Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
กรกฏาคม 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
24 กรกฏาคม 2556

ตักบาตรพระร้อย : วัดสุทธาโภชน์



หลังจากองเชียงสือสามารถปรากบฏไกเซินลงได้ และเริ่มที่จะแทรกแซงเขมร
ที่เป็นประเทศราชของไทย จึงเป็นที่มาของภัยคุกคามที่อาจจะมาจากประเทศญวน
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้มีการสั่งให้เจ้าพระยา
มหาโยธาคุมชาวมอญ 300 คนไปสร้างป้อมปราการและตั้งเมืองพระประแดงขึ้นมา

แม้จะถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ต้องปกป้อง แต่ชาวบ้านที่อพยพไปกลับพบว่า
ปากน้ำเจ้าพระยานั้นเป็นดินเค็ม ไม่สามารถปลูกข้าวได้ เมื่อถึงฤดูฝนจึงอพยพ
เข้ามาในเขตด้านในเพื่อทำนาเก็บไว้เป็นเสบียง กาลเวลาผ่านไปชุมชนมอญ
พระประแดงก็ขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลก็มีการตัดคลองหลายสาย

เพื่อเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางประกง อันได้แก่ คลองพระโขนง
คลองแสนแสบ คลองประเวศบุรีรมย์ เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีการตัดคลอง
ตามแนวขวางจากคลองรังสิตลงสู่อ่าวไทย กลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตร
คลองลำประทิวก็หนึ่งในลำคลองตัดขวาง และเป็นที่ตั้งของชุมชนมอญลาดกระบัง

จุดรวมใจของคนที่นั้นคือวัดสุทธาโภชน์ ซึ่งมีประวัติเล่าว่าได้รับการอุปถัมภ์
จากเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น บุตรีของพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี)
หลานปู่ของเจ้าพระยามหาโยธารามัญราช ที่ได้ศึกษาภาษาอังกฤษกับแหม่มแอนนา
ด้วยความวิริยะอุตสาหะถึงขั้นแปลเรื่อง Uncle Tom’s Cabinออกมาเป็นภาษาไทย

ก่อนที่ต่อมาจะเข้าถวายตัวพระสนมในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีพระโอรสคือ
พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหา จึงได้รับการสถาปนาเป็นเป็นเจ้าจอมมารดา
เมื่อสิ้นรัชกาลเจ้าจอมมารดากลิ่นได้ถวายบังคมลาออกจากพระบรมมหาราชวัง
มาอยู่กับพระโอรสภายนอก และใช้เวลาเดินทางไปตามหัวเมืองเพื่อพักผ่อน




ด้วยความเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เจ้าจอมมารดากลิ่นจึงมาทำบุญไหว้พระ
ที่วัดสุทธาโภชน์ หรือเดิมชื่อวัดสุทธาวาสอยู่บ่อยครั้ง แต่ในหน้าแล้งน้ำในคลองแห้ง
จนไม่สามารถพายเรือเข้ามาที่วัดได้ ท่านจึงมีดำริให้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ในที่ดินของท่าน
ที่อยู่ริมคลองลำปลาทิวที่สามารถพายเรือไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น

และทุกปีท่านจะร่วมกับชาวไทยและมอญจองกฐินที่วัดนี้ นอกจากนี้ยังได้ ปลูกสร้างตำหนัก
ในบริเวณใกล้เคียงกับวัดอีก 7 หลัง13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ท่านถึงแก่อสัญกรรม
ทายาทจึงได้ถวายที่ดินบริเวณนั้นแก่วัดวัดสุทธาโภชน์ ดังนั้นสิ่งที่น่าเยี่ยมชมเป็นอันดับแรก
เมื่อมาเยือนก็คืออนุสาวรีย์เจ้าจอมมารดากลิ่นทำจากหินอ่อนแกะสลักที่ซุ้มหน้าอุโบสถ

อนุสาวรีย์นี้เป็นรูปจอมมารดากลิ่นครึ่งตัวในชุดแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ตั้งอยู่เคียงข้างกับพระรูปหินอ่อนครึ่งตัวของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้านข้างนั้นซุ้มบุษบกนั้นก็จะมีเรือมาดลำใหญ่อยู่ลำหนึ่งเป็นเรือของเจ้าจอมมารดากลิ่น
เป็นเรือมาดสี่แจว ถือว่าเป็นเรือของคนใหญ่คนโต เพราะเรือของคนธรรมดาจะเป็นเรือสองแจว

