Nonplay .. บันทึก ความเรียง เรื่องของ หนังสือ ศิลปะ ดนตรี กับข้าว ธรรมะ ฯลฯ

 
กรกฏาคม 2549
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
17 กรกฏาคม 2549
 

หยุดหัวใจไว้ที่ความพอเพียง (2)

เปรียบเทียบง่ายๆ ในยุคหนึ่งคนเรามีเสื้อผ้าใช้กันน้อยชิ้น เพราะเสื้อผ้ามีราคาแพง แต่คนยุคนั้นก็ปรับตัวเข้ากับสภาวะดังกล่าวได้ แม้ว่าหลายๆคนจะรู้สึกได้ว่าเป็นความขาดแคลนประการหนึ่ง แต่ยุคปัจจุบันนี้ กลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง แต่คนเราก็ยังซื้อเสื้อผ้ากันไม่หยุดหย่อน ดูจากแบบของเสื้อผ้า ที่จะมีแนวใหม่ออกมาเสมอๆ

ในขณะเดียวกัน ถ้าหากคุณแวะไปตลาดเปิดท้ายที่ไหนสักแห่ง คุณจะพบว่า สินค้าส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาขายเลหลัง คือ เสื้อผ้า นี่เอง โดยส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าที่พ้นพ้นสมัยนิยมไปแล้วแต่ยังมีสภาพดี หรือบางตัวยังใหม่อยู่เลย เจ้าของที่ซื้อมาคงนำมาใช้ไม่กี่ครั้ง ก็นำมาขายในราคาไม่แพง โดยส่วนใหญ่ราคา 30 -60 บาท เสื้อผ้าบางตัว ฝีมือการตัดเย็บประณีต ออกแบบได้สวยงาม พอจะพูดได้ว่า ราคาขายครั้งแรกนั้นคงไม่ถูกนัก แต่แล้วคนที่ซื้อมาก็ใช้เพียงแค่ตามสมัยนิยมแล้วสุดท้ายก็ต้องกำจัดออกไปจากตู้เสื้อผ้า เพราะไม่เช่นนั้น คงไม่มีที่สำหรับเก็บเสื้อผ้าใหม่ๆ

เรื่องเกี่ยวกับเสื้อผ้านี้เป็นเรื่องที่ผมนำมาคิดในหลายๆมุม ในด้านเศรษฐศาสตร์ ผมพยายามคิดว่า มันมีอุปสงค์จริงๆหรือผู้ผลิตถึงได้ผลิตออกมามากขนาดนั้น ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผมคิดไปถึงจุดคุ้มทุนด้วย หมายถึง ถ้าหากผลิตน้อย ต้นทุนต่อหน่วยก็แพงขึ้น ทำให้ราคาขายแพงขึ้น ยอดขายก็น้อยลง ผู้ผลิตเองต้องคำนวณว่า จะผลิตเท่าไร ต้นทุนกับราคาขายถึงจะพอได้กำไรได้ มันเกี่ยวโยงกับการตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ คนขายต้องพยายามขายของให้ได้กำไร นั่นเป็นงานของนักการตลาด เป็นสิ่งที่ใช้ทฤษฎีต่างๆมาอธิบายได้ไม่จบสิ้น ทำไมเสื้อผ้าบางสไตล์จึงเป็นที่นิยม ทำไมแฟชั่นจึงเป็นตลาดกระแส และวูบวาบตามจังหวะ ผู้ขายเองต้องพยายามชักจูงให้ผู้ซื้อเกิดความต้องการตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามตามตรวจดูว่าแบบไหนที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคด้วย เราอธิบายเรื่องนี้ได้หลายทฤษฎีและหลายมุมมอง แต่สุดท้ายที่ต้องขบคิดคือ ทำไมคนเราถึงได้ซื้อกันมากมายขนาดนั้น บางครั้งผมเดินดูเสื้อผ้าหลายๆแบบ แล้วก็นึกไปเองว่า แบบนั้น ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่ซื้อ แล้วก็คงไม่ใช่ผมที่คิดแบบนั้นคนเดียว เพราะไม่เช่นนั้น จะไม่มีเสื้อผ้าใหม่ๆ แขวนอยู่บนราวในห้าง และไม่มีเสื้อผ้ามือสองมากมายก่ายกอง วางขายเลหลังในตลาดมือสอง ในขณะเดียวกัน ผมก็มีเพื่อนอยู่หลายๆคนที่ซื้อเสื้อผ้าเดือนละหลายตัว เคยสงสัยเหมือนกันว่า ซื้อไปหลายตัวแบบนั้นแล้วจะใส่คุ้มหรือ?

