พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (3)

การศึกษาและการปกครอง
- ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย) - ยกฐานะโรงเรียนมหาดเล็ก เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ต่อมาคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - ให้เปลี่ยนมาใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ในราชการแทนรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) - ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ฉบับแรก - ตั้งเนติบัณฑิตยสภา - แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร - ประกาศให้ วันที่ ๖ เมษายนเป็นวันจักรี และให้ถือว่าเป็นวันชาติในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช - พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกและอรรถกถาชาดก และคัมภีร์อื่น ๆ - ทรงนิพนธ์หนังสือแสดงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร - ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา ฉบับแรก - แปรสภาพกระทรวงนครบาลเป็น มณฑลกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วย พระนคร ธนบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร พระประแดง และ สมุทรปราการ - สถาปนากรมตำรวจ - ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุด เอกสารและหนังสือพิมพ์ - ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงศ์ - ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์
มกราคม พ.ศ. 2465 เกิดการก่อความไม่สงบที่มณฑลปัตตานี เนื่องด้วยปัญหาการเก็บเงินค่าศึกษาพลีเพื่อสร้างโรงเรียนประชาบาล และซื้อตำราเรียนและอุปกรณ์การศึกษา คนละ 1 บาทต่อปี นอกเหนือจากรัชชูปการ ที่เก็บคนละ 6 บาทต่อปี ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้น
ทางราชการต้องนำกองทหารรักษาวังจากนครศรีธรรมราช มาแก้ไขสถานการณ์ ภายหลังจึงกำหนดให้ เงินค่าศึกษาพลีในมณฑลปัตตานี ต้องนำไปใช้ส่งเสริมโรงเรียนสอนศาสนาด้วย
6 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 มีพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับมณฑลปัตตานี ใจความดังนี้
1.ระเบียบหรือวิธีปฏิบัติอย่างใดเป็นทางให้พลเมืองรู้สึกหรือเห็นไปว่าเป็นการเบียดเบียน กดขี่ศาสนาอิสลามต้องยกเลิกหรือแก้ไขเสียทันที การใดจะจัดขึ้นใหม่ก็อย่าให้ขัดกับลัทธินิยมของอิสลาม หรือยิ่งทำให้เห็นเป็นการอุดหนุนศาสดามูฮัมหมัดได้ยิ่งดี
2.การกะเกณฑ์อย่างใดๆ ก็ดี การเก็บภาษีอากรหรือพลีอย่างใดๆ ก็ดี เมื่อพิจารณาโดยส่วนรวมเทียบกัน ต้องอย่าให้ยิ่งกว่าพลเมืองในแว่นแคว้น ของประเทศราชของอังกฤษซึ่งอยู่ใกล้เคียงติดต่อกันนั้นต้องเกณฑ์ต้องเสียอยู่เป็นธรรมดา เมื่อพิจารณาเทียบกันแต่เฉพาะอย่างต้องอย่าให้ยิ่งหย่อนกว่ากัน จนถึงเป็นเหตุเสียหายในการปกครองได้
3.การกดขี่บีบคั้นแต่เจ้าพนักงานของรัฐบาลเนื่องแต่การใช้อำนาจในทางที่ผิดไม่เป็นธรรมก็ดี เนื่องแต่การหมิ่นลู่ดูแคลนพลเมืองชาติแขกโดยฐานที่เป็นคนต่างชาติก็ดี เนื่องแต่การหน่วงเหนี่ยวชักช้าในกิจการตามหน้าที่เป็นเหตุให้ราษฎร เสียความสะดวกในทางหาเลี้ยงชีพก็ดี พึงต้องแก้ไขระมัดระวังมิให้มีขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องให้ผู้ทำผิดต้องรับผลตามความผิดโดยยุติธรรม ไม่ใช่สักแต่ว่าจัดการกลบเกลื่อนให้เงียบไปเสียเพื่อจะไว้หน้าสงวนศักดิ์ของข้าราชการ
4.กิจการใดทั้งหมดอันเจ้าพนักงานจะต้องบังคับแก่ราษฎร ต้องระวังอย่าให้ราษฎรต้องขัดข้องเสียเวลาเสียการในทางหาเลี้ยงชีพ ของเขาเกินสมควร แม้จะเป็นการจำเป็นโดยระเบียบการก็ดี เจ้าหน้าที่พึงสอดส่องแก้ไขอยู่เสมอเท่าที่สุดจะทำได้
5.ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลปัตตานี พึงเลือกเฟ้นแต่คนที่มีนิสัยซื่อสัตย์ สุจริตสงบเสงี่ยมเยือกเย็น ไม่ใช่สักแต่ว่าส่งไปบรรจุให้เต็มตำแหน่งหรือส่งไปเป็นการลงโทษเพราะเลว เมื่อจะส่งไปต้องสั่งสอนชี้แจงให้รู้ลักษณะทางการอันพึงประพฤติระมัดระวัง โดยหลักที่ได้กล่าวในข้อ 1 ข้อ 3 และข้อ 4 ข้างบนนั้นแล้ว ผู้ใหญ่ในท้องที่พึงสอดส่องฝึกฝนอบรมกันต่อๆ ไปในคุณธรรมเหล่านั้นเนืองๆ ไม่ใช่แต่คอยให้พลาดพลั้งลงไปก่อนแล้วจึงว่ากล่าวลงโทษ
6.เจ้ากระทรวงทั้งหลายจะจัดการวางระเบียบการอย่างใดขึ้นใหม่ หรือบังคับการอย่างใดในมณฑลปัตตานี อันจะเป็นทางพากพานถึงสุขทุกข์ราษฎร ก็ควรพิจารณาเหตุผลแก้ไขหรือยับยั้ง ถ้าไม่เห็นด้วยว่ามีมูลขัดข้องก็ควรหารือกับกระทรวงมหาดไทย แม้ยังไม่ตกลงกันได้ระหว่างกระทรวง ก็พึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลทราบ ฝ่าละอองธุลีพระบาทขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย
Create Date : 29 เมษายน 2553 |
|
4 comments |
Last Update : 29 เมษายน 2553 14:28:38 น. |
Counter : 1128 Pageviews. |
 |
|