้ไปพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทีไร ยังไม่เคยจำชื่อตึกได้สักที

ขอบคุณสำหรับกำลังใจด้วยนะครับ


โดย: มาช้ายังดีกว่าไม่มา วันที่: 6 พฤศจิกายน 2564 เวลา:10:34:57 น.  

 
ขอบคุณสำหรับกำลังใจให้บล็อก - สวนอาหารไทรทองริเวอร์ อยุธยา ด้วยนะครับ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 6 พฤศจิกายน 2564 เวลา:20:07:40 น.  

 
แวะมาเยี่ยมและส่งกำลังใจครับ


โดย: **mp5** วันที่: 11 พฤศจิกายน 2564 เวลา:14:22:25 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]




New Comments
[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]