จริงๆเสื้อผ้าเป็นเพียงตัวอย่างของที่ผมนำมาเปรียบเทียบเท่านั้น เมื่อต้องการพูดถึงว่า มีอะไรมากมายเหลือเกินในตลาดที่มันไม่จำเป็นสำหรับคนเราเลย กรณีของเสื้อผ้าคือ มีเสื้อผ้าหลายแบบที่เราไม่ต้องการเป็นเจ้าของ ผมเคยอ่านบทความในหนังสือเล่มหนึ่ง เขากล่าวว่า โสเครติส ได้ไปเดินตลาด แล้วก็พูดว่า “มันช่างมีข้าวของมากมายเหลือเกินที่ข้าไม่ต้องการ” นั่นก็แสดงว่า ไม่ใช่เฉพาะคนสมัยนี้ที่มีพ่อค้านำอะไรต่ออะไรมานำเสนอขายๆ มากมายไปหมด แล้วในจำนวนของที่มีวางขายเหล่านั้น จะมีของมากมายทีเดียวที่เราไม่รู้ว่า จะซื้อไปทำอะไร เรื่องแบบนี้เกิดมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

กลไกของทุนนิยมนั้นขับเคลื่อนด้วยทุน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผลิตภัณฑ์ออกมาให้ลูกค้าได้ซื้อหา ผลิตภัณฑ์นั้นมีทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ และยิ่งนับวันยิ่งไกลพ้นไปจากความต้องการพื้นฐานที่เรารู้จักกันในนามของปัจจัย 4 มากขึ้น ทางหนึ่งต้องขอชมเชยว่าเป็นความสามารถของนักการตลาดที่ร่วมมือกันอย่างเป็นเครือข่าย เพื่อสร้างความต้องการแบบใหม่ๆ ในลักษณะที่เป็นลูกโซ่ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาบัตรเครดิตขึ้นมา ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงโทรศัพท์มือถือ การบริการทางอิเล็คทรอนิคส์ (อี-คอมเมิร์ช) รวมไปถึงแผนการตลาดที่ไปกระตุ้นให้เกิดการใช้บัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านสุขภาพ อาหารการกิน หรือการท่องเที่ยว การพักผ่อนหย่อนใจ สิ่งเหล่านี้ถูกผูกกันมาเป็นโปรแกรม เพียงแค่เปิดหนังสือพิมพ์ฉบับพกพาที่ผู้ให้บริการบัตรเครดิตส่งให้กับสมาชิกรายเดือน ก็จะเห็นความโยงใยของธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างไม่จบสิ้น ปัจจุบันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ธุรกิจ-บริการสักอย่างที่จ้องจับลูกค้าในตลาดระดับกลาง-สูง จะเปิดบริการโดยไม่รับบัตรเครดิต (ที่ยกเว้นก็มี ร้านอาหาร เสื้อผ้า หรือบริการขนส่งระดับที่มวลชนใช้บริการพื้นฐานเท่านั้นที่ทำธุรกิจแบบรับเฉพาะเงินสด) สิ่งเหล่านี้ ควรเป็นความอัศจรรย์ใจแก่คนรุ่นเก่าอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นงานสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเยี่ยมของนักการตลาดและนักลงทุน

เรื่องการของการมีสินค้าที่ไม่จำเป็นมากเกินไปให้เลือกซื้อหา ไม่ใช่เพียงเสื้อผ้าที่ผมพูดถึงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งของอย่างอื่นด้วย สิ่งที่เห็นง่ายๆก็คือ อาหารการกิน ปกติสมัยก่อนนั้นคนเรากินอาหารกันเพียง 3 มื้อ คือ เช้า กลางวัน เย็น แล้วบางวันเท่านั้นที่มีของหวาน จำพวกขนมกินกัน ผิดกับสมัยปัจจุบัน ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัดกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ โดยเราเช่ารถตู้ไปกัน ระหว่างทางรถแวะราวๆตีหนึ่งที่สถานีบริการเชื้อเพลิง เพื่อนของผมหลายคนรีบพากันเข้าไปร้านสะดวกซื้อ แล้วพากันเฮละโลซื้อขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มกันเป็นการใหญ่โต ครั้นพอรถจอดอีกทีราวๆ ตีห้ากว่าๆ ก็ยังลงไปซื้อขนมปัง ไส้กรอก และเครื่องดื่ม มาเป็นอาหารเช้าก่อนจะถึงมื้อเช้าจริงๆอีก แน่นอนว่า ไม่มีใครเดือดร้อนเรื่องค่าอาหารที่ต้องจ่ายออกไป เพราะอาหารเหล่านี้ล้วนมีราคาล้วนอยู่ในระดับที่ไม่กระทบต่อค่าครองชีพเท่าไรนัก ดูเหมือนจะมีน้อยคนที่ปฏิเสธอาหารมื้อก่อนเมื้อเช้า ทั้งๆนี้ เมื่อมองด้านคุณค่าทางโภชนาการ หรือคุณค่าต่อร่างกาย รวมถึงความจำเป็นที่ร่างกายต้องการอาหารมื้อนี้แทบจะไม่เห็นเลย ผมว่าเป็นเพราะความอยากลิ้มรส รวมกับการที่อาหารเหล่านี้หาซื้อง่าย

เท่าที่สังเกตดู ความอยากอยู่นอกเหนือขอบเขตของความต้องการของร่างกายที่แท้จริงๆ และความอยากกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเรานึกจะซึ้อ จะจับจ่าย เพราะทนต่อความอยากไม่ได้

ตอนต่อไป --> หยุดหัวใจไว้ที่ความพอเพียง (3)


Create Date : 17 กรกฎาคม 2549
Last Update : 21 พฤษภาคม 2550 18:26:35 น. 0 comments
Counter : 447 Pageviews.  
 

ยามครับ
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ยามครับ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com