ที่วัดสุทธาโภชน์นี้ยังเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตลาดกระบัง เป็นอาคารสองชั้น
ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์นั้นจัดแสดงเรื่องราวของบุคคลสำคัญของเขตลาดกระบัง
อันได้แก่ เจ้าจอมมารดากลิ่น และเจ้าคุณทหารหรือเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุญนาค)
ผู้บริจาคที่ดินผืนใหญ่ปัจจุบันคือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบังนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์เรือมาดที่อยู่ราว 60-70 ลำ และเรืออื่นๆ ที่ได้รับการบริจาค
จากชาวบ้านยังมีอุปกรณ์ทางการเกษตรที่ชาวบ้านเคยใช้กันสมัยก่อนจัดแสดงไว้ให้ชม
ข้างๆ เป็นกุฏิไม้สัก เป็นเรือนโบราณอายุกว่าร้อยปี ซึ่งเดิมเป็นกุฏิเจ้าอาวาสคนแรก
วันนี้เรือมาดจำนวนมากถูกนำออกไปเพื่อใช้ในกิจกรรมสำคัญ ประเพณีตักบาตรพระร้อย



ตักบาตรพระร้อยเป็นบุญประเพณีที่มีขึ้นช่วงออกพรรษา “พระร้อย” หมายถึง
พระจำนวน 100 รูป ที่นั่งรับบาตรอยู่ในเรือ ให้ชาวบ้านที่เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง
รออยู่ริมฝั่งเพื่อถวายเมื่อผ่านมาถึง งานจะเริ่มตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า โดยทางวัดอัญเชิญ
พระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนเรือมาดเก่าแก่ของเจ้าจอมมารดากลิ่น พระสนมเอก

ที่เก็บรักษาไว้อย่างดีออกนำ ตามด้วยเรือพระภิกษุเคลื่อนตามลำคลองมอญ ด้านข้าง
เลี้ยวออกหน้าวัด แล่นช้าๆ เลียบกับทางเดินริมคลอง ที่ญาติโยมนั่งรอพร้อมสำรับคาวหวาน
และของแห้ง โดยขบวนมุ่งหน้าทางทิศตะวันออก จนสุดทางที่คนรอแล้วจึงย้อนกลับอีกฝั่ง
ฉะนั้นฝั่งตรงข้ามกับวัดด้านทิศใต้เป็นจุดแรกที่ได้ใส่บาตรก่อน ถ้านั่งผิดที่อาจรอจนเหนื่อย

วัดสุทธาโภชน์ถือว่าประสบความสำเร็จในการประชาสัมพันธ์ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว
ให้มาร่วมงานได้เป็นจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงงานตักบาตรพระร้อยยังมีการจัดงาน
ในอีกหลายวัดในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งถิ่นฐานสำคัญของชาวมอญ
โดยการจัดงานจะเริ่มขึ้นในหลังวันออกพรรษาในรูปแบบที่เหมือนกัน

แต่ต่างวันกันไปตามกำหนดการที่มีมาแต่ครั้งโบราณ ตามกำหนดการดังนี้
วันแรม 1 ค่ำ วัดมะขาม อ.เมือง และวัดเจดีย์ทอง อ.สามโคก
วันแรม 2 ค่ำ วัดหงษ์ปทุมาวาส อ.เมือง
วันแรม 3 ค่ำ วัดสำแล อ.สามโคก
วันแรม 4 ค่ำ วัดบางหลวง และวัดบัวหลวง อ.สามโคก
วันแรม 5 ค่ำ วัดโบสถ์ วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม อ.เมือง วัดไผ่ล้อม อ.สามโคก

วันแรม 7 ค่ำ วัดสามัคคิยาราม วัดบางนา อ.สามโคก และวัดบ่อทอง อ.ลาดหลุมแก้ว
วันแรม 8 ค่ำ วัดดาวเรือง วัดชินวราราม อ.เมือง และวัดเขียนเขต อ.ธัญบุรี
วันแรม 9 ค่ำ วัดบางโพธิ์เหนือ
วันแรม 10 ค่ำ วัดบ้านพร้าวใน
วันแรม 11 ค่ำ วัดชัยสิทธาวาส วัดบ้านพร้าวนอก อ.สามโคก และวัดบางขันธ์
วันแรม 14 ค่ำ พระวัดโพธิ์เลื่อน อ.เมือง



Create Date : 24 กรกฎาคม 2556
Last Update : 24 กรกฎาคม 2556 15:47:26 น. 3 comments
Counter : 3695 Pageviews.  

 
น่าสนใจมากค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 24 กรกฎาคม 2556 เวลา:16:09:36 น.  

 

น่าไปวัดนี้ & Like ให้เป็นคนที่ 2
ขอบคุณที่นำภาพและประวัติมาฝาก
ปล. สงสัยว่าที่ป้ายห้าม "กรุณาอย่าปิดทองที่ตา จมูก"
สงสัยเจ้าจอมมารดากลิ่น
จะแสบและมองไม่เห็นเวลาปิดทองที่ตา
ห้ามปิดทองที่จมูกเพราะเดี๋ยวท่านจะจาม"
หรือเปล่าคะ
สงสัยค่ะ



โดย: อุ้มสี วันที่: 25 กรกฎาคม 2556 เวลา:10:03:53 น.  

 
ไม่รู้ไปอยู่ตรงไหนมาค่ะ เพิ่งเคยได้ยิน "ตักบาตรพระร้อย"

ขอบคุณมากค่ะ


โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 26 กรกฎาคม 2556 เวลา:17:51:01 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]




New Comments
[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]